สันติภาพเกิดจากอิสรภาพและความสุข: Peace Through Freedom and Happiness

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สันติภาพ
เกิดจากอิสรภาพและความสุข1

สี่สิบเก้าปีล่วงมาแล้วใน พ.ศ. ๒๔๘๘ สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลง เป็นการปิดฉากภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติได้เคยประสบ ทันทีที่สงครามยุติก็ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น อันเป็นความพยายามที่จะป้องกันมิให้มีภัยพินาศที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้นเกิดซ้ำขึ้นอีก ดังที่ได้มีวัตถุประสงค์ข้อสำคัญ คือการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างชาติ แต่แทบจะทันทีทันใดที่ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาตินั้นขึ้นมา สงครามเย็นก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น ถึงแม้ว่าบัดนี้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาก็ได้ปะทุขึ้น ณ ดินแดนต่างๆ มากมายหลายแห่งในโลก หนำซ้ำยังเกิดปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของธรรมชาติแวดล้อม ที่กลายเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความอยู่รอดของมนุษย์ด้วย ถึงแม้ว่าความขัดแย้งต่างๆ ในโลกจะได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้นไปได้บ้าง แต่สันติภาพและความมั่นคงปลอดภัยที่แท้จริงของโลกก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

ดูเหมือนว่ามนุษย์จะมีความฝักใฝ่โน้มเอียงไปในทางที่จะก่อความขัดแย้งและความรุนแรงมากกว่าจะสร้างสรรค์สันติภาพ เห็นได้ชัดว่าการทำลายสันติภาพง่ายกว่าการรักษาสันติภาพ ดังปรากฏว่า การขัดแย้งและสงครามกลายเป็นปกติวิสัย ส่วนสันติภาพเป็นเพียงภาวะแทรกคั่นชั่วคราว อย่างไรก็ดี สภาพเช่นนี้มิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ ความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ใจ และที่ใจนั่นแหละเราจะแก้ไขความขัดแย้งได้

โดยที่แท้แล้ว ตัวเราก็คือใจของเรานั่นเอง เมื่อเราปล่อยให้ความอยากได้ผลประโยชน์ในทางวัตถุขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้ควบคุม เราจะมองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นปฏิปักษ์ และมองเห็นธรรมชาติเป็นวัตถุที่จะเอามาใช้หาประโยชน์ ยิ่งเมื่อมีความเชื่อว่า ความสุขที่แท้จะลุถึงได้ด้วยการบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อหนัง เราก็ได้พัฒนาวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยมสุดโต่งขึ้นมา ทำให้การแข่งขันและการบริโภคกลายเป็นแบบแผนของการใช้ชีวิตและเป็นที่ทุ่มเทพลังงานของสังคม มนุษย์ได้กลายเป็น “นักบริโภค” ผู้อุทิศตัวให้แก่วิถีชีวิตแห่งการแข่งขันเพื่อการบริโภค แต่การแข่งขันนั้นได้ทำให้เราตกอยู่ในภาวะของการมี “สงครามเย็น” อย่างถาวรกับเพื่อนบ้านของเรา และวิถีชีวิตแบบนักบริโภคก็ทำให้เราเกิดปัญหากับสภาพแวดล้อม เมื่อไม่มีความสุขอยู่ข้างใน เราก็พยายามแสวงหาความสุขจากข้างนอก โดยการเสพสิ่งบำรุงบำเรอความสุขทางเนื้อหนัง เมื่อไม่มีสันติภาพและความมั่นคงภายในจิตใจ เราก็พยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยการไปบังคับควบคุมและข่มขี่ครอบงำผู้อื่น นอกจากนั้น การแบ่งแยกเชื้อชาติผิวพวกเผ่าพันธุ์ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น

แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนพัฒนาด้วยการศึกษา ศักยภาพในการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้และสามารถกระทำการที่สร้างสรรค์นี่แหละ ที่เป็นพรพิเศษของความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อการศึกษาขาดดุลยภาพ การศึกษานั้นก็ได้แต่ส่งเสริมความสามารถของมนุษย์ในการที่จะแสวงหาวัตถุสิ่งเสพมาบำรุงบำเรออินทรียสัมผัส การศึกษานั้นละเลยศักยภาพที่แท้จริงของเรา ทำให้เรามิได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข แม้ว่าวัตถุสิ่งเสพต่างๆ จะมีจำนวนเพิ่มพูนล้นเหลือมากขึ้น แต่ความสุขกลับลดน้อยลง

การหาความสุขภายนอกอย่างนั้นประกอบด้วยการแก่งแย่งช่วงชิง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ความเพียรพยายามของเราในการหาความสุขแบบนั้น ยังก่อให้เกิดความเสื่อมสลายแก่สภาพแวดล้อมอีกด้วย และคุณภาพชีวิตโดยรวมของเราก็ได้เริ่มถูกบ่อนทำลายลงไป ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากความสุขแบบนี้ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เราต้องฝากความสุขไว้กับวัตถุบำรุงบำเรอภายนอกมากยิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้เราสูญเสียอิสรภาพ

ในทางตรงข้าม การศึกษาที่เป็นกุศลและมีดุลยภาพ จะฝึกฝนมนุษย์ให้พัฒนาความสามารถ มิใช่เพียงในการที่จะแสวงหาวัตถุมาเสพเท่านั้น แต่ให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เมื่อเราเป็นคนที่มีความสุขง่ายขึ้น ความต้องการวัตถุมาเสพก็ลดน้อยลงไป ทำให้ทัศนคติในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวพลอยลดน้อยลงไปตาม คนที่มีความสุขอยู่ข้างในแล้วก็มีจิตใจโน้มน้อมไปในทางที่จะช่วยทำให้คนอื่นมีความสุข ในเมื่อวัตถุบำรุงบำเรอต่างๆ มิใช่เป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้เขามีความสุข เขาก็สามารถแบ่งปันวัตถุเหล่านั้นให้ผู้อื่นได้ ความสุขที่แต่ก่อนนี้เป็นแบบแก่งแย่งช่วงชิง ก็เปลี่ยนมาเป็นความสุขแบบเผื่อแผ่และประสานกลมกลืน

ในด้านจริยธรรม จริยศึกษาของเราในปัจจุบันได้เห็นตระหนักว่า ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ เกิดจากการแข่งขันทะยานหาความสุขกันอย่างไม่มีขอบเขต จึงสอนคนให้รู้จักควบคุมตนเองโดยไม่ล่วงละเมิด “สิทธิมนุษยชน” ของคนอื่น เพราะฉะนั้น เราจึงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่รักษาความสงบไว้ได้ ด้วยการวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับ แต่จริยธรรมใดก็ตามที่ต้องใช้ความกลัวและความจำใจจำยอมเป็นพื้นฐาน ย่อมเป็นจริยธรรมที่ไม่อาจวางใจได้ จริยธรรมที่มีลักษณะแบบห้ามสั่งบังคับนั้นเป็นจริยธรรมที่ไม่เพียงพอ ในทางตรงข้าม จริยธรรมที่แท้จริงต้องมีพื้นฐานมาจากความประสานกลมกลืนและความสุข ชนเหล่าใดมีสันติภายในจิตใจและมีความสุขที่เป็นอิสระ ชนเหล่านั้นย่อมไม่ลุ่มหลงเอาทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องบำรุงบำเรอเสริมความยิ่งใหญ่ของตน แต่ทรัพย์และอำนาจนั้นจะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ จริยธรรมในทางสร้างเสริมเช่นนี้แหละคือสิ่งที่ต้องการในยุคสมัยปัจจุบันของพวกเรา

การให้การศึกษาของเราส่วนใหญ่มักเป็นไปในทางที่จะสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกอยากได้อยากเอา เด็กๆ ร่ำเรียนกันไปในแนวทางที่จะมองหาวัตถุบำรุงบำเรอเป็นจุดหมาย เราจะต้องปรับให้เกิดความสมดุลในเรื่องนี้โดยการศึกษาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรจะต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการให้ การฝึกให้รู้จักให้จะสอนเด็กให้เกิดมีความสุขจากการให้ และก่อให้เกิดเมตตาธรรม เมตตาหรือความรักนี้หมายถึงความปรารถนาที่จะให้คนอื่นมีความสุข ด้วยการศึกษาอย่างนี้ เราจะรู้จักมองคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเช่นเดียวกับเรา เนื่องจากการให้เป็นการสนองความต้องการของเราที่อยากเห็นคนอื่นมีความสุขทั้งสองฝ่าย คือทั้งเราและเขา หรือทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงต่างก็เป็น “ผู้ได้” และมีความสุขด้วยกัน โดยนัยนี้การให้ซึ่งตามธรรมดาถือกันว่าเป็น “การเสีย” ก็กลับกลายเป็น “การได้” ซึ่งทำให้เกิดความสุข ด้วยความสุขแบบประสานเช่นนี้ ความต้องการหาความสุขแบบเห็นแก่ตัวต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ทำให้ความตึงเครียดในสังคมลดน้อยลงไปด้วย

จริยธรรมแบบพอใจ กับจริยธรรมแบบจำใจ มีความแตกต่างกันมาก เมื่อเข้ามาในจริยธรรมแห่งความเอื้อประสานและความสุข วิธีคิดของเราจะเปลี่ยนไป เมื่อตั้งจิตคิดจะเอา เราจะมองคนอื่นเป็นคู่แข่งหรือเป็นเหยื่อ แต่เมื่อคิดจะให้ เราจะมองเขาด้วยความเข้าใจ และเกิดความเมตตากรุณา ความเข้าใจความหมายของถ้อยคำต่างๆ ที่สำคัญต่อชีวิตของคน เช่น คำว่า ความเสมอภาค และความสุข เป็นต้น ก็เปลี่ยนไป เมื่ออยู่ในระบบแข่งขัน คนจะมองความหมายของความเสมอภาคในแง่ของการปกป้องตัวเอง และเรียกร้องสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตน แต่ในระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามธรรม ความเสมอภาคกลายเป็นภาวะที่ช่วยให้เราเกิดมีโอกาสมากที่สุดที่จะร่วมมือสร้างสรรค์เอกภาพและประโยชน์สุขให้แก่สังคม ความสุขแบบแก่งแย่งแบ่งแยก กลายมาเป็นความสุขแบบประสานกลมกลืนกันได้ฉันใด ความเสมอภาคแบบแก่งแย่งแข่งขัน ก็เปลี่ยนมาเป็นความเสมอภาคแบบประสานกลมกลืนซึ่งกันและกันได้ฉันนั้น

ในระดับที่สูงขึ้นไปกว่านั้น มนุษย์สามารถฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้จักสร้างความสุขภายในขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุบำรุงบำเรอความสุขจากภายนอก การศึกษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้คนเกิดความหลงผิดคิดไปว่า เขาจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อมีวัตถุเสพ จึงทำให้เขานำเอาเรี่ยวแรงความเพียรพยายามออกไปใช้ข้างนอก การพยายามหาความสุขจากภายนอกแบบนี้ ย่อมต้องมีความเครียดและความทุกข์แฝงมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเรานำเอาความเพียรพยายามนั้นเข้ามาใช้ข้างในให้มากขึ้นบ้าง โดยบำเพ็ญข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น การรู้จักมนสิการและการทำจิตภาวนา เราก็อาจจะได้พบกับความสุขแบบที่ประณีตและเป็นอิสระมากกว่า ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากจิตอันนิ่งสงบและปัญญาที่รู้ความจริงแล้ว ความสุขแบบนี้ก็จะช่วยให้เราหลุดพ้นไปจากการกระทำทั้งหลายที่เป็นการเบียดเบียนและเห็นแก่ตัว

ในขั้นสูงสุด การพัฒนาคนจะนำไปสู่การรู้แจ้งสัจธรรม และความเข้าใจทั่วตลอดถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตของเรา ทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เมื่อปัญญารู้แจ้งสอดคล้องกับสัจธรรมแล้ว ก็จะเกิดความหลุดพ้นเป็นอิสระ และเมื่อนั้น สภาวะแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย อันเป็นสามัญลักษณะของสังขารทั้งปวงในโลกนี้ ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันวุ่นวายใจ และความทุกข์แก่เราได้อีกต่อไป นี่ก็คือการรู้แจ้งถึงสภาวะที่เป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และด้วยการตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราก็จะประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย คือทั้งบุคคล สังคมและระบบนิเวศ ให้กลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เมื่อเรามัวแต่วุ่นวายหาความสุข เราก็ไม่มีเวลาให้แก่ผู้อื่น พร้อมกันนั้นความสุขก็กลายเป็นสิ่งที่เราขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีในปัจจุบัน แต่รออยู่ข้างหน้า ต้องคอยตามหาด้วยความหวังว่าจะได้ในอนาคต ดังปรากฏว่าอาการหิวกระหายความสุขนี้แพร่ระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะในครอบครัวก็ตาม ในโรงเรียนก็ตาม ที่ทำงานก็ตาม ทั่วสังคมไปหมด สภาพจิตใจที่ขาดแคลนความสุขอย่างนี้ เป็นกันอยู่ดาษดื่นปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมของเราทุกวันนี้

ความสงบเริ่มที่บ้าน เราจะต้องนำความรักและความสุขคืนมาให้แก่ครอบครัว นำความเอื้ออาทรและความสุขที่แบ่งปันได้คืนมาให้แก่โรงเรียน โดยสอนให้คนรู้จักความสุขแบบประสานที่ทุกคนมีส่วนร่วม คนมีความสุขก็จะแผ่ขยายระบายความสุขของตนออกไปแก่คนรอบข้าง และช่วยบรรเทาความขัดแย้งแก่งแย่งชิงดีกัน

จงถามตนเองให้น้อยลงว่า ฉันจะได้อะไร และจงถามตนเองให้มากขึ้นว่า ฉันจะทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้บ้าง ในทำนองเดียวกัน พึงมองเห็นคุณประโยชน์ที่ธรรมชาติได้ให้แก่เรา แทนที่จะเรียกร้องเอาจากมันมากยิ่งขึ้นไปอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน พึงเรียนรู้ด้วยใจชื่นชมโดยมีจิตสำนึกมองเห็นคุณค่าที่ธรรมชาติและผู้คนที่อยู่รอบข้างเราได้ช่วยเหลือเกื้อกูลให้เรามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยดีในบัดนี้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาวิธีคิดแบบกตัญญูรู้สำนึกคุณอย่างนี้ ความเอื้ออาทรและความสุขแบบประสานก็จะก่อให้เกิดสันติสุขขึ้น ทั้งที่ใจและในสังคม ความเอื้ออาทรและความสุขเช่นนั้นจะประสานสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจที่หยั่งซึ้งลงไปถึงความเป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กันของสรรพสัตว์ต่อหน้ากฎธรรมชาติ ในขั้นสุดท้ายเราจะบรรลุสันติภาพได้ก็ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยกรุณาดังกล่าวมานี้

ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราสามารถประนีประนอมกันได้ แม้แต่จะก้าวพ้นการประนีประนอมไปสู่ความประสานกลมกลืนกันด้วยอาศัยความรักและไมตรีก็ได้ แต่เราไม่สามารถประนีประนอมกับสัจธรรมหรือความจริงได้ เราจะสัมพันธ์กับความจริงหรือสัจธรรมนั้นได้ก็ด้วยความรู้และปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในการเกี่ยวข้องกับความจริง จึงควรจะต้องส่งเสริมการสากัจฉาและเสรีภาพในทางความคิด เราควรพัฒนาให้มีวัฒนธรรม ที่ความรักใคร่ไมตรีและการร่วมมือกันเป็นมาตรฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่พร้อมนั้นก็ให้เสรีภาพและการแสวงหาความรู้อย่างไม่ต้องประนีประนอมกัน เป็นมาตรฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจธรรม

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในยุคสมัยที่ผ่านมานี้ โดยส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดโดยวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาและปรัชญาของตะวันตก ซึ่งทำให้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ วัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์ก็คือการที่จะพิชิตและครอบครองธรรมชาติ แล้วนำเอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการในการหาผลประโยชน์ของมนุษย์ ทัศนคติแบบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติเช่นนี้ซึ่งได้ปรับแปรออกเป็นปฏิบัติการในเชิงหาผลประโยชน์แบบเห็นแก่ตัวโดยอาศัยเทคโนโลยี ได้ก่อให้เกิดผลร้ายแก่สภาพแวดล้อมอย่างร้ายแรงดังที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่วิทยาศาสตร์ จะต้องกลับตัว เปลี่ยนท่าทีและนำอารยธรรมให้ก้าวหน้าไปในทิศทางใหม่ มนุษย์จะต้องแสวงหาความรู้ มิใช่เพื่อมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์อย่างเห็นแก่ตัว แต่จะต้องแสวงหาความรู้เพื่อเอามาเป็นประทีปส่องช่วยชี้ช่องทางให้เรามองเห็นวิธีที่จะได้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่ต้องทำร้ายมัน เทคโนโลยี จะต้องได้รับการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนมากขึ้น โดยมุ่งที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมดำรงอยู่ร่วมกันได้อยางยั่งยืนและประสานกลมกลืน

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ต้องเริ่มที่ใจ ใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงนี้ได้สำเร็จ ก็คือจิตใจที่เข้าถึงความสงบ อิสรภาพและความสุขภายใน หากเราหวังจะสถาปนาสันติภาพในโลกนี้ให้สำเร็จ เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้สามารถประสบสันติสุขภายในและความสุขที่เป็นอิสระ ด้วยความหลุดพ้นจากความใฝ่ทะยานหาสิ่งเสพบำเรอสุข ความใฝ่แสวงอำนาจ และบรรดาทิฏฐิที่ก่อให้เกิดความแก่งแย่งและแบ่งแยกทั้งหลาย ภาวะนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องมีการฝึกฝนพัฒนาบุคคล ซึ่งก็คือภารกิจของการศึกษา

การริเริ่มให้รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพของยูเนสโก นับว่าเป็นการเดินหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ในการสร้างสรรค์สันติภาพ ถือได้ว่าเป็นความเพียรพยายามที่น่าชื่นชม ข้าพเจ้าเข้าใจว่า รางวัลนี้มิใช่มีขึ้นเพียงเพื่อเป็นการยอมรับในผลสำเร็จที่บุคคลหรือองค์กรใดก็ตามได้กระทำแล้ว ในการสร้างสรรค์สันติภาพ เพราะเราจะต้องยอมรับความจริงว่า สันติภาพเช่นนั้น ยังหาได้เกิดมีขึ้นในโลกแต่อย่างใดไม่ แต่รางวัลนี้คงจะเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจ และส่งเสริมให้เรามาเพียรพยายามร่วมแรงร่วมใจกัน ในอันที่จะสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้สำเร็จ รางวัลนี้เป็นประดุจเสียงร่ำร้องเชิญชวนให้มากระทำการทุกอย่างยิ่งขึ้นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลที่แท้จริง คือโลกที่มีสันติสุขสำหรับมวลมนุษย์ รางวัลที่มอบให้ในวันนี้ จะได้รับจริง ก็ต่อเมื่อโลกมีสันติภาพอย่างจริงแท้ดังได้กล่าวนั้น

Peace Through Freedom and Happiness2

Forty-nine years ago, in 1945, with the end of World War II, the world witnessed the close of the greatest calamity ever experienced by mankind.

In an effort to avoid the recurrence of such a catastrophe, the United Nations was established immediately after the war, with the primary objective of maintaining international peace and security. But almost as soon as it was founded, the Cold War began.

Although the Cold War is now over, racial and religious conflicts have flared up in many areas of the planet, and environmental degeneration presents a major threat to human survival.

Despite the resolution of some of the world’s conflicts, genuine world peace and security are still far from being realized.

Human beings seem to be more inclined to conflict and violence than to peace: to break peace is evidently easier than to keep it. Conflict and war appear to be the norm and peace simply a temporary respite.

However, this is not the inevitable state of affairs. Conflict arises in the mind, and it is there that it can be resolved.

In reality, we are our minds. When we allow our desire for material gains to grow unchecked, our fellow beings become adversaries and nature becomes an object to be exploited.

In the wake of the belief that true happiness can only be attained through sensual gratification, we have developed extremely materialistic ways: competition and consumption have become the very rules of life and the dominant energies of our societies.

We have become “consumers,” devoted to a life-style of competition for consumption. But competition leads us into a state of permanent “cold war” with our neighbours, and a life of consumption puts us at odds with the environment.

Lacking happiness within, we try to find it outside in sense pleasures. Lacking inner peace and security, we try to establish them through controlling and dominating others. Ethnic biases and sectarianism only intensify the conflict.

But human beings can be and need to be trained through education. It is this potential for development and creativity that is the real gift of being human.

However, when education is out of balance, it only promotes our abilities to acquire material possessions and gratify the senses: ignoring our true potential, it fails to develop our ability to be happy. Despite an increasing supply of pleasure-objects, happiness is on the wane.

The search for external happiness is contentious. It not only brings us into conflict with our neighbours but also wreaks havoc on the environment. Our efforts to obtain the external happiness have already begun to reduce the overall quality of our lives.

Moreover, since such happiness is based solely on gratification, it increases our dependence on external pleasures, thereby depriving us of our freedom.

Conversely, a skilful and balanced education will train people to develop not only the skills to seek external objects to make them happy but also the ability to be happy within themselves.

As they find it easier to be happy, so will their need for material wealth decrease, resulting in less exploitative attitudes.

People who are happy within themselves tend to make others happy. Because their material gains are no longer the sole source of their happiness, they are able to share their gains with others. What was initially contentious happiness becomes a sharing and harmonious kind of happiness.

Our current moral education, perceiving the problems and conflicts caused by the unbridled struggle for happiness, teaches restraint based on awareness of human rights. We therefore live in societies where peace is enforced through restraint. But any ethic based on fear and obligation is negative and unreliable – its prohibitive nature is inadequate.

A genuine ethic, in contrast, is based on harmony and happiness. For those who experience inner peace and independent happiness, wealth and power lose their mere pleasure-giving or prestige value and become instead means to bring about well-being and happiness to fellow beings. Our time calls for such a positive ethic.

Much of our education tends to encourage a sense of taking and getting: children learn to see material things as objects to be attained.

To counterbalance this trend, education, both at home and in school, should instill an appreciation of giving. The practice of giving tangibly teaches a happiness through giving and generates loving-kindness.

Love means the desire for others to be happy. We learn to look at others as fellow beings, subject to the same joys and sorrows and the same laws of nature as we are. As giving satisfies our desire for the happiness of others, both parties will benefit and become happy. In this way, giving, which otherwise might be seen as a loss, becomes a gain, a cause for happiness.

Only through such a harmonious happiness will our demands for other, more exploitative forms of happiness be mitigated, resulting in a reduction in social tensions.

There is a great difference between positive and negative ethics. Under a positive ethical system based on harmony and happiness, human ways of thinking will be changed.

When we think of acquiring, all our interest is focused on the objects of our aspiration and other people are seen as obstacles or means – as competitors or prey. But when we think of giving, our interest is focused on other people and we see them with understanding and compassion.

Concepts central to the human condition such as equality and happiness are seen in a new light.

In the competitive system which is based on acquiring, people see equality in terms of self-protection and they demand equal rights and opportunity to pursue personal interests. In a righteous democratic system, equality gives us the maximum opportunity to cooperate in realizing social unity and well-being.

Just as contentious happiness turns into harmonious happiness, so contentious equality changes to harmonious equality.

On a higher level, human beings can be trained to generate an inner happiness independent of external material pleasures.

The tacit assumption of improperly educated people that they can only be happy when they have material wealth causes them to direct their efforts outwards. This pursuit inevitably entails some stress and suffering.

By directing our efforts more inward through practices such as skilful reflection and meditation, it is possible to find a subtler and more independent kind of happiness, born from calmness and understanding, which allows us to rise above exploitative actions.

Ultimately, human development leads to the full realization of truth and complete understanding of the interdependence of all things: our lives, society and physical environment.

When the flow of our understanding is in harmony with the flow of reality, there is freedom. The characteristics of impermanence, conflict and conditionality – all common signs of this world – will no longer lead to stress, tension and suffering. The true nature of all things is realized and, by recognizing the interrelatedness of the individual, society and the ecosystem, we harmonize their interests.

While we are struggling for happiness, we fail to care and take time for others. Suddenly happiness becomes something lacking in our immediate present, something that’s always waiting to be found in the future. In the family, in schools, at the work place – throughout society – a feeling of hunger prevails. Unhappy people spread unhappiness everywhere. The unhappiness of the human mind can be seen all too clearly in the general state of our societies.

Peace, quite literally, begins at home. We need to bring love and happiness back into the family, and bring care and mutual happiness back into the schoolroom, by teaching the harmonious happiness that all can share. Happy people will spread their happiness and so help to allay contention and conflict.

We should ask ourselves less what we could be getting and instead ask more what we could be doing for others.

In the same way, we should become aware of what nature has given to us rather than relentlessly asking for more and more of its resources. We need to learn appreciation of how nature and those around us contribute to our well-being.

By developing these appreciative ways of thinking we will see care and mutual happiness giving rise to peace in our minds and in society. Such care and happiness coincide with a deeper understanding of the kinship of all beings before the law of nature. Thus, peace is ultimately realized through compassionate wisdom.

In any human relationship, we can make compromises with one another, and even go beyond compromises to harmony through love and friendship. But truth cannot be compromised. We can relate to truth only through knowledge and wisdom.

Therefore, in dealing with truth, discussion and freedom of thought should be encouraged. A culture should be developed in which loving-kindness and cooperation are the standards for human relationship, while freedom and an uncompromising search for knowledge are the standards for our relationship with truth.

The human relationship with nature has in recent times largely been defined by a science which, under the influence of Western religion and philosophy, views man as separate from nature.

The aim of such a science has long been to conquer and dominate nature and to manipulate it to our profit-oriented ends. Such an essentially hostile attitude, translated into actual exploitative practices through technology, has led to the serious environmental consequences we are facing today.

Science must now take a turn for the better and lead civilization in a new direction. Knowledge must be sought not for its exploitative value but for its ability to show us how to benefit from nature without damaging it.

Technology must be given a more clearly defined role, in which the harmonious and sustainable coexistence of people, society and the environment are the goal.

All such changes must begin in the mind. They can only be achieved by the mind that enjoys inner peace, freedom and happiness.

If we are to establish peace on this planet, we must develop inner peace by freeing ourselves from craving, lust for power and all contentious views. This entails the development of the individual – which brings us back to the task of education.

In initiating the Prize for Peace Education, UNESCO has taken a step forward in the cause of peace. It is a commendable effort.

I understand that the prize is not merely in recognition of what certain individuals or organizations have done to bring forth peace.

Let us be honest – such peace has not yet been achieved in our world. I see it rather as an incentive and encouragement for a concerted effort to achieve genuine peace. It is a call for further action towards winning the real prize: a truly peaceful world for mankind.

The prize here awarded will really be won only when that goal has been realized.

1คำปราศรัยของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปิฏก ในพิธีรับถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ (UNESCO Prize for Peace Education) ณ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๗
2Speech by Ven. P. A. Payutto, Laureate of the 1994 UNESCO Prize for Peace Education at the ceremony for the presentation of the Prize in Paris, December 20, 1994
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง