การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การศึกษา
เพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน1

ขอเจริญพร ท่านอดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู ดร.สายหยุด จำปาทอง ท่านอธิบดีกรมการฝึกหัดครูในปัจจุบัน พร้อมทั้งท่านผู้บริหารสถาบันราชภัฏ ตลอดจนอาจารย์ และท่านผู้สนใจใฝ่รู้ไฝ่ธรรมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาแสดงปาฐกถา อันเป็นครั้งหนึ่งใน “ปาฐกถาชุด ดร.สายหยุด จำปาทอง” จัดเป็นครั้งที่ ๕ ถือว่าเป็นส่วนร่วมในการเชิดชูเกียรติของท่านอธิบดีในอดีต คือ ท่าน ดร.สายหยุด จำปาทอง การจัดปาฐกถานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยกันส่งเสริมประโยชน์ของสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา อาตมภาพจึงขออนุโมทนาด้วย ในการที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมอันเป็นกุศลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมครั้งนี้

ปาฐกถานี้ได้ตั้งชื่อไว้ค่อนข้างยาวและจำยากนิดหน่อยว่า “การนำศาสนามาเป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

สำหรับการพูดวันนี้ ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าจะไม่พูดถึงเนื้อหาสาระมากนัก แต่จะพูดทำนองเป็นข้อคิด ถ้าเติมคำว่า “ข้อคิด” ไว้ข้างหน้าหัวข้อที่ตั้งไว้ ก็จะได้เป็นหัวข้อใหม่ ซึ่งยาวยิ่งขึ้นไปอีกว่า “ข้อคิดในการนำศาสนามาเป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”2

บทนำ
การศึกษาสู่ยุคโลกาภิวัตน์

มนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียงทรัพยากร

ตอนแรก มีข้อสังเกตเกี่ยวกับถ้อยคำเล็กน้อย ในการที่จะเอาศาสนามาจัดการศึกษานั้น ในที่นี้แสดงความมุ่งหมายไว้ว่า เพื่อจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แสดงว่าเป้าหมายของเราอยู่ที่ “ทรัพยากรมนุษย์”

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นคำที่ใช้ตามความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ เกิดขึ้นมาในช่วงระยะ ๒๕-๓๐ ปีนี้เอง (เกิดในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓ หรือ ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๐)

คำว่า “ทรัพยากร” นั้น แปลว่า แหล่งทรัพย์ หรือขุมทรัพย์ จึงให้ความรู้สึกในแง่ที่ว่า เป็นทุน หรือเป็นสิ่งที่จะนำมาใช้เกื้อหนุน หรือเป็นเครื่องมือ ในการส่งเสริมหรือทำความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ และต่อมาก็ใช้ในด้านสังคมด้วย เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” จึงทำให้เรามอง “มนุษย์” ในความหมายที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจ โดยเอามนุษย์มาใช้เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งเหมือนกับทรัพยากรอย่างอื่น เพื่อจะได้สร้างสรรค์ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนทางด้านสังคมตามความหมายที่ขยายออกมา

พูดง่ายๆ ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” คือ คนในฐานะที่เป็นทุนหรือเป็นปัจจัยในการผลิตทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนประกอบที่จะนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ความเจริญของสังคม

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ เราใช้คำนี้โดยถือว่าเป็นการใช้ตามความนิยมเท่านั้น ดังนั้นก่อนที่จะพูดต่อไป จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า ความมุ่งหมายของเราในการพูดถึงมนุษย์นั้นไม่จำกัดอยู่แค่เป็น “ทรัพยากร” เพราะการมองมนุษย์เป็น “ทรัพยากร” จะทำให้การมองของเราแคบลง

“มนุษย์” เป็นชีวิตที่มีความประเสริฐ มีความสำคัญในตัวของมันเอง และชีวิตนั้นอาจจะมีความสมบูรณ์ได้แม้ในตัวของมันเอง ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือหรือส่วนประกอบที่จะเอามาใช้สร้างสรรค์สิ่งอื่นเท่านั้น ถ้าเราพูดว่าเป็น “ทรัพยากร” ก็เหมือนกับเราเอามนุษย์มาใช้เป็นประโยชน์ในการทำสิ่งอื่นอย่างที่พูดมาแล้วคือ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ในที่นี้จะขอแยกความหมายของ “มนุษย์” ออกเป็น ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ “มนุษย์” ในฐานะที่เป็น “ทรัพยากร” ทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคม เรายอมรับว่า ในยุคปัจจุบันนี้ “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นทรัพยากรพิเศษที่มีความสำคัญยิ่งกว่าทรัพยากรอื่นๆ ทั้งหมด ในการสร้างสรรค์และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้า“ทรัพยากรมนุษย์”ไม่ดี ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การสร้างสรรค์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย ฉะนั้น เราจึงต้องการคนที่แข็งแรง มีสุขภาพดี มีสติปัญญา เชี่ยวชาญในวิชาการหรือวิชาชีพนั้นๆ เป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีความประพฤติดี ไม่เหลวไหล รักงาน รู้จักรับผิดชอบ ขยันหมั่นเพียร และอดทน เป็นต้น เพื่อเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิตและในการสร้างสรรค์สังคม ดังที่กล่าวแล้ว

ชั้นที่ ๒ “มนุษย์” ในฐานะที่เป็น “ชีวิต” โดยที่ในตัวของมันเองสามารถทำให้เป็นชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ได้ ในแง่นี้เราจะต้องมองเป็นจุดหมายสูงสุดว่า เราจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มี “ชีวิต” ที่ดีงามในตัวของเขาเอง เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ มีอิสรภาพ มีความสุขในตัวเอง

มนุษย์ที่มีความเจริญงอกงามและพัฒนาอย่างดีแล้วนั้น ไม่ใช่เป็นเพียง “สิ่งที่ถูกนำไปใช้” เท่านั้น แต่มีความหมายในเชิงเป็น “ผู้กระทำ” ด้วย โดยเป็นผู้สามารถกระทำหรือนำการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีความหมายเป็นการพัฒนาอย่างแท้จริง

“มนุษย์” ไม่ใช่เป็นเพียงสมบัติอันมีค่าที่จะถูกใช้ให้เป็นส่วนประกอบหรือเป็นทุนในการสร้างความเจริญที่มุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น มนุษย์มีความสามารถยิ่งกว่านั้น แม้แต่ถ้าความมุ่งหมายและทิศทางของการพัฒนาที่เป็นอยู่นี้ผิดพลาด เขาก็สามารถมองเห็น และเป็นผู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายและกระบวนการของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นอย่างอื่นไปก็ได้ และที่สำคัญยิ่งก็คือ ในทางย้อนกลับ เขาสามารถเรียนรู้จากสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาตัวของเขาเองขึ้นไปสู่ภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

จากการมองความหมายของ “มนุษย์” เป็น ๒ ชั้นดังกล่าว เราก็มามองความหมายของมนุษย์โดยสัมพันธ์กับการศึกษา

แน่นอนว่าการศึกษาสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและสังคม ในแง่ของความสัมพันธ์กับสังคม การศึกษามีบทบาทในการตามสนองความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องช่วยผลิตกำลังคนให้แก่ประเทศ นี่เป็นการให้ความหมายของ “มนุษย์” ในเชิง “ทรัพยากร” ดังที่มีการสำรวจว่าประเทศของเรายังขาดแคลนกำลังคนในด้านไหนบ้าง ปัจจุบันนี้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รู้สึกว่าจะขาดแคลน ฉะนั้นนโยบายของรัฐในการจัดการศึกษาจะต้องเบนมาให้ความสำคัญแก่การผลิตกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี่เป็นตัวอย่างของการมองการศึกษาในแง่ที่ว่า เราจัดการศึกษาเพื่อตามสนองความต้องการของสังคม

ถ้าเราจัดการศึกษาในแนวนี้นานๆ เราอาจจะลืมความมุ่งหมายที่แท้จริงของการศึกษาอีกด้านหนึ่งไปเสียก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาจะเป็นตัวตามสังคม ซึ่งไม่ใช่บทบาทที่แท้จริง และจะกลายเป็นว่าเราให้อิทธิพลของสังคมมาเป็นตัวกำหนดการศึกษา หมายความว่า การศึกษาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราสร้างคนภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสังคมนี้ การศึกษากลายเป็น “ตัวถูกกำหนด” ไม่ใช่เป็น “ผู้กำหนด”

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคงจะต้องหันมาสนใจปัญหานี้ที่ว่า การศึกษาของเราได้เน้นในแง่ของการตามสนองความต้องการของสังคม เช่น การผลิตกำลังคนในด้านต่างๆ ในช่วง ๕ ปีข้างหน้า ในช่วงแผนพัฒนาฉบับนี้ เราขาดกำลังคนด้านไหนบ้าง เราก็ให้ความสนใจพิเศษในด้านนั้นๆ นี่เป็นการมองการศึกษาแบบ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” แต่การศึกษาไม่ควรจะหยุดแค่บทบาทนี้ บทบาทที่แท้จริงของการศึกษากว้างไกลและมีความสำคัญยิ่งกว่านี้ บทบาทของการศึกษาที่สมบูรณ์ก็คือ บทบาทในการ “พัฒนาความเป็นคน” และ “นำสังคม”

บทบาทของการศึกษาในการ “นำสังคม” นั้น การศึกษาจะต้องเป็นตัวแก้ปัญหาของสังคม สังคมที่เดินอยู่ในปัจจุบันอาจจะเดินทางผิดก็ได้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปตามสนองความต้องการ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราจะทำเพียงแค่ตามสนองความต้องการของสังคมเท่านั้น ไม่พอ ถ้าหากว่าสังคมกำลังเดินทางผิด การศึกษาจะต้องเตือนให้ทราบ และชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ ในการทำบทบาทนี้ การพัฒนามนุษย์จะเข้ามาสู่ความหมายที่สองคือ มองมนุษย์ไม่ใช่เป็นเพียง “ผู้ถูกนำไปใช้” แต่เราจะใช้การศึกษาสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้เขาพัฒนาในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผู้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นบุคคลผู้มีศักยภาพที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีของสังคม ตลอดจนกระทั่ง ถ้าหากว่าสังคม หรือแม้อารยธรรมของโลก มีความติดตันในแง่ใดแง่หนึ่ง การศึกษาก็จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขความติดตันของสังคมและของมนุษยชาติได้ด้วย

หน้าที่และเหตุผลที่แท้ของการศึกษา

เวลานี้อารยธรรมของมนุษย์ได้มาถึงจุดติดตัน โดยเริ่มจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายซึ่งมาถึงจุดติดตันนี้ก่อน เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องเน้นความสำคัญในหน้าที่และบทบาทหลังนี้ คือการพัฒนามนุษย์จนกระทั่งมีความสามารถที่จะมาแก้ไขสังคม เปลี่ยนวิถีของสังคมที่ผิดพลาด และช่วยแก้ไขปัญหาความติดตันของอารยธรรมมนุษย์ หาทางออกให้แก่มนุษยชาติให้ได้ นี่คือจุดมุ่งหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จในยุคปัจจุบัน

เมื่อมองลึกเข้าไปในการที่จะทำหน้าที่ตามบทบาทเหล่านี้ให้สำเร็จนั้น การศึกษาทำหน้าที่แยกได้เป็น ๒ ด้าน คือ

๑. การศึกษาทำหน้าที่ดำรงรักษาและถ่ายทอดศิลปวิทยาการ หรือจะเรียกว่าวิชาการ ตลอดจนวัฒนธรรมให้แก่สังคม ถ้ามองในแง่แคบๆ ก็เริ่มตั้งแต่ ครูทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้หรือศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์ และแคบเข้ามาอีกก็คือ ถ่ายทอดวิชาชีพ หรือวิชาทำมาหากิน ทำให้ลูกศิษย์ได้ความรู้ไปทำมาหาเลี้ยงชีพให้แก่ตนเอง

เป็นอันว่าทั้งสองระดับคือ ในระดับบุคคล ครูบาอาจารย์ก็ทำหน้าที่นี้และการศึกษาก็ทำหน้าที่นี้ด้วย คือทำให้บุคคลมีวิชาชีพที่จะไปหาเลี้ยงชีพสำหรับตนเอง และมองกว้างในระดับสังคม การศึกษา รวมทั้งตัวครู ก็ทำหน้าที่ช่วยดำรงรักษาสืบทอดศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของสังคม อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ที่สำคัญ เราถือว่าเป็นบทบาทที่น่าภาคภูมิใจของการศึกษา ซึ่งทำให้อารยธรรมของมนุษยชาติเจริญรุ่งเรืองสืบมา

๒. การศึกษาทำหน้าที่พัฒนาคน ในแง่นี้ความหมายที่เป็นรูปธรรมคือ ครูช่วยให้บุคคลได้พัฒนาตัวของเขาให้มีชีวิตที่ดีและเป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์สังคม หน้าที่นี้ก็แยกได้เป็น ๒ ระดับ คือ พัฒนาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีอย่างหนึ่ง และความหมายที่กว้างกว่าคือ พัฒนาตัวคนหรือพัฒนาความเป็นมนุษย์

ถ้าให้เป็นรูปธรรมก็พูดได้ว่า หน้าที่ของการศึกษาคือ การสร้างคนให้เป็นบัณฑิต และเราก็ยอมรับศัพท์นี้ด้วย ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เราจึงให้เรียกว่า “บัณฑิต” จบปริญญาโทก็ให้เป็น “มหาบัณฑิต” จบปริญญาเอกก็ให้เป็น “ดุษฎีบัณฑิต” รวมแล้วก็คือเป็น “บัณฑิต” ซึ่งเราถือว่าจบการศึกษาแล้ว ในทางพุทธศาสนาก็ใช้ศัพท์นี้ ท่านเรียกว่า “พุทธาทิบัณฑิต” แปลว่า บัณฑิตมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น บัณฑิตมีฐานะเริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าเป็นต้นลงมาทีเดียว พระพุทธเจ้าก็เป็นบัณฑิตท่านหนึ่งด้วย หรือเป็นบัณฑิตตัวอย่าง เราถือว่าบัณฑิตเป็นบุคคลที่พัฒนาแล้วอย่างดี เราให้การศึกษาเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต

บัณฑิตนี้ต้องไปทำหน้าที่โดยไปดำเนินชีวิตของเขา ให้เป็นชีวิตที่ดีงามและช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ นอกจากนั้น ในการสร้างสรรค์สังคมและดำเนินชีวิตของตนให้ดีมีสุขนั้น เขาก็จะนำสิ่งหนึ่งคือ วิชาการและวิชาชีพไปใช้ในการทำงานและหาเลี้ยงชีพ เพราะฉะนั้นในการสร้างบัณฑิตนี้ เราไม่ใช่สร้างแต่คนให้เป็นบัณฑิตเฉยๆ เรายังให้เครื่องมือแก่บัณฑิตด้วย คือเครื่องมือที่จะใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลก และใช้ในการช่วยสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคม

เมื่อพิจารณาดูหน้าที่ ๒ อย่างข้างต้น จะเห็นว่า ควรเรียงลำดับใหม่ ข้อ ๒. เป็นข้อ ๑. และข้อ ๑. เป็นข้อ ๒. แต่โดยทั่วไปคนจะมองหน้าที่ของการศึกษาในแง่ของการถ่ายทอดและสืบทอดหรือสืบต่อศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ (เพราะตะวันตกยุคใหม่เน้นด้านสังคม จนแทบลืมความเป็นคน) ในที่นี้จึงพูดไปตามความนิยมอย่างนั้น แต่เมื่อจะเอาจริงควรเรียงลำดับใหม่ให้ถูกต้อง โดยเอาข้อ ๒. ขึ้นก่อน

กล่าวโดยสรุป การทำหน้าที่ที่แบ่งตามความมุ่งหมายของการศึกษา สามารถแยกออกได้เป็น ๒ ส่วน

ส่วนที่ ๑ คือ การศึกษาสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต” ผู้มีชีวิตที่ดีงาม ดำเนินชีวิตถูกต้องและเกื้อกูลแก่สังคม

ส่วนที่ ๒ คือ การศึกษาให้“เครื่องมือ”แก่บัณฑิต เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจแก่สังคม

ส่วนที่หนึ่งคือการสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต” เป็นภารกิจหลักของการศึกษา ถ้าลำพังจะให้แต่เครื่องมืออย่างเดียว ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าให้เครื่องมือแก่คนที่ไม่เป็นบัณฑิต บุคคลนั้นอาจจะเป็นโจร เป็นคนร้าย และอาจจะนำเครื่องมือไปใช้ในทางที่เกิดโทษ ก่อความเสียหายก็ได้ ซึ่งจะเกิดผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม การศึกษาประเภทที่ถ่ายทอดศิลปวิทยา ความรู้ความชำนาญ วิชาชีพต่างๆ เป็นเพียงการให้เครื่องมือเท่านั้น เราจะไม่รู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้เลย ถ้ายังไม่สามารถทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นบัณฑิต

เพราะฉะนั้นจะมองข้ามบทบาทของการศึกษาในการสร้างคนให้เป็นบัณฑิตไปไม่ได้ ถ้าคนเป็นบัณฑิตแล้วเขาก็พร้อมที่จะนำเครื่องมือไปใช้ในทางสร้างสรรค์ โดยนัยนี้ เราจึงต้องถือว่าหน้าที่พื้นฐานของการศึกษา คือ การสร้างคนให้เป็น “บัณฑิต” กล่าวคือ การช่วยให้บุคคลพัฒนาชีวิตที่ดีงาม เป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์สังคม

ในส่วนที่สอง เมื่อเราให้เครื่องมือแก่บัณฑิตโดยการถ่ายทอดศิลปวิทยาเป็นอย่างดีแล้ว บัณฑิตนั้นก็จะดำเนินชีวิตที่ดีงามอย่างได้ผลดี และสร้างสรรค์พัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อถือตามหน้าที่ ๒ อย่างนี้ ครู ผู้สอน หรือที่เรียกกันว่าผู้ให้การศึกษา ก็มีฐานะ ๒ อย่าง คือ

๑. เป็นกัลยาณมิตร คือเป็นผู้แนะหรือเป็นสื่อนำที่ช่วยให้บุคคลนั้นๆ ศึกษาพัฒนาตนขึ้นไปเพื่อให้เขาเป็นบัณฑิต ในฐานะนี้ครูเองก็ต้องเป็นบัณฑิต หรือเป็นนักปราชญ์

๒. เป็นสิปปทายก หรือศิลปทายก คือเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการ ความชำนิชำนาญ ฝีมือ และวิชาชีพต่างๆ ในฐานะนี้ ครูควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ

อนึ่ง คำว่า “สร้างคนให้เป็นบัณฑิต” จะใช้คำอย่างอื่นอีกก็ได้ เช่น แทนที่จะใช้ว่า “เป็นบัณฑิต” เราก็ใช้คำว่า “เป็นอารยชน” ซึ่งในสมัยโบราณตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นคำที่เขาใช้เรียกคนในวรรณะสูง คือ กษัตริย์ (นักปกครอง นักรบ) พราหมณ์ (นักบวช นักวิชาการ) และแพศย์ (พ่อค้า) คำบาลีเรียกว่า “อริยกะ” หรือ “อริย” แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า ความเป็นอริยะหรืออารยชนมิใช่อยู่ที่การมีชาติกำเนิดสูง หรือเป็นชนชั้นสูงชั้นต่ำ แต่อยู่ที่การศึกษา คนที่พัฒนาฝึกฝนอบรมตนเป็นอย่างดีแล้ว มีชีวิตที่ดีงาม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นอารยชน

ฝรั่งเวลาเขาเรียกอารยชน เขาใช้คำว่า civilized ซึ่งหมายความว่า เป็นคนเมือง เขาวัดความเจริญด้วยการเป็นชาวนคร แต่ถ้ามองในความหมายที่เป็นสาระแท้แล้ว อันนั้นหาใช่เป็นมาตรฐานที่แท้จริงไม่ มาตรฐานที่แท้จริงอยู่ที่ “การศึกษา” นี้เอง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเน้นการศึกษา ตามคำบาลีว่า “สิกฺขา” แต่เราถือตามภาษาสันสกฤตว่า “ศิกฺษา” ทั้ง สิกฺขา ศิกฺษา และศึกษา เป็นคำเดียวกัน

ข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอยู่ใน “สิกขา” ทั้งนั้น เราถือว่ามนุษย์เกิดมาแล้วต้องมีสิกขา เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา หรือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝนพัฒนา ถ้าไม่ศึกษา มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นอย่างนั้นเอง มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นในข้อที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษา และฝึกได้ศึกษาได้ มีหลักการที่ควรสังเกตสำคัญในเรื่องนี้ ๒ อย่าง คือ

๑. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หมายความว่า การดำเนินชีวิตอยู่ได้ตลอดจนอยู่ดีของมนุษย์แทบไม่มีอะไรเลยที่ได้มาเปล่าๆ แต่ล้วนได้มาด้วยการศึกษาคือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้น ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่ดำเนินชีวิตได้ด้วยสัญชาตญาณ แทบไม่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา

๒. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หมายความว่า การที่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้นี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เลิศล้ำ จนแทบจะเป็นอะไรได้ทุกอย่าง อย่างที่ท่านว่าฝึกตนจนประเสริฐเลิศกว่าเทวดา กระทั่งแม้แต่พระพรหมก็เคารพนบไหว้ ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่เกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น

เมื่อธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ มนุษย์จะต้องเอาการศึกษาคือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานี้เป็นหลักของการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เรียนรู้ฝึกหัดแค่เท่าที่จำเป็นพอดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ต้องศึกษาพัฒนาตนยิ่งขึ้นไปตลอดเวลา เพราะความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาหรือการศึกษานี้เท่านั้น การดำเนินชีวิตให้ดีของมนุษย์ทั้งหมดเรียกว่า สิกขา ทั้งสิ้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็จะต้องอยู่ในการสิกขาทุกคนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น บุคคลที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาก้าวหน้าไป จนกระทั่งเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ที่เรานิยมเรียกว่า อริยบุคคลนั้น จึงมีศัพท์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เสกขะ” หรือ “เสขะ” ซึ่งมาจากคำว่า “สิกขา” แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา แม้แต่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังต้องศึกษา จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ จึงเรียกว่า “อเสกขะ” หรือ “อเสขะ” แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษาอีก นั่นคือสำเร็จการศึกษา บรรลุจุดหมายของชีวิตมนุษย์ หรือจบการประพฤติปฏิบัติหรือการฝึกฝนอบรมในหมู่มนุษย์แล้ว เป็นอันว่าชีวิตตามหลักพุทธศาสนาเป็นชีวิตแห่งการศึกษาทั้งสิ้น

ในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผิด เมื่ออารยธรรมติดตัน
ทุกคนทุกชนชาติต้องร่วมกันแก้ไข

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการนำเอาหลักพระพุทธศาสนามาใช้ในการจัดการศึกษา ควรจะพูดถึงสภาพปัจจุบันและปัญหาของโลกเสียก่อน การศึกษาที่จะจัดให้ได้ผลดี จะเรียกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรืออะไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงการจัดการแก้ไขปัญหาให้ได้ผลด้วย ถ้าการจัดการศึกษาไม่สามารถใช้แก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จ ถ้าเราเอาหลักการนั้นมาใช้จัดการศึกษาก็คงไม่บรรลุความมุ่งหมาย ถึงแม้ว่าเราจะพูดให้ไพเราะอย่างไรก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะประโยชน์สำคัญอยู่ที่ผลสำเร็จในเชิงปฏิบัติว่า ปัญหาของโลกมนุษย์ในปัจจุบันมีอะไร เรามองเห็นทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยหลักการนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มต้นด้วยปัญหาเรื่องสภาพชีวิตในสังคม ที่การศึกษาจะต้องเข้ามารับมือแก้ไข

มองดูโลกในยุคปัจจุบัน เราก็มาติดกับถ้อยคำที่นิยมมากที่สุดเวลานี้ คือ คำว่า “โลกาภิวัตน์” ซึ่งเพิ่งเข้ามาแทนคำว่า “โลกานุวัตร” ที่นิยมพูดกันมาก แต่ตอนนี้ถูกราชบัณฑิตบอกให้งดใช้ ให้หันมาใช้คำว่าโลกาภิวัตน์แทน ศัพท์นี้เป็นที่นิยมใช้กันมาก เวลาจะตั้งหัวข้อปาฐกถาก็นิยมใส่คำว่าโลกาภิวัตน์เข้าไปด้วย

กระแสของ “โลกาภิวัตน์” เป็นไปอย่างรุนแรง โลกสมัยนี้ถือว่าอยู่ในสภาวะที่ “ไร้พรมแดน” หมายความว่าถึงกันหมดไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลกก็ตาม สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็แพร่หลายกระจายทั่วไป ในสภาพที่ความเจริญขยายไปทั่วจนทั้งโลกติดต่อถึงกันหมด เช่น การแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูล เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดมีภาวะอย่างหนึ่งคือ การที่มนุษย์จะรับถ่ายทอดจากกัน หรือการที่จะมีอิทธิพลของสิ่งที่เกิดขึ้นแพร่ขยายเข้าไปในที่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการแทรกซึมหรือการระบาดหรืออะไรก็ตาม หมายความว่า กระแสที่เกิดขึ้นมีทั้งดีและร้าย กระแสนี้จะมีอิทธิพลมากถ้าเรา ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งก็ตาม แล้วมองตัวเองว่าเป็นผู้ด้อย เราก็จะเป็น “ผู้รับ” กระแสที่เรียกว่า เป็นความเจริญที่เกิดขึ้นในโลก

กระแส “โลกาภิวัตน์” มีอิทธิพลมาก เพราะสิ่งที่แพร่ไปในโลกปัจจุบันนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เป็นรูปธรรมในทางร้าย เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น โรคเอดส์ ปัจจุบันก็อาศัยกระแสโลกาภิวัตน์จึงแพร่หลายไปทั่วโลก ถ้าโรคเอดส์เกิดขึ้นในสมัยก่อนก็จะไม่แพร่หลายไปไกล เพราะการสื่อสาร การคมนาคม การขนส่งไม่ค่อยทั่วถึง จึงแพร่ระบาดไปยาก แต่เมื่อมีความเจริญของโลกตามกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ทำให้โรคเอดส์อาศัยไปด้วย ตัวอย่างที่เป็นด้านกลางๆ จะถือว่า ดีบ้างร้ายบ้าง ก็เช่น เทคโนโลยีต่างๆ เทคโนโลยีเกิดขึ้นในประเทศไหนสักแห่ง ในไม่ช้าก็จะมีกันทั่ว อย่างปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่ถือว่าเจริญที่สุด พอเกิดขึ้นในอเมริกาไม่ช้าประเทศไทยก็มี ถึงแม้ถ้ายังไม่มีเข้ามาขาย เราก็เดินทางไปซื้อที่อเมริกาได้

ส่วนทางด้านนามธรรมก็มีเรื่องข่าวสารข้อมูล ความคิดเห็น แนวความคิด ค่านิยมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนระบบการต่างๆ ในทางเศรษฐกิจก็ตาม ในทางการเมืองก็ตาม ซึ่งก็แพร่ขยายไปได้ทั่วถึงหมด

การศึกษาจะต้องช่วยให้มนุษย์อยู่ได้อย่างดีที่สุด ในสภาพของสังคมหรือโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำให้คนมีความสามารถในการปรับตัว คำว่า “ปรับตัว” จะต้องเข้าใจความหมายให้ชัด สังคมบางสังคมมีความเก่งในด้าน “การปรับตาม” คือ การเลียนแบบ การเลียนแบบนี้ ถ้ามองไม่รอบคอบ อาจเข้าใจผิดเป็นว่าเป็นการปรับตัวเก่ง แต่ที่จริงการเลียนแบบไม่ได้เป็นการแสดงความสามารถอะไร เพราะเรายินดี เราชอบสิ่งใด เราก็ทำตามสิ่งนั้น โดยมิได้คำนึงถึงผลดีและผลเสียที่มีต่อชีวิตและสังคม ดังนั้น จะต้องระวังอย่าให้เป็นการปรับตัวเพียงด้วยการเลียนแบบ

ในการปรับตัวนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เข้ามาจะทำให้เกิดผลดีหรือผลร้าย และเราจะปรับตัวอย่างไรจึงจะเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของเรา ดังนั้น “การสิกขา” จะต้องช่วยให้คนมีความสามารถในการปรับตัว

กระแสโลกาภิวัตน์ที่แพร่เข้ามานั้นมีทั้งดีและไม่ดี เราจะต้องมีความรู้หรือรู้เท่าทัน ไม่ใช่ไหลไปตาม ซึ่งจะกลายเป็นการเลียนแบบ หรือการปรับตามอย่างที่ว่า เวลานี้เมื่อเรามีความรู้สึกว่า เราเป็น “ฝ่ายรับ” ก็เท่ากับเป็นความรู้สึกที่ยอมรับความด้อย และมีความโน้มเอียงที่จะรับ โดยมองเห็นผู้อื่นหรือประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็นผู้เจริญ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เข้ามาจากภายนอก จะเป็นวัตถุก็ตาม จะเป็นนามธรรมก็ตาม เราก็มีความโน้มเอียงที่จะรับ ยิ่งสิ่งที่เป็นนามธรรมจำพวกค่านิยม และแนวความคิดต่างๆ เช่นทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันคือระบบทุนนิยม ระบบผลประโยชน์ การแข่งขันซึ่งกำลังมีแรงสูง แผ่เข้ามาทั้งในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ก็จะเข้ามาครอบงำมนุษย์ในสังคมที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ตามได้ง่าย

แม้แต่แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาเหมือนกันว่า หลักการ ความหมาย และรูปแบบต่างๆ ของมันที่เข้ามาซึ่งเราถือว่าเป็นของประเทศที่เจริญแล้วนั้น เราเคยวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ว่ามันดีจริงหรือเปล่าหรือมันยังมีข้อบกพร่องจุดอ่อนอย่างไร แม้กระทั่งความเหมาะสมกับตัวเราที่จะเอามาใช้ อันนี้เป็นเรื่องของการศึกษาที่จะต้องทำให้คนมีปัญญาที่จะรู้เท่าทันและเท่าถึง

ถ้าเราไม่มีปัญญาที่จะรู้เท่าทันส่วนที่ดีและส่วนที่ด้อยของสิ่งที่เข้ามาเหล่านี้ เราจะไม่สามารถปรับตัวให้ได้ผลดี และการที่จะอยู่ในประชาคมโลกปัจจุบันนี้ ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่ว่าจะเดินตามกระแสความเจริญเท่านั้น แต่หมายถึงการที่มนุษย์ทุกคน และชุมชนในสังคมโลกทั้งหมด จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ถ้าเราไม่มีสติปัญญาเพียงพอ เราจะไม่สามารถแม้แต่จะปรับตัวให้ได้ดี ไม่ต้องพูดถึงว่าเราจะไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขและสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกได้อย่างไร

เวลานี้การศึกษาจะต้องมองไปถึงขั้นที่ว่า มนุษย์ทุกคนหรือคนในสังคมทุกสังคม ในประเทศทุกประเทศ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด เราจะต้องเดินร่วมหรือคู่เคียงไปด้วยกันกับมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ รวมทั้งมนุษย์ในประเทศที่พัฒนาสูงสุดแล้ว

แต่ที่จริง ถ้าจะทำให้ถูก ในเมื่อเวลานี้ ประเทศที่พัฒนาสูงสุดเหล่านั้นได้นำอารยธรรมมนุษย์มาถึงจุดติดตันโดยที่เราก็ยอมรับความติดตันนั้น และยังไม่สามารถหาทางออกได้ เราจะต้องพัฒนาสติปัญญาให้ก้าวล้ำเลยหน้าแม้แต่ประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วเหล่านั้น เราจึงจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ได้ ฉะนั้น การเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาตามกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เราจะไม่ใช่อยู่ในฐานะเพียง “ผู้ตั้งรับ” ถ้าสังคมของเราอยู่ในฐานะ “ผู้ตั้งรับ” เราก็จะต้องพิจารณาและแก้ไข ให้สังคมของเราเป็น “ฝ่ายรุก” ด้วย

อีกอย่างหนึ่ง การรับนั้นนอกจากคู่กับรุกแล้ว ก็คู่กับให้ด้วย สังคมของเราไม่ควรจะเอาแต่รับให้แก่ตนอย่างเดียว ในฐานะที่เราจะต้องมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกที่ดีของประชาคมโลก ช่วยสร้างสรรค์ แก้ปัญหาของโลก เราจะต้องมีอะไรให้แก่โลกด้วย เพราะฉะนั้นในโลกนี้เพื่อให้มีดุลยภาพ มนุษย์ทุกคนต้องมีทั้ง “ได้” และมีทั้ง “ให้” สังคมของเราก็เช่นเดียวกัน คนไทยไม่ควรจะมองแต่ในแง่ที่จะ “รับ” แต่จะต้องคิดให้หนักถึงการที่จะมีส่วน “ให้” แก่โลก การศึกษานี่แหละ จะทำให้เราสามารถสำรวจศักยภาพของตนเอง เช่นว่า คนไทยเรามีอะไรดีที่จะให้แก่โลกบ้างไหม? เราสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกไหม?

ถ้าเราพิจารณาตรวจสอบตัวเองให้ดี เราอาจพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ ที่จะทำอย่างนั้นได้ หรือถ้าไม่พบเลยจริงๆ ก็มุ่งมุพัฒนามันขึ้นมา โดยเฉพาะดังที่บอกข้างต้นแล้วว่า เวลานี้โลกของเรามาถึง “จุดติดตัน” ปัญหาของโลกมีมากมาย และประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีความสามารถที่จะแก้ปัญหานี้ ยังไม่มีทางออกในการแก้ปัญหาอารยธรรมของโลก ฉะนั้น ทุกประเทศในโลกที่มีศักยภาพจะได้ช่วยกันคิด ไม่ใช่จะมัวรอประเทศใหญ่ๆ คิดให้อย่างเดียว บางทีประเทศเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละอาจจะเป็นผู้เสนอทางออกให้แก่อารยธรรมของโลก ช่วยแก้ปัญหาและทำให้ออกจากการติดตันไปได้

– ๑ –
พัฒนาให้ทันโลกาภิวัตน์

ชอบใช้เทคโนโลยี แต่ไม่รู้จักวิทยาศาสตร์

ในท่ามกลางกระแส “โลกาภิวัตน์” มีปัญหาและปัจจัยต่างๆ ที่เราจะต้องเข้าไปวิเคราะห์แยกแยะดูมากมาย ปัจจัยส่วนหนึ่งที่สำคัญของกระแสโลกาภิวัตน์ ก็คือ มนุษยโลกปัจจุบันนี้ ได้สร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมาด้วยบทบาทที่เด่นชัดของเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวแสดง ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาอารยธรรมของมนุษยชาติ จนกระทั่งว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันนี้เคยมีความภาคภูมิใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง และมีความหวังจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า จะสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่มนุษยชาติ แต่ในปัจจุบันความหวังนี้ได้เริ่มเลือนลางลงไป โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความรู้สึกมีความหวังและความภูมิใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลดลงมากแล้ว จนกระทั่งบางพวกถึงกับมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ดังที่คนในประเทศที่พัฒนาแล้วบางส่วนตั้งกันเป็นกลุ่ม เพื่อต่อต้านเทคโนโลยี หรือไม่ยอมใช้เทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า อารยธรรมของมนุษย์ที่เจริญอยู่ในปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวเอกในการสร้างขึ้นมา ยุคสมัยปัจจุบันที่เราเรียกว่าเป็นยุคข่าวสารข้อมูลก็ตาม ยุคเก่ากว่าที่เรียกว่ายุคอุตสาหกรรมก็ตาม ล้วนแต่เป็นยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวเอกในการสร้างสรรค์ขึ้นทั้งนั้น แต่มนุษย์ที่อยู่ในโลกจะต้องรู้เท่าทันและปฏิบัติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็ต้องรู้ทั้งคุณและโทษ ขอบเขตความสำคัญ และข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่นตามทันว่า เวลานี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร? เขาเกิดความรู้ตระหนักว่ามันเป็นปัจจัยที่ไม่เพียงพอในการที่จะพัฒนาสร้างสรรค์สังคม เป็นต้น และมีโทษมากมายที่เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อย่างน้อยก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้ คนจะต้องรู้จักแยกความแตกต่างระหว่าง วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี แต่ปรากฏว่า ในสังคมที่กำลังพัฒนา คนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถแม้แต่จะแยกระหว่าง “วิทยาศาสตร์” กับ “เทคโนโลยี” แล้วก็แยกไม่ออกระหว่าง “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” กับ “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” ในการที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้ผลนั้น จะต้องพัฒนาสังคมให้มี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” เป็นอย่างน้อย แม้จะยังเป็นวัฒนธรรมที่ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่แยกไม่ออกระหว่างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ กับ วัฒนธรรมเทคโนโลยี เขาก็จะเข้าไม่ถึงวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

“วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” หมายถึง วิถีชีวิต ตลอดจนจิตใจของคนที่นิยมเหตุผล มองสิ่งทั้งหลายโดยใช้ปัญญา ชอบพิสูจน์ทดสอบหาความจริง มีความใฝ่รู้ ต้องการเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย ต้องการรู้ความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งความคิดจิตใจดำเนินไปในเชิงของความเป็นเหตุเป็นผล อย่างนี้เรียกว่ามี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” องค์สำคัญคือ ความใฝ่รู้ การรู้จักใช้เหตุผล และการมองสิ่งต่างๆ โดยใช้วิจารณญาณ ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ

ส่วน “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” หมายถึง วิถีชีวิตที่ชื่นชมนิยมให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยี มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องช่วยผ่อนเบาและอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตและกิจการ ตลอดจนเสริมเติมบำรุงบำเรอความสุขความสนุกสนานบันเทิงในด้านการเสพและบริโภค ถ้าล้ำหน้าไปก็กลายเป็นวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมาก

ปัจจุบันนี้ในสังคมของเรา เราต้องยอมรับว่าชีวิตของคนขึ้นต่อเทคโนโลยีมาก เราอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกสบาย เรากำลังมีวัฒนธรรมเทคโนโลยี แต่เรามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์หรือเปล่า

วัฒนธรรมที่เป็นตัวสร้างสรรค์ความเจริญคือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เป็นฐาน วัฒนธรรมเทคโนโลยีอาจจะกลายเป็นปัจจัยตัวร้ายที่จะนำชีวิตและสังคมไปสู่หายนะ เพราะว่าในขณะที่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ทำให้คนใช้ปัญญา คิดค้นคว้าหาความรู้ เป็นผู้สร้างสรรค์ แต่วัฒนธรรมเทคโนโลยีทำให้เราคอยรอที่จะเสพและบริโภค โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวผู้ทำให้แก่เรา คือเราไม่ต้องทำและไม่ต้องใช้ปัญญา

เวลานี้พูดกันว่าสังคมปัจจุบันเป็นสังคมบริโภค ในคำนี้แฝงนัยแห่งความหมายว่า สังคมได้บรรลุผลสำเร็จแห่งการสร้างสรรค์ด้วยกำลังอำนาจของเทคโนโลยี แล้วละเลิกความเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์ หันมาเป็นผู้เสวยผลแห่งความสำเร็จนั้น ไม่เป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์อีกต่อไป (สังคมบางสังคมไม่ผ่านขั้นตอนของความเป็นผู้ผลิตหรือสร้างสรรค์มาด้วยซ้ำ อยู่ๆ ก็ข้ามขั้นมาเป็นสังคมบริโภคทันทีเลย)

เวลานี้ เราเป็นนักบริโภค เราติดอยู่กับ “วัฒนธรรมเทคโนโลยี” มีวิถีชีวิตที่ขึ้นต่อเทคโนโลยี และถือเอาเทคโนโลยีเป็นตัวบันดาลทำให้เกิดความสุขความสำเร็จ ใช่หรือไม่ ข้อนี้ในสังคมของเราก็พอมองเห็นได้ แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งชีวิตในทางสติปัญญาของเราเป็นอย่างไร คนมีความใฝ่รู้ไหม ต้องการเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ รู้จักใช้วิจารณญาณ เป็นคนที่ใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือไม่ หรือเป็นคนที่ฮือไปตามข่าว ตื่นตูม มีข่าวอะไรมาก็เชื่อง่ายเฮกันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าไม่มี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์”

ในการที่จะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ คนจะต้องมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ การที่จะอยู่ในโลกได้อย่างดี คนจะต้องมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์นี้เข้ากันได้กับการศึกษา ที่จริงมันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของการศึกษาเลยทีเดียว ถ้าสังคมไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และคนไม่มีจิตใจวิทยาศาสตร์ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะเป็นไปในลักษณะของการบริโภค โน้มไปสู่ความฟุ้งเฟ้อ ฉาบฉวย อ่อนแอ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก และความเสื่อม

ถ้าหากว่า ที่ผ่านมา “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” เรายังสร้างไม่ได้ เราจะต้องหันมาสำรวจตัวเองให้หนัก และต้องเร่งแก้ไข อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญในความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นจะต้องถามตนเองว่า สังคมของเราได้ประสบความสำเร็จในการสร้าง “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” หรือเปล่า หรือมีเพียง “วัฒนธรรมเทคโนโลยี”เท่านั้น

ในหลักสูตรการศึกษาของเราก็มีวิชาวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์นั้นได้ทำให้คนของเรามีจิตใจและท่าทีวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือทำได้เพียงให้เขามีความรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ถ้าได้เพียงแค่นี้ก็ต้องพูดว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ของเราไม่ประสบความสำเร็จ

ยิ่งกว่านั้น ต่อจากนี้เรายังจะต้องก้าวไปสู่การรู้เท่าทันถึงความไม่เพียงพอของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติอีกด้วย เพราะในด้านลบนั้นเวลานี้ก็ยอมรับกันแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่แหละที่เป็นตัวการนำปัญหามาสู่มนุษย์ในปัจจุบัน เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นต้น โดยเป็นปัจจัยตัวเอกที่ทำให้การพัฒนาไม่ยั่งยืน แต่ผลร้ายนั้นข้อสำคัญขึ้นอยู่กับการที่มนุษย์ไม่ได้พัฒนาตัวเองให้เพียงพอในการที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ฉะนั้นเวลานี้เราจึงหันมาเน้นความสำคัญในการพัฒนาคน

หันไปมองอย่างประเทศของเราเวลานี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็มาเน้นการพัฒนาคนเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะแผนต่อไปได้ทราบว่าเน้นเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาคน รวมทั้งพัฒนาจิตใจด้วย ที่จริงเราเริ่มเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มา ๒-๓ แผนแล้ว แต่การเอาจริงเอาจังยังไม่เต็มที่ ตอนนี้กำลังเร่งกันเป็นการใหญ่

แม้แต่ในระดับโลกก็ทราบกันอยู่ว่า องค์การสหประชาชาติ โดยทางองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ทศวรรษนี้ คือที่เรากำลังอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ถึง ๒๕๔๐ เป็น “ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” ตามภาษาอังกฤษว่า The World Decade for Cultural Development

ในการประกาศทศวรรษนี้ ทางองค์การยูเนสโกที่เป็นเจ้าของเรื่อง ได้ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ของโลกในเรื่องการพัฒนาเท่าที่ผ่านมาเป็นเวลายาวนาน แล้วก็ได้แถลงเหตุผลชัดเจนว่า การพัฒนาของโลกในยุคที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่เน้นบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งหมายความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการพัฒนาที่เน้นด้านวัตถุซึ่งต่อมาก็เกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นแล้วองค์การสหประชาชาติก็ได้แถลงถึงผลเสียผลร้ายต่างๆ ของการพัฒนาแบบนี้ ซึ่งทำให้เกิดโทษทั้งแก่ชีวิตบุคคลแก่สังคมและแก่สิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่มนุษย์มีความสามารถในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผลิตสิ่งบริโภคได้มากมาย แต่โลกมนุษย์ก็ยังคงมีความยากจนข้นแค้น ความขัดแย้งต่างๆ การเอารัดเอาเปรียบ มีการอดตายมาก เป็นเพราะมนุษย์เบียดเบียนกัน แย่งชิงกัน ตลอดจนทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมสลายไป ทั้งนี้ก็เพราะการพัฒนาแบบนี้ เป็นการพัฒนาที่ผิดทาง เป็น misdirected development เป็นการพัฒนาเพียงด้านเดียว ไม่ครบไม่สมบูรณ์

การพัฒนาต่อไปนี้ จะต้องให้ความสำคัญแก่ปัจจัยด้านอื่นๆ หรือองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย องค์ประกอบที่สำคัญก็คือตัวมนุษย์นั่นเอง และมนุษย์ก็อยู่ภายใต้ความเป็นไปของวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมซึ่งเป็นผลรวมแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของคนในสังคม ทางองค์การสหประชาชาติจึงประกาศ “ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” ขึ้นมาเพื่อให้ความสำคัญแก่การพัฒนาวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของตัวคนที่มีจิตใจ อันโยงไปถึงคุณธรรมต่างๆ

นี้เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เราได้เห็นมาเป็นขั้นๆ แต่อย่างน้อยตอนนี้เราต้องให้คนของเรามีความรู้เท่าทันข้อดี ข้อเด่น และขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง เริ่มแต่มี “วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์” อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถึงแม้มีข้อมูลข่าวสารมากมาย
แต่ถ้ารับและใช้ไม่เป็น ก็ไม่มีความหมาย

ยุคนี้เป็น “ยุคโลกาภิวัตน์” และโลกาภิวัตน์ที่เด่นที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่ใช่สำคัญที่สุดก็คือ ข่าวสารข้อมูล หรือจะเรียกว่าสารสนเทศ หรืออะไรก็ตามที ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า information ในปัจจุบันมักใช้ชื่อนี้เป็นชื่อของยุคสมัยด้วย ว่าเป็น “ยุคข่าวสารข้อมูล” (Information Age) เป็นยุคที่ข่าวสารข้อมูล มีบทบาทอย่างยิ่งในสังคม มีการแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง มีปริมาณมากมายมหาศาล และมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

ในแง่นี้มนุษย์สมัยปัจจุบันได้เปรียบมนุษย์สมัยก่อน ซึ่งการที่จะรู้ข่าวสารแสนจะยาก เมื่อไม่รู้โดยตรงก็กลายเป็นข่าวลือ ฉะนั้นมนุษย์สมัยก่อนจึงตกอยู่ใต้อำนาจข่าวลือมาก อย่างเมืองหนึ่งต้องการจะติดต่อกับอีกเมืองหนึ่ง อาจจะใช้ม้าเป็นพาหนะในการสื่อสาร ซึ่งเป็นการส่งข่าวสื่อข่าวด้วยวิธีที่มีขีดจำกัดอย่างยิ่ง แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ข่าวเกิดขึ้นที่ไหนชั่ววินาทีเดียวก็รู้ไปทั่วโลกแล้ว ฉะนั้น ในยุคปัจจุบันมนุษย์มีข้อได้เปรียบมาก จนกระทั่งมองไปว่า มนุษย์สมัยนี้เป็นมนุษย์ที่มีปัญญามาก เพราะว่า “ความรู้” นั้น คือขุมแห่งสติปัญญา

อย่างไรก็ตาม “ความรู้” เป็นคำที่มีความหมาย ๒ ด้าน คือ

ด้านที่ ๑ ความรู้ หมายถึง ข้อมูลที่ถูกรับรู้ หรือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

ด้านที่ ๒ ความรู้ หมายถึง ความสามารถในจิตใจของคนที่เข้าใจหยั่งถึงหรือเข้าถึงความจริงของเรื่องราวหรือสิ่งนั้นๆ

มนุษย์มีความสับสนระหว่างความหมายของความรู้ทั้ง ๒ ด้านนี้ ที่จริงมนุษย์ควรจะแยกความหมายของความรู้ทั้ง ๒ ด้านนี้ได้อย่างชัดเจน ความรู้ในความหมายที่ ๑ อาจจะเรียกว่า “ข้อรู้” ส่วนความรู้ในความหมายที่ ๒ จึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้” ซึ่งเป็นตัวปัญญา คนหลายคนสะสมข้อรู้ไว้ได้มาก ตามข้อรู้ได้เก่ง ทันหมด แต่ไม่ได้ความรู้ หรือปัญญาเลย

เวลานี้มนุษย์มีแหล่งเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลมากและมีการสื่อสารได้รวดเร็ว พร้อมทั้งมีปริมาณมากด้วย มนุษย์สมัยนี้จึงถือว่าได้เปรียบ สามารถมีความรู้ได้กว้างขวาง ก็ควรจะเป็นคนมีสติปัญญาดีขึ้น แต่ความจริงกลายเป็นว่า ความรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้อาจจะทำให้คนหลงงมงายมากขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมี “การศึกษา” ที่จะทำให้คนปฏิบัติต่อข่าวสารได้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความรู้ที่แท้ ที่เป็นปัญญา

การปฏิบัติต่อข่าวสารได้ถูกต้องนั้นมีทั้ง “รับเป็น” และ “ใช้เป็น” คือทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม ถ้าเรารับไม่เป็น และใช้ไม่เป็นอาจจะเกิดโทษมหันต์ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังให้ดี

เวลานี้สังคมที่พัฒนาแล้วที่ถือว่าตัวเองมีความเจริญด้วยเครื่องมือข่าวสารข้อมูลก็ปรากฏว่าได้หันมาให้ความสนใจและเป็นห่วงด้านนี้กันมากขึ้น จนกระทั่งบางคนถือว่าสังคมเวลานี้ไม่ใช่สังคมข่าวสารข้อมูลแล้ว แต่จะเป็นสังคม misinformation คือ เป็นสังคมที่มีข่าวสารข้อมูลผิดพลาดเป็น “มิจฉาสาร” หรือว่า แทนที่จะเป็นข่าวสาร ก็เป็นข่าวไร้สาร และกิจการ “สื่อสาร” ก็เป็น “สื่อไร้สาร” ในเวลาที่เราพูดว่า “สื่อสาร” เราก็คิดว่านี่ถูกต้อง และเราก็ภูมิใจว่า สื่อต่างๆ นี้นำความรู้มาให้ และหลงไปว่ามันเป็น “สาระ” ที่จริงสื่อสารก็คือสื่อสาระ แต่บางกรณีมันกลายเป็นสื่อไร้สาร คือ สื่อไร้สาระนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องระวัง

คนที่ปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลผิด จะทำให้เกิดผลเสียดังนี้

๑. เกิดภาวะที่ว่า ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้น ยิ่งเพิ่ม “โมหะ” คือทำให้ความหลงงมงายมากขึ้น ได้แต่ถูกข้อมูลท่วมทับ แล้วตกเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล ลองดูจากคนที่ดูโทรทัศน์ว่าเป็นคนที่ได้ความคิดได้ปัญญาจากข่าวสาร หรือได้แต่เสพข่าวบริโภคข่าว พอให้ตื่นเต้นกับไป พวกไหนมากกว่ากัน และเป็นคนที่รู้จักรับเอาข่าวสารในโทรทัศน์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือถูกชักจูงไปเป็นเหยื่อของข่าวสาร พวกไหนมากกว่ากัน คนที่เสพข่าวสาร ถ้าไม่รู้จักใช้วิจารณญาณ ไม่มีการศึกษาที่ดี ก็จะไม่ทันข่าวสารข้อมูล อาจจะกลายเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล และกลับกลายเป็นว่า ข่าวสารข้อมูลยิ่งมากก็ยิ่งพร่า เมื่อพร่าก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และก็ทำให้เกิดโมหะมากขึ้นนั่นเอง

๒. เกิดภาวะที่เรียกว่า “สมองเมื่อย” ซึ่งเกิดขึ้นกับคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากข่าวสารข้อมูลมีจำนวนมากมายและรวดเร็ว ทำให้รับไม่ไหวและรับไม่ทัน การที่มาภูมิใจว่า ข่าวสารมากจะมีความรู้มากนั้น ไม่จริงหรอก คนหนึ่งๆ จะมีความสามารถหรือวิสัยในการรับข้อมูลไม่มากเท่าไร แม้แต่หนังสือที่เป็นเล่มๆ ออกมามากๆ เราก็อ่านไม่ทัน หนังสือพิมพ์เราก็อ่านไม่ทัน ข่าวโทรทัศน์ ข่าววิทยุ เราก็ฟังไม่ทั่วไม่ทัน ในเมื่อข่าวสารมีมาก และการที่จะอยู่ในโลกปัจจุบันให้ได้ผลดีมีชีวิตที่ดี เราจะต้องทันต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อเรารับมือกับมันไม่ถูกท่าและรับไม่ไหว ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า “สมองเมื่อย” คือ สมองล้ารับไม่ไหว จนกระทั่งคนบางกลุ่มกลายเป็นคนที่ปล่อยเลย ไม่เอาแล้ว ไม่อยากรู้แล้ว มันเมื่อยเหลือเกิน สมองรับไม่ไหวแล้วเลยกลายเป็นว่า ปล่อยปละละเลย ไม่เอาเรื่องกับข่าวสารข้อมูล กลายเป็นผลเสีย เพราะฉะนั้น อย่าไปภูมิใจกับการที่เราเจริญด้วยข่าวสารข้อมูล ถ้าเราไม่ทันมัน ปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันจะเกิดโทษมากกว่าเกิดคุณ

๓. เกิดภาวะที่เรียกว่า information anxiety ได้มีคนแต่งหนังสือล้อเลียนยุคสมัยนี้ ที่เราชอบเรียกสังคมปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็น information society (สังคมแห่งข่าวสารข้อมูล) แต่ข่าวสารข้อมูลนั้น ถ้าปฏิบัติต่อมันไม่เป็น ไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดโทษ ดังที่เขาใช้ศัพท์ใหม่ล้อ information society ว่า information anxiety หมายความว่า คนยุคปัจจุบันนี้มีความกระวนกระวายต่อข่าวสารข้อมูล เพราะชีวิตและการงานถูกมันรุกเร้าบีบคั้น

อย่างนักธุรกิจจะดำเนินธุรกิจให้ได้ดี จะต้องทันต่อข่าวสารข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลเป็น เอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจของตนเอง ยิ่งปัจจุบันนี้โลกอยู่ในระบบแข่งขัน การที่จะเอาชนะคู่แข่งได้ จะต้องรู้ก่อนเขา รู้มากกว่าเขา รู้เหนือเขา ในเรื่องข่าวสารข้อมูลต่างๆ จึงทำให้เกิดความกังวลและกระวนกระวายว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้หรือไม่ เขามีข้อมูลอะไรเหนือกว่าที่เราไม่รู้หรือไม่ เรื่องนี้เวลานี้ไปถึงไหน ฯลฯ ก็เลยเกิดภาวะที่เป็น anxiety คือเกิดความกระวนกระวาย

“การศึกษา” คือ ตัวผู้รับผิดชอบ ฉะนั้นจะต้องมีการศึกษาที่ทำเรื่องนี้ให้ได้ มิฉะนั้นจะต้องบอกว่า การศึกษาไม่สามารถตามสังคมได้ทัน ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปนำสังคมหรือแก้ไขปัญหาสังคม ตกลงว่า ในยุคของข่าวสารข้อมูลนี้มนุษย์จะต้องมีการศึกษาที่ทำให้เขามีประสิทธิภาพทั้งใน “การรับ” และ “การใช้” ข่าวสารข้อมูล

ใน “ภาครับ” ทำอย่างไรจะสามารถรับข้อมูลต่างๆ ได้ชัดเจน ถ่องแท้ มีความรู้ความเข้าใจจริง อย่างข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ไหม ทำอย่างไรเราจะสามารถเข้าถึงความจริงของเรื่องราวเหล่านั้น ถ้าเป็นคนไม่มีการศึกษาเพียงพอ และรับข่าวสารโดยไม่มีวิจารณญาณ ก็รับไม่เป็น ก็ได้แต่ตื่นเต้นผ่านๆ ไป หรือรับเอาทั้งดุ้น หรือไม่ก็เชื่อง่ายและหลงไปตามนั้น ถ้าแหล่งข่าวมีความต้องการแอบแฝง คนก็กลายเป็นเหยื่อไป ฉะนั้นจะต้องมีวิธีการที่จะรับข้อมูลให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ ชัดเจน เข้าถึงเนื้อหาสาระ

นอกจากจะรับได้ชัดเจนแล้วจะต้องรู้จัก “เลือก” ข่าวสารมาทั้งหมดเราไม่สามารถรับทุกอย่างได้ เราจะต้องสามารถในการเลือก คัด เจาะ ค้น กระเทาะ และขยาย หมายความว่า ข่าวสารข้อมูลอะไรที่มีความสำคัญต่อชีวิต ต่อสังคม หรืออันไหนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย ความเจริญ ความเสื่อม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องจับให้ถูก แล้วเจาะประเด็นในเรื่องนั้นให้ชัดเจนให้ได้ แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว ยุคนี้ “การศึกษา” จะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้เช่นเดียวกัน

ในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล คนเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระได้อย่างชัดเจนถ่องแท้ คือ จับประเด็นไม่ได้ จับจุดไม่ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหามากในยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้น “การศึกษา” อีกนั่นแหละ จะต้องทำให้คนจับประเด็นของเรื่องให้ได้ ถ้าคนจับประเด็นในข่าวสารมาได้เขาก็สบาย หนังสือทั้งเล่ม บางคนเปิดอ่านเพียงแป๊บเดียว ก็จับประเด็นได้แล้ว และสามารถจำเนื้อหาได้เพราะเข้าใจ และเมื่อเราจับหรือยกประเด็นได้แล้ว เราก็สามารถนำไปขยายเป็นหนังสือทั้งเล่มได้ทันที เพราะฉะนั้นคนที่จับประเด็นได้ เจาะจุดได้ จะได้เปรียบเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ในยุคปัจจุบันที่มีข่าวสารมากมายจึงจำเป็นจะต้องให้คนมีความสามารถใน “การรับ” ในแง่การจับประเด็นหรือเข้าถึงจุดของเรื่องของปัญหา

“ภาคใช้” เป็นการเอาข้อมูลข่าวสารมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น สื่อสารเป็น เมื่อรับข่าวสารเข้ามาแล้วก็ต้องมีการสื่อสารออกไปด้วย ถ้ามีแต่เพียงรับข่าวสาร มันก็หยุด มันก็นิ่งอยู่ เขาสื่อสารมาเราก็รับ แต่ถ้าตัวเราไม่มีความสามารถที่จะสื่อสาร มันก็ตันจบกัน ข่าวสารจะออกมาได้ด้วยสื่อสาร พอข่าวสารมาอยู่ที่เรา เราจะใช้ประโยชน์ได้ ขั้นที่หนึ่ง เราก็ต้องสื่อสาร แต่เรามีความสามารถหรือไม่ในการที่จะสื่อสาร คือต้องสื่อสารเป็น เช่น ต้องพูดเป็น เขียนเป็น อย่างน้อยต้องสามารถสื่อความต้องการของตนให้คนอื่นเข้าใจได้ การศึกษาปัจจุบันมีคนร้องทุกข์กันมากว่านักเรียนจบไปแล้วพูดไม่เป็นเขียนไม่เป็น ต้องการอะไรพูดให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องมีบทบาทในการสร้างคุณสมบัติหรือความสามารถเหล่านี้ คือ

๑. ความสามารถที่จะสื่อให้คนอื่นเข้าใจความต้องการของตนได้ ให้เขารู้และเข้าใจความรู้ที่ตนถ่ายทอดให้เขาได้ ด้วยการถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เขาเข้าใจชัดเจนถ่องแท้ ตลอดจนสามารถชี้แจงชักจูงให้ผู้อื่นเห็นคล้อยตามได้ ซึ่งเป็นประสิทธิภาพในการสื่อสารสูงยิ่งขึ้นไปตามลำดับ

๒. ความสามารถที่จะนำเอาข่าวสารข้อมูลต่างๆ และความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยง มาประสาน มาปรุง มาแต่ง สร้างสรรค์ เป็นความรู้และความคิดใหม่ได้ ข้อนี้สำคัญมาก คนที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม ต้องมีความสามารถข้อนี้

คนเราโดยทั่วไปก็มีความรู้โดยรับเอาความรู้มาจากคนอื่นนั่นแหละ แต่ที่จริงความรู้ที่อ่านฟังรับเอามานั้นยังเป็นความรู้ของคนอื่น ยังไม่เป็นของตัวเรา ความรู้จากการที่คนอื่นหรือครูบาอาจารย์ถ่ายทอดมา ยังไม่ถือว่าเป็น “ปัญญา” ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงความรู้ของคนอื่น ที่เรารับเอามาเก็บไว้หรือสะสมไว้ การที่จะเป็น “ปัญญา” ได้ เราจะต้องเข้าถึงความจริงของความรู้นั้น และสามารถสืบสาวเหตุปัจจัย เอามาสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ตลอดจนปรุงแต่งเป็นความรู้ความคิดใหม่ได้ คนที่จะแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ได้ต้องมีปัญญานี้ เพราะว่า เราจะใช้ความรู้ที่มีอยู่มาปฏิบัติต่อสถานการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญหาเกิดขึ้น ความรู้เก่าที่เคยใช้กับสถานการณ์ก่อน ยังเป็นเหมือนวัตถุดิบเท่านั้น ยังใช้ไม่ได้ เราจึงต้องโยงเอาความรู้และข้อมูลต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นความรู้ความคิดใหม่ แล้วปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นให้สอดคล้อง จึงจะเป็นการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้

เด็กที่อ่านหนังสือ แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน คนหนึ่งแค่จะรู้ตามที่เขาเขียนไว้ก็ยากเต็มที อีกคนหนึ่งเข้าใจได้ตามที่เขาเขียนเล่าหรืออธิบายไว้ แต่ความเข้าใจเป็นความรู้กระจัดกระจาย จับประเด็นหรือจับสาระไม่ได้ อีกคนหนึ่งจับประเด็นได้รู้สาระสำคัญทั้งหมดด้วย อีกคนหนึ่งนอกจากเข้าใจเนื้อความทั้งหมดและจับประเด็นได้แล้ว ยังได้คติที่แตกออกไปหรือเกิดแง่มุมความคิดใหม่ขึ้นจากสิ่งที่ผ่านเข้ามากระทบความคิดของตน อีกคนหนึ่งสามารถเชื่อมโยงความรู้ทั้งที่ได้ใหม่จากหนังสือนั้นและความรู้เดิมที่ตนมีอยู่แล้ว เอามาสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นได้ เขาอาจจะเขียนหนังสือขึ้นมาใหม่อีกเล่มหนึ่งก็ได้ นี้เป็นเรื่องของขีดระดับความสามารถในการที่จะเข้าถึงข่าวสารข้อมูล

จะเห็นได้ว่า “ภาครับ” มี ๒ ขั้น “ภาคใช้” ก็มี ๒ ขั้น ทั้งหมดนี้เป็นปัญญาที่ทางพระมีคำเฉพาะเรียกว่า “ปฏิสัมภิทา ๔” ปฏิสัมภิทา แปลว่าปัญญาแตกฉาน เป็นปัญญาชุดที่ใช้ปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล ถ้าใครมีปัญญาชุดนี้ครบ ๔ อย่าง จะเป็นผู้พร้อมที่จะทำงานข่าวสารข้อมูลได้ และอยู่ในสังคมยุคข่าวสารข้อมูลได้ดี “ปฏิสัมภิทา ๔” ได้แก่

๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในเนื้อหา หรือเนื้อความ คือ เข้าใจความหมายและรายละเอียดถูกต้องชัดเจน มองเห็นเนื้อความตลอดทั้งหมด

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในตัวหลัก ตัวประเด็น คือ จับสาระ จับหลัก จับประเด็นได้ รู้จุดของเรื่องหรือปัญหา

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในการใช้ภาษาสื่อสาร คือ เข้าถึงอรรถรสของภาษา สามารถใช้ภาษาหรือถ้อยคำสื่อความหมาย ความต้องการ ตลอดจนชักนำและชักจูงให้ผู้อื่นเห็นตามได้

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ คือ สามารถเชื่อมโยงเอาความรู้ที่มีอยู่มาปรับใช้ให้ได้ผลในสถานการณ์นั้นๆ แก้ปัญหาได้ และสร้างสรรค์เป็นความรู้ ความคิดใหม่ขึ้นได้

สองข้อแรก เป็นเรื่องของ “ภาครับ” ส่วนสองข้อหลัง เป็นเรื่องของ “ภาคใช้” เป็นคุณสมบัติสำคัญชุดหนึ่งในการศึกษา โดยเฉพาะพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาตนอย่างดี หลายท่านจะมีคุณสมบัติชุดนี้ด้วย ในยุคนี้เราจะต้องพัฒนาคนให้ปฏิบัติต่อข่าวสารได้อย่างที่ว่ามาตามหลักธรรมชุดนี้ อย่างน้อยต้องดูเป็น ฟังเป็น คิดเป็น เช่น เด็กดูโทรทัศน์เป็นไหม รู้จักเลือกรายการที่เป็นประโยชน์มีคุณค่า มีเนื้อหาสาระส่งเสริมคุณภาพชีวิตไหม ดูแล้วได้คติได้ปัญญาได้ประโยชน์ไหม หรือดูแล้วได้แต่หลงใหลเพลิดเพลินไป เสียทั้งเวลาและสุขภาพ “ฟังเป็น” ก็เช่นเดียวกัน

การศึกษาเริ่มต้น จะต้องให้ความสำคัญในเรื่อง “ดูเป็น” และ “ฟังเป็น” ซึ่งหมายถึงการรู้จักใช้อายตนะ หรือใช้อินทรีย์ให้ได้ประโยชน์ ไม่เกิดโทษ คือ ใช้ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส และกายสัมผัส ซึ่งถือว่าสำคัญมากในการพัฒนามนุษย์เบื้องต้น จัดอยู่ในหลักที่เรียกว่า อินทรียสังวร ซึ่งรวมอยู่ในขั้น “กายภาวนา” คือการพัฒนากาย หรือพัฒนาการทางกาย

จัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก
แต่ต้องให้เด็กเอาดีได้จากสิ่งที่เลวที่สุด

ขอแทรกตรงนี้หน่อยว่า การศึกษาขั้นต้น ตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านให้ความสำคัญแก่การพัฒนากาย หรือพัฒนาการทางกาย ที่เรียกว่ากายภาวนานี้มาก (ความหมายไม่เหมือนกับที่เราใช้กันในปัจจุบัน) และ กายภาวนา ที่ท่านเน้นตอนต้นนี้มี ๒ อย่างคือ

๑. การรู้จักใช้อินทรีย์ หรืออินทรียสังวร โดยรับรู้ให้เกิดคุณไม่เกิดโทษ เช่น ดูเป็น ฟังเป็น ให้ได้คุณภาพชีวิต เช่น ปัญญา และคุณธรรม อย่างน้อยได้แบบอย่างที่ดี อย่างที่พูดมาแล้ว

๒. การบริโภคพอดี หรือความรู้จักประมาณในการบริโภค ที่เรียกเป็นภาษาพระว่า โภชเนมัตตัญญุตา หมายถึงการกินด้วยปัญญา คือ กินด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกินว่ากินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี จะได้เกื้อหนุนการมีชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่กินเพียงเพื่อบำรุงบำเรอให้อร่อยลิ้น การกินด้วยปัญญาที่รู้ความมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่แท้ของการกิน จะทำให้กินได้ปริมาณที่พอดีแก่ความต้องการของร่างกาย ไม่มากหรือน้อยเกินไป และเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ไม่เป็นโทษ

การบริโภคพอดี คือบริโภคด้วยปัญญานี้ ขยายออกไปถึงการใช้ปัจจัย ๔ อย่างอื่น ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย และเทคโนโลยีทั้งหลาย ทำให้เป็นการกินการใช้การซื้อหาด้วยสติปัญญาที่รู้เข้าใจมุ่งเพื่อคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่มุ่งเพียงเพื่อความสวยงามโก้เก๋ และการตกเป็นทาสของค่านิยมผิดๆ เป็นต้น ทำให้การเสพการใช้บริโภควัตถุเป็นไปในทางส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดการเบียดเบียนในสังคม และไม่สิ้นเปลื้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่สมควร

การพัฒนาทางกาย หรือกายภาวนาทั้ง ๒ ข้อนี้ นอกจากเป็นการฝึกหรือพัฒนาชีวิตในทางที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตโดยตรงแล้ว ยังเป็นมาตรการขั้นแรกสุดในการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ด้วย การศึกษาที่ขาดการพัฒนากายใน ๒ ข้อนี้ จะเป็นการศึกษาที่ฐานเสีย คือเป็นการศึกษาที่ผิดพลาดตั้งแต่พื้นฐานทีเดียว และจะนำมนุษยชาติไปสู่อิสรภาพและสันติสุขไม่ได้

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่อง “ดูเป็น” “ฟังเป็น” เป็นต้น ต่อไปเป็นเรื่องของการ “คิดเป็น” ข่าวสารข้อมูลนอกจากต้องดูเป็น ฟังเป็น แล้วต้องคิดเป็นด้วย การศึกษาจะต้องพัฒนาเด็กให้มีความสามารถนี้มากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งที่ว่า เด็กสามารถสรรประโยชน์สูงสุดได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด เช่น จากข่าวสารข้อมูลที่เลวร้ายที่สุด การที่จะอยู่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ให้ได้ผลดี จะต้องมีความสามารถถึงขั้นนี้

ด้วยเหตุนี้ ในแง่นี้ เราจึงมองการศึกษา เป็น ๒ ด้าน ที่เหมือนกับตรงกันข้าม แต่ย้อนมาบรรจบกัน คือ

ด้านที่ ๑ (จากข้างนอกเข้ามา) เราจัดการศึกษาโดยจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาของเด็ก แม้แต่ตัวครูเองก็เป็นการจัดสิ่งแวดล้อมแบบหนึ่ง คือเป็นระบบการศึกษาที่ให้ครูเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะมาช่วยเกื้อหนุนต่อการศึกษา หรือการพัฒนาของเด็ก ตัวครูเองก็เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งด้วย และครูนั้นก็มาจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของเด็กอีก ในการจัดสภาพแวดล้อมนี้ เราถือหลักการว่า ต้องจัดให้ดีที่สุด ให้เด็กมีครูที่ดีที่สุด ให้เด็กมีกัลยาณมิตรที่ดีที่สุด มีแบบอย่าง มีสิ่งแวดล้อม มีห้องสมุด มีข่าวสารข้อมูล มีแหล่งความรู้ อะไรต่างๆ ที่ดีที่สุด

ด้านที่ ๒ (จากข้างในออกไป) เราจัดการศึกษาโดยพัฒนาเด็กให้มีความสามารถที่จะอยู่ได้ดีที่สุดในสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด และสามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อม ข่าวสารข้อมูล และประสบการณ์ทั้งหลาย ที่เลวที่สุดด้วย

นี่เป็นการมอง ๒ ด้านพร้อมๆ กัน เราจะมองเฉพาะด้านการจัดสภาพแวดล้อมอย่างเดียวไม่ได้ ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า กำลังเขว จะได้ยินมากทีเดียวว่า ในด้านการศึกษา อเมริกันพยายามจะหาทางให้เด็กได้รับสิ่งที่น่าสนใจ สนุกสนาน ทำบทเรียนให้สนุก น่าสนใจ เขาจะเน้นเรื่องนี้มาก เปิดฟังข่าวก็จะได้ยินอย่างนี้ ครูและนักการศึกษาพยายามจะหาทางทำให้ชั้นเรียนและบทเรียนเป็นที่น่าสนใจแก่เด็ก และถือว่านี่จะเป็นความสำเร็จของการศึกษา แต่ทำไปทำมาก็เอียงสุดจนกลายเป็นการเอาใจเด็ก หาทางทำให้เด็กชอบใจ จนกระทั่งว่าเด็กชอบใจก็เรียน ไม่ชอบใจก็ไม่เรียน อันนี้ก็คือสภาพสูงสุดของการตามใจเด็กนั่นเอง เด็กจะขาดความเข้มแข็ง และขาดประสิทธิภาพไปถึงจุดหนึ่งที่ว่า ถ้าไม่มีบทเรียนและสภาพแวดล้อมที่จูงใจและถูกใจตัว เด็กก็จะไม่เอาเลย

ขณะเดียวกัน เด็กในบางสังคมได้รับการฝึกที่ตรงกันข้าม คือ เขาจะทำให้เด็กมีใจสู้ อยากจะเรียนรู้ มีความเข้มแข็ง สู้ในสิ่งที่ยาก พยายามเรียนรู้ให้ได้ผลให้มากที่สุด ปรากฏว่า ขณะนี้สังคมที่กำลังประสบความสำเร็จ คือสังคมประเภทหลัง ที่ฝึกเด็กให้สู้บทเรียนยาก ไม่ว่าอะไรแค่ไหนเข้ามาสามารถรับได้เต็มที่ สู้ได้หมด แต่ก็มีความเครียดไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าเตือนใจอยู่ว่า วิธีการจัดการศึกษาทั้ง ๒ วิธีดังกล่าวนั้นไม่ใช่วิธีการแห่ง“ปัญญา” เพราะวิธีแรก เป็นวิธี “ตามใจเด็ก” เด็กจะเอาอย่างไร ก็ต้องหาทางตามใจให้เขาได้ในสิ่งที่ปรารถนา ถ้าเขาพอใจอยากจะเรียน ก็เรียน ถ้าเขาไม่พอใจที่จะเรียนก็ไม่เรียน เราก็ต้องหาทางให้เขาพอใจให้ได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่งเป็นการ “ตามใจครู” ฉันให้เรียนอะไรอย่างไร ก็ต้องเรียนอันนั้นอย่างนั้นตามใจฉัน ฉันเป็นคนสอน เธอต้องเรียน ทั้ง ๒ วิธีล้วนแต่ใช้ “ความพอใจ” ทั้งคู่ ไม่ได้ใช้ “ปัญญา”

วิธีที่แท้ต้องใช้ “ปัญญา” คือ ต้องรู้ว่า การจะสร้างความสนใจ สร้างแรงจูงใจให้แก่เด็ก เช่น การทำบทเรียนให้น่าสนใจนั้น เป็นเพียงสื่อในการชักนำเบื้องต้น เป็นอุบายวิธีนำเด็กเข้าสู่บทเรียนเท่านั้น แต่เป้าหมายหลักก็คือทำให้เด็กมีความใฝ่รู้ และมีความเข้มแข็ง มีใจสู้ มีจิตมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง จะต้องสร้างอันนี้ให้สำเร็จ ถ้าเรายังอยู่ในขั้นของการสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ ก็ถือว่าเป็นเพียงการช่วยชักนำเข้าสู่การศึกษาเท่านั้น ความสำเร็จอยู่ที่การที่เด็กเกิดความมุ่งมั่นใฝ่รู้ขึ้นมา เป็นคุณสมบัติในตัวของเขาต่างหาก การศึกษาแท้จริงอยู่ที่นี่

สังคมอเมริกันมีทุนดีที่คนมีความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากมาก่อน ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยในอดีตเช่นการถูกบีบคั้นมานาน และการที่ได้ผ่านภูมิหลังแห่งการเป็นสังคมของนักผลิตบนฐานแห่งวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่ตามใจเด็กแล้วจึงจะเสื่อม และกำลังเสื่อมด้วย ดังที่ปัจจุบันก็แพ้แล้ว เวลานี้การศึกษาของอเมริกัน เมื่อมีการทดสอบระหว่างประเทศก็แพ้ญี่ปุ่น และแพ้ประเทศอื่นหลายประเทศ

อเมริกันกลัวสูญเสียความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำมาก และเขาก็รู้ตัวว่าการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เมื่ออเมริกาแย่ลงอเมริกาก็จึงพยายามเอาประเทศอื่นมาเป็นเครื่องช่วย หรือจะถือว่าเขาใช้ประเทศอื่นเป็นเครื่องมือก็ได้ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นประโยชน์ หมายความว่า มีการทดสอบความรู้โดยเป็นการแข่งขันระหว่างชาติ เช่น ทดสอบวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งปรากฏว่าอเมริกันร้องคร่ำครวญว่า เด็กของตัวมีสัมฤทธิผลต่ำอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น คราวหนึ่งมีการแข่งขันทดสอบ ๑๔ ประเทศ อเมริกาได้ลำดับที่ ๑๓ ลำดับที่ ๑๔ คือไทย ดังนี้เป็นต้น

นี้เป็นเรื่องของการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างประเทศ ก็ลองใช้ดูกันเถอะ ตอนนี้ก็มีกันบ่อยๆ ประเทศไทยเองก็เข้าไปร่วมวงด้วย มีการส่งเด็กเข้าแข่งขันการทดสอบวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เราต้องรู้ทันนะว่า อเมริกาเขาใช้กิจการนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อเป็นประโยชน์ของเขาเอง เป็นเรื่องของเราเองที่จะต้องรู้ทันและใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เป็นเรื่องของการอยู่ในเวทีโลก ซึ่งนำโดยประเทศอเมริกาที่ถือระบบแข่งขันเป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ความเจริญ และพยายามกู้สถานะสังคมของตนด้วยการฟื้นฟูกระตุ้นความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness)

หันกลับมาเรื่องเก่า เป็นอันว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดข่าวสารข้อมูล การศึกษาจะต้องมอง ๒ ด้าน คือ ในฐานะ “ผู้จัด” เราต้องจัดสภาพแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก เพื่อเกื้อกูลต่อการเรียนรู้ของเขา และพร้อมกันนั้นในแง่ของการพัฒนาตัวบุคคลของเด็กในฐานะ “ผู้ศึกษา” เราจะต้องพัฒนาเขาให้เป็นผู้มีความสามารถที่จะอยู่ได้อย่างดีที่สุด และใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุดแม้จากสภาพแวดล้อมรวมทั้งข่าวสารข้อมูลที่เลวที่สุด จนกระทั่งไม่ว่าจะดูโทรทัศน์รายการที่เลวร้ายอย่างไรก็ตาม เด็กก็สามารถถือเอาประโยชน์ได้หมด นี่คือ ความสำเร็จในการศึกษา แต่ทั้งนี้ไม่ใช่หมายความว่า อยู่ๆ ครูจะไปเอารายการโทรทัศน์เลวๆ มาให้เด็กเลย อย่างนี้ก็แย่

ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ คือการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะที่สังคมของเราและโดยเฉพาะเด็กของเราชื่นชอบมาก ซึ่งเราก็จะต้องสนใจและมุ่งเน้นไปที่นั่น ดังที่ทราบกันอยู่ว่าคนของเราชอบมองไปที่วัฒนธรรมตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แล้วก็ชอบเลียนแบบและเอาตามอย่างเขา “ลัทธิตามอย่าง” ก็เกิดแพร่หลายมาก

การตามอย่างนั้น แม้จะทำได้ดีก็เป็นการยอมรับถึงความด้อยของตัวเอง คือ เป็นการยอมรับว่าเขาเจริญกว่า และเราด้อยกว่าเขา แต่ที่สำคัญก็คือ เมื่อเลียนแบบเขา ตัวเราก็ไม่ได้อะไรจริงจัง ได้แต่เปลือกหุ้ม เพราะการที่จะได้อะไรจริง จะต้องปรับย่อยเข้าเป็นเนื้อให้ตัวเจริญเติบโตขึ้นไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมแก่เด็กให้ดีที่สุด แต่เมื่อเขาต้องเจอกับกระแสวัฒนธรรมแวดล้อมที่เลวร้าย เราก็ต้องช่วยให้เขาพัฒนาความสามารถในตัวเขาที่จะเอาประโยชน์ให้ได้จากสิ่งที่เลวร้ายที่สุด อันนี้คือการมองกลับกัน ๒ ด้าน ที่บรรจบกันเป็นความสมบูรณ์

ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่น
รุก-นำ หรือรับ-ตาม เสริมตัว หรือเสียตัว

ในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่างๆ ความจริงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่างๆ มีมานานแล้ว โดยเฉพาะก็คือ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ดังเช่นประเทศของเราก็มีปัญหาเกิดขึ้นจากเรื่องนี้อย่างชัดเจน จนกระทั่งถึงขั้นที่ต้องมาคร่ำครวญหรือปรับทุกข์กันว่า ทำไมคนของเรา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จึงชอบตามชอบรับเอาอย่างวัฒนธรรมจากตะวันตกโดยไม่สมควร พร้อมทั้งทอดทิ้งและดูถูกวัฒนธรรมของตนเอง

การแก้ปัญหานี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะต้องระวังการไปสุดโต่งเหมือนกัน การที่จะยึดถือแต่วัฒนธรรมของตนเอง ไม่ยอมรับของคนอื่นภายนอกเลย ก็เป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นทางพัฒนาสังคมของตนเอง และวัฒนธรรมของตนเอง แต่การที่จะไหลตามวัฒนธรรมของเขา อะไรมาก็ชื่นชม นิยม กระโดดโลดเต้นไปตาม ก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน การไปสุดโต่งทั้งสองข้างนั้น เป็นเรื่องของการใช้ความรู้สึก คือ ขัดใจ กับชอบใจ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ข้อพิจารณาก็คือ ทำอย่างไรจะให้คนของเราเป็นผู้มีความสามารถในการรับวัฒนธรรมจากภายนอก หรือในการเกี่ยวข้องอย่างได้ประโยชน์ หรืออย่างเป็นนายหรือเป็นผู้นำ ไม่ใช่เป็นผู้ถูกกระทำ

ในการเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างได้ผลนั้น เราจะทำอย่างไร เราจะต้องถามตัวเองตั้งแต่ต้นว่า การที่เราจะไปรับวัฒนธรรมข้างนอกเข้ามานั้น เรามีความรู้ความเข้าใจมันหรือไม่ ถ้าเรารับมาโดยไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่รับเอาเพียงเพราะชอบใจ ก็แสดงว่าเราไม่มีการศึกษาเลย เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการพัฒนา คนที่จะรับเอาอะไรเข้ามาใช้กับตัวเอง จะต้องรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรเป็นอย่างไร และเป็นมาอย่างไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เราต้องถามว่า ในการที่คนของเรารับวัฒนธรรมของตะวันตก หรือของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น เรามีความรู้เข้าใจเขาหรือไม่ ตอนนี้จะขอเอาแค่หลักการสั้นๆ ว่า เราจะต้องมีการศึกษาที่ทำให้คนของเราสามารถรู้เข้าใจเข้าถึงแก่นแท้ความจริงของวัฒนธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือของวัฒนธรรมตะวันตกเหล่านั้น แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ ขอวางหลักปฏิบัติ ๓ ขั้น คือ

๑. ต้องรู้เข้าใจวัฒนธรรมของเขาให้ถึงตัวจริงตัวแท้ โดยรอบด้าน จนถึงเหตุปัจจัยในภูมิหลังของวัฒนธรรมนั้น ที่ว่ารู้เขาอย่างรอบด้าน คือ รู้ทั้งข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อย รู้คุณ รู้โทษ ตลอดจนรู้เหตุปัจจัยของวัฒนธรรมของเขา

เวลานี้เรารับวัฒนธรรมนอกเช่นอย่างของอเมริกัน คนของเรามีความรู้หรือไม่ว่า วัฒนธรรมของเขามีข้อดี ข้อเสีย จุดเด่น จุดด้อยอะไร เรามักจะรับทั้งดุ้นโดยเพียงตื่นเต้นว่า เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญ พอเห็นอะไรของเขาที่ตัวชอบใจ หรือใหม่น่าตื่นเต้น ก็มองไปว่าเป็นความดีงามความเจริญน่าโก้เก๋ โดยไม่ได้ย้อนรอยสวนทางไปดูให้ถึงแหล่งในประเทศของเขา เราไม่ได้ไปสืบค้นให้รู้จักสังคมของเขาอย่างแท้จริงว่า สังคมอเมริกันขณะนี้เป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็ง มีข้อดีข้อเสีย มีความเจริญด้านไหน หรือเสื่อมอย่างไร

คนอเมริกันเองขณะนี้ร้องทุกข์มากว่าสังคมของตัวเองจะไปรอดหรือไม่ หลายคนพูดทำนองว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่กำลังจะสลายในไม่ช้าและไม่มีทางเลี่ยง ขณะเดียวกันถ้าสำรวจในวงการหนังสือ ก็จะเห็นว่าหนังสืออเมริกันที่ออกมามากประเภทหนึ่งเวลานี้ จะเป็นเรื่องของการโอดโอยคร่ำครวญถึงความเสื่อมของสังคมของตน ว่าเวลานี้สังคมอเมริกันทรุดโทรมอย่างไร สูญเสียความเป็นผู้นำในประชาคมโลกอย่างไร สภาพทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางจิตใจ อะไรต่างๆ แย่ไปอย่างไร

อเมริกากำลังเสื่อมสถานะ อย่างที่หนังสือบางเล่มเรียกว่า “สิ้นยุคอเมริกา” (The End of the American Century) หนังสือประเภทนี้มีมาก ซึ่งเราน่าจะได้สนใจติดตามแล้วก็จะเห็นว่า สังคมอเมริกันมีความเสื่อมอย่างไรบ้าง ตัวเขาเองพูดถึงความเสื่อมของเขา ซึ่งเราจะต้องรู้เท่าทัน เราจะมัวมองแต่ด้านเจริญแล้วไปรับเอาทั้งดุ้น ในขณะที่สังคมของเขากำลังเสื่อมได้อย่างไร และแม้แต่ส่วนที่เขาเจริญเราก็ต้องรู้ว่าเขาสร้างมันมาได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคมของเขาที่ทำให้เขาเจริญมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จนกระทั่งพ้นจากยุคอุตสาหกรรมไปแล้วกลายเป็นสังคมบริโภค

เหตุปัจจัยที่ทำให้อเมริกาเจริญนั้นไม่ใช่สภาพปัจจุบัน ถ้าเราจะเอาความเจริญของสังคมอเมริกัน เราจะต้องไปจับเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคมอเมริกันนั้น ซึ่งอาจจะอยู่ในอดีต ๕๐-๒๐๐ ปีมาแล้ว ถ้าเราไปเอาอย่างอเมริกันปัจจุบันนี้ เราอาจจะไปจับเอาความเสื่อมมาก็ได้ เพราะสิ่งที่อเมริกันทำในปัจจุบัน หลายอย่างจะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมในอนาคตอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้มั่นใจ เราต้องไปจับที่เหตุปัจจัยในอดีตของความเจริญในปัจจุบัน เช่น พอเรามองเห็นความเจริญทางอุตสาหกรรมของเขาในปัจจุบันนี้ เราชอบ แต่เราจะต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมนั้นเจริญมาได้อย่างไรด้วยเหตุปัจจัยในอดีตเมื่อ ๕๐-๒๐๐ ปีก่อน ซึ่งอเมริกันก็ไม่ได้ปิดบัง เช่น ปัจจัยสำคัญตัวหนึ่ง ที่ตัวเขาเองภูมิใจยิ่งนักว่าทำให้เขาสร้างความเจริญทางอุตสาหกรรมมาได้ คือการมี work ethic ได้แก่ “จริยธรรมในการทำงาน” หรือจะมองในแง่เป้าหมายความคิด ก็มีแรงจูงใจในการที่จะเอาชนะความขาดแคลน หรือมองลึกลงไปอีกก็คือการมีสภาพจิตใจที่เรียกว่า “บุกฝ่าพรมแดน” (frontier) ซึ่งอเมริกันภูมิใจนัก สภาพจิตนี้ทำให้เขาสร้างสรรค์ความเจริญแบบที่เขาเป็นอยู่มาได้สำเร็จ

ถ้าเราจะเข้าใจเขาจริง เราจะต้องไปสืบหาเหตุปัจจัยเหล่านี้ ถ้าเราอยากเจริญแบบนั้น เราก็จะต้องไปทำที่เหตุปัจจัยเหล่านั้น ไม่ใช่ไปตามความเจริญที่มาเต้นกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ได้เป็นเครื่องหมายของการสร้างความเจริญอะไรเลย นี่เป็นเรื่องของการที่เราเข้าใจเข้าถึงตัววัฒนธรรมที่เราจะรับหรือไม่ เราจะต้องเข้าถึงความจริงที่แท้ของเขาโดยรอบด้าน และเข้าถึงเหตุปัจจัยของเขาด้วย ไม่ใช่ตื่นผิวเผินเพียงแค่ผลที่ปรากฏ

๒. ต้องไล่ทันและจับล้วงเอาส่วนที่ดีที่สุดของเขาให้ได้ แนวความคิดและภูมิปัญญาที่เจริญก้าวหน้าที่สุดของประเทศที่เป็นผู้นำในโลกปัจจุบัน เราต้องเข้าถึง จับให้แม่น และขณะที่สังคมของเขายังนำอยู่ เราจะต้องทันต่อส่วนที่ก้าวหน้าที่สุด ที่ดีที่สุดของสังคมของเขา ขณะนี้เรามองแบบพร่า เราไม่มีจุดในการจับ ก็เลยมองเป็นความเจริญไปหมด เราจับจุดที่ดีที่สุดไม่ได้ แล้วก็ไม่ทันเขาด้วย

ถ้าเราจะสร้างสรรค์สังคมของเรา เราจะต้องจับส่วนที่เป็นความล้ำเลิศที่สุดของอเมริกัน ส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดทั้งของอเมริกันและของญี่ปุ่น ว่าส่วนดีที่สุดของเขาอยู่ที่ไหน ถ้าเราจับจุดนี้ได้ นั่นคือทางแห่งความสำเร็จ ถ้าเราจับพร่าไปทั่วหมดก็จะกลายเป็นเราตามเขาเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านไปแล้ว

๓. เอาส่วนที่ดีของเขามาเสริมขยายตัวเรา วัฒนธรรมที่เจริญทุกวัฒนธรรมเกิดจากการนำเอาวัฒนธรรมอื่นมาเสริมสร้างตัวเองทั้งนั้น ชนชาติที่เจริญอย่างโรมัน เป็นพวกป่าเถื่อนมาก่อน แล้วมารับวัฒนธรรมกรีก แล้วก็ทำให้ตัวเจริญขึ้น แต่ต่อมาก็เสื่อมเพราะมีความหลงใหลมัวเมาตกอยู่ในความประมาท จึงถูกพวกป่าเถื่อนพิชิตราบไป

ตัวอย่างหนึ่งก็คือภาษาอังกฤษ ซึ่งเวลานี้แทบจะเป็นภาษาสากล มีความมั่งคั่งในภาษา ศัพท์ภาษาอังกฤษมีมากมาย dictionary ของเขาเล่มใหญ่มาก ฝรั่งก็ภูมิใจว่าภาษาอังกฤษมีศัพท์ใช้อย่างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ลองไปดูเถิด ดูที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษนั้น มีที่เป็นของตัวเองมาแต่เดิมอยู่กี่ส่วน ถึงครึ่งหรือเปล่า นอกนั้นมาจากภาษาอื่นทั้งนั้น มาจากวัฒนธรรมภายนอก

วัฒนธรรมที่เจริญคือ วัฒนธรรมที่รู้จักรับ รู้จักย่อย รู้จักดูดกลืนสิ่งที่ดีจากวัฒนธรรมอื่นทั้งนั้น ไม่ใช่รับแบบเลียนแบบไปตาม แต่รับอย่างมีสติปัญญาโดยรู้จักเลือกสรรเอามาใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมที่เจริญคือวัฒนธรรมที่รู้จักกลั่นและย่อย เช่นเดียวกับสังคมไทยจะเจริญได้ก็อยู่ที่การมีศักยภาพที่จะเลือกรับวัฒนธรรมภายนอกด้วยสติปัญญา ไม่ใช่เลียนแบบทำตามเขาไป

ดังนั้น การรับเอาวัฒนธรรมภายนอกอย่างฉลาดและถูกต้องก็คือ การรับเอาสิ่งที่ดีมาเสริมขยายตัวเรา แล้วเอามาย่อยเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ไม่ใช่เอามาสวมใส่ข้างนอก เดี๋ยวนี้เราเอาวัฒนธรรมข้างนอกมาเป็นเพียงเครื่องสวมหุ้มตัว ทำให้ตัวเราสวยสดงดงาม อวดโก้กันเท่านั้นเอง อย่างนี้หรือเปล่า เป็นการเอามาเป็นเปลือก ไม่ได้ย่อยเป็นเนื้อเป็นตัว ถ้าเราจะเจริญก้าวหน้า เราจะต้องทำให้เนื้อตัวของเราเจริญ คือย่อยเขาเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา

ในการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญ จะมีข้อแตกต่างในความหมายของคำว่า “เจริญ” ซึ่งบางทีไม่ได้พูดกันให้ชัดออกมา เพราะเป็นนัยที่แฝงอยู่และไม่รู้ตัว ทีนี้ลองวิเคราะห์ออกมาดูกัน

ถ้าเราจะให้ความหมายของคำว่า “เราอยากจะเจริญแบบฝรั่ง” ที่ว่าอยากเจริญแบบฝรั่งคืออย่างไร ก็จะมีความหมายแยกได้เป็น ๒ อย่าง คือ ความเจริญแบบนักผลิต กับ ความเจริญแบบนักบริโภค ความเจริญอย่างฝรั่งแบบนักบริโภคจะมีความหมายเป็นการมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง หมายความว่า ฝรั่งมีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอะไร ประเดี๋ยวคนไทยก็มีบ้าง อย่างนี้เรียกว่าเป็น “ความเจริญแบบนักบริโภค”

ความเจริญอย่างฝรั่งในความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ ฝรั่งทำอะไรได้ เราก็ทำได้อย่างนั้น เจริญอย่างฝรั่งคือ ทำได้อย่างฝรั่ง อย่างนี้เรียกว่า “ความเจริญแบบนักผลิต”

สรุปแล้ว ความหมายของ “ความเจริญอย่างฝรั่ง” มี ๒ นัย คือ

๑. มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง (ความหมายแบบนักบริโภค)

๒. ทำได้อย่างฝรั่ง (ความหมายแบบนักผลิต)

ถ้าถามว่า คนไทยมองความหมาย “ความเจริญอย่างฝรั่ง” แบบไหน แบบนักผลิต หรือแบบนักบริโภค ถ้าเรามองว่า ความเจริญอย่างฝรั่งคือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง เราก็เป็นผู้มองความหมายของความเจริญแบบนักบริโภค ถ้าคนไทยมองความเจริญอย่างนี้เราจะเป็นผู้ตามเขาเรื่อยไป ไม่มีทางที่จะเป็นผู้นำได้ เพราะผู้บริโภคก็ต้องรอให้เขาผลิตก่อน เมื่อเขาผลิตมาแล้ว เราก็คอยรับบริโภค เราไม่ได้ทำ เราไม่ได้สร้างสรรค์

สังคมที่จะเจริญอย่างเขาจะต้องมองความหมายของความเจริญนั้นแบบนักผลิตว่า เจริญอย่างฝรั่งคือ ทำได้อย่างฝรั่ง ถ้าเรามองความหมายอย่างนี้ ไม่ช้าสังคมไทยจะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

ในความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม เราจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา คือ วัฒนธรรมหนึ่งเป็น “ฝ่ายรุก” อีกวัฒนธรรมหนึ่งเป็น “ฝ่ายรับ” ฝ่ายรับก็จะถดถอยลงไป จะกร่อน จะอยู่ในภาวะชะงักงันหรือแข็งตัว และมีอาการปกป้องตัว ส่วนวัฒนธรรมแบบรุกจะมีความเจริญก้าวหน้าและมีการปรับตัวได้ดี เราจะต้องดูวัฒนธรรมของเราว่า เป็นฝ่ายรุก หรือฝ่ายรับ เราถูกวัฒนธรรมภายนอกรุกใช่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นเราจะต้องพลิกผันตัวขึ้นมาเป็นผู้รุกบ้าง อย่างน้อยในบางด้าน นั่นคือ เราจะต้องมีอะไรดีให้แก่ผู้อื่นด้วย

การที่เราจะเป็นวัฒนธรรมของ “ผู้รุก” ได้ เราจะต้องมีอะไรดีที่จะให้แก่ผู้อื่นด้วย ซึ่งวัฒนธรรมอื่นจะเอาไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้ เป็นช่วงเวลาที่เอื้อที่สุด เพราะว่าวัฒนธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ตลอดจนอารยธรรมของโลกทั้งหมดกำลังมาถึงจุดติดตันไม่มีทางออก ถ้าเราสามารถสร้างตัวให้เป็นผู้ให้ได้ เราก็จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้ด้วย

ประการสุดท้ายก็คือ การที่เราจะทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ได้ดี เราจะต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ในการที่จะพัฒนาตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักตัวเองแล้ว เราจะพัฒนาได้อย่างไร ฉะนั้น สังคมไทยในปัจจุบันนี้จะต้องรู้จักตัวเอง และขณะเดียวกันต้องรู้จักผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย

– ๒ –
ทางออกจากอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน

ถึงแม้ยังถูกระบบผลประโยชน์ครอบงำ
ก็ต้องให้การได้ถูกดุลด้วยการให้

ในยุคปัจจุบันนี้ เรื่องสำคัญๆ หนีไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญ การดำรงอยู่ของมนุษย์ ต้องอาศัยปัจจัยสี่ ปัจจัยสี่เป็นเรื่องพื้นฐานของเศรษฐกิจ มนุษย์จะอยู่ได้ดี ต้องปฏิบัติหรือจัดการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

ปัญหาเศรษฐกิจเวลานี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับระบบว่าขณะนี้เราถูกระบบเศรษฐกิจแบบไหนเข้ามาครอบงำอยู่ หรือเราไปยอมรับระบบเศรษฐกิจแบบไหน ระบบเศรษฐกิจที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ทราบกันดีก็คือ เศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม" ซึ่งถือเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะทุนนิยมแบบปัจจุบันมีหัวใจสำคัญคือการแข่งขัน

นับถอยหลังไป ๑๐ ปี เป็นระยะที่มีการแข่งอำนาจกันระหว่างระบบเศรษฐกิจ ๒ แบบ ซึ่งควบคู่กับระบบการเมืองด้วย คือ ระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย กับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ระบบการปกครอง ๒ แบบนี้มีระบบเศรษฐกิจพ่วงมาด้วย จนกระทั่งบางทีพูดควบกันไปเหมือนกับว่า ระบบเศรษฐกิจอันหนึ่งก็เป็นการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งความจริงยังแยกกันได้ แต่เขาพูดปนๆ กันไปว่าระบบเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม" ซึ่งมากับการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย และระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ไปคู่กับระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า "คอมมิวนิสม์"

ระบบการเมืองการปกครองที่ยึดถือเศรษฐกิจ ๒ ระบบนี้ได้ต่อสู้แข่งอำนาจกันมาจนกระทั่งเกิดเป็นสงครามเย็น เริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พอตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้นมาแล้วก็มีปัญหานี้มาตลอด จนกระทั่งเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว ฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้สลายตัวลง โดยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ต่อจากนั้นเราก็เห็นการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยแพร่หลายขยายตัวยิ่งขึ้น เหมือนกับว่าได้ชัยชนะ และระบบเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยม" หรือ "ตลาดเสรี" ก็เหมือนกับชนะไปด้วย ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็เลยครอบงำไปทั่ว ประเทศไทยของเราก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระบบนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบการแข่งขันแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งครอบงำและส่งอิทธิพลไปทั่ว

ในการที่จะอยู่ในระบบเศรษฐกิจนี้ เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรดี หรือแม้แต่ว่าเราควรจะอยู่ในระบบนี้หรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาของการศึกษาเหมือนกัน การศึกษาไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไปได้ ในการที่จะปฏิบัติต่อเรื่องนี้ได้ถูกต้อง เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมันอย่างเพียงพอ อย่างน้อยก็ต้องรู้คุณโทษ

ถ้าหันไปมองในประเทศที่เจริญแล้ว จะเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจแบบนี้เป็นตัวการที่นำมาสู่ปัญหาของโลกในปัจจุบัน ตลอดยุคที่ผ่านมา ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายของการพัฒนา แล้วมนุษย์ก็ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ความเจริญนั้น แต่แล้วในที่สุดก็ปรากฏว่า ความเจริญแบบนี้ได้สร้างปัญหาแก่โลกอย่างร้ายแรง ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอและธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม มีมลภาวะสูง จนกระทั่งยอมรับกันเป็นมติของโลกว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน (unsustainable development) จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่

พร้อมกันนั้น การแข่งขันกันในการหาผลประโยชน์ ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล กลุ่มชน และประเทศต่างๆ จนกลายเป็นการแข่งอำนาจกันในเวทีโลก ซึ่งนำไปสู่การเบียดเบียน การเอาเปรียบกัน ตลอดจนเกิดสงคราม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสังคมที่พันกันนุงนังกับปัญหาทางด้านชีวิตจิตใจ คนที่อยู่ในสภาพสังคมแบบนี้ซึ่งมีการแข่งขันสูง ก็จะมีสภาพการดำเนินชีวิตแบบ "ตัวใครตัวมัน" ซึ่งทำให้มีความเครียดมาก จิตใจเร่าร้อนกระวนกระวายในการแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพจิตและสุขภาพกายตามมา กลายเป็นว่า เศรษฐกิจแบบนี้ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ทั้งชีวิตมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

มองในแง่หนึ่ง เมื่อโลกหรือประเทศทั้งหลายเจริญมาในแนวทางนี้แล้ว ทั้งๆ ที่มองเห็นโทษ รู้ว่าเสียหาย แต่ก็กลับตัวไม่ได้ เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในด้านสถานภาพผลักดัน เช่น ในการแข่งอำนาจกัน เมื่อกลัวจะสูญเสียสถานะความยิ่งใหญ่ แม้จะเกิดมลภาวะก็ไม่อาจจะแก้ไขได้ ทั้งที่รู้และพูดกันปาวๆ มีการประชุมระดับโลกที่ประชุมกันไปว่าจะต้องแก้ไขปัญหาการพัฒนาให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ไม่ให้การพัฒนาเศรษฐกิจทำลายสภาพแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติระหว่างประเทศก็ยังมีการครอบงำเอารัดเอาเปรียบกันจนกระทั่งในเรื่องเหล่านี้ ทำได้แค่เพียงแต่จะกันปัญหาออกไปให้ไกลตัวที่สุด

อย่างเวลานี้ประเทศที่เจริญด้านอุตสาหกรรมในอดีตได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนานำหน้าไปแล้ว จนผ่านจากอุตสาหกรรมหนักมาสู่ไฮเทค ประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น ทั้งๆ ที่รู้โทษของอุตสาหกรรมในด้านทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นปัญหาของโลกที่ถึงกันหมด แต่เพราะจะต้องปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศของตัว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากจะกันปัญหาให้ไกลตัวที่สุด จึงหาทางให้อุตสาหกรรมหนักถูกระบายไปอยู่นอกประเทศ ไปใช้ประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นถิ่นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อตัวเองไปรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบนี้เข้ามา และต้องการความเจริญแบบนี้อย่างเขา ในแง่หนึ่งตัวเองก็ดูเหมือนว่าเจริญขึ้น แต่ขณะเดียวกันตัวเองนั้นก็เป็นเหยื่อเขาไปโดยไม่รู้ตัว คือต้องการผลประโยชน์แต่ต้องรับโทษไปด้วย เช่นต้องรับภัยอันตรายจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ในการที่รับให้เขามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่ประเทศของตัว และในการเอาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนมาป้อนประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นต้น ฝ่ายประเทศที่เจริญแล้วก็ดีใจที่ได้ระบายอุตสาหกรรมหนักที่มีมลภาวะสูงออกไป ฝ่ายประเทศที่กำลังพัฒนาก็ดีใจว่าเศรษฐกิจของประเทศตัวเองจะได้เจริญ จึงไปรับเอาของเขามาพร้อมกับผลร้ายเหล่านั้นด้วย นี่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งมนุษย์ติดคากันอยู่

สภาพที่ว่ามานี้เป็นปัญหาของการศึกษาด้วย การศึกษาจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาสังคมแต่เป็นปัญหาระดับโลกทีเดียวว่า โลกจะหาทางออกได้อย่างไร มันมีโทษร้ายแรงมาก เรามีทางออกหรือไม่ นอกจากการแข่งขันแสวงหาผลประโยชน์ระหว่างประเทศจะเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้ว คนในประเทศที่กำลังพัฒนาบางพวกเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองที่เป็นบุคคล ก็ยอมทำลายผลประโยชน์ของสังคมของประเทศชาติไปด้วย เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองที่จะได้เงินได้ทองจากประเทศที่เจริญ ส่วนสังคมของตัวเองจะเป็นอย่างไร ก็ค่อยมาว่ากันอีกทีหนึ่ง ระบบผลประโยชน์ จึงก่อปัญหาทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งปัญหาสังคม ทั้งปัญหาสภาพชีวิตจิตใจ และมาลงที่ปัญหาจริยธรรม ยุ่งไปหมด และระบบผลประโยชน์นั้นก็เป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่ขวางกั้นการแก้ปัญหาด้วย ดูกันไปแล้วกระแสโลกาภิวัตน์อันนี้ก็คือปัญหาที่มนุษย์แทบจะไม่มีทางออก เหมือนกับว่าจะต้องยอมรับภัยพิบัติของมนุษยชาติ เรื่องนี้จะทำอย่างไร มนุษย์มีทางออกหรือไม่

มองลึกลงไปอีกในด้านสภาพจิต คนที่อยู่ในสภาพสังคมแบบนี้มักจะถูกผลักดันให้เกิดสภาพจิตแบบหนึ่งขึ้นมา คือ ในสังคมที่มุ่งผลประโยชน์ คนจะมีพื้นฐานของแนวความคิดที่ทางพระเรียกว่า "ทิฏฐิ" ในทางเศรษฐกิจ คือการถือว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ และแนวความคิดนี้ก็เป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย

เมื่อความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ ก็หมายความว่า เราจะต้องมีวัตถุให้มากที่สุด พรั่งพร้อมที่สุดแล้วเราจะได้เสพให้มากที่สุดและจะได้มีความสุขมากที่สุด มนุษย์มีความหวังในการพัฒนาความเจริญแบบนี้ โดยมีอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญ เพราะถ้าอุตสาหกรรมเจริญ เศรษฐกิจก็จะรุ่งเรือง ทำให้มีสิ่งบริโภคพร้อมบริบูรณ์แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขสูงสุด เพราะฉะนั้น การถือว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ยิ่งเสพมากที่สุดยิ่งสุขมากที่สุด ก็กลายเป็นคติของสังคมขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และคนก็ยึดถือกันมา

เมื่อต้องการจะเสพให้มากที่สุด และความสุขอยู่ที่วัตถุเหล่านั้น จึงต้องแสวงหามาให้ได้มาก ในระยะยาว ความมุ่งหวังเช่นนี้ก็หล่อหลอมสภาพจิตของคน ทำให้มนุษย์มองในแง่จะได้จะเอาวัตถุ สภาพจิตนี้เป็นสภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับวัตถุในแง่จะ "ได้" จะ "เอา" แล้วต่อมานานเข้าก็กลายเป็นแนวความคิด ซึ่งทางพระเรียกว่า "ทิฏฐิ" เป็นความคิดความเชื่อที่ฝังในจิตใจ คิดที่จะเอาจะได้อย่างไร ถือว่า "การได้" "การเอา" เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อมนุษย์สร้างสภาพจิตนี้ขึ้นมาแล้ว สภาพจิตนั้นก็จะเป็นตัวผลักดันให้การมองเพื่อนมนุษย์มีความหมายไปในลักษณะหนึ่ง

เมื่อมนุษย์เกิดความตั้งใจคิดจะได้จะเอาวัตถุ จิตของเขาก็จะมุ่งไปหาวัตถุ จึงทำให้เขามีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ ในแง่ที่ระแวงและมองเพื่อนมนุษย์เป็น "คู่แข่ง" ซึ่งเป็นท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ ชนิดหนึ่ง ถ้าก้าวไปอีกขั้นหนึ่งก็เปลี่ยนจากการมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง มาเป็น "เหยื่อ" ขอให้สังเกตดูว่า เป็นอย่างนี้หรือไม่

เวลานี้สังคมของเรากำลังนำมนุษย์ไปสู่สภาพจิตอันนี้ คือสภาพจิตที่มองเพื่อนมนุษย์เป็น "คู่แข่ง" และเป็น "เหยื่อ" เราจะคิดแต่ว่า ถ้าเราไปหาไปพบหรือไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนนั้นๆ เราจะได้เงินจากเขาอย่างไร เราจะเอาเขาเป็นวิถีทางที่จะได้ผลประโยชน์อย่างไร และในสังคมเช่นนี้คนจะมีความจริงใจต่อกันน้อย อันนี้คือความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลมาสู่สภาพจิตใจ ตลอดจนวัฒนธรรมและจริยธรรม ไปด้วยกันทั้งหมด ฉะนั้นระบบเศรษฐกิจจึงมีอิทธิพลสำคัญมาก เมื่อสภาพสังคมเป็นอย่างนี้แล้ว การแก้ปัญหาจริยธรรมก็ทำได้ยาก นี้เป็นจุดที่การศึกษาต้องหาทางแก้ไข

บทบาทของการศึกษาที่จะมาแก้ไขปัญหา คือ

๑. การศึกษาจะต้องพิจารณาตั้งแต่ฐานขึ้นไปทีเดียวว่า ระบบเศรษฐกิจนี้จะดี คือเป็นทางออกนำมนุษยชาติไปสู่ความรุ่งเรืองโดยแท้จริงได้หรือไม่ ในระยะยาวเราควรจะอยู่ในระบบนี้หรือหาทางแก้ไขไปสู่ระบบที่ดีกว่า

๒. ระหว่างที่อยู่ในระบบนั้น การศึกษาจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีดุลยภาพในการสัมพันธ์กับวัตถุ

ในเมื่อกระแสระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนี้มีกำลังแรง และตัวเราเองจำเป็นต้องอยู่ในระบบสังคมแบบนี้ เราต้องยอมรับความจริงนั้น และคิดว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไรได้ดีที่สุด ให้มีผลเสียน้อยที่สุด นั่นคือ การรู้เท่าทันถึงเนื้อแท้ของระบบนี้ และจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้มนุษย์ด้วยการพัฒนามนุษย์

เราจะต้องให้มนุษย์มีการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ เมื่อคนมุ่งแต่จะได้จะเอา เขาก็จะพัฒนาความสามารถที่จะได้จะเอา คือความสามารถในการแสวงหา ตลอดจนแย่งชิง ถ้าการศึกษาไม่รู้ตัว การศึกษาก็จะคอยสนองความต้องการอันนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการสนองระบบเศรษฐกิจแบบนี้ และการศึกษาก็จะมีความหมายอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือการศึกษากลายเป็นการพัฒนาความสามารถของมนุษย์ในการหาสิ่งเสพสิ่งบริโภคมาบำเรอความสุข ถ้าเราไม่ระวังตัวก็จะเป็นอย่างนี้ แต่การศึกษาไม่ได้มีความหมายแค่นี้ ถ้าการศึกษาทำได้แค่นี้มนุษย์จะเสียดุลยภาพ

ดุลยภาพอย่างง่ายๆ ก็คือ ในการที่มนุษย์อยู่ในโลกนั้น ต้องยอมรับความจริงโดยธรรมชาติว่า มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุก่อน เพราะเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ของชีวิต เช่นปัจจัยสี่ เมื่อมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุเป็นเรื่องแรก และต้องกินต้องเสพต้องบริโภค มนุษย์ย่อมต้องการได้ต้องการเอา นี่เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ถ้ากระแสเศรษฐกิจมาช่วยย้ำก็พุ่งไปเต็มที่ มนุษย์ก็จะยิ่งวุ่นวาย การสัมพันธ์กับวัตถุด้วยท่าทีของการที่มุ่งจะได้จะเอาอย่างเดียว ก็จะทำให้มนุษย์เสียดุลยภาพและสังคมก็เสียดุลยภาพด้วย เพราะเมื่อมนุษย์แต่ละคนจะเอาแต่ได้อย่างเดียว และจะเอาให้มากที่สุด ก็จะทำให้เกิดการแข่งขัน การแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบ ความเดือดร้อนก็ย่อมเกิดขึ้นในสังคมแก่หมู่มนุษย์เอง ทำให้อยู่กันไม่เป็นสุข

ในการที่มนุษย์จะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างมีดุลยภาพนั้น ก็ต้องมีสิ่งที่คู่กับ "การได้" คือ "การให้" ถ้าเรามองแบบฝืนใจ สิ่งที่คู่กับ "การได้" ก็คือ "การเสีย" แต่ถ้าเราใช้ปัญญาแล้วเต็มใจทำการเสียที่เป็นไปอย่างชอบธรรมและเกิดประโยชน์ "การเสีย" ก็จะกลายเป็น "การให้"

ถ้ามนุษย์จะอยู่ดี เขาจะต้องมีดุลยภาพในการสัมพันธ์กับวัตถุ โดยที่ "การได้" มี "การให้" มาเข้าคู่ด้วย แต่เป็นการให้ที่ไม่ใช่การเสีย เนื่องจากการให้ กับ การเสีย มันเฉียดกันอยู่ ถ้าสละระบายออกไปไม่เป็น ก็จะกลายเป็นการเสีย แต่ถ้าสละระบายออกเป็น ก็จะเป็นการให้

การศึกษาจะต้องพัฒนามนุษย์ให้มีดุลยภาพในการสัมพันธ์กับวัตถุ คือคู่กับ "การได้" ต้องมี "การให้" ด้วย นับเป็นจุดเบื้องต้นในการพัฒนามนุษย์ จะเห็นได้ว่าในหลักทางพุทธศาสนา ข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่สุดได้แก่ "ทาน" คือการให้นั่นเอง พอเรามี "การให้" ด้วย ชีวิตของเราก็มีดุลยภาพ แล้วก็ทำให้สังคมมีดุลยภาพด้วย การเบียดเบียนซึ่งกันและกันก็น้อยลง เนื่องจากคนที่ด้อยโอกาส คนที่อ่อนแอ และคนที่ขาดแคลนก็มีทางที่จะอยู่รอดได้ในสังคมนี้ และคนก็จะมีความสัมพันธ์ด้วยความรู้สึกและท่าทีที่ดีต่อกัน ทำให้สังคมมีบรรยากาศแห่งความจริงใจและไมตรี โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ระบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กำลังมีอิทธิพลแรงเข้มครอบงำสังคม สภาพจิตของคนจะมุ่งไปในการได้การเอาอย่างแรงโดยไม่รู้ตัว เราจึงจะต้องเน้นการสร้างดุลยภาพด้วยการให้การศึกษาที่ทำให้มนุษย์รู้จักการให้

จะเห็นได้ว่า ธรรมชาติแวดล้อมที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น ต้นไม้ ต้นหญ้า มันได้ปุ๋ย ได้ดิน ได้น้ำ ได้อากาศ มาบำรุงตัวของมันให้งอกงาม แต่ขณะเดียวกันมันก็ให้ตลอดเวลาด้วย มันให้ความชุ่มฉ่ำหรือชุ่มชื้น มันช่วยรักษาดิน รักษาน้ำ รักษาอากาศ ต้นไม้ใหญ่ก็ให้แก่ต้นไม้เล็ก ต้นไม้เล็กก็ให้แก่ต้นไม้ใหญ่ สัตว์ก็ให้แก่พืช พืชก็ให้แก่สัตว์ มันจึงอยู่ได้ ชีวิตที่งอกงามอยู่ในธรรมชาติมี "การได้" คู่กับ "การให้" ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์ให้ก็คือการปฏิบัติที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติอย่างถูกต้อง เราจะต้องไม่ยอมตกเป็นทาสของระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเอาแต่ "ได้" อย่างเดียว

การศึกษามีวิธีการหลายอย่างที่จะช่วยให้มนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นมาสมดุลกับความสามารถที่จะแสวงหาสิ่งเสพบำเรอความสุข การ"ฝึกให้"เป็นวิธีการเบื้องต้น อย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นภายในตัวคนอย่างเป็นอิสระ โดยไม่ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุ

ข้ามพ้นความไม่ประมาทเทียม ในระบบแข่งขัน
สู่การสร้างสรรค์สังคมด้วยความไม่ประมาทที่แท้

อนึ่ง ระบบเศรษฐกิจ "ทุนนิยม" โดยเฉพาะแบบอเมริกันนั้น ถือเอา "การแข่งขัน" เป็นหัวใจของการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญของสังคม การแข่งขันมีทั้งผลเสียและผลดี

ผลเสียคือ การแข่งขันทำให้เราต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มากกว่า เพื่อให้เหนือกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้เลยหน้าเขาไป เพื่อจะได้ชนะคนอื่น ซึ่งก่อให้เกิดสภาพชีวิตและสภาพสังคมแบบตัวใครตัวมัน และระแวงกัน ทำให้มนุษย์ไม่มีความอบอุ่นในการอยู่ร่วมกันในสังคม และทำให้เกิดสภาพจิตที่เครียด

ส่วนผลดีของระบบแข่งขันคือ เป็นการปลุกเร้าสภาพจิตของมนุษย์ปุถุชนให้ต้องขยันขันแข็ง และมีความเข้มแข็งในการดำเนินชีวิตและทำการต่างๆ อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนและเร่งรัดตลอดเวลา ทำให้การสร้างตัวเองและสร้างสรรค์สังคมประสบความสำเร็จได้

"ระบบแข่งขัน" เป็นระบบอิงสภาพธรรมชาติที่มีหลักการอยู่ว่า มนุษย์จะดิ้นรนขวนขวายเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคาม ครั้นเมื่อประสบความสำเร็จ มีความพรั่งพร้อม มีความสุขแล้ว มนุษย์ก็จะมีความโน้มเอียงที่จะหยุดและนอนเสพสุข เกียจคร้าน และในที่สุดความเสื่อมก็ตามมา และแล้ว "ความเสื่อม" นี่แหละก็จะกลายเป็นทุกข์ภัยที่บีบคั้นมนุษย์ให้ดิ้นรนขวนขวายใหม่อีก แล้วจึงเจริญขึ้นได้ใหม่ แล้วก็นอนเสวยผลใหม่และเสื่อมอีก วนเวียนเป็นวงจรของความเจริญและความเสื่อมสลับกันไปอย่างนี้

การสร้างทุกข์ภัยบีบคั้นมีด้วยกัน ๒ วิธี

วิธีที่ ๑ วิธีปล่อยตามสภาพ คือ รอให้ทุกข์ภัยเกิดขึ้นตามวิถีทางของมันเอง เมื่อสังคมเจริญขึ้น คนก็มัวเมาไม่ขวนขวาย จากนั้นความเสื่อมก็เกิดขึ้น แล้วความเสื่อมนั้นก็จะกลายเป็นทุกข์ภัยที่บีบคั้นให้คนดิ้นรนขวนขวายอีกครั้งหนึ่ง เป็นวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อม หมุนเวียนกันไป

วิธีที่ ๒ วิธีสร้างกลไกมาบีบคั้นคน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้าง "ทุกข์ภัยประดิษฐ์" เช่นใช้ระบบแข่งขันมาบีบคั้น และสร้างสภาพจิตแบบตัวใครตัวมัน ซึ่งทำให้คนต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวเองให้รอด ถ้ายิ่งกระตุ้นความอยากความปรารถนามากขึ้น คนก็จะดิ้นรนขวนขวายมากยิ่งขึ้น และสังคมก็จะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ วิธีนี้ ล้วนแต่เป็นวิธีที่มุ่งสนองความเห็นแก่ตัว ไม่เอื้อต่อจริยธรรม ไม่ทำให้คนพัฒนาขึ้นอย่างสมดุล ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อม เป็นวิธีปล่อยตามกิเลสกับวิธีกดดันด้วยกิเลสของปุถุชน เป็นวิธีที่ไม่ได้ใช้ "ปัญญา" มาพินิจพิจารณาผลดีและผลเสียโดยรอบคอบ จึงทำให้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมายจนในที่สุดก็ต้องจบลงด้วยความเสื่อมหรือความพินาศเช่นเดียวกัน

ในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์และสร้างสรรค์ความเจริญเราจะเอาอะไรมาแทน ถ้าเราไม่ใช้ระบบนี้ การสร้างความเจริญก็เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะสร้างความเจริญแบบนี้ คือ ปล่อยตามธรรมชาติของปุถุชนโดยใช้กิเลสของมนุษย์เป็นตัวบีบคั้น มนุษย์ก็จะตกเป็นทาสของวงจรธรรมชาติแห่งความเจริญและความเสื่อม อย่างที่ว่ามานั้น คำตอบก็คือ ในทางการศึกษานั้นเราถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ ตรงนี้แหละเป็นจุดที่การศึกษาจะต้องเข้ามา

การศึกษาจะทำอย่างไรให้มนุษย์มีความกระตือรือร้นขวนขวาย และสร้างสรรค์ความเจริญได้ด้วยสติปัญญาของตน คำตอบก็คือ ต้องสร้างสภาพมนุษย์ที่พัฒนาแล้วขึ้นมา นี่คือภารกิจของการศึกษา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษา เราก็ต้องอาศัยสภาพปุถุชน ที่ต้องเอาระบบแข่งขันหรือความทุกข์ยากเดือดร้อนในวงจรแห่งความเสื่อมและเจริญมาเป็นแรงบีบอยู่เรื่อยไป นี่คือทางเลือกว่ามนุษย์จะเอาทางไหน

หน้าที่ของการศึกษาในแง่นี้ก็คือการทำให้มนุษย์มีสภาพเป็นสัตว์ที่พัฒนาแล้ว ที่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญได้โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม และอันนี้เป็นจุดที่ใช้วัดผลการพัฒนามนุษย์ด้วย หลักการนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า "หลักการแห่งความไม่ประมาท"

มนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ไม่ได้รับการศึกษา จะดิ้นรนขวนขวาย เมื่อมีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ถ้าเขาอยู่สบายก็จะเพลิดเพลินมัวเมาเฉื่อยชาประมาทผัดเพี้ยน ไม่ลุกขึ้นมา แต่ถ้าถูกทุกข์ภัยบีบคั้นก็ไม่ประมาท ในระบบชีวิตของสังคมปัจจุบัน มนุษย์ไม่ต้องรอทุกข์ภัยในวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ แต่เขาสร้างวิถีชีวิตที่มีทุกข์ภัยประดิษฐ์ในระบบแข่งขันขึ้นมาให้คนถูกบีบคั้นคุกคามอยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว ซึ่งก็ทำให้มนุษย์ไม่ประมาทได้เหมือนกัน แต่ความไม่ประมาทแบบนี้เรียกว่าเป็น "ความไม่ประมาทเทียม" ซึ่งมีโทษก่อผลร้ายมากมาย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์นั้นพัฒนาได้ ดังนั้นเราจึงใช้การศึกษาเป็นเครื่องสร้าง "ความไม่ประมาทที่แท้" ซึ่งหมายถึง การที่มนุษย์สามารถกระตือรือร้นขวนขวายสร้างสรรค์ความเจริญและป้องกันความเสื่อม โดยที่ไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม แต่ทำด้วยสติปัญญาของเราเอง คือ มี "สติ" ตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปในสังคมหรือในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อสังคม เราไม่มองข้าม ไม่ละเลย สิ่งเหล่านั้นจะถูกสำรวจตรวจตราดูว่าจะทำให้เกิดผลเสียหรือผลดี เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสื่อมหรือความเจริญ แล้วส่งให้ "ปัญญา" หาทางแก้ไขและสร้างสรรค์ต่อไป นี้คือระบบที่ใช้ "สติปัญญา"

มนุษย์ที่พัฒนาแล้วจะมี "ความไม่ประมาท" ที่แท้อย่างนี้ เพราะเหตุนั้นในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า มนุษย์เมื่อเจริญแล้วไม่จำเป็นต้องเสื่อม ซึ่งบางทีก็ดูเหมือนจะตรงข้ามกับ "หลักอนิจจัง" ฝืนหลักความไม่เที่ยง แต่ที่จริงไม่ฝืนเลย มีแต่จะสอดคล้องกันอย่างดี กล่าวคือ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามธรรมดา แต่ที่ว่า ไม่เที่ยง นั้นเป็นคำกลางๆ เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ไม่มีดีมีชั่วในตัวของมันเอง แต่เมื่อความไม่เที่ยงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงไปในภาวะอย่างหนึ่ง เราเรียกว่า "ความเจริญ" เพราะมันตรงกับความต้องการของเรา แต่ขณะเดียวกัน ถ้าความไม่เที่ยงเกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะที่ไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนา เราก็เรียกว่า "ความเสื่อม" แต่ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อม หรือความเจริญ ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น เจริญแล้วเสื่อม หรือเสื่อมแล้วเจริญก็เป็นความเปลี่ยนแปลง เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไปอีก ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง เจริญแล้วเจริญยิ่งขึ้นต่อไป ก็เป็นความเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน ดังนั้นถ้าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญ เราก็ต้องสืบหาเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ แล้วทำตามเหตุปัจจัยนั้น ก็ย่อมเกิดความเจริญ ถ้าเราไม่ต้องการความเสื่อม ก็ต้องสืบหาเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้น แล้วก็หลีกละแก้ไขเหตุปัจจัยนั้นเสีย เราก็ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของความเสื่อม และสามารถรักษาความเจริญไว้ ตลอดจนทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักธรรมที่เรียกว่า "อปริหานิยธรรม" แปลว่า ธรรมที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมหมวดนี้แล้ว จะมีแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ซึ่งคล้ายๆ กับจะค้านกับสัจธรรมแห่งความไม่เที่ยง แต่ที่จริงไม่ขัดกันเลย เพราะนั่นเป็นความจริง คือใช้สัจธรรมแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มาสอนคนให้ไม่ประมาท เพื่อจะได้เพียรพยายามทำเหตุปัจจัยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเลย ดังที่จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอน "ความไม่เที่ยง" ไว้กับ "ความไม่ประมาท"

ฉะนั้น ตอนปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนเป็นหลักใหญ่ว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราละเลยปล่อยให้เหตุปัจจัยร้ายๆ พาเอาความเสื่อมเข้ามา เราไม่สร้างสรรค์เหตุปัจจัยของความเจริญ เราก็จะต้องเสื่อมจะต้องสลาย เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาท คอยใช้สติตรวจตราดูว่าอะไรเกิดขึ้น จะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อความอยู่ดี ต่อประโยชน์สุข เราก็สืบสาวหาเหตุปัจจัย แล้วหาทางแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยแห่งความเจริญ เราก็สามารถรักษาความเจริญไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป

หลักการของพระพุทธศาสนาถือว่า เมื่อเจริญแล้วสามารถเจริญยิ่งขึ้นไปได้ แต่ถ้าเสื่อมก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสื่อม ก็คือความประมาทนี่แหละ

คนเรานี้มีทางที่จะประมาทได้เสมอ แม้แต่พระโสดาบันเพียรปฏิบัติธรรมมาจนได้บรรลุผลสำเร็จบางอย่างยิ่งกว่าคน ทั่วไป แต่พอได้รับความสำเร็จสูงขึ้น ก็เกิดความสันโดษ มีความพึงพอใจ พอเกิดความพึงพอใจ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า นี่เธอเป็น "ปมาทวิหารี" คือผู้อยู่ด้วยความประมาท เพราะไปสันโดษในการทำสิ่งที่ดีงามเข้า ก็เลยกลายเป็นความประมาท

ฉะนั้น แม้แต่เรื่องความสันโดษ หรือไม่สันโดษ ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้ามีคนถามเราว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษใช่หรือเปล่า ถ้าตอบว่าใช่ก็ผิด พระพุทธเจ้าเป็น "วิภัชชวาที" แปลว่าสอนแยกแยะแจกแจง เราจะต้องแยก ต้องจำแนกให้ชัด

พระพุทธเจ้าสอนให้ไม่สันโดษก็มี สอนให้สันโดษก็มี คือสอนให้สันโดษในวัตถุบำเรอความสุขส่วนตัว แต่สอนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม อันได้แก่สิ่งที่ดีงามทั้งหลาย หลักการนี้ชัดเจนมากและสนับสนุนกันด้วย ถ้าเรา "สันโดษ" ในการแสวงหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ก็จะทำให้เราสามารถไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามได้ด้วย เพราะคนใด "ไม่สันโดษ" ในการแสวงหาสิ่งบำเรอความสุข เขาก็จะสูญเสียแรงงาน เวลา และความคิดไปกับการวุ่นวายหมกมุ่นในการหาและเสพสิ่งเหล่านั้น จนไม่มีเวลา แรงงาน และความคิดที่จะเอาไปใช้ในการเพียรพยายามสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ส่วนคนผู้ใดสันโดษในวัตถุสิ่งเสพบำรุงบำเรอ เขาก็สามารถสงวนเวลา แรงงาน และความคิดเอามาใช้ทุ่มเททำการสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้เต็มที่ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสธรรมไว้คู่กัน ตรัสสันโดษคู่กับความไม่สันโดษ ให้เราสันโดษเพื่อเราจะได้ไม่ต้องสันโดษได้เต็มที่ คนไหนสันโดษในวัตถุเสพบำเรอความสุข เขาก็จะไม่สันโดษในกุศลธรรมคือในการสร้างสรรค์ความดีงามได้เต็มที่ด้วย

หลักการที่ว่ามานี้เป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับ "ความไม่ประมาท" ทั้งสิ้น ดังนั้นการศึกษาจะต้องทำหน้าที่ตามหลักการนี้ให้ได้ ถ้าเราทำได้ เราก็สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ที่สามารถข้ามพ้นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบผลประโยชน์ ระบบแข่งขันไปได้ และจะได้ไม่ต้องอาศัย "ความไม่ประมาทเทียม" มาเป็นเครื่องมือเร่งรัดมนุษย์ให้สร้างสรรค์ "ความเจริญชนิดเทียมๆ"

รวมความว่า ระบบเศรษฐกิจเท่าที่เป็นมา ที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบทุนนิยม ระบบผลประโยชน์ ระบบแข่งขัน ที่ได้พิสูจน์ตัวมันเองให้เห็นแล้วว่า ทำให้เกิดผลเสีย ทำให้เกิดโทษทั้งต่อชีวิต ทั้งต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ชัดเจนที่สุดคือภัยจากสิ่งแวดล้อม สังคมก็เกิดการขัดแย้ง เอารัดเอาเปรียบ แย่งชิง ทำสงคราม ชีวิตของบุคคลก็หามีความสุขแท้จริงไม่ คนที่เสพมากที่สุดเพื่อจะสุขมากที่สุด กลายเป็นคนมีปัญหา แม้แต่เมื่อตนเองสามารถเสพได้มากที่สุด ก็กลับกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อชีวิตของตนเอง ทั้งนี้เพราะขาดการศึกษาแม้แต่ในขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่กินไม่เป็น ที่มุ่งจะกินเพื่อสนองตัณหาที่จะได้รสอร่อยเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมา และตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา พร้อมทั้งทำให้สังคมเอารัดเอาเปรียบกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการบริโภคมากก็ทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาก

เมื่อเราพัฒนาคนให้รู้จักกินเป็น เขาก็จะบริโภคด้วยปัญญา คือ มีความเข้าใจในความมุ่งหมายของการบริโภค รู้จักถามตัวเองว่าเรากินเพื่ออะไร ซึ่งทำให้เห็นว่า ในการกินนั้นความมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่แท้จริงไม่ใช่เพื่ออร่อย ไม่ใช่เพื่อโก้หรูหรา แต่กินเพื่อจะให้ร่างกายเป็นไปได้ด้วยดี มีสุขภาพแข็งแรง แล้วเราจะได้ใช้ร่างกายที่มีสุขภาพดีนั้นดำเนินชีวิตที่ดีงาม อยู่ผาสุก และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ต่อไป เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว พฤติกรรมการบริโภคของเราจะมีลักษณะที่ "พอดี" ดังนี้

๑. ปริมาณอาหารที่กินจะถูกจำกัด ให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย

๒. ประเภทของอาหารที่กินก็จะถูกจำกัด โดยเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าส่งเสริมคุณภาพชีวิตยิ่งขึ้นไป

"การกินเป็น" คือกินพอดี ซึ่งเป็นการกินด้วยปัญญานี้ จะช่วยสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ ฉะนั้นการศึกษาจะต้องสอนให้คนรู้จักบริโภค มีความรู้จักพอดีในการบริโภค พยายามพัฒนาคนให้มีชีวิตอยู่ด้วยสติปัญญา ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ จนกระทั่งสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่ข้ามพ้นระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไปได้

การศึกษาจะต้องสร้างชีวิตให้มีดุลยภาพระหว่าง "การได้" กับ "การให้" ด้วยการฝึกคนให้รู้จักคิดตั้งเจตน์จำนงในการที่จะ "ให้" ซึ่งจะทำให้สภาพจิตของคนเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ เวลาเราคิดจะ "ให้" ใจของเราจะมุ่งไปที่ "คน" พอเรามุ่งไปที่คน เราจะมองหน้ามองตาเขา แล้วเราจะเห็น "สุข" เห็น "ทุกข์" ของเขา และเห็นความต้องการของเขา เราจะเกิดความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ แล้วคุณธรรมคือความสงสารและความเห็นใจจะตามมา ฉะนั้น เราเพียงตั้งจิตคิดจะ "ให้" เท่านั้น สภาพจิตก็เปลี่ยน ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็เปลี่ยน แล้วมนุษย์ก็จะพัฒนาคุณธรรมขึ้นมา ความเมตตากรุณาก็เกิด พร้อมกันนั้นก็จะมีการพัฒนาความสุขอีกแบบหนึ่งขึ้นมาด้วย คือ นอกเหนือจากความสุขจากการได้ หรือการเอาแล้ว มนุษย์จะมีความสุขจากการให้ด้วย นั่นคือ มนุษย์ได้พัฒนาพฤติกรรมเหนือ "การเอา" ขึ้นไปให้มี "การให้" ด้วย พร้อมไปกับการพัฒนาสภาพจิตใจควบคู่ไปด้วยกัน

ถ้าการศึกษาพัฒนาคนในขั้นพื้นฐานได้แม้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ คือ

๑. ทำให้คนรู้จักใช้อินทรีย์ ด้วยการดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น

๒. รู้จักการกินหรือบริโภคด้วยปัญญา ที่เรียกว่ากินเป็น กินพอดี หรือบริโภคพอดี และ

๓. ให้มีดุลยภาพแห่งการเอากับการให้

เพียงเท่านี้ ปัญหาต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อมก็แทบจะหมดไปเลย สันติสุขก็จะเกิดขึ้นได้ และจะแก้ปัญหาความติดตันแห่งอารยธรรมมนุษย์ที่กำลังประสบกันอยู่นี้ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างแน่นอน แต่น่าเสียดายว่าการพัฒนาคนเพียงแค่นี้ก็ยังทำกันไม่ได้ ซ้ำร้ายยังมองข้ามกันไปเสียด้วย

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ
ทำอย่างไรจะให้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย

ในการแข่งอำนาจระหว่าง ๒ ค่ายในสงครามเย็นนั้น ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ เวลานี้ก็ถือว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดีที่สุด พอดีประชาธิปไตยที่ชนะเป็นประชาธิปไตยแบบ "ตลาดเสรี" หรือ "ทุนนิยม" จึงทำให้หลายคนหลงผิดไปว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเป็นทุนนิยมไปด้วย ทั้งนี้พฤติกรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ถือตัวเป็นผู้นำ ก็ชวนให้คนอื่นมองอย่างนั้นด้วย

ประธานาธิบดีคลินตัน ในพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้พูดแสดงความภูมิใจแทนชนชาติอเมริกันทั้งหมดว่า เวลานี้ American Idea คือแนวความคิดหรือภูมิปัญญาของอเมริกันได้เป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลก แนวความคิดนี้ก็คือ "ประชาธิปไตย" กับระบบเศรษฐกิจแบบ "ตลาดเสรี" เขาใช้คำว่า democracy and free-market economy เขาแสดง ความภูมิใจของคนอเมริกัน ในขณะที่แท้ที่จริง สังคมอเมริกันกำลังบอบช้ำ และมีความวิตกกังวลในความเสื่อมสลายของตนเป็นอย่างยิ่ง เราจึงมองคำแสดงความภูมิใจของประธานาธิบดีของอเมริกานี้ได้ ๒ อย่าง คือ ภูมิใจจริง กับอีกอย่างหนึ่งเป็นการปลอบใจคนของตนเอง หมายความว่า ในขณะที่คนอเมริกันกำลังใจเสียเต็มที ประธานาธิบดีก็มาพูดปลอบใจว่า หลักการของเรานี้ดีนะ คนอื่นเขายอมรับไปทั่วโลก

ที่จริง free-market economy (เศรษฐกิจแบบตลาดเสรี) ก็คือ capitalism (ลัทธิทุนนิยม) นั่นเอง ในตอนหลังอเมริกันแสดงอาการที่เหมือนจะผนวก ๒ อย่างนี้ให้เป็นอันเดียวกัน จนมีคำใหม่ออกมาเรียกว่า free-market democracy แปลว่า "ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี" ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบทุนนิยม คนที่ไม่ทันพิจารณา อาจจะหลงผิดคิดว่าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จะต้องแยกให้ถูก ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เป็นระบบผลประโยชน์ เราจะต้องแยกมันออกจากระบอบประชาธิปไตย

เราอาจจะยอมรับว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ในด้านเศรษฐกิจเราอาจจะหาระบบเศรษฐกิจอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เราสงสัยว่าจะไม่สามารถพัฒนาคนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ดีได้

ดังเป็นที่รู้กันว่า ประชาธิปไตยเองก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะประชาธิปไตยในโลก แม้แต่ของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด ที่จะพามนุษยชาติไปสู่ความอยู่ดีมีสุขนั้น ช่วยให้เกิดสันติสุขและอิสรภาพอย่างแท้จริงหรือเปล่า อย่างเช่นประชาธิปไตยแบบอเมริกันก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า เป็นประชาธิปไตยที่ดีหรือไม่ เหมือนกับในด้านการจัดการศึกษาของเขา ที่เราไม่จำเป็นต้องไปยอมรับ เราต้องศึกษาวิเคราะห์ด้วยสติปัญญาให้เห็นข้อดีข้อเสียก่อน

ถ้าเรามองสังคมอเมริกันด้วยปัญญา และเอาใจใส่วิเคราะห์ ตรวจตรา เราจะมองเห็นสภาพที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้น สังคมประชาธิปไตยของอเมริกันนั้น เจ้าตัวกำลังร้องทุกข์ว่า กำลังเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจะไปรอดหรือไม่เขาก็ไม่แน่ใจเสียแล้ว ทั้งปัญหาความแบ่งแยกเชื้อชาติและรังเกียจผิวที่ลึกและแรงจนคติเบ้าหลอมแตกพังไปแล้ว ทั้งปัญหาความผุกร่อนของสังคมแทบทุกด้าน ตั้งแต่ครอบครัวแตก และสิ่งเสพติด ทั้งปัญหาการใช้กฎหมายในทางที่ผิด เราจึงต้องตรวจดูประชาธิปไตยของเขาว่าเป็นสิ่งที่เราควรนำมาใช้ได้แค่ไหนเพียงใด

อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องเน้นก็คือ เวลาพูดถึงประชาธิปไตย เรามักจะพูดถึง "รูปแบบ" และคนก็มักจะสนใจในเรื่องของรูปแบบกันมาก รูปแบบ ก็คือตัวระบอบ เช่น การจัดองค์กรที่ใช้อำนาจของประชาธิปไตยเป็น ๓ ส่วน คือ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ และจะต้องมีการเลือกตั้ง ตลอดจนอะไรต่างๆ ที่เป็นกลไกของระบอบนี้ แต่ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ตัวมันก็คือ "เนื้อหาสาระ" การที่มีรูปแบบก็เพื่อจะให้เนื้อหาสาระมีผลในทางปฏิบัติ คือเพื่อที่จะสื่อสาระออกมาเท่านั้นเอง ถ้าหากไม่มีเนื้อหาสาระ รูปแบบก็จะไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับเรามีแก้วน้ำเพื่ออะไร ก็เพื่อจะบรรจุและเก็บน้ำไว้ได้และกินน้ำได้สะดวก ถ้าไม่มีน้ำ แก้วน้ำก็ไม่มีความหมาย ประชาธิปไตยแม้จะมีระบอบรูปแบบดีอย่างไร ถ้าไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นเวลาเราพัฒนาคนให้เป็นประชาธิปไตย อย่าลืมให้ความสำคัญที่จุดเน้น คือ เนื้อหาสาระ

ว่าที่จริง รูปแบบต่างๆ เช่น รัฐสภา ครม. ศาล การเลือกตั้ง เป็นต้น ถ้าจะพูดกันให้ชัดต้องบอกว่าเป็นเพียง "เครื่องมือของประชาธิปไตย" เท่านั้น ไม่ใช่เป็นตัวประชาธิปไตย ตัวประชาธิปไตยก็คือวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันและช่วยกันจัดสรรความเป็นอยู่ให้เป็นไปด้วยดี เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ตัวแท้ของประชาธิปไตยอยู่ที่การช่วยกันคิด ช่วยกันทำ นำเอาสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนออกมาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ร่วมกันให้เป็นสุขและเจริญงอกงาม ถ้าไม่มีตัวแท้หรือเนื้อแท้ของประชาธิปไตยนี้ รูปแบบต่างๆ ที่ว่าเป็นเครื่องมือทั้งหลายก็หมดความหมาย

ปัญหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยเวลานี้เริ่มต้นตั้งแต่ว่า "ประชาชนต้องการประชาธิปไตยหรือไม่?" ถ้าประชาชนต้องการการมีชีวิตอยู่ร่วมกันแบบช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา และสร้างสรรค์ โดยนำเอาสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ ด้วยการประชุมปรึกษาหารือกันเป็นต้น ก็เรียกว่า ประชาชนต้องการประชาธิปไตย แต่ถ้าประชาชนไม่ต้องการวิถีชีวิตอย่างนี้ แม้ว่าเขาจะต้องการการเลือกตั้งเป็นต้น ก็ไม่เรียกว่าเขาต้องการประชาธิปไตย และในกรณีเช่นนั้น เครื่องมือของประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น อาจจะถูกนำไปใช้เพื่อสนองความมุ่งหมายอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยก็ได้

เพราะฉะนั้น ในสังคมไทยเวลานี้ สิ่งที่การศึกษาจะต้องทำ ซึ่งเป็นปัญหาง่ายๆ ที่แก้ไขได้ยาก คือ การทำให้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย

แม้แต่ความหมายของหลักการต่างๆ ของประชาธิปไตย เช่น ความหมายของเสรีภาพ เดี๋ยวนี้ก็ยังยุ่งกันอยู่ โดยเฉพาะความหมายของ "เสรีภาพ" ซึ่งคนจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นการทำอะไรได้ตามชอบใจ ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยเวลานี้ ก็มีเสรีภาพมากกว่าประเทศอเมริกามากมาย ลองไปดูเถิด ในประเทศอเมริกา เสรีภาพถูกจำกัดด้วยวัฒนธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยทุกคนถือสิทธิส่วนตัวเป็นสำคัญ ถ้ามีการล่วงละเมิดกันนิดหน่อยก็ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นต้องระวังตัวมากในสังคมอเมริกัน ในสังคมไทยยังยืดหยุ่นและมีเสรีภาพมากกว่า

ขอบเขตหรือข้อจำกัดของเสรีภาพอีกอย่างหนึ่งคือกฎเกณฑ์ ประชาธิปไตยของสังคมที่พัฒนาแล้วอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ทั้งนั้น เช่น สังคมอเมริกันมีกฎเกณฑ์มากมายเหลือเกิน ในสังคมไทยเรายังไม่มีกฎเกณฑ์มากเพียงนั้น เรายังทำอะไรได้ตามชอบใจเยอะ คนไทยเราสบายมาก จะสร้างบ้านตรงไหน จะทาสีอะไรก็ได้ ในประเทศอเมริกาทำได้ที่ไหน ทำไม่ได้สักอย่าง จะสร้างบ้านก็ต้องดูกฎหมาย ต้องปรึกษาทนายความ จะสร้างรูปร่างอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามแบบที่จำกัดไว้ จะมีเนื้อที่เท่าไร มีสนามแค่ไหน แม้แต่สีทาบ้านก็ต้องถูกจำกัดอีก มีกฎเกณฑ์ไปทุกอย่าง แม้แต่จะปรับปรุงบ้านหรือซ่อมแซม เช่น เกิดท่อน้ำประปาเสีย เกิดไฟเสีย ทำตามใจตัวไม่ได้สักอย่าง เสรีภาพถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ทำได้เท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมาย แต่กฎหมายของเขาจำกัดขอบเขตการกระทำของบุคคลอย่างยุบยิบ นี่คือเสรีภาพแบบอเมริกัน ซึ่งถือกติกาของสังคม ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ต้องเคารพกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง จนมีคติที่เขาภูมิใจว่าเป็นสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย (the rule of the law)

แม้กระนั้นก็ตาม เสรีภาพแบบอเมริกันนี้เพียงพอที่จะรักษาสังคมให้อยู่ดีมีสันติสุขหรือไม่ เวลานี้เสรีภาพแบบอเมริกัน เกิดภาวะที่เรรวนผันผวนปรวนแปรถึงกับเกิดโทษก็มี เด็กนักเรียนแม้แต่ชั้นประถมถือเสรีภาพเอาปืนไปโรงเรียน ภาพเด็กนักเรียนพกปืนไปโรงเรียนกลายเป็นเรื่องสามัญ สถิติเด็กอายุ ๑๔-๑๗ ปี ฆ่ากันตายเพิ่ม ๑๒๔ เปอร์เซนต์ ในช่วง ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๔) ในทางการเมืองมีการคร่ำครวญว่า การเมืองของอเมริกาได้เปลี่ยนจากการเมืองของผู้ทำหน้าที่พลเมือง (civic politics) ไปเป็นการเมืองของนักเรียกร้อง (claimant politics)

ยิ่งกว่านั้น คนหันไปหาผลประโยชน์จากกฎหมาย กลไกที่เคยนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ขณะนี้ถูกนำมาใช้หาประโยชน์ ยกตัวอย่าง เช่น นักกฎหมายเปิดบริการพิเศษขึ้นมา มีการเขียนป้ายบอกว่า ทนายความรับให้บริการทางกฎหมายฟรี ดูแล้วใจบุญเหลือเกิน ช่วยเหลือสังคม แต่ที่เขาว่าจะให้บริการนี้คืออย่างไร หมายความว่า ถ้าคุณมีเรื่องกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน เขายินดีรับปรึกษาตั้งคดีให้ จะได้ฟ้องกัน อยู่กับเพื่อนบ้านแล้วมีเรื่องกระทบกระทั่งกันนิดๆ หน่อยๆ พอหาแง่ได้ ใครอยากหาผลประโยชน์ก็ไปหาทนายความ ทนายก็จะตั้งคดีให้ แล้วเอาไปขึ้นศาลฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน ที่ว่าไม่เอาค่าบริการก็คือว่า ตอนฟ้องตั้งคดีและว่าความไม่เอาค่าทนาย แต่ถ้าฟ้องกันตัดสินว่าชนะได้เงินมาจะต้องแบ่งกับทนายคนละครึ่ง ถ้าแพ้ก็แล้วกันไป นี่แหละคือบริการ ผลก็คือเพื่อนบ้านหวาดระแวงกัน อยู่ไม่เป็นสุข บริการสังคมแบบนี้ดีหรือเปล่า

สังคมอเมริกันจะมีปัญหาแบบนี้มากขึ้น นี่คือการที่กลไกของประชาธิปไตย ที่เคยเป็นเครื่องสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม กลับมาถูกมนุษย์ใช้ในทางที่เป็นโทษ กลายเป็นเครื่องทำลายสังคม โดยเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของบุคคล เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูให้ดีว่า ในการธำรงรักษาสังคมนั้น อะไรแน่ที่เป็นตัวธำรงรักษา อะไรเป็นองค์ประกอบที่แท้จริงของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยตั้งอยู่ด้วยอะไร เมื่อก่อนนี้อเมริกาเจริญด้วยประชาธิปไตย แต่เดี๋ยวนี้ทำไมเรรวน ตัวเหตุปัจจัยอยู่ที่ไหนแน่ อย่าไปติดแค่รูปแบบ ถ้ามองไม่ชัดไม่ลึกเราอาจจะหลงและสับสนไขว้เขว อาจจะจับเอามาได้แต่ความเสื่อมก็ได้ เวลานี้เมื่อคนอเมริกันหันมาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์กันแล้ว มนุษย์ก็ระแวงกัน เพื่อนบ้านก็ระแวงกัน หมอก็ระแวงคนไข้มากขึ้น ก็อยู่กันไม่เป็นสุข สังคมอย่างนี้จะมีความสุขได้อย่างไร นับเป็นเหตุอย่างหนึ่งแห่งความเสื่อมสลายของสังคม

หันกลับมาที่ความเข้าใจความหมายของ "เสรีภาพ" ถ้าเรามองเข้ามาที่ตัวบุคคลโดยเน้นในแง่ผลประโยชน์ของบุคคล เสรีภาพ ก็กลายเป็นการที่เราจะทำอะไรได้ตามชอบใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเรา กลายเป็นเสรีภาพในทางที่จะเอา ซึ่งทำให้แบ่งแยกและแก่งแย่งกัน แล้วก็ต้องมีข้อจำกัดด้วยการที่ไม่ให้ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่เสรีภาพในประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น เป็นเสรีภาพแบบสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสังคม ซึ่งเป็นไปในเชิงให้และทำให้เกิดความสามัคคี

ในความหมายที่แท้จริง "เสรีภาพ" คือ ช่องทางที่จะทำให้ศักยภาพของบุคคลได้ออกมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่สังคม ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพ คนไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ศักยภาพที่เขามี หรือสติปัญญาความสามารถที่เขามีอยู่ ก็ไม่มีโอกาสที่จะออกมาช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขของส่วนรวมได้ ความหมายของเสรีภาพที่แท้จริงอยู่ที่นี่ สังคมประชาธิปไตยดีงามประเสริฐ ก็ตรงที่ว่า เป็นสังคมที่นำเอาศักยภาพของคนที่อยู่ในสังคมนั้นมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ในแง่นี้จะเรียกคนว่าเป็นทรัพยากรก็ได้ ถ้าเราจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ดีที่สุด ก็จะต้องเข้าใจแม้แต่ความหมายของเสรีภาพให้ถูกต้อง เพราะเมื่อพัฒนาเสรีภาพอย่างถูกต้อง เสรีภาพก็กลายเป็นช่องทางที่จะนำเอาศักยภาพที่มีในบุคคลนั้นมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขร่วมกันของสังคม ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ และเราจึงต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เวลานี้เราใช้เสรีภาพในความหมายไหน เสรีภาพที่ผิดก็จะมุ่งไปในด้านเพื่อตัวเอง และแบ่งแยกแย่งชิงกับผู้อื่น แต่เสรีภาพที่แท้จริงนั้นมุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและความดีงามของสังคมเพื่อผลดีที่จะได้รับร่วมกัน โดยนำเอาความรู้ความสามารถความดีงามของตนๆ มาให้ มาเสริมกัน นี่คือตัวประชาธิปไตย

ทีนี้ลองมาดูความหมายของหลักการแห่งประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่ง คือคำว่า "เสมอภาค" ความเสมอภาคมีความหมาย ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ความเสมอภาคของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งมองความเสมอภาคในความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่งว่า เขาได้ห้าร้อย ฉันก็ต้องได้ห้าร้อย เขาได้ห้าหมื่น ฉันก็ต้องได้ห้าหมื่น เขาได้แค่ไหน เราก็ต้องได้แค่นั้นเหมือนกัน คุณเอาได้ ฉันก็ต้องเอาได้ เป็นความเสมอภาคในการที่จะได้จะเอา

แบบที่ ๒ ความเสมอภาคของมนุษย์ในระบบสังคมประชาธิปไตยแท้ที่พึงปรารถนา ซึ่งมองความเสมอภาคในความหมายแบบร่วมสร้างสรรค์ร่วมแก้ปัญหา คือการมีโอกาสเท่าเทียมกัน ที่จะนำเอาศักยภาพของแต่ละบุคคลมาร่วมกันแก้ปัญหาและทำการเพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน เช่น เสมอกันในสุขและทุกข์ (ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมเผชิญปัญหา) ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ปฏิบัติต่อกันโดยชอบธรรมเสมอหน้า เพื่อจุดหมายของประชาธิปไตยคือการสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม มีความสุขร่วมกัน เป็นความเสมอภาคที่เน้นในเชิงให้

เมื่อประชาชนมองความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคในเชิงให้และร่วมสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันแล้ว ความหมายนั้นก็จะกลมกลืนสอดคล้องกับหลักการข้อที่ ๓ ของประชาธิปไตย คือ "ภราดรภาพ" (fraternity) ที่แปลว่า ความเป็นพี่เป็นน้องกัน ซึ่งหมายถึงความสมัครสมานสามัคคี แต่ถ้ามองความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคแบบมุ่งได้มุ่งเอาและแบ่งแยกแก่งแย่งกัน ภราดรภาพก็เกิดขึ้นไม่ได้ น่าสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ เมื่อคนพูดถึงประชาธิปไตยก็พูดถึงแต่เสรีภาพและความเสมอภาค ไม่พูดถึงภราดรภาพกันเลย แม้แต่ในสังคมอเมริกันเอง คติเบ้าหลอม (melting pot) ที่อาจถือเป็นคำแทนของภราดรภาพก็กำลังสลายไป ประชาธิปไตยจึงเข้าสู่วิถีแห่งความระส่ำระสายไปทั่ว

การศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้คนมองความหมายของหลักการต่างๆ เปลี่ยนไปหมด แม้แต่ความหมายของ "สิทธิ" ก็มี ๒ แบบ คือ สิทธิที่จะได้จะเอา คนส่วนมากจะมองในแง่สิทธิที่จะได้จะเอา แต่สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ค่อยมอง แม้จะฟังคล้ายเป็นของแปลก แต่มันเป็นจริง คือสิทธิที่จะให้ ในการศึกษาประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง จะมองเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดขึ้น ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์เป็นอย่างไร ขอให้ศึกษา "สาระ" กันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่าตันอยู่แค่รูปแบบที่เป็นเครื่องมือของประชาธิปไตยแล้วเข้าไม่ถึงตัวแท้ของประชาธิปไตย

การปกครองประชาธิปไตยในความหมายที่พูดกันว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน นั้น ก็หมายความว่า ประชาชนจะปกครองตัวเอง ประชาชนที่จะปกครองตัวเอง ให้เกิดประชาธิปไตยที่ดีนั้น แต่ละคนที่มีส่วนร่วมในการปกครองประชาธิปไตยจะต้องปกครองตัวเองได้ การศึกษาจะต้องรับผิดชอบภารกิจนี้ คือ เพื่อให้สังคมมีประชาธิปไตยที่มั่นคงยั่งยืน จะต้องพัฒนาคนแต่ละคนให้ปกครองตัวเองให้ได้ เมื่อแต่ละคนปกครองตัวเองได้แล้ว เขาก็สามารถร่วมกันปกครองตามหลักการของประชาธิปไตยได้ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาบุคคลให้ปกครองตัวเองได้ ประชาธิปไตยที่ดีย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะประชาชนไม่มีความสามารถที่จะปกครองตนเอง

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยที่น่าพิจารณา คือ ความหมายที่ซ่อนอยู่ในวาทะของประธานาธิบดีลินคอล์น ซึ่งพูดถึงประชาธิปไตย ว่าเป็น "การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" ความหมายที่ซ่อนอยู่นั้นคืออะไร คนโดยมากไปติดอยู่แค่ความหมายที่ว่าประชาชนปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน นึกว่าประชาธิปไตยจบแค่นั้น ความจริงวาทะนั้นชี้นัยต่อไปว่า มีประชาธิปไตยที่ดี กับประชาธิปไตยที่เลว หมายความว่า ประชาธิปไตยมีคุณภาพต่างกัน คือ มีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง เป็นประชาธิปไตยที่ดี กับประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่ำ เป็นประชาธิปไตยที่เลว และการที่ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพดีหรือเลวนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน

เพราะฉะนั้น เราก็ขยายต่อคำพูดของลินคอล์นออกไปให้เต็มความอย่างนี้ว่า "ประชาธิปไตยที่ดี คือ การปกครองของประชาชนที่ดี โดยประชาชนที่ดี เพื่อประชาชนที่ดี" มิฉะนั้นก็จะเป็นไปในทางตรงข้าม คือ ประชาธิปไตยที่เลว ได้แก่ การปกครองของประชาชนที่เลว โดยประชาชนที่เลว เพื่อประชาชนที่เลว

ถ้าการศึกษาไม่สามารถพัฒนาให้คนเข้าถึงเนื้อหาสาระประชาธิปไตย ก็จะเอียงสุดไปข้างหนึ่ง คือ ในเมื่อมนุษย์ไม่สามารถอยู่กันด้วยดีด้วยสติปัญญาและคุณธรรม กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาสังคม ซึ่งมีความหมายสำหรับมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ว่าเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่า สังคมจะเอาอย่างไร เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราจะจัดสรรสังคมให้อยู่ด้วยดีอย่างไร กฎเกณฑ์เหล่านั้นก็จะมีความหมายเป็นเครื่องบีบบังคับคน และในขณะที่คนแก่งแย่งผลประโยชน์เพื่อตัวเองมากขึ้น พร้อมกับมีการใช้เสรีภาพในทางได้และเอาอย่างรุนแรงจนเสียดุล ก็จะต้องสร้างกฎเกณฑ์มากขึ้นๆ แล้ว "กฎ" ก็จะกลายเป็น "กด" ซึ่งคอยกดดันบีบคั้นคนในสังคม ประชาธิปไตยซึ่งเหลือแต่รูปแบบก็จะเข้าสภาพนี้ และจะกลายเป็นเผด็จการอีกแบบหนึ่งนั่นเอง เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจะสำเร็จได้แท้จริงจึงอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นภารกิจที่การศึกษาจะต้องทำให้ได้

เมื่อยังคิดพิชิตธรรมชาติ และเชื่อว่าสุขอยู่ที่เสพ
ก็ต้องอยู่ด้วยจริยธรรมแบบจำใจที่ไม่ยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือระบบเศรษฐกิจที่เข้าสู่ลัทธิ "บริโภคนิยม" และ "การแข่งขัน" โดยมีปัจจัยที่สร้างสรรค์ความเจริญคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

แต่ลึกลงไปกว่านั้น อะไรเป็นพื้นฐานอยู่เบื้องหลังที่ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้อุตสาหกรรม กลายเป็นปัจจัยนำมาซึ่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจัยนั้นคืออะไร ปัจจัยนั้นอยู่ในตัวมนุษย์เอง นั่นคือ แนวความคิด ความเชื่อ ความคิดหมายใฝ่ฝันที่ฝังอยู่ในจิตใจ ซึ่งมนุษย์ถ่ายทอดมาในอารยธรรม และวัฒนธรรม ตลอดเวลายาวนานเป็นพันๆ ปี เวลานี้สังคมตะวันตกที่พัฒนาแล้วก็หันมามองจุดนี้ด้วย

ในการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อม จะมองดูแค่ที่การพัฒนาในทางวัตถุ จะมองแค่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมองแค่อุตสาหกรรมไม่ได้ องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเพียงผลเบื้องปลาย แต่เหตุปัจจัยที่แท้จริงนั้นอยู่เบื้องหลัง ลึกลงไปถึงขั้นเป็นรากฐาน คือ ความคิด ความเชื่อ ที่ทำให้มนุษย์พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาระบบอุตสาหกรรม และพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งในที่สุดก็จับได้ ฝรั่งบอกว่า เขามีแนวคิดและความใฝ่ฝันอันหนึ่งฝังลึกมาตลอดเวลา ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ความใฝ่ฝันนี้ก็คือ "การพิชิตธรรมชาติ"

แนวความคิดที่จะเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาตินี้เป็นปัจจัยอยู่เบื้องหลังความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตะวันตก จนกระทั่งตำราสำคัญที่เล่าเกี่ยวกับประวัติวิทยาศาสตร์ของสังคมตะวันตกก็เขียนไว้ว่า แต่ก่อนนี้สังคมตะวันตกเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยกว่าสังคมตะวันออก หมายความว่าล้าหลังกว่า แต่ต่อมาสังคมตะวันตกได้เจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำหน้าตะวันออกไป ก็เพราะมีแนวความคิดความใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ

แม้ว่าความคิดความเชื่อนี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดมา แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันทางตะวันตกกลับมองเห็นว่าเป็นโทษ เพราะว่าแนวความคิดนี่แหละที่ทำให้เขาทำร้ายธรรมชาติ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมนุษย์ทางตะวันตกก็จึงคิดที่จะแก้ไขแนวความคิดนี้

อนึ่ง เมื่อสืบสาวเรื่องราวให้ตลอดสาย ก็จะมองเห็นต่อไปว่า การที่ตะวันตกมีความใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็เพราะมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเมื่อเชื่อว่าความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การสามารถพิชิตธรรมชาติได้ ความคิดนั้นก็มาประสานเข้ากับความเชื่อทางวัตถุนิยมที่ว่ามนุษย์มีความสุขจากการเสพวัตถุ ดังนั้นมนุษย์จะประสบความสำเร็จเมื่อมีวัตถุเสพอย่างพรั่งพร้อม เหมือนกับมีคติว่า ต้องเสพมากที่สุด จึงจะสุขมากที่สุด เมื่อเชื่ออย่างนี้ มนุษย์ก็เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้จัดการกับธรรมชาติ เพื่อนำเอาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ความคิดนี้ทำให้มนุษย์พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมก็จึงกลายเป็นตัวการทำลายธรรมชาติแวดล้อม แต่เมื่อมาประสบปัญหาในปัจจุบัน แนวความคิดทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ก็ติดตัน ไปต่อไม่ได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง

กล่าวโดยสรุป แนวความคิด ๒ อย่างที่เป็นพื้นฐานของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาอารยธรรมยุคปัจจุบัน คือ

๑. แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ

๒. แนวความคิดที่เชื่อว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ เมื่อเสพมากที่สุดก็จะสุขมากที่สุด

ทั้ง ๒ แนวความคิดนี้เข้ามาประสานเสริมกันว่า เมื่อมนุษย์พิชิตธรรมชาติได้แล้ว มนุษย์ก็สามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ คือเอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นสิ่งบริโภคที่จะนำมาเสพให้มากที่สุด อุตสาหกรรมได้มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และเมื่อแนวความคิดทั้งสองนี้มาประสานกัน ก็ทำให้ตะวันตกประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ทำให้มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม จนกระทั่งทำให้โลก (บางส่วนในภาคที่พัฒนาแล้ว) ผ่านยุคอุตสาหกรรมมาสู่ยุคบริโภค เวลานี้ชาวตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกันบอกว่าสังคมของเขาผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมแล้ว และพวกเขากำลังอยู่ในสังคมยุคบริโภคนิยม ที่เรียกว่า consumer society นี่เป็นเรื่องภูมิหลังของสังคมตะวันตก

ในที่นี้ จุดที่ต้องการชี้ก็คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเป็นมาของอารยธรรมก็คือแนวความคิดความเชื่อที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ ผลที่ปรากฎทางวัตถุหรือความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ล้วนมาจากฐานทางความคิดทั้งนั้น และความคิดความเชื่อนี้ก็ได้มีมาตั้งแต่ก่อน ๒,๐๐๐ ปีแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้ามนุษย์ยังมีความคิดความเชื่ออย่างนี้อยู่ การแก้ปัญหาก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะจะเกิดความขัดแย้งไปหมด

แนวความคิดของตะวันตกอีกอย่างหนึ่ง ที่ตะวันตกทั้งหมด โดยเฉพาะอเมริกันภูมิใจนัก คือสิ่งที่เรียกว่า frontier mentality (สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน) ซึ่งเขาถือว่าเป็นตัวสร้างสรรค์ความเจริญ ทำให้อเมริกาเจริญก้าวหน้าอย่างยิ่ง จนทำให้เขาไปอวกาศได้ แม้แต่ตอนเริ่มสร้างสรรค์สังคมของเขา คตินี้ก็เข้มแข็งมาก เช่นที่มาปรากฏในคำกล่าวว่า "Go west, young man, and grow up with the country."

แต่ก่อนนี้ คนอเมริกันอพยพหนีภัยจากยุโรปไปแสวงโชคในอเมริกา เขาขึ้นฝั่งที่ภาคตะวันออกก่อน โดยเฉพาะที่ Boston, New York ตลอดจน Philadelphia พอขึ้นฝั่งแล้ว เห็นแผ่นดินใหญ่กว้าง ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่เขาแบกเอาสิ่งหนึ่งมาด้วยคือ frontier mentality (สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน) ซึ่งบอกเขาว่าต้องไปข้างหน้า คือทิศตะวันตก ไปเพื่อแสวงหาและสร้างสรรค์ ไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในโลกที่มีล้นเหลือ และไปสร้างสรรค์ทำดินแดนห่างไกลให้เจริญขึ้นมา ความคิดหมายใฝ่ฝันนั้นมีกำลังแรงจนแสดงออกมาเป็นคำกล่าว เช่นที่ว่ามานั้น คือ Go west, young man เจ้าหนุ่ม จงมุ่งหน้าตะวันตก and grow up with the country แล้วจงสร้างบ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมาพร้อมกับตัวเจ้า

เขาถือว่า คตินี้ทำให้อเมริกันเจริญก้าวหน้า พอเจริญทั่วอเมริกาแล้ว เขาก็มุ่งอวกาศต่อไป เขาถือคตินี้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์สำคัญอย่างยิ่ง แต่เวลานี้ ตำราสิ่งแวดล้อม กำลังบอกว่า frontier mentality ผิด จะต้องถูกแก้ไข เพราะสืบเนื่องมาจากความคิดพิชิตธรรมชาติ และเป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม

นี้เป็นเบื้องหลังของสังคมตะวันตก เป็นเรื่องระดับรากฐานทางความคิด ถ้าเราไม่เข้าถึงทิฏฐิหรือแนวความคิดแนวความเชื่อเหล่านี้ เราจะไม่รู้จักสังคมตะวันตกที่แท้จริง และการที่จะแก้ปัญหาของมนุษยชาติจะต้องแก้ถึงจุดนี้จึงจะสำเร็จ

ปัจจุบันนี้มนุษย์ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ "จริยธรรมแบบจำใจ" ซึ่งเป็นปัญหาซ้อน ที่ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมติดขัดดำเนินไปไม่ได้ กล่าวคือ มนุษย์ปัจจุบันนี้มองเห็นว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องรักษา เราจะต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นหมายถึงการที่มนุษย์จะขาดโอกาสที่จะบริโภคได้เต็มที่ด้วย เพราะถ้ามนุษย์ไม่จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ มนุษย์ก็จะไม่สามารถมีสิ่งบริโภคตามชอบใจด้วย เมื่อบริโภคหรือเสพไม่ได้เต็มที่ตามปรารถนา มนุษย์ก็จะขาดแคลนความสุข ตรงนี้เป็นจุดติดตันด้านหนึ่ง

ปัญหานี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์อุตส่าห์สร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาอารยธรรมมานานนักหนา เพื่อจะได้บรรลุความใฝ่ฝันที่จะเสพสุขให้สมบูรณ์ เต็มที่ แต่แล้วอารยธรรมนั้นกลับจะต้องมาจบลงอย่างนี้หรือ มนุษย์จะยอมได้หรือ?

แต่ถ้ามนุษย์จะทำตามชอบใจของตัวเองโดยพิชิตธรรมชาติแล้วก็จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ คือ เอามาผลิตเป็นสิ่งเสพ ธรรมชาติแวดล้อมก็จะเสีย ทรัพยากรธรรมชาติก็จะร่อยหรอ ผลร้ายภัยพิบัติก็จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์เอง ตรงนี้ก็เป็นความติดตันอีกด้านหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์จะทำอย่างไร ในที่สุดมนุษย์ก็ต้องบอกว่า เราต้องยอมให้กับธรรมชาติบ้าง หมายความว่า เราต้องยอมยับยั้งตัวเองที่จะไม่เสพความสุขให้เต็มที่ เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้แล้วสังคมมนุษย์ก็จะอยู่ได้ด้วย การยอมยับยั้งตัวเองอย่างนี้ก็เกิดเป็นจริยธรรมขึ้น ซึ่งเรียกว่า "จริยธรรมด้านสภาพแวดล้อม" นับเป็นจริยธรรมใหม่ที่สังคมตะวันตกได้พัฒนาขึ้นมา เวลานี้มีตำราจริยธรรมด้านนี้ซึ่งเป็นของใหม่ๆ ถ้าถอยหลังไปในอดีต ๒๐-๓๐ ปี ก่อนยังไม่มี ตำราจริยธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวนี้ฝรั่งมีแล้ว ถือว่าเป็นจริยธรรมที่สำคัญสำหรับสังคมปัจจุบัน เรียกว่า environmental ethics คือ จริยธรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม น่าสังเกตว่า จริยธรรมในหมู่มนุษย์ซึ่งมีมานานแล้ว ฝรั่งไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่กลับมาให้ความสำคัญกับจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม ถึงกับพัฒนาขึ้นมาใหม่

อย่างไรก็ตาม จริยธรรมแบบนี้เป็น "จริยธรรมแบบจำใจ" เพราะว่ามนุษย์จะต้องยอมอด จะต้องยอมฝืนใจตัวเองไม่เสพความสุขอย่างที่ตนปรารถนา เพื่อให้ธรรมชาติแวดล้อมอยู่ได้ เมื่อเป็นจริยธรรมแบบจำใจ มนุษย์ก็เป็นทุกข์ไม่จบสิ้น เพราะต้องฝืนใจตัวเอง จึงเป็นจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีความมั่นใจและความปลอดภัยว่ามนุษย์จะไม่ละเมิดจริยธรรมนี้ และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เป็นปัญหาทั้งในแง่ความสุขความทุกข์ และในแง่ประสิทธิภาพของจริยธรรม เรื่องนี้ก็เป็นภารกิจของการศึกษาอีกอย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะให้มนุษย์มีความสุขได้ ทำอย่างไรจะพ้นไปได้จากภาวะที่ต้องทนฝืนใจเป็นทุกข์ในยุคต่อไป ที่รออยู่ข้างหน้า มนุษย์มีทางพัฒนาได้ไหมในการที่จะมีความสุขนอกเหนือจากการที่จะเสพวัตถุให้มากที่สุด จริงอยู่มนุษย์พัฒนาได้ แต่พัฒนาในเรื่องนี้ได้ด้วยหรือไม่

ถ้าหาคำตอบในพุทธศาสนา เราบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เมื่อเราพัฒนามนุษย์นั้น เราพัฒนาความสุขของเขาด้วย มนุษย์จะมีช่องทางในการมีความสุขเพิ่มขึ้น และมนุษย์จะมีมิติของความสุขขยายเพิ่มออกไป อีกทั้งความหมายของความสุขก็จะเปลี่ยนไปด้วย สำหรับความหมายของ "ความสุข" นี้ ถ้าไม่ระวัง สังคมแบบอุตสาหกรรมก็จะให้ความหมายของความสุขอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ความสุขจากการที่ได้เสพ

ในการพัฒนาความสุขนั้น มนุษย์มีทางทำได้หลายอย่าง เช่นที่เคยพูดมาบ้างแล้วว่า ด้วยการฝึก "การให้" มนุษย์ก็จะพัฒนาคุณธรรมคือความเมตตากรุณาขึ้นมา โดยที่พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็จะพัฒนาความสุขขึ้นด้วย คือ เขาจะรู้จักความสุขจากการให้ เพิ่มจากเดิมที่เคยรู้จักความสุขจากการได้ เพียงอย่างเดียว ดังนั้น "การให้" กลายเป็นความสุขเมื่อใด ก็แสดงว่ามนุษย์ได้พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

มนุษย์ยังมีวิธีได้มาซึ่งความสุขมากกว่านี้อีกหลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของศักยภาพของมนุษย์ หมายความว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะมีความสุขอยู่แล้ว มนุษย์ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเพียงเพื่อให้มีความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุขเท่านั้น มนุษย์สามารถพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย จะต้องตระหนักว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุขนั้น มนุษย์ก็จะเอาความสุขของตนไปฝากไว้กับวัตถุมากขึ้นๆ ด้วย และมนุษย์ก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองค่อยๆ สูญเสียอิสรภาพลงไป เพราะไม่สามารถมีความสุขด้วยตัวเอง แต่ความสุขต้องขึ้นกับวัตถุ และพร้อมกันนั้นก็กลายเป็นคนที่สุขยากขึ้นด้วย

การศึกษายุคปัจจุบันนี้ ถ้าไม่ระวังเราจะสูญเสียดุลยภาพในการพัฒนามนุษย์ในด้านความสุขด้วย คือเราจะพัฒนามนุษย์ให้มีความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่พร้อมกันนั้นไม่ได้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขและไม่รักษาศักยภาพที่จะมีความสุขไว้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นคนที่สุขได้ยากยิ่งขึ้น แล้วชีวิตของเขาก็จะต้องขึ้นกับวัตถุมากขึ้น ทำให้มีการแย่งชิงกันมากขึ้น สังคมก็เดือดร้อนมากขึ้น และคนก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติมากขึ้น ธรรมชาติก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงไป

ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เขาก็จะมีความสุขง่ายขึ้น และความสุขของเขาก็ขึ้นกับวัตถุน้อยลง เมื่อเขาหาวัตถุมาได้มากขึ้น วัตถุนั้นเกินจำเป็นที่จะทำให้เขามีความสุข เขาก็จะเอาไปเจือจานกับเพื่อนมนุษย์ได้ แล้วเขาก็จะมีความสุขจากการให้อีกด้วย ก็เลยยิ่งมีความสุขมากมาย เพราะฉะนั้น ในการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง จะมีการประสานกลมกลืนกันขององค์ประกอบทุกอย่าง เช่น พฤติกรรม คุณธรรม และความสุข เป็นต้น มนุษย์จะพัฒนาตนเอง และมีสังคมที่ดีขึ้น อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมด้วยดี โดยที่ชีวิตก็มีความสุขมากขึ้นด้วย อันนี้เป็นหลักการพัฒนาที่สำคัญ

หันกลับไปถามว่า มนุษย์จะทำตามหลักการนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวความคิดที่เป็นรากฐานของอารยธรรมเสียใหม่ ก็คงยาก เพราะว่าแท้จริงนั้น จริยธรรมแบบจำใจก็สืบเนื่องจากแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติและความเชื่อในความสุขจากการเสพเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อยังยึดถือและเชื่ออย่างนั้น แม้แต่ความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมก็มีปัญหาติดขัดทุกขั้นตอน มนุษย์ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องแย่งชิงความสุขที่ขึ้นอยู่กับการเสพ เมื่อไปสัมพันธ์กับธรรมชาติก็จะหาความสุขได้น้อยลง เพราะโดยพื้นฐานเขาจะมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ ซึ่งอาจจะแรงขึ้นจนถึงขั้นที่ว่า ธรรมชาติเป็นตัวขัดขวางเขาไม่ให้ได้รับความสุข เพราะความสุขของเขาอยู่ที่การเสพเทคโนโลยี เขาจะต้องเอาความสุขจากเทคโนโลยี แต่ธรรมชาติมาขวาง

เป็นการยากที่คนผู้มุ่งหน้าหาความสุขจากการเสพ จะรู้จักความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป แม้แต่ความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เพราะชีวิตยุ่งอยู่แต่เรื่องการแข่งขัน คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ พรุ่งนี้จะเอาอะไรที่ไหนอย่างไร ใจว้าวุ่น มีความละโมบครองใจอยู่ และเต็มไปด้วยความขัดแย้งหวาดระแวง ส่วนคนที่มีจิตใจไม่วุ่นวาย ไม่มีความละโมบ และไม่ถูกรบกวนด้วยความครุ่นคิดห่วงกังวลในเรื่องการแข่งขันแย่งชิงหรือความขัดเคืองหวาดระแวงคู่แข่งเป็นต้น เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็สามารถซึมซาบความสุขจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติได้เต็มที่

การศึกษาจะต้องช่วยให้มนุษย์สามารถซึมซาบความสุขจากสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนได้ด้วย ไม่ใช่จะหาความสุขจากสิ่งเสพอย่างเดียว อย่างน้อยชีวิตก็จะมีดุลยภาพดีขึ้น ดูจากตัวอย่างคน ๒ คนไปเห็นนก ความสุขของ ๒ คนนั้นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งมีความสุขอยู่ที่ว่าจะต้องรอเอานกมาลงหม้อแกงแล้วบริโภค ส่วนอีกคนหนึ่งมีความสุขทันทีเมื่อเจอนก เนื่องจากเขามีจิตใจละเมียดละไม เพียงเห็นธรรมชาติที่นุ่มนวล เห็นการเคลื่อนไหวของนก ก็ทำให้จิตใจเขาสบายและมีความสุขได้ทันที

คนที่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง จะมีศักยภาพที่จะมีความสุข และพัฒนาศักยภาพนั้นให้ตนมีความสุขได้ง่ายยิ่งขึ้น เขาไม่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขนี้ไป ที่จริงนั้น ความรู้สึกพร้อมที่จะมีความสุขนี้มนุษย์มีอยู่แล้ว แต่ด้วยการพัฒนาที่ผิด การศึกษาที่ผิด ทำให้เขาสูญเสียความสามารถอันนี้ไป การศึกษาที่ถูกต้อง จะทำให้ทุกสิ่งเจริญงอกงามขึ้นไปในลักษณะที่ประสานกลมกลืนกัน

มนุษย์พัฒนาโลกวัตถุให้ถึงกันหมดเป็นหนึ่งได้
แต่ยังข้ามไม่พ้นสิ่งกีดขวางการรวมใจให้เป็นสากล

ทุกวันนี้โลกแคบเข้ามาถึงกันหมดแล้ว จนกระทั่งฝรั่งเรียกว่า global village เป็น "หมู่บ้านโลก" มนุษย์อยู่ร่วมกันในโลกที่แคบเข้ามานี้ จะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดซึ่งกันและกัน แล้วจะอยู่กันอย่างไรดี ปัญหาของมนุษย์ก็คือ จะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไรจึงจะมีสันติสุข ไม่ขัดแย้ง ไม่แตกแยก ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ทุกวันนี้มนุษย์ทั่วโลกอยู่ร่วมกันทางวัตถุ เนื่องจากวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้รวมโลกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกันนั้นในทางสังคมตัวมนุษย์เองกลับยิ่งขัดแย้งแบ่งแยกกันมากขึ้น นับเป็นการสวนทางกันในการพัฒนา แสดงว่าการพัฒนามนุษย์ไม่ได้สัดส่วน ไม่มีดุลยภาพกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

เราพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางวัตถุจนกระทั่งรวมโลกเป็นอันเดียวกัน แต่ตัวมนุษย์กลับยิ่งทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟัน ทำสงครามกัน มีการแบ่งแยกกันโดยเชื้อชาติ ผิวพรรณ และลัทธิศาสนา เวลานี้ทั่วโลกยิ่งรบกันหนัก ระหว่างเชื้อชาติ ระหว่าง ศาสนา ทำไมเป็นอย่างนี้ สภาพเช่นนี้เป็นเครื่องฟ้องว่า การศึกษาไม่ได้ผล หรือว่าการพัฒนามนุษย์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร มนุษย์พัฒนาไม่ทันสภาพแวดล้อม เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ว่า ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกัน มีสภาพแวดล้อมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ มีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ด้วย

แม้แต่วัฒนธรรมที่มีต่างๆ กัน มนุษย์ก็มองเป็นเครื่องแบ่งแยก ทำไมเราไม่มองวัฒนธรรมเป็นเครื่องรวมมนุษย์ วิถีของการมองมี ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ถือเอาสิ่งที่รวมมนุษย์เป็นกลุ่ม เป็นเครื่องแบ่งแยกกลุ่มย่อยออกจากส่วนรวม

แบบที่ ๒ ถือเอาสิ่งที่รวมมนุษย์เข้าเป็นกลุ่มนั้น เป็นขั้นตอนของการที่จะไปรวมกันทั้งโลก

ถ้าถือแบบที่ ๑ มนุษย์จะยิ่งแบ่งแยก และทะเลาะวิวาท สวนทางกับสภาพทางวัตถุของโลกยิ่งขึ้น แต่ถ้าถือแบบที่ ๒ ก็จะเป็นการประสานกลมกลืนสู่ทางแห่งสันติสุข

ทำอย่างไร จะให้คนทั้งโลกมีแนวคิดอย่างที่ ๒ ได้ นี่คือสิ่งที่ท้าทายการศึกษา

มนุษย์ได้รวมกันเป็นกลุ่มด้วยวัฒนธรรม ด้วยเชื้อชาติ ด้วยศาสนา ซึ่งทำให้คนในกลุ่มนั้นมีความสามัคคี รวมกำลังกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเกื้อกูลกัน แต่พอเขารวมเป็นกลุ่มหนึ่งได้ เขาก็แยกจากกลุ่มอื่น แล้วก็ทะเลาะวิวาทกัน สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ในสมัยโบราณที่ควรจะผ่านยุคสมัยไปได้แล้ว

ในสมัยก่อนโน้น เพื่อความอยู่รอดของแต่ละกลุ่ม มนุษย์จะต้องปกป้องกลุ่มของตนเอง นับว่ามนุษย์เจริญมาขั้นหนึ่ง คือ เจริญจากการแบ่งแยกระหว่างบุคคลมาสู่การรวมเข้าเป็นกลุ่มแล้วแบ่งแยกระหว่างกลุ่ม แต่เวลานี้มนุษยชาติพัฒนามาจนถึงขั้นทำให้สิ่งแวดล้อมรวมได้เป็นอันเดียวแล้ว ชีวิตจิตใจของมนุษย์ จะต้องพัฒนาตามไปให้สอดคล้องกันด้วย กล่าวคือ เมื่อรวมจากบุคคลมาเป็นกลุ่มได้แล้ว ขั้นต่อไป ก็รวมจากกลุ่มมาเป็นสังคมใหญ่ มาเป็นโลกทั้งโลก ให้ถือว่าปัจจัยเครื่องรวมมนุษย์ในระดับกลุ่มนั้น คือขั้นตอนที่จะเชื่อมต่อให้เขามารวมกันทั้งหมดได้ต่อไป นี่คือสิ่งที่ท้าทายการศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะความสำเร็จของอารยธรรมมนุษย์อยู่ที่จุดนี้ด้วย

มนุษย์จะทำลายมนุษยชาติด้วยปัจจัยสำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. การก่อความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อม ซึ่งนำมาสู่จุดติดตันว่า เขาจะแก้ปัญหาธรรมชาติได้สำเร็จหรือไม่ และ

๒. การแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ ซึ่งนำมาสู่จุดติดตันว่า เขาจะแก้ปัญหาสังคมได้หรือไม่

เวลานี้สังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของโลก กำลังประสบปัญหานี้เป็นจุดติดตันอยู่ ไม่รู้จะไปรอดหรือไม่ จะดูตัวอย่างได้จากสังคมอเมริกัน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เห็นทางออกที่จะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะการรวมมนุษย์ให้เป็นอันเดียวกันที่เขาเคยภูมิใจว่ารวมได้ดีพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ แต่ครั้นถึงเวลานี้กลับกลายเป็นแตกแยกยิ่งขึ้น จนหนังสือใหม่ๆ ที่ออกมาบอกว่าไม่มีความหวัง มีแต่จะแตกแยกกระจัดกระจายยิ่งขึ้น จนเป็นที่ชัดเจนว่าเราจะหวังจากอเมริกาไม่ได้ มนุษย์ที่อยู่ในสังคมอื่นอาจจะเป็นผู้ที่มีอะไรดีที่จะไปช่วยเสริมในเรื่องนี้

ความจริง สังคมไทยมีดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือความสามารถหรือศักยภาพในการที่จะสมานเพื่อนมนุษย์ให้รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เราอาจจะช่วยประชาคมโลกได้ในเรื่องนี้ สังคมอเมริกันเคยภูมิใจว่า ตนเป็นเบ้าหลอมมนุษย์ที่มาจากเชื้อชาติต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในประเทศของตน แต่ในขณะนี้ สังคมอเมริกันเจอปัญหาอย่างหนักในเรื่องการแบ่งแยก ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับปัญหาระดับโลกทีเดียว

จะเห็นได้ว่า สังคมอเมริกันได้พัฒนามาถึงจุดหนึ่งที่เจริญมาก แต่ก็กลับประสบปัญหาเรื่องนี้ จึงนับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายอารยธรรมของมนุษยชาติ ท้าทายการพัฒนามนุษย์ และท้าทายการศึกษาว่า เราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งเป็นมาตรฐานวัดการศึกษาว่า เราจะพัฒนามนุษย์ให้สามารถมีจิตใจรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่

ในพระพุทธศาสนาท่านสอนเรื่องนี้ไว้มาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามธรรมชาติที่ว่ามนุษย์ที่พัฒนาแล้วย่อมจะรวมกันได้ เพราะการพัฒนานั้น หมายถึงการที่มนุษย์จะค่อยๆ หมด "มัจฉริยะ" คือ ความตระหนี่ หรือความหวงแหนกีดกัน ๕ ประการไปจนสิ้นเชิง คือ

๑. ความหวงแหนถิ่นที่อยู่ รวมทั้งประเทศชาติของตัวเอง เมื่อถึงยุคโลกาภิวัตน์เราจะต้องปรับมนุษย์ให้รักชาติ โดยต้อง "รักเป็น" คือรักในแบบที่ไม่ให้แบ่งแยกและเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

๒. ความหวงแหนครอบครัว พวกพ้อง วงศ์ตระกูล รังเกียจพงศ์เผ่า ความหวงแหนนี้มีมากจนกระทั่งแต่งงานระหว่างชนต่างเผ่าไม่ได้

๓. ความหวงแหนลาภ หวงแหนผลประโยชน์

๔. ความหวงแหนวรรณะ แบ่งผิว แบ่งชนชั้น รังเกียจกัน

๕. ความหวงแหนความสำเร็จ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ไม่อยากให้คนอื่นบรรลุความสำเร็จอย่างตน

การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ลดละมัจฉริยะ ๕ ประการนี้ให้สำเร็จ ถ้าสำเร็จ มนุษย์จะอยู่รวมกันได้ทั้งโลก เวลานี้หมดสมัยแล้วที่มนุษย์จะแบ่งแยกแบบเก่า และการแบ่งแยกแบบนั้นจะนำมนุษย์ไปสู่สงครามแน่นอนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ในหลายส่วนของโลก ถึงขนาดตามล้างเผ่าพันธุ์กัน

ถ้ามนุษย์ไม่ยึดติดในทิฏฐิที่บัญญัติกันขึ้น และมองอะไรไปตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ให้หมดไปได้ ซึ่งก็หมายถึงการที่จะต้องพัฒนาคนจนมองเห็นความจริงที่เป็นสากล และมีความรู้นึกคิดประพฤติปฏิบัติสอดคล้องกับความจริงที่เป็นสากลนั้น ถ้ามนุษย์พัฒนาเข้าถึงความเป็นสากลนั้น ปัญหาความขัดแย้งซึ่งลัทธิศาสนาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งตลอดมา ก็จะหมดไปได้ ดังนั้น ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ การแก้ไขความขัดแย้งแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ จึงหมายถึงการเข้าถึงความเป็นสากลนี้ด้วย

เนื่องจากการยึดติดในลัทธิศาสนาเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาความแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ จึงควรพูดย้ำไว้ด้วยว่า ถ้าศาสนาทั้งหลายจะช่วยให้โลกมีสันติสุขได้ โดยศาสนาไม่เป็นตัวเหตุเสียเองที่จะทำให้คนแบ่งแยกรบราฆ่าฟันทำสงครามกัน ศาสนาทุกศาสนาจะต้องถือหลักหรือยอมรับความเป็นสากล ๓ ประการต่อไปนี้ คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล เช่น เมื่อสอนว่า การทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก ก็ต้องเป็นจริงสำหรับมนุษย์ทุกคนทุกหนแห่ง ไม่ว่านับถือลัทธิศาสนาใด ไม่ใช่จริงสำหรับผู้นับถือศาสนานี้ แต่ไม่จริงสำหรับผู้นับถือศาสนาอื่น

๒. ความเป็นมนุษย์ที่สากล คือ ถือว่ามนุษย์ทุกคนทุกหนทุกแห่งไม่ว่านับถือศาสนาไหน ก็เป็นมนุษย์เสมอกัน การฆ่ามนุษย์เป็นบาป ไม่ดีทั้งนั้น ไม่ใช่สอนว่า มนุษย์ที่นับถืออย่างนี้เป็นมนุษย์ของฉัน ห้ามฆ่า แต่มนุษย์ที่ไม่นับถืออย่างฉัน ฆ่าได้ไม่บาป

๓. เมตตาที่เป็นสากล คือจะต้องสอนให้รักใคร่มีไมตรีต่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดว่าเป็นกลุ่มไหนพวกใด นับถือศาสนาใด ไม่ใช่ให้เมตตารักคนพวกนี้ กลุ่มนี้ นับถือศาสนานี้ แต่ให้เกลียดชังคนพวกอื่น นับถืออย่างอื่น

ถ้าศาสนาทุกศาสนายอมรับหลักสากล ๓ ประการนี้ไม่ได้ โลกไม่มีทางสงบจากความขัดแย้งและสงคราม

ปัจจุบันนี้ แม้แต่จะพูดกันตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยในเรื่องเหล่านี้ ก็พูดกันไม่ได้ ต้องหลบเลี่ยงอ้อมแอ้มๆ กันไปว่า ทุกศาสนาก็สอนให้เป็นคนดีเหมือนกัน เมื่อไม่ซื่อตรงต่อความเป็นจริงกันอย่างนี้ มัวแต่หลบปัญหากันอยู่ ก็แก้ปัญหาไม่ได้

ศาสนาที่ถือหลักการตรงไปตรงมาตามธรรมดาของธรรมชาติ ย่อมสอนหลักสากล ๓ ประการนี้ เป็นหลักพื้นฐานสามัญเป็นปกติธรรมดา

สรุปว่า มาตรฐานในการวัดความสำเร็จของการศึกษา คือ ความสามารถในการพัฒนามนุษย์ให้ทำลายความหวงแหนกีดกั้นแบ่งแยกกันด้วยสาเหตุ ๕ ประการที่เรียกว่า มัจฉริยะ ๕ นั้น และการยอมรับความเป็นสากลทั้ง ๓ ประการดังที่ได้กล่าวมา ถ้าทำได้สำเร็จ มนุษย์ในโลกนี้ก็จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข

– ๓ –
การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน

มนุษย์มีความสามารถแท้ที่เหนือกว่าการพิชิตธรรมชาติ
คือทางสายกลางที่สร้างระบบความสัมพันธ์แห่งความเจริญที่เกื้อกูลกัน

ในยุคที่เป็นมานี้ถือว่าการ "พัฒนา" เป็นเรื่องสำคัญ ประเทศหนึ่งๆ จะถูกจัดเข้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือไม่ก็กำลังพัฒนา ซึ่งก่อนหน้านั้นสัก ๒๐ ปี เรียกว่า ด้อยพัฒนา ประเทศไทยเราก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยมี นับถอยหลังไปก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คำว่า "พัฒนา" ในความหมายปัจจุบันยังไม่ขึ้นมาเป็นคำระดับชาติ

การที่ คำว่า "พัฒนา" กลายเป็นคำสำคัญในประเทศไทย ต้นเหตุมาจากแรงกระตุ้นของธนาคารโลกในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น ซึ่งก็เข้ามาประสานกับการที่สหประชาชาติได้ประกาศ ปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๓ (ค.ศ.๑๙๖๐-๑๙๗๐) เป็น "ทศวรรษโลกแห่งการพัฒนา" (Development Decade) ถือได้ว่าประเทศไทยก็ขานรับนโยบายนี้ เราจึงเข้าสู่ยุคพัฒนาจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ยุคนั้นคำว่า "พัฒนา" ก็ถูกย้ำถูกเน้นและใช้ขยายกว้างขวางออกไปเป็นชื่อกิจการต่างๆ ของประเทศ แต่ก่อนนี้เรามีเพียงแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ พอยุคพัฒนาเริ่มแล้ว เราก็เปลี่ยนเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เริ่มด้วยฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๙ ต่อมาเราเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวจะทำให้สังคมเสียหายได้ ประชาชนจะเสื่อมคุณภาพ ได้แต่เจริญทางด้านวัตถุ เราก็เติมคำว่า "สังคม" เข้าไป ก็เลยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา ตั้งแต่ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ แล้วก็สืบต่อมาจนกระทั่งถึงแผน ๗ ในปัจจุบัน และกำลังก้าวสู่แผน ๘ ที่จะเริ่มในปี ๒๕๔๐

เราอยู่ในโลกยุคพัฒนา โลกใช้ศัพท์ว่า "พัฒนา" เป็นคำสำคัญ ครั้นพัฒนากันไปๆ ก็มามองเห็นว่าการพัฒนาที่ผ่านมาผิดพลาด สหประชาชาติก็เลยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา จนกระทั่ง ปี ๒๕๒๙ ก็ได้ข้อเสนอวิถีทางการพัฒนาแบบใหม่ พร้อมกับมีศัพท์ใหม่ว่า "การพัฒนาแบบยั่งยืน" ที่เรียกว่า "sustainable development" ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม ไม่พัฒนาเอียงไปด้านหนึ่งด้านเดียว แต่ให้องค์ประกอบทั้งหลายของการพัฒนาเข้ามาร่วมประสานกันทั้งหมด มีความกลมกลืน แต่จุดที่มองเป็นหลักของ "การพัฒนาแบบยั่งยืน" นี้มี ๒ อย่าง

อย่างแรก มององค์ประกอบทางธรรมชาติเป็นใหญ่ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่านิเวศวิทยา (ecology) หมายถึง ระบบนิเวศ

อย่างที่สอง มองเรื่องเศรษฐกิจ (economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจ

เดิมโลกมุ่งแต่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้การพัฒนาไม่มีดุลยภาพ เกิดความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะธรรมชาติแวดล้อมจะพินาศ และโลกนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยไม่ได้ มนุษย์ก็จะพลอยวอดวาย จึงต้องให้เศรษฐกิจพัฒนาประสานไปด้วยกันกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเศรษฐกิจเจริญดี โดยที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ หรือเศรษฐกิจเจริญได้โดยสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี อันนั้นคือ "การพัฒนาแบบยั่งยืน"

จะเห็นว่า องค์ประกอบสำคัญที่องค์การโลกมองในระบบองค์รวมนี้มีเพียง ๒ อย่าง คือ เศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม แต่ที่จริงเวลานี้เราน่าจะต้องมองว่า การพัฒนาอย่างมีดุลยภาพที่ครบองค์รวมนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะองค์ประกอบทางด้านสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจเท่านั้น มันจะต้องมีด้านอื่นอีก ในที่นี้ขอให้มองว่าองค์ประกอบในการอยู่ด้วยดีของมนุษย์มี ๓ ส่วน คือ

๑. ชีวิตมนุษย์

๒. สังคม

๓. สิ่งแวดล้อม หรือธรรมชาติ

สามส่วนนี้จะต้องเกื้อกูลประสานกัน มนุษย์จึงจะอยู่รอด ชีวิตของมนุษย์เองก็แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ร่างกายกับจิตใจ จะต้องให้ทั้ง ๒ ด้านมีดุลยภาพ องค์ประกอบทั้งหมดดังกล่าวนั้นจะต้องประสานเกื้อกูลกัน ไม่ให้เป็นความขัดแย้งเหมือนแต่ก่อน ซึ่งการพัฒนาได้มีปัญหาว่า เพื่อประโยชน์แก่บุคคลสังคมก็เสียหาย เพื่อมนุษย์ได้ประโยชน์ธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ต่อไปนี้จะต้องหาทางพัฒนาให้ทุกส่วนไปด้วยกันด้วยดี กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์ก็เจริญงอกงามมีความสุข สังคมก็อยู่ด้วยดีมีสันติ สิ่งแวดล้อมก็อยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่เสียหาย ชีวิตมนุษย์ทั้งกายและใจต้องประสานกัน ไม่ใช่ว่าพัฒนาร่างกายให้อยู่ดีมีสุขทางด้านวัตถุ แต่จิตใจเสื่อมโทรม เป็นโรคจิตโรคประสาท มีความเครียด และฆ่าตัวตายมากขึ้น นี้เป็นเรื่องของ "การพัฒนา" ซึ่งในยุคต่อไปจะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบทั้ง ๓ อย่าง การศึกษาจะต้องเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ และเป็นผู้นำในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาชนิดนี้ขึ้นมา

เรื่องที่ว่ามาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโลกมนุษย์ ที่การศึกษาที่ดีจะต้องจัดการให้ได้ และเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของการศึกษานั้นว่า การศึกษาสัมฤทธิ์ความมุ่งหมายหรือไม่ ถ้าจะนำหลักศาสนามาใช้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็จะต้องเอามาจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวให้สำเร็จ อย่างน้อยก็ให้เห็นช่องทาง หรือมองเห็นความเป็นไปได้ว่า การศึกษาที่จัดตามหลักของศาสนาเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ

พุทธศาสนามีหลักการสำคัญมุ่งจะช่วยแก้ปัญหาของมนุษยชาติทั้งหมด จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาชัดเจนอยู่แล้ว คือ "พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย" แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลโลก หลักการของพระพุทธศาสนาก็คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาตินั่นเอง ที่เรารู้เข้าใจแล้วใช้ปัญญานำมาจัดดำเนินการให้ทุกสิ่งในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้น อยู่ร่วมสัมพันธ์กัน โดยมีการเบียดเบียนกันน้อยลงๆ และเกื้อกูลกันมากขึ้นๆ เช่น การพัฒนามนุษย์ให้อยู่กับสิ่งแวดล้อมได้ด้วยดี โดยธรรมชาติก็อยู่ดีงดงาม มนุษย์ก็มีความสุข

เวลานี้ฝรั่งที่สนใจการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ได้หันมาสนใจพุทธศาสนากันมาก เพราะเขามองว่า พุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และถือว่ามนุษย์จะต้องอยู่ด้วยดีกับธรรมชาติแวดล้อม ไม่ใช่ไปแยกตัวต่างหากและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นี่เป็นเหตุปัจจัยด้านหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจพุทธศาสนา คือด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งที่มาสนใจพุทธศาสนาเหล่านี้ ก็ยังมักเข้าใจพุทธศาสนาไม่ตรงแท้ คือเห็นไม่ครบ เขามักเข้าใจว่า จะต้องอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยอยู่ไปตามธรรมชาติ ให้เข้ากันได้กับธรรมชาติ จนบางทีมองว่ามนุษย์จะต้องเป็นฝ่ายปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไปของธรรมชาติฝ่ายเดียว เขามองข้ามหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาในเรื่องศักยภาพของมนุษย์ ที่ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ศักยภาพของมนุษย์ที่ว่ามานี้ก็คือ ความสามารถที่จะช่วยให้ หรือทำให้ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย (โดยเฉพาะ ๓ อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ ชีวิต สังคม ธรรมชาติแวดล้อม) อยู่ร่วมและดำเนินไปด้วยกันด้วยดี โดยเบียดเบียนกันน้อยลงและเกื้อกูลกันมากขึ้น นี้คือความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงความสามารถที่จะพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาติ อย่างที่ถือกันมาในตะวันตกจนเป็นรากฐานนำอารยธรรมปัจจุบันมาสู่จุดติดตันอย่างที่กล่าวแล้ว

หลักการของพระพุทธศาสนานั้นคือมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง ไม่เอียงสุดทั้งในข้างที่ปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ และในข้างที่จะพิชิตหรือรุกรานทำลายธรรมชาติ แต่เป็นหลักไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งได้ประโยชน์แก่ตนและเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นวิถีชีวิตแห่งความพอดี ที่ช่วยให้สิ่งทั้งหลายในระบบสัมพันธ์เจริญงอกงามขึ้นไป อย่างมีดุลยภาพที่เกื้อกูลกัน

การศึกษาต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้
และการเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท

ในการพัฒนามนุษย์นั้น เราจะต้องมองว่า เราต้องการมนุษย์ที่มีคุณภาพหรือคุณลักษณะอย่างไร หรือว่ามนุษย์ที่การศึกษาจะพัฒนาขึ้นมานั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าภารกิจของการศึกษาแยกเป็น ๒ อย่าง คือ การศึกษาที่ช่วยให้คนพัฒนาชีวิตที่ดีงาม และเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม การศึกษาจะต้องสร้างตัวคนให้เป็นบัณฑิต และช่วยให้เครื่องมือแก่บัณฑิตไปใช้ประโยชน์ การศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ต้องเข้าถึงเนื้อแท้ของการศึกษา คือการพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม และเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมด้วย ไม่ใช่มองแค่ให้เขามีอาชีพ มีการงาน มีศิลปวิทยา เท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือซึ่งอาจใช้ในทางร้ายหรือทางดีก็ได้ โดยเฉพาะถ้ามีแนวความคิดที่ผิดแล้วก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของโลกได้ ฉะนั้นจะต้องมองเป็นขั้นๆ

เรามองอย่างง่ายๆ ว่า การศึกษานี้ในเบื้องต้นต้องทำให้มนุษย์สามารถพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม หลักธรรมในทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากมาย เช่น สอนให้คนขยันหมั่นเพียรสร้างเนื้อสร้างตัว เรียกว่า "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" การพัฒนาคนในระดับนี้ เช่นการสอนให้ไม่เสพอบายมุขเป็นต้น ซึ่งเป็นจริยธรรมขั้นต้นๆ ในระดับของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอามิสและสังคม แต่ยังมีต่อไปว่าทำอย่างไรจะให้มนุษย์สามารถพ้นจากการที่ต้องอาศัยกิเลสเป็นเครื่องช่วยให้อยู่รอด ไปสู่การมีชีวิตอยู่ด้วย "ปัญญา" นี่คือจุดหมายของการพัฒนามนุษย์

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาต้องอาศัยตัณหามานำชีวิตให้ดิ้นรนเพื่อสนองความต้องการทางด้านตา หู จมูก ลิ้น และกาย หรืออายตนะทั้งหลาย เพราะมนุษย์ยังมี "อวิชชา" ไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง จึงยังต้องเอาความรู้สึกชอบไม่ชอบ เกลียด กลัว หรือปรารถนา มาเป็นเครื่องนำชีวิตก่อน เมื่อมองดูเห็นอะไรสนองความรู้สึกที่ดีที่สบาย ให้ความสุขทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ก็เอา ก็พอใจ ก็ต้องการได้สิ่งเหล่านั้น มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาจึงอยู่ด้วยตัณหา แต่ก็ต้องยอมรับว่า มนุษย์ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ เพราะเขายังไม่มี "ปัญญา"

แต่เมื่อมนุษย์มีปัญญาพอแล้ว เขาก็จะอยู่ด้วย "สติปัญญา" ดังเช่นการเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตจากการกินเพียงเพื่ออร่อยลิ้นและโก้หรู มาสู่การกินพอดีด้วยปัญญา หรือเสริมคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาพและสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามอย่างผาสุก อันเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา ที่บรรยายมาข้างต้นแล้ว ตลอดจนถึงการที่จะมี "ความไม่ประมาทแท้" เมื่อพัฒนาคนได้สมบูรณ์แล้ว เขาก็มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา และไม่ต้องอาศัยตัณหามาช่วยจูงอีกต่อไป คนมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาก็คือ "บัณฑิต" นั่นเอง เป็นผู้ที่พัฒนาจนพ้นจากการที่ต้องอาศัยกิเลสเป็นเครื่องรักษาชีวิตให้รอด มาสู่ความเป็นอยู่ด้วยปัญญา การที่มนุษย์อยู่ดีได้ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของการศึกษา

การพัฒนามนุษย์ให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา นั้น แกนกลางของมันก็คือการพัฒนาคนให้รู้จักคิด เริ่มแต่รู้จักสัมพันธ์กับประสบการณ์ ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในแนวทางของปัญญา เช่นให้รู้จักดูเป็น ฟังเป็น จนกระทั่งคิดเป็น การที่จะรู้จักสัมพันธ์กับประสบการณ์อย่างถูกต้อง รู้จักใช้ปัญญา และพัฒนาปัญญาขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยหลักธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" คือ การรู้จักมอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือ เดินความคิดอย่างถูกวิธี

เมื่อเราสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เริ่มแต่รับรู้ประสบการณ์ เรามองอย่างไร ถ้ามองไม่เป็น ก็ได้โทษ ตกเป็นทาสของตัณหา เสริมเติมอวิชชา แต่ถ้ามองเป็นก็ได้ประโยชน์เกิดปัญญา การมองเป็นนั้นก็คือ "โยนิโสมนสิการ" ซึ่งโดยสรุปสอนให้มอง ๒ อย่าง อันเป็นการมองที่ทำให้เกิดปัญญา นำไปสู่อิสรภาพและชีวิตที่ดีงาม คือ

๑. มองให้เห็นความจริง

๒. มองให้ได้ประโยชน์

นี่คือหลักการโดยสรุปของ "โยนิโสมนสิการ" ซึ่งมีวิธีคิดมากมาย แต่ในบรรดาวิธีคิดมากมายนั้น สรุปมี ๒ อย่างคือ มองให้ได้ความจริง กับมองให้ได้ประโยชน์

เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาเราสัมพันธ์ ถ้าเราสัมพันธ์ไม่เป็นก็สัมพันธ์แบบชอบ-ชัง ยินดี-ยินร้าย ซึ่งเป็นการสัมพันธ์แบบปรุงแต่ง ตามแรงชักจูงของอวิชชาและตัณหา เมื่อปรุงแต่งความคิดอย่างนั้นต่อไป ในที่สุดก็เกิดปัญหาขึ้น เช่น นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นไปตามโลภะ โทสะ และโมหะ แล้วก่อปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องการเพื่อให้มนุษย์อยู่ดีก็คือ ความรู้ที่เข้าถึงความจริง และความต้องการที่แท้จริงทั้งของชีวิตของตนและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีวิธีคิดให้เข้าถึงความจริง และนี่ก็คือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีหลายแบบ เช่น คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ คิดแบบให้เห็นคุณค่าแท้คุณค่าเทียม คิดแยกแยะให้เห็นคุณโทษและทางออก เป็นต้น

ในบรรดาวิธีคิดเหล่านี้ หลักการใหญ่อย่างหนึ่งก็คือการมองให้ได้ประโยชน์ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ถ้ามนุษย์มองเป็นแล้วก็หาประโยชน์ได้ทั้งนั้น คนที่พัฒนาแล้วจะสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่เลวที่สุด

ในการพัฒนาการศึกษาของเด็กนั้น เราจะต้องทำสิ่งที่ตรงข้ามกัน ๒ อย่างเข้ามาบรรจบกัน คือ ในแง่ที่เป็นผู้จัดสภาพแวดล้อม เราจัดให้ดีที่สุด แต่ในแง่การพัฒนาตัวเด็ก เราต้องพัฒนาเด็กให้สามารถได้ประโยชน์จากสิ่งที่เลวร้ายที่สุด อันนี้คือ "โยนิโสมนสิการ" ในความหมายหนึ่ง ฉะนั้นคนที่มีโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็จะมีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างต่อไปนี้ หรือพร้อมกันทั้ง ๒ อย่าง คือ

๑. มองเห็นความจริง หรือได้ความรู้ (ได้ปัญญา)

๒. มองเห็นประโยชน์ หรือสามารถทำให้เป็นประโยชน์ (ได้ประโยชน์)

นี่คือหัวใจของการเรียนรู้ เมื่อเราพัฒนาเด็กด้วยโยนิโสมนสิการนี้ เด็กก็จะพัฒนานิสัยแห่งการเรียนรู้ขึ้นมา แล้วก็จะมี วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์อยู่ด้วยปัญญา สังคมก็มี "วัฒนธรรมการเรียนรู้" การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นจากการใช้ความคิด การรู้จักมอง การรู้จักสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างถูกต้อง

เมื่อคนพัฒนาไปในแนวทางนี้ เขาก็พัฒนาความสุขไปด้วย แล้วความสุขของเขาจะเป็นความสุขที่ประสานกลมกลืน ชนิดที่ว่าความสุขของบุคคลก็เป็นความสุขของสังคมไปด้วย ตรงข้ามกับความสุขแบบแย่งชิงกันซึ่งมีลักษณะที่ว่า ถ้าเราได้ เขาก็เสีย ถ้าเราสุข เขาก็ทุกข์ เมื่อพัฒนาคนขึ้นมาระดับหนึ่ง ก็จะมี "การให้" ชนิดที่ทั้งผู้ให้และผู้ได้มีความสุขด้วยกัน นับเป็นความสุขแบบประสาน ชีวิตของคนก็มีความสุขขึ้น สังคมก็อยู่ดีมีสุขด้วย สุขทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถแก้ปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงก่อความเดือดร้อนกันได้ และมนุษย์ก็มีอิสรภาพมากขึ้น

ด้วยการพัฒนามนุษย์อย่างถูกทางเป็นบูรณาการนั้น ความสุขที่เกิดขึ้นก็อาศัยวัตถุภายนอกน้อยลง มนุษย์สามารถมีความสุขด้วยตัวเองที่เป็นอิสระได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความสุข สันติ และอิสรภาพ ก็จะค่อยๆ เข้ามาประสานกัน ในตอนแรกเมื่อมนุษย์ยังไม่พัฒนา ความสุขจะตรงข้ามกับสันติ และไม่มีอิสรภาพ แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมา ความสุข สันติ และอิสรภาพจะมีความหมายกลมกลืนจนกลายเป็นอันเดียวกัน ซึ่งพร้อมกันนั้นก็ทำให้เขาสามารถมีความสุขโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความประมาทด้วย หลักการนี้เป็นมาตรฐานอันหนึ่งในการวัดการพัฒนามนุษย์ มนุษย์จะมีชีวิตที่พอดีโดยมีดุลยภาพมากขึ้น สามารถ "อยู่ด้วยปัญญา" และสามารถมี "ความไม่ประมาทที่แท้" ซึ่งทำให้สังคมดำรงอยู่ในสันติสุขได้อย่างยั่งยืน ไม่มีเสื่อม

กล่าวโดยสรุปว่า "ความไม่ประมาทที่แท้" ที่เกิดจากสติปัญญานั้น เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์ โดยพิสูจน์ว่ามนุษย์จะสามารถรักษาสังคมและอารยธรรมให้เจริญอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถสร้างความไม่ประมาทที่แท้ ที่เกิดจากสติและปัญญา มนุษย์ก็จะต้องหมุนเวียนไปตามกระแสกิเลสในวงจรของความเจริญและความเสื่อมแบบปุถุชนเรื่อยไป คือ เจริญขึ้นมาแล้ว สุขสบายก็มัวเมาประมาทแล้วก็เสื่อม พอเสื่อมแล้ว เดือดร้อนมีความทุกข์ ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายกลับเจริญขึ้นมาอีก ถ้ามนุษย์มีความไม่ประมาทที่แท้ เขาก็จะสามารถดำรงรักษาความเจริญไว้และทำให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น

ขอย้อนไปพูดถึงจุดเชื่อมต่อจากบุคคลมาสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมในเรื่องที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญอันควรย้ำที่เราได้เห็นแล้วก็คือ จากการที่มนุษย์ประสบปัญหาอะไรต่างๆ มากมาย เมื่อสืบเข้าไปแล้วก็มาจากความเชื่อและแนวความคิด เช่น อารยธรรมทั้งหมดของตะวันตกปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนฐานของแนวความคิด ๒ ประการ คือ

๑. แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ

๒. ความเชื่อที่ว่า ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ

ทั้งนี้ รวมทั้งแนวความคิดและคติต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากแนวความคิด ๒ อย่างนั้น เช่น สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) ที่พูดไปแล้วด้วย

ค่านิยมในสังคมมีความสำคัญในการผันแปรทิศทางของสังคมฉันใด ลึกลงไปและกว้างออกไป "ทิฏฐิ" คือแนวความคิดความเชื่อที่ละเอียดอ่อน ก็เป็นตัวบันดาลวิถีทางของอารยธรรมของมนุษย์ฉันนั้น มนุษย์จะแก้ปัญหาได้สำเร็จ การศึกษาจะต้องแก้ปัญหาเรื่อง "ทิฏฐิ" ของมนุษย์นี้ โดยแก้ลึกลงไปถึงแนวความคิดความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังอารยธรรมทั้งหมด

แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และความเชื่อที่ถือว่า ความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุนั้นนำไปสู่จริยธรรมแบบจำใจ จริยธรรมที่แท้ ต้องไม่ใช่จริยธรรมแบบจำใจ แต่เป็นจริยธรรมที่ประสานกับความสุข นี่คือจริยธรรมของพระพุทธศาสนา

ทิฏฐิที่ว่ามานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ นำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอีกด้านหนึ่ง ทิฏฐิสำคัญที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม ซึ่งก่อปัญหาความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ ก็คือการเชื่อถือยึดมั่นว่าเชื้อชาติของตัว ศาสนาของตัวเท่านั้น จึงจะควรมีอยู่ เชื้อชาติอื่น ศาสนาอื่นจะต้องหมดไป ซึ่งทำให้มนุษย์แบ่งแยกและกำจัดซึ่งกันและกัน

ทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดความไม่ประมาทอย่างเทียมด้วยการนำมาซึ่งระบบแข่งขันเป็นต้น การที่มนุษย์จะเข้าถึงความไม่ประมาทที่แท้ จึงต้องข้ามพ้นทิฏฐิเหล่านี้ให้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ท้าทายความสำเร็จในการพัฒนามนุษย์จึงอยู่ที่การแก้ไขทิฏฐิหรือแนวความคิดความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการที่จะสร้างสรรค์อารยธรรม และเป็นความติดตันของอารยธรรมในปัจจุบัน จึงเป็นการท้าทายการศึกษาอย่างที่ว่ามา การศึกษาจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้

การศึกษาแท้ที่พัฒนาคนอย่างบูรณาการ
นำชีวิตสู่อิสรภาพที่สมบูรณ์

ได้พูดถึงเรื่องปัญหาต่างๆ มามากมายแล้ว ควรจะเข้าสู่หลักเสียที พอเข้าสู่หลักก็พูดได้นิดเดียว แต่ได้บอกแล้วว่าวันนี้พูดเพียงข้อคิด คือข้อคิดในการนำศาสนามาใช้เป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอย่าคิดแค่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น ต้องพัฒนามนุษย์โดยรวม ให้ถึงชีวิตจิตใจของเขา ให้เขาเป็นตัวของเขาเอง มีอิสรภาพ เป็นชีวิตที่ดีงาม มีสันติและความสุขในตัว

ระบบการศึกษาที่ครบถ้วนมีดุลยภาพเป็นองค์รวม จะต้องเป็นการพัฒนาที่ไปพร้อมกันหมด พระพุทธศาสนาถือว่า ในการเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น ชีวิตที่ดีคือชีวิตแห่งการศึกษา เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นการศึกษา หรืออยู่ได้ด้วยการศึกษาอย่างที่ว่ามาแล้ว มนุษย์จะต้องศึกษาพัฒนาตัวเองไปจนกว่าจะมีชีวิตที่ดีงามโดยสมบูรณ์ จนเป็นชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ที่ท่านเรียกว่าเป็นชีวิตประเสริฐ ซึ่งเรียกว่าเป็นอเสขะ หรืออเสกขะ คือ ผู้ไม่ต้องศึกษา นั่นคือพระอรหันต์เท่านั้นที่จบการศึกษา เป็นผู้พ้นจากภาระหน้าที่ในการศึกษา

การศึกษาจึงแยกออกไปเป็น ๓ ด้านของการดำเนินชีวิต ซึ่งครอบคลุมการเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหมด และการศึกษา ๓ ด้านนั้นจะต้องพัฒนาไปพร้อมกัน เป็นองค์รวม อย่างมีดุลยภาพ กล่าวคือ

๑. ด้านพฤติกรรม

๒. ด้านจิตใจ

๓. ด้านปัญญา

หลักการใหญ่ในการศึกษาของพระพุทธศาสนา แยกเป็น ๓ คือพัฒนาพฤติกรรม เรียกว่า ศีล พัฒนาด้านจิตใจ เรียกว่าสมาธิ พัฒนาด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญา

การพัฒนาในด้านพฤติกรรมแยกย่อยออกไปอีก เป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพหรือทางวัตถุ เช่น การใช้การบริโภคปัจจัย ๔ และเทคโนโลยี พร้อมทั้งการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะแดนใหญ่แห่งพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ครองเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเขา ก็คืออาชีวะ หรือการทำมาหาเลี้ยงชีพ

เวลานี้การศึกษาของเราเน้นเรื่องอาชีพมาก อาชีพนั้นเป็นเพียงส่วนย่อยอย่างหนึ่งของศีล ศีลนั้นประกอบด้วยวาจา กาย และอาชีวะ (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) เรามุ่งไปที่อาชีวะ และยังแถมไม่ได้พิจารณาด้วยว่าเป็นสัมมาหรือมิจฉา เอาแค่มีวิชาทำมาหากินก็แล้วกัน เมื่อเป็นอย่างนี้การศึกษาจะบกพร่องแค่ไหน ในเมื่อเราไม่ได้มองให้ครบทุกด้าน

เมื่อเราแยกออกไปอีก ในการพัฒนาพฤติกรรม ยังมีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ จำพวกวัตถุ เช่น ดูเป็น ฟังเป็น กินเป็น บริโภคเป็น เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ตาดู หูฟัง และการสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ เป็นต้น รวมอยู่ในการพัฒนาทางด้านกาย ที่เรียกว่า กายภาวนา จัดเป็นส่วนเบื้องต้นของศีล

ต่อจากนั้นก็มีพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี เริ่มแต่มีศีล ๕ จัดเป็นการพัฒนาด้านศีล ที่เรียกว่า ศีลภาวนา

จากนั้นอีก ๒ ด้านก็คือ การพัฒนาด้านจิตใจ ที่เรียกว่า จิตตภาวนา ซึ่งมีทั้งเรื่องคุณธรรมความดีงาม ที่เป็นคุณภาพของจิตใจ เรื่องความเข้มแข็งมีประสิทธิภาพของจิตใจที่เป็นสมรรถภาพของมัน และการสร้างเสริมความรู้สึกที่สดชื่นเบิกบานผ่องใส เป็นสุข ที่เป็นสุขภาพของจิตนั้น ประสานกันไปกับการพัฒนาด้านปัญญา ที่เรียกว่า ปัญญาภาวนา อันรวมทั้งเรื่องคติความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ความรู้เข้าใจข้อมูลข่าวสาร ความรู้คิดเหตุผล การรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย การนำความรู้มาใช้แก้ไขปัญหา สร้างสรรค์ ดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดจนรู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต จนมีจิตใจเป็นอิสระโดยสมบูรณ์

คนที่พัฒนาดีแล้วทั้งสามด้านอย่างนี้เรียกว่าเป็นบัณฑิต การศึกษามีหน้าที่สร้างบัณฑิต คือคนที่เจริญด้วยศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ เมื่อเป็นบัณฑิตเขาก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยปัญญา แล้วศิลปวิทยาที่เราถ่ายทอดให้ไปก็เป็นเครื่องมือของบัณฑิตที่จะนำไปสร้างสรรค์ ทำให้ชีวิตดีงาม สังคมมีสันติสุข มนุษย์มีอิสรภาพมากขึ้น และโลกนี้ก็จะดำรงอยู่ด้วยดี

พึงสังเกตว่า การศึกษาที่แท้จริงตามหลักการดำรงอยู่ของชีวิตอย่างเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินี้ จะบูรณาการ จริยธรรมเข้าไว้ในตัวของมันอยู่แล้ว และจริยธรรมนั้นก็เป็น จริยธรรมที่ยั่งยืน สอดคล้องกับกฎธรรมชาติที่นำมาใช้ในการพัฒนาคน

เนื่องจากการศึกษาที่เป็นการพัฒนาคนแบบระบบองค์รวม ที่บูรณาการทั้ง ๓ ด้านแห่งชีวิตในระบบความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสริมซึ่งกันและกันนั้น เป็นแกนกลางของการพัฒนาทั้งชีวิตของบุคคลและอารยธรรมของสังคม จึงควรนำมากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง ให้เห็นระบบของมันโดยสังเขป

การศึกษา พัฒนาทั้ง ๓ ด้านของชีวิตคน คือ

๑. ด้านพฤติกรรม (ศีล) ส่วนสำคัญที่ควรเน้น คือ

ก. พฤติกรรมในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือโลกแห่งวัตถุ (กายภาวนา) โดยเฉพาะ
- การใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการรับรู้ โดยไม่เกิดโทษก่อผลเสียหาย แต่ได้ผลดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการฝึกอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน ให้ดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น (หลักอินทรียสังวร)
- การเสพ บริโภคปัจจัย ๔ และใช้ประโยชน์จากวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยี ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจมุ่งคุณค่าที่แท้จริง ให้ได้คุณภาพชีวิต และส่งเสริมการพัฒนาชีวิต ไม่หลงถูกหลอกไปด้วยคุณค่าเทียม ตามค่านิยมฟุ้งเฟ้อ โก้เก๋ ที่ทำให้บริโภคมาก แต่เสียคุณภาพชีวิต เรียกง่ายๆ ว่า กินเป็น บริโภคเป็น ใช้เป็น เริ่มด้วยการกินพอดี (หลักโภชเนมัตตัญญุตา ขยายไปถึงปัจจัยสันนิสิตศีล)

ข. พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม และโลกแห่งชีวิต (ศีลภาวนา)
- การอยู่ร่วมสังคม โดยไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อน หรือเวรภัย แต่รู้จักมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์อย่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างน้อยดำรงตนอยู่ในขอบเขตแห่งศีล ๕
- รักษากติกาสังคม กฎเกณฑ์ หรือกฎหมายระเบียบแบบแผน คือวินัยแม่บทแห่งชุมชน หรือสังคมของตน และวัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่าจรรยาบรรณต่างๆ
- ทาน คือการให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ให้ความสุข และส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
- การประพฤติเกื้อกูลแก่ชีวิตอื่นๆ ทั้งสัตว์ มนุษย์ และพืชพรรณ เช่น การร่วมสร้างรักษาเขตอภัยทาน นิวาปสถาน การปลูกสวน ปลูกป่า (อารามโรปะ วนโรปะ) และสร้างแหล่งน้ำ เป็นต้น

ค. พฤติกรรมในด้านอาชีวะ คือการทำมาหาเลี้ยงชีพ (ศีลภาวนาด้านสัมมาอาชีวะ) โดยมีศิลปวิทยา วิชาชีพ ที่ฝึกไว้อย่างดี มีความชำนิชำนาญที่จะปฏิบัติให้ได้ผล และเป็นสัมมาชีพ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ
- ไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือก่อผลเสียหายต่อสังคม
- เป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิตหรือสังคม เป็นไปเพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล
- เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของตน ไม่ทำชีวิตให้ตกต่ำ หรือทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือทำให้เสื่อมจากคุณความดี

๒. ด้านจิตใจ (สมาธิ) ซึ่งแยกออกได้ดังนี้ (สภาพจิตที่ดีทุกอย่าง มีสมาธิเป็นฐานที่ตั้ง)

ก. คุณภาพจิต ได้แก่ คุณธรรมความดีงามต่างๆ เช่น เมตตา กรุณา กตัญญูกตเวทิตา คารวะ หิริโอตตัปปะ ฯลฯ ซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจให้งอกงาม และเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่ดีงาม

ข. สมรรถภาพจิต ได้แก่ ความสามารถ เข้มแข็ง มั่นคง มีประสิทธิภาพของจิต เช่น ฉันทะ (ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ) ความเพียร (วิริยะ) ความขยัน (อุตสาหะ) ความอดทน (ขันติ) ความระลึก นึกทัน ตื่นตัว ควบคุมตนได้ (สติ) ความตั้งมั่น แน่วแน่ ใส สงบอยู่ตัวของจิต (สมาธิ) รวมทั้งความไม่ประมาท เป็นต้น ที่ทำให้ก้าวหน้ามั่นคงในพฤติกรรมที่ดีงาม และพร้อมที่จะใช้ปัญญา

ค. สุขภาพจิต ได้แก่ สภาพจิตที่ปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง เร่าร้อน เป็นต้น สดชื่น เอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย ผ่องใส เป็นสุข ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และทำให้พฤติกรรมที่ดีงามมีความมั่นคง สอดคล้องกลมกลืน

๓. ด้านปัญญา (ปัญญา) ซึ่งมีการพัฒนาหลายด้านหลายระดับ เช่น

- ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สดับตรับฟัง หรือเล่าเรียน และรับถ่ายทอดศิลปวิทยาการ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

- การรับรู้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามเป็นจริง ไม่บิดเบือน หรือเอนเอียง ด้วยความชอบชัง หรืออคติทั้งหลาย

- การคิดพิจารณาวินิจฉัยอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยการใช้ปัญญาบริสุทธิ์ ไม่ถูกกิเลส เช่น ความอยากได้ผลประโยชน์ และความเกลียดชัง เป็นต้น ครอบงำบัญชา

- การรู้จักมอง รู้จักคิด ที่จะให้เข้าถึงความจริง และได้คุณประโยชน์ มีโยนิโสมนสิการ อย่างที่เรียกว่า มองเป็น คิดเป็น เช่น รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น

- การรู้จักคิดจัดการ ดำเนินการ ทำกิจให้สำเร็จ ฉลาดในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย

- ความสามารถแสวงหา เลือกคัดจัดประมวลความรู้ คิดได้ชัดเจน และสามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงสร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหา และสร้างสรรค์

- ความรู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต หรือรู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ที่ทำให้วางใจถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแก้ปัญหาชีวิต ขจัดความทุกข์ในจิตใจของตนได้ หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตไม่ถูกบีบคั้นครอบงำกระทบกระทั่งด้วยความผันผวนปรวนแปรของสิ่งต่างๆ หลุดพ้นเป็นอิสระ อยู่เหนือกระแสโลก สว่างโล่งโปร่งผ่องใส ไร้พรมแดน ซึ่งทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย และดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

โดยสรุป ปัญญา ๒ ด้านที่สำคัญยิ่ง คือ ปัญญาที่เข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาติ และปัญญาที่สามารถใช้ความรู้นั้นจัดตั้งวางระบบแบบแผนจัดดำเนินการให้ชีวิตและสังคมมนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุดจากความจริงนั้น

การศึกษาในความหมายอย่างนี้จะทำให้มนุษย์มี อิสรภาพ ทั้ง ๔ ด้าน กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ขาดแคลนปัจจัย ๔ เราก็สามารถแก้ปัญหาทำให้มนุษย์มีปัจจัย ๔ โดยการจัดสรรสร้างขึ้นมา ทำให้มีอิสรภาพพื้นฐานของชีวิต คืออิสรภาพทางกาย และเมื่อมนุษย์รู้จักประมาณในการเสพบริโภค พร้อมทั้งมีการเผื่อแผ่แบ่งปันกันในสังคม มีความสัมพันธ์กันด้วยไมตรี มนุษย์ก็จะมีอิสรภาพในทางสังคม เพราะไม่ต้องเบียดเบียน ไม่ต้องข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกัน

พร้อมกันนั้น ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อโอกาส เขาก็สามารถพัฒนาจิตใจ ทำให้มีอิสรภาพในทางจิตใจ โดยพ้นจากอำนาจบีบคั้นของกิเลส มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสมรรถภาพ มีคุณธรรม และมีความร่าเริงเบิกบาน มีความสุข แล้วก็พัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ทำให้ชีวิตเป็นอิสระจากปัญหา จนกระทั่ง แม้แต่ความเป็นไปผันผวนปรวนแปรในโลก และความทุกข์ในธรรมชาติก็ไม่สามารถครอบงำจิตใจของเขาได้ จัดเป็นอิสรภาพทางปัญญาอันสูงสุด ถึงจุดที่มนุษย์มีความสมบูรณ์ของชีวิตส่วนบุคคล

แล้วเราก็มาถึงจุดแยกระหว่างชีวิตบุคคลที่สมบูรณ์ กับความก้าวหน้าเติบโตของอารยธรรม ซึ่งมีข้อที่ต้องสังเกต

การศึกษาที่แท้พัฒนาคนให้เข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์
และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน

ข้อสังเกตนั้นก็คือ มีความแตกต่างระหว่างการพัฒนาชีวิตของบุคคล กับการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ คือ

๑. ชีวิตของบุคคลนั้นปลายปิด ชีวิตทุกคนที่เกิดมาจึงต้องมีเป้าหมายที่จะไปสู่ความสมบูรณ์ในตัวของมันให้สำเร็จเสร็จสิ้นในช่วงชีวิตนี้ ให้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง เท่าที่จะทำได้ คือเป็นชีวิตที่สมบูรณ์

๒. อารยธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเรื่องของสังคมนั้นปลายเปิด เราไม่สามารถพูดว่าสังคมหรืออารยธรรมนั้นเจริญสมบูรณ์แล้ว มันจะต้องเจริญต่อไปเรื่อยๆ แต่อารยธรรมนั้นจะต้องช่วยให้ชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่ประสานเกื้อกูลกันให้ได้ คือเป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน

ฉะนั้น การศึกษาจะต้องทำหน้าที่ให้ถูกจุด ชีวิตคนนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็จะต้องพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองจบสิ้นในช่วงชีวิตนั้นเท่าที่จะทำได้ อันนี้จะต้องถือเป็นหลัก เราจะต้องทำให้คนมีชีวิตที่สมบูรณ์ให้ได้ในช่วงชีวิตของเขา คือต้องพยายามทำ จะสำเร็จหรือไม่แค่ไหนก็ตาม แต่เป้าหมายต้องเป็นอย่างนั้น

ส่วนอารยธรรมเป็นการสร้างให้เติบขยายต่อไปเบื้องหน้า ไม่มีจุดสิ้นสุดแน่นอน ความเจริญของอารยธรรมนั้นวัดด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ อย่างนี้ กล่าวคือ ความเจริญที่ถูกต้องของอารยธรรมมนุษย์นั้น เป็นการสร้างสรรค์ที่ทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสภาพที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคลให้เข้าถึงความสมบูรณ์

ฉะนั้น อารยธรรมยิ่งเจริญ ก็ยิ่งทำให้ชีวิตมนุษย์มีโอกาสในการพัฒนา และประสบความสมบูรณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ประโยชน์ของอารยธรรมและสังคมอยู่ที่ตรงนี้ คือการที่มันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาของชีวิตบุคคล ทำให้ชีวิตบุคคลนั้นพัฒนาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีความมั่นใจที่จะเข้าถึงความสมบูรณ์ อารยธรรมเช่นนี้ ก็คืออารยธรรมที่ช่วยจัดสรรให้ชีวิตมนุษย์ กับสังคม และธรรมชาติรอบตัว เจริญงอกงามไปด้วยกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลแก่กัน ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน

เวลานี้มีคำถามว่า อารยธรรมของมนุษย์ได้ช่วยให้เกิดภาวะนี้หรือเปล่า สังคมมนุษย์เจริญขึ้นมาแล้ว เป็นตัวเอื้อให้ชีวิตมนุษย์ที่เป็นบุคคลนี้เข้าถึงความสมบูรณ์ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาในทางนี้ ก็แสดงว่าอารยธรรมของมนุษย์ และสังคมมนุษย์ไม่ได้เจริญมาในทางที่ถูกต้องเลย บางทีความเจริญของอารยธรรมและของสังคมกลับเป็นตัวอุปสรรค ทำให้ชีวิตของมนุษย์ไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยดีด้วยซ้ำ จุดแยกก็อยู่ที่นี่ เป็นอันว่าเราต้องพยายามให้ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนเข้าถึงความสมบูรณ์ ชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ต้องรอให้สังคมสมบูรณ์ อันนี้เป็นคำย้ำที่สำคัญ

เราจะรอให้สังคมสมบูรณ์แล้วจึงจะให้ชีวิตบุคคลสมบูรณ์ เป็นไปไม่ได้ ชีวิตทุกคนจะต้องพัฒนาศักยภาพของตน อันนี้เป็นสภาพตรงกันข้ามที่มาบรรจบกัน คือ ชีวิตบุคคลต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองจนกระทั่งสามารถสร้างความสมบูรณ์ในตัวได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของสังคมที่เลวขนาดไหน นี่คือเก่งที่สุด ชีวิตที่เก่ง ชีวิตที่ยอดเยี่ยม คือชีวิตที่สามารถพัฒนาดีที่สุดได้แม้ในสังคมที่เลวที่สุด

ส่วนในทางตรงข้าม เราสร้างสังคมที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ชีวิตมนุษย์ได้พัฒนาอย่างดีที่สุด อันนี้เหมือนกับเป็นภาวะตรงข้าม แต่เป็นความบรรจบประสาน

พูดสั้นๆ ว่า การศึกษามีหน้าที่สร้างสรรค์ทั้งสองด้านไปพร้อมกัน คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้ถึงความสมบูรณ์ และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ส่งเสริมให้ระบบความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งเจริญงอกงามไปในวิถีทางที่เกื้อกูลกันยิ่งขึ้นๆ สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า การศึกษาที่แท้ คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้สมบูรณ์ พร้อมไปด้วยกันกับการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น สังคมต่อแต่นี้ไปจะต้องพัฒนาในวิถีทางที่จะข้ามพ้นแนวความคิดปัจจุบัน ๒-๓ อย่างที่ย้ำมาแล้ว เพื่อให้เป็นสังคมที่ดีมีสันติสุข พ้นจากแนวความคิดที่มุ่งจะเอาชนะกัน โดยมองแต่การที่จะได้เปรียบและเสียเปรียบกัน

เวลานี้สังคมที่พัฒนาที่สุดยังตกอยู่ใต้ความคิดและแรงจูงใจอย่างนี้ ลองไปดูในสังคมอเมริกัน ตอนนี้ เมื่อกำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำในประชาคมโลก หนังสืออเมริกันก็พูดกันมากถึงการที่จะแก้ปัญหาสังคมของตนและจะรื้อฟื้นกู้สถานะของประเทศชาติ เขาคิดอย่างไร วิธีแก้ไขที่เขาพูดมากที่สุด คือจะต้องพัฒนา competitiveness คือความพร้อมที่จะแข่งขัน หรือความใฝ่แข่งขัน ซึ่งยึดถือกันมาในสังคมอเมริกันตลอดเวลานานแล้ว ทั้งๆ ที่เวลานี้มนุษย์ได้รับผลร้ายจากมันแต่อเมริกันก็ยังไม่ถอย ยังยึดมั่นต่อความคิดนี้

จิตใจที่คิดแข่งขันนี้ คนอเมริกันตอนนี้คิดว่าเขาสูญเสียไป ความสามารถในการแข่งขันนี้ใช้ในทางเศรษฐกิจก่อน เป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ใช้ทางสังคม ในการแข่งขันในประชาคมโลก ในการแข่งขันนั้นการที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ก็จะต้องอยู่ในฐานะได้เปรียบ

แม้ในการพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบันนี้ ก็จะมีถ้อยคำแบบนี้อยู่มาก คือการมุ่งที่จะเอาชนะสังคมอื่น การได้เปรียบ และการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งก็แสดงว่า เราก็เดินตามแนวความคิดของอเมริกันนั่นเอง และแสดงว่าเรายังคิดวิธีสร้างความเจริญที่ดีกว่านั้นไม่ได้ ถ้ามนุษย์ยังอยู่ในแนวความคิดอันนี้อยู่ การสร้างสันติสุขให้แก่โลกก็เป็นไปไม่ได้ ไม่สำเร็จ การพัฒนาที่ยั่งยืนก็เกิดขึ้นไม่ได้ และอารยธรรมก็ไม่ยั่งยืน

ฉะนั้น สังคมที่ดีจะต้องก้าวพ้นแนวความคิดนี้ นี้คือปัญหาที่ท้าทายการศึกษาอีก ว่ามนุษย์จะสามารถทำได้ไหม ที่จะพัฒนาให้มนุษย์ไม่ต้องขึ้นต่อกิเลส ไม่ต้องอาศัยกิเลสมาเป็นเครื่องบีบคั้นทำให้มีความไม่ประมาทเทียม ตามระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ทำอย่างไรจะพ้นวงจรร้ายนี้ไปได้ และให้มนุษย์มีความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญา

ในสังคมปัจจุบันนี้ จะเห็นว่ากระแสการพัฒนายังไม่ไปไหนเลย ยังวนอยู่ในระบบความคิดแบบนี้อยู่อย่างเดิม แล้วจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร มนุษย์จะต้องข้ามพ้นไปให้ได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาไปให้มีปัญญาพึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ก็เกื้อกูลต่อสังคมและเกื้อกูลต่อโลกได้ด้วย อันนี้ก็เป็นปัญหาในทางการศึกษาที่ค้างคาอยู่

ในทางธรรมมีคำตอบสำหรับปัญหาเหล่านี้ เพราะเมื่อเราพัฒนาไปอย่างถูกต้อง องค์ประกอบสำคัญ ๓ อย่างในการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ก็จะมาประสานเกื้อกูลต่อกัน เป็นการบรรจบถึงจุดสุดท้าย

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ ๓ ประการ ก็คือ ตัวชีวิตของมนุษย์เอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

เราสามารถพัฒนาไปจนถึงภาวะที่เปลี่ยนจากความขัดแย้งไปเป็นความประสานกลมกลืน ที่ปรากฏว่า สิ่งใดดีต่อชีวิต ก็ดีต่อสังคมและดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งใดดีต่อสังคม ก็ดีต่อชีวิตและดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งใดดีต่อสิ่งแวดล้อม ก็ดีต่อชีวิตและสังคมด้วย ถ้าเมื่อใดเราพัฒนาถึงขั้นนี้ นั้นคือผลสำเร็จ เพราะเมื่อสังคมดี สังคมก็เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคล ชีวิตบุคคลดีก็เป็นส่วนร่วมที่สร้างสรรค์สังคมที่ดี แล้วชีวิตมนุษย์ที่อยู่ดีอย่างถูกต้องในสังคมที่ดีก็จะเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย การพัฒนาที่สำเร็จนั้นในขั้นสุดท้ายก็ทำให้ประโยชน์ทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ประสานกัน ซึ่งจะสำเร็จด้วยการพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง ที่ทำให้เกิดการประสานกลมกลืน โดยที่ความสุขก็เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย จริยธรรมในวิถีแห่งการพัฒนามนุษย์เช่นนี้จะเป็นจริยธรรมแห่งความสุข ไม่ใช่เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ

ฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา เมื่อบุคคลได้ประสบความสำเร็จบรรลุจุดหมายของการปฏิบัติธรรม พัฒนาสมบูรณ์แล้ว จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตน เป็นผู้ที่ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป อันนี้คือความสำเร็จในการพัฒนา

มองในแง่ชีวิตส่วนตัว บุคคลที่พัฒนามีการศึกษาสมบูรณ์ คือคนที่ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป แม้มองในแง่อิสรภาพก็สมบูรณ์ในตัว มองในแง่ความสุข ก็มีความสุขประจำในชีวิต ความสุขนั้นเป็นเนื้อหาเป็นคุณสมบัติของชีวิตจิตใจของเขาตลอดทุกเวลา หมายความว่า ความสุขนั้น ทั้งมีอยู่ข้างในเป็นคุณสมบัติของชีวิตเอง ทั้งมีทุกเวลา คนอย่างนี้จะต้องไปหาความสุขที่ไหนอีก

คนปัจจุบันนี้ใช้ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนแสวงหาความสุข โดยไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน และจะถึงเมื่อไร คำว่าแสวงหาความสุข ก็บ่งบอกอยู่ในตัวว่าขาดความสุข คือไม่มีความสุข จึงต้องหา บุคคลที่พัฒนาเต็มที่นั้น คือคนที่มีความสุขเป็นคุณสมบัติของชีวิตอยู่ในตัวตลอดทุกเวลา เขามีความสุขเต็มอิ่มอยู่แล้ว สิ่งภายนอกเป็นเพียงเครื่องเสริมสุข เขาจึงเป็นคนที่ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป ก็อุทิศพลังชีวิตที่มีอยู่นั้นทำให้แก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ จึงมีคติสำหรับพระสงฆ์ โดยเฉพาะพระอรหันต์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ จงดำเนินไป จงเป็นอยู่ จงบำเพ็ญกิจ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลต่อชาวโลก

นี้คือคติของผู้สำเร็จการศึกษา เป็นอันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ตัวเองก็สมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แล้วก็ช่วยเหลือมนุษยชาติให้มีความสุขด้วย ฉะนั้น จุดหมายที่ว่าทำอย่างไรจะให้มนุษย์มีความสุข ไม่ใช่เป็นเพียงนักหาความสุขนี้ จึงเป็นสิ่งที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ คือ ทำให้มนุษย์ทุกชีวิตมีความสมบูรณ์ในตัว และเกื้อกูลต่อมนุษยชาติโดยส่วนรวม พร้อมทั้งในทางกลับกัน ก็ทำให้อารยธรรมของมนุษยชาติเป็นสภาพสร้างสรรค์ระบบความสัมพันธ์อันเกื้อกูล ที่ช่วยให้มนุษย์ทุกชีวิตมีโอกาสดีที่สุดที่จะพัฒนาตนให้บรรลุความสมบูรณ์ อย่างที่พูดสั้นๆ ว่า การศึกษาเพื่อชีวิตที่สมบูรณ์ ในอารยธรรมที่ยั่งยืน

นี้คือหลักการศึกษาที่จะนำมาได้จากพระพุทธศาสนา ซึ่งที่จริงก็คือ การนำหลักการแห่งความจริงในธรรมชาตินั้นเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เราจะเอามาใช้ได้สำเร็จหรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบของเราเอง ที่จะยอมพัฒนาตนหรือไม่ ถ้ายอมรับและจับถูก แล้วใช้ถูก ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น

อาตมภาพได้ใช้เวลาของที่ประชุมมามากมายเหลือเกินแล้ว ก็ขอยุติการพูดในเรื่องการนำศาสนามาเป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพียงเท่านี้

1ปาฐกถาในการประชุมทางวิชาการ ในปาฐกถาชุด ดร.สายหยุด จำปาทอง ครั้งที่ ๕ ณ หอประชุมใหญ่สถาบันราชภัฏสวนดุสิต อังคารที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๘
2ในการพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน”
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง