การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษากับการวิจัย
เพื่ออนาคตของประเทศไทย1

ในเรื่องการศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวข้อของการประชุมนี้ มีคำคู่กัน คือคำว่า “การศึกษา” กับ “การวิจัย” ทำให้รู้สึกว่าสองคำนี้ มีความหมายต่างกัน เราจะต้องมีความชัดเจนว่าสองคำนี้ต่างกันอย่างไร และสัมพันธ์กันอย่างไร

ความจริงในปัจจุบันคำสองคำนี้ก็ยังมีความหมายไม่สู้ชัดเจนนัก และความหมายที่ไม่ชัดเจนนั้นก็ยังแยกเป็นสองขั้นตอนอีกคือ คำนั้นในความหมายที่เรานำมาใช้ในปัจจุบัน กับคำนั้นในความหมายเดิมของมัน

ในคำทั้งสองนี้ คำที่ต้องการในที่นี้คงจะเป็นเรื่องการวิจัยมากกว่า เพราะท่านผู้เป็นเจ้าของงานนี้ก็ดำเนินงานการวิจัย เพราะฉะนั้นจุดที่จะต้องเน้นหนักก็คือเรื่องการวิจัย ส่วนเรื่องการศึกษาถือว่าเป็นเรื่องที่โยงเข้ามา คือต้องการทราบว่าในการวิจัยนี้การศึกษามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไร ตอนนี้ก็จึงจะต้องเริ่มที่คำว่า “วิจัย”

 

จับหัวใจของการวิจัยให้ได้

อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า “การวิจัย” เป็นคำที่เราใช้ในความหมายสมัยใหม่ ในวงวิชาการ ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสังคมสมัยใหม่ แต่คำเดิมนั้นมาจากภาษาบาลี และพอดีว่าคำว่าวิจัยที่เป็นคำบาลีเดิมนั้น เป็นคำที่มีความสำคัญมากตามหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ก่อนจะพูดถึงการวิจัยในความหมายปัจจุบัน จึงต้องยอมเสียเวลาพูดถึงวิจัยในความหมายเดิม จะถือเป็นความรู้พิเศษก็ได้ แต่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการวิจัยในความหมายเดิมนั้นน่าจะเป็นรากฐานของการวิจัยในความหมายปัจจุบัน

ตามความหมายง่ายๆ วิจัย นั้นเป็นไวพจน์ คือเป็นคำที่มีความหมายใช้แทนกันได้ของคำว่า ปัญญา หรือจะใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษ ก็เรียกว่าเป็น synonym ของคำว่าปัญญา ในภาษาบาลีเวลาใดท่านให้ความหมายของคำว่า ปัญญา คำหนึ่งที่จะมาก็คือคำว่า วิจโย คือวิจัย วิจัยในฐานะเป็นไวพจน์ของปัญญานั้น ความจริงมันเป็นลักษณะหนึ่งของการใช้ปัญญา พร้อมทั้งเป็นการทำให้เกิดปัญญา หรือทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้นด้วย

พุทธศาสนานั้นเราถือกันว่าเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาเป็นตัวตัดสินที่ทำให้บรรลุจุดหมายของพุทธศาสนา และจุดหมายของพุทธศาสนาเองก็เป็นปัญญาอีก ซึ่งเรียกว่า “โพธิ” โพธิก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ปัญญานี้มีหลายชื่อ ในที่สุดพุทธศาสนาใช้ปัญญาเพื่อบรรลุถึงปัญญา ปัญญาในขั้นที่ทำงานเพื่อให้บรรลุผลนั้นเป็นปัญญาที่เรียกว่าวิจัย วิจัยไปก็เกิดปัญญา และปัญญานั้นก็พัฒนาไปจนกระทั่งปัญญานั้นกลายเป็นโพธิ

หลักการของพระพุทธศาสนานั้น มีพุทธพจน์ตรัสไว้แห่งหนึ่งที่น่าสังเกต พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ธรรมนั้นเราแสดงไว้โดยวิจัย” (วิจยโส เทสิโต ภิกฺขเว มยา ธมฺโม - สํ.ข. ๑๗/๑๗๓/๑๑๖)

คำว่า “วิจัย” จึงสำคัญมาก เท่ากับพูดว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการวิจัย พุทธพจน์นี้แสดงว่าในแง่ของผู้สอนก็สอนไปโดยที่เมื่อได้ความรู้มาโดยการวิจัย แล้วก็นำมาสอนโดยวิธีวิจัย

ต่อจากนั้นเมื่อพูดถึงฝ่ายผู้ศึกษา พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้อีกว่า

“พึงวิจัยธรรมโดยแยบคาย” (โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ - องฺ.สตฺตก. ๒๓/๓/๒)

พึงวิจัยธรรมโดยแยบคาย หมายความว่าอย่างไร คำว่า “ธรรม” นั้นมีความหมายกว้าง อะไรก็ได้เป็นธรรมทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้อง เจอะเจอ พึงวิจัย โดยแยบคาย คือโดยโยนิโส (เช่นเดียวกับในคำว่า โยนิโสมนสิการ) หมายความว่าอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นวิจัยให้ถึงต้นเค้า หรือต้นตอเลย แล้วก็ตรัสต่อไปว่า

“จึงจะเห็นอรรถแจ้งชัดด้วยปัญญา” (ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ)

เห็นอรรถก็คือ เห็นความหมาย เห็นเนื้อหาทั้งหมดชัดแจ้งด้วยปัญญา อันนี้คือพุทธพจน์ที่ตรัสฝ่ายผู้ศึกษา แสดงถึงความสำคัญของคำว่าวิจัยในพุทธศาสนา

ทีนี้ หันมาดูความหมายตามรูปศัพท์ วิจัย นั้นแปลกันง่ายๆ ว่า เฟ้น เฟ้นก็เป็นการค้นหา หรือสืบค้น เพื่อจะเอาสิ่งที่ต้องการให้ได้ หรือเที่ยวสอดส่ายและสอดส่อง หาให้เจอสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้น การวิจัยจึงเป็นเรื่องของการค้นหา แม้แต่ขุดคุ้ย ค้น ตรวจสอบ พิสูจน์ มีตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นรูปธรรมว่า มีคนที่ต้องการค้นหาว่าเสียงอยู่ที่ไหน ได้ยินเสียงพิณ มองหาไม่เจอก็ผ่าพิณออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ก็หาเสียงไม่เจอ การกระทำนี้ ท่านเรียกว่าเป็นการวิจัย แม้ว่าจะเป็นการวิจัยที่ผิด แต่จุดสำคัญก็คือแรงจูงใจของเขานั้นต้องการจะค้นหาให้พบว่าสิ่งที่ต้องการอยู่ที่ไหน เราอาจจะต้องเที่ยวหาก็ได้ หรืออาจจะต้องรื้อค้นสิ่งที่มีอยู่กันกระจุยไปเลย แต่จุดสำคัญคืออะไร

จุดสำคัญของการวิจัยก็คือ การค้นหาความจริง หาให้เจอความจริง ซึ่งอาจจะหมายถึงการหาความหมายที่แท้ของสิ่งนั้น และอีกอย่างหนึ่งคือ ค้นหาสิ่งที่ดี สิ่งที่พึงประสงค์ คุณค่าหรือประโยชน์ที่ต้องการ ตลอดจนกระทั่งว่า ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ดี หรือยังไม่เป็นอย่างที่ประสงค์ ก็หาทางที่จะทำให้มันดีหรือให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ

พูดโดยรวบรัดว่ามี ๔ แง่ของความหมาย คือ

๑. ค้นหาความจริง

๒. ค้นหาสิ่งที่ดี สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์

๓. ค้นหาทางหรือวิธีการที่จะทำให้มันดี และ

๔. หาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ

สองอย่างหลังนี้ขอย้ำว่าไม่เหมือนกัน หาทางทำให้ดี กับหาทางทำให้สำเร็จ เวลานี้จะเป็นปัญหามากสำหรับโลก ซึ่งเป็นปัญหาของการวิจัย ด้วยว่าจุดมุ่งหมายอยู่ที่ต้องการจะทำให้ดีหรือทำให้สำเร็จ ความจริงนั้นตัวที่ต้องการควรจะเป็นว่าทำให้มันดี แต่ทำสิ่งที่ดีนั้นให้สำเร็จหมายความว่า ความสำเร็จนั้นจะต้องพ่วงมากับการที่จะให้ดี แต่เวลานี้มันมีปัญหาเรื่องทำให้สำเร็จเฉยๆ โดยไม่จำเป็นต้องดี อันนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย จึงต้องขอตั้งข้อสังเกตไว้

การที่จะวิจัยเพื่อจะให้ได้ความจริง ให้ได้สิ่งที่ดี และหาทางทำให้ดี พร้อมทั้งให้สำเร็จนั้น จะมีปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยหนุนอยู่ คือ ความเชื่อที่เป็นฐาน เช่น ความเชื่อในหลักการแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย ถ้าเราเชื่อหลักการนี้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้หาความจริง ให้ค้น เพราะว่าถ้าเราไม่เชื่อในหลักการแห่งความเป็นเหตุเป็นผล หรือในความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาความจริง และว่าโดยวิธีการมันก็จะไม่นำไปสู่การค้นหาด้วยวิธีการของความเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้นความเชื่อในหลักการของเหตุผล หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้จึงสำคัญ

อีกอย่างหนึ่งคือวิธีการในการที่จะวิจัยนั้น ท่านบอกว่าต้องเป็นโยนิโส โยนิโส คือ โดยแยบคาย เช่นว่า ค้นหาโดยวิธีการที่จะให้ถึงต้นตอกันเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดไว้ต่างหาก

ทีนี้ วิธีการวิจัยนั้น ไม่ใช่เฉพาะระเบียบวิธีที่เป็นรูปธรรมภายนอกเท่านั้น แต่ต้องเริ่มตั้งแต่วิธีคิด ถ้าไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้องเป็นฐาน วิธีการภายนอกก็เป็นเพียงส่วนประกอบที่อาจจะไม่ได้ผลดีนัก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตไว้แต่ต้น แต่ตอนนี้เราคงยังไม่เข้าไปสู่รายละเอียด

ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไป ขอย้ำถึงความจำเป็นของการวิจัยว่า เราต้องวิจัย เพราะเมื่อเราต้องการเข้าถึงความจริงนั้น ความเชื่อ ความคิดเห็น และเหตุผลเท่านั้นไม่พอ ถ้าถือตามความเชื่อเป็นต้น อาจจะผิดพลาดได้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสเตือนไว้ว่า

“สภาวะ ๕ อย่างนี้ คือ ความเชื่อ ความนิยมชมชอบ การเล่าเรียนต่อกันมา การคิดตรองตามแนวเหตุผล สิ่งที่เข้ากันได้กับทฤษฎีของตน มีความเป็นไปได้ ๒ ทาง ในปัจจุบันเลยทีเดียว :

“สิ่งที่เชื่อสนิททีเดียว กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่เชื่อเลย แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่นิยมชมชอบ กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้นิยมชมชอบ แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่เล่าเรียนต่อกันมา กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้เล่าเรียนต่อกันมา แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่คิดตรองอย่างดีแล้ว กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้คิดตรองไว้ แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี

“สิ่งที่ตรวจสอบ(กับทฤษฎี)อย่างดีแล้ว กลับผิดพลาดเป็นเท็จไปก็มี, สิ่งที่ไม่ได้ตรวจสอบ(ว่าเข้ากับทฤษฎี) แต่กลับเป็นของจริงแท้ก็มี (ม.ม.๑๓/๖๕๕)

นอกจากนี้ ควรจะมีท่าทีแบบที่ท่านเรียกว่าเป็นผู้อนุรักษ์สัจจะ (สัจจานุรักษ์) คือไม่ลงความเห็นตัดสินอะไรง่ายๆ และไม่ผูกขาดสัจจะ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

“คนที่เป็นวิญญู เมื่อจะอนุรักษ์สัจจะ ไม่ควรด่วนลงความเห็นเด็ดขาดลงไปข้างเดียวก่อนว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ(ทั้งนั้น)”

“ถ้าแม้คนมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” เขายังชื่อว่า อนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปข้างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จ(ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน; ด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์สัจจะ ทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ (สำหรับสิ่งที่นิยมชมชอบ สิ่งที่เล่าเรียนต่อกันมา สิ่งที่คิดตรองตามเหตุผล และสิ่งที่ตรวจสอบกับทฤษฎีแล้ว ก็เช่นเดียวกัน) (ม.ม.๑๓/๖๕๖)

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือแรงจูงใจ ได้แก่ ความอยาก ความอยากเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการวิจัย นี่ก็คืออยากรู้ความจริง ยิ่งมีความอยากมากเท่าไรก็ยิ่งดี และอีกอย่างหนึ่ง คือ อยากให้มันดี เช่น อยากให้ชีวิตนี้ดีงาม อยากให้สังคมดีงาม อยากให้สิ่งที่ตนเกี่ยวข้องทุกอย่างมันดี อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะเป็นแรงหรือพลังที่ทำให้เรามุ่งมั่นที่จะวิจัยให้สำเร็จ และทำให้การวิจัยบรรลุผล

เมื่อมีความอยากรู้ความจริงและอยากทำให้มันดี ก็จะเกิดมีแรงขับดันขึ้นมาว่าจะต้องหาความจริงให้ได้ และหาทางทำให้มันดีให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะไม่ยอมหยุด และถ้ามันยังไม่ดีจะไม่ยอมเลิก คนที่มีแรงใจปานนี้จะมุ่งทำงานวิจัยให้สำเร็จ แม้ถึงขนาดที่ว่ายอมทุ่มเทสละเวลา สละชีวิต ให้แก่การที่จะทำงานให้บรรลุจุดมุ่งหมายนี้ให้ได้ คือหาความจริงให้ได้ และหาทางทำให้มันดีให้ได้

คุณสมบัตินี้ทางพระเรียกว่า ฉันทะ ศัพท์เดียว คือจะเป็นการหาความจริงให้ได้ก็ตาม หาทางทำให้มันดีให้ได้ก็ตาม ตัวนี้ตัวเดียวคือฉันทะ พระพุทธเจ้ามีตัวฉันทะนี้จึงยอมสละทุกอย่าง พระองค์สละวัง สละชีวิตแห่งความสุขสำราญ สละโภคสมบัติไปเพื่ออะไร

๑. เพื่อไปหาความจริงของธรรมชาติ หาความจริงของสิ่งทั้งหลายว่ามันคืออะไร มันเป็นอย่างไร แล้วก็

๒. เพื่อหาทางที่จะทำให้ชีวิตและสังคมมนุษย์มันดี

เท่านี้เองที่พระพุทธเจ้าทำทั้งหมด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนามีเท่านี้ คือมีเรื่องของการที่จะหาความจริงให้พบให้ถึงให้ได้ แล้วก็ทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดีให้ได้ และสองอย่างนี้ก็สัมพันธ์กัน คือการที่จะทำให้มันดีจริงได้ เราจะต้องรู้ความจริง เมื่อรู้ความจริง เช่นรู้เหตุปัจจัยที่ถูกต้อง จึงจะทำให้มันดีได้จริง

ถ้าเรามองดูพุทธประวัติ พระโพธิสัตว์คือใคร พระโพธิสัตว์ แปลว่าสัตว์ผู้มุ่งโพธิ คือท่านผู้แสวงหาโพธิ ผู้มีใจข้องอยู่ในโพธิ จะต้องเข้าถึงโพธิปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายที่จะทำชีวิตให้มันดีงามให้จงได้ เพราะฉะนั้น ประวัติของพระพุทธเจ้าทั้งหมดตลอดมาที่เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นประวัติของการแสวงหาปัญญา เรียกภาษาปัจจุบันก็คือ ประวัติของการทำงานวิจัยนั่นเอง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นนักวิจัยมาโดยตลอด

สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ฉันทะ ถ้าไม่มีฉันทะนี้อยู่เบื้องหลังแล้วการวิจัยจะไม่สำเร็จผลด้วยดี ถึงแม้จะมีตัวสนับสนุนเป็นองค์ประกอบอะไรต่างๆ ก็ไปไม่ไกล บางทีในที่สุดมันก็จะกลายเป็นเรื่องเละเทะไปเหมือนกับกิจการอื่นของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้ามีตัวความปรารถนาแห่งฉันทะนี้อยู่แล้วมันจะไปให้ถึงจุดหมายจนได้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าถ้าไม่ถึงความจริงและทำให้มันดีไม่ได้ จะไม่ยอมหยุด

ขอสรุปเป็นการเน้นไว้ว่า พลังที่ทำให้เกิดมีการวิจัยที่แท้ที่มีชีวิตชีวาและได้ผลจริง คือ ฉันทะ ซึ่งมีความหมายว่า

๑. ใฝ่จะเข้าถึงความจริงให้ได้

๒. ใฝ่(หาทาง)จะทำให้มันดีให้ได้

นักวิจัยจะต้องมีพลังแห่งฉันทะนี้ ทีนี้ เราก็มาดูต่อไปว่า การวิจัยมีความสัมพันธ์กับการศึกษาอย่างไร

การวิจัยช่วยให้การศึกษาบรรลุจุดหมาย

การศึกษาก็เช่นเดียวกัน เราลองมาดูความหมายเดิมของท่าน การที่จะพูดถึงการศึกษาก็ต้องพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์

พุทธศาสนาบอกว่า ธรรมชาติของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ฝึกได้ด้วยและต้องฝึกด้วย การฝึกคืออะไร คือเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา คำว่าฝึกนั้นรวมความหมายเหล่านี้อยู่ด้วยกันหมด เรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนา เรียกว่า การศึกษา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา

การดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด วิธีดำเนินชีวิตทุกอย่าง มนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ขับถ่าย พูดจา หรืออะไรๆ มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งสิ้น ในแง่นี้ มนุษย์แพ้สัตว์ทั้งหลายอื่นที่ส่วนมากมันได้วิธีดำเนินชีวิตมาเปล่าๆ ด้วยสัญชาตญาณ สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นมีการเรียนรู้จำกัดมาก เรียนรู้นิดหน่อยก็พอแล้ว พอเกิดมามันอาศัยสัญชาตญาณก็ไปได้เลย มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์นั้นไม่ได้วิธีดำเนินชีวิตมาเปล่าๆ อย่างนั้น ทุกอย่างต้องลงทุน คือ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องศึกษา ต้องพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้น ฉะนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่โดยธรรมชาติบอกอยู่ในตัวว่าจะต้องมีการศึกษา เพราะแทบไม่ได้อะไรมาเปล่าๆ โดยสัญชาตญาณ อันนี้เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ ที่แพ้สัตว์ทั้งหลายอื่นในแง่ที่ว่า สัตว์อื่นมันได้วิธีดำเนินชีวิตมาแทบจะเปล่าๆ เรียนรู้นิดเดียวก็พอ มันอยู่ได้ง่ายสบายเลย

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของมนุษย์นี้ก็เป็นจุดแข็งของมนุษย์ด้วย เพราะอะไร เพราะว่าความดีงาม ความเลิศ ความประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่การเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา หรือการศึกษานี้ เมื่อมนุษย์เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาแล้ว มนุษย์จะเจริญงอกงามอย่างแทบจะไม่มีที่สิ้นสุดเลย และจุดนี้เป็นข้อที่ทำให้มนุษย์เก่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย

ตอนแรกมนุษย์แพ้สัตว์ที่ว่าเราได้อะไรต่ออะไรมาต้องลำบากลงทุน เราแพ้สัตว์อื่น เราเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก สัตว์อื่นไม่ต้องฝึก แต่พอพลิกกลับอีกทีว่า สัตว์อื่นฝึกไม่ได้ มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เรารู้ตระหนักธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้แล้ว เราก็ใช้การศึกษา คือเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนานั้นให้ถูกต้องตามธรรมชาติของเรา มนุษย์ก็กลับเจริญงอกงามจนกระทั่งทิ้งห่างจากสัตว์ทั้งหลายไป อย่างเทียบกันไม่ได้เลย ส่วนตนพัฒนาจนเป็นมหาบุรุษ เป็นพุทธะ ส่วนรวมพัฒนาสังคมให้เจริญด้วยวัฒนธรรมและอารยธรรมอย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์จึงอยู่ที่การศึกษานี้เท่านั้น คืออยู่ที่ความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ อันนี้จึงเป็นจุดแข็งของมนุษย์

รวมความว่า ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตที่อยู่ได้ด้วยการศึกษา และจะอยู่ดียิ่งขึ้นไปด้วยการศึกษายิ่งขึ้น ชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการศึกษา ถ้าชีวิตไม่มีการศึกษาก็ไม่มีความหมาย ถ้าปราศจากการศึกษาแล้วมนุษย์สู้ไม่ได้แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าศึกษาดีแล้ว มนุษย์ประเสริฐยิ่งกว่าเทวดาและแม้แต่พระพรหม นี่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

ในเมื่อการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ พุทธศาสนาจึงมองว่าชีวิตมนุษย์ต้องเป็นชีวิตแห่งการศึกษาอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทั้งนี้เราหมายถึงชีวิตที่ดี ถามต่อไปว่า ชีวิตแห่งการศึกษานี้มีจุดหมายเพื่ออะไร

การศึกษานำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่าปัญญา เมื่อมีการศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา ก็งอกงามดีประณีตขึ้นทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ตัวตัดสิน คือได้ปัญญา พอได้ปัญญาแล้วก็เกิดความรู้ เข้าใจ มาพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจให้ทำได้ ทำเป็น วางท่าทีและปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องทุกอย่างได้ถูกต้องเกิดผลดี

เมื่อเราเผชิญกับประสบการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ตอนแรกเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร เมื่อเราไม่รู้เราก็ติดตัน เราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นไม่ถูก เราก็เกิดปัญหาคือความติดขัด บีบคั้น คับข้อง ที่พระท่านเรียกว่า ความทุกข์ ความทุกข์ก็คือตัวปัญหานั่นเอง มันบีบคั้นเรา แต่พอเราเกิดปัญญา รู้ว่ามันคืออะไร อย่างไร เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรแล้ว เราก็โล่ง เราก็ข้ามพ้นปัญหา เรียกว่าหลุดพ้นเป็นวิมุต เมื่อหลุดจากปัญหาก็ข้ามพ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากทุกข์ ชีวิตมนุษย์จึงอาศัยปัญญามาเป็นตัวทำการที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากปัญหา หรือแก้ไขปัญหาได้

พอเจออะไรติดขัดก็เป็นปัญหา แต่พอปัญญามาปัญหาก็หมด เพราะฉะนั้น เพื่อจะให้ข้ามพ้นปัญหาเราจึงต้องการปัญญา ปัญหาจึงคู่กับปัญญา เราต้องการปัญญามาเพื่อแก้ปัญหา มนุษย์ก็เรียนรู้จากการแก้ปัญหานี้แหละ เราจึงได้ปัญญามา พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ทุกข์ที่เรียนรู้เป็นบ่อเกิดของปัญญา เมื่อข้ามพ้นปัญหา ข้ามพ้นทุกข์ก็ถึงวิมุตติ คือบรรลุอิสรภาพ และนี่แหละคือการได้ชีวิตที่ดีงาม

เมื่อมนุษย์พัฒนาสมบูรณ์แล้ว ก็จะดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง และทำการด้วยความรู้ที่จะดำเนินการให้ตรงกับเหตุปัจจัย เขาจึงไม่ต้องอาศัยตัณหา(ความชอบใจไม่ชอบใจ) มาชี้นำชีวิตต่อไป พระพุทธศาสนาจึงสอนหลักการว่า

“ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตประเสริฐ (ดีเลิศหรือสูงสุด)” (สํ.ส.๑๕/๘๔๑; ขุ.สุ.๒๕/๓๑๑)

เมื่อปัญญายังพัฒนาไม่เพียงพอ ถ้ามนุษย์จะไม่ดำเนินชีวิตโดยใช้ความชอบใจไม่ชอบใจ(ตัณหา)เป็นเครื่องชี้นำ เขาก็จะใช้ความเชื่อ(ศรัทธา)เป็นเครื่องชี้นำ ความเชื่อนั้นอย่างดีก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ต่างจากปัญญาที่ทำให้เข้าถึงความมั่นคงปลอดภัยจริงๆ คนที่อยู่ด้วยศรัทธาจึงมีความสุขแบบปลอบประโลมใจ อบอุ่นใจ มีความหวัง หรือได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ต่างจากปัญญาที่แก้ปัญหาหมดไป ซึ่งทำให้หลุดรอดปลอดพ้น โปร่งโล่ง เป็นไท ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริง ทางพุทธศาสนาจึงสอนว่า

“การได้ปัญญา เป็นความสุข” (ขุ.ธ. ๒๕/๓๓)

นอกจากนั้น การอยู่ด้วยความเชื่อหรือศรัทธานั้น เป็นการไว้วางใจต่อสิ่งอื่น โดยฝากชีวิตและความสุขของตนไว้กับสิ่งที่เชื่อนั้น จึงเป็นการมีชีวิตที่ขึ้นต่อสิ่งอื่นภายนอก พึ่งตัวเองไม่ได้ ไม่เป็นอิสระ ส่วนปัญญาทำให้แก้ปัญหาและเข้าถึงสิ่งนั้นๆ ได้เองโดยตรง จึงทำให้คนพึ่งตนได้ เป็นอิสระหรือเข้าถึงอิสรภาพ

ยิ่งกว่านั้น ความเชื่อหรือศรัทธาอาจกีดกั้นขัดขวางการพัฒนาและเข้าถึงปัญญา เพราะต้องยึดอยู่กับสิ่งที่เชื่อ พระพุทธศาสนาจึงเน้นอย่างมากว่า ศรัทธาหรือความเชื่อนั่นเอง เริ่มต้นก็ต้องประกอบด้วยปัญญา และต้องเป็นความเชื่อในลักษณะที่ส่งเสริมการพัฒนาปัญญา คือให้ศรัทธาเป็นบันไดก้าวสู่ปัญญา หรือเป็นปัจจัยในการพัฒนาปัญญา และถือว่า

“ความเจริญงอกงามแห่งปัญญา (หรือการพัฒนาปัญญา) เป็นยอดสุด ในบรรดาความเจริญงอกงามทั้งหลาย” (องฺ.เอก. ๒๐/๗๘-๘๒)

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติการสำคัญในการศึกษาก็คือทำอย่างไรจะให้เกิดปัญญา และในการที่จะทำให้เกิดปัญญานั้น สิ่งสำคัญก็คือการวิจัย ถ้าเราไม่มีการวิจัย คือการทำให้เกิดปัญญา ด้วยการรู้จักคิดพิจารณาค้นหาความจริง หาทางทำให้มันดี ให้มันสำเร็จ ให้มันพ้นทุกข์ ให้มันแก้ปัญหาได้ การศึกษาจะก้าวไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาและการวิจัยจึงเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เป็นหน้าที่ของชีวิตมนุษย์ทุกชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่จะมาจัดกันเป็นกิจการของสังคม หรือเป็นการวิจัยทางวิชาการต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันจะต้องโยงมาจากรากฐานของการวิจัยในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว

จะต้องบูรณาการการวิจัย
เข้าไปในชีวิตประจำวันของคนไทย

เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลก เรารับรู้อะไรหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งใดก็ตาม เราจะต้องใช้การวิจัยหรือใช้ปัญญาอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลานี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล การดำเนินชีวิตยิ่งต้องการการวิจัย คือใช้ปัญญานี้อยู่ตลอดเวลา ชีวิตจึงจะอยู่ได้ด้วยดี จึงจะเจริญพัฒนา ทั้งชีวิตของตนเองและของสังคมประเทศชาติ เพราะฉะนั้นจะต้องให้จิตใจของเรากำกับด้วยท่าทีของการวิจัยหรือมีการวิจัยเป็นนิสัยเลยทีเดียว

แต่เราลองหันมามองดูสภาพจิตใจของคนไทยเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร เรามีจิตใจที่มีลักษณะของการวิจัยนี้หรือไม่ เราเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลในลักษณะอย่างไร เราเป็นนักบริโภคข่าว แต่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคข่าวนั้นไม่ค่อยเป็นนักศึกษาข่าว

การบริโภคข่าวกับการศึกษาข่าวสารคงไม่เหมือนกัน นักบริโภคข่าวจะมีลักษณะที่ชอบเสพข่าวเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็น ให้เกิดความพอใจสมใจอยากตื่นเต้นเพลิดเพลินไป หรือตื่นไปตามข่าว บางทีก็ถือข่าวเป็นเรื่องที่มีรสชาดช่วยให้เกิดความสนุกสนาน เอามาพูดคุยตื่นเต้นกันแล้วก็ผ่านลอยไป แต่ที่เราต้องการคือการเป็นนักศึกษา ผู้ศึกษาข่าวสาร ข้อมูล เป็นนักวิจัย ถ้าได้แค่บริโภคข่าวบางทีข่าวสารข้อมูลนั้นก็ไม่นำไปสู่ปัญญาตามที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้จึงทำให้คนจำนวนมากลุ่มหลงหรือถูกหลอกลวง เกิดโมหะ แทนที่จะเกิดปัญญา นี้เป็นข้อสังเกตที่สำคัญ

เราคิดว่าเมื่อมีข่าวสารข้อมูลแล้วจะทำให้มนุษย์มีปัญญา เราถึงกับภูมิใจว่ายุคนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล มนุษย์จะหูสว่าง ตาสว่าง มีความรู้ มีปัญญาดี แต่เปล่า ไม่แน่หรอก บางทีข่าวสารข้อมูลมากจริง แต่คนเป็นเพียงนักบริโภคข่าว หลงงมงาย มีโมหะมากขึ้น เพราะมีลักษณะที่เรียกว่าตื่นตามข่าว เมื่อตื่นตามข่าวก็ไม่พัฒนา เป็นผู้ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล ไม่เป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล เมื่อเป็นผู้ถูกกระทำแล้วก็กลายเป็นผู้รับเคราะห์เสื่อมลงไป

ลักษณะการตื่นข่าวนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ในทางพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าการตื่นข่าวมงคล โดยเฉพาะการเล่าลือโจษจันเกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์เดชและเรื่องโชคลางต่างๆ อุบาสกอุบาสิกาคือชาวพุทธคนใด ถ้าเป็นผู้ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากโชคลาง ไม่หวังผลจากการกระทำ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นอุบาสกอุบาสิกาจัณฑาล เป็นอุบาสกอุบาสิกาเลอะเทอะ เป็นอุบาสกอุบาสิกากระจอก นี่ไม่ใช่อาตมาว่านะ เป็นคำจากพระไตรปิฎกเลยทีเดียว หลักการนี้เราเคยเอามาพิจารณาไหม

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ถึงขนาดนี้ว่า คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาที่ดีมี ๕ ประการ ข้อที่สามคือ จะต้องไม่ตื่นข่าวมงคล ไม่หวังผลจากโชคลาง แต่หวังผลจากการกระทำ ถ้ามีคุณลักษณะอย่างนี้เป็นข้อหนึ่งใน ๕ ข้อ ท่านเรียกว่า เป็นอุบาสกอุบาสิการัตนะ เป็นอุบาสกแก้วอุบาสิกาแก้ว แต่ถ้าตรงข้ามก็คืออย่างที่ว่า ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากโชคลาง ไม่หวังผลจากการกระทำ ขอย้ำอีกทีว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาจัณฑาล เลอะเทอะ กระจอก

เมื่อเราไปตื่นข่าวมงคลจะมีผลอย่างไร ผลก็คือมันขัดงานวิจัยหมด จิตใจในการวิจัยไม่มี เช่นมีข่าวรถตกภูเขา ก็ว่าเป็นเพราะพระราหูมา รถคว่ำในช่วงนั้น ถ้าเราบอกว่าเพราะพระราหูทำ เราก็ยกให้พระราหูแล้วก็หยุดแค่นั้น ความคิดมันก็ไม่เดิน แต่ถ้าเรามีแนวความคิดแบบนักวิจัย เราก็ต้องคิดสืบสาวต่อไป เพราะผู้วิจัยเชื่อตามหลักเหตุปัจจัย ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย

เมื่อเชื่อในหลักการนี้ ก็ต้องค้นหาเหตุปัจจัยให้ได้ความจริงชัดเจนออกมา เราก็จะค้นหาเหตุว่าทำไมรถจึงตกภูเขา อาจจะเป็นเพราะคนขับไม่คุ้นกับการขับรถขึ้นเขา ใช้เกียร์ไม่เป็น ใช้เบรคไม่ถูกกับสถานการณ์ มีชิ้นส่วนเครื่องยนต์บางอย่างบกพร่อง ไม่ได้ตรวจรถให้ดีก่อนขับไป หรือมีการสนุกสนาน คึกคะนองกันเกินไป หรือขับรถเร็วเกินไป หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็จะได้ปัญญา เห็นทางแก้ไขป้องกัน และปรับปรุงพัฒนาให้เป็นประโยชน์ข้างหน้าต่อไป มนุษย์ก็เจริญงอกงามได้

ในทางตรงข้าม ถ้าเรายกให้พระราหูก็จบเท่านั้น ปัญญาหยุดเจริญ ไม่งอกงาม ไม่พยายามหาทางป้องกันและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ได้แต่รอเทวดาหรือดวงดาวมาแก้ให้ เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท เพราะฉะนั้นท่าทีแห่งการวิจัยนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสท่าทีนี้ไว้เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของอุบาสกอุบาสิกา น่าจะวิจัยว่าสังคมไทยนี้เข้าถึงพระพุทธศาสนาแค่ไหน เพียงคุณสมบัติเบื้องต้นขั้นพื้นฐานของอุบาสกอุบาสิกาก็ไปไม่ถึงแล้ว

เป็นอันว่าต้องมีจิตใจที่มุ่งสู่การวิจัย เมื่อเกิดอะไรขึ้นมาต้องใช้ปัญญา คิดสืบค้นหาเหตุปัจจัยของมัน หาความจริงให้ได้ และหาทางแก้ไขทำให้มันดีให้ได้ สองอย่างนี้ถ้ามีอยู่ คือมีฉันทะอยู่ การวิจัยก็จะตามมาและก็จะได้ผลดี มนุษย์ก็เจริญพัฒนา ปัญญาที่ได้ก็มาช่วยให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพยายามสร้างกันให้ได้ คือจิตใจของผู้มีนิสัยแห่งการวิจัยตลอดเวลา

คุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตยคือ การให้ความเห็น หรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช่แค่แสดงไปตามความรู้สึก แต่ต้องแสดงด้วยความรู้จริง

เวลานี้เป็นปัญหามาก สังคมประชาธิปไตยจะพัฒนาได้ต้องมีการแสดงออก ด้วยการแสดงความคิดเห็นที่เกิดจากปัญญา และปัญญานั้นก็ต้องมาจากการวิจัย จากการที่ได้คิดค้นหาเหตุผล พิจารณาไตร่ตรองหาความจริงและมุ่งหาความดีให้ได้ด้วยปัญญานี้แล้วจึงจะพูดหรือแสดงความเห็นออกมา ไม่ใช่แสดงแค่ความรู้สึก ถ้าเอาแค่ความรู้สึกแล้ว ประชาธิปไตยจะพัฒนาได้ยาก

รวมความตอนนี้ก็คือ เราต้องยอมรับความจริงว่าชีวิตที่ดีเป็นชีวิตแห่งการศึกษา และการวิจัยเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา เพราะทำให้เกิดปัญญา การวิจัยนั้นจึงจะต้องเป็นส่วนสำคัญของชีวิตของเรา ไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมในสังคมเท่านั้น แต่จะต้องให้มีจิตใจแห่งการวิจัยอยู่ในมนุษย์ทุกคนเลยทีเดียว แล้วเราก็มาเทียบดูระหว่างการศึกษากับการวิจัย

บูรณาการการวิจัยเข้าไป
ในกระบวนการพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ ด้าน

ตอนนี้พูดปนกันไปว่าการศึกษากับการวิจัยในความหมายทางพุทธศาสนานั้นต่างกันอย่างไร การศึกษามีความหมายกว้างกว่าการวิจัย คือครอบคลุมการวิจัยเข้าไว้ด้วย ครอบคลุมอย่างไร การศึกษาประกอบด้วย ๓ ด้านของการพัฒนาชีวิต ชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นองค์รวมที่ประกอบด้วยด้านต่างๆ ๓ ด้าน โดยย่อ คือ

๑. ด้านพฤติกรรม

๒. ด้านจิตใจ

๓. ด้านปัญญา

การศึกษาหมายความว่าอย่างไร ศึกษา คือ ฝึกฝน หรือพัฒนาใน ๓ ด้านเหล่านี้ ได้แก่พัฒนาพฤติกรรมขึ้นไป พัฒนาจิตใจขึ้นไป และพัฒนาปัญญาขึ้นไป ถ้าครบ ๓ ด้านนี้เราเรียกว่าการศึกษา ถ้าไม่ครบ การศึกษาก็เว้าแหว่ง บกพร่อง การวิจัยนั้นอยู่ในส่วนของปัญญา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา

การวิจัยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในด้านของปัญญาก็มาสัมพันธ์กับกระบวนการของการศึกษาทั้งหมด เพราะว่าทั้ง ๓ ด้านของการศึกษานั้นเป็นส่วนประกอบขององค์รวม ต้องมีความสัมพันธ์อิงอาศัยและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน พฤติกรรมก็มาหนุนจิตใจและหนุนปัญญา จิตใจก็หนุนพฤติกรรมและหนุนปัญญา ปัญญาก็มาหนุนพฤติกรรมและหนุนจิตใจ

องค์ร่วม ๓ ด้านนั้นหนุนกันอย่างไร เช่นในกรณีที่เราจะวิจัยด้วยความต้องการที่จะค้นหาความจริงให้เจอ เราก็ต้องมีพฤติกรรม เช่นในการหาข้อมูล เป็นต้น อย่างง่ายๆ ก็เดินไปดู ถ้าเราต้องการวิจัยให้ได้ปัญญาแต่เราไม่ทำพฤติกรรม สิ่งนั้นอยู่ห่างตัว เราขี้เกียจ แล้วไม่เดินไปดู ไม่รู้จักพูดจาไถ่ถาม แล้วจะได้ปัญญาอย่างไร การวิจัยก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจะต้องมีพฤติกรรมซึ่งจะเกื้อหนุนให้เกิดการวิจัย และพร้อมกันนั้นก็มีจิตใจที่ไม่เกียจคร้านเฉื่อยชา เป็นต้น ถ้าในจิตใจมีความเพียร มีใจสู้ มีความรับผิดชอบ และมีตัวฉันทะ คือแรงจูงใจว่าต้องหาความจริงให้ได้ สภาพจิตใจอย่างนี้ก็จะมาหนุนปัญญาในการวิจัย ฉะนั้นทั้งสามด้านจึงต้องไปด้วยกัน การศึกษาทั้งกระบวนจึงมาหนุนการวิจัย และการวิจัยก็นำการศึกษาทั้งกระบวนให้ก้าวหน้าไป เช่น เมื่อคิดออกหรือรู้ความจริงแล้ว ก็ช่วยให้ทำพฤติกรรมที่ถูกต้องได้ผลดี และทำให้จิตใจโปรงโล่ง เป็นอิสระ สว่าง สงบ สดใส เป็นสุข

เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาพฤติกรรม ตั้งแต่วิธีการด้านพฤติกรรมในการหาข้อมูล เช่นในการไปหาผู้คน จะต้องรู้จักเข้าหาคน ว่าจะเข้าหาคนอย่างไร มีวิธีพูดอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไรจึงจะเกื้อหนุนให้เราสามารถหาข้อมูลอย่างได้ผล ตลอดจนสามารถสืบหาความเห็นจากเขาได้

เนื่องจากการพัฒนาด้านพฤติกรรม ต้องอาศัยการพัฒนาด้านจิตใจมาหนุน เพราะต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้วยกัน เราก็จะต้องมีการพัฒนาด้านจิตใจด้วย อย่างน้อยต้องขอย้ำปัจจัยที่สำคัญด้านจิตใจ คือแรงจูงใจแห่งความอยาก ที่เรียกว่าฉันทะ ที่ว่าจะต้องหาความจริงให้ได้ และต้องทำให้มันดีให้ได้ ถ้าไม่บรรลุจุดหมายนี้จะไม่ยอมหยุด ปัจจัยด้านจิตใจตัวนี้จะมาหนุนการวิจัยอย่างเต็มที่

ทีนี้พอเราวิจัยได้ผลขึ้นมาการวิจัยนั้นก็เพิ่มขยายปัญญา ซึ่งก็มาหนุนพฤติกรรม ทำให้เรารู้ว่าเราควรจะพัฒนาพฤติกรรมอย่างไรจึงจะทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้จิตใจได้ผลดีด้วย เช่น เกิดความพึงพอใจ พอเกิดความพึงพอใจจิตใจของเราก็มีความสุข และเมื่อมีความพอใจมีความสุขในการวิจัย เราก็ยิ่งเกิดความมุ่งมั่นเอาจริงยิ่งขึ้นที่จะวิจัยต่อไป ปัจจัยทุกด้านจึงสัมพันธ์กันหมด ฉะนั้นในกระบวนการของการศึกษานั้นทั้ง ๓ ด้านของชีวิตจะต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา

ในด้านพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือ พฤติกรรมในการทำมาหาเลี้ยงชีพ เพราะชีวิตของคนนี้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่การทำมาหาเลี้ยงชีพ ฉะนั้นเราจะต้องเอาการทำมาหาเลี้ยงชีพมาใช้ประโยชน์ คือเอามาเป็นแดนพัฒนามนุษย์ เมื่อเราใช้การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์ ก็จะเกิดการศึกษาในชีวิตจริง จากการทำมาหาเลี้ยงชีพนั่นแหละ ฉะนั้นการศึกษาจะต้องทำอันนี้ให้ได้

การศึกษาด้านพฤติกรรมนี้ในพุทธศาสนาท่านจัดเป็นหมวด ซึ่งมี ๓ ข้อคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ คือ วาจาก็ต้องดี เกื้อหนุนให้ชีวิตพัฒนา การกระทำก็ต้องเกื้อหนุนให้ชีวิตพัฒนา แต่ข้อสำคัญที่เรามักจะลืมก็คือ สัมมาอาชีวะ คือการประกอบการหาเลี้ยงชีพ ทำมาหากิน ว่าทำอย่างไรมันจะเป็นแดนที่ส่งเสริมการพัฒนาชีวิตของคน

คนทั่วไปมักจะลืมเรื่องนี้ว่าเราจะใช้การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นแดนพัฒนามนุษย์อย่างไร เราจะนึกแต่เพียงว่าให้เขาพยายามดิ้นรนหาสิ่งเสพบริโภค โดยลืมไปว่ามันเป็นโอกาสที่เขาจะพัฒนาชีวิตของเขาไปด้วย แม้แต่ในด้านความสุข

รวมความตอนนี้ว่า เรื่องของการศึกษานั้นคลุมปัญญา คือการวิจัยเข้าไปด้วย วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และวิจัยนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้การศึกษาคือการพัฒนามนุษย์เดินหน้าไปด้วยดี เพราะในชีวิตของมนุษย์นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ผ่านพ้นปัญหาไปโดยแก้ปัญหาสำเร็จ และดำเนินชีวิตไปโดยปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือ ปัญญา พร้อมกันนั้นพฤติกรรมและจิตใจก็เป็นตัวประกอบมาเกื้อหนุนให้การวิจัยนั้นสำเร็จผล ทำให้เกิดปัญญาด้วยดี

เท่าที่พูดมานี้ต้องการชี้ว่าจะต้องให้ทุกคนมีจิตใจเป็นนักวิจัยไม่ใช่มารอกันให้ทำงานวิจัยเท่านั้น ถ้าทำได้อย่างนี้ทุกคนก็มีชีวิตอยู่ด้วยการวิจัย และมีการวิจัยเป็นส่วนของการดำเนินชีวิต เราก็จะดำเนินชีวิตและทำการทุกอย่างด้วยการรู้ความจริง ทำด้วยปัญญา ที่รู้เข้าถึงความจริง พร้อมกันนั้นก็พยายามดำเนินชีวิตโดยหาทางทุกเวลาว่าทำอย่างไรจะให้ชีวิตและสังคมดีงาม ความสำนึกนี้จะกลายเป็นจิตใจของเราตลอดเวลา เมื่อเรามีจิตใจเป็นนักวิจัยแล้ว เราจะทำอะไรก็ต้องทำด้วยความรู้เข้าใจความจริง และทำเพื่อให้ทุกสิ่งมันดี ชีวิตที่การวิจัยมาเป็นส่วนประกอบของการศึกษา และการศึกษาเป็นกระบวนการที่นำชีวิตให้ดำเนินไปด้วยดี ก็จะทำให้คนพัฒนาเป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้จริง

ที่จริงนั้น ลำพังเป็นมนุษย์แล้วยังหาประเสริฐไม่ เรามักจะพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาท่านไม่ยอมรับ ต้องพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ หมายความว่า ถ้าไม่มีการศึกษามนุษย์ก็ไม่ประเสริฐ เพราะว่ามนุษย์นั้นถ้าไม่ฝึกแล้วสู้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้

เมื่อเราฝึกฝนพัฒนาคนไป เขาก็จะเปลี่ยนจากชีวิตที่อยู่ด้วยตัณหามาเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา เมื่อเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญาก็เป็นอันว่าถึงจุดหมาย เพราะชีวิตที่ประเสริฐก็คือชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ในเรื่องนี้จะยกพุทธภาษิตมายืนยันก็ได้ เพราะว่าอันนี้เป็นลักษณะของชีวิตที่สมบูรณ์ แม้แต่จุดหมายของพุทธศาสนาที่ว่าเป็นพระอรหันต์เพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนานั้นยังไม่มีปัญญาพอ ก็ต้องอาศัยตัณหาช่วยให้อยู่รอดไปก่อน คืออาศัยความอยากเสพที่จะบำรุงบำเรอตัวมาเป็นตัวนำ ตัณหานั้นอยู่ภายใต้การเอื้อของอวิชชา อวิชชาเป็นตัวเอื้อให้ตัณหามาเป็นตัวชักนำชีวิต พอปัญญามาเราก็ไม่ต้องอาศัยตัณหา มนุษย์ก็ใช้ปัญญาดำเนินชีวิตไป มนุษย์ก็จะเปลี่ยนจากสัตว์ที่ต้องอาศัยตัณหาเป็นเครื่องจูงชีวิตมาสู่การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา การที่จะมีชีวิตด้วยปัญญาเราก็ต้องดำเนินชีวิตโดยใช้ปัญญา ซึ่งเป็นชีวิตแห่งการที่มีจิตใจเป็นนักวิจัยตลอดเวลา เมื่อการวิจัยที่แท้เกิดขึ้น เราไปเจอสิ่งใดก็ตาม ก็จะใช้ปัญญาเพื่อหาความจริงและหาทางทำให้มันดี เช่น แก้ปัญหาให้สำเร็จ

ปัญหา มีความหมายว่า เป็นสิ่งบีบคั้น ติดขัด คับข้อง แต่ปัญหายังมีความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ มันเป็นเวทีพัฒนาปัญญา พอเราเจอปัญหาเราต้องใช้ปัญญา เมื่อเราวิจัยตลอดเวลาปัญญาก็เกิด ปัญญานั้นก็เกิดจากการพยายามแก้ปัญหา โดยนัยนี้ ในที่สุดการวิจัยก็จะมีความหมายขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า การวิจัยคือการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

ในสังคมปัจจุบันเราต้องการคนที่สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ปัญหากับปัญญาสองตัวนี้ใกล้กันมาก เปลี่ยนตัวเดียวก็กลายจากปัญหาเป็นปัญญา คนที่เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาได้นี่แหละคือคนที่เราต้องการ เวลานี้เราสามารถไหมที่จะให้การศึกษา ที่ทำให้เด็กเป็นผู้มีความสามารถที่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

มนุษย์ที่พัฒนาดีแล้วเป็นนักเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เขามีความสามารถในการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา การวิจัยนี้แหละจะเป็นตัวเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ถ้าเราเจอปัญหาแล้วเราไม่ถอย เราสู้ปัญหา เราพยายามที่จะแก้ปัญหา จากการแก้ปัญหานั้นปัญญาก็จะเกิดขึ้น แล้วเราก็จะประสบความสำเร็จ

เวลานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นเรื่องนี้ เพราะว่าปัจจุบันนี้เด็กของเราเริ่มเป็นคนไม่สู้ปัญหา เมื่อไม่สู้ปัญหาก็เป็นคนอ่อนแอ เมื่อเป็นคนอ่อนแอก็ยิ่งทุกข์มาก และทุกข์ง่ายด้วย ดังนั้นคนที่ไม่สู้ปัญหาจึงต้องเจอแต่ความทุกข์ และทุกข์มากด้วย

ส่วนคนที่สู้ปัญหานั้น เขาสร้างจิตใจที่เป็นนักสู้ปัญหามาแล้ว พอเจอปัญหาก็บอกตัวเองว่าเราจะได้ปัญญา ก็เลยดีใจชอบใจ ถ้าใครชอบใจที่เจอปัญหา ก็ปลอดภัยว่าจะพัฒนาแน่นอน เพราะว่าเขาจะเริ่มสู้ และจากการสู้ปัญหานั้นเขาก็จะพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ แล้วเขาก็จะประสบความสำเร็จ คือเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

นี้คือการวิจัยในความหมายขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นรากฐานของการวิจัยในความหมายที่เราใช้กันในปัจจุบัน ถ้าคนไทยเรามีจิตใจเป็นนักวิจัยในความหมายที่กล่าวมานี้ คำว่าการศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย ก็สำเร็จแน่นอนโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการวิจัยในความหมายนี้ไว้ก่อน แม้แต่การวิจัยที่เป็นกิจการของสังคมก็จะต้องมีจิตใจของนักวิจัยนี้มาเป็นพื้นฐานเพื่อให้สำเร็จผลดีอย่างแท้จริง ตอนนี้ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อนเพราะได้ใช้เวลาไปมากแล้ว

ในขั้นพื้นฐาน การวิจัยก็ยังไม่เข้าสู่ชีวิต
ในขั้นกิจการของสังคม การวิจัยก็ยังอยู่กับความไม่ชัดเจน

ทีนี้ขอพูดถึงการวิจัยในความหมายปัจจุบัน จากการวิจัยขั้นพื้นฐานก็มาสู่การวิจัยที่เป็นกิจการทางวิชาการของสังคม

การวิจัยในปัจจุบันนี้เรามักจะพูดโดยสรุปว่า อยู่ในขอบเขตของวิชาการ ๓ หมวดใหญ่ คือเป็นการวิจัยในเรื่องของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับวิทยาศาสตร์นั้นก็อาจจะรวมไปถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีด้วย และเมื่อมาถึงเทคโนโลยีมันก็ออกมาสู่เรื่องอุตสาหกรรมเป็นต้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง ดังที่สังคมไทยปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่ต้องการจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม

การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์มักจะมาเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรม จนมีผู้พูดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือรับใช้อุตสาหกรรม และบางทีก็ทำไปโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ที่เราวิจัยวิทยาศาสตร์นี้เราวิจัยเพื่อจุดมุ่งหมายในเชิงอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้นอุตสาหกรรมก็ไปเป็นตัวรับใช้ธุรกิจ ซึ่งสนองจุดมุ่งหมายในทางเศรษฐกิจอีก ทั้งนี้โดยเราไม่รู้ตัวว่าสังคมมีแนวโน้มที่ดิ่งไปในทางนั้นๆ อย่างเป็นไปเอง เพราะเราอยู่ใต้อิทธิพลความคิด หรือความมุ่งหมาย และแรงจูงใจอย่างนั้นๆ

ที่จริงนั้น การวิจัยในทางมนุษยศาสตร์ก็มีความมุ่งหมายของมันเองว่า เราวิจัยทางมนุษยศาสตร์เพื่ออะไร เราอาจจะพูดว่าเพื่อความดีงาม เพื่อชีวิตที่เลิศประเสริฐ เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อความสุข และเพื่ออิสรภาพของมนุษย์ เป็นต้น หันไปดูทางด้านสังคมศาสตร์ ก็มีความมุ่งหมายอีกแบบหนึ่ง คือ มุ่งไปที่การอยู่ร่วมกันด้วยดีของหมู่มนุษย์หรือของสังคม เพื่อความเจริญก้าวหน้า เพื่อสันติสุขของหมู่มนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์ มีความมุ่งหมายที่แท้คืออะไร ก็เพื่อความรู้ความเข้าใจในความจริงของธรรมชาติเท่านั้นเอง อันนี้คือตัวแท้ของวิทยาศาสตร์

แต่เรื่องไม่ได้อยู่แค่วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ มันออกมาสู่วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยี ตลอดจนถึงอุตสาหกรรม ซึ่งมีจุดหมายเลยต่อไปอีก หมายถึงการนำเอาความรู้ความจริงของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ในการประดิษฐ์สร้างสรรค์พัฒนาชีวิต สังคม และอารยธรรม

การก้าวจากความรู้ความจริงของธรรมชาติมาสู่จุดหมายนี้ มีอะไรรองรับอยู่เบื้องหลัง

จุดมุ่งหมายที่สำคัญอันนี้ก็คือว่ามันไม่ใช่แค่จะเอาความรู้ จริงอยู่ ในขั้นตัวแท้ คือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้นมีจุดหมายเพื่อเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แต่พอมาเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรม ความมุ่งหมายก็สืบต่อออกไปว่า เพื่อเอาความรู้ความจริงในธรรมชาตินั้นไปใช้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เป็นต้น

แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปอีก ยังมีจุดหมายสำคัญยิ่งอีกชั้นหนึ่ง คือเพื่อเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์ไม่ใช่แค่ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติ แต่เขามีเบื้องหลังซ้อนอยู่ด้วย คือแรงจูงใจในการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ก็เพื่อจะพิชิตธรรมชาติ และไม่ใช่แค่เพื่อพิชิตธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อจะจัดการกับธรรมชาติตามใจชอบของมนุษย์ด้วย

เมื่อถึงขั้นนี้ มนุษย์ยุคปัจจุบันได้มีจุดเน้นที่แคบเข้ามาอีกว่า เขาจัดการธรรมชาติเพื่ออะไร ก็เพื่อเอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการในการเสพบริโภคของมนุษย์ อันนี้แหละที่เป็นตัวการสำคัญในปัจจุบัน และงานวิจัยก็จะถูกครอบงำด้วยความคิดความมุ่งหมายนี้ด้วยโดยไม่รู้ตัว มันจึงกลายเป็นจุดที่เราจะต้องมาวิจัยกันซ้อนอีกชั้นหนึ่งว่าถูกต้องหรือไม่ และถ้ามันไม่ถูกต้องเราจะต้องมาคิดแก้ไข เรื่องนี้ขอพูดตอนนี้ทีหนึ่งก่อนและเดี๋ยวจะต้องพูดอีก คือทำอย่างไรจะให้การวิจัยไม่ตกอยู่ใต้ครอบงำแห่งอิทธิพลของฐานความคิดอันนี้ เราจะต้องสามารถวิจัยตัวการที่ครอบงำอารยธรรมมนุษยชาตินี้ให้ชัดให้ได้ เพื่อนำมนุษยชาติให้หลุดพ้นออกไปอยู่เหนือกระแสอิทธิพลของฐานความคิดที่ผิด

ขอย้ำว่าการวิจัยในเรื่องนี้เวลานี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จัดได้ว่าเป็นการวิจัยซ้อนวิจัย ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการวิจัยว่ากระแสอารยธรรมที่ครอบงำการวิจัยปัจจุบันนี้ผิดหรือถูกด้วย และหาทางวิจัยว่าทางออกที่ถูกต้องคืออะไร

ในการวิจัยที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสังคมเน้นมากในเรื่องการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะจะเน้นวิทยาศาสตร์ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นก็จะเน้นวิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรมอย่างที่ว่ามาแล้ว เพื่อจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจอย่างที่พูดข้างต้น การวิจัยที่รองลงมาก็คือการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ส่วนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์จะเห็นว่ามีน้อย เราไม่ค่อยเน้น เพราะว่า มนุษยศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้ตกต่ำลงไปมาก จนกลายเป็นศาสตร์ที่รู้สึกว่าจะมีปมด้อย หรือรู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจ

ความจริงมนุษยศาสตร์นี้ครอบงำสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะแรงจูงใจที่มาเป็นตัวชักนำการวิจัยและการศึกษาวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ อยู่ภายใต้การครอบงำของแนวคิดที่มาจากมนุษยศาสตร์ คือความเข้าใจและความคิดมุ่งหมายใฝ่ฝันเกี่ยวกับโลกและชีวิตในทางปรัชญานั่นเอง แฝงอยู่เบื้องหลังเจตน์จำนงในการสืบค้นความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคม แต่พวกมนุษยศาสตร์กลับไม่รู้ตัว ไปนึกว่าตัวเองด้อยค่าไม่มีความหมาย

อันนี้เป็นเรื่องของสภาพทางวิชาการที่แนวความคิดของมนุษย์ในยุคที่ผ่านมานั้นได้ถูกแบ่งแยกเป็นเสี่ยงๆ โดยแยกมนุษยศาสตร์ออกไป สังคมศาสตร์ออกไป และวิทยาศาสตร์ออกไป วิทยาศาสตร์ก็แยกออกไปเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีด้านต่างๆ เสร็จแล้ววงวิชาการ การศึกษาและการวิจัยนี้ลืมความมุ่งหมายเดิม คือแยกแล้วไม่โยง เมื่อแยกแล้วไม่โยงก็กลายเป็นเสี่ยงๆ ไป แต่ละด้าน แต่ละวงวิชาการก็ค้นหาความรู้วิจัยอะไรต่างๆ กันไป เพื่อจุดหมายของตัว ดิ่งออกไปและมารวมกันไม่ได้ ขัดกับความจริงที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์ส่งต่อสู่ผลรวมอันเดียวกันในที่สุด ซึ่งทำให้เราต้องมีจุดหมายรวมที่จะประสานให้ได้

จุดอ่อนของยุคปัจจุบันในทางวิชาการรวมทั้งการวิจัยคือ เราไม่สามารถประสานโยงจุดมุ่งหมายของการวิจัยทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ให้ลงเป็นอันเดียวกันได้ ว่ามุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอย่างไร เพราะว่าศาสตร์ทั้ง ๓ หมวดนี้ มีขึ้นจากมนุษย์และเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ แต่เราไม่สามารถโยงถึงกันเป็นอันเดียวได้ว่าศาสตร์ทั้ง ๓ แดนมารวมกัน เพื่อจุดหมายอันหนึ่งอันเดียว เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างไร ต่างคนต่างก็ว่ากันไป

ถ้าตราบใดเรายังไม่สามารถบูรณาการวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของศาสตร์ ๓ หมวดนี้ให้ลงเป็นอันเดียวกันได้ ความเจริญทางวิชาการจะกระท่อนกระแท่น และอาจจะเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมมนุษย์ จนกระทั่งอาจจะมาทำลายมนุษย์โดยไม่รู้ตัว เช่น การวิจัยที่นำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการของวิทยาศาสตร์ กลับเป็นไปเพื่อทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ดังที่ได้เป็นไปแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จึงต้องจับให้ได้ว่าจุดหมายของวงวิชาการทั้ง ๓ แดนนี้ ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไร นี่คือบูรณาการ

เวลานี้แนวความคิดแบบองค์รวมกำลังเด่น แต่เราใช้องค์รวมให้เป็นประโยชน์ได้จริงหรือไม่ เราชัดหรือไม่ว่า ในองค์รวมนี้องค์ประกอบต่างๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร สังคมดีเพื่ออะไร สังคมดีเป็นจุดหมายในตัว หรือว่าสังคมดีนั้น มาเป็นฐาน มาเป็นตัวเอื้อ มาเกื้อหนุนการพัฒนามนุษย์ เช่น เราอาจจะให้ความหมายอย่างหนึ่งว่า สังคมที่ดี คือสังคมที่มีปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุนต่อการพัฒนาของมนุษย์ เพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อย่างนี้ก็แสดงว่ามีการโยงสังคมศาสตร์เข้ากับมนุษยศาสตร์ แต่บางทีเราคิดว่าสังคมดีก็คือสังคมมีเศรษฐกิจดี มั่งคั่งพรั่งพร้อม สะดวกสบาย เป็นจุดหมายในตัวมันเอง

มองไปทางวิทยาศาสตร์เราหาความรู้มาทำการประดิษฐ์สร้างสรรค์เพื่อชีวิตที่ดีงามของมนุษย์อย่างไร ความเจริญทางวิทยาศาสตร์เกื้อหนุนต่อความเป็นมนุษย์ที่ดีงามอย่างไร หรือเป็นเพียงว่าให้มนุษย์ที่เราไม่ได้เอาใจใส่ในความเป็นมนุษย์ของเขา ซึ่งไม่ได้พัฒนาเลย ได้มาใช้เทคโนโลยีที่เราสร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อให้กลับมาเป็นภัยอันตรายแก่มนุษย์เอง

ที่ว่านี้แสดงถึงการที่เราไม่มีจุดหมายสูงสุดที่เป็นบูรณาการของ ๓ ศาสตร์นี้ ถ้าเราหาจุดหมายรวมสูงสุดนี้ไม่พบ ความเจริญทางวิชาการก็จะกระท่อนกระแท่น และอาจจะเป็นไปเพื่อการทำลายตัวมนุษย์เองพร้อมทั้งสังคมมนุษย์ด้วย

แท้จริงนั้นอันนี้แหละคือปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่เราบอกว่าเกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้นคืออะไร เราวิเคราะห์ แล้วก็บอกว่าเป็นเพราะว่าการพัฒนานั้นขาดองค์ประกอบที่สำคัญ คือไม่เห็นความสำคัญของมนุษย์ ทำให้พัฒนาไม่ครบองค์รวม ไม่เป็นบูรณาการ ไม่มีดุลยภาพ

ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เป็น unsustainable development เพราะว่ามัวไปมุ่งทางเศรษฐกิจ ได้เศรษฐกิจดีแต่สิ่งแวดล้อมเสีย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะต้องให้องค์ประกอบ ๒ อย่างมีดุลยภาพต่อกัน เป็นองค์รวม โดยบูรณาการ คือต้องคำนึงทั้ง economy และ ecology ต้องให้เศรษฐกิจก็ไปดี และธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ถ้าเมื่อใดธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ เศรษฐกิจก็ไปดี ก็แสดงว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

แต่แล้วอีกกระแสหนึ่งบอกว่าแค่นั้นไม่พอ ต้องเป็น cultural development คือเป็นการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมที่เอาคนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาที่ผ่านมานี้ให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาท และมีจุดมุ่งหมายเพื่อเศรษฐกิจอย่างเดียว จึงทำให้ความเป็นมนุษย์ถูกมองข้ามไป ไม่เอาองค์ประกอบด้านมนุษย์ ไม่มีการพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้นจะต้องเอาส่วนที่ขาดไปคือ มนุษย์นี้เข้ามา เพราะฉะนั้นการพัฒนาต่อไปนี้จะต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง

เป็นอันว่าแนวความคิดในการพัฒนาปัจจุบันนี้มีมา ๒ สาย สายหนึ่งได้แก่ sustainable development คือการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่มาจากมติของ World Commission on Environment and Development คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งสหประชาชาติตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๖ แล้วก็ได้มติทำเป็นหนังสือออกมา ทำให้เกิดคำว่า sustainable development เมื่อปี ๒๕๓๐ สายความคิดนี้เน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนอีกสายหนึ่งก็ของสหประชาชาติเหมือนกัน เสนอขึ้นมาจากยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นแนวความคิดที่เรียกว่า การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (cultural development) ซึ่งจับจุดว่า การพัฒนาที่ผ่านมาขาดองค์ประกอบด้านมนุษย์ ก็เลยให้เติมมนุษย์เข้ามา จึงเป็นการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง และได้ประกาศให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (World Decade for Cultural Development)

ที่จริงเวลานี้แนวความคิด ๒ สายนั้นน่าจะมาบูรณาการกัน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าคนก็ยังคิดแยกกันอีก แนวความคิดที่เกิดขึ้นมานั้นบอกว่าจะแก้ปัญหาเก่าที่เกิดจากการพัฒนาที่ไม่บูรณาการ แต่แล้วแนวความคิดที่เสนอใหม่นี้ก็ไม่บูรณาการ เวลานี้ก็เลยมีแนวความคิด ๒ สายข้างต้นนั้นขึ้นมา ในด้านถ้อยคำ เราก็พูดกันแต่การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งเน้นที่สิ่งแวดล้อม แต่จะเห็นว่าเวลานี้เราก็รู้กันเป็นนัยๆ ว่าจะต้องพัฒนาโดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง นี่ก็คือแนวความคิดแบบการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (cultural development) แม้แต่แผน ๘ ของเราก็เน้นมากในเรื่องเอาคนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เจอปัญหาอีกว่า คนนี้เป็นคนคือเป็นมนุษย์ หรือเป็นทรัพยากรมนุษย์

คำว่าทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นแนวความคิดที่ติดมาจากเดิม เขาบอกว่าศัพท์ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” (human resources) เกิดขึ้นระหว่างปี 1965-1970 คือเมื่อ ๓๐ ปีมานี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แนวความคิดในการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู แนวความคิดนี้จึงมองตัวมนุษย์เป็นทุนชนิดหนึ่ง คือ เป็นสิ่งที่นำมาใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นการมองมนุษย์ด้วยสายตาที่ถือเป็นทุน หรือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

แนวความคิดที่มองคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ หรือเป็น human resources นี้ เป็นแนวความคิดที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเอามนุษย์เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนประกอบ ถึงเวลานี้เราบอกว่าแนวความคิดแบบพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลักนั้นผิด ต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง แต่แล้วเราก็ยังใช้ศัพท์เก่าว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็แสดงว่าแนวความคิดเก่ายังครอบงำใจเราอยู่ แทนที่เราจะพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ เรากลับพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากร เพราะฉะนั้นจะต้องว่ากันให้ชัดว่าเราจะพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ หรือพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นทรัพยากรมนุษย์ หรือเอาทั้งสองอย่าง

เวลานี้คิดว่าจะต้องเอาทั้งสองอย่าง คือเราต้องพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ด้วย หมายความว่าในด้านหนึ่งเรามองมนุษย์ในฐานะที่เป็นทุนหรือเป็นปัจจัยในการที่จะไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้ามนุษย์มีคุณภาพดี มีความรู้ความสามารถดี เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีจิตใจดี เช่น ขยันหมั่นเพียร อดทน รับผิดชอบ ก็ไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้ดี พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องพัฒนามนุษย์ในฐานะเป็นมนุษย์ ด้วยความมุ่งหมายว่าทำอย่างไรจะให้เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่มีความสุข เป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ เป็นต้น ซึ่งจะต้องคำนึงให้มาก

เพราะฉะนั้นเวลานี้จะต้องมาพูดกันให้จริงจังจนชัดลงไป เพราะว่าเมื่อทำไปๆ พวกศัพท์ หรือ concept ต่างๆ อาจจะครอบงำเราโดยไม่รู้ตัว เวลาเราเปลี่ยนแปลงแนวความคิดใหม่ ถ้อยคำและความหมายพะรุงพะรัง ที่พ่วงอยู่กับแนวความคิดแบบเก่า ก็ตามเข้ามาปนเปกับแนวความคิดใหม่ด้วย ชำระสะสางจัดปรับกันไม่ทัน ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องราวจากแนวความคิดอีกอันหนึ่งก็ยังตามมาครอบงำเราอยู่ เราบอกกันว่าระบบความคิดอย่างหนึ่งที่เคยถือกันมาเป็นสิ่งผิดพลาด แต่ในการหาทางออกใหม่ เราก็ยังพูดกันด้วยถ้อยคำที่สื่อความหมายและด้วยความเข้าใจตามระบบความคิดเก่าที่เราว่าผิดนั่นเอง ฉะนั้นเวลานี้เราจะต้องพูดต้องถกเรื่องเหล่านี้กันให้ชัดเจน เป็นการทำความเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ที่พูดไปเมื่อกี้นั้นเป็นข้อสังเกตที่ ๑ คือ การแยกแล้วไม่โยงในเรื่องที่ได้ทำให้เกิดความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ซึ่งในขั้นหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะแยกไปแล้วทำให้เกิดความชัดเจนในแต่ละด้านนั้นๆ แต่อีกขั้นหนึ่ง ต้องคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจะโยงให้ได้ เพราะการโยงได้ก็คือการนำไปสู่จุดหมายเดิมที่ต้องการของมนุษย์ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ให้มนุษย์เข้าถึงความดีงามมีชีวิตที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจึงต้องก้าวไปสู่ขั้นที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ศาสตร์ทั้งสามนี้มีจุดหมายที่มาประสานเป็นอันเดียวกันได้

ข้อสังเกตที่ ๒ คือ ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ทั้งสองอย่างนี้จะมุ่งถึงสิ่งหนึ่งที่ฝรั่งเรียกว่า value-free ซึ่งจะต้องระวัง เพราะเดิมนั้นถือกันว่าวิทยาศาสตร์เป็น value-free ภาษาไทยจะแปลว่าอย่างไรก็หาคำยาก อาจจะแปลว่าปราศจากคุณค่าหรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนสังคมศาสตร์ก็คือศาสตร์ที่ตามอย่างวิทยาศาสตร์ โดยนำเอาวิธีการวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางสังคม และก็พยายามเป็น value-free ด้วย ทีนี้พอไปพยายามทำตัวเป็น value-free ก็กลายเป็นว่าพวก values ต่างๆ กลับเข้ามาครอบงำโดยไม่รู้ตัว

เวลานี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยหรืออะไรก็ตาม ที่เป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการทั้งหมดใน ๒ แดนนั้น ได้ถูก values ครอบงำโดยไม่รู้ตัว และเจริญมาในท่ามกลางอิทธิพลของ values ทั้งนั้น แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ว่าบริสุทธิ์ก็ไม่บริสุทธิ์ ที่บอกว่าเป็น pure science ก็ไม่ pure ที่ว่าเป็น value-free ก็ไม่ free เวลานี้ตำราต่างๆ ก็ยอมรับเรื่องนี้กันทั้งนั้น

อย่างตำราเล่มหนึ่งพูดถึงเรื่องสังคมศาสตร์ ก็บอกว่า มติที่ว่าสังคมศาสตร์สร้างขึ้นมาตามลักษณะที่เป็น value-free ของวิทยาศาสตร์นั้น เวลานี้มตินี้ได้ถูกโค่นลงแล้ว ด้วยการปฏิวัติทางญาณวิทยา (epistemological revolution) ที่เกิดขึ้นในฝ่ายวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เอง หมายความว่าเวลานี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองยอมรับว่าตัวไม่ value-free สังคมศาสตร์ที่อิงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์จะเป็น value-free ได้อย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้ เป็นแต่เพียงว่าเวลานี้เราจะต้องไม่หลอกตัวเอง คือจะต้องปฏิบัติการสัมพันธ์กับ values ให้ถูกต้องเท่านั้นเอง อย่าไปหลงตัวเองว่าไม่มีไม่เกี่ยวกับ values แต่ต้องสัมพันธ์กับ values ที่ถูกต้อง เวลานี้เราอยู่ด้วย values ไหนก็ปฏิบัติต่อมันให้ถูก values อะไรที่ไม่ควรจะมีก็หลีกละอย่าให้เข้ามา ถ้าทำได้แค่นี้จะตรงกับความเป็นจริงมากกว่า

สังคมศาสตร์นั้นว่าตามความคิดของฝรั่งพวกหนึ่งในปัจจุบันเขาว่า ที่มันไม่ value-free ก็เพราะว่าตัวฐานแรงจูงใจเบื้องหลังของมันมาจากความเชื่อของชาวตะวันตกที่คิดว่าสังคมจะมีวิวัฒนาการสูงขึ้นไปๆ ตามลำดับขั้น จากสังคมที่ป่าเถื่อน (savage) ไปเป็นสังคมอนารยะ (barbarian) และจะเป็นสังคมศรีวิไลหรืออารยะ (civilized) อันนี้คือแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังสังคมศาสตร์ทั้งหมด ในการหาความรู้ทางสังคมศาสตร์จะมีฐานความคิดนี้ครอบงำอยู่ โดยที่ในแนวความคิดนี้ก็เอาสังคมตะวันตกเป็นตัวแบบ สืบเนื่องจากคนตะวันตกนึกว่าสังคมของตนเองเจริญที่สุดแล้วในโลก เพราะฉะนั้นสังคมอะไรต่างๆ ที่จะเจริญก็ต้องเจริญแนวนี้ไปตามแบบของสังคมตะวันตก เป็นอันว่าแนวความคิดนี้ได้ครอบงำการแสวงหาความรู้รวมทั้งการวิจัยต่างๆ ทางสังคมศาสตร์โดยไม่รู้ตัว นี่เป็นตัวอย่างของการที่มันไม่ value-free แต่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของ values เช่น ความเชื่ออย่างที่กล่าวแล้ว เป็นต้น

แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ขอย้ำอีกทีว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้นที่จริงไม่บริสุทธิ์ เพราะอยู่ใต้แรงจูงใจบางอย่างครอบงำอยู่ อันได้แก่แนวความคิดที่เป็นฐานของอารยธรรมตะวันตกที่ชาวตะวันตกภูมิใจนัก คือเจตจำนงที่จะพิชิตธรรมชาติ รวมทั้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์นี้ต่างหากจากธรรมชาติ

ความเชื่อว่ามนุษย์นี้ต่างหากจากธรรมชาติ พร้อมทั้งท่าทีต่อธรรมชาติที่ว่ามนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ และยิ่งกว่านั้นก็คือจะจัดการกับธรรมชาติเอามารับใช้สนองความต้องการของตน อันนี้เป็นฐานความคิดของอารยธรรมตะวันตกที่สืบต่อกันมา ๒๐๐๐ กว่าปีโดยตลอด การแสวงหาความรู้ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อ และเจตจำนงนี้ทั้งหมด ซึ่งเป็น value หรือคุณค่าที่ครอบงำ และเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง อันนี้เป็นจุดสำคัญที่ว่าการวิจัยจะต้องมาค้นหาความจริงให้ได้ว่า ฐานความคิดที่ครอบงำวิชาการและอารยธรรมมนุษย์ทั้งหมดนี้ถูกต้องหรือผิดพลาด ก่อผลดีหรือผลร้าย ถ้ารู้ว่าผิดพลาดแล้ว การวิจัยก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำมนุษย์ให้พ้นจากอิทธิพลของมันไปได้ ฉะนั้นการวิจัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สิ่งที่ต้องการย้ำในที่นี้จึงมาอยู่ที่จุดเบื้องต้นคือ ถึงแม้ว่าเราจะมีระบบวิธีการวิจัยที่จัดทำเป็นกิจการของสังคม ตลอดจนต้องมีเงิน ต้องมีเทคโนโลยีช่วยเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าขาดคุณสมบัติแล้วการวิจัยจะไม่สำเร็จและจะเลอะเทอะไปหมด ก็คือตัวคน

ตัวคนนั้นเราคงไม่เอาแค่ความรู้ความสามารถ ความรู้ความสามารถทำให้งานวิจัยเดินหน้าไปได้ แต่สิ่งที่จะทำให้การวิจัยบรรลุจุดหมายที่แน่นอนเป็นผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วยฉันทะที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นพลังที่จะนำให้การวิจัยบรรลุจุดหมาย คือการที่มีจิตใจใฝ่รู้ ต้องหาความจริงให้ได้ ถ้าไม่ได้ความจริงไม่ยอมหยุด และการที่ว่าจะต้องหาทางทำให้มันดีให้ได้ ถ้าทำให้มันดีไม่ได้ก็ไม่ยอมหยุด ถ้ามีพลังแห่งฉันทะนี้อยู่ก็ดำเนินไปได้ แต่ถ้าไม่มีอันนี้แล้ว ถึงจะมีเงินเท่าไร มีวิธีการ และมีเทคโนโลยีดีแค่ไหน ก็พลาดหมด

ในทางกลับกัน ถ้าการวิจัยตั้งอยู่บนฐานของฉันทะแล้ว ก็เป็นการวิจัยที่มีชีวิตจิตใจ หรือเป็นการวิจัยที่มีหัวใจ ถ้ามีฉันทะนี้เป็นหัวใจเด่นชัดแล้ว เงิน เทคโนโลยี และระเบียบวิธีการวิจัย เป็นต้น ก็ควรจะเข้าไปหนุนให้เต็มที่

พื้นฐานเดิมที่จะต้องพัฒนา เพื่ออนาคต
ของสังคมไทย

ในสังคมไทยนี้น่าย้ำให้มากว่าจิตใจแบบนักวิจัยนี้เรามีน้อย ไม่ใช่เฉพาะในหมู่นักวิจัย แต่เป็นสภาพของคนไทยทั่วไปเลย ฝรั่งนั้นยังมีฐาน ทางลักษณะนิสัย และสภาพจิตใจที่เป็นผู้ใฝ่รู้ ซึ่งได้ฝังลึกในสังคมตะวันตกมากกว่าในสังคมไทย

ในเรื่องนี้จะขอพูดแทรกนิดหนึ่ง แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องซ้ำซาก คือเราดูว่า พื้นฐานจิตใจของคนของเรา กับคนในสังคมตะวันตกนั้นไม่เหมือนกันแม้ในการสัมพันธ์กับสิ่งเดียวกัน ขอยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องเทคโนโลยี ฝรั่งก็มีเทคโนโลยี ไทยเราก็มีเทคโนโลยี โดยเฉพาะเวลานี้ฝรั่งมีเทคโนโลยีอะไรสังคมไทยเราก็มีด้วย แต่ความหมายของเทคโนโลยีต่อคนไทยและต่อคนตะวันตกไม่เหมือนกัน และอันนี้จะมีความหมายโยงไปถึงคุณสมบัติ และสภาพจิตใจอะไรต่างๆ ที่จะนำไปสู่การที่จะพัฒนาประเทศได้ดีหรือไม่ด้วย เทคโนโลยีในสังคมตะวันตกกับในสังคมไทยต่างกันอย่างไร

ข้อหนึ่งก็คือ คนไทยเราเริ่มพบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ประมาณว่าร้อยปีมาแล้ว พอเริ่มพบเทคโนโลยี เราก็พบในฐานะผู้บริโภค เทคโนโลยีจากสังคมตะวันตกเข้ามาสู่สังคมไทย แบบสำเร็จรูป และมาเป็นสิ่งที่จะบริโภค คนไทยจึงพบกับเทคโนโลยีโดยมีจิตใจที่จะบริโภคเพื่อเอามาเสริมความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เป็นเครื่องบำรุงบำเรอ

หันกลับไปดูที่สังคมตะวันตก สังคมตะวันตกมีเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของเขาเอง แต่การที่ตะวันตกจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นมาได้วันเดียว มันต้องผ่านกระบวนการของภูมิหลังที่ยาวนานเป็นร้อยๆ ปี ภูมิหลังอะไร ประการแรก เทคโนโลยีนั้นตั้งอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ การที่เทคโนโลยีจะเจริญขึ้นมาได้ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมายาวนานกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างที่มีในปัจจุบันได้ การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำเร็จด้วยอะไร ด้วยการที่จะต้องเป็นนักพิสูจน์ นักสืบค้น นักทดลอง มีจิตใจที่ใฝ่รู้และนิยมเหตุผล พูดง่ายๆ ว่าเป็นนักวิจัย จากพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ตลอดเวลายาวนานจนเกิดมีเทคโนโลยีอย่างที่เป็นอยู่นี้ จึงหมายความว่า ชาวตะวันตกได้ผ่านประสบการณ์ที่ได้สร้างนิสัยและสภาพจิตใจขึ้นมา ให้เขามีจิตใจวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือความมีจิตใจที่ใฝ่รู้ ชอบเหตุชอบผล ชอบค้นคว้าสืบค้นพิสูจน์ทดลอง เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่สำเร็จมาในสังคมตะวันตกโดยผ่านวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ฝรั่งได้ผลพ่วงมาอีกอย่างหนึ่งคือจิตใจที่ใฝ่รู้

ประการที่สอง เทคโนโลยีที่สำเร็จมาในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องผ่านกระบวนการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออุตสาหกรรม เทคโนโลยีเองเป็นตัวไปเกื้อหนุนอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาอุตสาหกรรม แล้วอุตสาหกรรมก็มาสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญยิ่งขึ้น การที่จะสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สำเร็จได้นั้นต้องใช้เวลายาวนาน ทำให้เกิดผลต่อชีวิต สภาพจิตใจและวิถีของสังคมที่เรียกว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรม วัฒนธรรมอุตสาหกรรม คือการที่ต้องมีความขยันหมั่นเพียร จะต้องพยายามเอาชนะความยากลำบาก เอาชนะความทุกข์ยาก เอาชนะความแร้นแค้น เอาชนะความฝืดเคืองต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งผลิตต่างๆ ขึ้นมาให้สำเร็จ จนกว่าจะมีความพรั่งพร้อม

ในการที่จะสร้างสรรค์ผลิตผลให้พรั่งพร้อมเพื่อเอาชนะความขาดแคลนให้สำเร็จนี้ ฝรั่งต้องต่อสู้กับความทุกข์ยากมาก ต้องมีความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมจึงสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่า การกระทำด้วยอุตสาหะ ตรงตามภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งก็แปลว่าความขยันอยู่แล้ว ชื่อของมันก็บอกอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมเกิดจากความขยันหมั่นเพียร ฝรั่งต้องมีความขยันหมั่นเพียรสู้ความเหนื่อยยากมานานเป็นร้อยปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ให้อุตสาหกรรมเจริญมาได้ ตลอดเวลายาวนานนี้เขาจึงมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่สร้างนิสัยจิตใจของคน ให้มีความขยันหมั่นเพียร ความสู้สิ่งยาก และความมีจริยธรรมในการทำงาน

เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่พัฒนามาถึงปัจจุบันจึงบอกถึงภูมิหลังของตะวันตกที่ได้พัฒนาสภาพจิตใจที่ฝังลึกมาเป็นร้อยๆ ปี คือสภาพจิตใจที่เกิดจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ได้แก่ความใฝ่รู้ และสภาพจิตใจที่เกิดจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ได้แก่ ความสู้สิ่งยาก ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยากก็จึงมาเป็นสภาพจิตใจของฝรั่ง ที่แม้จะเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริโภคแล้ว แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะอ่อนแอลงจนกระทั่งคนรุ่นเก่าต้องคร่ำครวญต่อว่าคนรุ่นใหม่ว่าเป็นคนที่อ่อนแอ ใจเสาะเปราะบาง หยิบโหย่ง สำรวย แต่ถึงอย่างนั้นพื้นฐานแห่งความใฝ่รู้-สู้สิ่งยากที่ฝังลึกมาเป็นร้อยปีก็ยังจะช่วยสังคมของเขาไปได้อีกนาน

ทีนี้หันมาดูสังคมไทยของเรา คนไทยเราอยู่สบาย ในถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ภูมิอากาศอำนวย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำให้มีจิตใจที่โน้มไปในทางที่ชอบสะดวกสบายอยู่แล้ว อยู่ๆ มาก็เจอเข้ากับอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เข้ามากับฝรั่ง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูป และเทคโนโลยีแบบบริโภค เทคโนโลยีนั้นจึงเป็นสิ่งที่มาเสริมความสะดวกสบายเข้าอีกชั้นหนึ่ง วัฒนธรรมแห่งความสะดวกสบายชอบสนุกสนานโน้มไปทางเสพบริโภคก็ยิ่งได้รับการเสริมซ้ำหนักเข้าไปอีก ส่วนฐานทางด้านความใฝ่รู้-สู้สิ่งยากนั้นแทบไม่มีเลย มีแต่ความชอบสนุกสนานสะดวกสบาย

สภาพอย่างนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยจะต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยแห่งความอ่อนแอของสังคมของตัวเอง และจะต้องจับต้องจี้ให้ถูกจุดตลอดจนจะต้องแก้ให้ได้ คือ ทำอย่างไรจะให้คนของเราเป็นคนที่ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เพื่อสร้างลักษณะจิตใจที่เป็นนักวิจัยขึ้นมาแล้วการสร้างสรรค์สังคมของเราจึงจะสำเร็จ

หลักการพัฒนาคนอย่างหนึ่งคือฝึกให้เป็นคนที่สู้ปัญหา ถ้าเด็กของเราเป็นคนที่เอาแต่สบาย ได้รับแต่การปรนเปรอ ก็จะกลายเป็นนักเสพ และนักหาความสุขจากสิ่งเสพ เขาจะหวังความสุขจากการได้รับความปรนเปรอและการที่ไม่ต้องทำอะไร การที่จะต้องทำอะไรจะกลายเป็นความทุกข์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งต่อชีวิตของเขา ต่อสังคม และต่ออารยธรรมทั้งหมด เด็กเหล่านี้จะอ่อนแอใจเสาะเปราะบาง แม้แต่สังคมตะวันตกที่มีฐานเข้มมาตลอดเวลายาวนาน พอมาเจอสังคมแบบฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเป็นสังคมบริโภคเข้าก็ยังแย่ เวลานี้คนรุ่นใหม่ของเขาจำนวนมากก็กลายเป็นคนใจเสาะเปราะบาง อ่อนแอ ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก

คนในสังคมที่สร้างสรรค์พัฒนามาบนฐานของความใฝ่รู้สู้สิ่งยากจะมีลักษณะที่ทุกข์ได้ยากแต่สุขได้ง่าย ส่วนคนที่ได้รับการบำรุงบำเรอเต็มที่จนเคยตัวหรือจนกลายเป็นวัฒนธรรมก็จะเป็นคนที่มีลักษณะทุกข์ได้ง่ายและสุขได้ยาก เพราะว่าพอเกิดมาก็เจอกับสภาพบำรุงบำเรอสะดวกสบายจนกลายเป็นสภาพปกติ ดังนั้นพอขาดอะไรนิดเดียวก็ทุกข์ทันที ไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์ทันที ต้องทำอะไรก็ทุกข์ทันที สุขได้ยากเพราะมีสิ่งปรนเปรอเต็มไปหมดเติมไม่ไหว แต่คนที่สู้สิ่งยากจะสุขได้ง่าย และมีความสุขจากการกระทำและการสร้างสรรค์ เพราะว่าเมื่อได้อะไรมานิดหรือทำอะไรก้าวหน้าไปหน่อย ทำอะไรสำเร็จหรือชนะความยากลำบากนิดหน่อยก็สุขทันที นอกจากนั้นเพราะเขาเจอกับสิ่งยากมาหนักหนาแล้ว ถึงมีอะไรยากมาอีกก็ไม่เท่าไร ไม่ลำบาก

เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในสังคมบริโภคถ้าไม่เตรียมพัฒนาชีวิตฝึกตนให้ดีก็จะใจเสาะเปราะบางและจะฆ่าตัวตายมาก ขอให้ดูอย่างสังคมอเมริกันที่เปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริโภค เพียง ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นๆ มากกว่าก่อนนั้นถึง ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์

เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ยกตัวอย่างคนจีนมาเมืองไทยเสื่อผืนหมอนใบสมัยก่อน เขาสร้างเนื้อสร้างตัว โดยผ่านความอดอยากยากแค้น อดมื้อกินมื้อ มีใครฆ่าตัวตายไหม ไม่ฆ่าตัวตายหรอก แต่เด็กในยุคปัจจุบันที่แสนจะสุขมีเทคโนโลยีเต็มที่นี่แหละจะฆ่าตัวตายโดยง่าย ฉะนั้นถ้าเราไม่ให้การศึกษาที่ถูกต้อง เด็กจะอ่อนแออย่างยิ่ง และจะไปไม่รอด ไม่ใช่เฉพาะชีวิตของตัวเขาเองเท่านั้นสังคมก็จะไปไม่รอดด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้ได้ คือสร้างจิตใจที่สู้ปัญหา เอาปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา จะต้องเป็นผู้สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาให้ได้ ไม่ใช่มีอะไรปั๊บยกปัญหาให้เทวดาแก้ ถ้ายกปัญหาให้เทวดาแก้ ตัวเองก็ไม่ได้สู้ปัญหา ไม่ได้คิดแก้ปัญหา แล้วปัญญามันจะมาอย่างไร มันก็อ่อนแอถอยหลังลงไปทุกที

เวลานี้สังคมไทยอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง เป็นสังคมที่อ่อนแอ คนจำนวนมากหวังพึ่งปัจจัยภายนอก คืออำนาจดลบันดาลต่างๆ ไม่ชอบแก้ปัญหาด้วยตนเอง หวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย เช่น การพนัน เป็นต้น ไม่เข้มแข็งอดทนที่จะรอผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน มีปัญหาก็ยกให้เทวดาช่วยแก้ มีอะไรจะต้องทำ ก็โอนภาระไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ลำบากพัฒนายาก เพราะฉะนั้นสังคมของเราเวลานี้จะต้องยอมรับว่าพื้นฐานของเราแพ้ฝรั่ง เนื่องจากได้พบและมองเทคโนโลยีแบบบำรุงบำเรอ เราไม่มีพื้นฐานนิสัยแห่งการผลิตและสร้างสรรค์เทคโนโลยีด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมมาก่อน ฐานจึงต่างกันมาก ทั้งหมดนี้เป็นการพูดเลยออกไปข้างนอก

อนาคตของสังคมไทย เราจะให้เป็นอย่างไร

ทีนี้ขอกลับมาพูดถึงการศึกษาและการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย คำว่าอนาคตของประเทศไทยนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความชัดเจน แต่เวลานี้อนาคตของประเทศไทยยังเป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย เรามีความคิดอยู่ในใจไหมว่าอนาคตของประเทศไทยที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร อนาคตอย่างไรที่เราต้องการ เราบอกว่าวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย แต่เราจะให้อนาคตนั้นเป็นอย่างไร จึงต้องพูดวิจารณ์เรื่องนี้

ถ้าเรามีแรงจูงใจถูกต้องที่เรียกว่า ฉันทะ คือ มุ่งจะหาความจริงให้ได้และทำให้มันดีให้ได้ อันนี้จะไม่ใช่เป็นเพียงเพื่ออนาคตของประเทศไทยเท่านั้น แต่จะหมายถึงอนาคตของประเทศไทยที่เป็นไปเพื่ออนาคตของมนุษยชาติทั้งหมด เราจะไม่มองเพียงเพื่ออนาคตของประเทศไทยด้วนๆ แต่จะต้องมองถึงอนาคตของประเทศไทยชนิดที่เอื้อต่ออนาคตของมนุษยชาติ เพื่อความดีความงามของมนุษยชาติทั้งหมด เพื่อมนุษยชาติที่อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีสันติสุขทั่วกัน

ถ้าอนาคตของประเทศไทยไม่ใช่เป็นไปเพื่ออนาคตของมนุษยชาติด้วยจะเป็นปัญหา และขณะนี้มันก็กำลังเป็นปัญหาอยู่เพราะว่าทุกสังคมในโลกขณะนี้กำลังมุ่งเพื่ออนาคตของประเทศของตน ในลักษณะที่เป็นไปเพื่อตัดรอนประเทศอื่น หรือสังคมอื่น เนื่องจากขณะนี้ลัทธินิยมตามคติแห่งการแข่งขันเพื่อเอาชนะในทางผลประโยชน์และอำนาจกำลังครอบงำโลกทั้งหมด ฉะนั้นทุกคน ทุกสังคม ทุกกลุ่ม ทุกหมู่ ตลอดจนทุกประเทศชาติต่างก็คิดอย่างเดียวเพื่อเอาชนะ และในการเอาชนะนั้นก็ต้องตัดรอนผู้อื่นลง ดังนั้นคำว่า “อนาคตของประเทศไทย” จะต้องถูกยกมาพิจารณาและมาตกลงกันให้ได้ เราอาจจะต้องแบ่งว่า อนาคตของประเทศไทยนั้น

๑. เพื่อเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลก เช่น เพื่อชนะในภูมิภาคอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในภาคอาเซียทั้งหมด ตลอดจนชนะในโลกทั้งหมด

๒. เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่จะช่วยนำโลกไปสู่ความดีงามและสันติสุข

เราจะเอาอย่างไหนหรือจะเอาทั้งสองอย่าง เรื่องนี้อาจจะต้องแบ่งเป็นขั้นตอน คือเราอาจจะต้องมีอนาคตของประเทศไทยในระยะสั้น และระยะยาว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงได้พูดแต่ต้นว่า คำว่า “ทำให้มันดี” กับ “ทำให้มันสำเร็จ” ไม่เหมือนกัน

เวลานี้โลกกำลังอยู่ใต้อิทธิพลความคิดในวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ ฝรั่งวิเคราะห์ตัวเองออกมา แล้วบอกว่าเขาอยู่ใน culture of success คือวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ คือทุกคนต่างก็มุ่งความสำเร็จทั้งนั้น เริ่มแต่ความสำเร็จของตัว ความสำเร็จของกลุ่ม ของหมู่ ของสังคม และของประเทศ ด้วยการเอาชนะผู้อื่น เมื่อจะชนะก็ต้องหาทางที่จะตีผู้อื่นลงให้ได้ นี่แหละคือกระแสความคิดที่ครอบงำโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ เราจะต้องข้ามพ้นระบบแข่งขัน และวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จนี้ไปโดยมุ่งสู่จุดหมายว่าทำอย่างไรจะให้ชีวิตดีงาม ให้สังคมดี และให้โลกนี้ดี ด้วยเหตุนี้จึงต้องวางจุดหมาย ๒ ขั้นคือ

ขั้นให้สำเร็จ ได้แก่ ขั้นชนะการแข่งขันระหว่างประเทศหรือในเวทีโลก เป็นต้น

ขั้นให้ดี คือ ไม่ใช่เพียงให้สำเร็จ แต่ต้องให้เกิดความดีงามแก่ชีวิตและสร้างสรรค์โลกให้ดีงามมีสันติสุขด้วย

ที่พูดมานี้เป็นการทำความเข้าใจกว้างๆ พร้อมทั้งกำหนดจุดเน้นของการวิจัย ซึ่งในที่นี้จะขอทบทวนเพื่อเป็นจุดโยงไปสู่การที่จะพูดต่อไปอีกว่า การศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทยนั้น มีความหมายที่หนึ่งว่า เพื่อประเทศไทยที่ชนะ สู้ประเทศอื่นได้ ตลอดจนชนะทั้งโลก และอีกอย่างหนึ่งว่า เพื่ออนาคตของประเทศไทยที่เป็นส่วนร่วมที่จะนำโลกนี้ไปสู่ความดีงามและสันติสุขอย่างแท้จริง เรื่องที่ว่ามานี้เราจะต้องเลือกหรือจัดวางเป็นขั้นตอน แต่จุดหมายที่วางไว้สูงจะทำให้จิตใจของคนมีแรงมากขึ้น

ถ้าเรามองว่าเราจะต้องสร้างความดีงาม ทำโลกนี้ให้มีสันติสุข และประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำโลกนี้ไปสู่สันติสุขให้ได้ อันนี้เป็นจุดหมายสูงสุดของเรา แต่ในขั้นต้นเราจะต้องผ่านการเป็นผู้ชนะก่อน เมื่อตกลงอย่างนี้เราก็อาจจะวางอนาคตเป็นสองขั้น แล้วก็จะมีอนาคตระยะสั้นและอนาคตระยะยาว เราบอกว่าจะเอาให้ได้ทั้งสองขั้น ประเทศไทยเอาไหม เราต้องกระตุ้นปลุกเร้ากันว่าให้เอา เราจะต้องมีจุดหมายสูง ถ้าจุดหมายไม่สูงก็ไปไม่ไกล

การที่จะวิจัยให้สำเร็จผลเพื่ออนาคตทั้งสองขั้นนี้จะทำอย่างไร ก็แยกการวิจัยเป็นสองระดับ คือ

๑. วิจัยเพื่อรู้จักตัวเอง เข้าถึงพื้นฐานของตัวเอง และทำตัวเองให้ดีให้ได้ แก้ปัญหาของตัวเองให้สำเร็จ ซึ่งจะต้องโยงไปหาข้อสองด้วย คือ

๒. วิจัยเพื่อรู้เท่าทันโลกและผู้อื่น ไม่ว่าจะเพื่อเอาบทเรียนมาใช้หรือเพื่อจะเอาชนะในการแข่งกับเขาได้

ทั้งสองกรณีนั้นจะต้องมีความรู้เท่าทัน ต้องทั้งรู้เขาและรู้เรา การวิจัยในแง่ตัวเองจะขอพูดทีหลัง

ในแง่ของการวิจัยเพื่อรู้เท่าทันโลก รวมทั้งการรู้ทันผู้อื่น และประเทศอื่น ก็แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑. การวิจัยให้รู้เท่าทันประเทศที่นำการพัฒนาในปัจจุบัน หรือประเทศที่เป็นผู้นำของโลก เช่น อเมริกา และญี่ปุ่น อาตมาเคยพูดมานานแล้วว่าในการส่งนักศึกษาของเราไปศึกษาต่างประเทศ เราน่าจะมีจุดหมายในเรื่องนี้ด้วยและหนุนอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้มาวิจัยแต่สังคมของเราเท่านั้น ทำไมเราไม่ถือโอกาสให้ไปวิจัยสังคมนั้นๆ ให้เรา

เรื่องกลายเป็นว่า นักศึกษาของเราโดยมากเวลาไปเมืองนอก พอทำปริญญาเอก ต้องทำงานวิจัย เราก็ชอบมาวิจัยเรื่องเมืองไทย ซึ่งก็ถูกในแง่หนึ่งเพราะเป็นประโยชน์ที่สังคมไทยเราต้องรู้จักตัวเอง แต่มันได้ข้างเดียว เอียงและแคบไป ทีนี้ฝรั่งก็ชอบ ฝรั่งหนุนเลย เพราะอะไร ฝรั่งต้องการรู้เราอยู่แล้ว เขาก็หนุน แล้วฝรั่งได้ประโยชน์หลายอย่าง หนึ่ง ตัวเราเป็นคนไทย เรารู้เรื่องของเราได้ดี (ในด้านหนึ่ง) และเขาจะได้รู้ว่าเรามองตัวเราเองอย่างไร สอง เขาไม่ต้องลงทุน ถ้าฝรั่งส่งคนของเขามาวิจัยจะต้องลงทุนมาก ซึ่งเขาก็ต้องทำอยู่แล้วเยอะแยะ แต่นี่คนของเราทำให้เขา เขาเลยสบาย เบาภาระลงไปเยอะ ฉะนั้นคนของเราที่ไปทำปริญญาเมืองฝรั่ง วิจัยเรื่องประเทศไทยให้ฝรั่งเยอะแยะเหลือเกิน

ในเรื่องนี้เราน่าจะให้ได้ดุลยภาพ ทำไมเราไม่มีนโยบายนี้ คือนโยบายส่งนักศึกษาไปต่างประเทศโดยหนุนให้นักศึกษาส่วนหนึ่งวิจัยเรื่องของประเทศนั้นๆ ให้ได้ อย่างเข้าถึงสังคมของเขา คนของเราบางทีมีแต่ภาพแห่งความหลงใหล นักศึกษาไทยไปโดยไม่รู้จักสังคมของตัวเองและกลับมาโดยไม่รู้จักสังคมฝรั่ง เลยไม่ได้ทั้งสองอย่างที่เป็นส่วนสำคัญด้านหนึ่งของการศึกษา ตอนไปก็ไม่รู้จักสังคมของตัวเอง ถึงเวลามาก็ไม่รู้จักสังคมฝรั่ง ถึงเวลามานานแล้วที่เราจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องนี้

แนวทางนี้อาตมภาพคิดมานานว่าทำอย่างไรจะให้คนของเราไปไม่เสียเปล่า เป้าหมายการวิจัย ต้องให้ได้ทั้งสองอย่าง หนึ่ง หนุนพวกที่มาวิจัยเรื่องสังคมของเรา ให้ตรงกับเรื่องราวด้านที่เราต้องการ สอง หนุนคนของเราให้วิจัยสังคมประเทศนั้นๆ ที่เขาไปศึกษา

๒. นอกจากประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้นำ อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องวิจัยมากคือประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เราเกี่ยวข้อง พวกนี้ทิ้งไม่ได้ บางทีเราลืมประเทศเหล่านี้ไป เอาแต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ห่างไกลตัว ประเทศเพื่อนบ้านนั้นจำเป็นต้องรู้ให้ลึก

เป็นอันว่าสองกลุ่มนี้สำคัญมาก คือ กลุ่มประเทศใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าใจ กลุ่มที่นำโลกก็ต้องรู้เท่าทัน อะไรที่มีอิทธิพลเราต้องพร้อมจะรับมือ ความคิดที่นำหน้าที่สุดของฝรั่งเราต้องทัน ฝรั่งมีความคิดอะไรใหม่เดินหน้าไปเราต้องถึง ไม่ใช่ไปตามเขาแด็กๆ อยู่ เขาคิดไว้ ๒๐ ปีก่อนแล้วเพิ่งไปตามเขา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องมีเป้าหมายมุ่งมั่นที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร

การวิจัยของสังคมไทยต้องแบ่งอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่าระยะสั้นเฉพาะหน้าจะเอาชนะเขาแง่ไหน อย่างไร ในเขตไหน เป้าหมายต้องชัด ต้องแน่วแน่ ต้องมุ่งมั่น ต้องเอาให้สำเร็จ คนไทยขาดเรื่องนี้คือ การตั้งเป้าที่ชัดเจนและมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จให้จงได้ ถ้าไม่มีความจริงจังเด็ดเดี่ยวนี้ชีวิตส่วนตัวก็สำเร็จยาก สังคมก็สำเร็จยาก สังคมไทยเราคนก็เป็นอย่างนั้น สังคมก็เป็นอย่างนั้น คือไม่ค่อยมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว พระโพธิสัตว์ถ้าไม่มีความเด็ดเดี่ยวนี้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

บารมีของพระโพธิสัตว์อย่างหนึ่งท่านเรียกว่า อธิษฐานบารมี อธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว หมายความว่า มุ่งสู่จุดหมายแน่วแน่เด็ดขาด ซึ่งจะทำให้ตัดเรื่องพะรุงพะรังไม่เข้าเรื่องออกไปได้ และทำให้มีพลังที่จะก้าวสู่จุดหมาย คนไทยเราเอาคำว่าอธิษฐานมาใช้แต่ทำให้ความหมายเพี้ยนไปกลายเป็นการปรารถนาว่าตนอยากจะได้อย่างไรขอให้ได้อย่างนั้น อธิษฐานเป็นศัพท์สำคัญ แปลว่า ตั้งใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จจะไม่ยอมหยุด

การวิจัย ๒ ระดับอีกอย่างหนึ่งคือ ระดับวงแคบเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี เช่น เรื่องกิจการอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เรื่องของการทำมาหากินอาชีพว่าในท้องถิ่นนี้เป็นอย่างไร การประมงทำอย่างไร พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างไร เรื่องเฉพาะวงแคบ เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีนี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องระดับวงกว้างที่เป็นสภาพทั่วไป เรื่องของระบบความสัมพันธ์แห่งสิ่งทั้งหลาย เรื่องที่เป็นกระบวนการใหญ่ ซึ่งจะต้องชัดว่าการวิจัยของเราจะเอาอย่างไร ให้สัดส่วนของสองเรื่องนี้อย่างไร

การวิจัย ๒ ระดับอีกอย่างหนึ่งคือ ระดับปฏิบัติการ กับระดับภูมิธรรมภูมิปัญญา ระดับปฏิบัติการก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่นในการพัฒนาแบบยั่งยืนปัจจุบันนี้ ทำอย่างไรจะแก้ปัญหามลภาวะได้ ทำอย่างไรจะปลูกป่าให้สำเร็จ ทำอย่างไรจะส่งเสริมระบบรีไซคลิ่ง ทำอย่างไรจะให้คนนิยมใช้ renewable resources คือ ทรัพยากรที่ฟื้นตัวได้ ฯลฯ นี่คืองานในระดับเชิงปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไร ส่วนในระดับภูมิธรรมภูมิปัญญาก็ต้องวิเคราะห์ลงไปว่า พื้นฐานแนวความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังที่จะทำให้การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้สำเร็จได้ ถ้าไม่มีภูมิธรรมภูมิปัญญารองรับ การปฏิบัติก็ขาดฐานที่ตั้ง ก็จะเลื่อนลอย ไม่สำเร็จหรือความสำเร็จจะไม่ยั่งยืน

เวลานี้การวิจัยของเรารู้สึกว่าจะไปเน้นในด้านปฏิบัติการมาก ส่วนระดับภูมิธรรมภูมิปัญญา ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งที่ก่อปัญหาและแก้ปัญหานี้เราค่อนข้างขาด ฉะนั้นในยุคนี้จะต้องเน้นการวิจัยระดับนี้ให้ได้ด้วย

การวิจัยนั้นนำให้เกิดปัญญา เมื่อได้ปัญญามาแล้วในแง่กิจการของสังคม ก็มีปัญหาว่า

๑. ทำอย่างไรจะให้ปัญญานั้นแผ่ขยายไปสู่คนจำนวนมาก การวิจัยเวลานี้เมื่อได้ปัญญามาก็จำกัดอยู่ในกลุ่มคนสองคน สามคน มันไม่ออกไปสู่ประชาชน ไม่ออกไปสู่สังคม เพราะฉะนั้นจึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรจะให้ปัญญาที่ได้มาแผ่ขยายไปถึงคนทั่วทั้งสังคม หรือคนส่วนใหญ่ ให้คนส่วนใหญ่มีปัญญาอย่างนี้ด้วย รู้อย่างนี้ด้วย แล้วก็คิดอย่างนี้ด้วย

๒. ทำอย่างไรจะให้มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง บางทีวิจัยอะไรกันมาเยอะแยะแล้วก็ทิ้ง ผลงานวิจัยนอนนิ่งจมอยู่เฉยๆ มันก็เลยไม่สัมพันธ์กัน และไม่นำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่วงการวิจัยจะต้องคิด

วังวนแห่งกระแสโลก ที่รอรับ
การแหวกว่ายสู่อนาคตของสังคมไทย

ต่อไปก็เข้าสู่หัวข้ออีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวข้อตัวจริงที่ต้องการ คือ “การวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย” เมื่อกี้นี้พูดแล้วว่า เราจะต้องรู้เขารู้เรา คือรู้สภาพปัญหา และองค์ประกอบที่เป็นเหตุปัจจัยทั้งหลาย เริ่มด้วยเหตุปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการรู้เขาอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นไปในโลก ในประเทศอื่น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเป็นพิเศษ

เวลานี้โลกอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นก็มีอิทธิพลส่งถึงกัน ฉะนั้นการรู้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปภายนอก ก็หมายถึงการรู้เหตุปัจจัยภายนอกต่อตัวเราและสังคมของเรา ฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้โลก คือความเป็นไปในโลก ให้รู้สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นต้น ที่แผ่ขยายล้อมเข้ามา ซึ่งอาจจะถึงกับครอบงำเราก็ได้

จะต้องยอมรับความจริงว่าเวลานี้เราอยู่ใต้อิทธิพลความเป็นไปของสังคมภายนอกมากเหลือเกิน ทั้งในแง่อิทธิพลด้านระบบสังคมและในทางความคิด โดยเฉพาะในทางความคิดนั้นเราอยู่ใต้อิทธิพลโดยแทบไม่รู้ตัว อย่างน้อยก็ค่านิยม และวัฒนธรรมที่เราชื่นชมนิยมตาม แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือฐานทางความคิดทฤษฎีต่างๆ และวิธีคิด แม้แต่ที่แฝงมาในถ้อยคำที่พูดจากัน ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำเรามาก เราจะต้องวิจัยให้รู้ทันหมดเลย เป็นอันว่าต้องวิจัยทุกระดับ ทั้งสภาพ ปัญหา ระบบ ความเป็นไป ความเคลื่อนไหว จนกระทั่งถึงแนวความคิด เรื่องวัฒนธรรม และภูมิปัญญา ทั้งที่บีบเข้ามา และที่เราชื่นชมไปรับเข้ามาเอง

สิ่งที่แผ่เข้ามานั้นมีสองแบบ แบบหนึ่งเข้ามาโดยมีอิทธิพลครอบงำบีบเรา แต่บางอย่างนั้นถ้าเราไม่รับ หรือเรามีหลักของตัวเอง เราก็ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพล แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเราไปชื่นชมรับเอามาเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบชื่นชมรับเข้ามาก็ตาม ถูกอิทธิพลเหล่านั้นบีบคั้นก็ตาม เราก็ไม่รู้เท่าทันสิ่งเหล่านั้น การไม่รู้เท่าทันนี้ทำให้เรามีแต่ความเสียเปรียบเต็มที่โดยสมบูรณ์ อันนี้ด้านที่หนึ่งคือเหตุปัจจัยภายนอก

ทีนี้ข้อที่สอง เหตุปัจจัยจากภายใน เมื่อเรารู้จักตัวเองโดยรู้จักพื้นฐานของตัวเอง ก็คือการรู้จักเหตุปัจจัยของตัวเราในอดีต เมื่อรู้เหตุปัจจัยแล้วเราจะแก้ไขมันก็ได้ หรือจะนำเหตุปัจจัยนั้นมาใช้ประโยชน์ก็ได้ ขณะนี้คนไทยเราไม่สามารถเอาสิ่งที่เรามีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเราไม่เข้าใจตัวเราเอง เข้าไม่ถึงฐานของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาวิจัยให้รู้พื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ ตลอดจนพื้นฐานของคนคือคุณภาพของคนที่เรามี ว่าคุณภาพของคนไทยทำไมเป็นอย่างนี้ จะต้องศึกษาให้ได้ จะได้เกิดความรู้เข้าใจตัวเอง ถ้าเราไม่รู้เข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่สามารถจัดการอะไรได้ และจะพัฒนาไม่สำเร็จ หรือจะเอามาใช้ประโยชน์ก็ไม่ได้

มองกว้างออกไปก่อน คือมองที่สภาพของโลกปัจจุบัน เวลานี้เรามีศัพท์ใหม่ๆ ที่เป็นยอดนิยมเกิดขึ้นนานๆ ทีหนึ่ง อาจจะ ๕-๖ เดือน หรือปีหนึ่งก็มาคำหนึ่ง คำที่เรียกว่าค่อนข้างใหม่แต่ไม่ใหม่นักคือคำว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน หรือที่ยั่งยืน หรืออย่างยั่งยืน (sustainable development) ยังเอาลงตัวไม่ได้ คำนี้เข้ามาเมืองไทยไม่นานนี้เอง สัก ๔-๕ ปีนี้ แต่ที่จริงเกิดกันขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๐ โดยมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เรียกว่า Our Common Future ซึ่งเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ได้ประมวลรายงานพิมพ์เป็นเล่มขึ้นมา และเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ คำว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” นี้ เราก็นิยมกันมาพักหนึ่ง

ต่อมาสักปีสองปีก็มีคำศัพท์ใหม่มา คือ โลกาภิวัตน์ (globalization) ตอนแรกเราใช้ว่า โลกานุวัตร ต่อมาก็มีอีกคำ ที่นิยมมากคือ วิสัยทัศน์ (vision) และอีกคำหนึ่งซึ่งนิยมไม่แพ้กันคือคำว่า การปรับรื้อระบบ คำไทยสำหรับคำนี้ยังไม่ลงตัว แต่ภาษาอังกฤษว่า reengineering

คำทั้ง ๔ นี้ ถ้ามองในแง่หนึ่ง มันแสดงถึงสภาพปัญหา ความเคลื่อนไหว และทิศทางของอารยธรรมมนุษย์ปัจจุบัน ตลอดจนภูมิธรรมภูมิปัญญาของคนยุคนี้ แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อเราเอา ๔ คำนี้มาโยงกันดู จะเห็นสภาพปัญหาความขัดแย้งหรือไม่กลมกลืนกันอยู่ในตัว ถ้าอารยธรรมมนุษย์ดำเนินไปด้วยดี คำทั้ง ๔ นี้จะต้องลงตัว

การพัฒนาแบบยั่งยืนนั้นได้บอกแล้วเมื่อกี้ว่าเป็นการพัฒนาที่ต้องให้ สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ เศรษฐกิจก็ไปดี คือต้องให้ ecology อยู่คู่กับ economy พร้อมกันนั้นเราก็มีคำคู่กันมาว่า การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม (cultural development) ที่เอาคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ด้วย ตามหลักการพัฒนาแบบยั่งยืนนั้น จะไม่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และให้บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้อยลง โดยจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็เอาคนเข้ามาเป็นศูนย์กลาง

หันไปดูสภาพโลกาภิวัตน์ (globalization) บ้าง สิ่งที่เป็นโลกาภิวัตน์ (globalized) ปัจจุบันที่เด่นมากก็คือ ข่าวสารข้อมูล เด่นจนกระทั่งเราเรียกยุคปัจจุบันว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูล พร้อมด้วยอุตสาหกรรมที่กำลังแพร่ขยายกระจายไปทั่วโลก จนกระทั่งเสมือนว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมใกล้จะสำเร็จ แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีก็เป็นโลกาภิวัตน์ที่สำคัญและเป็นปัจจัยแห่งโลกาภิวัตน์ด้วย พร้อมกับที่ประชาธิปไตยก็กำลังเป็นโลกาภิวัตน์ใหญ่ อันสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

กระแสนิยมประชาธิปไตยก็แผ่ไปในโลกเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ประชาธิปไตยนี้ไม่ได้ไปเดี่ยวๆ ในเมื่ออเมริกาเป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน ลัทธิเศรษฐกิจของเขาซึ่งผนวกอยู่ด้วยกันหรือครอบงำประชาธิปไตยแบบนั้นอยู่ก็แผ่ขยายไปด้วย ระบบเศรษฐกิจอันนี้ก็คือ ทุนนิยม ที่เรียกว่า free-market economy คือเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

ผู้นำอเมริกันคนปัจจุบันนี้คือประธานาธิบดีคลินตัน (Bill Clinton) ได้พูดไว้ในคำปราศรัยเมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๖ ว่าเวลานี้ American idea คือภูมิปัญญาอเมริกันกำลังเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ประธานาธิบดีคลินตันประกาศด้วยความภูมิใจ (หรือเพื่อปลอบใจคนอเมริกัน)

American idea ที่ว่านี้คืออะไร ท่านบอกว่าคือ democracy คือ ประชาธิปไตย และ free-market economy คือ เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี อันได้แก่ลัทธิทุนนิยม สองอย่างนี้อเมริกาเชิดชู เขาถือว่าเป็น American idea ที่เขาภูมิใจมาก และเขาต้องการให้สองอย่างนี้แพร่ไปทั่วโลก จนกระทั่งต่อมาบางทีเขาผนวกกันเข้าเป็นคำเดียวว่า free-market democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี ทำให้บางคนไม่รู้หลงนึกว่าสองอย่างนี้เป็นอันเดียวกัน คือ ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็จะต้องเป็นทุนนิยมด้วย ดีไม่ดีก็จะถูกครอบงำทางความคิด เป็นอันว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นโลกาภิวัตน์

ทีนี้ เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free-market economy) คือทุนนิยมนั้น แพร่ไปพร้อมกับแนวความคิดตะวันตกของอเมริกัน คือแนวความคิดแบบ competition คือการแข่งขัน ซึ่งถือการแข่งขันเป็นหัวใจของความสำเร็จ จนทำให้วิถีชีวิตของสังคมเป็นวัฒนธรรมที่มุ่งความสำเร็จด้วยการเอาชนะในการแข่งขัน นี่คือองค์ประกอบสำคัญของอารยธรรมตะวันตกที่จะโยงไปหารากฐานทางความคิด และภูมิปัญญา ตลอดจนวัฒนธรรมอเมริกันทั้งหมด

ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือว่า เวลานี้โลกโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นตัวแทนได้ก้าวไปสู่ภาวะที่ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมมาเป็นยุคบริโภคนิยม และแนวความคิด วัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมแบบบริโภคนิยมก็แผ่ไปด้วยทั่วโลก เวลานี้โลกาภิวัตน์ใหญ่จึงกลายเป็นระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ และบริโภคนิยม และเจ้าสองตัวนี้คือระบบแข่งขันและบริโภคนิยม ได้มีอิทธิพลครอบงำโลกาภิวัตน์อย่างอื่น หมายความว่า ข่าวสารข้อมูลก็ถูกใช้เพื่อสนองระบบแข่งขันและบริโภคนิยม เช่น การโฆษณา และวิธีการที่เรียกว่าแบบหน้าม้าต่างๆ อุตสาหกรรมก็ถูกกำหนดโดยระบบการแข่งขันและสนองบริโภคนิยมนี้ เทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนประชาธิปไตยก็อยู่ใต้อำนาจครอบงำอันเดียวกันนี้

ทั้งนี้เวลานี้จะต้องรู้ทันว่าระบบแข่งขันกับบริโภคนิยมนี้เป็นโลกาภิวัตน์ใหญ่ ถามว่าโลกาภิวัตน์นี้สอดคล้องกันไหมกับการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) จะเห็นว่า มันไม่สอดคล้องกันเลย เพราะระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่มุ่งเอาชนะ เช่น เพื่อความเป็นเจ้าใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ย่อมเป็นตัวหนุนบริโภคนิยม เมื่อบริโภคนิยมมาก ก็ซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมให้หนักมาก ทั้งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และก่อมลภาวะ รวมทั้งเพิ่มขยะมากขึ้น เพราะฉะนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันจึงขัดแย้งกับแนวทางของการพัฒนาแบบยั่งยืน มันไม่ไปด้วยกัน และไม่กลมกลืนกัน กลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่ทำลาย sustainable development ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีโลกาภิวัตน์อื่นอีก เช่น สิ่งเสพติดก็เป็นโลกาภิวัตน์หนึ่ง เอดส์ก็เป็นโลกาภิวัตน์หนึ่ง ความเครียดก็กำลังเป็นโลกาภิวัตน์ด้านจิตใจ และลัทธิแบ่งแยกเชื้อชาติเพศผิวพรรณลัทธิศาสนาก็แผ่ไปทั่ว เวลานี้โลกเป็นสากล แต่มนุษย์ยิ่งแบ่งแยกมากขึ้น สภาพเลวร้ายกำลังเป็นความจริงที่ยอมรับกัน ถึงกับบางคนเรียกว่าเป็น twilight of democracy คือเป็นสนธยาของประชาธิปไตย เพราะมนุษย์ไม่สามารถรวมกันได้ แต่กลายเป็นยิ่งแบ่งแยกมากขึ้น ทะเลาะกัน ทำสงครามกันยิ่งขึ้น รวมเข้ากับการที่แต่ละคนตกอยู่ใต้วิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ทั้งหมดนี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาคนที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแบบยั่งยืน ฉะนั้นโลกาภิวัตน์ขณะนี้จึงขัดกันกับการพัฒนาแบบยั่งยืน

ทีนี้หันมาดูวิสัยทัศน์ต่างๆ (vision) ดังที่เรานิยมยกย่องคนที่มีวิสัยทัศน์ดี มองเห็นแนวทางอนาคตอย่างเลิศหรู แต่วิสัยทัศน์เหล่านั้นที่ว่าดีๆ เก่งๆ ที่เราชื่นชมกันอยู่โดยมากไม่รู้ตัวว่าตกอยู่ใต้การครอบงำของแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานที่ผิดพลาด เวลานี้ไม่ว่าจะมีวิสัยทัศน์อะไรมองกันคิดกันไปเถอะ ก็ไปวนอยู่ในกรอบครอบงำอันหนึ่ง ไม่พ้นขอบกั้นนั้นไปได้ เช่น ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ตามก็อยู่ใต้ความคิดที่จะเอาชนะการแข่งขันให้ได้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมแห่งระบบการแข่งขันจึงครอบงำและเป็นฐานรองรับอยู่ ไม่ไปไหนเลย คนนี้คิดเก่งในแง่จะเอาชนะเขาได้ เราก็ชื่นชมกันไป แต่แล้วมันก็อยู่ใต้ครอบของความคิดอันเก่านั้นเอง

มองลึกลงไปอีก วิสัยทัศน์เหล่านี้ไม่พ้นจากรากฐานความคิดของตะวันตกซึ่งเราจะพูดต่อไป เวลานี้เรามีนักอนาคตศาสตร์ (futurists) เช่น Alvin Toffler และ John Naisbitt ซึ่งในอเมริกาเขากำลังนิยมกันมากในเรื่องการพยายามทำนายอนาคต เพราะมีปัญหามากมายในสังคมอเมริกาที่ทำให้คนอเมริกันต้องคิดมากและเป็นห่วงอนาคตของบ้านเมืองของตน แต่แล้วแนวความคิดของเขาก็อยู่ในแนวเดียวคือ มุ่งว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความสำเร็จในการแข่งขัน ที่จะเอาชนะ แก้ความพ่ายแพ้ให้ได้ และวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่ชื่นชมกันก็แค่จะสนองพื้นฐานความคิดอันนี้เท่านั้นเอง แทบไม่มีที่จะไกลเลยออกไป และเมื่อมุ่งชนะในการแข่งขัน มันก็มาทำลาย หรือไม่สามารถจะทำให้วัตถุประสงค์ของการพัฒนาแบบยั่งยืนสำเร็จได้ ก็ขัดกันในตัวอยู่แค่นี้

มีอีกศัพท์หนึ่งที่นิยมหรือตื่นกันมากคือ reengineering แปลกันว่ารื้อปรับระบบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดี แต่มันเกิดขึ้นมาจากแรงจูงใจอะไร ก็คือการที่แพ้การแข่งขันแล้วจะกู้สถานะเอาชัยชนะกลับคืนมา แน่นอนเลย อันนี้ไม่มีทางที่จะปฏิเสธเพราะหนังสือซึ่งเป็นที่มาของความคิดนี้ คือ Reengineering the Corporation เกิดขึ้นมาจากแรงผลักดันของปัญหาที่ธุรกิจอุตสาหกรรมของอเมริกาประสบความตกต่ำ ย่ำแย่ มันแพ้ มันล้ม มันตกไปอยู่ข้างหลังประเทศอื่นเช่นญี่ปุ่น เขาจึงคิดหาทางฟื้นฟูกู้ฐานะจะให้อเมริกา ฉุดดึงธุรกิจอุตสาหกรรมของตัวเองขึ้นมา เพื่อเอาชัยชนะในการแข่งขันกลับคืนมาให้ได้ ก็เลยได้ความคิดที่จะปรับกระบวนการทำงานใหม่ จากระบบแบ่งงานทำแบบ Ford ในยุคของความคิดแบบ John Stuart Mill เปลี่ยนมาสู่ความคิดใหม่ โดยปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับยุคไอที ก็เลยเกิด reengineering ขึ้นมา แต่โดยพื้นฐาน reengineering นี้ก็สนองวิสัยทัศน์อันเดิม ไม่ไปไหนเลย มันเป็นเพียงวิธีการใหม่ แต่แนวความคิดก็ตกอยู่ใต้ครอบงำของรากฐานความคิดเก่า ที่นำมาสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

เพราะฉะนั้นเมื่อวิเคราะห์ให้ชัด สภาพโลกาภิวัตน์ วิสัยทัศน์ ตลอดจนรีเอนจีเนียริง ที่ตื่นกันในปัจจุบันทั้งหมดไม่ได้ไปไหนเลย และถ้าไม่แก้ไขให้ดีมันจะเป็นปัจจัยตัวร้ายด้วย คือเป็นตัวการที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ทะลุปรุโปร่ง แม้แต่ศัพท์ที่เก่าลงไปอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นคำว่า ทรัพยากรมนุษย์ ก็ได้พูดไปแล้วว่า ที่ว่าเราจะเอาการพัฒนาโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้น เป็นมนุษย์ในฐานะไหน คือ เป็นมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ หรือเป็นมนุษย์เพียงในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน และเป็นปัญหาของการวิจัยทั้งสิ้น

ได้พูดแล้วว่า เรื่องทั้งหมดที่ว่ามา โดยเฉพาะคำต่างๆ ที่ยกมาวิจารณ์นั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ลึกลงไป ซึ่งทางพระเรียกว่า ทิฏฐิ คือ แนวคิด ความเชื่อ หลักการ และการยึดถือในหลักการต่างๆ ถ้ามองตื้นๆ ก็ตรงตามที่บอกเมื่อกี้ว่า ตั้งอยู่บนฐานของวัฒนธรรมที่มุ่งความสำเร็จ มิใช่มุ่งความดีงามและสันติสุข และเมื่อสืบสาวไปถึงความเชื่อที่ลึกลงไป ก็ตั้งอยู่บนฐานความคิดนี้ทั้งหมดคือ ความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแบบแยกตัวต่างหาก ว่ามนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ มนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ และจะต้องจัดการกับธรรมชาติตามความปรารถนาของตนให้ได้ อิสรภาพ (freedom) ของมนุษย์อยู่ที่นี่คือ การพ้นจากการครอบงำของธรรมชาติ และกลับมีฐานะเป็นนายของธรรมชาติ เป้าหมายนี้จะต้องทำให้ได้

ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ครอบงำสังคมอุตสาหกรรมมาโดยตลอดก็คือ ความเชื่อเกี่ยวกับจุดหมายของชีวิตมนุษย์ คือความเชื่อในความสุขที่เกิดจากการเสพวัตถุ ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ ยิ่งเสพมากที่สุดก็สุขมากที่สุด ซึ่งนำมาสู่ลัทธิบริโภคนิยม

เวลานี้เราพูดกันว่าสังคมเป็นสังคมบริโภคนิยม บริโภคนิยม ตั้งอยู่บนฐานความคิดอะไร ก็อยู่ที่ความเชื่อในจุดหมายของชีวิตว่าความสุขอยู่ที่การเสพ มนุษย์จึงต้องพิชิตธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ เพราะว่าเมื่อชนะธรรมชาติแล้วก็จะจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา โดยเอาวัตถุดิบในธรรมชาติมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเข้าโรงงานอุตสาหกรรม วัตถุดิบก็เปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้วเราก็ได้บริโภค เราก็มีความสุขจากการเสพจากการบริโภคนั้น นี่มนุษย์ถือว่าเป็นชัยชนะ

มนุษย์ค้นคว้าหาความรู้ความจริงของธรรมชาติ พัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้เขาสามารถนำความรู้นั้นมาสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม แต่เมื่อถูกแนวคิดความเชื่อข้างต้นครอบงำ แนวทางของอารยธรรมก็เขวออกไป กลายเป็นการนำความรู้นั้นมาใช้จัดการเอาธรรมชาติมาปรนเปรอตัวเอง และแย่งชิงผลประโยชน์กัน

๑. มนุษย์ต้องการชัยชนะที่จะจัดการกับธรรมชาติ

๒. ในหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์ก็ต้องการเอาชนะเหนือผู้อื่นในระบบแข่งขัน

๓. ทั้งนี้มีจุดหมายสูงสุดคือฉันจะได้มีเสพมากที่สุด ตามคติของสังคมบริโภคนิยม

โดยนัยนี้ ความคิดมุ่งหมายต่อความสำเร็จด้วยการมีชัยชนะในระบบแข่งขันนี้ จึงครอบงำจิตใจของมนุษย์ ทั้งในการที่จะชนะธรรมชาติและชนะมนุษย์ด้วยกัน เพื่อจะได้มีสุขสูงสูดด้วยการบริโภคให้เต็มที่ เมื่อมนุษย์ชนะแล้วจะเป็นอย่างไร ชัยชนะของมนุษย์ก็คือหายนะของโลก เวลานี้ถ้ามนุษย์ชนะก็คือโลกหายนะ ถ้าโลกหายนะก็คือมนุษย์พินาศด้วย จึงเป็นอันว่ามนุษย์แก้ปัญหาไม่ตกทั้งๆ ที่รู้ตัว

ถ้าจะคิดแข่งขันและเอาชนะกันจริงๆ ก็น่าจะมุ่งเอาชัยชนะทางปัญญา ซึ่งเป็นชัยชนะที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่เป็นเพียงปัญญาสำหรับแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์ แต่หมายถึงปัญญาที่จะแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์สันติสุขแก่มนุษยชาติ

คนไทยควรจับจุดที่ชัยชนะทางปัญญานี้ ซึ่งจะเป็นชัยชนะที่แท้จริงในระยะยาว และจะเป็นชัยชนะร่วมกันของมวลมนุษย์ อย่ามัวคิดเอาชนะธรรมชาติ หรือคิดเอาชนะมนุษย์ด้วยกันจนกลายเป็นผู้แพ้ภัยตัวเอง แต่ควรคิดเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมชีวิตและสังคมมนุษย์อยู่ จึงจะเป็นชัยชนะที่มีคุณค่าและน่าภูมิใจอย่างแท้จริง และชัยชนะนี้จะสำเร็จได้ด้วยการวิจัยในความหมายที่แท้จริง

ผู้นำกระแสอารยธรรม
ก็ต้องหันกลับมาคลำหาทางใหม่

ในเมื่อคำโก้หรู เช่น โลกาภิวัตน์ และวิสัยทัศน์ เหล่านี้มาจากประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก เราก็ย้อนรอยดูซิ ลองมองย้อนทางกลับไปดูสังคมตะวันตกนิดหน่อย ดูแหล่งกำเนิดของถ้อยคำเหล่านี้ที่ครอบงำอารยธรรมมนุษย์ในปัจจุบัน ดูศูนย์กลางของสิ่งที่ชาวโลกรวมทั้งชาวไทยตื่นตาตื่นใจ ดูสังคมตะวันตกที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลางว่าเป็นอย่างไร เราก็จะเห็นสังคมตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้นที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีความเสื่อมโทรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พูดรวมว่าอารยธรรมทั้งหมดกำลังเสื่อมลง ชาวตะวันตกกำลังผิดหวัง และกำลังขาดความมั่นใจ

เรื่องนี้เป็นอย่างไร อาตมภาพไม่ต้องพูดเอง แต่จะขอยกตัวอย่างคำกล่าวของคนอเมริกันเองมาจากหนังสือสัก ๓ เล่ม หนังสือประเภทนี้ตอนนี้มีมากเหลือเกิน แต่ขอยกมาดูเพียง ๓ เล่มนี้คือ

เล่มที่หนึ่ง กำลังเขียนขยายอยู่ โดยที่เขาได้ทำเป็นบทความก่อน ถึงตอนนี้อาจจะเสร็จแล้วก็ได้ คือเรื่อง Is America on the Way Down? (อเมริกากำลังเสื่อมหรือ?) เล่มที่สองคือหนังสือชื่อว่า The End of the American Century (สิ้นศตวรรษอเมริกัน) และเล่มที่สาม ชื่อ Taking Back America (เอาอเมริกาคืนมา หมายความว่าตอนนี้คนเขียนถือว่าเขาสูญเสียอเมริกาไปแล้ว) ขอนำข้อความจาก ๓ เล่มมาอ่านให้ฟังนิดหน่อย เพื่อดูว่าฝรั่งอเมริกันเวลานี้เขามองสังคมของเขาอย่างไร

เล่มที่ ๑ ว่า “สหรัฐจะกลายเป็นประเทศในกลุ่มโลกที่ ๓ เมื่อใด?” เขาตั้งคำถามขึ้นมา แล้วเขาก็ตอบเองว่า
“คำตอบหนึ่งคาดไว้ใกล้แค่ ค.ศ. 2020 (คืออีก ๒๕ ปี) ส่วนการคาดหมายที่มองในแง่ดีกว่านั้นเพิ่มให้อีก ๑๐ หรือ ๑๕ ปี แต่ไม่ว่าจะเอาแบบไหนก็ตาม ถ้าแนวโน้มปัจจุบันยังดำเนินต่อไป คนอเมริกันทั้งหมด ยกเว้นจำนวนน้อยนิด จะจนลงอย่างรวดเร็ว จนเหลืออยู่แต่ความหวนละห้อยอย่างสิ้นหวัง ถึงยุคทองแห่งความรุ่งเรืองของอเมริกาที่หมดสิ้นไปแล้ว”2

เล่มที่ ๒ ว่า
“บัดนี้ปัญหาภายในของอเมริกามาถึงจุดหนักหนาที่สุดแล้ว มันจะเลวร้ายมากไปกว่านี้ไม่ได้ อเมริกากำลังอยู่ท่ามกลางการปฏิวัติทางสังคม ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิวัติครั้งนี้จะเป็นเครื่องตัดสิน ไม่เฉพาะแต่วิถีแห่งอนาคตของอเมริกาเท่านั้น แต่จะตัดสินด้วยว่า อเมริกาอย่างที่เรารู้จักนี้จะมีอยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ หรือไม่”3

เล่มที่ ๓ ว่า
“ทุกหนทุกแห่งที่คุณมองไป จะเห็นแต่สภาพที่ไม่น่าดู เรื่องอัปยศทั้งหลาย และความแหลกเหลวเละเทะต่างๆ โดยมีเสียงของโปโตแม็ก (Potomac หมายถึง รัฐบาลอเมริกัน) เปล่งโปรยปรายจากมหานครแห่งความสำราญฟอนเฟะ ออกมาปลุกปลอบให้ความมั่นใจ แต่เป็นเสียงที่แหบเครือกลวงในว่า ทุกอย่างเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี ทั้งที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ตระหนักรู้โดยสัญชาตญาณว่า ในอเมริกานี้ทุกอย่างแย่ไม่ดีเลย แต่คนส่วนมากก็ไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศของเราจึงตกอยู่ในภาวะสับสนระส่ำระสาย ตื่นเถิดอเมริกา จงตื่นขึ้นมา ก่อนที่จะสายเกินไปและอเมริกาได้กลายเป็นรัสเซียแห่งต่อไปเสียแล้ว”4

ตื่นเถิดชาวไทยด้วย ไม่ใช่ตื่นเฉพาะอเมริกา บางทีอเมริกาอาจจะยังดีกว่าเราก็ได้ แต่ตอนนี้อเมริกากำลังหวั่นกลัวเป็นอย่างยิ่ง หนังสืออย่างนี้เวลานี้มีเยอะแยะไปหมด นี่เป็นสภาพวิกฤตในทางสังคม แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ วิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญา อันนี้ร้ายยิ่งกว่า เพราะมันเป็นฐานอยู่ใต้วิกฤตการณ์ทางสังคม

จะยกตัวอย่างกรณีวิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญาของอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งมีชื่อว่าเป็น Harvard of the West (ฮาร์วาร์ดแห่งปัจจิมทิศ) นักศึกษาได้เรียกร้องให้เอาวิชาพื้นฐานสำคัญของมหาวิทยาลัยวิชาหนึ่งออกไปเสีย คือวิชา Western Culture (วิชาวัฒนธรรมตะวันตก) เพราะว่า วัฒนธรรมตะวันตกเป็นวัฒนธรรมแห่งการกดขี่ เป็นวัฒนธรรมจักรวรรดินิยม เป็นวัฒนธรรมเหยียดเชื้อชาติ แบ่งผิว เป็นวัฒนธรรมเห็นแก่ชาติพันธุ์ของตัวเอง นี่คือเหตุผลของนักศึกษา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในกิจการวิชาการของมหาวิทยาลัยอยู่ ๒ ปี ต่อมาสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยก็ตกลงมีมติยกเลิกวิชานี้และเปลี่ยนเอาวิชาใหม่เข้ามา นี้เป็นตัวอย่างของวิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญา

เวลานี้มีแนวความคิดแบบ postmodernism (แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่) ซึ่งปฏิเสธค่านิยมวัฒนธรรมและภูมิธรรมภูมิปัญญาเดิม ที่อเมริกาภาคภูมิใจกันมาแทบทั้งหมด และฝ่ายเก่าที่ไม่เห็นด้วยก็กำลังสู้กันอยู่ หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าขณะนี้อเมริกากำลังเข้าสู่สงคราม แต่ไม่ใช่สงครามภายนอก เป็นสงครามภายในประเทศ และเป็นสงครามทางวัฒนธรรม จะยอมรับหรือไม่ว่า คตินิยมและแนวความคิดต่างๆ ที่เคยภูมิใจมาเป็นสิ่งเลวร้ายทั้งหมดแล้ว

รากฐานความคิดของตะวันตกที่ลึกที่สุด ซึ่งครองความยิ่งใหญ่มา ๒๐๐๐ พันกว่าปี คือแนวคิดพิชิตธรรมชาติ แม้แต่ Encyclopaedia Britannica ในหัวข้อที่ว่าด้วยประวัติวิทยาศาสตร์ เขาได้พูดไว้ได้ความว่า แต่ก่อนนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมตะวันตกล้าหลังตะวันออก (คือจีนและอินเดีย) แต่ด้วยแนวความคิดพิชิตธรรมชาติจึงทำให้ตะวันตกก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำหน้าเลยประเทศตะวันออกไป แนวความคิดพิชิตธรรมชาตินี้ถือว่าเป็นแนวคิดเอกของตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของอารยธรรมปัจจุบัน แต่เวลานี้ฝรั่งเลิกภูมิใจแล้ว ส่วนมากกลับบอกว่าแนวความคิดนี้ใช้ไม่ได้ และเป็นที่มาของปัญหาการทำลายธรรมชาติแวดล้อม

เวลานี้ฝรั่งจะย้ำให้มองธรรมชาติด้วยท่าทีใหม่ คือไม่ให้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ แต่ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เขาย้ำกันเหลือเกินว่าให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ขอให้สังเกตในหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม ฝรั่งจะย้ำตรงนี้ ในเมื่อมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าใครไม่สังเกตก็ไม่รู้ว่าทำไมฝรั่งต้องมาย้ำด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะฝรั่งเขาไม่เคยมองอย่างนั้น นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง

ทิฏฐิรองลงมาก็เช่นคติแห่งความก้าวหน้า (idea of progress) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นประมาณศตวรรษที่ ๑๙ โดยเริ่มก่อหวอดเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๗ จากกระแสความตื่นตัวที่มากับทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน คือแนวความคิดตามหลักวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้บางคนสร้างความคิดในเชิงสังคมขึ้นมาตามหลักของธรรมชาตินี้ด้วย ตามหลักการนี้มนุษย์จะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ใครที่เก่งก็อยู่รอด และมนุษย์นี้จะต้องก้าวหน้าต่อไปโดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกื้อหนุน ตามแนวคิดนี้มนุษย์จะต้องก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง และความมั่งมีศรีสุข เมื่อไม่นานนี้แนวคิดแห่งความก้าวหน้านี้ฝรั่งภูมิใจนัก แต่เวลานี้เขาบอกเลิกแล้ว กลายเป็นว่าแนวคิดนี้ล้าสมัย ใช้ไม่ได้

แนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่อเมริกันถือว่าเป็นฐานแห่งความเจริญของเขา คือ frontier mentality (สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน) คำว่า frontier นี้ ให้สังเกตว่าฝรั่งจะพูดมากที่สุดโดยเฉพาะอเมริกัน อะไรๆ ก็ต้อง frontier คือ แนวคิดบุกฝ่าพรมแดน ที่นำสืบมาจากแผ่นดินใหญ่ยุโรป พอมาถึงอเมริกาแล้วแนวความคิดนี้ก็พัฒนาอย่างยิ่ง และได้กลายเป็นฐานความเจริญของอเมริกัน มาในถ้อยคำเช่นว่า “Go west young man, and grow up with the country” แปลว่า “เจ้าหนุ่มจงมุ่งหน้าตะวันตก และจงทำบ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมากับตัวเจ้า” นี่คือคติของตะวันตก ยุคคาวบอยก็เจริญมาอย่างนี้ คือเขามุ่งหน้าขยายดินแดนออกไป ไปหาทรัพยากรใหม่ ไปทำบ้านป่าเมืองเถื่อนให้เจริญขึ้นมา นี่คือคติ frontier ซึ่งช่วยให้ฝรั่งแผ่ขยายออกตะวันตกจนกระทั่งทั่วแผ่นดินอเมริกา แล้วออกอวกาศต่อไปอีก ล้วนเป็นแนวความคิดฟรอนเทียร์ทั้งนั้น

การที่ฝรั่งออกหาล่าเมืองขึ้นก็สืบเนื่องจากแนวคิด frontier นี้ ฉะนั้นแนวคิดนี้จึงสำคัญมาก เป็นเบื้องหลังของการสร้างสรรค์ความเจริญของอเมริกา แต่ขณะนี้ frontier mentality กำลังถูกประณามโดยคนสมัยใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่ผิดและใช้ไม่ได้แล้ว นี่คือสภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน

อีกอย่างหนึ่งที่อเมริกันต้องการและเป็นจุดหมายที่พ่วงอยู่ด้วยกันกับสภาพจิตบุกฝ่าพรมแดนนั้น คือ American dream คือฝันอเมริกัน ซึ่งยังพยายามกันอยู่ แต่มันเป็นแนวคิดแบบวัตถุนิยม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานความคิดที่เชื่อว่า ความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพ เข้าแนวที่ว่า “เสพมากที่สุด สุขมากที่สุด”

อีกประการหนึ่ง melting pot (คติเบ้าหลอม) ขณะนี้ก็แตกแล้ว สังคมอเมริกันขณะนี้กลายเป็น mosaic ถ้าโมเสคอธิบายไม่ได้ก็จานสลัด อันนี้ก็พอจะทราบกัน แล้วก็ลัทธิ individualism (ปัจเจกนิยม) ซึ่งเป็นที่มาของระบบแข่งขันด้วย ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยฝรั่งก็แคลงใจและหันมาติเตียนกัน และผิดหวัง มีการมองว่าวัฒนธรรมของตัวเอง(วัฒนธรรมตะวันตก) เป็นตัวการทำลายโลก เป็นตัวกดขี่ และเป็นลัทธิแผ่อำนาจ เป็นอันว่าเวลานี้ ตะวันตกกำลังหันมาด่าว่าติเตียนบรรพบุรุษของตัวเองกันมากมาย

แม้กระทั่งประชาธิปไตยก็มีปัญหา อย่างหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่าเวลานี้ประชาธิปไตยอเมริกันมีการเมืองที่เปลี่ยนจากการเมืองแบบ civic politics มาเป็น claimant politics หมายความว่า ในประชาธิปไตยแบบทำหน้าที่พลเมืองนั้น ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยกันเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม ทุกคนมีจิตสำนึกในการที่ว่าทำอย่างไรเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคม เรียกว่าทำหน้าที่พลเมือง แต่เวลานี้การเมืองนั้นย้ายมาเป็น claimant politics คือเป็นการเมืองแบบเรียกร้องผลประโยชน์ ทุกคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและจะเอาเพื่อตัวเอง ซึ่งจะเป็นจุดสลายอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยอเมริกัน เขาบอกว่าประชาธิปไตยของเขาขณะนี้เคลื่อนย้ายจาก civic politics มาเป็น claimant politics

วัฒนธรรมอเมริกันที่กำลังรุ่งเรืองมีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วโลก คือวัฒนธรรมบันเทิง ซึ่งได้ขึ้นมามีฐานะเป็นสินค้าออกที่เด่นที่สุดของสหรัฐฯ นักแสดงอเมริกันและซอฟต์แวร์ต่างๆ ของอเมริกา อาศัยความเจริญของข่าวสารข้อมูลแผ่ความนิยมออกไป จนกระทั่งสินค้าออกด้านการบันเทิงนี้กลายเป็นสินค้าออกอันดับสองของอเมริกา (อันดับหนึ่งก็ด้านการบินอวกาศ) สิ่งบันเทิงของอเมริกากำลังแผ่อิทธิพลครอบงำไปทั่วโลก แต่บางคนวิเคราะห์ว่านี่คือเครื่องหมายแห่งความล่มสลายของอารยธรรมอเมริกัน ดังที่เขาเทียบให้ดูจากกรีก

เมื่อกรีกล่มสลายนั้นวัฒนธรรมบันเทิงของกรีกได้ครอบงำโลกตะวันตกต่อมาอีก ๓๐๐ ปี เวลานี้วัฒนธรรมอเมริกันที่กำลังแพร่หลายที่สุดคือ วัฒนธรรมบันเทิง สภาพนี้จะเป็นอย่างเดียวกับกรีกหรือไม่ คือเมื่ออเมริกาล่มสลายแล้วก็เหลือทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยคือวัฒนธรรมบันเทิงที่แผ่ไปทั่วโลก แต่จะเป็นวัฒนธรรมที่ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันอาจจะกลายเป็นพิษเป็นภัยที่อเมริกาเหลือหลงไว้ให้แก่โลกก็เป็นได้

เป็นอันว่า จะต้องคิดให้ดีว่าเวลานี้เราสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามามากมายด้วยความรู้เท่าทันดีแค่ไหน มันจะก่อปัญหาหรือไม่ แต่ในอเมริกาเองขณะนี้แน่นอนมันเป็นปัญหาแล้ว เขากำลังต่อสู้กันอยู่ในทางวัฒนธรรม เขากำลังมีปัญหาหนักในสังคม เขากำลังมีวิกฤตการณ์ทางภูมิธรรมภูมิปัญญา คนไทยเราจะตามเขา หรือว่าจะรู้ทันและได้บทเรียนแล้วตั้งตัวให้ดี หรือแม้แต่ไปช่วยเขาแก้ปัญหา เมื่ออเมริกาเป็นปัญหา ทั้งโลกก็เป็นปัญหาด้วย เพราะอารยธรรมของเขากำลังครอบงำโลกอยู่

เป็นไปได้ไหมว่าคนไทยเราจะตั้งตัวได้ในโลกนี้ที่กำลังมีปัญหามาก ถ้าหากว่าเราจะสำนึกและคิดด้วยปัญญา เราจะมีความเป็นตัวของตัวเองบ้างไม่ได้หรือ จำเป็นที่เราจะต้องมีจุดหมายอันสูงที่มุ่งจะแก้ปัญหาของโลกและคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่คอยแต่ตามเขา แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่จะไปต่อต้าน แต่เป็นการช่วยกันร่วมมือกันแก้ปัญหา เราอาจจะช่วยอเมริกาแก้ปัญหาได้ด้วยซ้ำไป แต่เรามีไหมภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะช่วยเขา ถ้าเราจะทำการในทางสร้างสรรค์อย่างนี้ แน่นอนว่าเราจะต้องมีการวิจัยเพื่อให้ได้ภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ถูกต้องมา

ขณะที่โลกติดตัน คนไทยรู้ไม่ทัน เราก็เดินหน้าไปไม่ได้ แถมยังหลงตามเขาไปในทางที่ผิด โดยไม่รู้ว่านี่เป็นทางไปสู่หายนะ แทนที่จะช่วยโลกยามนี้ให้ดีกลับไปร่วมซ้ำเติมความวิบัติ เพราะฉะนั้นควรจะถอนตัวออกมา และช่วยนำโลกออกจากหายนะไปสู่ความดีงามให้ได้ อันนี้แหละคือเรื่องที่การวิจัยจะช่วยได้ ทั้งที่จะให้รู้เท่าทันโลก และรู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ

พื้นฐานของสังคมไทย ที่จะต้องให้ชัดเจน
ก่อนจะก้าวต่อไปได้ในการวิจัย

ในเวลาที่เหลือน้อยจะต้องขอพูดเรื่องนี้นิดหน่อย คือ การหันกลับมาย้อนรอยดูตัวเอง เมื่อกี้เราย้อนทางความเจริญที่มาถึงเรากลับไปดูสังคมตะวันตก ทีนี้ย้อนกลับมาดูตัวเองของเราบ้าง และย้อนถอยไปดูภูมิหลังจนถึงรากเหง้าของตัวเราเอง ว่าเราเป็นอะไรมาอย่างไร ขอย้ำว่าต้องค้นกันให้ถึงที่สุดจนเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงความจริงจะต้องไม่ยอมหยุด และหาทางทำให้มันดีให้ได้ ถ้าทำให้ดียังไม่ได้ก็ไม่ยอมหยุด อันนี้คือคติของพระพุทธเจ้ารวมทั้งชาวพุทธและนักวิจัยทุกคน

ต้องขอประทานอภัยที่จะวิจารณ์ว่า งานวิจัยของเรายังไม่ค่อยมีจิตใจของนักวิจัย ในวงวิชาการทั่วไปอย่างที่มองเห็น เช่นสังคมวิทยา ยังไม่ค่อยเห็นคุณสมบัตินี้ สังคมไทยของเรามีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีปัจจัยอะไรบ้างที่หล่อหลอมสังคมนี้ทั้งในทางลบและทางบวก

เราบอกว่าพุทธศาสนาเป็นสถาบันสังคมอย่างหนึ่ง และไม่ใช่เป็นสถาบันทางสังคมเท่านั้น แต่เป็นแหล่งแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาด้วย เมื่อมองพระพุทธศาสนาเราไม่จำเป็นต้องมองในแง่ศาสนาเท่านั้น แต่เราต้องมองในแง่ที่เป็นปัจจัยทางสังคมด้วย โดยเฉพาะในฐานะรากฐานทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมจิตใจนิสัยของคน ถ้าเราจะจัดการกับสังคมไทยให้มีการพัฒนาเป็นต้นให้ดี เราจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ การที่จะต้องเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาในแง่นี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่แท้ที่จริงนั้นเราเข้าใจแค่ไหน

ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สืบรู้ได้ มีหลักการที่ชัดเจนเพราะเป็นคำสอนที่มีหลักการแน่นอน มีคัมภีร์เป็นแหล่งความรู้ที่จะบอก ตรวจสอบ ค้นคว้า พิสูจน์ได้ แต่เราก็ไม่ค่อยค้นกันไปถึงไหนเลย เวลาพูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย มีข้อสังเกตว่า แม้แต่นักวิชาการมักเรียนพุทธศาสนาจากความรู้และความเชื่อของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาที่พูดถึงในตำราจึงกลายเป็นพุทธศาสนาตามความเชื่อของชาวบ้าน ที่เอามาอ้างอิงอย่างสับสนให้เข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นตัวพุทธศาสนาเอง

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่ไม่บังคับศรัทธา เป็นศาสนาที่ไม่มี dogma ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติพระพุทธศาสนาจึงขึ้นกับการศึกษา ถ้าประชาชนหย่อนการศึกษา สิ่งที่ชาวบ้านเอามาเชื่อ เอามานับถือ เอามาปฏิบัติ ก็จะได้มาจากการเล่าต่อๆ กันมา จากความรู้ความเข้าใจที่เลือนลางลงไป สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาก็เพี้ยนและคลาดเคลื่อนไป ฉะนั้น การแยกให้ชัดระหว่างหลักการของพระพุทธศาสนา กับพระพุทธศาสนาตามความเชื่อถือปฏิบัติของชาวบ้านหรือของยุคสมัย จึงเป็นความจำเป็นต่อการที่จะได้ความรู้ที่ถูกต้อง เราจึงจะต้องแยกระหว่างพระพุทธศาสนาที่ชาวบ้านเชื่อ กับพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักการเดิมแท้ แต่เรื่องนี้นักวิชาการทั่วไปแยกไม่ออก และเขาก็แยกไม่ได้ระหว่างพุทธศาสนาที่ชาวไทยเชื่อ กับพุทธศาสนาที่เป็นหลักการของพุทธศาสนาเอง ถ้าแยกสองอย่างนี้ไม่ได้

๑. ความรู้ทางวิชาการก็บกพร่อง ไม่ถูกต้อง ไม่เข้าถึงความจริง และไม่แสดงถึงความจริง

๒. ผู้ศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ความรู้ที่ชัดเจน หรืออาจถึงกับหลงผิด

๓. เสียประโยชน์แก่สังคม แทนที่สังคมจะได้อะไรมาใช้ประโยชน์ ก็ไม่ได้

จึงจะต้องเน้นย้ำไว้ว่า ผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้านสังคมของไทยเรื่องใด ไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนในการแยกต่างระหว่างหลักการของพระพุทธศาสนา กับพระพุทธศาสนาในความเชื่อถือของชาวบ้าน ผลงานนั้นต้องถือว่าขาดคุณค่าพื้นฐานทั้งในแง่ความจริงและคุณประโยชน์ จัดว่าเป็นผลงานที่ขาดการวิจัย

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาที่ปรากฏแก่เรานี้ มองได้ทั้งในแง่ที่เป็นปัจจัยช่วยหล่อหลอมสังคมนี้ และพร้อมกันนั้นพุทธศาสนาอย่างที่คนไทยเชื่อนี้ก็ถูกคนไทยปรุงแต่งด้วย หมายความว่า พุทธศาสนานั้นถูกอิทธิพลความต้องการเป็นต้นของคนไทย ตลอดจนลัทธิความเชื่อถือที่มีอยู่ในสังคมไทยหล่อหลอมให้เกิดเป็นพระพุทธศาสนาแบบของไทยขึ้น ซึ่งต่างกับพระพุทธศาสนาเดิมแท้

ถ้าเราแยกเรื่องนี้ไม่ชัดเราก็จะเข้าใจสังคมไทยไม่ชัดด้วย เมื่อเข้าใจไม่ชัด ก็ไม่เห็นแง่มุมของปัญหาที่จะต้องแก้ไขและการที่จะนำพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์สังคมไทย ตลอดจนเสียประโยชน์ทุกขั้นตอนจนถึงขั้นที่ว่า ถ้าเราจะช่วยแก้ปัญหาความติดตันแห่งอารยธรรมของโลก เราก็หมดโอกาสที่จะนำสิ่งที่ดีที่เรามีไปนำเสนอต่อโลกด้วย

เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงเรื่องอุบาสก อุบาสิกา ว่าคุณสมบัติที่ถูกต้อง คือเป็นผู้ที่ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่หวังผลจากโชคลาง แต่หวังผลจากการกระทำ จะเห็นว่าเพียงคุณสมบัติของอุบาสก อุบาสิกา ง่ายๆ แค่นี้ เมืองไทยเรานับถือพุทธศาสนามากี่ร้อยปีทำได้ไหม แค่นี้ก็แย่แล้ว เราอาจจะถามว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพระพุทธศาสนาทำงานไม่สำเร็จผล หรือเป็นเพราะคนไทยใช้พระพุทธศาสนาไม่เป็น

ประวัติของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นประวัติแห่งการพยายามเข้าสู่และเข้าถึงพุทธศาสนา ในบางยุคบางสมัยเราก็ขึ้นมาสู่พุทธศาสนาได้ บางครั้งเราถอยหลังลง ขึ้นมาถอยลง ขึ้นมาถอยลง ดูสภาพสังคมไทยในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๕ เป็นตัวอย่าง ในหลวงรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงยกเอาคติพุทธศาสนาขึ้นมาเหนี่ยวรั้งไม่ให้ประชาชนไปหลงไสยศาสตร์ (ดูตัวอย่างในประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ จ.ศ. ๑๑๖๖, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ, เล่ม ๓, น. ๔๑๗) แม้ในรัชกาลที่ ๕ ก็เช่นเดียวกัน ทรงเอาพระทัยใส่ให้มีการสอนหลักการที่แท้ของพุทธศาสนา ไม่ให้หลงงมงาย ให้เชื่อเหตุเชื่อผล ไม่เชื่อไสยศาสตร์ แสดงว่าเมืองไทยเรามีประวัติการต่อสู้ทางปัญญาอย่างนี้กันมาเรื่อย และบางครั้งเราก็เพลี่ยงพล้ำถอยลงไป

ฉะนั้นมองในแง่หนึ่งเราอาจวางโมเดลของสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่พยายามเข้าถึงพระพุทธศาสนา คือไม่ใช่เป็นประเทศพุทธศาสนาแล้ว แต่เป็นประเทศที่พยายามเข้าถึงพุทธศาสนา แล้วเราก็เดินกันไป แต่เดินไปได้แค่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าเราไม่ตื่นตัวตระหนักในเรื่องนี้และไม่ตรวจสอบตัวเองเราจะพลาดมาก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ถ้าเพ่งมองที่พระพุทธศาสนาอย่างเดียว อาจจับแง่มุมของปัญหาพลาดได้ จึงขอให้ดูด้านความเจริญแบบสมัยใหม่บ้าง วิทยาศาสตร์ถือกันว่าตรงข้ามกับไสยศาสตร์ หรือเป็นตัวแก้ของไสยศาสตร์

วิทยาศาสตร์เข้ามาเมืองไทย ๑๐๐ กว่าปีแล้ว ในยุคแรกกระแสความเชื่อวิทยาศาสตร์ไหลแรงมาก แต่สภาพปัจจุบันของสังคมไทย ก็คือ ความกลาดเกลื่อนแพร่หลายของไสยศาสตร์ น่าจะถามเช่นเดียวกันว่า วิทยาศาสตร์ทำงานไม่สำเร็จในสังคมไทย หรือว่าคนไทยไม่สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์เอง

โดยทั่วไปถือกันว่า วิทยาศาสตร์คู่กับเทคโนโลยี แต่น่าสังเกตว่าเวลานี้คนไทยไม่ค่อยรู้จักและไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แต่ชอบใช้เทคโนโลยี (เชิงเสพเชิงบริโภค) และรู้จักวิทยาศาสตร์ในความหมายของเทคโนโลยี ยิ่งกว่านั้นยังจับคู่ใหม่เอาเทคโนโลยีมาเข้าคู่กับไสยศาสตร์ โดยเชื่อไสยศาสตร์ และใช้เทคโนโลยี กลายเป็นว่าไสยศาสตร์กับเทคโนโลยีเกื้อหนุนกันไปได้ดีในสังคมไทย

ยิ่งเวลานี้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพคนอย่างหนัก คนไทยมีลักษณะอย่างไรบ้าง อาจจะต้องมองในแง่ร้ายให้มากเพื่อการช่วยกันแก้ไขปรับปรุง คนไทยปัจจุบันนี้มีลักษณะ

๑. เป็นคนประมาท คือเป็นคนที่หลงละเลิง เพลิดเพลิน ปล่อยตัว ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่เร่งรัดจัดทำเรื่องที่ควรทำ เฉื่อยชา ชอบผัดเพี้ยน

๒. เป็นคนขาดความใฝ่รู้

๓. เป็นคนอ่อนแอ อาจจะเรียกว่าไม่สู้สิ่งยากก็ได้

ความอ่อนแอแสดงออกมา เช่น ในการหวังผลจากลาภลอย การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก การโอนภาระความรับผิดชอบให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การยกปัญหาให้เทวดาแก้ สภาพเหล่านี้แสดงถึงความอ่อนแอทั้งสิ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงการไม่ชอบใช้วิธีการแห่งปัญญา การขาดวิญญาณของนักวิจัย การคร้านคิด ไม่สู้ปัญหา ไม่ใช้ปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา ไม่เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เป็นต้น อย่างที่ว่ามาแล้ว ก็เลยหาประโยชน์จากปัญหาไม่ได้

เรื่องง่ายๆ ที่ท้าทาย และพิสูจน์ศักยภาพ
ในการวิจัยเพื่ออนาคตของสังคมไทย

ลองพิจารณาดูว่าคุณภาพของคนที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร สิ่งที่เป็นปัจจัยหล่อหลอมก็รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับหลักธรรมในพุทธศาสนาด้วย ซึ่งเราจะต้องวิจัยหาความจริง เริ่มด้วยความเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่ถูกหรือผิด ถ้ามันผิดหรือเพี้ยนไปเราจะได้แก้แล้วไปเอาหลักการที่ถูกมา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญในการวิจัยสังคม

ในเวลาที่น้อยนี้จะขอยกตัวอย่างถ้อยคำบางอย่างที่แสดงถึงอิทธิพลในนามของพุทธศาสนา ที่เกิดจากความเชื่อที่เพี้ยนผิดไปแล้ว อันเป็นผลจากการที่คนไทย (โดยอาจไม่รู้ตัว หรือค่อยๆ คลาดเคลื่อนไป) ได้เปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงพระพุทธศาสนามาเป็นพุทธศาสนาของเรา แล้วกลายเป็นความเชื่อที่ยังพูดว่าเป็นพุทธศาสนาทั้งๆ ที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเลย เช่น

๑. คำว่า “แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” คำว่าวาสนาอย่างที่เราเข้าใจเรานึกว่าเป็นคำในพระพุทธศาสนา แต่ที่จริงขอรับรองว่าไม่ใช่เลย ถ้ามีเวลาจึงค่อยพูดกัน

๒. คำว่า “จงมานะพากเพียรเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน” สมัยหนึ่งเรามีคตินี้ แต่เดี๋ยวนี้น้อยลงไปแล้ว เพราะปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเรียนไปเพื่อจะได้เงินได้ผลประโยชน์ให้มาก มานะในภาษาบาลีเป็นกิเลส แต่ในภาษาไทยเราใช้จนเพี้ยนกลายเป็นว่าพากเพียรสำเริงสำราญเต็มที่ทั้งชีว

๓. ขอยกตัวอย่างในตอนที่เริ่มยุคพัฒนาใหม่ๆ (ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๓) ท่านผู้นำรัฐบาลตอนนั้น ต้องขอประทานอภัยออกนามท่าน คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีสารไปถึงคณะสงฆ์ที่มาประชุมกันจากทั่วประเทศ ขอร้องพระสงฆ์ไม่ให้สอนเรื่องสันโดษ เพราะจะเป็นเหตุขัดถ่วงการพัฒนาประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนา

ต่อไป ตำราสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหลายเล่มพูดว่า คนไทยเชื่อในเรื่องบุญวาสนา กฎแห่งกรรม อย่างเหนียวแน่น คนใดยากจนลำบากแสนเข็ญก็จะถือว่าเป็นผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ยิ่งกว่านั้นตำราบางเล่มเขียนไว้ว่า พุทธศาสนาและฮินดูอธิบายความต่างสถานภาพของคนในสังคมด้วยเรื่องบุญกรรม

อีกอย่างหนึ่งคือ ระบบอุปถัมภ์ที่โยงมาถึงหลักเมตตากรุณา

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์สืบค้นทั้งสิ้น และจะสำเร็จได้ด้วยการวิจัย แต่บอกไว้ก่อนได้เลยว่าไม่ใช่พุทธศาสนา

ยกตัวอย่าง “วาสนา” ในพุทธศาสนาหมายถึงอะไร ในเมืองไทยเราเข้าใจว่า วาสนา หมายถึงอำนาจวิเศษที่เหมือนดังบันดาลให้เราได้ประสบความเจริญก้าวหน้า ความสุข และความสำเร็จ โชคลาภความรุ่งเรืองที่เหมือนลอยมาจากฟากฟ้า แต่วาสนาในภาษาพระหมายถึง พฤติกรรมหรือแม้แต่สภาพจิตใจที่บุคคลนั้นได้สะสมอบรมมาจนเป็นลักษณะประจำตัว เช่น ท่วงทีท่าทางหรือท่วงท่าอาการในการยืน การเดิน การพูด และการแสดงออกต่างๆ คนนี้พูดเร็ว คนนี้พูดช้า คนนี้พูดก้าวร้าว คนนี้พูดอ่อนหวาน คนนี้พูดขวานผ่าซาก ฯลฯ ลักษณะประจำตัวที่แต่ละคนได้สะสมมาเหล่านี้ เรียกว่า วาสนา

วาสนานั้นทางพระท่านบอกว่าต้องแก้ไข ถ้าเป็นพระอรหันต์จะละวาสนาได้แทบทั้งหมด ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็ละวาสนาได้ทั้งหมด ทางพระท่านให้ละวาสนา แต่คนไทยกลับอยากมีวาสนากันนัก พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา เมื่อเป็นศาสนาแห่งการศึกษาก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา

คนเราจะมีชีวิตที่ดีงามได้ต้องเรียนรู้ เพราะคนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ฉะนั้นหัวใจของพุทธศาสนาในทางปฏิบัติจึงเรียกว่า สิกขา คือการศึกษา ซึ่งมี ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา จึงเรียกว่า ไตรสิกขา (การศึกษา ๓ ด้าน) ชีวิตมนุษย์ต้องเป็นอยู่ด้วยการศึกษา จึงจะเป็นชีวิตที่ดีได้ ศึกษาไปจนกระทั่งเก่งดีมีสุขจริง ก็ได้เป็นอารยบุคคล (อริยบุคคล) คือเป็นโสดาบัน สกทาคามี และอนาคามี ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นเสขะ แปลว่า นักศึกษา เมื่อใดเป็นพระอรหันต์จึงเป็นอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา คือ จบการศึกษา จึงมีเพียงผู้เดียวคือพระอรหันต์ที่ไม่ต้องศึกษา นอกนั้นแม้ว่าจะบวชอยู่จนแก่ จนเป็นพระเถระ อายุมากเท่าไรก็ไม่พ้นการศึกษา ต้องศึกษาทั้งสิ้น

ชีวิตของทุกคนโดยเฉพาะชีวิตพระคือชีวิตแห่งการฝึกฝน ปรับปรุง พัฒนาตน วาสนาที่ลอยมาเอง และแข่งขันไม่ได้ จะเป็นพุทธศาสนาได้อย่างไร พระพุทธศาสนาสอนให้ฝึกฝนพัฒนาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง เรามีคำว่าวาสนา แต่วาสนานั้นไม่ใช่เรื่องสำหรับมาแข่งกัน วาสนามีไว้สำหรับแก้ไข ไม่ใช่มีไว้สำหรับแข่งขัน เพราะฉะนั้น วาสนาที่เข้าใจแบบไทย จึงเป็นคติที่เพี้ยน

คำว่า “มานะ” ก็เช่นกัน คนไทยปัจจุบันเข้าใจว่าหมายถึงความเพียรพยายาม อย่างที่บอกเด็กว่า “จงมานะ พากเพียร เรียนไปนะ” แต่ที่จริง มานะ แปลว่า ความอยากใหญ่ ความอยากเป็นใหญ่เป็นโต หรืออยากเด่น คนไทยเราเอามานะมาเป็นตัวยุให้คนพากเพียรเล่าเรียนทำการต่างๆ จนกระทั่งคำว่ามานะนั้นกลายความหมายเป็นความเพียรไปเลย ที่จริงมันเป็นตัวกระตุ้นให้เพียร คือเป็นแรงจูงใจที่อยากใหญ่อยากโตแล้วก็ทำให้เพียรที่จะเรียน ไปๆ มาๆ มานะก็เลยกลายเป็นเพียรไป

ตัวคู่กับมานะก็คือตัณหา ตัณหา เป็นแรงจูงใจให้คนอยากได้อยากเสพอะไรต่างๆ แต่ก่อนนี้เป็นยุคของระบบราชการก็ยุด้วยมานะ ให้อยากใหญ่อยากโตแล้วร่ำเรียนด้วยมานะ แต่มาถึงยุคปัจจุบันนี้เปลี่ยนแล้ว คนไม่อยากเข้าระบบราชการ ก็ใช้ตัณหาหนุนให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินได้ทอง เอาตัณหามายุจะได้พยายามเล่าเรียน เพื่อต่อไปจะได้มีเงินมีรายได้มากๆ ตกลงใช้กิเลสทั้งคู่ คือตัณหา (อยากได้อยากเสพ) มานะ (อยากใหญ่โต) แล้วนี่เราบอกว่าคือการที่จะพัฒนา

พุทธศาสนาไม่เอาทั้งตัณหาและมานะ แต่ท่านสอนให้ใช้ฉันทะ ฉันทะ คือ อยากรู้ความจริง และอยากทำให้มันดี เรามีจิตใจใฝ่รู้ รักความรู้ รักความจริง เราเกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้มันดี ถ้ายังไม่ดีก็อยากทำให้มันดีทุกอย่าง นั่นคือฉันทะ ทำไมเราไม่ใช้แรงจูงใจฉันทะนี้มายุคนให้เรียนหนังสือ ทำไมเรามองข้ามมันไป แล้วมาใช้ตัณหาบ้างมานะบ้าง ได้กันอยู่แค่นี้ แล้วเราจะวิจัยสำเร็จ และจะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาได้อย่างไร มันผิดหลักธรรมชาติกันมาเต็มที่ สังคมไทยถ้าวินิจฉัยในแง่นี้ก็พูดได้ว่าเข้าไม่ถึงพุทธศาสนาเลย

ถึงเวลานี้ ควรจะรื้อฟื้นแก้ไขกันเสียทีโดยเอาฉันทะมาแทน ไม่ใช่เฉพาะในการวิจัยเท่านั้น การศึกษาเล่าเรียนและกิจกรรมทางสังคมทั้งหมดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของฉันทะ คือแรงจูงใจใฝ่รู้และใฝ่ดีนี้ คือ ต้องเล่าเรียนและทำงานเป็นต้นด้วยความอยากรู้ความจริง พยายามเข้าถึงความจริงให้ได้ ถ้าไม่ถึงจะไม่หยุด และต้องทำให้มันดีให้ได้ ถ้ายังไม่ดีจะไม่ยอมหยุด ชีวิตและสังคมที่เราเกี่ยวข้อง เราต้องทำให้มันดี ถ้าอยู่ด้วยฉันทะแล้วรับรองว่าการพัฒนาสำเร็จ และไม่ผิดด้วย ไม่ต้องอาศัยระบบแข่งขันเอาชนะกันในการแย่งชิงผลประโยชน์มาบีบคนไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

เรื่องบุญ เรื่องวาสนา ก็อยู่ในชุดเดียวกับเรื่องกรรม คนไทยปัจจุบันไม่น้อยเวลาพูดถึงเรื่องกรรม ก็บอกว่าเราจะเป็นอย่างไรๆ ก็เพราะกรรมเก่า นี่ก็คลาดเคลื่อนไปไกล อาตมาจะยกหลักการในเรื่องนี้มาพูดสักคติเดียว แต่อย่าเพิ่งสับสน ลองฟังดูก่อน เรื่องกรรมในพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ให้เอาไปปนเปกับลัทธิที่ผิดหลักพุทธศาสนา ไม่ใช่หลักกรรม ๓ อย่าง คือ

๑. การถือว่า มนุษย์จะได้ดีมีสุข หรือประสบความทุกข์อย่างใดก็ตาม ทุกอย่างเป็นไปเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน นี่เป็นลัทธิที่ผิดพวกที่หนึ่ง เรียกว่าบุพเพกตวาท (ลัทธิกรรมเก่า)

๒. ความเชื่อว่า สิ่งที่มนุษย์ได้ประสบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ก็ตาม เป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้ยิ่งใหญ่ เรียกว่าลัทธิอิศวรนิรมิตวาท (ลัทธิดลบันดาล)

๓. ลัทธิที่ถือว่า อะไรจะเป็นอย่างไรก็เป็นไปเองโดยไม่มีเหตุปัจจัย เรียกว่าอเหตุวาท (ลัทธิแล้วแต่โชค)

สามลัทธินี้ไม่ใช่พุทธศาสนา ทีนี้หันมาดูว่าคนไทยเราถืออย่างไร คนไทยไม่น้อยบอกว่าอะไรจะเป็นอย่างไรก็เป็นเพราะกรรมเก่า ให้ก้มหน้ารับกรรมไป การถืออย่างนี้เข้ากับหลักสิกขาไหม ทำให้มีการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาตนหรือไม่ เข้ากับหลักกรรมที่ยึดถือการกระทำไหม ไม่เข้าเลย ทำไมคนไทยถืออย่างนี้

การปลงใจกับกรรมเก่า พอเกิดอะไรขึ้น ก็บอกว่าเป็นเพราะกรรมเก่า แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปแล้วแต่กรรมเก่านั้น ชาวพุทธที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ตัวว่าที่จริงตนเองกำลังทำกรรมใหม่ที่ร้ายแรง ในขณะที่บอกว่าแล้วแต่กรรมเก่าแล้วไม่ทำอะไรนั้น การไม่ทำอะไรก็คือการทำกรรมร้ายอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำกรรมใหม่ กรรมนั้นคือ ความประมาท

ความประมาทเป็นกรรมร้ายที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นเหลือเกินให้เราระวัง มนุษย์ที่ประสบความสุข ความสำเร็จ ความดี มักจะมาตกหลุมนี้คือความประมาท พอได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จก็หลงระเริง เพลิดเพลิน มัวเมา อย่างน้อยก็ปล่อยตัวละเลยมองข้ามสิ่งต่างๆ ที่ควรจะทำ ความประมาทเป็นหลุมร้าย เป็นอกุศลกรรมสำคัญที่พุทธศาสนาเน้นว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเว้นให้ได้ และความไม่ประมาทก็มาหนุนการศึกษา ทำให้เราเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปรับปรุง พัฒนาเดินหน้ากันเรื่อยไป เพราะฉะนั้นในยุคปัจจุบันจะต้องเน้นหลักความไม่ประมาทกันให้มาก

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อไม่นานนักนี้ นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ท่านหนึ่ง จะทำการวิจัยได้ผลออกมาหรือจะเสนอความคิดเห็น ได้เขียนว่า คนไทยภาคอีสานเชื่อหลักอนิจจังตามคติพุทธศาสนา จึงมีชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ นี่นักวิชาการไทยท่านหนึ่งว่าไว้ แต่เราอย่าเพิ่งไปโทษท่าน ท่านก็ถูกในแง่หนึ่ง แต่ท่านแยกไม่ออก คืออนิจจังตามคติของคนไทยอาจจะทำให้เป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่อนิจจังตามคำสอนของพระพุทธศาสนา

อนิจจังตามหลักพุทธศาสนาที่สอนเรื่องความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่นั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ควบคู่กับความไม่ประมาท โดยให้เป็นตัวหนุนความไม่ประมาท เพราะว่าสิ่งทั้งหลายไม่แน่นอนมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะรีรอชักช้าวางใจนอนใจเฉื่อยชาผัดเพี้ยนอยู่ไม่ได้ เราจะต้องกระตือรือร้นเร่งรัดแข่งกับเวลา อะไรที่ควรทำก็ต้องรีบทำ อนิจจังจึงกระตุ้นความไม่ประมาท

ข้อสำคัญที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ หลักอนิจจังที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่คงที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอย พุทธศาสนาแสดงหลักความจริงที่รองรับเบื้องหลังอนิจจัง คือคติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องศึกษาให้รู้เหตุปัจจัยด้วยการวิจัยแล้วจะได้ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย

พูดง่ายๆ ว่า คติเหตุปัจจัยทำให้ต้องวิจัย เราวิจัยเพื่อให้ได้ปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเสื่อมแล้วเราจะได้แก้ไข ป้องกัน กำจัด และเมื่อรู้เหตุปัจจัยของความเจริญแล้วเราจะได้ทำเหตุปัจจัยนั้น ฉะนั้น คติอนิจจังจึงนำไปสู่ความไม่ประมาทในการใช้ปัญญาที่จะวิจัย คือศึกษาเหตุปัจจัย และทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยเพื่อให้ผลที่ต้องการเกิดขึ้น

เป็นอันว่าหลักอนิจจัง ในพุทธศาสนาท่านสอนไว้เพื่อให้ไม่ประมาท และเพื่อสร้างสรรค์ แต่เราเอามาใช้ในการปลงและปล่อย เราบอกว่า อนิจจัง ไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม จะทำอย่างไรได้ ก็เลยปล่อยเรื่อยเปื่อย ปลงเสร็จแล้วก็ปล่อย ปัญหาก็ไม่ได้แก้ ก็สบายใจดีเหมือนกัน นี่ก็ถูกในแง่หนึ่ง แต่เป็นการปฏิบัติธรรมที่เอียงสุด เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการแท้ คือความไม่ประมาท

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะต้องได้ทั้งสองอย่าง คือ ด้านที่หนึ่ง ด้วยความมีปัญญารู้เท่าทัน ความจริงของกฎธรรมชาติคืออนิจจังนั้น ก็ทำให้เราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจตัณหา คือความปรารถนาที่จะเอาอย่างใจ และไม่ได้อย่างใจก็เกิดความทุกข์ แต่ด้วยการรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามคติธรรมดา ที่เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ก็จะทำให้เราวางใจเป็นอิสระจากความเป็นไปของธรรมชาติโดยไม่เอามากระทบตัวเอง ทำให้เราไม่ทุกข์ ในแง่นี้เรียกได้ว่าปลง แต่พร้อมกันนั้นในเชิงปฏิบัติจะต้องไม่ประมาทเพื่อจะได้ประโยชน์จากปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เป็นอันว่าต้องได้ทั้งสองอย่างคือ ใจก็สบาย งานก็ได้ผลด้วย หรืองานก็ได้ ใจก็สุข ต้องได้ทั้งสองอย่าง ถ้าอย่างนี้จึงจะไปรอด เวลานี้มีปัญหาว่าคนไทยเอาแค่ใจสุขแต่งานไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็จะไปไม่รอด

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตมากคือ ระบบอุปถัมภ์ จะขอโอกาสพูดสักนิด เพราะเรื่องระบบอุปถัมภ์โยงมาหาเมตตากรุณา นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ระบบอุปถัมภ์นี้ถ้าใช้ไม่ดีก็เกิดโทษ หนึ่ง ทำให้คนช่วยเหลือกัน จนไม่เอากฎเกณฑ์ กติกา เสียความเป็นธรรม และ สอง ทำให้คนอ่อนแอ หวังพึ่งคนอื่น ไม่เพียรพยายาม ไม่หวังพึ่งตนเอง

คนไทยเรามักพูดแค่เมตตากรุณา ทั้งๆ ที่หลักธรรมชุดนี้มี ๔ ข้อ แต่เราพูดไม่ครบ เอาแค่ เมตตากรุณา แล้วยังแถมบอกว่าเป็นธรรมของผู้ใหญ่ มีที่ไหนในพระไตรปิฎกที่บอกว่า เมตตากรุณาเป็นธรรมของผู้ใหญ่ ค้นมาเท่าไรไม่เคยเจอ แท้จริงนั้น เมตตากรุณาเป็นธรรมระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่ทุกคนจะต้องมีต่อกัน คือเป็นท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน พระต้องมีต่อโยม โยมก็ต้องมีต่อพระ ตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ว่า ให้คฤหัสถ์มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรมต่อพระสงฆ์ ท่านให้โยมเมตตาพระ ผู้ใหญ่เมตตาเด็ก เด็กก็ต้องเมตตาผู้ใหญ่ เมตตาเป็นคุณธรรมระหว่างกันของมนุษย์ทุกคน เมตตาก็คือความเป็นมิตรเท่านั้นเอง เพราะเมตตากับมิตตะเป็นคำที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน มิตตะ แปลง อิ เป็น เอ ก็เป็นเมตตะ แล้วตามไวยากรณ์เป็นภาวนาม อะก็กลายเป็นอา เมตตาก็คือน้ำใจมิตรนั่นเอง ท่านให้ทุกคนมีความเป็นมิตรต่อกัน

หลักธรรมชุดนี้ที่สำคัญก็คือมันเป็นระบบองค์รวม เป็นธรรมที่บูรณาการ โดยมีดุลยภาพ จึงต้องมาครบทั้ง ๔ ข้อ คือ ๑. เมตตา ๒. กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา ทีนี้ลองให้ความหมายกันย่อๆ นิดหน่อย ธรรม ๔ ข้อนี้ใช้ต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นจะต้องดูสถานการณ์ที่เขาประสบ การมองความหมายของธรรม ๔ ข้อนี้ดูจากสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสบ

สถานการณ์ที่หนึ่ง เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร ปรารถนาดี

สอง สถานการณ์เปลี่ยนไป เขาเดือดร้อน เปลี่ยนจากปกติเป็นตกต่ำ เกิดความทุกข์ เราก็มีกรุณา มีใจพลอยหวั่นไหว ปรารถนาจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์

เมตตากับกรุณา นี้ต่างกันชัดเจน แต่คนไทยแยกไม่ค่อยออก ที่จริงแยกง่ายนิดเดียว คือใช้กับสถานการณ์ที่ต่างกัน

สถานการณ์ที่สาม คือเขาขึ้นสูง ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เราก็มุทิตา พลอยยินดีส่งเสริม สนับสนุน

นี่สามสถานการณ์แล้ว เหลืออีกสถานการณ์เดียวที่ยากที่สุด ที่จริงสามสถานการณ์นี้ตามปกติก็ครบ มนุษย์เราโดยทั่วไปก็อยู่ในสามสถานการณ์นี้ คือ ปกติ ตกต่ำ ขึ้นสูง เราก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา ให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้น อย่างไรก็ตาม คนไทยเรามักได้แค่สองอย่างแรก คือ เมตตา และกรุณา เรามักพูดกันอยู่แค่นี้ แต่มุทิตาไม่ค่อยเอา มุทิตาหมายความว่า ต้องส่งเสริมคนดี

ต่อไป ข้อที่สี่ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนไทยเราไม่รู้เรื่องและถึงกับเข้าใจผิดเลย ข้อที่สี่คือ อุเบกขา อุเบกขาคืออะไร สถานการณ์อะไรอีกที่มนุษย์จะประสบ สถานการณ์สามอย่างที่ผ่านมาดูน่าจะครบแล้ว

ก่อนที่จะเข้าสู่สถานการณ์ที่สี่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทั่วไปกันก่อนว่า ในด้านหนึ่ง มนุษย์เราอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน ประกอบกันเข้าเป็นสังคมมนุษย์ เมื่อเราพยายามอยู่กันด้วยดีโดยมีธรรมสามข้อที่พูดมานั้น ก็หาได้เพียงพอที่จะให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงด้วยดีได้ไม่ เพราะโลกมนุษย์หรือสังคมมนุษย์นั้นจะอยู่ลำพังด้วยตัวมันเองไม่ได้ เบื้องหลังหรือภายใต้สังคมมนุษย์นั้นยังมีความจริงของกฎธรรมชาติรองรับอยู่ ซึ่งเป็นความเป็นจริงของธรรมชาติที่ไม่เข้าใครออกใคร

มนุษย์จะอยู่ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันเท่านั้นไม่พอ แม้มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดีแต่ถ้าเขาปฏิบัติผิดต่อหลักความจริงของกฎธรรมชาติคือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม ที่เรียกว่าธรรม สังคมมนุษย์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้ จะต้องสลาย เพราะฉะนั้นจึงมาถึงข้อที่สี่คือ สถานการณ์ที่จะต้องรักษาหลักการแห่งความจริงความถูกต้องที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติไว้

เป็นอันว่า สถานการณ์ที่สี่ คือ ถ้าเมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปกระทบส่งผลเสียหายต่อหลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ที่เรียกว่าธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในทุกข้อข้างต้นจะต้องหยุดหมด นี่คือข้อที่สี่ อุเบกขา ที่แปลกันว่า เฉย คือเฉยต่อคนนั้นๆ เฉยต่อคนนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมออกมาแสดงบทบาท คือจะต้องปฏิบัติไปตามธรรม อันได้แก่หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ตลอดจนหลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ดีงาม ความชอบธรรมนั้นที่ออกมาสู่รูปแบบในสังคมมนุษย์ คือกฎเกณฑ์ กติกา และกฎหมาย เป็นต้น

เป็นอันว่าสังคมมาถึงสถานการณ์ที่สี่คือ การที่จะต้องถือหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา เป็นใหญ่ เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ใน ๓ ข้อต้น ไปกระทบหรือละเมิดต่อตัวหลักการ ตัวธรรม ตัวกฎเกณฑ์นี้เข้า จะต้องหยุดหมด เมตตาไม่ได้ กรุณาไม่ได้ มุทิตาไม่ได้ เช่น เด็กไปลักของเขา ประสบความสำเร็จได้เงินมา เราจะมุทิตาไม่ได้ ส่งเสริมไม่ได้ เพราะว่ามันไปกระทบต่อตัวธรรม นี่คือต้องอุเบกขา ได้แก่วางใจเป็นกลางแล้วจัดการไปตามธรรม โดยเอาหลักการเป็นใหญ่ กฎต้องเป็นกฎ

ไม่ค่อยมีใครเข้าใจอุเบกขา เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา จึงยากที่จะเข้าใจ คนทั่วไปมักนึกถึงอุเบกขา ว่าเป็นความเฉย ถ้าแปลอย่างนี้ต้องระวัง เพราะถ้าเฉยไม่รู้เรื่อง ก็กลายเป็นเฉยโง่ ท่านเรียกว่าอัญญาณุเบกขา เฉยโง่นี้ใช้ไม่ได้ เป็นอกุศล แต่อุเบกขาที่แท้ เป็นท่าทีของจิตใจที่เกิดจากความรู้ ต่างจากสามข้อแรกที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โดยให้มีความรู้สึกที่ดี หนักไปในด้านความรู้สึก ส่วนข้อสี่คืออุเบกขานี้ต้องใช้ปัญญา เพราะต้องรู้ว่า อะไรคือความจริง ความถูกต้องดีงาม หรือว่าหลักการเป็นอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร แล้วเอาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้พอดี คือความรู้นั้นมาปรับความรู้สึก ทำให้จิตของเราลงตัว วางใจเป็นกลางได้ จิตจะเรียบสงบ เข้าสู่ดุลยภาพ แล้วปฏิบัติไปตามธรรม คือตามหลักการ กฎเกณฑ์กติกา หรือตามเหตุผลที่ควรจะเป็น

สังคมมักจะเอียงเสียดุลเพราะจิตใจของคนขาดอุเบกขา ไม่สามารถรักษาดุลยภาพ สังคมที่ดีจะต้องมีดุลยภาพด้วยการที่คนมีความรู้มาดุลกับความรู้สึก คือมีอุเบกขามาคุมเมตตา กรุณา และมุทิตา สามข้อแรกทำให้คนช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนกัน ในขณะที่ข้อสี่คืออุเบกขา มาดูแลให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุผลที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีธรรมครบทั้ง ๔ ข้อ จึงเรียกว่า พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม คือ สภาพจิตใจของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์และอภิบาลสังคมได้

ศาสนาพราหมณ์ถือว่าพระพรหมเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก แล้วก็รักษาอภิบาล บำรุงเลี้ยงโลกไว้ แต่พุทธศาสนาบอกว่าอย่ามัวทำลายโลกแล้วรอพระพรหมมาสร้างโลก มนุษย์ทุกคนต้องเป็นพรหม ให้ทุกคนเป็นพรหม โดยทำหน้าที่เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และดำรงรักษาสังคมด้วยการปฏิบัติตามหลักการ ๔ ข้อนี้ แล้วก็จะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้

สังคมดีต้องมีดุลยภาพ ด้วยการที่มนุษย์แต่ละคนปฏิบัติให้ถูกต้องในสถานการณ์ทั้งสี่ ซึ่งจัดรวมได้เป็นสองด้าน คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในสามข้อต้น และสอง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมคือความเป็นจริงโลกและชีวิตตามกฎธรรมชาติ ถ้ามีดุลยภาพนี้สังคมก็อยู่ได้ แต่สังคมมักจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

สังคมบางสังคมหนักไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็เอาแต่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่นช่วยกันจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์ กติกา ถ้าจะช่วยเหลือกัน แม้แต่เสียหลักการ ทำลายกฎเกณฑ์หรือละเมิดกฎหมายก็เอา ในสังคมอย่างนี้ความเป็นธรรมก็เสียไป นอกจากนั้นก็จะทำให้คนอ่อนแอ คนจำนวนมากจะหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่คิดพึ่งตัวเอง คิดว่าเดี๋ยวเราตกต่ำลำบากเดือดร้อนก็จะไปพึ่งผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้ จะไปหาญาติมิตรคนโน้นให้ช่วยได้ ก็เลยไม่ขวนขวายดิ้นรน ทำให้เฉื่อยชา

ส่วนในอีกสังคมหนึ่งก็ขาดดุลยภาพ คนเอาแต่ความสัมพันธ์กับตัวธรรม คือความเป็นจริง เหตุผล และหลักการ คิดแต่จะรักษากฎเกณฑ์กติกา เอากฎหมายเป็นหลัก ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่มีน้ำใจ สังคมแบบนี้ก็รักษาความเป็นธรรมได้ดี และทำให้คนเข้มแข็งเพราะตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยเหลือกัน ถ้าใครไม่ช่วยตัวเอง ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็ตายเอง อยู่ไม่รอด เมื่อคนหวังพึ่งกันไม่ได้ ทุกคนก็ต้องดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง ก็เข้มแข็งก้าวหน้า ก็ดีไปอย่างหนึ่ง แต่แห้งแล้งน้ำใจ ขาดความอบอุ่น ไม่มีความร่มเย็น คนจะเครียดเป็นโรคจิตมาก เพราะฉะนั้นก็เสียดุล

สังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่หนักไปทางอุเบกขา ถือกฏเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ ส่วนสังคมไทยก็หนักไปในทางรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพราะฉะนั้นก็เสียดุลทั้งสองสังคม ถ้าจะให้พอดีก็ต้องใช้ธรรมให้ครบ ทุกคนต้องเป็นพระพรหม ตอนนี้ไม่มีพระพรหม พระพรหมในตัวคนหายไป เพราะคนมัวแต่ไปอ้อนวอนพระพรหมข้างนอกกันหมด ไม่ยอมเป็นพรหมเอง สังคมก็จะไปไม่รอด มัวแต่หวังพึ่งให้พระพรหมจากฟ้ามาช่วย ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นจะต้องเอาพระพรหมที่แท้กลับมา

นี่เป็นเรื่องที่การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และเป็นไปเพื่ออนาคตของสังคมไทย เราจะต้องมาตกลงกันไห้ได้ โดยมีความชัดเจนในเชิงปัญญา การวิจัยเวลานี้จะต้องวิจัยซ้อนวิจัย คือวิจัยอิทธิพลที่เป็นเหตุปัจจัยอยู่เบื้องหลังการวิจัยนั้นอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้การวิจัยนี้ช่วยนำเราไปสู่อนาคตที่ดีงามของประเทศไทย ที่ไม่ใช่เป็นไปเพื่ออนาคตของประเทศของตนเท่านั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลกเท่านั้น แต่เพื่อนำมนุษยชาติทั้งหมดไปสู่ความดีงาม และความมีสันติสุข ฉะนั้นอาตมภาพจึงได้นำเอาเรื่องนี้มาเสนอเพื่อเป็นส่วนช่วยในการที่จะวิจัยกันให้ถูกทาง และวิจัยกันให้ถึงขั้นที่จะแก้ปัญหาอารยธรรมของมนุษย์ ซึ่งกำลังเป็นเรื่องติดตันของโลก

เราจะต้องเชื่อว่าคนไทยเรามีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาของโลกได้ แล้วพัฒนาจิตใจของนักวิจัยขึ้นมา และมีชีวิตแห่งการวิจัย ถ้าอย่างนี้ ไม่ว่าจะจับงานวิจัยเรื่องใด ก็จะนำงานวิจัยนั้นไปสู่จุดหมายแห่งการเข้าถึงความจริง และหาทางทำให้มันดีจนสำเร็จได้

1ปาฐกถา ในการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๓๘ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ ณ  โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพฯ
2Edward N. Luttwak, “Is America on the Way Down?” Commentary, March,1992, p.15.
3Steven Schlossstein, The End of the American Century (New York: W.W. Norton & Company, 1992) pp.479-480.
4Michael William Haga, Taking Back America (USA: Acclaim Publishing Co.,Inc., 1995) pp.225, 296.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง