การศึกษาเพื่อสันติภาพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษาเพื่อสันติภาพ1

ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ท่านสพรหมจารีทุกท่าน

ขอเจริญพรท่านประธานกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎร ท่านเลขาธิการ สวช. เจ้าหน้าที่ และญาติโยมสาธุชนทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพได้รับนิมนต์อีกครั้งหนึ่ง ให้มาแสดงปาฐกถาและอนุโมทนา ปาฐกถาครั้งนี้ไม่มีชื่อเรื่อง ถือว่าเป็นปาฐกถาเนื่องในการอนุโมทนา เมื่อเป็นปาฐกถาเนื่องในการอนุโมทนา ก็ต้องเริ่มด้วยการอนุโมทนา

ขออนุโมทนาคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หรือ ส.ว.ช. ที่ได้จัดพิธีแสดงมุทิตาจิตครั้งนี้ขึ้น ซึ่งได้ดำเนินมาหลายวันแล้ว คือตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม รวมเป็นหนึ่งสัปดาห์ และตลอดระยะเวลาหลายวันนี้ก็ได้มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ มาร่วมกิจกรรมโดยเป็นเรื่องของการบรรยายธรรมบ้าง อภิปรายบ้าง ปาฐกถาบ้าง ท่านเหล่านั้นได้สละเวลามาให้ธรรมะแก่ประชาชน พร้อมทั้งถือว่าท่านได้มาร่วมให้ความสำคัญแก่งานนี้ด้วย จึงขอขอบพระคุณและอนุโมทนาแก่ทุกท่าน

โดยเฉพาะสำหรับวันนี้ในส่วนที่ปรากฏอยู่ ซึ่งญาติโยมสาธุชนได้ร่วมรับฟังเสร็จไปใหม่ๆ ก็คือการบรรยายธรรมของพระอาจารย์ชยสาโร แห่งวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ก็ขอขอบพระคุณท่านไว้ในโอกาสนี้ด้วย อีกส่วนหนึ่งที่ได้มาทันในพิธีช่วงนี้ ก็คือการที่ประธานคณะกรรมการนิสิตมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้กล่าวคำแสดงมุทิตาจิต ซึ่งถือว่าเป็นการกล่าวแสดงน้ำใจของส่วนรวมในนามของมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย

กิจกรรมในส่วนนี้ ทำให้เกิดความคิดว่า การที่ท่านให้นิสิตในฐานะตัวแทนของนิสิตนักศึกษานักเรียนมากล่าวคำแสดงมุทิตาจิตนี้ ท่านคงมีความมุ่งหมายอะไรบางอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นพิเศษ แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ซักถามท่าน ก็เลยคิดเอาเองโดยถือว่าเป็นนิมิตแสดงความหมายที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ คือว่างานนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้รับถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ทีนี้ประธานนิสิตประธานนักศึกษาก็เป็นตัวแทนมาในนามของสถาบันคือมหาจุฬาฯ และมหามกุฏฯ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา และตัวท่านเองก็เป็นผู้กำลังศึกษา จึงคิดว่าการกระทำนี้เป็นนิมิตหมายที่มีความเชื่อมโยงกับชื่อของงาน คือว่าในฐานะที่ท่านเป็นผู้ศึกษาและอยู่ในสถาบันการศึกษา เมื่อมากล่าวแสดงมุทิตาในงานที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อสันติภาพ ก็เป็นการบอกกล่าวว่า เราจะต้องมีการศึกษากันต่อไปเพื่อให้เกิดสันติภาพ อันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอย่างหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้มาคิดถึงเรื่องของการศึกษาเพื่อสันติภาพอีก ซึ่งที่จริงก็พูดกันแล้วพูดกันอีก แต่เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรางวัล เราจึงต้องมาทำความเข้าใจกันแม้จะบ่อยไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม ต้องขอพูดไว้แต่ต้นว่า วันนี้ไม่ควรแสดงปาฐกถายาวนัก เพราะเห็นใจญาติโยมที่มานั่งกันอยู่ตลอดเวลานาน อาจจะตั้งแต่เช้า อย่างน้อยหลายท่านก็มาตอนภาคบ่าย ตามปกติวันหนึ่งๆ เราฟังปาฐกถากันเรื่องหนึ่งก็ถือว่ามากอยู่แล้ว แต่ที่โยมมาฟังนี้ทางคณะผู้จัดงานจัดให้ฟังบางวันได้ทราบว่าตั้ง ๓ รายการ มีการอภิปรายชุดที่หนึ่ง ชุดที่สอง ชุดที่สาม หรือมีปาฐกถาแล้วก็มีอภิปราย รู้สึกว่าหนักมากทีเดียว สำหรับวันนี้เฉพาะภาคบ่ายก็มีพระอาจารย์ชยสาโรท่านได้แสดงธรรมให้ฟังแล้ว และเนื้อหาของท่านก็อยู่ในเรื่องสันตินี่แหละ ดังที่ได้ฟังกันชัดเจนอยู่แล้วว่าท่านแสวงหาหนทางแห่งสันติ และท่านก็ได้พบในพระพุทธศาสนาว่าทางที่จะนำไปสู่สันติที่แท้จริงคือสันติในจิตใจ และเมื่อเกิดสันติในจิตใจแล้ว แต่ละคนที่มีสันติในจิตใจ ก็จะประกอบกันเข้าเป็นสังคมเป็นโลกที่มีสันติ ตอนนี้ก็มาเห็นใจญาติโยมที่ฟังมามากแล้ว ความจริงเนื้อหาสาระก็มากอยู่แล้วและเพียงพอต่อการนำไปขบคิดพิจารณา เพราะฉะนั้นปาฐกถาเนื่องในการอนุโมทนานี้จึงไม่ควรจะยาวนัก

พระพุทธศาสนา คือการศึกษาเพื่อสันติภาพ

ทีนี้หันกลับมาพูดถึงเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ ความจริงนั้นพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการศึกษา และก็เป็นเรื่องของสันติภาพอยู่แล้ว ชาวพุทธเราย่อมทราบกันดี จะมีรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่มีก็ตาม ตัวแท้คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาจะทำให้เกิดขึ้นก็คือสันติภาพที่แท้จริง

ที่บอกเมื่อกี้ว่าตัวพุทธศาสนาเป็นการศึกษา หมายความว่า ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมด หรือระบบการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ เป็นการศึกษาทั้งสิ้น

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เรียกกันว่า สิกฺขา สิกขาก็แปลว่าการศึกษานั่นเอง สิกขาเป็น คำบาลี สันสกฤตว่า ศิกฺษา เป็นไทยว่า ศึกษา ก็คำเดียวกัน ในเมื่อข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเป็นสิกขา ดังที่เราเรียกว่า ไตรสิกขา พระพุทธศาสนาก็เป็นการศึกษา

ทีนี้เราพูดว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพ สันติภาพคืออะไร สันติภาพมาจากสันติ บวกกับภาวะ ภาวะแปลงเป็นไทยก็เป็นภาพ ภาวะก็คือความเป็น เอาไปต่อท้ายอะไรก็ได้ แทบจะไม่มีความหมายในตัว สันติภาพก็คือภาวะแห่งสันติ ได้แก่ตัวสันตินั่นเอง

สันติแปลว่าความสงบ สันติหรือความสงบนี้เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน เป็นคำที่ท่านเรียกว่าไวพจน์ คือคำที่ใช้แทนกันได้ สันติก็คือนิพพานนั่นเอง เช่นในคำว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี สุขนอกจากสันติไม่มี สันติก็คือพระนิพพาน เท่ากับพุทธพจน์ที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ที่แปลว่านิพพานเป็นบรมสุข หรือเป็นสุขอย่างยิ่ง สรุปว่าสันติก็คือพระนิพพานนั่นเอง

ทีนี้พระพุทธศาสนาคือไตรสิกขานั้นมีจุดหมายเพื่อสันติ คือเพื่อพระนิพพานซึ่งเป็นสันติ จึงได้ความว่าตัวพระพุทธศาสนาคือไตรสิกขาซึ่งเป็นการศึกษานั้นก็เพื่อบรรลุสันติ คือพระนิพพาน เพราะฉะนั้น คำว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพที่เขาเอาไปตั้งเป็นชื่อรางวัลนั้น ความจริงก็เป็นเรื่องของพระพุทธศาสนานั่นเอง ไม่ไปไหนไกล

เมื่อเรามองในแง่สันติที่แท้และสูงสุดก็คือพระนิพพาน แต่ถ้าเรามองในรูปหยาบๆ กว้างๆ ชาวโลกมักมองสันติแค่ความสงบภายนอก มักจะไม่มองลึกเข้าไปถึงภายในจิตใจ คือเขามองสันติที่ความสงบเรียบร้อยในสังคม การไม่รบราฆ่าฟัน ไม่มีสงคราม อยู่กันโดยไม่เบียดเบียน อย่างนี้เขาเรียกว่าสันติภาพ สันติภาพอย่างนี้ก็คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชนหรือของสังคมหรือของโลกทั้งหมด แม้จะมองในความหมายที่หยาบๆ อย่างนี้ก็เข้ากับจุดหมายของพระพุทธศาสนาอยู่ดี เพราะว่าพระพุทธศาสนามีหลักการว่าพระศาสนานี้ดำรงอยู่เพื่อ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย พระพุทธเจ้าตรัสส่งให้พระสาวกทั้งหลายจาริกไปก็เพื่ออันนี้ คือเพื่อ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ให้แสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดก็เพื่อความมุ่งหมายอันนี้ ให้พรหมจริยะคือพุทธศาสนานี้ดำรงอยู่ยืนนานก็เพื่อจุดหมายอันนี้ การที่จะมีการสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยก็เพื่อ พรหมจริยะจะได้ดำรงอยู่ยั่งยืนนาน พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

ในเมื่อพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก คำว่าประโยชน์สุข คือการที่ประชาชนอยู่ดี ได้บรรลุสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์และมีความสุขนั้นเป็นภาวะที่ครอบคลุมคำว่าสันติ เพราะว่า ประชาชนจะบรรลุประโยชน์มีความสุขได้เขาก็ต้องไม่รบราฆ่าฟันกัน ถ้ามนุษย์อยู่กันดีทั่วทุกคน โลกเป็นอย่างนั้นก็คือสันตินั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้จะมองในแง่ที่เป็นปรากฏการณ์กว้างๆ อย่างนี้ ก็ถือว่าสันติภาพเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ของเราจึงมีหน้าที่บำเพ็ญปฏิบัติเพื่อสันติภาพในความหมายทั้งสองข้อ คือบำเพ็ญไตรสิกขาก็เพื่อบรรลุถึงสันติซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุด ในความหมายที่ถือว่าเป็นนามธรรมที่สุด ได้แก่พระนิพพาน หรือในแง่งานการปฏิบัติของท่านก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อสันติภาพเหมือนกัน

เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ทำการทำงานของท่านโดยถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ก็เป็นงานที่ทำให้เกิดสันติภาพอยู่ในตัว ด้วยเหตุนี้จึงได้บอกไว้เป็นการย้ำว่า ไม่ว่าจะมีรางวัลเพื่อสันติภาพหรือไม่ก็ตาม ที่แท้จริงนั้นสันติภาพก็เป็นความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรางวัลที่แท้จึงได้แก่การที่เกิดมีสันติขึ้นมาจริงๆ ในโลก ถ้าพระสงฆ์ทำหน้าที่ของท่าน และบรรลุสันติ ทำให้โลกมีความสงบเรียบร้อย อยู่กันเป็นสุขแล้ว นั่นแหละคือรางวัลที่แท้จริง ส่วนการที่จะมีองค์กรโลกคือยูเนสโกที่อยู่ในสหประชาชาติมาตั้งเป็นรางวัลอะไรขึ้นมานั้นก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รางวัลที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ประโยชน์สุขของชาวโลกคือสันติภาพที่แท้จริง จึงต้องถือว่ารางวัลที่ยูเนสโกได้มอบถวายนั้น เป็นเพียงคล้ายๆ กับเป็นสิ่งกระตุ้นเร้า หรือเป็นสิ่งที่มาเตือนคนทั่วไปว่าให้เรามาทำหน้าที่ ทำกิจหรือปฏิบัติการเพื่อจุดมุ่งหมายอันนี้

แสดงมุทิตา คือบอกว่าจะมาร่วมเชิดชูธรรม

รางวัลที่ให้นั้นยังไม่ใช่รางวัลจริงหรอก รางวัลจริงก็คือว่า เมื่อไรสันติภาพเกิดขึ้น ประโยชน์สุขแก่ประชาชนเกิดขึ้น ประชาชนเข้าถึงสันติธรรม อันนั้นแหละคือรางวัลที่แท้จริง เป็นรางวัลในการทำงานของพระ เพราะฉะนั้นรางวัลนี้พระจะต้องทำต่อไป และพระก็มีหน้าที่ต้องทำให้เกิดรางวัลนี้ ซึ่งที่จริงการได้รับถวายรางวัลนี้ก็ไม่ได้ทำให้พระเป็นอะไรขึ้นมานอกจากความเป็นพระ และการที่จะต้องบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตามหน้าที่ของท่านต่อไป เพราะฉะนั้นจึงย้ำว่ารางวัลที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การได้มอบให้อะไรที่เราเรียกกันว่าเป็นรางวัลเป็นรูปธรรม รางวัลที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชน สังคม หรือมนุษย์โดยทั่วไปมีความร่มเย็นเป็นสุข

อย่างไรก็ตาม คนเรายังติดในเรื่องเหล่านี้ เราจึงมาพูดกันในเรื่องสมมติของชาวโลก เมื่ออยู่ในสมมติเราก็ต้องใช้สมมติให้เป็นประโยชน์ เมื่อเกิดมีปรากฏการณ์เช่นนี้ และเรามาจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นนั้น มองในแง่ดีก็คือการเอาสมมติมาใช้ประโยชน์ การที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือรัฐบาลก็ตาม โดยทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมาจัดกิจกรรมอย่างนี้ เมื่อมองว่าเป็นเรื่องของการเอาสมมติมาใช้ประโยชน์ ก็คือเอามาเป็นอุบายสำหรับกระตุ้นเตือนให้คนทั่วไปให้ความสนใจแก่การปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา คือส่งเสริมให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดสันติที่แท้จริง โดยที่สำหรับแต่ละชีวิตก็ให้เข้าถึงสันติ และสำหรับพระสงฆ์เมื่อปฏิบัติให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ทำให้ประชาชนอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข นี่แหละที่ว่าเป็นการเอารางวัลที่เป็นเรื่องสมมตินั้นมาเป็นเครื่องกระตุ้นอีกทีหนึ่ง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็คงจะมีความหมาย หมายความว่ารางวัลนี้จะมีความหมายที่แท้จริงก็ต่อเมื่อมันเป็นเครื่องมาช่วยชักนำให้เกิดความสนใจในการที่จะส่งเสริมธรรมะ ฉะนั้นจึงได้กล่าวอย่างหนึ่งว่า ที่มีการแสดงมุทิตาจิตอะไรนั้น ความจริงก็เป็นเรื่องของการที่เรายกย่องเทิดทูนธรรม

อันนี้ขอกล่าวย้ำบ่อยๆ คือญาติโยมหรือพระสงฆ์ก็ตาม เมื่อมีพระผู้นี้ท่านได้รับรางวัล เราเห็นว่าท่านได้ดีเราพลอยมาแสดงความยินดีด้วย เป็นการปฏิบัติตามหลักพรหมวิหารข้อที่ ๓ คือมุทิตา ซึ่งแปลว่าพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หมายความว่า เราเห็นว่าท่านผู้นี้ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งได้ดีหรือได้ประสบความสำเร็จเขาให้รางวัล เราก็มาแสดงความยินดีด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าว่าถึงความหมายที่แท้จริงของชาวพุทธ เรามองทะลุลึกลงไปกว่านั้น คือ ที่จริงนั้น ใจของผู้แสดงมุทิตาอยู่ที่ตัวธรรมะ หมายความว่าเราทุกคนนี้เชิดชูธรรม เชิดชูความดีงาม เชิดชูการปฏิบัติที่ถูกต้อง เชิดชูการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สุข หลักของเราอยู่ตรงนั้น เรามุ่งหมายใจของเราไปตั้งอยู่ที่ธรรมะนั้น เราต้องการเชิดชูธรรม เมื่อมีอะไรมาช่วยให้เกิดการแสดงออกที่เป็นการเชิดชูธรรมนั้น ก็เข้ากับความมุ่งหมายของเรา คือเมื่อเราไปเห็นว่าบุคคลผู้หนึ่งมากระทำการอะไรที่เป็นการช่วยส่งเสริมเชิดชูธรรม คือไปปฏิบัติถูกต้องตามธรรม เข้าหลักความดี เราก็ถือโอกาสไปส่งเสริมด้วย การที่เราส่งเสริมท่านผู้นั้นก็หมายความว่า เราส่งเสริมให้ท่านทำความดีนั้นต่อไป หรืออย่างน้อยเราก็แสดงความยินดี เพราะท่านไปทำตรงตามหลักที่เราพอใจด้วย ซึ่งเป็นหลักแห่งความดีงาม เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า การแสดงมุทิตาหรือพลอยยินดีนั้นเป็นการแสดงถึงความเห็นชอบด้วยที่ท่านได้ไปทำสิ่งที่ดีงาม เราเชิดชูธรรมอยู่แล้ว เราจึงพลอยแสดงความยินดีส่งเสริมไปเลย

พร้อมกันนั้น ก็ได้ความหมายอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการแสดงความพร้อมใจกัน ที่ว่าพร้อมใจก็คือ ในเมื่อท่านผู้นั้นไปทำตามหลักธรรม ไปทำความถูกต้องดีงาม เราก็เห็นชอบด้วย คล้ายกับบอกว่า เราจะร่วมด้วยนะ เราจะร่วมทำความดีส่งเสริมความดีอันนั้นด้วย จึงกลายเป็นการแสดงความเห็นชอบพร้อมใจในการที่จะส่งเสริมธรรมเชิดชูธรรมต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ การแสดงมุทิตาจิตก็มีความหมายที่ดีงามถูกต้อง เพราะไม่ไปติดอยู่แค่ตัวบุคคล คือมีความหมายที่โยงไปหาตัวหลักการหรือตัวธรรมะด้วย คือการที่เราจะมาช่วยกันเชิดชูธรรมต่อไป

เพราะฉะนั้น การกระทำกิจกรรมอย่างนี้จึงเป็นการแสดงว่าเราจะมาร่วมแรงร่วมใจกันในการส่งเสริมเชิดชูธรรมต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ การแสดงมุทิตาจิตก็จะเป็นส่วนร่วมอย่างหนึ่งในการปฏิบัติตามหลักของการศึกษาเพื่อสันติภาพด้วย คือ การที่เราจะได้ใช้กิจกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน และอันนี้แหละคือตัวสันติภาพ เพราะฉะนั้นกิจกรรมทั้งหมดนี้เราจึงมาทำความเข้าใจกันว่า เป็นนิมิตหมายว่าเราจะได้มาช่วยกันส่งเสริมเชิดชูธรรมต่อไป เพื่อให้ธรรมะเกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่สังคม แก่ประชาชนชาวโลก เพื่อสันติสุขโดยทั่วกัน

ถึงแม้ไม่มีสงคราม ก็ยังไม่มีสันติภาพ

ทีนี้หวนกลับมาพูดถึงเรื่องสันติภาพและการศึกษาเพื่อสันติภาพกันอีกครั้งหนึ่ง ขอย้อนไปพูดอย่างที่เริ่มต้นไว้ คนทั่วไปในโลก โดยเฉพาะเมืองฝรั่ง เวลาเขาพูดถึงคำว่า “สันติภาพ” เขามองไปที่สภาพที่คนไม่รบกัน คือไม่มีสงคราม เมื่อคนไม่รบราฆ่าฟันกันเขานึกว่ามีสันติภาพแล้ว

ถ้าความหมายของคำว่าสันติภาพอยู่ที่ความไม่มีการรบราฆ่าฟัน หรือไม่มีสงคราม ประเทศไทยเราตอนนี้ก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับปัญหานี้ คือประเทศไทยเรานี้นับว่ามีสันติภาพอยู่แล้ว เราเป็นประเทศที่มีสันติภาพ เพราะฉะนั้นเราแทบจะไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายในเรื่องนี้เลย ที่เขาวุ่นวายเรียกร้องสันติภาพให้แก่โลกกันโกลาหลนั้นเป็นประเทศอื่น เวลานี้เราดีที่สุด ข่าวคราวต่างๆ ที่ว่ารบราทำสงครามกัน วุ่นวายที่นั่นที่นี่ ขัดแย้งกันเรื่องราวใหญ่โตนั่นน่ะ เป็นเรื่องของประเทศอื่นๆ ทั้งนั้น ประเทศไทยเรานี้น่าจะได้รับรางวัลสันติภาพทุกคน เพราะไม่เห็นมีเลยสงครามรบราฆ่าฟันกัน เพราะฉะนั้นประเทศไทยเรา ถ้าว่าในแง่นี้ก็ดีอยู่แล้ว เรามีสันติภาพอยู่แล้ว

นี่แหละที่ว่าเขามองความหมายของสันติภาพเพียงอย่างเดียว คือมักจะมองว่าสันติภาพหมายถึงภาวะไร้สงคราม ไม่มีการขัดแย้ง ไม่รบราฆ่าฟันเบียดเบียนทำร้ายกันที่รุนแรง แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งลงไป สันติภาพไม่ใช่แค่นั้น ภาวะขาดสันติภาพนั้นเราจะเห็นว่ามีอยู่ในที่อื่นด้วย แม้แต่ยังไม่ได้รบราฆ่าฟันกัน มันก็มีความขาดแคลนสันติภาพในรูปอื่นๆ

สังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขันกัน ต่างคนต่างมุ่งหาผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบข่มเหงกัน แม้ไม่ปรากฏเป็นการรบราฆ่าฟันกัน ไม่เป็นสงคราม ก็จัดว่าเป็นสันติภาพไม่ได้ เพราะไม่มีความสงบที่แท้จริง เมื่อไม่มีความสงบก็ไม่มีความสุขที่แท้จริง

ภาวะของการแก่งแย่งแข่งขันคอยที่จะเอาชนะกันนั้น ขอให้ลองดูโลกในระยะที่ผ่านไปแล้ว เขาแบ่งออกเป็นสองค่าย คือค่ายเสรีนิยม หรือเสรีประชาธิปไตย กับค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นมีการแข่งอำนาจกัน สองฝ่ายต้องคอยระวังตัวและระแวงซึ่งกันและกัน อีกฝ่ายหนึ่งจะมีอะไรดีกว่าเหนือกว่าก็ต้องคอยจับตาดู ไม่มีความสงบสุข แต่ทั้งสองค่ายนั้นเขาไม่ได้ทำสงครามกัน เขาอยู่กันมาโดยพยายามแข่งขันเอาชนะกัน คอยแก่งแย่งผลประโยชน์กัน แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำสงครามให้ปรากฏ แต่เราก็มีศัพท์เรียกว่าเขาอยู่ในสงครามด้วยเหมือนกัน คือตลอดระยะที่ผ่านมานั้นเขาเรียกว่าสงครามเย็น ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Cold War แสดงว่ามีสงครามเหมือนกัน ไม่ได้มีสันติภาพ

ทีนี้เราดูแคบเข้ามาในสังคมต่างๆ ที่ผู้คนมีการแก่งแย่งแข่งขันคอยเอารัดเอาเปรียบกัน แม้ไม่ได้รบราฆ่าฟันทำร้ายเอาชีวิตกัน ก็เหมือนกับโลกสมัยที่อยู่ในสงครามเย็นเหมือนกัน สังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขันก็คือสงครามที่เต็มไปด้วยสงครามเย็นนั่นเอง หมายความว่า มนุษย์ที่อยู่ระบบสังคมที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน หาผลประโยชน์ พยายามเอาชนะกันในการหาช่องทางที่จะเหนือกว่ากันในเรื่องผลประโยชน์ ก็เหมือนกับโลกในสมัยสงครามเย็นนั่นเอง เพราะฉะนั้นสังคมแบบนี้ก็คือสังคมที่อยู่ในภาวะสงครามเย็น ไม่ได้มีสันติภาพอะไร และมันพร้อมที่จะระเบิดเป็นสงครามร้อนเมื่อไรก็ได้ จึงต้องถือว่าไม่มีสันติภาพด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นประเทศที่เราเห็นเหมือนกับว่าสงบไม่มีสงครามมีสันติภาพนั้น ที่จริงไม่ใช่มีสันติภาพ แต่มีสงครามที่เป็นประเภทสงครามเย็น

ที่นี้หันไปดูอีกบางประเทศ ที่เพิ่งเริ่มมีระบบแก่งแย่งแข่งขันเข้าไป การแข่งขันยังน้อยอยู่แต่ต่อไปอาจจะมากก็ได้ แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่ม ทีนี้ในสังคมแบบนั้นก็ยังต้องสงสัยเหมือนกันว่ามีสันติภาพหรือไม่ ยกตัวอย่างเมืองไทยเรานี่เองเป็นสังคมที่บอกเมื่อกี้ว่ามีความสงบสุขพอสมควร เรายังมีน้ำใจเกื้อกูลกันช่วยเหลือกันอยู่ ในสังคมแบบนี้แม้จะไม่มีสงครามเย็น ไม่มีสงครามร้อน แต่ถ้ามีความไม่เรียบร้อย ความเสื่อมโทรม มีปัญหาต่างๆ ที่ทำให้สังคมมีความผุกร่อน มันก็ไม่เรียบร้อย ไม่สงบเหมือนกัน เพราะมีปัญหาต่างๆ มากมาย อย่างสังคมไทยเราเวลานี้เสียชื่อเยอะ ญาติโยมก็ทราบกันดีว่าปัญหาโรคเอดส์ก็ค่อนข้างเด่น เรื่องยาเสพติดก็ค่อนข้างรุนแรง ปัญหาโสเภณีก็หนัก ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมเสียหายก็ไปไกล ปัญหาบางอย่างก็นำอาจจะที่หนึ่งในโลก ปัญหาเหล่านี้ก็ทำให้สังคมไม่มีความสงบเรียบร้อยที่แท้จริง และพร้อมที่จะระเบิดเป็นปัญหารุนแรงเมื่อไรก็ได้ สังคมอย่างนี้ก็ไม่ถือว่ามีสันติภาพที่แท้จริง

สังคมที่อยู่ในสภาพอย่างนี้มักมีภาวะอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท สังคมที่ค่อนข้างสงบสุข อยู่กันสบาย มักจะตกอยู่ในภาวะนี้คือมีความประมาท ซึ่งทำให้ละเลยไม่มองดูเหตุปัจจัยในสังคมของตัวว่ามีอะไรที่เป็นไปอยู่ที่เป็นความบกพร่องเป็นความเสียหาย อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อม ความย่อยยับแก่สังคมต่อไป อะไรที่ควรจะทำเพื่อแก้ไขดำรงสังคมตัวเองให้มีความสงบสุขอย่างแท้จริงในระยะยาวหรืออย่างถาวร ก็ไม่คิดไม่พิจารณา ปล่อยตัวไปเรื่อยๆ หมกมุ่นมัวเมาแสวงหาความสุข ในที่สุด แต่ละคนก็มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ส่วนตัว สังคมแบบนี้ก็ไม่ใช่สังคมที่มีสันติภาพ เพราะมีความไม่เรียบร้อยและความกดดันที่จะทำให้สังคมระส่ำระสายเสื่อมโทรมและประชาชนไม่อาจจะอยู่กันด้วยดีต่อไป

เพราะฉะนั้นโลกปัจจุบันนี้เรามองภาวะที่ขาดสันติภาพได้หลายแบบ อย่าไปมองเพียงว่าไม่มีสงครามแล้วก็มีสันติภาพ ซึ่งเป็นความหมายที่หยาบเหลือเกิน เมื่อภาวะขาดสันติภาพเป็นไปอย่างรุนแรงจนถึงที่สุดแล้วมันถึงได้แสดงออกอย่างนั้น ถ้าเราคอยระวังแค่ว่าให้มีสันติภาพแบบไม่มีสงคราม ก็เรียกว่าเราอยู่ในความประมาท เราจะไม่สามารถรักษาโลกและสังคมนี้ไว้ให้อยู่อย่างสันติสุขหรือมีสันติภาพที่แท้จริงได้ เพราะว่าไม่นานหรอก ตัวเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมโทรมระส่ำระสายเหล่านี้จะต้องปะทุขึ้นอย่างรุนแรงแล้วก็จะเกิดเรื่องเกิดราวอีก

ภาวะที่เป็นเรื่องของความไร้สันติภาพ มีสงคราม มีการรบราฆ่าฟันนั้น ผลของมันคืออะไร ก็คือความระส่ำระสาย ความไม่เรียบร้อยของสังคม แม้สังคมไม่มีสงครามอย่างนั้น ไม่ได้รบราฆ่าฟัน สังคมก็อาจจะไม่เรียบร้อยก็ได้ อาจจะระส่ำระสายก็ได้ เราจะต้องตรวจสอบสังคมของเราว่ามีความระส่ำระสายไหม มีความไม่เรียบร้อยไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็คือการประสบภาวะอย่างเดียวกับการมีสงครามชนิดหนึ่งนั่นเอง ไม่ได้ดีไปเลย เพราะฉะนั้นอย่าได้ประมาท และด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนนักในเรื่องความไม่ประมาท

ทีนี้เราต้องมาตรวจดูว่าสันติ ความสุข ความสงบที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน สังคมของเราบรรลุหรือยัง อย่าเอาแค่ว่าไม่มีสงครามแล้วก็ใช้ได้อย่างที่ว่า เท่าที่พูดมาจะเห็นว่าภาวะที่ขาดสันติภาพในสังคมนี้มีได้หลายรูปแบบ รูปที่เห็นชัดๆ ที่ชาวโลกเขายอมรับกันก็คือ เรื่องสงคราม เขามองเห็นแค่นั้น มองเห็นแค่ว่ามีการสงครามรบราฆ่าฟัน แต่ที่จริงสังคมที่ไม่มีสงคราม ก็คือไม่มีสงครามร้อน แต่อาจจะมีสงครามเย็นก็ได้ คือสังคมที่คนไม่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการแก่งแย่งแข่งขัน มุ่งหาผลประโยชน์ แย่งชิงกันอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีสันติภาพ และสังคมที่มีความระส่ำระสายเนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมต่างๆ ก็เป็นสังคมที่ไม่มีสันติภาพเช่นเดียวกัน ถ้าทำความเข้าใจกันอย่างนี้ เราก็ต้องให้ความหมายของสันติภาพให้กว้าง

การทำลายสันติภาพ ก่อตัวขึ้นบนฐานข้างในจิตใจ

ในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ตามหลักพระพุทธศาสนาท่านสอนไว้แล้วว่า เราจะต้องแก้ที่สาเหตุ ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ ต้องสืบดูว่าเหตุปัจจัยมาจากที่ไหน แต่เหตุปัจจัยมีมากหลายอย่างเหลือเกิน

คนเรานี้รบราฆ่าฟันกันเพราะอะไร เพราะความเกลียดชังโกรธแค้นกัน หรือบางทีก็เป็นเพราะการแย่งชิงผลประโยชน์ หรือบางทีก็เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกัน ยึดถืออุดมการณ์ต่างกัน หรือมีความยึดถือแบ่งแยกกันในเรื่องเชื้อชาติศาสนาเป็นต้น เช่นยึดถือว่าเชื้อชาติของเราต้องดีที่สุด เชื้อชาติเราเท่านั้นจะต้องอยู่ เผ่าเราเท่านั้นเป็นเลิศ เผ่าอื่นเลวทั้งนั้น อะไรต่างๆ เหล่านี้ ตลอดจนการแบ่งแยกกันของลัทธิศาสนาต่างๆ ล้วนเป็นปัญหาของโลก

รวมความว่าพระพุทธศาสนาบอกว่า ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นเกิดจากเหตุสำคัญในใจของมนุษย์นั่นเอง ก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นการรบราฆ่าฟัน เอาอาวุธมายิงกัน ขว้างระเบิดใส่กัน เอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดนี่ การริเริ่มต้องเกิดในความคิดก่อน คนเราต้องคิดแล้วถึงจะทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัญหาเกิดในจิตใจของคนก่อน

ปัญหาเกิดในจิตของคน จิตนั้นมีอะไร จิตมีปมปัญหาสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงให้หลักไว้แล้ว เราจึงมาพูดกันง่ายๆ สั้นๆ โดยใช้ศัพท์พระท่านหน่อย เป็นคำที่จุความดี ถ้าใช้ศัพท์ชาวบ้านจะต้องพูดกันยืดยาว เสียเวลา แต่ถ้าใช้ศัพท์พระท่านสรุปให้เพียง ๓ คำ ก็จบ มันแทนหมดเลย

ศัพท์พระที่แสดงถึงสาเหตุสำคัญในใจของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์ออกไปแสดงบทบาทต่างๆ มากมายในโลกที่เราเรียกว่าขาดสันติภาพ นั้นคืออะไร ศัพท์พระท่านบอกไว้มี ๓ คำคือ

  1. ตัณหา
  2. มานะ
  3. ทิฐิ

ตัณหานั้น เมื่อแปลให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันก็คือความปรารถนาในผลประโยชน์ ความจริงการหาผลประโยชน์นี้เป็นเรื่องขั้นปลาย ลึกลงไปก็คือความต้องการที่จะเสพรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ แต่พูดกันง่ายๆ ว่าความต้องการผลประโยชน์ ความต้องการผลประโยชน์นี้เป็นเหตุใหญ่ที่ทำให้มนุษย์แย่งชิงรบราฆ่าฟันกัน แทบจะเป็นสาเหตุตัวแรก ยิ่งสังคมปัจจุบันนี้ ระบบของสังคมจะเป็นตัวผลักดันให้คนมีสภาพจิตอย่างนี้มาก คือระบบแข่งขัน ระบบผลประโยชน์ ระบบทุนนิยม ระบบวัตถุนิยม ระบบที่มุ่งการบริโภค เดี๋ยวนี้ศัพท์เหล่านี้เกร่อไปหมด

เป็นที่รู้กันว่าโลกที่ผ่านมานี้อยู่ในอำนาจครอบงำของลัทธิวัตถุนิยม ลัทธินี้เจริญมาครอบงำอารยธรรม โลกปัจจุบันนี่เป็นสายวัตถุนิยมหมด และวัตถุนิยมมาถึงปัจจุบันนี้ก็อยู่ในระยะที่เรียกว่าบริโภคนิยม คือนิยมบริโภค หมายความว่าถือเรื่องการบริโภคเป็นหลักใหญ่ เป็นวิถีชีวิตของสังคม วิถีชีวิตก็เป็นวัฒนธรรม บางทีจึงเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมบริโภค และคนทั่วไปก็จะยึดถือว่าการบริโภคเป็นแหล่งที่มาของความสุข บุคคลจะมีความสุขด้วยการบริโภคหรือการเสพวัตถุแทบจะเป็นอย่างเดียว เขามองเห็นแค่นั้น

เมื่อมีลัทธิความเชื่อความคิดเห็นอันนี้ก็แน่นอนละว่า คนเราจะต้องมุ่งหาผลประโยชน์ หาวัตถุมาเสพให้มากที่สุด ทำให้ต้องแก่งแย่งช่วงชิงกัน เพราะแต่ละคนก็ต้องได้ต้องเอา จึงต้องเกิดการรบราฆ่าฟันเบียดเบียนกัน อันนี้เป็นเหตุที่หนึ่ง

ตัวที่ ๒ เรียกว่า มานะ แปลว่าความต้องการยิ่งใหญ่ ภาษาพระท่านแปลว่าความต้องการเป็นดุจธง หมายความว่า ต้องการเด่น ต้องการใหญ่ ต้องการเหนือผู้อื่น โดยเฉพาะก็คือต้องการอำนาจ ความต้องการอำนาจนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คนเราต้องการยิ่งใหญ่

เวลาเด็กจะเรียนหนังสือ เรามักจะสอนเด็ก ๒ อย่าง คือ หนึ่งให้เล่าเรียนเพื่อจะได้มีรายได้ดีหาเงินหาทองให้มากๆ สองเพื่อจะได้มียศมีตำแหน่งใหญ่ๆ เป็นผู้ยิ่งใหญ่คือมีอำนาจมากๆ อันนี้มักจะถูกจัดเป็นจุดหมายของชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งที่จริงก็เป็นมาแต่ในอดีตแล้ว เพราะว่าโลกเรานี้ไม่เคยสงบจริง มันไม่มีสันติภาพมาโดยตลอด เนื่องจากตัวคุกคามคือตัวเหตุปัจจัยที่จะทำลายสันติภาพนั้นมีมาเรื่อย ตั้งแต่สมัยโบราณ ประเทศต่างๆ ก็รบราฆ่าฟันกันด้วยเหตุเหล่านี้ บางทีกษัตริย์ในสมัยโบราณใฝ่ฝันที่จะให้ตัวเองยิ่งใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในชมพูทวีป หรือเป็นจักรพรรดิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อได้ชื่อแค่นี้แหละก็สามารถจะยกทัพไปปราบปราม ไปรบราฆ่าฟันให้คนตายเป็นหมื่นเป็นแสนก็ได้ กษัตริย์ในอดีตจำนวนมากปรารถนาอันนี้ คือต้องการได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพื่อให้สมปรารถนาอย่างนั้นก็ทำได้ทุกอย่าง

ต่อไปข้อสุดท้าย ทิฐิ คือความเชื่อ ความเห็น ความยึดถือในแนวความคิด ลัทธินิยม อุดมการณ์ ศาสนา ทั้งหมดนี้อยู่ในคำว่าทิฐิหมด กว้างมาก ซึ่งทำให้ถือว่าของฉันเท่านั้นจริง ของคนอื่นเท็จทั้งสิ้น และของฉันเท่านั้นประเสริฐเลิศ ของคนอื่นเลวทั้งนั้น พวกฉันเท่านั้นจะต้องอยู่ในโลก พวกอื่นต้องพินาศไปหมด เมื่อมีความเชื่อความยึดถืออย่างนี้ก็ทำได้ทุกอย่าง สงครามทิฐินี้ร้ายแรงอย่างยิ่ง ดังที่ได้เกิดสงครามล้างเผ่า ล้างชาติพันธุ์มนุษย์

ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมัน ฮิตเล่อร์ถือว่า ชาติพันธุ์อารยันนั้นเป็นเลิศ เป็นชาติพันธุ์ที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นชาติพันธุ์ที่ชนะในโลก จะต้องกำจัดชาติพันธุ์เผ่าพันธุ์อื่นได้หมด เมื่อยึดถือเชื่อปักใจอย่างนี้ ก็ทำสงครามรบฆ่าคนเท่าไรก็ได้

ระยะที่แล้วมาโลกแบ่งเป็น ๒ ค่าย คือ อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แล้วก็แข่งอำนาจกันกลายเป็นสงครามเย็นแทบแย่ เวลานี้ค่ายใหญ่ล้มไปค่ายหนึ่ง เหลือค่ายเดียว แต่สงครามศาสนา ลัทธิ เชื้อชาติ ผิวพรรณต่างๆ ก็รบกันไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสงครามทิฐิทั้งนั้น เพราะฉะนั้นสงครามทิฐิจึงร้ายแรงเป็นอย่างยิ่ง

สงครามในโลกมาจาก ๓ ตัว นี่แหละ คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ขอให้ทุกท่านลองสำรวจดู ภาพที่ปรากฏง่ายๆ ก็คือ การแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจ อันนี้แหละเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์ล้างผลาญกันในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับระหว่างชาติมาจนกระทั่งถึงระหว่างบุคคล

รวมความว่า ตัณหา มานะ ทิฐิ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ออกไปแสดงบทบาทต่างๆ ที่ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ลิดรอนสันติภาพหรือทำลายสันติภาพ แต่กิเลส ๓ ตัวนี่เกิดขึ้นที่ไหน ก็ก่อตัวขึ้นในจิตใจของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในที่สุดก็จะต้องมาแก้ปัญหาที่จิตใจของคน การแก้ปัญหาที่จิตใจของคนจะทำได้ก็ด้วยการพัฒนามนุษย์ คือทำให้มนุษย์เป็นคนที่ดีขึ้นนั่นเอง

ดีขึ้นนั้นก็มีความหมายหลายอย่าง ดีขึ้นในด้านพฤติกรรม คือความประพฤติทั่วไป ดีขึ้นในด้านจิตใจ คือจิตใจดีงามมีคุณธรรมขึ้น จิตใจเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้น จิตใจเป็นสุขในตัวมากขึ้น เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะมนุษย์ไม่สามารถมีความสุขในตัวเองจึงดิ้นรนออกไปวุ่นวายข้างนอก แต่พอมีความสุขมันก็สงบได้ แล้วก็ดีขึ้นในด้านปัญญา คือทำให้มนุษย์มีปัญญามากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจ รู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักคุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ดีขึ้น ตลอดจนเข้าใจธรรมชาติ มองเห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ชีวิตของเราก็ดี สิ่งทั้งหลายก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้สภาวะเข้าถึงความจริงจนกระทั่งมองเห็นความเหลวไหลไร้คุณค่าของการที่จะเที่ยววุ่นวายแย่งชิงผลประโยชน์ และแสวงหาอำนาจในสังคม

การพัฒนามนุษย์นี้สำคัญที่สุด เมื่อพัฒนามนุษย์ขึ้นไปก็จะค่อยๆ ทำให้คนนั้นห่างออกไปจากการที่จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของตัณหา มานะ ทิฐิ คือถูกตัณหา มานะ ทิฐิ ครอบงำน้อยลง เมื่อครอบงำน้อยลงก็เป็นอิสระแก่ตัวมากขึ้น สามารถทำสิ่งที่ดีงามได้มากขึ้น การที่จะสร้างสันติก็มีทางเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาคน เพื่อให้มีตัณหา มานะ ทิฐิ น้อยลง หรือตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของกิเลสเหล่านี้น้อยลง การพัฒนามนุษย์นั้นก็คือการศึกษา ซึ่งได้แก่สิกขานั่นเอง

ศึกษาเพื่อสันติภาพ ด้วยการศึกษาซึ่งสันติภาพ

พอถึงตอนนี้ คือเมื่อหันไปดูหลักการของพระพุทธศาสนาแล้วหวนกลับมาพิจารณาที่ชื่อของรางวัลนี้อีกที ที่ว่าการศึกษาเพื่อสันติภาพนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ศึกษาเพื่อสันติภาพ จริงอยู่เมื่อกี้นี้บอกว่าศึกษาเพื่อสันติภาพ คือปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเพื่อบรรลุสันติสูงสุดคือพระนิพพาน อย่างน้อยก็เพื่อสันติภายนอกคือความสงบเรียบร้อยที่ปรากฏให้เห็น แต่ที่แท้แล้วไม่ใช่แค่ศึกษาเพื่อสันติ แต่เป็นการศึกษาสันติเลยทีเดียว คือตัดคำว่าเพื่อออก

มีพุทธพจน์ในพระสูตรแห่งหนึ่งตรัสว่า สนฺติเมว โส สิกฺเขยฺย พึงศึกษาสันติ หมายความว่าอย่างไร ศึกษาคือฝึกหรือทำให้ได้ให้เป็นขึ้นมา ได้แก่พัฒนานั้นเอง ท่านให้ฝึกสันติก็คือทำสันติให้เกิดขึ้นเลย ไม่ต้องไปฝึกเพื่อสันติ ตอนนี้แหละสำคัญมาก กลายเป็นว่าตัวสันตินั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างให้เกิดให้มีขึ้น คนเราฝึกสันติได้ตลอดเวลา การปฏิบัติทุกอย่างเป็นการฝึกสันติ เราต้องพยายามฝึกสันติให้เกิดขึ้นในตนเอง

ถ้าฝึกสันติให้เกิดขึ้นชีวิตของเราก็สงบ เมื่อชีวิตของเราสงบ ความสงบนั้นก็จะโยงไปถึงความสุขด้วย คนเราที่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย จิตใจถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์นั้นไม่มีสันติ ไม่มีความสงบ พอเราฝึกสันติ ทำใจของเราให้สงบได้ หรือเริ่มต้นแม้แต่ทำกายวาจาให้สงบได้ดีขึ้น ก็เริ่มสัมผัสกับความสุขภายใน เมื่อทำใจให้สงบขึ้น มีความรู้เข้าใจสิ่งต่างๆ วางใจได้ถูกต้อง ก็เข้าถึงความสงบมากขึ้น

คำว่าสงบนั้นคือระงับสิ่งที่เผาลน ความเร่าร้อนกระวนกระวายตลอดจนกิเลสต่างๆ จะถูกระงับหรือบรรเทาเบาบางลง เพราะฉะนั้นคำว่าสงบจึงคู่กับคำว่าระงับ พอระงับสิ่งที่รบกวนก่อความเร่าร้อนต่างๆ ได้ ก็เรียกว่าสิ่งเหล่านั้นสงบไป พอสิ่งเหล่านั้นสงบไปเราก็สงบ การที่ระงับก็คือไประงับเจ้าตัวก่อกวน เมื่อเจ้าตัวก่อกวนสงบเราก็สงบ เมื่อใจเราสงบก็ไม่มีความเร่าร้อน นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าใจเราไม่สงบ ข้างในเร่าร้อนอยู่ จะไปที่ไหนๆ ก็พาเอาความเร่าร้อนไปในที่นั้นๆ รู้สึกว่าที่ไหนๆ ก็ไม่สงบไปหมด การที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในโลกจึงต้องให้คนมีความสงบในตัวขึ้นมาให้ได้ ฉะนั้นจึงไม่ต้องรอศึกษาเพื่อสันติ แต่ให้ศึกษาสันติเลย ฝึกสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เข้าหลักพุทธพจน์ที่พูดถึงเมื่อกี้ หลักนี้ท่านเรียกว่าอธิษฐาน หรืออธิษฐานธรรม

อธิษฐานนั้น แปลว่าที่มั่น คนเราจะทำงานอะไรให้สำเร็จได้ผลดี ต้องมีที่มั่น แม้แต่ทหารจะไปรบทำสงครามก็ต้องมีฐานที่มั่น ถ้าไม่มีฐานที่มั่นแล้วก็จะรบได้ยาก และยากที่จะชนะ คนเรานี้จะระงับความเร่าร้อนกระวนกระวายจากกิเลสต่างๆ โดยเฉพาะจากตัณหา มานะ ทิฐิ ก็ต้องมีที่มั่น ถ้ามีที่มั่นยืนหยัดแล้วก็สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้

ตัวอธิษฐาน หรือธรรมที่จะเป็นที่ยืนหยัดเป็นที่มั่นของคนมี ๔ ข้อ ท่านใช้คำว่า

๑. ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย ขอใช้เป็นคำบาลี วันนี้อาจจะบาลีมากสักหน่อย ข้อนี้แปลว่า ไม่พึงประมาทปัญญา ในอธิษฐานธรรม ๔ ข้อ ข้อหนึ่งว่าปัญญา แต่ท่านบอกวิธีปฏิบัติว่าไม่ประมาทปัญญา คือต้องใช้ปัญญาอยู่เสมอ ไม่ทอดทิ้งปัญญา ไม่ละเลยปัญญา

คนเรานี้มักจะมีปัญหาที่ไม่ชอบใช้ปัญญา หรือไม่เอาปัญญามาใช้ และไม่ชอบใส่ใจพัฒนามัน แต่ชอบไปพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจตัณหา เอาอย่างง่ายในชีวิตประจำวันนี้ เรามักจะใช้อารมณ์ อารมณ์(ตามความหมายแบบไทยๆ) ก็มาจากความชอบใจไม่ชอบใจ พอเจออะไรก็เอาอารมณ์เข้าใส่ก่อน เกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจที่ท่านเรียกว่ายินดียินร้ายแล้วก็ปฏิบัติการไปตามอารมณ์ ถ้าอย่างนี้ก็ทำลายสันติแน่ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกให้ใช้ปัญญา ไม่ละเลยการใช้ปัญญา พอมีอะไรเกิดขึ้นต้องใช้ปัญญาพินิจพิจารณา มีวิจารณญาณ แก้ไขสถานการณ์ด้วยเหตุผล นี่ว่ากันในขั้นต้นๆ ในชีวิตประจำวันก็ต้องไม่ละเลยการใช้ปัญญา เพื่อจะได้แก้ปัญหาเรื่องจิตที่ลุอำนาจแก่ความยินดียินร้ายชอบชังหรืออารมณ์ต่างๆ ลงไปได้บ้าง แล้วความเร่าร้อนวุ่นวายก็จะเบาลง

๒. สจฺจํ อนุรกฺเขยฺย แปลว่า พึงอนุรักษ์สัจจะ พึงรักษาสัจจะ ตามรักษาสัจจะ เอาความจริงเข้าว่า หรือเอาความจริงเป็นหลัก การที่เราใช้ปัญญานั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อเข้าถึงความจริงนั่นเอง เมื่อเราใช้ปัญญามีวิจารณญาณแล้วเราก็ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจอารมณ์ เราก็ไม่เอนเอียง เราก็พิจารณาวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง คือเข้าถึงความจริง พอเข้าถึงความจริงแล้วก็อนุรักษ์ความจริง รักษาความจริงนั้น อยู่ในความจริง อย่าคลาดเคลื่อนจากความจริง เอาความจริงเป็นหลักเป็นที่มั่น ปัญญาเป็นตัวนำเรามาสู่สัจจะแล้วเราก็ยึดมั่นปฏิบัติตามหลักสัจจะนั้น

๓. จาคํ อนุพฺรูเหยฺย แปลว่า พึงเพิ่มพูนจาคะ จาคะแปลว่าความสละ ความสละนี่มีหลายอย่าง สละทางวัตถุคือไม่ติดยึดไม่สยบอยู่ใต้วัตถุทั้งหลาย รู้ทันว่ามันไม่ใช่สาระที่แท้จริงของชีวิต เราจะจับสาระที่แท้จริงของชีวิตให้ได้ แต่จาคะที่เป็นตัวแท้ก็คือสละความยึดถือในใจของเราเอง หรือความเอาแต่ใจตัวเอง เมื่อถึงสัจจะแล้วต้องยอมตามสัจจะ ยอมสละความยึดถือ ความพอใจ ความชอบใจของตัวเองเสีย เอาตามสัจจะให้ได้ เอาตามความจริง คนเรานี้จะมาเสียตรงนี้คือติดอยู่ในความยึดถือ แม้รู้ความจริงใช้ปัญญาเข้าถึงสัจจะแล้ว ก็ไม่ยอมทำตามสัจจะ ทำไม่ได้เพราะว่าตัวมีความยึดถือเป็นของตน เพราะฉะนั้นจะต้องยอมสละด้วยหลักจาคะ ถ้าเรายอมสละเพื่อเห็นแก่ความจริงได้เราก็สละกิเลสต่างๆ ได้ เอาความจริงเข้าว่า ยอมสละความยึดถือ ความพอใจหรือแม้แต่ทิฐิอะไรต่างๆ ของตัวเองได้

๔. สนฺติเมว โส สิกฺเขยฺย แปลว่า พึงศึกษาสันติ คือทำใจให้เข้าถึงความสงบได้อยู่เสมอ เมื่อเราพยายามสละความชอบใจและความยึดถือของเรานั้น บางทีมันเป็นการต่อสู้ คือเราจะต้องต่อสู้เพื่อที่จะสละ ไม่ยอมตามความยึดถือของเรา จิตใจของเราก็อาจจะดิ้นรนกระสับกระส่ายกระวนกระวายเร่าร้อน ท่านบอกว่าพึงศึกษาสันติคือทำใจให้สงบ หมายความว่าเมื่อสละสิ่งที่ยึดถือที่ชอบใจอะไรต่างๆ เพื่อเห็นแก่สัจจะแล้ว ก็ทำใจให้สงบให้มีสันติได้ด้วย

ถ้าเกิดสันติขึ้นแล้ว การกระทำของเราก็มั่นคง เพราะคนที่ทำอะไร แม้จะยอมสละ แต่ถ้าจิตใจยังวุ่นวายยังเดือดร้อนยังต่อสู้อยู่ การทำความดีและการสละสิ่งร้ายนั้นจะไม่มั่นคง ถ้าเมื่อไรใจสงบ ก็มีความสุขด้วย พอมีความสงบมีความสุขในใจแล้ว ก็อยู่ตัว เพราะฉะนั้นการทำความดีต่างๆ ก็จะมีความแน่นอนมั่นคง และจะเดินหน้าในความดีนั้นได้ นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการอธิบายในหลักธรรมที่ว่า ท่านให้ศึกษาสันติ คือฝึกจิตของเราให้มีสันติอยู่เสมอ

ในพระพุทธศาสนานั้นมีวิธีการต่างๆ ในการที่จะฝึกสันติ หรือศึกษาสันตินี้ได้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เราจึงควรนำเอาวิธีการเหล่านี้มาใช้สร้างสันติให้เกิดขึ้นในใจ แล้วต่อไปก็จะมีสันติในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วย ในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์หรือกับคนอื่นนั้น ก่อนที่จะเสียสันติกับเขาเราก็เสียสันติในใจก่อน คือเกิดการขุ่นเคืองขัดแค้น ใจขุ่นมัวเศร้าหมอง เมื่อสันติไม่มีในใจแล้วสันติกับเพื่อนบ้านก็ชักหมดไป ต่อจากนั้นเมื่อสันติหมด เกิดความขัดใจขัดแย้งรุนแรงขึ้นออกไปแสดงบทบาท ก็ตกอยู่ใต้อำนาจตัณหา มานะ ทิฐิ แล้วก็ยุ่งไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้น องค์การสหประชาชาติ โดยทางยูเนสโก ศึกษาไปศึกษามาในที่สุดยอมรับ และถือว่าเป็นข้อพิจารณาสำคัญในการที่จะตัดสินให้รางวัลสันติภาพ ตรงตามคติที่ตั้งเป็นหลักการของยูเนสโก ที่จริงนั้นองค์การนี้ตั้งมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ปี ๑๙๔๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๙ นานมาแล้ว ตอนหลังสงครามโลกสิ้นสุดใหม่ๆ เมื่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้ว ต่อมาก็ตั้งองค์การยูเนสโกขึ้น ในการตั้งนี้ได้ปรารภเหตุผลข้อสำคัญ คือ การที่โลกนี้มีปัญหาสงครามจนกระทั่งต้องตั้งองค์การสหประชาชาติ สงครามนั้นเกิดที่ไหน ก็มาจากจิตใจมนุษย์ เพราะฉะนั้นสันติภาพที่แท้จริงในที่สุดก็ต้องตั้งขึ้นจากจิตใจของมนุษย์ก่อน และเขาก็ได้ใช้หลักการอันนี้มาเป็นข้อพิจารณาในการตัดสินรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพด้วย ว่าสันติภาพนั้นเกิดจากจิตใจมนุษย์ ทีนี้พระพุทธศาสนาก็แสดงหลักการนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้ไปสอนตามหลักการของสหประชาชาติหรือยูเนสโก แต่พอดีเกณฑ์ในการให้รางวัลมาตรงเข้ากับหลักการในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่แล้ว

โดยหลักการสำคัญก็เป็นอันว่าให้ศึกษาสันติ แต่การที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จเราก็จะต้องปฏิบัติไปตามกระบวนวิธี ซึ่งในพระพุทธศาสนามีข้อย่อยต่างๆ ในการปฏิบัติมากมาย เพื่อทำลายหรือทำตัวเราให้พ้นจากอำนาจของตัณหา มานะ ทิฐิ

ถ้ายังใฝ่เสพอามิส ก็เลิกคิดใฝ่สันติ

กระบวนวิธีในการที่เราจะทำตัวให้พ้นจากอำนาจของตัณหา มานะ ทิฐิ นั้น พระพุทธศาสนาได้จัดวางเป็นรูปกระบวนการการศึกษาที่เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งทราบกันอยู่แล้วว่า ได้แก่

  1. การฝึกฝนพัฒนาคนในด้านพฤติกรรมภายนอกทางกายวาจา เรียกว่า ศีล
  2. การฝึกฝนพัฒนาคนในด้านจิตใจ เรียกว่า สมาธิ หรือจะเรียกศัพท์ยาวว่า “อธิจิตตสิกขา” คือด้านจิตใจ
  3. การฝึกฝนพัฒนาคนในเรื่องของความรู้ความเข้าใจให้เข้าถึงความจริง เรียกว่า ปัญญา

พูดง่ายๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้เป็นเครื่องพัฒนามนุษย์ที่จะทำให้เข้าถึงตัวความจริง คือเข้าถึงตัวธรรมและเอาธรรมะมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ส่วนในการที่จะเอาสิกขามาปฏิบัติให้สำเร็จเป็นสันติในหมู่มนุษย์นั้น ก็มีวิธีปฏิบัติที่มนุษย์จะต้องดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดมากมายด้วยกัน แต่คติหนึ่งที่อยากจะเอามาพูดในที่นี้ คือพุทธภาษิตบทที่ว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข บอกไว้แล้วว่าวันนี้มีบาลีมากหน่อย บาลีพุทธพจน์นี้แปลว่า ถ้าหวังสันติ ต้องตัดโลกามิสได้ ถ้าตัดโลกามิสไม่ได้ก็ไม่มีทางได้สันติ

โลกามิสคือเหยื่อล่อของโลก ได้แก่วัตถุที่เป็นสิ่งเสพทั้งหลาย การละอามิสได้ หมายความว่าละในทางจิตใจที่เข้าถึงรู้ความจริงและไม่ติดไม่ตกเป็นทาสของมัน คนเรานั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะทิ้งวัตถุหมด พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้น แต่ท่านสอนให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามคุณค่าประโยชน์ที่แท้จริงที่เป็นสาระของมัน แต่ปัญหาสำคัญก็คือ มนุษย์นั้นพอได้โลกามิสมาหรือไปอยู่กับโลกามิส ก็ไปติดไปหลงไปขึ้นต่อมันเสียจนกระทั่งยึดถือว่าชีวิตของเราจะดีมีสุขประเสริฐเลิศได้ เป็นชีวิตที่สุขสมบูรณ์ อยู่ที่ได้มีและได้เสพวัตถุที่เรียกว่าโลกามิส

เมื่อมนุษย์ไปหลงติดอยู่กับโลกามิสก็ต้องวุ่นวายแน่นอน ในด้านพฤติกรรมก็วุ่นทั้งกายและวาจา ต่างคนต่างลุ่มหลงติดจะเอาอามิส ก็ต้องแย่งชิง พฤติกรรมกายวาจาก็กลายเป็นการเบียดเบียนกัน ตลอดจนรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ ต่อไปในด้านจิตใจ เมื่อวุ่นวายหลงอยู่กับอามิส จิตใจก็มีความทุรนทุรายกระสับกระส่ายดิ้นรนทะยานหา มีความสุขช่วงสั้นตอนเดียวที่ได้ที่เสพโลกามิสเหล่านี้ แต่ในเวลานอกนั้นที่เป็นส่วนใหญ่ จิตใจก็ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบที่แท้จริง มีแต่ความวุ่นวายเดือดร้อน เกิดปัญหาภายในชีวิตจิตใจของตนเองอีก สันติระหว่างเพื่อนบ้านก็ไม่มีเพราะแย่งชิงกันด้วยพฤติกรรมกายวาจาที่เบียดเบียน ส่วนสันติในใจก็ไม่มีเพราะว่าจิตใจไม่สงบไม่มีความสุข

ยิ่งกว่านั้น พอติดในอามิส ปัญญาที่แท้ก็ไม่เกิด ไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ใจที่คิดแต่จะได้จะเอาจะเสพอามิส ทำให้มองไม่เห็นหรือไม่ยอมมองดูว่า การแสวงหาเสพบริโภคอามิสนั้น ก่อให้เกิดทุกข์โทษความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์และสังคมอย่างไร เป็นผลร้ายทำความเสียหายแก่ธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร และการหมกมุ่นมัวเมาเสพสิ่งเหล่านั้น ทำลายคุณภาพชีวิตของตนเองอย่างไร มองเห็นแต่ว่าอามิสเหล่านี้เท่านั้นเป็นสิ่งจะทำให้ชีวิตของเราดีงามประเสริฐ มีความสุข หารู้ความจริงของมันที่เป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาตินั้น มีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาเป็นต้นไม่ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงเหล่านี้

รวมความว่า เพราะความยึดติดในโลกามิสจึงทำให้เสียสันติทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนไม่สามารถเข้าถึงสันติที่ลึกซึ้งสูงขึ้นไป ฉะนั้น ถ้าเราหวังสันติก็ต้องตัดโลกามิสได้ คือไม่ยึดติดหลงไปขึ้นกับมัน แต่มนุษย์จำนวนมากจะหลงติดอามิสจนกระทั่งในที่สุดเขาจะฝากชีวิตและความสุขไว้กับโลกามิสนั้น

โลกนี้ไม่รู้ตัว บางทีเราอยู่กันไปเราก็แสวงหาแต่อามิส แสวงหาแต่วัตถุเสพจนกระทั่งเรานึกว่าความสุขของเราอยู่ที่อามิสเหล่านั้นเท่านั้น ในที่สุดเราก็สูญเสียอิสรภาพ คือความสุขของเราขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ขาดมันเราอยู่ไม่ได้ มนุษย์สมัยปัจจุบันนี้มีความโน้มเอียงอย่างนี้ ยิ่งระบบผลประโยชน์ ระบบบริโภคนิยมเข้ามา ก็ยิ่งผลักดันและหล่อหลอมชีวิตจิตใจคนให้เป็นไปในทำนองอย่างนั้น จนกระทั่งคนหมดความสามารถที่จะมีความสุขด้วยตนเองโดยปราศจากอามิสวัตถุที่จะเสพ ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่า ชีวิตและความสุขของคนนั้นเป็นทาสของวัตถุ ขึ้นต่อวัตถุโดยสิ้นเชิง เมื่อขึ้นต่อวัตถุตัวเองก็ขาดอิสรภาพ เมื่อไม่มีอิสรภาพ ไม่มีความสุขด้วยตนเอง ความสุขต้องขึ้นกับสิ่งเหล่านั้น ความสุขอยู่ข้างนอกตัวเอง ก็ต้องดิ้นรนทะยานหา ในใจของตัวเองก็ไม่มีความสุข ได้แต่ดิ้นรนทะยานหาความสุข เมื่อแต่ละคนต่างก็ดิ้นอย่างเดียวกัน ก็ต้องขัดแย้งกัน ต้องทะเลาะวิวาท สงครามก็เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น การติดยึดในโลกามิสจึงเป็นหนทางแห่งการสูญเสียสันติภาพทั้งภายในจิตใจและภายนอกในสังคมและในโลก ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ถ้าหวังสันติต้องตัดโลกามิสได้ หมายความว่าตัดความยึดติดหลงมัวเมาที่ทำให้ชีวิตขึ้นต่อมันเสีย ทำตัวให้เป็นอิสระ

ถ้าไม่หลงโลกามิส ก็จะเป็นอิสระและสันติสุขก็จะยิ่งพัฒนา

คนเรานี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาแล้วเราก็สามารถมีความสุขด้วยตัวเองมากขึ้น และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี่ท่านสอนให้เราพัฒนาโอกาสและความสามารถในการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย มนุษย์นั้นตอนแรกเราอยู่โดยพึ่งพาวัตถุมากหน่อย ความสุขของเราขึ้นต่อวัตถุมากหน่อย แต่เมื่อพัฒนาตนต่อไป ชีวิตของเราดีขึ้นประเสริฐขึ้น ชีวิตและความสุขของเราก็ขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ซึ่งทวนกระแสตรงข้ามกับระบบปัจจุบัน

ในระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบแข่งขัน ตอนแรกเราเกิดมาในโลกชีวิตขึ้นต่อวัตถุน้อย ความสุขขึ้นต่อวัตถุน้อย เรายังมีจิตใจที่มีความสุขด้วยตนเองได้ แต่ต่อมาอยู่นานเข้า ความสุขในตัวเองหมดไป มีแต่ความสุขที่ไปฝากไว้กับวัตถุภายนอก ปราศจากวัตถุภายนอกไม่มีความสุข ดิ้นรนกระวนกระวายทุรนทุราย ดังจะเห็นได้จากชีวิตของคนยุคปัจจุบันนี้ ต้องขึ้นกับวัตถุภายนอก แม้แต่สิ่งเดียวกันในสมัยหนึ่งเป็นของง่ายๆ ก็อยู่ได้ ต่อมาดิ้นรนต้องให้สิ่งของนั้นฟุ่มเฟือยหรูหรามากขึ้นจึงมีความสุข ต่อมาต้องหรูหรายิ่งขึ้นไปอีก มีราคามากกว่านั้น สิ่งที่เคยหรูหราฟูฟ่าขนาดเดิมนั้นไม่ทำให้มีความสุขเสียแล้ว ถ้าต้องมีสิ่งเดิมนั้นก็กลับมีความทุกข์เสียด้วย ฉะนั้นชีวิตจึงต้องขึ้นกับวัตถุมากขึ้นๆ มีความกระสับกระส่าย กระวนกระวายมากขึ้นเมื่อขาดวัตถุ เมื่อเป็นอย่างนี้สันติภายนอกก็ไม่มี สันติภายในก็หมด เริ่มด้วยสันติภายในหมดก่อน แล้วพลอยให้สันติภายนอกขาดหายไปด้วย เพราะจะต้องแย่งชิงกันมากขึ้น

เพราะฉะนั้นคนเรานี้จึงต้องพัฒนาในทางที่ว่า ยิ่งอยู่ไปในโลก ความสุขจะต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อวัตถุน้อยลง

พระพุทธศาสนาท่านเตือนอยู่เสมอ สำหรับชาวบ้านท่านก็ให้หลักในการพัฒนาตัวเองและพัฒนาความสุขได้ ขอยกตัวอย่างท่านให้รักษาศีล ๕ เพราะอะไร เพราะว่า ท่านยอมรับว่ามนุษย์เรานี้ แต่ละคนก็แสวงหาวัตถุ มุ่งหวังความสุขจากวัตถุทั้งนั้น ท่านจึงเอาแค่ว่าให้มีกรอบในการแสวงหาไว้ก่อน กรอบเบื้องต้นคือให้มีศีล ๕ ไม่ละเมิดต่อกัน คุณจะหาผลประโยชน์หาวัตถุมาเสพก็หาไป แต่อย่าละเมิด ๕ ข้อนี้ขอไว้หน่อยเป็นกรอบ คืออย่าละเมิดชีวิตร่างกายกัน อย่าละเมิดกรรมสิทธิ์กัน อย่าละเมิดคู่ครองกัน อย่าทำลายผลประโยชน์กันด้วยวาจา และอย่าคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่นด้วยการเสียสติเนื่องจากเสพสิ่งมึนเมา เอาแค่นี้ก่อนแล้วคุณก็พออยู่กันได้ แต่คุณก็จะยังไม่มีความสุขแท้จริงหรอก เพราะว่าความสุขของคุณยังขึ้นต่อวัตถุภายนอก

แต่ถ้าคุณไม่มีกรอบ ๕ ข้อนี้แล้วคุณจะอยู่กันไม่ได้เลย จะเดือดร้อน รบราฆ่าฟันกัน ไม่มีใครได้ความสุข คนที่มีกำลังมีโอกาสมากก็เอามากที่สุด คนที่มีกำลังมีอำนาจมีโอกาสน้อยมีความสามารถน้อยก็แย่ เสร็จแล้วพอสังคมระส่ำระสาย คนที่มีกำลังมากมีของมากมีวัตถุเสพมากก็เดือดร้อนไปด้วย ไม่มีความสุขจริงทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเพื่อจะให้พออยู่กันได้ ท่านจึงบอกให้มีศีล ๕ ก่อน พอมีศีล ๕ สังคมที่เรียกว่าสังคมแห่งกามอามิสนี่ก็พออยู่กันได้ สังคมแห่งกามอามิสหรือโลกามิสนี่พออยู่กันได้ด้วยศีล ๕ เป็นกรอบไว้ก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สุขจริง

ท่านบอกว่า เอาละถ้าคุณอยู่ในกรอบนี่ก็ยังดี คุณจะหาความสุขทางวัตถุก็หาไป แต่ถ้าคุณต้องการจะมีความสุขแท้ คุณจะต้องพัฒนาจิตใจของคุณ ต้องทำตัวของคุณให้เป็นอิสระจากวัตถุให้มากขึ้น ถึงตอนนี้พระองค์ก็ให้ศีล ๘ มาต่อ มาช่วยฝึกหรืออย่างน้อยมากันตัวไว้ ป้องกันตัวไว้ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ ศีล ๘ คือศีลที่มาช่วยฝึกมนุษย์ให้ไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพไปขึ้นต่อวัตถุมากเกินไป หรือพอให้มีทางเขยิบพัฒนาให้มีความสุขที่เป็นอิสระได้มากขึ้น

ท่านบอกว่า เอานะ คุณอยู่ไป ๘ วันครั้งหนึ่งนะ ลองมาอยู่แบบง่ายๆ ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุกันสักที ขอวันเดียว อย่างน้อยในวันนี้ให้เตือนตัวเองว่าเราจะอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุเกินไป พอถึง ๘ วันก็รักษาศีลที่เรียกว่าอุโบสถครั้งหนึ่ง

เอาละต่อจากศีล ๕ ศีลข้อที่ ๖ เพิ่มเข้ามาก็คือ วิกาลโภชนา เวรมณี แปลว่าเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล แต่ก่อนนั้นความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุเริ่มด้วยอาหารก่อน คนเรานี่จะหาความสุขก็มองไปที่อาหารการกิน เที่ยวหาอาหารอร่อยๆ เสพรสมัน ตอนนี้ท่านบอกว่า นี่นะ คุณระวังนะ คุณจะเอาความสุขไปฝากไว้กับวัตถุมากเกินไป ลองสักวันซิ ไม่ต้องกินตามใจลิ้นดูสักวันหนึ่งนะ จำกัดเวลาเอาแค่เที่ยง และลองกินอาหารตามคุณค่าที่แท้จริง เพื่ออยู่สบายมีสุขภาพดี ลองดูซิว่าไม่กินตามอร่อยลิ้น กินอย่างมีขอบเขตแค่กาลโภชนะ หลังเที่ยงแล้วเราไม่กินแล้วเราอยู่ได้ไหม จะมีความสุขได้ไหม ชีวิตจะอยู่ดีมีสุขได้ไหมโดยไม่ต้องไปกินตามใจลิ้น ลองดูเถอะ นี่ก็เป็นกรอบป้องกัน ไม่ให้เราเอาชีวิตเอาความสุขไปขึ้นกับวัตถุมากเกินไป นี่หนึ่งละคือเรื่องอาหาร

สอง นอกจากกินให้ลิ้นอร่อยหรือเสพทางลิ้นแล้ว เราก็เสพทางตาทางหู ทางกายสัมผัส เพราะฉะนั้นศีลแปดข้อต่อไปคือข้อที่ ๗ จึงบอกว่า นจฺจคีตวาทิต ... คือ เรื่องการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี เรื่องเสียงไพเราะ เรื่องดูการละเล่นต่างๆ แต่ก่อนนี้เราอยู่นานไปในโลกเรายิ่งพยายามหรือทะยานหาความสุขในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น มากขึ้นจนหลงระเริง หรือหมกมุ่นมัวเมา ทีนี้เราลองเป็นอิสระจากมันบ้าง พอถึง ๘ วันทีหนึ่ง ก็ลองอยู่ง่ายๆ ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งเหล่านี้บ้าง ลองดูซิว่าเราจะอยู่ดีมีสุขได้ไหมโดยไม่ต้องยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น

แม้แต่ที่นอน ฟูกอย่างดีที่ให้กายสัมผัสที่สบายนุ่มนวล ซึ่งบางทีหรูหราจนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่นอนเลยสักนิด เป็นเพียงความหรูหราฟูฟ่าที่ประดับประดาตกแต่งจนเลยเถิด ไปๆ มาๆ ชีวิตของเราก็ขึ้นกับวัตถุเหล่านี้ ทีนี้บอกว่า เอ้า ๘ วันลองสักที นอนง่ายๆ นอนพื้นนอนเสื่อดูซิ อยู่ได้ไหม เราจะมีความสุขได้ไหม โดยไม่ต้องขึ้นกับที่นอนอย่างนั้น ๘ วันเรามาลองกันทีหนึ่ง อย่างน้อยก็ป้องตัวเราไว้ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ

ถ้าทำได้อย่างนี้ ต่อไปญาติโยมจะพูดได้ว่า เอ้อ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ มีก็ดีนะ หมายความว่า เออ ถ้าจะมีวัตถุฟุ่มเฟือยหรูหรามา ก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าไม่มีเราก็อยู่ได้ ตอนแรกมีก็ดี ไม่มีก็ได้ เอาละนี่เริ่มเป็นอิสระขึ้นแล้ว แต่ก่อนนี้มีจึงจะได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้

ขณะนี้หลายคนนะ เรื่องวัตถุฟุ่มเฟือยนี่ต้องมีจึงจะได้ ไม่มีอยู่ไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าสูญเสียอิสรภาพไปแล้วโดยสิ้นเชิง แต่พอเราเริ่มฝึกอยู่ในศีล ๘ รักษาอุโบสถ ๘ วันครั้งเท่านั้นแหละ เตือนตัวไว้ ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ ถึงตอนนี้จะพูดใหม่ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้

เอาละต่อไป เราซักจะเก่งขึ้น นอนง่ายๆ นอนพื้นนอนเสื่อก็ได้ จะไปไหนนอนไหนก็สะดวก ไม่ต้องเอาที่นอนตามไป คนที่จะต้องนอนบนที่นอนหรูหราอย่างนี้ ไม่รู้จะเอาไปยังไง ที่นอนนี้เอาไปลำบาก จะเดินทางไปไหนก็ไม่เป็นอิสระ สูญเสียอิสรภาพมาก พอจะไปในที่ที่ไม่มีสิ่งหรูหราฟุ่มเฟือยก็ไม่มีความสุข ต้องทุรนทุราย นอนไม่ได้ หรือนอนไม่หลับ

พอเรามีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้นและชำนาญขึ้น เมื่อกี้บอกว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่ทีนี้พัฒนาขึ้นไปอีกบอกว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี... มีก็ได้ ไม่มีก็ดี หมายความว่ามันเกะกะ เราอยู่ง่ายๆ อย่างนี้สบายกว่า ไม่มีก็ดี มีก็ได้ มีก็ไม่ว่าอะไร เอามาฉันก็ใช้ได้นะ แต่ถ้าไม่มีก็ดี มันโปร่งโล่งดี ไม่พะรุงพะรัง คนอย่างนี้ไม่ถึงกับต้องปฏิเสธ เราไม่ต้องมีชีวิตเอียงสุดหรอก เอาแค่อย่างนี้ได้แค่นี้ก็ดีถมไป

อย่างที่ว่ามานี้แหละคือวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงประทานศีลเบื้องต้น ขยับจากศีล ๕ ขึ้นมาเป็นศีล ๘ ตอนอยู่กับศีล ๕ เรามีชีวิตของมนุษย์ในขั้นกามาวจร คือโลกแห่งกามที่ต้องขึ้นกับอามิส ซึ่งก็พออยู่กันได้ด้วยศีล ๕ ที่ช่วยให้สังคมไม่ถึงกับลุกเป็นไฟ พอมีศีล ๘ ชีวิตก็ขึ้นต่อวัตถุน้อยลง เมื่อชีวิตขึ้นต่อวัตถุน้อยลง เราก็เอาเวลาที่เราจะต้องทุ่มเทไป เอาแรงงานและความคิดที่เคยต้องใช้ในการมุ่งหาวัตถุเสพอย่างวุ่นวายนั้นมาใช้ประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ตอนนี้เราเป็นอิสระมากขึ้นแล้ว เวลาแรงงานและความคิดของเราก็เหลือมากมาย เราก็เอามันมาใช้ในการทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญคุณประโยชน์ และในการพัฒนาชีวิตพัฒนาจิตใจ พัฒนาความสุขที่ประณีตขึ้นในทางจิตใจ

นอกเหนือจากนี้ พระพุทธศาสนายังสอนวิธีหาความสุขด้วยการปรุงแต่งความสุขให้กับตัวอีกมากมาย พูดรวบรัดว่า เมื่อเข้ามาสู่ทางปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องแล้ว เราจะพัฒนาหนทางหาความสุขได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีความสุขได้อีกมากมาย ตอนนี้แหละเราจะมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขได้เยอะแยะ แต่วันนี้อาตมาจะไม่พูดเรื่องวิธีพัฒนาความสุข เพราะจะกินเวลามากเกินไป แต่รวมความว่าในพระพุทธศาสนานี้มีหลักการว่าคนเรานี้พัฒนาได้ เมื่อคนพัฒนาแล้ว อะไรต่างๆ ก็พัฒนาตามไปด้วย เช่น ความสุขเป็นต้น

ความสุขยิ่งพัฒนา สันติภาพก็ยิ่งเข้ามาเสริมประสาน

คนเรามีช่องทางได้ความสุขอีกเยอะแยะนอกเหนือจากการเสพอามิส อาตมาขอยกตัวอย่างนิดเดียว เดี๋ยวจะไม่เห็นว่าสุขพัฒนาได้อย่างไร อย่างคุณพ่อคุณแม่นี่ ไม่ได้มีความสุขเฉพาะเสพอามิสหรอกนะ แต่ท่านมีความสุขอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคุณแม่นี่มีความสุขพิเศษที่คนอื่นไม่ค่อยมี คือความสุขจากการให้

คนทั่วไปจะมีความสุขจากการได้ คือ คนทั่วไปมีชีวิตที่หวังความสุขจากการเสพอามิส จึงมีความสุขจากการได้การเอา ต้องได้ต้องเอาจึงจะมีความสุข จนกระทั่งลืมไปว่า ที่จริงยังมีหนทางหาความสุขอีกแบบหนึ่งที่ประณีตกว่า เช่น คุณแม่ เมื่อให้แก่ลูกก็มีความสุขใช่ไหม พอให้แก่ลูกแล้วนี่ ลูกยิ้มย่องผ่องใส พ่อแม่สบายมีความสุขยิ่งกว่าลูก หรือมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอะไร เพราะการเป็นพ่อเป็นแม่ทำให้ได้พัฒนาจิตใจขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือมีความรักมีเมตตาต่อลูก ซึ่งทำให้การให้กลายเป็นความสุข แต่นั่นเป็นไปโดยธรรมชาติ ทีนี้มนุษย์ที่พัฒนาจิตใจขึ้นไปอย่างเช่นเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนี่ไม่ติดในวัตถุแล้ว มีอะไรให้ได้หมด เพราะว่า ในใจมีคุณธรรม เมื่อพอใจมีความรักความเมตตาแล้ว การให้ก็กลายเป็นความสุข

สำหรับมนุษย์ปุถุชน การให้คือการสูญเสีย จึงเป็นความฝืนใจ ทำให้เกิดความทุกข์ ให้คือเสีย ต้องได้จึงจะสุข พอได้ก็มีความสุข เพราะฉะนั้นมนุษย์ปุถุชนจึงมีความสุขจากการได้การเอา แต่เมื่อเป็นพ่อแม่ก็มีความสุขจากการให้ด้วย การให้กลายเป็นความสุขเพราะอะไร เพราะพ่อแม่รักลูก รักลูกคืออะไร คืออยากให้ลูกมีความสุข ความอยากให้ลูกมีความสุขก็ทำให้การให้กลายเป็นความสุขไป เพราะการให้เป็นวิธีการที่จะทำให้ลูกมีความสุข เมื่อคนเราพัฒนาจิตใจขึ้นมาเป็นพระโสดาบัน เมตตาก็เปี่ยมจิต จาคะก็เปี่ยมใจ หมดมัจฉริยะไม่มีความหวงแหน เมื่อให้ก็มีแต่ความสุขทั้งนั้น ฉะนั้นการให้จึงกลายเป็นความสุข

พอการให้กลายเป็นความสุข ชีวิตของตัวเองก็ดีขึ้น เพราะมีช่องทางหาความสุขทั้งจากการได้และการให้ และโลกก็มีสันติสุข เพราะคนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน ตอนนี้ความสุขของเขาก็เป็นความสุขของเรา ความสุขของเราก็เป็นความสุขของเขา แต่ก่อนนี้เรามีความสุขแบบแย่งชิง ถ้าเราได้เขาก็เสีย ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์ ถ้าเขาได้เราก็เสีย ถ้าเขาสุขเราก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นฝ่ายหนึ่งสุขฝ่ายหนึ่งทุกข์ แต่เมื่อมีเมตตาคุณธรรมในใจเป็นตัวสมาน มีกรุณาเป็นตัวสมาน ก็เปลี่ยนการให้เป็นความสุขทันที และสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นความสุขก็ร่วมกัน ไม่แย่งชิงกัน นี่เป็นตัวอย่างของการพัฒนามนุษย์

คนที่พัฒนามากขึ้น และมีความสามารถในการมีความสุขมากขึ้น ก็ยิ่งติดยิ่งขึ้นต่อโลกามิสน้อยลง เขาจึงตัดโลกามิส (คือตัดความยึดติดหรือขึ้นต่ออามิส) ได้ง่ายขึ้น เมื่อตัดโลกามิสได้ดีขึ้น นอกจากช่องทางที่จะมีความสุขจะเพิ่มขึ้นแล้ว การปฏิบัติต่อโลกามิสของเขาก็จะพัฒนาเปลี่ยนไปด้วย คือชีวิตของเขาอาศัยโลกามิสน้อย ไม่ต้องขึ้นต่อโลกามิส โลกามิสก็ไม่จำเป็นสำหรับความสุขของเขา เขาไม่เห็นคุณค่าของโลกามิสในแง่ที่จะเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตัวเองแล้ว เขาก็เลยเปลี่ยนความหมายของโลกามิสเสียใหม่ แต่ก่อนนี้ โลกามิส โดยเฉพาะทรัพย์และอำนาจ หรือทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์ บริวาร เคยเป็นเครื่องบำรุงบำเรอหรือเครื่องมือหาความสุขให้แก่ตัวเอง พอถึงตอนนี้ ทรัพย์และอำนาจที่เป็นโลกามิสนั้น ก็เปลี่ยนความหมายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมโอกาสให้สามารถสร้างสรรค์ความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่โลกและสังคมได้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น

คนมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีทรัพย์ ยศ บริวาร ก็ทำอะไรได้ไม่มาก ความคิดดีๆ และคุณค่าของเขาก็มีผลจำกัดในวงแคบ แต่ถ้าเขามีทรัพย์ ยศ บริวาร ความคิดดีๆ ของเขานั้น ก็ออกผลเป็นประโยชน์มากมายกว้างขวาง

ตัวอย่างที่ชัดเจน และเป็นตัวแบบที่ดี ก็คือพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ก่อนนั้น พระเจ้าอโศกมุ่งแต่แสวงหาโภคะและอำนาจ เพื่อความสุขสำราญและความยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง ทรัพย์และอำนาจนั้นก็เป็นโทษภัยแก่สังคม แต่ต่อมาเมื่อทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมแล้ว ทรัพย์และอำนาจนั้นก็หมดความหมายที่จะเป็นเครื่องบำเรอความสุข แต่พระเจ้าอโศกก็ไม่ได้ทิ้งหรือละเลยทรัพย์และยศ แต่ทรงเปลี่ยนความหมายของมันใหม่ โดยทรงใช้มันเป็นเครื่องสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังที่ทรงให้จารึกความไว้ในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า ยศอำนาจของพระองค์จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันได้ช่วยให้ประชาชนประพฤติธรรม...

สร้างความสุขขึ้นเองได้ จึงจะไม่ทำลายสันติภาพ

ถ้าพัฒนาต่อไปอีก พระพุทธศาสนายังมีวิธีที่จะให้มนุษย์มีความสุขเพิ่มขึ้นอีก พระโสดาบันเป็นตัวอย่างเชื่อมระหว่างโลกิยะกับโลกุตตระ พระโสดาบันมีความสุขมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์ที่คนปุถุชนเขามีกัน ถ้าเปรียบก็เหมือนภูเขาหิมาลัย แต่พระโสดาบันนั้นเหลือทุกข์เท่าเม็ดกรวด ลองคิดดูซิว่าพระโสดาบันจะมีความสุขขนาดไหน เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้พัฒนาชีวิตของคนแล้ว ความสุขก็จะเกิดมากขึ้นๆ ตามไปด้วย ที่พูดว่าพุทธศาสนาพัฒนาคนนั้น หมายถึงพัฒนาทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวคน แม้แต่ความสุข คนที่พัฒนาแล้วจึงมีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น จนกระทั่งว่าความสุขนั้นในที่สุดไม่ต้องหา เมื่อคนไม่ต้องหาความสุข ก็ไม่มีใครมาทำลายสันติ

สำหรับมนุษย์ปุถุชนที่ต้องพึ่งการเสพวัตถุนั้น ความสุขขึ้นอยู่กับวัตถุข้างนอก จึงเป็นความสุขที่ต้องแสวงหา เมื่อแสวงหาความสุขก็แสดงว่ายังขาดความสุข การแสวงหาความสุขเป็นเครื่องหมายบอกอยู่ในตัวว่าเราขาดความสุข มนุษย์ปุถุชนจึงแสวงหาความสุขกันตลอดเวลาเพราะยังขาดความสุข แต่เมื่อเราพัฒนาความสุขขึ้น ชีวิตก็เริ่มมีความสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุมากนัก ความสุขเริ่มมีอยู่ข้างในของเรา ความสุขที่มีอยู่ข้างในของเราทำให้เราเริ่มมีความสุขเป็นของตัวเอง พอมีความสุขเป็นของตัวเองได้แล้วคราวนี้ก็ไม่ต้องดิ้นรนแสวงหา แต่ตอนนี้ความสุขก็ยังต้องขึ้นกับสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ เช่นอย่างพ่อแม่นี่ยังต้องขึ้นกับลูก แต่มันไม่ขึ้นกับวัตถุโดยตรง

ต่อมาพัฒนาขึ้นไปอีก ก็มีความสุขภายในที่ปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นได้เอง เป็นการพัฒนามาถึงขั้นที่เอาความสามารถในการปรุงแต่งของตนมาใช้ปรุงแต่งความสุข

มนุษย์มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งคือสามารถในการปรุงแต่ง เก่งในการประดิษฐ์สร้างสรรค์ การประดิษฐ์สร้างสรรค์นั้นเริ่มจากจิตใจโดยมีความคิด ที่เห็นง่ายๆ คือ มนุษย์ปรุงแต่งวัตถุ โดยใช้ความคิดสร้างขึ้นมาก่อน แล้วก็ทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา เช่นเป็นเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนในด้านภายในมนุษย์ก็มีความสามารถที่จะปรุงแต่งสุขทุกข์ แต่มนุษย์ปุถุชนมักจะใช้ความสามารถนี้ในทางที่ผิด คือปรุงแต่งทุกข์ ปรุงแต่งความเครียด ปรุงแต่งความกังวล ปรุงแต่งความกลุ้มใจ ปรุงแต่งความขุ่นมัวเศร้าหมอง สัตว์เดรัจฉานไม่มีความทุกข์เหล่านี้เพราะเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ มนุษย์จำนวนมากปรุงแต่งความทุกข์ให้กับตัวเองจนกระทั่งเหลือหลายกลายเป็นโรคจิต สัตว์ปรุงแต่งไม่เป็น เพราะฉะนั้นสัตว์จึงไม่เป็นโรคจิตเพราะปรุงแต่งความคิดไม่เป็น มนุษย์นี่เก่งมาก แต่ใช้ความสามารถนั้นในการปรุงแต่งความทุกข์

พระพุทธศาสนาท่านจับจุดนี้ได้ท่านจึงสอนว่า เธออย่ามัวปรุงแต่งทุกข์ เธอมีความสามารถในการปรุงแต่ง จงใช้ความสามารถนั้นในการปรุงแต่งความสุข เราก็เอาอารมณ์ที่ได้รับเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นแหละมาใช้ แต่แทนที่จะปรุงแต่งทุกข์ก็มาปรุงแต่งสุข เพราะฉะนั้น คนที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องจึงมีจิตใจเป็นสุข เพราะปรุงแต่งสุขเองได้ ต่อจากนี้ไปถึงขั้นสุดท้าย ก็คือสุขโดยไม่ต้องปรุงแต่ง

สุขมีหลายขั้น เพียงแค่สุขขั้นปรุงแต่งก็เก่งแล้วเพราะเป็นสุขได้ในตัวของตัวเอง แต่ยังมีสุขขั้นพ้นปรุงแต่งคือสุขได้โดยไม่ต้องปรุงแต่งอีก ได้แก่ความสุขที่เกิดจากปัญญารู้เข้าใจสัจธรรม เข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย จนวางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งปวง ซึ่งวันนี้ไม่ต้องอธิบาย เพราะได้บอกไว้แล้วว่าพูดให้สั้น แต่ตอนนี้ชักจะยาวไปเยอะ เดี๋ยวจะเกินไป เอาเป็นว่าเราต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขจนกระทั่งถึงสุขขั้นพ้นปรุงแต่ง

เมื่อตัวเองมีสุขสมบูรณ์อยู่ข้างใน ก็ไม่มีอะไรต้องทำ
นอกจากเที่ยวนำความสุขไปแจกจ่ายให้

สุขขั้นไม่ต้องปรุงแต่งนี้เป็นสุขประจำชนิดที่ว่าเป็นคุณสมบัติในใจของตัวเอง เกิดจากมีปัญญา คือได้พัฒนาศีล พัฒนาจิต และพัฒนาปัญญาจนรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ รู้เท่าทันความจริงในธรรมชาติจนกระทั่งทุกข์ในธรรมชาติก็เป็นทุกข์อยู่ในธรรมชาติ ไม่เข้ามาเป็นทุกข์ในใจเรา หมายความว่าเก่งจนกระทั่งว่าความเป็นไปตามกฎธรรมชาติก็ครอบงำจิตใจของเราไม่ได้

ความจริงมีอยู่ว่า ในที่สุดแล้วทุกข์ของมนุษย์นี้มาจากกฎธรรมชาติ เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตใจของเราถูกครอบงำด้วยความผันผวนปรวนแปรของสิ่งทั้งหลายไปตามกฎธรรมชาตินั้น ทุกข์ในธรรมชาติจึงพลอยทำให้เราทุกข์ไปด้วย แต่เมื่อเรามีปัญญารู้เท่าทันในขั้นสุดท้ายแล้ว เราก็มองเห็นว่า ทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมันเป็นของธรรมดา เราไปแก้มันไม่ได้ เมื่อเรารู้เท่าทันแล้วทุกข์ในธรรมชาติก็ปล่อยให้มันเป็นทุกข์ในธรรมชาติไป ใจเราไม่พลอยทุกข์ด้วย ถึงตอนนี้ก็เป็นอิสระแล้ว พ้นจากทุกข์ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน แล้วความสุขก็กลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวที่มีอยู่ข้างในและมีอยู่ตลอดทุกเวลา

เมื่อความสุขเป็นของประจำตัวอยู่ข้างในตลอดทุกเวลาแล้ว ความสุขกลายเป็นคุณสมบัติประจำใจ ตอนนี้ท่านบอกว่า อะไรต่ออะไรก็พัฒนามาถึงจุดเต็มเปี่ยมเพียบพร้อมสมบูรณ์ บุคคลนั้นก็กลายเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตน มีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ความสุขก็สมบูรณ์ อิสรภาพก็สมบูรณ์ สันติก็สมบูรณ์ ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก นี่คือบุคคลที่บรรลุประโยชน์สูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก

เมื่อไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก ถึงตอนนี้ก็ไม่ก่อปัญหาแก่ใครแล้ว จะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย และตัวเองก็สุขสมบูรณ์แล้ว ทีนี้ชีวิตก็ยังเหลืออยู่ ยังมีพลังชีวิตเหลือแหล่ และพร้อมกันนั้น กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ ก็เป็นผู้ที่ได้พัฒนาตัวเองมาอย่างดีแล้วด้วย ทำให้มีความสามารถ มีปัญญาดี เมื่อไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีกแล้ว ก็ใช้พลังชีวิตที่เหลืออยู่นั้นทำประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ เข้ากับหลักที่ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย คือบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูลและความสุขแก่พหูชนคนจำนวนมาก และเพื่ออนุเคราะห์โลก นี่แหละคือชีวิตของท่านผู้พัฒนาโดยสมบูรณ์ มีอิสรภาพสมบูรณ์ สันติสมบูรณ์ และสุขสมบูรณ์ การพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้องคือการศึกษาที่ถูกต้องจะดำเนินไปในทิศทางนี้

การศึกษาที่ผิดทำให้มนุษย์แย่งชิงผลประโยชน์เพื่อมุ่งเสพโลกามิส มนุษย์พากันติดโลกามิส แล้วก็แข่งขันแย่งชิงกัน ในใจก็ไม่สันติ โลกก็ไม่สันติ ถ้าอย่างนี้สันติภาพจะมีได้อย่างไร ไม่มีทางหรอกเพราะคนเป็นทาสของโลกามิส พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ถ้าหวังสันติต้องตัดโลกามิสได้

เป็นอันว่า คนที่พัฒนาถูกต้อง มีการศึกษาถูกต้องเท่านั้นจึงจะเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับอามิส สามารถมีความสุขด้วยตนเองจนกระทั่งเป็นภาวะประจำจิตใจ มีความสุขสมบูรณ์ จึงไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนเองอีก เพราะฉะนั้นชีวิตของเขาจึงไม่มีปัญหาแก่ใคร ทั้งแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น และพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลก โดยใช้ชีวิตนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ แล้วจะมีปัญหาอะไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็มีแต่จะเกิดสันติ ตัวเองก็สันติภายในแล้วก็สร้างสันติให้เกิดขึ้นในโลก นี้คือการศึกษาที่ถูกต้อง อย่างนี้เป็นทั้งการศึกษาสันติ และเป็นการศึกษาเพื่อสันติด้วย

นี้แหละคือการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงที่ทำให้หมดปัญหา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นท่านย้ำไว้เรื่องหนึ่งที่ต้องระวัง ถ้าข้ามเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นข้อบกพร่องของปาฐกถานี้ไป จึงขอพูดไว้เป็นข้อสุดท้าย

สันติภาพจะมีหลักประกันเมื่อพัฒนามนุษย์ให้มั่นในความไม่ประมาท

คนเรานี้ พอมีความสุขมากขึ้น พอมีความดีงามก้าวหน้าประสบความสำเร็จมีความสุขมากขึ้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสให้ระวังไว้ คือคนดีคนสำเร็จคนมีความสุขแล้วจะตกหลุมดักที่สำคัญที่สุด คือตกหลุมความประมาท เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสคำนี้ที่สำคัญที่สุด คือ ความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทนี้ ท่านว่าเป็นธรรมะข้อใหญ่ เหมือนรอยเท้าช้าง ที่บรรจุรอยเท้าสัตว์บกได้ทุกชนิด คนเรานี้ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมะมีกี่ข้อก็เหมือนหลับอยู่ในคัมภีร์หมด แต่ถ้ามีความไม่ประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมะเรียนมากี่ข้อก็ใช้ประโยชน์ได้หมด เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงมีความหมายมาก

ทีนี้ คนที่มีความสุขและคนที่ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปด้วยดีก็มีแนวโน้มว่าจะประมาท เพราะว่าคนที่สุขหรือสำเร็จแล้วนี่ มักจะวางใจนอนใจ แล้วก็ละทิ้งสิ่งที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่จะต้องทำเพื่อกันและแก้ปัญหาและเพื่อเข้าถึงสิ่งดีงามที่ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างน้อยก็ชอบผัดผ่อนเวลา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนเรื่องนี้ไว้โดยเน้นหนักหนาว่า แม้แต่พระโสดาบัน และพระอริยบุคคลอื่นชั้นต้นๆ เมื่อได้ก้าวหน้าในการปฏิบัติมีความสุขความสำเร็จในธรรมชั้นสูงแล้ว ถ้าเกิดความพอใจว่า โอ เราได้บรรลุธรรมชั้นสูงมากแล้ว แล้วเกิดความสันโดษพอใจ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นปมาทวิหารี แปลว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท

มีบุคคลประเภทเดียวที่จะไม่ตกอยู่ใต้ความประมาทเป็นอันขาด คือพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลประเภทเดียวที่ไม่อาจจะประมาท คือเป็นบุคคลประเภทเดียวที่จะไม่ประมาทเลย เพราะอยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยปัญญาก็หมายถึงมีสติอยู่ด้วย

มีสติหมายความว่าตื่นตัวอยู่เสมอ คอยระลึก คอยนึกถึง อะไรเกิดขึ้นจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเสื่อม หรือกีดกั้นความเจริญ ก็นึกก็ระลึกจับเก็บเอามาหมด ไม่ปล่อยทิ้งไม่ละเลยอะไรทั้งสิ้น นี่คือสติ เมื่อนึกเมื่อระลึกกำหนดไว้แล้ว ก็ส่งเรื่องให้ปัญญาตรวจสอบ ว่าอันนี้เกิดขึ้นจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อันนี้จะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ อันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมก็แก้ไขป้องกัน อันไหนจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญก็สร้างสรรค์ ทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัย นี้เรียกว่าอยู่ด้วยสติปัญญาไม่ประมาท

หลักการนี้บอกต่อไปอีกว่า คนที่มีสันติภายในเท่านั้นจึงจะอยู่ด้วยสติปัญญา มีความไม่ประมาทที่แท้จริง สันติภายนอกยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อสังคมมีสันติสุขแล้ว คนที่ยังพัฒนาไม่เพียงพอก็มักจะประมาท แล้วก็จะตกอยู่ใต้วงจรของความเจริญและความเสื่อม

สังคมที่อยู่สบายมีสันติสุข เช่นไม่มีภัยไม่มีสงคราม แล้วมักจะเกิดความประมาท มักจะปล่อยปละละเลยผัดผ่อน ตลอดจนหลงเพลิดเพลินมัวเมา ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ จึงทำให้สังคมเสื่อมลง มนุษย์ปุถุชนทั่วไปนี้ ตามปกติต้องถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย พอยามอยู่ดีมีสุขก็ประมาท พอทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคามก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายอีกทีหนึ่ง เป็นอย่างนี้กันทั่วไป เพราะฉะนั้น มนุษย์ปุถุชนทั้งหลายก็เลยตกอยู่ในวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมเรื่อยไป และด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสหลักธรรมข้อนี้ขมวดท้ายไว้ ป้องกันอีกทีหนึ่ง เป็นการเตือนว่า เมื่อเธอประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ หรือปฏิบัติธรรมมีความสุขความสำเร็จแล้ว ระวังจะประมาท แล้วไม่ตั้งใจทำสิ่งที่ควรทำ ละทิ้งกิจหน้าที่ และไม่เพียรพยายามทำสิ่งดีงามให้ยิ่งขึ้นต่อไป อย่างน้อยก็ชอบผัดผ่อน แล้วก็จะเสื่อม

สังคมที่สุขสบายแล้วประมาทแบบนี้ ก็เลยสู้สังคมที่ตกอยู่ใต้ความบีบคั้นไม่ได้ ความบีบคั้นก็คือทุกข์ภัย ได้แก่ทุกข์ภัยที่เกิดตามสภาพของมันอย่างหนึ่ง และทุกข์ภัยที่เกิดจากมนุษย์จัดสรรกันขึ้นมาอย่างหนึ่ง

ทุกข์ภัยที่มนุษย์จัดสรรประดิษฐ์ขึ้นมาก็คือระบบแข่งขัน ระบบแข่งขันนี้เป็นระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือเอาทุกข์มาบีบคั้นเอาภัยมาคุกคาม เท่ากับบอกว่า ถ้าเธอล้าหลังเขา ไม่ทันเขา หรือแพ้เขา เธอจะแย่นะ จะตายนะ จะอยู่ไม่ได้นะ ฉันจะไม่ช่วยแกนะ ตัวใครตัวมัน แกจะต้องเอาชนะเขา ต้องไปเหนือเขาให้ได้ แต่ละคนถูกบีบคั้นถูกคุกคามตลอดเวลา เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ต้องเร่งกระตือรือร้นขวนขวาย ระบบปุถุชนถ้าไม่ใช้ทุกข์ภัยตามสภาพ ก็ใช้ทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือระบบแข่งขันนี่ทำให้คนกระตือรือร้นดิ้นรนต่อสู้ ก็ทำให้เกิดความเจริญกันใหญ่

สังคมที่มีความบีบคั้นจากระบบแข่งขันก็เจริญเพราะอันนี้ แต่ระบบนี้เป็นความไม่ประมาทเทียม ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้ เพราะความไม่ประมาทอย่างนี้เกิดจากความบีบคั้นกัน ไม่ใช่เกิดจากปัญญา เป็นเรื่องที่อยู่กับความเห็นแก่ตัว เอาแต่ตัวเอง เอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ไม่ได้คำนึงว่าผลเสียจะเกิดกับใครหรืออะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติแวดล้อมหรือสังคม เพราะฉะนั้นระบบนี้จึงเป็นภัยอันตราย ทำให้เกิดความเจริญด้านหนึ่ง แต่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียหายมากมาย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นระบบความไม่ประมาทเทียม ไม่ใช่ความไม่ประมาทแท้

ความไม่ประมาทที่แท้ก็คือไม่ต้องรอให้ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม แต่อยู่ด้วยสติและใช้ปัญญา สติปัญญานี้แหละจะสำรวจตรวจตราเหตุปัจจัย แล้วระวังป้องกันความเสื่อมและสร้างสรรค์ความเจริญได้ตลอดเวลา เมื่อทำด้วยสติปัญญาตามหลักเหตุปัจจัยอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมและชีวิตไม่มีเสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว

พระพุทธศาสนานี่ท่านสอนถึงขนาดนี้ทีเดียวนะ คือบอกว่าเราสามารถทำให้เจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อมก็ได้ ถ้าเราไม่ประมาท ยกตัวอย่างเช่นที่ทรงสอนไว้ในหลักอปริหานิยธรรม ที่แปลว่า ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม

หลักธรรมชาติบอกว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับ พร้อมกันนั้นพระพุทธศาสนาก็สอนว่า ถ้าเธอไม่ประมาทเธอไม่จำเป็นต้องเสื่อม เธอจะมีแต่เจริญตลอดไป สองหลักนี้เป็นหลักสัจธรรมและจริยธรรม ดูเหมือนจะขัดกัน แต่เป็นความจริงทั้งสองอย่าง อาตมาจะไม่เฉลย ขอให้ชาวพุทธไปเฉลยเองว่า เอ๊ะ ทำไมมันไม่ขัดกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนิจจัง สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดแล้วต้องดับ แต่ทำไมอีกด้านหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเธอไม่ประมาท เธอจะไม่เสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว หลักธรรมสองอย่างนี้ไม่ขัดกันเลย แถมยังสนับสนุนกันด้วย แต่มันสนับสนุนกันอย่างไร ไม่ขัดกันอย่างไร อาตมาขอทิ้งไว้เป็นปริศนาสำหรับโยมไปคิดต่อไป

วันนี้ก็เอาเป็นว่ามาจบลงด้วยความไม่ประมาท สันติภาพที่แท้จะเกิดมีได้ต้องพัฒนาคนให้มีสันติทั้งภายในและภายนอก แล้วสันตินั้นจะอยู่มั่นคงได้ด้วยความไม่ประมาท ดังที่ได้กล่าวมาถึงตอนนี้ก็ได้แสดงธรรมบรรยายมาพอสมควร เป็นปาฐกถาธรรมเนื่องในการอนุโมทนา ในโอกาสที่ทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดสัปดาห์นี้ขึ้นมาเพื่อแสดงมุทิตาจิต

อาตมภาพขออนุโมทนาต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ และในนามของคณะรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง และโดยเฉพาะต้องขออนุโมทนาอย่างยิ่งต่อท่านวิทยากรทั้งหลาย เช่นท่านที่มาในช่วงใกล้ที่สุดนี้ คือพระอาจารย์ชยสาโร พร้อมทั้งทางคณะนิสิตมีประธานนิสิตมหาจุฬาฯ เป็นตัวแทนที่ได้มาแสดงออกในวันนี้ และท้ายที่สุดแต่สำคัญยิ่ง ก็คือญาติโยมพร้อมทั้งพระสงฆ์ที่มาฟังอยู่ในที่ประชุมนี้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานนี้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้นก็ขออนุโมทนาต่อโยมทุกท่านที่มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

ดังที่กล่าวแล้วว่า การมาแสดงมุทิตาจิตนี้ ก็คือการที่เรามีจิตใจพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะเชิดชูธรรม จึงขอให้เรามาร่วมกันในการส่งเสริมเชิดชูธรรมต่อไป เพราะธรรมะนี่แหละจะเป็นที่พึ่งเป็นความหวังที่จะนำมาซึ่งสันติและความสุขที่แท้จริงให้แก่ชีวิตและสังคม

ในโอกาสนี้ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอำนวยพรแสดงความปรารถนาดีต่อทุกท่าน ขอทุกท่านจงประสบแต่จตุรพิพิธพรชัย มีความก้าวหน้างอกงามในการดำเนินชีวิต และในการประกอบกิจหน้าที่การงาน ให้ประสบความก้าวหน้าและความสำเร็จ ประสบแต่สิ่งที่เป็นสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกัน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ.

1ปาฐกถาธรรม ในพิธีปิดงานสัปดาห์เชิดชูเกียรติและแสดงมุทิตาจิต พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๘ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๖ น. เศษ
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง