มุมมองสองปราชญ์: สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม1

ขอเจริญพร ท่านผู้เข้าร่วมในที่ประชุมแห่งนี้ ทั้งท่านที่เป็นกรรมการ และท่านผู้เป็นสมาชิก

วันนี้เรามีเวลาค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นอาตมาจะไม่พูดอารัมภบทอะไรให้ยืดยาว เรื่องที่ได้รับนิมนต์มาพูด กำหนดกันไว้ว่า “สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม” ชื่อเรื่องนี้ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรเลย เพราะว่างานของสื่อมวลชนนั้นเป็นงานสร้างสรรค์สังคมในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถึงจะไม่บอกว่าสร้างสรรค์สังคม ก็ต้องสร้างสรรค์สังคม เพราะคำว่า สื่อมวลชน นั้นบอกอยู่ในตัว

ทำไมจึงว่า คำว่า สื่อมวลชน บอกอยู่ในตัวว่า จะต้องสร้างสรรค์สังคม ก็เพราะว่า สื่อมวลชนนั้นประกอบด้วยคำว่า สื่อ กับคำว่า มวลชน คำว่า มวลชน เป็นคำที่อยู่ในประเภทเดียวกับคำว่า 'สังคม' หมายความว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมนั่นเอง เมื่อทำงานสื่อมวลชนก็ทำงานที่เกี่ยวกับสังคม เมื่อทำงานด้านสังคม ก็ต้องทำงานที่เป็นการสร้างสรรค์สังคม ใครจะไปทำงานที่เป็นการทำลายสังคม ถ้าไปทำงานที่ทำลายสังคม เราก็คงไม่ได้รับการยอมรับ นอกจากนั้น การสื่อเป็นเรื่องของการติดต่อสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตแห่งความรู้และการเกี่ยวข้องกัน ทำให้สังคมเคลื่อนไหว ก้าวหน้า มีอะไรๆ เพิ่มพูน แปลกใหม่ จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับความจริงเหมือนกันว่า การสร้างสรรค์กับการทำลายนั้นบางทีมันก็อยู่เฉียดๆ กันนี่เอง ถ้าหากว่าทำพลาดไป แทนที่จะเป็นการสร้างสรรค์ มันก็กลับเป็นการทำลาย ความพลาดนั้นก็เกิดได้จากเหตุหลายอย่าง เช่น เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีความรู้แท้จริงบ้าง ไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบเพียงพอบ้าง สาเหตุอย่างอื่นบ้าง ซึ่งอาจมีหลายเหตุหลายประการด้วยกัน เพราะฉะนั้น บางครั้งเราจึงต้องมีการมาเน้นในเรื่องการทำหน้าที่ว่าให้เป็นการสร้างสรรค์สังคม ทั้งๆ ที่จริง ตัวงานนั้นก็เป็นงานสร้างสรรค์สังคมอยู่แล้ว

ความหมายของสื่อมวลชน

คำว่า สื่อมวลชน นี้ เท่าที่เราให้ความหมายกัน มักจะเน้นในแง่ของการที่เป็นสื่อกลางในการกระจายข่าวและความรู้ไปสู่ประชาชน คล้ายๆ ว่าเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมเอาข่าวสารความรู้ แล้วก็ถ่ายทอดไปให้ประชาชนรับทราบ แต่ความเป็นสื่อกลางหรือศูนย์กลางในแง่นี้ ยังรู้สึกว่าไม่สมบูรณ์ เท่าที่มองดูบทบาทของสื่อมวลชนไม่ใช่เท่านั้น นอกจากจะเป็นศูนย์กลางรวบรวมประมวลข่าวสารความรู้ส่งกระจายไปให้ประชาชนแล้ว สื่อมวลชนยังเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ที่กำลังมีปัญหา หรือกำลังมีเรื่องราวเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เช่น เป็นสื่อระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ซึ่งไม่ใช่เป็นสื่อที่ทำงานข้างเดียว  คือไม่ใช่เป็นเพียงกระจายข่าวสารจากฝ่ายรัฐบาลไปสู่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนเสียงของประชาชนมาให้รัฐบาลรับทราบด้วย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้สื่อมวลชนจึงเป็นสื่อกลางที่ไม่ใช่ทำงานออกไปสู่ประชาชนข้างเดียว แต่รับฟังเสียงจากประชาชนมาให้ส่วนงาน หรือบุคคล หรือองค์กรอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ได้รู้ได้ทราบด้วย ตลอดจนเป็นสื่อระหว่างประชาชนด้วยกัน จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนทำงานเหล่านี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายกว้างขวางกว่าคำจำกัดความที่มักเอามาอ้างกัน แม้แต่ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ถ้าอ่านดูจะเห็นว่าให้ความหมายที่เน้นไปข้างเดียว คือเน้นไปในแง่ที่ว่า เอาข่าวมารวบรวมประมวล แล้วก็ถ่ายทอดกระจายไปให้ประชาชนรับทราบ เมื่อความหมายขยายออกไปอย่างนี้ จึงนับว่าปัจจุบันนี้สื่อมวลชนทำงานกว้างขวางมาก

คำว่า สื่อมวลชนเอง เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ เกิดมาไม่นานเท่าไร และเมื่อมองย้อนหลังไปสักพักหนึ่ง เท่าที่จำได้ ก่อนที่จะใช้สื่อมวลชน เราเคยใช้คำว่า สื่อสารมวลชน ต่อมาคงจะเห็นว่า สื่อสารมวลชนยาวไป ก็เลยตัดเหลือสื่อมวลชน ถ้าดูจากชื่อ ในคำว่า สื่อสารมวลชน นั้น คำว่า สาร ก็หมายถึงข่าวสารนั่นเอง แต่ในอีกความหมายหนึ่ง สาร ก็คือ สิ่งที่เป็นสาระหรือแก่นสาร แม้แต่คำว่า ข่าวสาร ก็หมายถึง ข่าวหรือเรื่องราวที่เป็นแก่นสารมีเนื้อหาสาระ ฉะนั้น สื่อสารมวลชน จึงหมายถึง สื่อสาระ หรือสื่อสิ่งที่เป็นแก่นสารไปให้แก่ประชาชน (ตลอดจนมาจากประชาชน) ถ้าตรงข้ามก็กลายเป็นสื่อไร้สาระ หรือ สื่อไร้สาร เพราะฉะนั้น ในฐานะที่สื่อมวลชนเป็นคำตัดสั้นของสื่อสารมวลชน เราก็จะต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องสมกับที่เป็นสื่อสารมวลชน ไม่ใช่เป็นสื่อไร้สาร หรือไม่ใช่เป็นสื่อไร้สาระแก่ กับ และระหว่าง มวลชน

หน้าที่หลักของสื่อมวลชน

ทีนี้ก็มาดูว่าการที่จะเป็นสื่อสาร หรือสื่อสิ่งที่เป็นแก่นสารแก่ประชาชนได้นั้น สื่อมวลชนมีหน้าที่อะไรบ้าง ถ้าว่าถึงหน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชน ก็เห็นกันง่ายๆ จากความหมายที่พูดไปแล้วว่า หน้าที่พื้นฐานของสื่อมวลชน ก็คือ การนำเอาข่าวสารความรู้ไปให้แก่ประชาชน หน้าที่นี้ที่จริงมีความสำคัญมาก คนเรานี้จะต้องมีการสดับตรับฟังข่าวคราวความเป็นไป สมัยโบราณเรายังไม่มีสื่อมวลชน และระบบการกระจายแพร่ข่าวยังไม่ดีพอ ไม่มีประสิทธิภาพ เราก็ใช้วิธีปากต่อปาก เมื่อพูดต่อๆ กันไปหลายชั้นเข้าก็มักกลายเป็นข่าวลือ ด้วยเหตุนี้ ในสมัยก่อนนั้นข่าวลือจึงมีบทบาทมากในสังคม ฉะนั้น ในสมัยปัจจุบัน ถ้าเราไม่มีสื่อมวลชนมาทำหน้าที่นี้ ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าข่าวลือมากมาย ในแง่นี้สื่อมวลชนก็มามีบทบาทแทนที่ข่าวลือ โดยทำหน้าที่ให้ข่าวสารที่เที่ยงตรง แน่นอน ถูกต้อง ไม่ต้องมีข่าวลือ นับว่าเกื้อกูลต่อความเจริญปัญญาและประโยชน์สุขของมนุษย์มาก จัดว่าเป็นบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สังคม

อย่างไรก็ตาม ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นข่าวลวงหรือข่าวลือแบบใหม่ที่อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหายยิ่งกว่าข่าวลือเสียอีก เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ข่าวลือนั้นเป็นโทษแก่สังคมเพียงไร ตอนนี้สื่อมวลชนมาช่วยทำให้เราไม่ต้องไปเชื่อฟังข่าวลือ เราจะได้รับข่าวสารความรู้ที่แน่นอน เราหวังคุณค่าหรือประโยชน์นี้จากสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ คือ ให้ข่าวสารข้อมูลความจริงที่ถูกต้องเป็นหลักเป็นฐาน ซึ่งจะทำให้เราภูมิใจได้ว่า ประชาชนจะไม่ต้องหลงไปตามข่าวลือ ไม่ต้องหมกอยู่ในความมืดของการพูดปากต่อปาก ที่ไม่อาจจะรู้ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และเป็นหน้าที่พื้นฐานทีเดียว

นอกจากเป็นสื่อที่ให้ข่าวสารความรู้แล้ว ก็สื่อความคิดเห็นด้วย สื่อมวลชนไม่ใช่ให้เพียงข้อมูลข่าวสาร แต่ให้ความคิดความเห็นหรือทรรศนะต่างๆ ด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน เป็นหน้าที่ขั้นที่สอง เราจะเห็นว่าในวงการหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่เผยแพร่เฉพาะข่าวที่เล่าว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในสังคมเท่านั้น แต่จะมีเรื่องของคอลัมนิสต์ เป็นต้น ที่พูดแสดงความคิดเห็นต่างๆ เช่นวิจารณ์ข่าวที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะปัจจุบันนี้สื่อมวลชนดูเหมือนจะมีแนวโน้มในการแสดงบทบาทด้านนี้มากขึ้นๆ ซึ่งจะเป็นการย้ำเน้นการทำหน้าที่ในฐานะเป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม ตลอดจนรัฐบาลกับ ประชาชน แล้วสะท้อนเสียงประชาชนเข้ามาสู่รัฐบาลหรือองค์การนั้นๆ ด้วย

อิทธิพลของสื่อมวลชน

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยทั่วไปยังมีอิทธิพลที่สำคัญขยายออกไปจากการทำหน้าที่พื้นฐานนั้นอีก ซึ่งทำให้สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น เพราะในการให้ข่าวและให้ความคิดเห็นนั้น หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทั่วไปสามารถสร้างจุดสนใจขึ้นมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรียกได้ว่าทำให้เรื่องบางเรื่องดังขึ้น ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยากจะให้คนสนใจเรื่องใด ก็ไปจับเรื่องนั้น ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นก็อาจจะไม่มีคนสนใจมากเท่าไร แต่สื่อมวลชนทำให้คนสนใจเรื่องนั้นขึ้นมา จนกระทั่งว่าสื่อมวลชนพูดอะไร คนในสังคมก็พูดเรื่องนั้น เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าเป็นอย่างนั้น ยิ่งกว่านั้นบางทีหนังสือพิมพ์พูดอะไรเป็นข่าวออกมาอย่างไร เดี๋ยวประชาชนก็พูดอย่างนั้นด้วย อันนี้สิสำคัญ หมายความว่า มันไม่ใช่แค่อะไร แต่มันเป็นอย่างไรด้วย อันนี้เป็นอิทธิพลที่สำคัญของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องเกิดความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก

เพียงแค่ว่าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอย่างใดอย่างหนึ่งยกอะไรขึ้นมาพูด ประชาชนก็สนใจพูดเรื่องนั้น นี่ก็สำคัญมากอยู่แล้ว แต่นี่สื่อมวลชนพูดอย่างไร ประชาชนก็พลอยพูดอย่างนั้นไปด้วย อิทธิพลนี่กว้างขวางจนกระทั่งกลายเป็นว่า ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนจะมีอิทธิพลทางการศึกษามากกว่าครูอาจารย์ เวลาพูดเรื่องอะไร แม้แต่นิสิตนักศึกษาบางทีไม่ได้อ้างครูอาจารย์ แต่อ้างว่าหนังสือพิมพ์พูดอย่างนั้นๆ แทนที่จะพูดว่าครูอาจารย์พูดอย่างนั้น นี่คืออิทธิพลของหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนที่แผ่ขยายเข้าไปในวงการการศึกษา เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลในการศึกษามาก เมื่อมีอิทธิพลอย่างนี้ ความรับผิดชอบก็ตามมาด้วย

อิทธิพลด้านนี้คลุมไปถึงแม้แต่เรื่องการใช้ภาษา สื่อมวลชนใช้ภาษาอะไรแบบไหนอย่างไร ไม่ช้าคนในสังคมก็ใช้ตาม เด็กเล็กก็ใช้ภาษาที่สื่อมวลชนใช้ นอกจากนี้ ทางด้านค่านิยมในสังคม สื่อมวลชนก็สามารถชักจูงบันดาลได้เป็นอย่างมาก อิทธิพลของสื่อมวลชนในวงการศึกษานี่ขยายไปถึงการศึกษามวลชน การศึกษานอกระบบ การศึกษาที่ไม่เป็นทางการ จึงนับว่ากว้างขวางทั่วทั้งสังคม สื่อมวลชนก็เลยมีอิทธิพลในสังคมเป็นอันมาก โดยเฉพาะอิทธิพลในการสร้างค่านิยม สร้างทัศนคติประชามติและกระแสความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการบันดาลความเป็นไปของสังคม ทำให้สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างมากเป็นพิเศษ

ก็เลยต้องพูดต่อไปว่า หน้าที่พร้อมทั้งความรับผิดชอบของสื่อมวลชนควรจะขยายไปตามอิทธิพลของตนด้วย พร้อมกันนั้นสื่อมวลชนก็น่าจะใช้อิทธิพลที่ตนมีอยู่นั้นให้เป็นประโยชน์แก่สังคม คือ ยกเรื่องที่เป็นสาระเป็นประโยชน์แก่สังคมขึ้นมาให้คนสังเกต หรือให้คนสนใจ เรียกว่าสร้างจุดสนใจในเรื่องที่มีสาระเป็นประโยชน์ ที่จะสร้างสรรค์สังคม ไม่ใช่จะเอาแต่เรื่องตื่นเต้น เรื่องอะไรจะเป็นประโยชน์แก่สังคมตอนนี้ ก็ยกเรื่องนั้นขึ้นมาให้คนได้ตื่นตัวสนใจ แล้วก็ถกเถียงพิจารณากัน เริ่มตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรืออันตรายของสังคม อันนี้เป็นจุดเน้นข้อแรกทีเดียว อะไรที่เป็นปัญหาแก่สังคม จะทำให้เกิดภัยอันตรายแก่สังคม อะไรเป็นกระแสร้ายที่เป็นไปอยู่ในสังคมนี้ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไข สื่อมวลชนน่าจะถือเป็นหน้าที่ที่จะยกขึ้นมาพูดจาย้ำเน้นให้ประชาชนเกิดความสนใจ แล้วช่วยกันเอาใจใส่คิดแก้ปัญหา พอสื่อมวลชนยกเรื่องขึ้นมาแล้ว ประชาชนก็จะได้มาร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหาด้วย อันนี้แหละจะเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น เราจะไม่เอาเฉพาะเรื่องที่ประชาชนสนใจ แต่เอาเรื่องที่ประชาชนน่าจะสนใจหรือควรจะสนใจด้วย ต้องเอาทั้งสองอย่าง คือเรื่องที่ประชาชนสนใจอย่างหนึ่ง และเรื่องที่ประชาชนควรจะสนใจอีกอย่างหนึ่ง และสิ่งใดเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนก็ต้องพยายามสนับสนุนสิ่งนั้น โดยเฉพาะเวลานี้ สิ่งที่เป็นแบบอย่างที่ดีนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะพิจารณากันให้มาก เพราะมีคนพูดไม่น้อยว่าหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยจะทำหน้าที่นี้ อะไรเป็นสิ่งที่ดี เป็นแบบอย่างที่ควรจะยกขึ้นมาพูดมาสนับสนุน เราไม่ค่อยพูดถึง

อีกอย่างหนึ่ง คือการทำหน้าที่นำคนไปในทางที่ถูกต้อง ในเมื่อสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม ประชามติ และกระแสความคิดของประชาชน ก็เท่ากับว่าเป็นผู้นำในสังคม บทบาทของหนังสือพิมพ์ในการเป็นผู้นำสังคมนี้เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นผู้นำ ก็ต้องเป็นผู้นำที่ดี คือ นำคนนำประชาชนไปในทางที่ถูกต้อง ให้เป็นไปในทางที่เป็นการสร้างสรรค์

หน้าที่ของผู้นำอย่างหนึ่งที่สื่อมวลชนทำได้มาก ก็คือ การช่วยพัฒนาประชาชน หรือช่วยพัฒนาคุณภาพประชาชน โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย และอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล หัวใจของการพัฒนาประชาชนก็คือ การพัฒนาปัญญา ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเป็นคนที่รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ รู้จักวิจารณ์อย่างมีเหตุผลมีความรับผิดชอบ เรื่องนี้หนังสือพิมพ์ทำเป็นตัวอย่างได้ ถ้าหนังสือพิมพ์ทำได้ดี ก็ทำให้เกิดแนวโน้มของสังคมในทางที่ดีด้วย เพราะฉะนั้นหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่ดีๆ จะเป็นประโยชน์แก่สังคมมาก เพราะเป็นตัวอย่างที่มีอิทธิพลมาก เป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมมาก เรียกว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในสังคม เพื่อให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมประชาธิปไตย อันนี้อาตมาว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันนี้

รวมความง่ายๆ ว่า หน้าที่และบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนในปัจจุบันนี้ คือ

๑. ทำหน้าที่พื้นฐานในฐานะเป็นแหล่งข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ว่ามาแทนที่ข่าวลือ

๒. เป็นยามระวังภัยให้แก่สังคม มีอะไรที่จะเป็นปัญหาที่จะทำให้เกิดภัยอันตรายแก่สังคม สื่อมวลชนจะต้องยกเรื่องนั้นขึ้นพิจารณา มาช่วยบอกกล่าว มาช่วยบอกให้รู้ เป็นการเตือนภัยเพื่อสังคมจะได้พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น

๓. เป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์บอกแหล่งโชคลาภแก่สังคม

ข้อสามนี้เป็นด้านบวกซึ่งก็สำคัญเหมือนกัน มีความหมายรวมถึงการให้ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ สิ่งที่เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดี สื่อมวลชนก็เอามาบอกกล่าวคนในสังคมนี้ ใครมีความคิดริเริ่ม มีการค้นพบ หรือได้ความรู้อะไร มีความคิดใหม่ๆ ทำอะไรๆ ที่เป็นการสร้างสรรค์ สื่อมวลชนก็เอามาสนับสนุน เอามาช่วยเผยแพร่ให้ อันนี้จะเป็นประโยชน์มาก

๔. ข้อสุดท้ายคือ เป็นผู้นำในทางสร้างสรรค์ที่จะพาสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของการนำในทางความคิด ที่บอกว่าเป็นผู้สร้างทัศนคติ ค่านิยม มติมหาชน และกระแสความคิดที่ถูกต้อง

ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ที่ขอกล่าวโดยย่อ ซึ่งทางสื่อมวลชนย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว

กระจกเงาสะท้อนภาพสื่อมวลชนด้วย

ในวงการสื่อมวลชนมักพูดกันว่า สื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ เป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพของสังคม หมายความว่า ข่าวคราวความเป็นไปในสังคมเป็นอย่างไร ก็ไปปรากฏทางสื่อมวลชน และข่าวคราวหรือข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นสภาพของสังคมในเวลานั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ภาพสะท้อนจากกระจกเงาของสื่อมวลชนนั้น จะแสดงภาวะที่เป็นจริงของสังคมได้ กระจกเงาจะต้องเรียบสม่ำเสมอ ไม่บิดเบี้ยว และไม่ปูดบุ๋มเป็นคลื่นเป็นลอน เพราะฉะนั้น กระจกเงาจะต้องเป็นกระจกที่ดีมีคุณภาพเรียบเสมอจริงๆ

มีข้อสังเกตอีกว่า สื่อมวลชนเป็นกระจกเงามีใจ ถึงอย่างไรก็สะท้อนภาพให้เหมือนกระจกเงาแก้วใสที่เป็นวัตถุไร้วิญญาณไม่ได้ กระจกเงาแก้วใสสะท้อนภาพทุกสิ่งทุกส่วนที่ปรากฏสุดแต่แสงสว่างจะส่องให้ แต่กระจกเงามีใจของสื่อมวลชน โดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง เลือกสะท้อนบางสิ่งและบางส่วนของสังคมตามสติปัญญาความสามารถ ตลอดจนความสนใจและแรงจูงใจเป็นต้นในใจของผู้ทำงานสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น ภาพสะท้อนของสังคมจากกระจกเงาของสื่อมวลชน จึงเป็นภาพสะท้อนแห่งเจตน์จำนงและศักยภาพของสื่อมวลชนด้วย

มองอีกแนวหนึ่ง กระจกเงาของสื่อมวลชนจะสะท้อนภาพได้ทั่วถึงหรือให้ภาพส่วนใดจางส่วนใดเข้มแค่ไหน ก็อยู่ที่ความสว่างแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของสื่อมวลชนนั้นๆ ดุจกระจกเงาสะท้อนภาพได้เท่าที่แสงสาดส่อง

ความเป็นกระจกเงามีใจของสื่อมวลชนนั้นเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยอยู่ในตัวเอง คนจำนวนมากใช้กระจกเงาเพื่อสำรวจตรวจดูตัวเอง แล้วเห็นจุดเห็นตำแหน่งที่จะแต่งตัวเสริมความงามความเรียบร้อย ตลอดจนแก้ปัญหาบนร่างกายของตัว กระจกเงาแก้วใสช่วยได้เพียงสะท้อนภาพเปล่าๆ ใครจะเสริมแต่งตัวอย่างไร ต้องมองหาจุดที่จะแต่งจะแก้เอาเอง ถ้าตาไม่ดี หรือมองไม่ละเอียด ก็อาจจะพลาดจุดที่ควรแต่งแก้ไปเสีย แต่กระจกเงามีใจของสื่อมวลชนนั้น นอกจากสะท้อนภาพแล้ว ยังเหมือนมีไฟฉายติดอยู่กับกระจกเงาด้วย ดังนั้น นอกจากสะท้อนภาพแล้ว ยังส่องชี้จี้จุดควรแต่งควรเสริมหรือควรแก้ให้เข้มชัดเด่นสะดุดตาขึ้นมาอีกด้วย ช่วยให้ผู้ใช้กระจกเงาสามารถสำรวจตรวจตัว และเสริมเติมแต่งกายได้ผลดียิ่งขึ้น

เป็นที่แน่นอนว่า ปัจจุบันนี้สื่อมวลชนมิใช่เป็นเพียงกระจกเงาที่สะท้อนภาพของสังคมเท่านั้น แต่ได้ทำหน้าที่ในด้านการโน้มน้าวชักจูงเจตน์จำนง ตลอดจนปรุงแต่งสภาพจิตของสังคมเป็นอย่างมากด้วย สื่อมวลชนที่ดี จึงน่าจะเป็นกระจกเงาที่เรียบเสมอมีคุณภาพดี ชนิดที่มีไฟฉายอันสว่างที่สำรวจชี้จุดและส่องนำทางให้แก่สังคมด้วย

สื่อมวลชนบางหน่วยสะท้อนภาพสังคมอย่างบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน ไม่ช่วยให้เห็นภาพของสังคมตามที่เป็นจริง

สื่อมวลชนบางส่วนเอากระแสค่านิยมของสังคมเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงว่าค่านิยมนั้นจะดีงามหรือทรามเลว เป็นไปในทางสร้างสรรค์หรือเสื่อมเสีย มุ่งสนองความต้องการด้านไหลต่ำของสังคม เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ของตน และเสริมหนุนความต้องการนั้นเพื่อเสริมหนุนผลประโยชน์ของตน

สื่อมวลชนบางส่วน เพียงสะท้อนภาพของสังคม พอให้เห็นภาวะและความเป็นไปตามเหตุการณ์ของยุคสมัย

แต่สื่อมวลชนที่พึงประสงค์ของสังคม น่าจะเป็นสื่อที่สะท้อนภาพที่แท้จริงของสังคม เป็นกระจกเงาที่เรียบเสมอ พร้อมทั้งมีไฟฉายที่ส่องให้สังคมรู้เห็นและรู้ตัวถึงจุดสำคัญที่ควรแต่งแก้เสริมตัว ตลอดจนเมื่อช่วยให้แต่งตัวได้ดีเสร็จแล้ว ยังส่องนำให้เห็นทางที่พึงเดินข้างหน้าสืบต่อไปด้วย

ความบกพร่อง: อุปสรรคหรือทางเลือกของสื่อมวลชน

ทีนี้อาตมาอยากจะพูดถึงสภาพปัญหาบางอย่างในปัจจุบัน ที่ทำให้สื่อมวลชนบางทีก็ทำหน้าที่และบทบาทไม่ได้เท่าที่ควร หรือไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

ประการที่ ๑ ก็คือ เรายังมีจุดอ่อนในวงการสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อย เกี่ยวกับเรื่องการเสนอข่าวสารที่ขาดความถูกต้องแม่นยำ อันนี้ก็ต้องบอกว่าตัวอาตมาเองก็ได้ประสบ คือ สื่อมวลชนหรือผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์อะไร เวลาไปลงข่าวไม่เหมือนอย่างที่เราพูด ก็เกิดโทษ เพราะว่าสื่อมวลชนนี่ประชาชนเชื่อถือ และอีกอย่างหนึ่งระยะยาวมันเป็นหลักฐานอ้างอิงด้วย เพราะฉะนั้น หนังสือพิมพ์ควรจะเป็นหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ถ้าหลักฐานอ้างอิงเชื่อถือไม่ได้ อันตรายก็เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราจะพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ ๑๐ ปีก่อน เราก็พึ่งหนังสือพิมพ์ เราก็ไปค้นเอาข่าวหนังสือพิมพ์เป็นหลักฐานอ้างอิงมาบอกว่า หนังสือพิมพ์วันที่เท่านั้น เดือนนั้น ปีนั้น ลงข่าวว่าอย่างนี้ แต่เมื่อหลักฐานอ้างอิงนั้นไม่ถูกต้อง ก็เสียหายหมด กลายเป็นเรื่องเท็จ เพราะฉะนั้น ข้อนี้จะต้องถือว่าเป็นหน้าที่พื้นฐานเลยทีเดียว และจะต้องทำให้ได้ คือ ความถูกต้องแม่นยำในการเสนอข่าวสารข้อมูล

ยิ่งกว่านั้นเมื่อให้ข่าวสารข้อมูลไปแล้ว ถ้าสื่อมวลชนนำมาเสนอผิดพลาด ต่อไปผู้ให้สัมภาษณ์ก็กลัว เวลาจะเจอกับผู้สื่อข่าว เราก็จะเกิดกลัวขึ้นมาว่า เอ! นี่จะพูดยังไงดี หรือบางทีเราก็หาทางหลบ ไม่อยากจะพูดด้วย ก็เสียประโยชน์ไป

เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นข้อที่หนึ่งที่จะต้องทำให้ได้ ซึ่งยังมีข้อบกพร่องอยู่พอสมควร เราต้องยอมรับความจริงว่า ยังมีความบกพร่องในเรื่องของการเสนอข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ไม่แม่นยำ

ประการที่ ๒ คือ ความลึกซึ้งในเชิงปัญญาและเหตุผล อันนี้ไม่เฉพาะการเสนอข่าวหน้า ๑ เท่านั้น แต่ที่สำคัญคือการเสนอข้อวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้เหตุผลกันมาก บางทีก็พูดเอาง่ายๆ เกินไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะว่ากราดไปหมด หนังสือพิมพ์และนักเขียนนักข่าวที่มีความรับผิดชอบและใช้สติปัญญาอย่างดีก็มี แต่เราพูดถึงสภาพปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ และพูดในแง่ที่ว่า มันยังมีอยู่มาก ซึ่งเราจะต้องช่วยกันแก้ไข

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ก็คือบางทีเราไปเน้นในแง่ของรูปแบบ มุ่งเอาสีสันทันสมัยเสียมากกว่า มุ่งแต่จะทำให้เกิดความตื่นเต้นจูงใจ แทนที่จะเน้นในแง่ของความถูกต้องแม่นยำและการใช้ปัญญาหาเหตุผล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญหรือเป็นสาระของงานสื่อมวลชน หากว่าสื่อมวลชนทำตามหลักการนี้ได้ ก็จะพัฒนาคุณภาพประชาชนไปด้วย แต่ถ้าหากเรามุ่งเอาแต่เรื่องของการเสนอรูปแบบสีสันที่น่าตื่นเต้นแล้ว ประชาชนก็จะจมอยู่อย่างนั้นเอง ได้แต่วกวนอยู่ในเรื่องของความสนุกสนานมัวเมาวนเวียนอยู่กันอย่างนี้ ไม่ค่อยพัฒนาทางปัญญา ถ้าใช้คำแรงก็ต้องว่า บางทีสื่อมวลชนก็อาจจะเห็นแก่ผลประโยชน์มากไป คือ แทนที่จะมุ่งอุดมคติในการที่จะสร้างสรรค์สังคม ก็มุ่งแต่ในแง่ของผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นส่วนบุคคลบ้าง เป็นส่วนของกลุ่มพวกของตัวบ้าง มุ่งหาผลประโยชน์โดยสร้างความตื่นเต้นให้ประชาชนสนใจ และเป็นความสนใจทางอารมณ์ แต่ด้านปัญญาไม่ค่อยมี

ในแง่นี้ เราอาจจะใช้คำรุนแรงว่า สื่อมวลชนจะกลายเป็นผู้หากินบนความโง่ของประชาชน ซึ่งเป็นไปได้เหมือนกัน และไม่ใช่แค่ความโง่ของประชาชนเท่านั้น แต่กลายเป็นว่า หากินบนโลภะ โทสะ โมหะของประชาชน คือ ประชาชนมีความปรารถนามุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว หรือจะสนองความต้องการของตัว อยากจะได้อะไร สื่อมวลชนก็ไปสนองอันนั้น หรือชาวบ้านโกรธชังอะไร เกลียดชัง ไม่ชอบอะไร สื่อมวลชนก็ไปสนองอันนั้น ให้เขาโกรธเกลียดขัดแย้ง ทะเลาะกัน ให้เขาตีกัน เขามีโมหะลุ่มหลงงมงายในเรื่องอะไร ก็ไปเสนอและส่งเสริมในเรื่องนั้น ทำอย่างนี้ก็ได้สิ ประชาชนก็สนใจก็ชอบ แต่สังคมได้อะไร มีแต่เสื่อมลง ไม่มีการสร้างสรรค์ ไม่มีการพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นการทำตามอุดมคติและหลักการ ในทางที่ถูก เราจะต้องนำประชาชนเข้าสู่ความจริง และหลักการแห่งความดีงาม อันนี้จะต้องเป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายสำคัญที่สื่อมวลชนจะต้องทำให้ได้

ขอยกตัวอย่าง ปัจจุบันนี้พูดถึงวงการศาสนา เรามีปัญหาเรื่องพระเครื่อง เรื่องวัตถุมงคล ซึ่งมีการนำมาใช้ในการหาผลประโยชน์ จนกระทั่งเราเรียกกันว่า พุทธพาณิชย์ หนังสือพิมพ์เองก็สามารถหาประโยชน์จากเรื่องนี้ได้เป็นอันมาก ว่ากันไปแล้ว บางทีกลายเป็นการสมคบกันระหว่างพระหรือคนบางกลุ่มกับสื่อมวลชนในการที่จะหาผลประโยชน์อันนี้ไป แล้วก็ทำให้ประชาชนวนเวียนหลงหมกมุ่นอยู่ในระบบผลประโยชน์ และในเรื่องของความลุ่มหลงมัวเมา ถ้าจะเสนอสิ่งเหล่านี้ ทำอย่างไรสื่อมวลชนจะมีเป้าหมายในการที่จะนำประชาชนไปสู่แนวทางที่ดีงามยิ่งขึ้น ให้เขาเกิดปัญญาหรือเป็นการสร้างสรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องหาทางออกให้ได้

สีสันและรูปแบบนั้นก็สำคัญและมีประโยชน์ การที่ทำได้ดีก็เป็นความสามารถที่ควรยกย่องอย่างหนึ่ง แต่จะต้องมีขอบเขต โดยอยู่ในความดีงาม ไม่ชักจูงใจไปในทางตกต่ำ และข้อสำคัญก็คือมันถูกใช้เพื่อสนองเป้าหมายอะไร ถ้าใช้เพื่อชักจูงนำเข้าสู่สิ่งดีงามที่เป็นสาระ ก็เป็นวิธีการที่ดีได้

บางทีหนังสือพิมพ์ก็ชอบแต่เรื่องตื่นเต้น ประชาชนก็ชอบ คบกันได้ดี แต่มันได้แค่อารมณ์ ปัญญาไม่เกิด บางทีก็แหย่ให้คนทะเลาะกัน แหย่ทางโน้นทีทางนี้ที ก็สนุกดีแล้วข่าวก็ตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น อันนี้จะถือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งก็ว่าได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้ภาษา บางทีเราก็ใช้ภาษาเพียงว่าให้ถึงใจคน ซึ่งก็เป็นการสนองความรู้สึกตื่นเต้นอีกนั่นแหละ แต่เสร็จแล้วมันได้สาระอะไร ถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นการสนองความต้องการของประชาชนในทางที่ทำให้ลดคุณภาพลงแทนที่จะพัฒนา บางทีหนังสือพิมพ์ก็อาจจะใช้พวกภาพที่เรียกว่า โป๊ หรือ อนาจารมาช่วย อย่างนี้ก็เป็นวิธีการอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องของระบบผลประโยชน์ทั้งนั้นแหละ แล้วเราจะทำอย่างไร มันเป็นเรื่องของคุณภาพ ทั้งของประชาชน และของสื่อมวลชนเองไปพร้อมกัน ถ้าจะสร้างสรรค์ก็ต้องดึงกันขึ้นไป เราจะต้องขึ้นสู่ทางที่ยากลำบากสักหน่อย สื่อมวลชนจะต้องมีความเพียรพยายามที่จะดึงประชาชนขึ้น พัฒนาปัญญาให้คนรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล การที่จะสร้างสรรค์สังคมนี้ บางทีเราก็ต้องทวนกระแสบ้าง ไม่ใช่ตามกระแส ถ้าตามกระแสกันเรื่อยไป สังคมก็คงพัฒนายาก แล้วบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมก็คงเป็นไปได้ยาก

สื่อมวลชนกับความเป็นผู้นำของสังคม

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ ได้บอกแล้วว่าสื่อมวลชนนั้นมีฐานะเป็นผู้นำสังคม โดยเฉพาะบทบาทตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นผู้นำที่สำคัญ ในสังคมไทยปัจจุบันนี้สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการเป็นผู้นำของสังคม สื่อมวลชนจะทำหน้าที่นี้ได้ดีจะต้องเข้าถึงรากฐานและพื้นฐานทางวัฒนธรรมของสังคมของตัวเองด้วย เรียกง่ายๆ ว่า ต้องรู้จักสังคมของตนเองอย่างเพียงพอ อีกด้านหนึ่งก็คือ ต้องรู้เท่าทันสังคมโลกด้วยความเป็นไปในสังคมที่พัฒนาแล้ว โลกส่วนที่เจริญอย่างที่สุด คือประเทศที่เจริญสูงสุดเขาเป็นอย่างไร ต้องรู้เท่าทันทั้งสองด้าน จึงจะนำสังคมนี้ไปสู่ความเจริญได้

ในด้านที่หนึ่งคือ ต้องรู้จักสังคมของตนเอง ต้องเข้าถึงรากฐานทางวัฒนธรรมของตน เพราะถ้าเราไม่รู้จักสังคมของตนเองดี เราจะสร้างสรรค์สังคมนั้นได้อย่างไร เราจะสร้างสรรค์สังคมที่เราไม่รู้จักได้อย่างไร ถ้าเราจะสร้างสรรค์สังคมใด เราจะต้องรู้จักสังคมนั้นอย่างดีก่อน แล้วเราจึงจะรู้จุดอ่อนจุดแข็ง จุดบกพร่อง จุดดีจุดเด่น และอะไรอื่นๆ ที่เราควรจะแก้ไขหรือส่งเสริม

ปัจจุบันนี้ เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นความบกพร่องของการศึกษาของสังคมไทยโดยทั่วไป ที่ทำให้คนของเราไม่ค่อยรู้จักสังคมของตนเอง ในการไม่รู้จักสังคมของตนเองนี้ ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ไม่รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง เช่น พระพุทธศาสนา ในกรณีนี้เราอาจจะไม่มองในแง่ของศาสนาก็ได้ แต่เราอาจจะมองในแง่ของวัฒนธรรมไทย เช่นในเรื่องถ้อยคำหรือภาษา ซึ่งเข้าไปอยู่เป็นคำพูดสามัญในหมู่ประชาชนแล้ว ถ้อยคำเหล่านั้นซึ่งมาจากพระพุทธศาสนาก็จริง แต่เมื่อไปอยู่ในหมู่ประชาชนและประชาชนไม่มีการศึกษา ความเข้าใจต่อถ้อยคำเหล่านั้นก็คลาดเคลื่อนผิดพลาดไป เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งที่มีในสังคมของตนเอง การพัฒนาสังคมก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนจะต้องเป็นผู้นำประชาชน จะต้องรู้ศัพท์รู้ถ้อยคำอะไรต่างๆ ที่มีมาในวัฒนธรรมไทยนี่ดีกว่าประชาชนทั่วไป จึงจะนำประชาชนได้

ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวข้องขึ้นมา อย่างที่กำลังเป็นอยู่นี้ ถ้อยคำต่างๆ เช่นคำว่า พระโพธิสัตว์ พระอริยะ พระอรหันต์ อย่างนี้ อาตมาว่าสื่อมวลชนต้องทราบ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมนี้ที่ถ่ายทอดกันมา ในฐานะที่สื่อมวลชนเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ประชาชนจะต้องมีความเข้าใจ เรื่องนี้อาจจะต้องโทษการศึกษานิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ด้วย ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์นั้น อาจจะต้องมีการเพิ่มวิชาเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้น ให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจซึ่งจะทำให้สามารถนำสังคมได้

อย่างคำว่า 'ปวารณา' นี่สื่อมวลชนก็ไม่เข้าใจ หรืออย่างคำว่า 'พระไตรปิฎก' 'อรรถกถา' สื่อมวลชนก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ที่จริงจำเป็นจะต้องรู้จะต้องเข้าใจ อันนี้เป็นเรื่องของรากฐานทางวัฒนธรรม สื่อมวลชนจะต้องนำชาวบ้านได้ ประชาชนทั่วทั้งสังคมไม่ใช่มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯ และสื่อมวลชนก็มีอิทธิพลออกไปในบ้านนอกเยอะด้วย คนชนบทยังพูดศัพท์เหล่านี้อยู่ แต่ศัพท์เหล่านี้มาถึงประชาชนชาวบ้านเหล่านั้นโดยการถ่ายทอดกันมา จึงมีความหมายไม่สู้สมบูรณ์ และเลือนรางไป สื่อมวลชนจะต้องรู้ดีกว่าชาวบ้านเหล่านั้น จึงจะให้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่รู้ดีกว่าชาวบ้านเท่านั้น ต้องรู้ดีแม้กว่าพระทั่วๆ ไปด้วย ในสภาพปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยและความรู้ที่เป็นเรื่องของสังคมไทยได้เสื่อมลงและจืดจางลงไปมาก แม้แต่พระสงฆ์เองซึ่งเป็นลูกชาวบ้านมาบวช เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ได้ยินศัพท์แสงที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งเป็นศัพท์ทางพุทธศาสนานั่นแหละ แต่พระเองก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนจะต้องรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องดีแม้กว่าพระด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะพระทั่วๆ ไปในชนบท อันนี้ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้ได้เพื่อความเป็นผู้นำที่ถูกต้อง

สื่อมวลชนกับการสร้างความเป็นผู้นำให้แก่สังคมไทย

อีกด้านหนึ่งก็คือ สังคมแห่งยุคสมัย โดยเฉพาะสังคมที่เจริญก้าวหน้าพัฒนาสูงสุด ตลอดจนสังคมภายนอก หรือสังคมโลกทั่วไป สื่อมวลชนก็ต้องมีความรู้เท่าทัน สภาพอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาในปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องแก้ให้ได้ ก็คือว่า สังคมไทยได้สร้างสมสภาพจิตอันหนึ่งที่เรียกว่า สภาพจิตแบบผู้ตามและผู้รับมานาน คือ มีความเคยชินทางจิตใจที่คอยรอตามฟังตามดูว่ามีอะไรใหม่ๆ ในสังคมตะวันตก หรือสังคมที่เรานับถือว่าเจริญกว่า แล้วก็คอยรับเอา โดยการที่คอยรับเอาๆ นี้ เราก็กลายเป็นผู้ตามมาโดยตลอด คนไทยเราสั่งสมสภาพจิตนี้กันมาตั้งเป็นเวลาเกือบร้อยปีหรือหนึ่งศตวรรษ จนกระทั่งกลายเป็นการตามเขาโดยไม่รู้ตัว คิดแต่จะรับท่าเดียว คือ เราจะคอยฟังว่ามีอะไรใหม่บ้างในสังคมตะวันตก พอได้ข่าวว่ามีผลิตภัณฑ์ใหม่ มีสิ่งบริโภคใหม่ มีวิชาการความรู้อะไรใหม่ เราก็แข่งกันรับเอา โดยวิธีการรอรับนี้เราก็กลายเป็นผู้ตาม สภาพจิตแบบผู้ตามและรับ หรือคอยรับแล้วเป็นผู้ตามนี้สะสมมานานในสังคมไทย

การที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ในเวลานี้ จะต้องมีการปลุกจิตสำนึก หรือแทบจะเรียกว่าจะต้องมีการปฏิวัติทางจิตใจเลยทีเดียว คือจะต้องปลุกจิตสำนึกในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ให้มีความสำนึกว่า เรานี้ก็สามารถเป็นผู้นำเขาได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็บางด้าน เราจะเป็นผู้นำได้ เราต้องมีอะไรให้แก่เขา สังคมของเราก็ไม่ใช่สิ้นไร้ไม้ตอก มันก็มีดีเหมือนกัน คือยังมีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่นอยู่บ้าง ถ้าเรามีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้นำขึ้นมาบ้างแล้ว เราก็จะหันมาสำรวจมองดูตัวเอง และเมื่อมองดูเราก็จะเห็นว่า เรามีอะไรอยู่บ้าง แล้วเราก็จะมีสิ่งที่จะให้แก่ผู้อื่น เมื่อมีสิ่งที่จะให้แก่ผู้อื่น เขาก็จะต้องคอยรับจากเราบ้าง เราก็จะเป็นผู้นำ

ความเป็นผู้นำกับเป็นผู้ให้นั้นไปด้วยกัน ถ้าเรามีอะไรให้แก่เขา เราก็ได้เป็นผู้นำเขาด้วย เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นด้วย อย่างน้อยก็ต้องทำตนให้สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นผู้คอยตามรับเขาอยู่เรื่อย ถ้าเป็นผู้ตามรับเขาอยู่เรื่อยอย่างนี้ ก็จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษยชาติกับเขาเลย ได้แต่คอยดูเขาสร้างสรรค์กันไป เราก็รอรับจากเขาอยู่เท่านั้นเอง อาตมาว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทย

สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่และมีบทบาทอันนี้ คือ จะต้องช่วยพัฒนาสังคมไทย ในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยนี้มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ในสังคมโลกบ้าง เรื่องนี้สื่อมวลชนสามารถทำได้ แต่เราจะทำได้เราต้องมีความรู้เท่าทันสังคมโลก คือ มีความรู้เท่าทันว่า สังคมที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างไร เขามีความเจริญ มีความเสื่อม มีปัญหาอย่างไร สังคมที่พัฒนาอย่างสูงแล้ว จะเป็นอเมริกาก็ตาม หรือญี่ปุ่นก็ตาม มีจุดอ่อนจุดแข็ง จุดดีจุดด้อยอย่างไร เราต้องรู้ทัน ถ้าเรามีสภาพจิตแบบผู้ตามผู้รับ เราจะมองเห็นแต่ส่วนดีของเขามากจนกระทั่งว่าส่วนบกพร่องของเขาเราแทบมองไม่เห็น เพราะเราคอยจ้องแต่จะรับส่วนดีที่จะเอา หรือจ้องจะเอาจนเห็นแต่ส่วนที่ดี ตลอดจนคอยตามรับเอาจนมองเห็นทุกอย่างที่เขาจะให้เป็นสิ่งที่ดี

ถ้าจะแก้ปัญหานี้ เราจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต้องมองตามเป็นจริง และมองในแง่ที่จะให้หรือช่วยแก้ไขปัญหาบ้างแล้ว เราก็จะมองเห็นปัญหาของเขา เราจะมองเห็นเหตุปัจจัยแห่งความเจริญและความเสื่อมทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรื่องนี้เราจะต้องตั้งเป็นแนวทาง เป็นความมุ่งหมาย ถ้าไม่ตั้งขึ้นมา มันก็ไม่มีการริเริ่มกระทำ ตอนนี้ต้องถือว่าสื่อมวลชนของเรายังมีสภาพปัญหา คือมีจุดอ่อนอันนี้ ยังเอื้อต่อสังคมได้น้อย ทั้งด้านการรู้เขาและรู้เรา สังคมของตัวเองก็รู้จักน้อยเกินไป แล้วสังคมโลกก็ยังรู้จักไม่เพียงพอ เพราะเราอยู่ในสภาพเป็นผู้คอยตามอยู่อย่างนี้ มันก็ขาดความรู้เท่าทันทั้งสองด้านนั้นไป

เสรีภาพที่อยากได้ กับความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ได้

อีกเรื่องหนึ่งคือ สิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรือ Freedom of the press อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในสังคมไทยของเรา เราเคยขาดแคลนสิ่งนี้มากมานาน จนกระทั่งเวลานี้เราได้ขึ้นมาเยอะ จากการที่ขาดแคลนมานาน แล้วก็ได้ขึ้นมาใหม่ๆ นี้ ก็มีจุดที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง เรียกว่า ความไม่ประมาท คือ นักการเมืองเหลิงอำนาจได้ฉันใด สื่อมวลชนก็อาจจะเหลิงอำนาจได้ฉันนั้น การที่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารข้อมูลนี้ เมื่อทำไปๆ บางทีอิสรภาพและเสรีภาพก็ทำให้เราเหลิงได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในการที่จะรักษาสถานะให้เป็นที่น่านับถือของสังคม สื่อมวลชนก็จะต้องระมัดระวัง โดยมีความรับผิดชอบในการที่จะรักษาและใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารนี้ มิฉะนั้น วันหนึ่งเสรีภาพนี้ก็อาจจะสูญเสียไปได้ บางทีก็ไม่ใช่สูญเสียแก่ใครที่จะมายึดอำนาจหรอก อันนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ การถูกตีกลับจากประชาชน ทำให้กลายเป็นว่า เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน หรือประชาชนต่อต้านเสรีภาพของหนังสือพิมพ์

เรื่องนี้แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา เราก็คงได้ยินว่าเคยเกิดปัญหาเหมือนกัน สื่อมวลชนในสมัยหนึ่งเคยทำหน้าที่นำเสนอข่าวเจาะลึกในเรื่องของสังคม จนกระทั่งเขาเรียกว่าเป็นการข่าวอย่างนักสืบ สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นนักสืบ นำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ซ่อนเร้นในสังคมอเมริกันมาตีแผ่ โดยเฉพาะเรื่องของคนในวงการรัฐบาลอะไรต่างๆ อันนี้ก็ได้ประโยชน์แก่สังคมมาก เช่น แม้แต่ประธานาธิบดีนิกสันก็ถึงกับต้องลาออก นี่ก็เป็นเพราะอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ แต่ไปๆ มาๆ หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่นักสืบเกินไป ไปถึงจุดหนึ่งก็ถูกตีกลับจากประชาชน ประชาชนไม่พอใจ บอกว่านี่มันเกินไปแล้ว มันเอียงเกินไปแล้ว ชักจะดิ่งไปข้างเดียว ผลที่สุดก็กลายเป็นว่าเสียความเป็นธรรม

สื่อมวลชน ถ้าไม่ระมัดระวังตัวตกอยู่ในความประมาท บางทีก็จะมีสิ่งที่เรียกว่าความเหลิงอำนาจได้เหมือนกัน แล้วผลเสียก็กลับมา ความเชื่อถือที่ได้จากประชาชนก็กลับลดลงไป เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาความเชื่อถือและแม้แต่สิ่งที่เรียกว่าอิทธิพลไว้ได้ด้วยดี สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบ ยิ่งเขาเชื่อถือ เราก็ยิ่งต้องระมัดระวัง ไม่เหลิง ไม่ประมาท แล้วความไม่ประมาทนี้ก็จะทำให้เรารักษาความเชื่อถือนั้นไว้ได้ ความไม่ประมาทนี้ก็คือ การที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสูง ทำการโดยใช้ปัญญาระมัดระวัง ไม่ใช้อารมณ์ มีความยับยั้งตนเอง มีสติอย่างดี ทำหน้าที่ด้วยวิจารณญาณ อันนี้แหละจะช่วยให้รักษาเสรีภาพในการเสนอข่าวสารไว้ได้ และรักษาความเชื่อถือในสังคมไว้ได้ด้วย

ว่าโดยย่อ ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนนั้นมี ๒ ระดับ

ระดับที่หนึ่ง ระดับข้อมูล จะเรียกว่าระดับความรู้ที่ได้ คือ ระดับของการเสนอข่าวสารข้อมูลแท้ๆ ความรับผิดชอบเป็นเพียงเรื่องของความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลเฉพาะกรณีระยะสั้น เพราะข้อมูลข่าวสารมักเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนระยะสั้น เพียงว่ารู้ผิดหรือรู้ถูก ถ้าพลาดไป ก็อาจจะทำให้การปฏิบัติการในเรื่องนั้นผิดพลาดไปด้วย แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวระยะสั้น ทีนี้อีกระดับหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ระดับที่สอง ระดับความคิด ทางพระเรียกว่าระดับทิฏฐิ ระดับทิฏฐิ คือ ตอนที่เป็นความเชื่อ เป็นทัศนคติ เป็นค่านิยม เป็นแนวความคิดของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวแล้วถ้าผิดก็เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราสร้างความเชื่อ แนวความคิด ทัศนคติหรือค่านิยมอย่างใดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นเรื่องที่มีผลต่อสังคมระยะยาวมาก เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบจึงต้องมีทั้ง ๒ ระดับ

๑. ในระดับข่าวสารข้อมูล ต้องรู้ความจริงรอบด้านทั่วตลอดทะลุโล่ง และนำเสนออย่างชัดเจนแม่นยำถูกต้อง

แต่อันนี้ยังไม่สำคัญลงลึกเท่ากับความรับผิดชอบระดับทิฏฐิ คือ ระดับความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติที่มันมีผลระยะยาวต่อสังคม สังคมจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นต่อทิฏฐิ ขึ้นต่อค่านิยม และความเชื่อถือที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น และสื่อมวลชนก็มีอิทธิพลมากในการที่จะก่อรูปให้เกิดค่านิยม ความเชื่อถือ หรือทิฏฐิ เหล่านี้ สังคมตลอดจนอารยธรรมมนุษย์ทั้งหมดก็เป็นไปตามทิฏฐิของมนุษย์นี่เอง

๒. ในระดับทิฏฐิ ต้องมีความคิดเห็นที่ชอบธรรมเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างสรรค์หรือแก้ปัญหา หรือเป็นความคิดนำทางที่ดี และแสดงออกด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจจริง และอย่างมีเหตุผล ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ประกอบด้วยคุณธรรม ไม่มีเจตนาร้ายหรือมุ่งได้มุ่งเอา ซ่อนเร้นแอบแฝง และมีความปรารถนาดี ทำเพื่อการสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ ไม่ถือตามอารมณ์

ในเรื่องความสำคัญของทิฏฐินั้น ขอยกตัวอย่างง่ายๆ อารยธรรมมนุษย์ปัจจุบันนี้ ได้ถูกสร้างสรรค์มาจากทิฏฐิหรือแนวความคิดของอารยธรรมตะวันตกที่ว่า มนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ต่อเมื่อได้พิชิตธรรมชาติสำเร็จ สามารถเอาธรรมชาติ มาจัดการตามปรารถนา เอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการของมนุษย์ อารยธรรมตะวันตกมองว่า มนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ จะต้องเป็นผู้พิชิตธรรมชาติ ทิฏฐินี้ได้เกิดขึ้นมาถึงสองพันปีกว่าแล้ว ผลที่ได้รับตลอดมาก็คือ ความภูมิใจว่ามนุษย์สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมได้สำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้มนุษย์ก็ได้ประสบปัญหาร้ายแรงคือ การที่สภาพแวดล้อมเสีย ธรรมชาติเสื่อมโทรม เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกปัจจุบัน และผู้รู้มากหลายก็ได้พิจารณาวินิจฉัย และก็บอกได้ว่า ปัญหานี้เกิดจากทิฏฐิแนวคิดที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และคิดหลงผิดไปว่า มนุษย์จะสุขสมบูรณ์เมื่อพิชิตธรรมชาติได้นั่นเอง ทิฏฐิที่ได้เกิดขึ้นมาถึงสองพันกว่าปีแล้ว ซึ่งมนุษย์พากันภูมิใจนักหนามาแสนนานว่าเป็นเครื่องนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมนั้น กลับมาจบลงด้วยความผิดหวัง และความสลดหดหู่ใจ นี่แหละคือความสำคัญของทิฏฐิ ทิฏฐิเป็นตัวนำ และเป็นรากฐานทั้งด้านดีและด้านร้ายของอารยธรรมมนุษย์ทั้งหมด มนุษย์จะเป็นไปอย่างไรก็เกิดจากแนวความคิดหรือทิฏฐิทั้งสิ้น สื่อมวลชนมีอิทธิพลสำคัญมากในระดับที่สองนี้ด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องใช้อิทธิพลนี้ด้วยความรับผิดชอบ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่

คิดให้กว้าง มองให้ไกล ใฝ่ให้สูง

เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบต่างๆ แล้ว ก็อยากจะพูดถึงจุดเน้นที่ควรทำของสื่อมวลชนไทยปัจจุบัน ก่อนจะพูดเรื่องนั้น ขอทบทวนเรื่องที่พูดไปแล้วว่า ตอนแรกได้พูดถึงปัญหา แล้วก็พูดถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหา

ข้อที่หนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่ว่าไปแล้ว ก็คือ การเสนอข่าวสารข้อมูลให้ถูกต้องแม่นยำตรงประเด็น น่าเชื่อถือหรือเชื่อถือได้ ให้ถึงขั้นที่ว่าเป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงต่อไปได้

ต่อไปก็คือ การพัฒนาคุณภาพของประชาชน โดยเฉพาะพัฒนาด้านปัญญา ให้ประชาชนมีความใฝ่รู้ สนใจสิ่งที่เป็นแก่นสารเป็นสาระ ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวข่าวตื่นเต้น สื่อมวลชนต้องเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ คือบอกกล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม อย่างที่ว่าไปแล้ว

อีกประการหนึ่ง ก็คือ การช่วยแก้กระแสร้ายในสังคม อะไรที่เป็นภัยเป็นอันตรายแก่สังคม เช่น ในปัจจุบันเรามีปัญหายาเสพติด เรื่องเอดส์ เรื่องสภาพแวดล้อมเสียหาย ฯลฯ อะไรที่เป็นภัยอันตราย หรือจะทำให้เกิดภัยอันตราย ตลอดจนแนวโน้มที่ผิดพลาดไม่ถูกต้อง สื่อมวลชนจะต้องยกขึ้นมาพูดเพื่อให้เป็นประเด็นที่จี้ความสนใจของประชาชน เพื่อให้มวลชนได้ร่วมกันตระหนักในปัญหา เท่ากับเป็นยามระวังภัยให้แก่สังคม เรามาช่วยกันป้องกันกำราบภัยอันตรายของสังคมไม่ให้เกิดขึ้น แล้วก็แก้ไขค่านิยมที่ผิดๆ ในสังคม อย่างค่านิยมบริโภคในปัจจุบันนี้ก็ทำความเสียหายแก่สังคมของเรามาก สื่อมวลชนก็น่าจะมีบทบาทว่า ทำอย่างไรเราจะแก้ไขค่านิยมประเภทนี้ได้ แล้วก็เตือนสติสังคมว่า ต่อไปถ้ามีแนวโน้มอย่างนี้ๆ ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น แล้วเราควรจะทำอะไรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ข้อสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดก็คือ การทำหน้าที่ผู้นำที่ดีของสังคมอย่างที่พูดมาแล้ว การทำหน้าที่ข้อนี้จะสำเร็จได้ดี ถ้ามีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อเป้าหมายและจุดหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดมีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานสร้างสรรค์สังคมนี้ คือ

๑. เป้าหมายพื้นฐานของการทำงานเพื่อสังคม สื่อมวลชนแต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร แต่ละหน่วย หรือหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ น่าจะมีเป้าหมายของตนเองที่ชัดเจนว่า เราจะทำอะไรให้แก่สังคม การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะต้องตั้งให้เด่นชัดออกมาว่า ฉบับของเรานี้จะทำอะไรให้แก่สังคม

๒. จุดหมายที่ใฝ่สัมฤทธิ์สำหรับสถาบันของตน คือการมีจุดหมายสูงส่งที่เป็นอุดมคติ น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะต้องมีหนังสือพิมพ์ไทยสักฉบับหนึ่งที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพสูงมาก เป็นหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในระดับนำของโลก

อันนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องน่าขำ แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ขออย่าให้มองตัวเองต่ำหรือดูถูกตัวเอง เรื่องนี้อยู่ที่เราต้องมีความมุ่งหมาย ถ้าเราไม่ตั้งความมุ่งหมาย ไม่มีความเด็ดเดี่ยวในความตั้งใจ มันก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เราจะมัวคิดแคบๆ อยู่แค่ประเทศของเรา แล้วก็มองประเทศของเราเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยคงจะไม่ได้ ถ้าเราตีค่าตัวเองต่ำ มันก็ทำให้เราไม่ทำอะไรที่มีความสำนึกในทางที่สูง หรือที่เป็นการสร้างสรรค์พัฒนาอย่างสูง เราจะต้องตั้งเป้าหมายให้สูง การตั้งเป้าหมายสูงทำให้เราต้องพัฒนาศักยภาพของตน และเราก็มีศักยภาพที่พัฒนาได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจะต้องคิดในระดับโลก ไม่ใช่คิดแค่ในระดับประเทศไทย เราจะต้องนำกิจการของเรา นำสถาบันของเราขึ้นไปสู่ระดับโลก สู่มาตรฐานที่สูง หรือแม้แต่จะเป็นผู้นำผู้หนึ่งในโลกให้ได้ และในกรณีนี้การสร้างสรรค์สังคมนั้นก็ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์สังคมไทยเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างสรรค์สังคมในระดับโลกที่เป็นอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมด การสร้างสรรค์สังคมในที่นี้จึงต้องมองให้กว้าง เพราะเวลาเราพูดว่าสร้างสรรค์สังคม เราก็มักจะมองแค่สังคมไทย ซึ่งคิดว่าไม่พอ และปัจจุบันนี้ถ้าเราแก้ปัญหาระดับโลกไม่ได้ ก็แก้ปัญหาของสังคมไทยไม่สำเร็จด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องมองให้ถึงขั้นที่ว่าจะสร้างสรรค์สังคมของมนุษยชาติทั้งหมด คือ สร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยโลกทั้งหมด

ถ้าหนังสือพิมพ์มีความรับผิดชอบในตัวเอง ทำหน้าที่ของตนให้ดี ทำตัวเองให้น่าเชื่อถือแล้ว มันก็เป็นการสร้างสรรค์สังคมไปในตัวเลย เราทำงานของเรา งานนั้นเป็นการสร้างสรรค์สังคมอยู่แล้วในตัว แม้แต่ไม่ไปคิดอะไรเป็นพิเศษ มันก็เป็นการสร้างสรรค์สังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อาตมาจึงบอกว่าการที่ตั้งชื่อเรื่องว่า สื่อมวลชนกับการสร้างสรรค์สังคม ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรหรอก มันเป็นงานของสื่อมวลชนอยู่แล้ว เพียงแต่เราทำหน้าที่ของเราให้ดีให้ตรง อย่างมีความรับผิดชอบเท่านั้น มันก็ได้สำเร็จความมุ่งหมายนี้ในทันทีอยู่แล้ว

ฐานของสื่อมวลชน คือปัญญาที่จะจัดการกับข่าวสารข้อมูล

ในเรื่องของการทำหน้าที่สื่อมวลชนนี้ อาตมาขอเสนอหลักอย่างหนึ่งว่า สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูล ท่านสอนหลักการว่า จะต้องมีปัญญาชุดหนึ่ง ในระดับของวิธีการที่จะจัดการกับข่าวสารข้อมูล ปัญญาในการจัดการกับข่าวสารข้อมูลนี้ มี ๔ ข้อที่สำคัญ คือ

ข้อที่หนึ่ง ชัดเจนในเนื้อหา หมายความว่าเราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่กำลังพูดจากล่าวถึงนั้นๆ อย่างชัดเจนเพียงพอ เรียกว่าเมื่อมองหรือนึกถึงเรื่องนั้นๆ แล้ว เรามองเนื้อหาของมันได้ชัดว่ามีอะไรบ้างและเป็นอย่างไร สามารถลำดับเรื่องราวได้ พรรณนาได้ บรรยายได้ในใจของเรา นี้เรียกว่ามีความเข้าใจเนื้อหาสาระความเป็นไปของเรื่องราวนั้นอย่างเพียงพอ อันนี้เป็นประการแรกในการที่เราจะทำงานเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูล ต้องได้อันนี้ก่อน ต้องถามตัวเองว่าเรามีความเข้าใจเรื่องนี้เพียงพอไหม ชัดเจนไหม ถูกต้องไหม รู้ความจริงไหม ถามตัวเองให้ชัดก่อน ถ้ายังไม่ชัดจะได้รีบค้นหาสืบสาวให้ชัด มิฉะนั้นแล้ว ถ้าขั้นนี้พลาด เราก็พลาดหมดเลย แล้วจะทำหน้าที่ไม่ได้แม้แต่ในการที่จะเสนอข่าวสารให้ถูกต้องแม่นยำ จะต้องถามตัวเองให้ได้ในข้อนี้ก่อน

ข้อที่สอง จับประเด็นได้ คือ จะต้องรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้หรือเรื่องราวความเป็นไปหรือเนื้อความทั้งหมดนี้ ตัวประเด็นอยู่ที่ไหน จุดของปัญหาอยู่ที่ไหน จะเห็นว่าหลายคนสำหรับเรื่องราวนี่ ตัวเองพอจะรู้ เข้าใจหรือรู้รายละเอียดชัดเจน แต่จับประเด็นไม่ถูก ทำให้เจาะเรื่องไม่ถูกและไปไม่ได้ไกล เพราะฉะนั้น ในประการที่สอง ผู้ทำงานสื่อมวลชนจะต้องถามตัวเองว่า ในเรื่องนี้ตัวประเด็นอยู่ที่ไหน จุดของปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วตัวเองมีความชัดในตัวประเด็นหรือไม่

ข้อที่สาม ใช้ภาษาเป็น คือ มีความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสาร จะต้องสามารถใช้ภาษาสื่อความเข้าใจให้แก่ประชาชน ให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราเสนอได้ถูกต้องแม่นยำชัดเจน ตรงตามที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ ถ้าสามารถมากกว่านั้น สื่อมวลชนบางคนเก่งก็สามารถแม้แต่ชักจูงความคิดเห็นความเชื่อได้ ถึงขั้นที่เรียกว่าสร้างประชามติได้ สร้างมติมหาชนได้ สร้างทัศนคติได้

ผู้ที่สามารถถึงขั้นนี้ จะต้องให้ความสามารถพัฒนาไปพร้อมกับคุณธรรมความรับผิดชอบ ทั้งในแง่การใช้ตัวภาษาที่ถูกต้องดีงาม เป็นแบบอย่างได้ และในการโน้มน้าวชักจูงประชาชนในทางที่ดีงาม ด้วยเจตนาที่เป็นกุศล แต่อย่างน้อยจะต้องใช้ภาษาสื่อสารให้เขาเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

ข้อที่สี่ ให้ความรู้ความคิดใหม่ คือ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ต่างๆ มาสร้างสรรค์ความคิดหรือความรู้ใหม่ๆ เกิดเป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือแนวทางที่จะแก้ปัญหา ข้อนี้ก็คือ การเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วนั่นเองมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน สร้างความรู้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ใหม่ๆ

ผู้ใดมีปัญญาในด้านการจัดการข่าวสารข้อมูลสี่ประการนี้ ผู้นั้นก็มีความพร้อมในการทำหน้าที่สื่อมวลชน

สี่อย่างนี้ก็เป็นธรรมะในพุทธศาสนานั่นเอง

ข้อที่หนึ่ง เรียกว่า อัตถปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในเนื้อหา เข้าใจเรื่องราวความเป็นไปถูกต้องชัดเจน

ข้อที่สอง เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในตัวหลัก หมายถึงจับประเด็นได้ รู้จุดของปัญหา

ข้อที่สาม เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา คือ ความสามารถในการใช้ภาษาสื่อสาร ให้ได้ผลตามต้องการ ตลอดจนนำความคิดของประชาชนได้

ข้อที่สี่ เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ คือ การเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ความรู้ความคิดใหม่ที่จะใช้แก้ปัญหาและทำสิ่งใหม่ๆ ให้เจริญก้าวหน้าไปได้

วิธีปฏิบัติอย่างง่ายๆ เมื่อเสนอข่าวหรือโดยเฉพาะเมื่อเขียนบทความหรือข้อเขียนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ลองถามคำถาม ๔ ข้อ ต่อไปนี้กับตัวเอง ว่าเรื่องที่เราพูดหรือเขียนหรือนำเสนอนี้

๑. เรารู้ชัดเจนแน่ใจตรงตามความจริงและเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวโล่งตลอดดีหรือไม่?

๒. เราจับประเด็นได้ถูกต้อง หรือมองเห็นจุดของปัญหาแน่นอนหรือว่าคืออะไร?

๓. คำความสำนวนทำนองภาษาที่ใช้ดีงาม สื่อความได้ชัดเจน ตรงประเด็น และมั่นใจว่าจะได้ผลอย่างที่ต้องการไหม?

๔. ที่เราพูดหรือเขียนนี้ มีอะไรเสนอที่มีคุณค่าในการแก้ปัญหา หรือให้ความคิดเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ บ้างหรือไม่?

สี่ข้อนี้เป็นบทฝึกหัดอย่างดีสำหรับผู้เข้าสู่วงการสื่อมวลชน ถ้าตอบได้คะแนนบวกทั้งสี่ข้อ ก็เชื่อได้ว่า หนทางแห่งความเจริญก้าวหน้าในวงการนี้รออยู่แล้วข้างหน้า

ถ้าผู้ทำงานสื่อมวลชนมีคุณสมบัติ ๔ อย่างนี้แล้ว ก็มีความพร้อมในการจัดการกับข่าวสารข้อมูล ต่อจากนี้ก็อยู่ที่คุณธรรมว่า ในการใช้ปัญญาแตกฉานนั้น เรามีคุณธรรมหรือไม่ และมีเจตนาอย่างไรในการที่จะเอาความสามารถนี้มาใช้จัดการกับข่าวสารข้อมูล ถ้าสื่อมวลชนมีเจตนาดีบริสุทธิ์ใจ ต้องการจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมอย่างแท้จริง เราก็ใช้ความสามารถในการจัดการกับข่าวสารข้อมูลนั้นให้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ได้

สรุป: สื่อมวลชนพัฒนาตน และพัฒนาประชาชน คือ สร้างสรรค์สังคม

ที่พูดมานี้เป็นหลักใหญ่ๆ แต่รวมความก็คือ ต้องการชี้ถึงงานของสื่อมวลชนว่า เป็นงานที่สร้างสรรค์สังคมอยู่ในตัว

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นจุดเน้นสำคัญก็คือ เวลานี้สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในสังคม แต่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ เป็นอนิจจัง การที่จะรักษาอิทธิพลนี้ไว้ได้ ก็จะต้องสร้างความเชื่อถือที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ความเชื่อถือที่แท้จริงนี้ก็เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง อย่างมีความรับผิดชอบนั่นเอง และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จะทำได้ง่ายเพียงด้วยการสนองความต้องการของประชาชนเท่านั้น แต่จะต้องทำด้วยการใช้ความคิดพิจารณาโดยตั้งอยู่ในเหตุผล และรู้จักยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ทำตามอารมณ์ และไม่ทำโดยเห็นแก่ง่ายมุ่งเอาเพียงแค่ความตื่นเต้น

ถ้าสื่อมวลชนมีความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ ในการใช้สติปัญญา ในการใช้เหตุผล ในการพัฒนาตนเองและพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพของประชาชนด้วย มาตรฐานของสื่อมวลชนก็จะเกิดขึ้น ความเชื่อถือในระยะยาวก็จะเกิดขึ้น ส่วนความนิยมที่เกิดจากการสนองความต้องการแบบกิเลสและความตื่นเต้นที่เป็นอิทธิพลในปัจจุบันนี้ อาตมาเห็นว่าไม่ยั่งยืน ไม่ช้าประชาชนก็จะมีสติปัญญา มีความรู้เท่าทัน แล้วการเสนอข่าวแบบตื่นเต้น แบบเร้าอะไรบางอย่าง หรือระบบผลประโยชน์อะไรนี่ก็จะไม่คงอยู่ จะไม่สามารถสร้างและดำรงความเชื่อถือในระยะยาวได้ ความเคารพนับถือจะไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น จะต้องให้ความนิยมมาคู่กับความนับถือ และให้ความภูมิใจมาคู่กับความมั่นใจในภูมิธรรมภูมิปัญญา ด้วยความระลึกว่าสิ่งเหล่านี้ต้องทำด้วยความเพียรพยายามอดทน และมีความยับยั้งชั่งใจ มีสติรอบคอบ คือ การที่ตั้งอยู่ในปัญญาและเหตุผลนั่นเอง สิ่งเหล่านี้แม้จะทำยาก แต่ถ้าทำได้สำเร็จแล้วก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ เพราะตัวเราเองก็พัฒนาด้วย และพร้อมกันนั้นเราก็เป็นผู้พัฒนาและสร้างสรรค์สังคมนี้ให้เจริญก้าวหน้าด้วย เมื่อสื่อมวลชนทำหน้าที่นี้ก็เป็นผู้ที่ให้การศึกษาแก่สังคม และเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดด้วย

อาตมาได้พูดมายาวพอสมควรแล้ว คิดว่าควรจะจบเรื่องนี้ ได้พูดไว้แล้วว่า วันนี้ไม่มีอะไรที่จะเสนอเป็นพิเศษ และได้บอกแล้วแต่ต้นว่า ชื่อหัวข้อปาฐกถานี้ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไร วันนี้เป็นวันสำคัญที่มีการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ขอให้ถือว่าเป็นการมาเยี่ยมเยียนก็แล้วกัน และขอตั้งจิตแสดงความปรารถนาดีต่อชาวสมาคมทุกท่าน สุดท้ายนี้ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พรแก่ชาวสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยทุกท่าน ทั้งกรรมการ สมาชิก และท่านผู้เป็นญาติมิตรมีความสนใจ ขอทุกท่านจงเจริญงอกงามรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในการทำกิจหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ สังคม และอารยธรรมของมนุษย์ โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ.

1ปาฐกถาแสดงในโอกาสการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๓๗ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง