หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ 1

ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือทุกท่าน

การบรรยายในวันนี้ท่านกำหนดให้พูดเรื่องกรรม เรื่องกรรมเป็นหลักธรรมที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา นอกจากสำคัญแล้วก็เป็นหัวข้อที่คนมักมีความสงสัย เข้าใจกันไม่ชัดเจนในหลายแง่หลายอย่าง บางครั้งก็ทำให้นักเผยแผ่พระพุทธศาสนาประสบความยากลำบากในการที่จะชี้แจง อธิบาย หรือตอบปัญหา ไขข้อสงสัย

แนวการอธิบายเรื่องกรรม

การอธิบายเรื่องกรรมนั้น โดยทั่วไปมักพูดกันเป็น ๒ แนว แนวที่ได้ยินกันมาก คือแนวที่พูดอย่างกว้างๆ เป็นช่วงยาวๆ เช่นพูดว่า คนนี้เมื่อสมัยก่อนเคยหักขาไก่ไว้ แล้วต่อมาอีก ๒๐–๓๐ ปี โดนรถชนขาหัก ก็บอกว่าเป็นกรรมที่ไปหักขาไก่ไว้ หรือคราวหนึ่งหลายสิบปีแล้วไปเผาป่า ทำให้สัตว์ตาย ต่อมาอีกนานทีเดียว อาจจะแก่เฒ่าแล้วมีเหตุการณ์เป็นอุบัติภัยเกิดขึ้น ไฟไหม้บ้านแล้วถูกไฟคลอกตาย นี้เป็นการอธิบาย เล่าเรื่อง หรือบรรยายเกี่ยวกับกรรมแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะได้ยินกันบ่อยๆ

การอธิบายแนวนี้มีความโลดโผน น่าตื่นเต้น น่าสนใจ บางทีก็อ่านสนุก เป็นเครื่องจูงใจคนได้ประเภทหนึ่ง แต่คนอีกพวกหนึ่งก็มองไปว่าไม่เห็นเหตุผลชัดเจน การไปหักขาไก่ไว้กับการมาเกิดอุบัติเหตุรถชนในเวลาต่อมาภายหลังหลายสิบปีนั้นมีเหตุผลเชื่อมโยงกันอย่างไร ผู้ที่เล่าก็ไม่อธิบายชี้แจงให้เห็น ทำให้เขาเกิดความสงสัย คนที่หนักในเรื่องเหตุผล เมื่อไม่สามารถชี้แจงเหตุปัจจัยเชื่อมโยงให้เขามองเห็นชัดเจน เขาก็ไม่ยอมเชื่อ

ยิ่งสมัยนี้เป็นยุคที่ถือว่าวิทยาศาสตร์เจริญ ต้องอธิบายเหตุผลให้เห็นจริงเห็นจังได้ว่าเรื่องโน้นกับเรื่องนี้สัมพันธ์กันอย่างไร พระพุทธศาสนาที่แท้นั้นต้องการให้เห็นความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยชัดเจนทั้งด้านรูปธรรมและด้านนามธรรม แต่พวกเราเองปล่อยตัวหละหลวมกันมา วิทยาศาสตร์ก็เหมือนมาช่วยเตือนให้เราหันไปฟื้นวิธีคิดของพระพุทธศาสนาขึ้นมา ซึ่งจะมีอะไรๆ ให้แก่วิทยาศาสตร์ด้วย นี่ก็คือการอธิบายแบบที่สอง

การอธิบายแบบที่ ๒ ก็คือ อธิบายในแง่ของเหตุปัจจัยที่แยกแยะเชื่อมโยงให้เห็นชัด ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน นับว่ายากอยู่ จะต้องอาศัยการพินิจพิจารณาและศึกษาหลักวิชามาก และบางทีก็หาถ้อยคำมาพูดให้มองเห็นชัดเจนได้ยาก หรือเราไม่ค่อยมีเวลาที่จะอธิบาย เพราะคนส่วนใหญ่มาพบกันในที่ประชุมเพียงชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ซึ่งจะพูดกันได้ก็แต่เรื่องในขั้นตัวอย่างหยาบๆ มองช่วงไกลๆ

สำหรับเรื่องที่จะพูดกันในวันนี้คิดว่า เราควรจะมาหาทางพิจารณาในแง่วิเคราะห์หรือแยกแยะความเป็นเหตุเป็นผลเท่าที่จะเป็นไปได้ ขอให้ลองมาพิจารณาดูกันว่าจะอธิบายได้อย่างไร

ตอน ๑
กรรม โดยหลักการ

ความหมายและประเภทของกรรม

ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ลองไปถามชาวบ้านดูว่า “กรรม” แปลว่าอะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่ากรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย

จากตัวอย่างนี้ คำว่ากรรมและบุญจึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า “เป็นกรรมของเขา” คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา คำว่ากรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาจากปางก่อน

นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต คือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ ๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี ๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า “จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อน ได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง เพราะว่า “กรรม” นั้นแปลว่าการกระทำ เป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรมท่านเรียกว่าวิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

ในเมื่อ “กรรม” ในภาษาที่เราใช้กันอยู่นี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคืออะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องของการกระทำที่ร้ายที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าบาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม จะต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่า แม้แต่ความหมายเราก็ไขว้เขวกันแล้ว

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก

เมื่อเรารู้ว่าความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหาความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหมายตามหลักว่าอย่างไร

ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรมในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม เขาก็คงจะคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้ต้องมาเกิดเป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า อ๋อ คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่า เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิต ตามอาชีพการงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขา ก็กลายเป็นโจร

ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่งซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็นคำกลางๆ ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ตกลงว่า เจตนา คือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา

เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรมก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรมก็คือตัวเจตนา

ค. ประเภทของกรรม

จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไป เมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกาย เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ก็เป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็นมโนกรรม

กรรมโดยทั่วไปนั้นเมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม และเป็นกรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม

ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้อีก เช่น กรรมที่ ๑ กรรมดำ กรรมที่ ๒ กรรมขาว กรรมที่ ๓ กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม แบบนี้เป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น อกุศลกรรม มองให้เห็นหยาบๆ ก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กรรมขาวก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข กรรมทั้งดำทั้งขาว ก็คือ กรรมที่ปะปนกัน มีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน และไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมแบบนี้กลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดลงไปถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด การพูดจา เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ตลอดจนปฏิบัติการต่างๆ แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลย

จะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าคลอกสัตว์ หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องแยกแยะกันให้ละเอียด

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่า ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ที่พูดมานี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้น ที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร

กรรมในฐานะกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล

แง่ที่จะต้องเข้าใจเกี่ยวกับกรรมยังมีอีกหลายอย่าง เช่น เราจะต้องมองกรรมในแง่ของกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล

กรรมเป็นเรื่องของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาถือหลักการใหญ่ที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเรื่องกรรมก็อยู่ในกฎแห่งเหตุปัจจัยนี้

หลักเหตุปัจจัยในพระพุทธศาสนา ก็คือ หลักปฏิจจสมุปบาท และกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ลองไปแยกแยะปฏิจจสมุปบาทที่จำแนกเป็นองค์ ๑๒ คู่ ท่านจะสรุปให้เห็นว่า องค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการนั้น ประมวลเข้าแล้วก็เป็น ๓ ส่วน คือ เป็นกิเลส กรรม และวิบาก จะเห็นว่ากรรมเป็นส่วนหนึ่งในปฏิจจสมุปบาทนั้น คือส่วนที่เรียกว่ากรรมในวงจรที่เรียกว่า ไตรวัฏฏ์ ได้แก่ กิเลส กรรม วิบาก

หมวดที่ ๑ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรียกว่าเป็นกิเลส

หมวดที่ ๒ สังขาร ภพ เรียกว่าเป็นกรรม

หมวดที่ ๓ คือนอกจากนั้น มีวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ เป็นต้น เรียกว่าเป็นวิบาก มี ๓ ส่วนอย่างนี้

การศึกษาเรื่องกรรม ถ้าจะเอาละเอียดแล้วต้องเข้าไปถึง หลักปฏิจจสมุปบาท ถ้าต้องการพูดเรื่องกรรมให้ชัดเจน ก็หนีไม่พ้นที่จะศึกษาให้ลึกลงไปถึงหลักธรรมใหญ่ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ เพราะที่มาของหลักกรรมอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง จะต้องแจกแจงให้เห็นว่าองค์ของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการนั้น มาออกลูกเป็นกิเลส กรรม และวิบากอย่างไร

จากนั้นก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของกิเลส กรรม และวิบาก เช่น คนมีความโลภ เป็นกิเลส เมื่อมีความโลภเกิดขึ้นแล้ว ก็ไปทำกรรม เช่น ไปลักของเขา ถ้าได้มาสมหวังก็ดีใจมีความสุข เรียกว่าเป็นวิบาก เมื่อเขาจับไม่ได้ก็ยิ่งมีความกำเริบใจอยากได้มากขึ้น ก็เกิดกิเลส โลภมากยิ่งขึ้น ก็ไปทำกรรมลักขโมยอีก เลยเกิดเป็นวงจรกิเลส กรรม วิบาก เรื่อยไป

แต่ถ้าถูกขัด คือโลภ ไปลักของเขา ถูกขัดขวางก็เกิดโทสะ เป็นกิเลส ก็เกิดการต่อสู้กัน ฆ่ากัน ทำร้ายกัน เป็นกรรมขึ้นมาอีก แล้วก็เกิดวิบาก คือเจ็บปวดเดือดร้อน วุ่นวาย เกิดความทุกข์ ซึ่งอาจรวมทั้งถูกจับไป ถูกลงโทษ ดังนี้เป็นต้น

นี้เป็นเรื่องของกิเลส กรรม วิบาก ที่อยู่ในวงจรปฏิจจสมุปบาท คือการที่ต้องมองเรื่องกรรมตามแนวของกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล หรือเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่เราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา อันนี้ขอข้ามไปก่อน

กฎแห่งกรรม ในฐานะเป็นเพียงอย่างหนึ่งในนิยาม ๕

เมื่อเราเข้าใจแง่ต่างๆ ในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรรมแล้ว ก็ควรเข้าใจต่อไปด้วยว่า กรรมนี้เราถือว่าเป็นกฎอย่างหนึ่ง เรามักจะเรียกว่า “กฎแห่งกรรม”

กฎแห่งกรรมนี้ ศัพท์ทางวิชาการแท้ๆ ท่านเรียกว่า กรรมนิยาม ซึ่งก็แปลตรงๆ ว่ากฎแห่งกรรม เป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลอย่างหนึ่ง

แต่ในทางพุทธศาสนา ท่านบอกว่า กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลนี้ มิใช่มีเฉพาะกรรมนิยามอย่างเดียว กฎอย่างนี้มีหลายกฎ ท่านประมวลไว้ว่ามี ๕ กฎด้วยกัน เรียกว่านิยาม ๕ หรือกฎ ๕ มีอะไรบ้าง จะยกให้กรรมนิยามเป็นข้อที่ ๑ ก็ได้ ดังนี้

๑. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ได้แก่กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เช่นที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๒. จิตตนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่อจิตอย่างนี้เกิดขึ้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบได้บ้าง ถ้าเจตสิกอันนี้เกิดขึ้น จะมีเจตสิกไหนเกิดร่วมได้ อันไหนร่วมไม่ได้ เมื่อจิตจะขึ้นสู่วิถีออกรับอารมณ์ มันจะดำเนินไปอย่างไร ก่อนออกจากภวังค์ก็มีภวังคจลนะ (ภวังค์ไหว) แล้วจึงภวังคุปัจเฉท (ตัดภวังค์) จากนั้นมีอะไรต่อไปอีกจนถึงชวนจิต แล้วกลับตกภวังค์อย่างเดิมอีก อย่างนี้เรียกว่ากฎแห่งการทำงานของจิต คือจิตตนิยาม

๓. พีชนิยาม กฎเกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ปลูกมะม่วงก็เกิดเป็นมะม่วง ปลูกมะนาวก็เกิดเป็นต้นมะนาว ปลูกเมล็ดพืชอะไรก็ออกผล ออกต้นเป็นพืชชนิดนั้น อย่างนี้เรียกว่าพีชนิยาม

๔. อุตุนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับอุตุ อุตุคือเรื่องอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ พูดอย่างชาวบ้านก็เช่น อากาศร้อนขึ้น เราก็เหงื่อออก อากาศเย็นลง เย็นมากๆ เข้า น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง หรือถ้าร้อนมากขึ้น น้ำก็กลายเป็นไอ นี้เรียกว่าอุตุนิยาม

๕. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรม คือ ความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เช่น คนเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เป็นต้น

ตกลงว่า กฎนี้มีตั้ง ๕ กฎ กรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่งใน ๕ กฎนั้น การที่เราจะวิเคราะห์พิจารณาสิ่งทั้งหลายจึงอย่าไปยึดถือว่าทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะพระพุทธศาสนาสอนไว้แล้ว ว่ากฎธรรมชาติมี ๕ อย่าง หรือนิยาม ๕ กรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่ง

เมื่ออะไรเกิดขึ้นอย่าไปบอกว่าเป็นเพราะกรรมเสมอไป ถ้าบอกอย่างนั้นจะผิด ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เหงื่อออก ถามว่า นาย ก. เหงื่อออกเพราะอะไร ถ้าเป็นเพราะอากาศร้อน ลองวินิจฉัยซิว่าอยู่ในนิยามไหน ถ้าว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรม ถ้าอย่างนั้นนาย ก. เหงื่อออกก็เพราะกรรมสิ ลองบอกซิว่า เป็นกรรมอะไรของนาย ก. ที่ต้องเหงื่อออก ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก นาย ก. เหงื่อออกเพราะอากาศร้อน นี่เรียกว่าอุตุนิยาม

แต่ไม่แน่เสมอไป บางทีนาย ก. เหงื่อออกไม่ใช่เพราะร้อนก็มี เช่น นาย ก. ไปทำความผิดไว้ พอเข้าที่ประชุม เขาเกิดสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด นาย ก. มีความหวาดกลัวมาก ก็อาจจะกลัวจนเหงื่อออก ในกรณีอย่างนี้ นาย ก. เหงื่อออกเพราะอะไร ตรงนี้ตอบได้ว่าเพราะกรรม นี่คือกรรมนิยาม

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่เป็นปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน บางทีก็เกิดจากเหตุคนละอย่าง เราจะต้องเอานิยาม ๕ มาวัดวิเคราะห์ว่า มันเกิดจากอะไร อย่างที่ยกตัวอย่างมาแล้วว่า เหงื่อออก อาจจะเป็นเพราะเขารู้ตัวว่าได้ทำความผิดไว้ ตอนนี้หวาดกลัวว่าจะถูกจับได้จึงเหงื่อออก ถ้าอย่างนี้ก็เป็นกรรมนิยาม แต่ถ้าอยู่ดีๆ เขาไม่ได้ทำอะไร อากาศมันร้อนหรือไปออกกำลังมากๆ ใครๆ ก็เหงื่อออกได้ เป็นธรรมดา นี่เป็นอุตุนิยาม

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าน้ำตาไหล เป็นเพราะอะไร เป็นนิยามอะไร ต้องวินิจฉัยจับนิยามให้ดี ในเวลาตัดสินเรื่องกรรม ถ้าเข้าใจเรื่องนิยาม ๕ จะช่วยในการอธิบายเรื่องกรรมได้มาก คนเสียใจร้องไห้ก็น้ำตาไหล แต่ดีใจก็น้ำตาไหลได้เหมือนกัน อันหนึ่งเป็นจิตตนิยาม เป็นไปตามการทำงานของจิต จิตที่มีความปลาบปลื้มดีใจหรือเสียใจก็ทำให้น้ำตาไหล แต่อาจจะบวกกับเหตุผลที่มาจากกรรมนิยาม เช่นเสียใจในความผิดที่ได้กระทำไว้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางทีเราไม่ได้ดีใจหรือเสียใจสักหน่อย แต่เราไปถูกควันไฟรมเข้าก็น้ำตาไหล แล้วอันนี้เป็นนิยามอะไร ก็เป็นอุตุนิยาม ฉะนั้นการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่าไปลงโทษกรรมเสียทั้งหมด

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใครก็ตามที่ยึดถือว่าอะไรๆ ทุกอย่างล้วนเป็นผลเกิดจากกรรมทั้งสิ้นนั้น เป็นคนที่ถือผิด เช่น ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระองค์ก็ตรัสไว้

มีพุทธพจน์ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๔๒๗ ว่า โรคบางอย่างเกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดจากอุตุคือสภาพแวดล้อมแปรปรวนเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากดีเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ประกอบกันก็มี เกิดจากกรรมก็มี แปลว่าโรคบางอย่างเกิดจากกรรม แต่หลายอย่างเกิดจากอุตุนิยมบ้าง เกิดจากความแปรปรวนของร่างกายบ้าง เกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ เช่น พักผ่อนน้อยเกินไป ออกกำลังมากเกินไป เป็นต้นบ้าง กรรมเป็นเพียงเหตุหนึ่งเท่านั้น จะโทษกรรมไปทุกอย่างไม่ได้

ยกตัวอย่าง คนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร บางทีเป็นเพราะฉันยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น แอสไพรินในเวลาท้องว่าง พวกยาแก้ไขแก้ปวดเหล่านี้เป็นกรด บางทีมันก็กัดกระเพาะทะลุ อาจจะทำให้ถึงกับมรณภาพไปเลย ยาแก้ไข้แก้ปวดบางอย่างมีอันตรายมาก เขาจึงห้ามฉันเวลาท้องว่าง ต้องให้มีอะไรในท้องจึงฉันได้ บางคนเลือดไหลในกระเพาะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ที่แท้เป็นเพราะกินยาแก้ไข้แก้ปวดนี่เอง นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง

แต่บางคนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะความวิตกกังวล คิดอะไรต่างๆ ไม่สบายใจ กลุ้มใจบ่อยๆ คับเครียดจิตใจอยู่เสมอเป็นประจำ จึงทำให้มีกรดเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร แล้วกรดนี้มันก็กัดกระเพาะของตัวเองเป็นแผล จนกระทั่งเป็นโรคร้ายแรงถึงกับต้องผ่าตัดกระเพาะทิ้งไปครึ่งหนึ่งก็มี

จะเห็นว่าผลอย่างเดียวกัน แต่เกิดจากเหตุคนละอย่าง ที่ฉันแอสไพรินหรือยาแก้ปวดแก้ไข้แล้วกระเพาะทะลุ เป็นอุตุนิยาม แต่ที่คิดวิตกกังวลกลุ้มใจอะไรต่ออะไรแล้วเกิดแผลในกระเพาะ เป็นกรรมนิยาม จิตใจไม่ดีมีอกุศลมากก็ทำให้โรคเกิดจากกรรมได้มากมาย อย่างที่เป็นกันมากเวลานี้คือโรคเครียด ก็โรคกรรม หรือโรคเกิดจากกรรมนั่นเอง (กรรมนิยาม ผสมด้วยจิตตนิยาม)

แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องเอาหลักเรื่องนิยาม ๕ มาวินิจฉัย อย่าไปลงโทษกรรมทุกอย่าง แล้วบางอย่างก็เกิดจากนิยามต่างๆ หลายนิยามมาประกอบกัน

เป็นอันว่าเราควรรู้จักนิยาม ๕ ไว้ เวลาสอนชาวบ้านจะได้ให้พิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ

เข้าใจหลักกรรม โดยแยกจากลัทธิที่ผิดทั้งสาม

ก. สามลัทธิเดียรถีย์ มิใช่พุทธ

แง่ต่อไป คือ จะต้องแยกหลักกรรมออกจากลัทธิผิดๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เรียกว่า ติตถายตนะ ๓

ติตถายตนะ แปลว่า ประชุมแห่งลัทธิ ลัทธิเดียร์ถีย์ มี ๓ ลัทธิ

ลัทธิที่ ๑ ถือว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนทั้งสิ้น (ฟังให้ดี ระวังนะ จะสับสนกับพระพุทธศาสนา) ลัทธินี้เรียกว่า บุพเพกตวาท

ลัทธิที่ ๒ บอกว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี ได้ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี ล้วนเป็นเพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาลให้ทั้งสิ้น คือพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็น ลัทธินี้เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท หรือ อิสสร-นิมมานเหตุวาท

ลัทธิที่ ๓ ถือว่า บุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี ได้ไม่สุขได้ไม่ทุกข์ก็ดี ล้วนแต่เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นไปเองลอยๆ แล้วแต่โชคชะตา ไม่มีเหตุปัจจัย ลัทธินี้เรียกว่า อเหตุวาท

หลักเหล่านี้มีมาในพระคัมภีร์ทั้งนั้น ติตถายตนะทั้ง ๓ ท่านกล่าวไว้ทั้งในพระสูตรและในอภิธรรม ในพระอภิธรรมท่านเน้นไว้ในคัมภีร์วิภังค์ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๕ ข้อ ๙๔๐ แต่ในพระสูตรก็มีในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๑ แต่เรามักไม่เอามาพูดกัน ส่วนนิยาม ๕ อยู่ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม ซึ่งอธิบายถึงเรื่องกฎเกณฑ์แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

นิยาม ๕ นั้น สำหรับเอาไว้พิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยให้รอบคอบ อย่าไปเอาอะไรเข้ากรรมหมด ส่วนติตถายตนะหรือประชุมลัทธิ ๓ พวก ก็ผิดหลักพระพุทธศาสนา ได้แก่

๑. บุพเพกตวาท ถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน

๒. อิศวรนิรมิตวาท ถือว่าจะเป็นอะไรๆ ก็เพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาล

๓. อเหตุวาท ถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่จะบังเอิญเป็นไป คือลัทธิโชคชะตา

สามลัทธินี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นลัทธิที่ผิด เหตุผลคือเพราะมันทำให้คนไม่มีฉันทะ ไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร เนื่องจากเป็นความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ หรือไปขึ้นต่อตัวการภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ขึ้นกับการกระทำของเรา

ข. ลัทธิกรรมเก่า คือลัทธินิครนถ์

โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ นั้น ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรมปางก่อน มันจะเป็นอย่างไรก็สุดแต่กรรมเก่า เราจะทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ กรรมปางก่อนมันกำหนดไว้หมดแล้ว แล้วเราจะไปทำอะไรได้ ก็ต้องปล่อย คอยรอ แล้วแต่มันจะเป็นไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลัทธินี้เป็นลัทธิของพวกนิครนถ์ หัวหน้าชื่อว่านิครนถนาฏบุตร ให้ไปดูพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ พระสูตรแรก เทวทหสูตร ตรัสเรื่องนี้โดยเฉพาะก่อนเลย ส่วนในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตรัสเรื่องนี้ไว้รวมกัน ๓ ลัทธิ แต่ในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ตรัสเฉพาะเรื่องลัทธิที่ ๑ ไม่ตรัสลัทธิอื่นด้วย

ลัทธินิครนถ์นี้ถือว่า อะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้สิ้นกรรมโดยไม่ทำกรรมใหม่ และเผากรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ ลัทธินี้ต้องแยกให้ดีจากพุทธศาสนา

ต้องระวังตัวเราเองด้วยว่าจะผลุนผลันหรือผลีผลามตกลงไปใน ๓ ลัทธินี้ โดยเฉพาะลัทธิกรรมเก่าที่ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรมเก่าเท่านั้น

คำว่า “กรรม” นี้เป็นคำกลางๆ เป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ พุทธศาสนาเน้นปัจจุบันมาก กรรมเก่าไม่ใช่ไม่มีผล มันมีผลสำคัญ แต่มันเสร็จไปแล้วและเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลในปัจจุบัน ซึ่งเราจะต้องใช้ปัญญาแยกแยะเพื่อทำกรรมที่ดีและแก้ไขปรับปรุงตัวให้เกิดผลที่ดีต่อไปภายหน้า นี่พูดกันทั่วๆ ไป โดยหลักการก็คือ ต้องพยายามแยกให้ถูกต้อง มี ๓ ลัทธินี้ ที่จะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนเป็นเบื้องต้น

ค. อันตรายเกิดขึ้นมา เพราะวางอุเบกขาแบบเฉยโง่

ก่อนจะผ่านไป มีเกร็ดแทรกอีกนิดหนึ่ง คือ ความเชื่อถือที่คลาดเคลื่อนนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งทำให้การปฏิบัติผิดได้ เช่น การถือแต่ลัทธิกรรมเก่า บางทีก็ทำให้เรามองคนว่าที่เขาประสบผลร้ายเกิดมายากจน หรือได้รับเคราะห์กรรมต่างๆ ก็เพราะเป็นกรรมของเขาเท่านั้น เมื่อเราบอกว่านี่เป็นกรรมของเขาแล้ว เราก็เลยบอกว่า ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป เราก็ไม่ต้องช่วยอะไร

เมื่อถือว่าเป็นกรรมของเขา เราก็วางเฉย แถมยังบอกว่า เราปฏิบัติธรรมด้วย คือถืออุเบกขา วางเฉยเสีย ไม่ช่วย คนก็เลยไม่ต้องช่วยเหลือกัน คนที่ได้รับเคราะห์ ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ก็ต้องลำบากต่อไป มีฝรั่งพวกหนึ่งติเตียนพุทธศาสนาว่าสอนคนแบบนี้ เราต้องพิจารณาตัวเราเองว่า เราสอนอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แต่ตามหลักพุทธศาสนาที่แท้นั้น ไม่ได้สอนอย่างนี้ เรื่องอย่างนี้มีความละเอียดอ่อน(ทางปัญญา)

เราบอกว่า คนประสบเคราะห์กรรม ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน ก็กรรมของเขา ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป อย่างนี้ถูกไหม อย่างนี้ถือว่าวางอุเบกขาใช่หรือไม่

อุเบกขาแปลว่าอะไรแน่ อุเบกขา คือความวางเฉยในแง่ที่วางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่น เกี่ยวกับความเป็นธรรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมแล้ว ต้องวางใจเป็นกลางก่อน เมื่อจะต้องลงโทษก็ลงโทษไปตามเหตุผล คือตามกรรมที่เขาทำ เช่น ศาลจะทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เมื่อคนทำความผิดมา ผู้พิพากษาก็ต้องวางใจเป็นกลาง แล้วตัดสิน ถ้าเขาเป็นผู้ผิด ก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมายกบิลเมือง อย่างนี้เรียกว่า วางอุเบกขา

การวางอุเบกขานั้นเป็นไปพร้อมกับการรักษาธรรม คือในจิตใจมีเจตนาที่จะรักษาธรรมไว้ เมื่อจะช่วยคนก็ต้องไม่ให้เสียธรรม ถ้าหากคิดเมตตากรุณาช่วยโจรแล้วเสียธรรมก็ผิด เมตตากรุณาต้องไม่เกินอุเบกขา เมตตา-กรุณา-มุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขานั้นรักษาธรรมไว้ ในกรณีที่ไม่ได้รักษาธรรมเลย และก็ไม่ช่วยคน อย่างนี้ผิด นี่ว่าอย่างรวบรัดแบบพูดกันง่ายๆ

ถ้าเราไปเจอคนทุกข์ยากขัดสนข้นแค้น เราจะอ้างว่าเป็น(ผล)กรรมของเขาแต่ชาติปางก่อน ให้เขาก้มหน้ารับกรรมไป การอ้างอย่างนี้ผิดถึง ๓ ด้าน ๓ ขั้นตอน

๑. ถ้าเป็นผลกรรมชาติก่อน นี่ก็คือเขาได้รับผลของกรรมนั้นแล้ว คือเกิดมาจน สภาพปัจจุบันคือสภาพที่ได้รับผลแล้ว ไม่ใช่สภาพรอผล เมื่อผลกรรมเก่าออกไปแล้ว หน้าที่ของเราที่จะทำต่อสภาพปัจจุบันที่เขาทุกข์ยาก ก็คือ ต้องใช้เมตตากรุณาไปช่วยเหลือ

เหมือนกับกรณีเด็กว่ายน้ำไม่เป็น เล่นซน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ แล้วไปตกน้ำ การที่เขาตกน้ำก็เป็นการรับ(ผล)กรรมของเขาแล้ว ตอนนี้เขากำลังทุกข์ ถึงตอนที่เราต้องใช้ความกรุณาไปช่วย จะไปอ้างว่าเป็น(ผล)กรรมของเขาแล้วปล่อยให้เด็กตาย ย่อมไม่ถูกต้อง

๒. คนเราทำกรรมดี-ชั่วต่างๆ มักจะปนๆ กันไป บางคนทั้งที่ทำความดีมาก แต่เวลาจะตายจิตแว่บไปนึกถึงกรรมไม่ดี เลยพลาดมาเกิดไม่ดี เราพวกมนุษย์ปุถุชนไม่ได้หยั่งรู้เรื่องอย่างนี้ เพียงพอที่จะตัดสิน แต่ภาพปัจจุบันคือเขาทุกข์เดือดร้อนเป็นที่ตั้งของกรุณา จึงต้องใช้ธรรมข้อกรุณาเข้าไปช่วยเหลือ

๓. ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งหรืออย่างเดียวกันอาจเกิดจากเหตุปัจจัยต่างอย่าง หรือหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน อย่างที่พูดแล้วในเรื่องนิยาม ๕ เหตุปัจจัยในอดีตก็มี เหตุปัจจัยในปัจจุบันก็มี เหตุปัจจัยภายในก็มี เหตุปัจจัยภายนอกก็มี

ในเรื่องความยากจนนี้ ถ้าเป็นสภาพทางสังคม ขอให้ลองไปดูอย่างจักกวัตติสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑) หรือกูฏทันตสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๙) จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเน้นเหตุปัจจัยและการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารการปกครองบ้านเมือง อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะต้องไม่มองข้ามไป อย่ามองอะไรแบบทึกทักทันทีง่ายๆ หลักธรรมประเภทนี้ทรงสอนไว้เพื่อให้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ไม่ใช่มองแบบตีคลุม

ในกรณีอย่างนี้ ถ้าเราถืออุเบกขาวางเฉย ก็กลายเป็นอัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ กลายเป็นบาปอกุศลไป เพราะวางเฉยโดยไม่รู้เรื่องราว ไม่เหมือนกรณีที่มีคนลักขโมยของ แล้วถูกจับคุมขัง เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราจึงวางอุเบกขาเพื่อรักษาธรรม

ฉะนั้น ถ้าหากคนเขามีความทุกข์ยากเดือดร้อน เรื่องอะไรจะไม่ช่วย การช่วยนั้นก็เป็นการทำกรรมดีของตัวเราเองด้วย และก็เป็นการเมตตากรุณาช่วยเขา ให้เขาทำความดี โดยเมื่อได้รับการช่วยเหลือนั้นแล้ว เขาก็มีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวและมีกำลังที่จะไปทำกรรมดีอื่นๆ ต่อไป แต่การช่วยที่ดีที่สุดก็คือการช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้

ทั้งนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียด แต่การที่จะบอกเหมาลงไปว่า คนได้รับทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นกรรมของเขา ปล่อยให้เขารับกรรมไป อย่างนี้ไม่ถูก ต้องมีหลักว่าเป็นเรื่องของการรักษาธรรมหรือไม่ เหล่านี้เป็นแง่ต่างๆ ที่จะมาช่วยในการพิจารณาเรื่องกรรม

บุญ-บาป กุศล-อกุศล

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องความหมายของกรรม ที่แยกเป็นกุศล อกุศล เป็นบุญ เป็นบาป

ในเวลาแยกประเภทกรรม เรามักแยกเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม หรือง่ายๆ ก็เป็นบุญ เป็นบาป หรือบุญกรรม และบาปกรรม เราจะอธิบายเรื่องกรรมได้ชัดเจน เมื่อเราอธิบายความหมายของกุศล อกุศล บุญ บาปได้ด้วย

ก. กุศล คืออะไร?

กุศลมีความหมายอย่างไร ชาวบ้านมักจะมีความสงสัยหรือเข้าใจพร่าๆ มัวๆ เขามักจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล พอบอกว่า เชิญชวนมาทำบุญทำกุศลกัน ให้บริจาคเงินสร้างศาลาแล้วได้กุศล ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่า กุศลคืออะไร

บางทีชาวบ้านมองกุศลคล้ายกับว่าเป็นตัวอะไร หรือเป็นอำนาจอะไรอย่างหนึ่งที่ลอยอยู่ที่ไหนไม่รู้ ซึ่งมองไม่เห็น แล้วจะมาช่วยคนในเมื่อถึงเวลาที่ควรจะช่วย แต่ทีนี้ความหมายที่ถูกต้องในทางหลักธรรมเป็นอย่างไร

กุศล นั้นตามหลักท่านบอกว่า แยกความหมายได้ ๔ อย่าง

ความหมายที่ ๑ ว่า อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรค หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ คำว่าสุขภาพในที่นี้หมายถึงสุขภาพของจิตใจ ซึ่งเป็นฐานของสุขภาพกายด้วย คือทำให้จิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ เหมือนกับร่างกายของเรานี้ เมื่อไม่มีโรคก็เป็นร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจที่ไม่ถูกโรคคือกิเลสเบียดเบียน ก็เป็นจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ สบายคล่องแคล่ว ใช้งานได้ดี อย่างที่ท่านเรียกว่า ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน จิตใจแบบนี้เรียกว่าเป็นจิตใจไม่มีโรค

ความหมายที่ ๒ ว่า อนวัชชะ แปลว่า ไม่เสียหาย ไม่มีโทษ คือ ไม่มีสิ่งมัวหมอง ไม่สกปรก ไม่บกพร่อง สะอาด ผ่องแผ้ว ผ่องใส ปลอดโปร่ง เป็นต้น เอาง่ายๆ ว่า สะอาดบริสุทธิ์

ความหมายที่ ๓ ว่า โกศลสัมภูต แปลว่าเกิดจากปัญญา เกิดจากความฉลาด หมายความว่า กุศลเป็นเรื่องที่ประกอบไปด้วยปัญญา คือความรู้เข้าใจ ทำด้วยความรู้เหตุผล และทำตามความรู้เหตุผลนั้น เช่นมองเห็นความดีความชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์ รู้ไม่ใช่ประโยชน์ ทำด้วยจิตใจที่สว่างไม่โง่เขลามืดมัว เรียกว่า เป็นความสว่างของจิตใจ เมื่อมีกุศลเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ไม่ปิดบังปัญญา จิตใจสว่าง ไม่มืดไม่บอด มองเห็นอะไรๆ ถูกต้องตามความเป็นจริง

ความหมายที่ ๔ สุดท้ายคือ สุขวิบาก มีสุขเป็นผล ทำให้เกิดความสุข เวลาทำจิตใจก็โปร่งสบาย สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส สงบเย็น ไม่เร่าร้อน บีบคั้น อึดอัด คับแค้น

ที่ว่ามาทั้ง ๔ ข้อนี้คือความหมายของกุศล เป็นลักษณะที่จะเอามาวินิจฉัย คือ สิ่งที่เป็นกุศลนั้นจะต้อง ๑. อโรค ไม่มีโรค เกื้อกูล จิตใจมีความแข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจคล่องแคล่ว ใช้งานได้ดี ๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษ ไม่มีมลทิน ไม่มัวหมอง ไม่เสื่อมเสีย มีความสะอาด บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ปลอดโปร่ง ๓. โกศลสัมภูต มีปัญญา รู้เหตุผล รู้ดีชั่ว รู้คุณรู้โทษ สว่าง ไม่มืดมัว และ ๔. สุขวิบาก มีสุขเป็นผล ทำด้วยความโปร่งสบาย ทำแล้วก็แช่มชื่นเย็นใจ

ตัวอย่างลักษณะและอาการของกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เช่น มีเมตตาเป็นอย่างไร พอเมตตาเกิดขึ้นในใจปั๊บ ก็เย็นฉ่ำ จิตใจไม่มีโรค จิตใจมีความแข็งแรงในตัวของมัน มีความเอิบอิ่ม สบาย เย็นชื่น ยิ้มได้ ปลอดโปร่งผ่องใส ทั้งใจทั้งกายราบรื่นผ่อนคลาย เลือดลมเดินคล่องดี และมีความรู้ความเข้าใจ สว่างอยู่ภายในว่าคนอื่นเขามีความสุขความทุกข์อย่างไร เราควรจะมีจิตใจต่อเขาอย่างไร และมีความสุขพร้อมอยู่ในตัวด้วย

แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีโทสะเกิดขึ้น เป็นอย่างไร พอโทสะ หรือความโกรธ ความคิดประทุษร้ายเกิดขึ้นปั๊บ ก็รู้สึกเร่าร้อนแผดเผา จิตเป็นโรค จิตบกพร่อง ถูกบีบคั้น มันไม่สบาย ถูกเบียดเบียน ขุ่นมัว ไม่บริสุทธิ์ ไม่สะอาด ไม่ปลอดโปร่ง ไม่ผ่องใส ใจข้อง กายเครียด เลือดลมคั่ง และมืดมัวเหมือนตาบอด ไม่รู้ ไม่คิด ไม่มองเห็นบุญเห็นคุณ ไม่คำนึงถึงโทษ ไม่รู้ว่าใครเป็นใครทั้งนั้น และมีความทุกข์ พลุ่งพล่าน เดือดร้อนใจ นี่ลักษณะของอกุศล

เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลจึงไม่ต้องไปรอดูผลข้างนอก พอเกิดขึ้นในใจก็บอกตัวเองของมันทันที ปรากฏผลแก่ชีวิตจิตใจ เป็นความหมายของตัวมันเอง พอมีขึ้นมาปั๊บก็สำเร็จความหมายในตัวทันที ถ้าใครถามว่าดีชั่วมีจริงไหม ก็บอกว่าฉันไม่ตอบละ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ

ความเป็นกุศลและอกุศลเป็นสภาวะตามธรรมชาติ มันมีภาวะของมันอยู่ในตัวแล้ว เราต้องอธิบายกรรมให้ลึกเข้ามาถึงความหมายในจิตใจที่เป็นพื้นแท้ๆ ของตัวมันเอง ให้เห็นว่ามันมีความหมายอยู่ในตัวของมันเองพร้อมแล้ว ไม่ต้องไปรอผลไกล

ถาม: อาโรคยะ แปลว่า ไม่มีโรคใช่ไหมครับ

ตอบ: อาโรคยะ มาจากอโรคะ คือ อ+โรค อโรค ก็คือ ไม่มีโรค แล้วบวก ณฺย ปัจจัย เข้าไป เป็น ภาวตัทธิต ตามหลักไวยากรณ์เป็น อาโรคฺย แปลว่า ความเป็นอโรค คือ ความไม่มีโรค นี้หมายถึง ความไม่เป็นโรคของจิต ไม่ใช่แค่โรคของร่างกาย จิตที่ไม่มีโรค ก็สมบูรณ์แข็งแรง และช่วยหนุนสุขภาพร่างกายด้วย

แม้แต่ภาษิตที่เราท่องกันในภาษาไทยที่เพี้ยนเป็นอโรคยาปรมา ลาภา นั้น (ความจริงภาษาบาลีเป็น อาโรคฺยปรมา ลาภา) ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ความหมายที่แท้จริงไม่ได้มุ่งเพียงไม่มีโรคกาย ที่ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หรือ ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่งนั้น พระองค์หมายถึงพระนิพพาน อาโรคยะ นี้ หมายถึง พระนิพพาน พระนิพพานเป็นภาวะไร้โรค คือความมีสุขภาพจิตสมบูรณ์

เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับมาคัณฑิยะ ท่านมาคัณฑิยะไปสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า อ้างสุภาษิตเก่าว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา ซึ่งในที่นี้เขามีความเข้าใจว่าเป็นโรคกาย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันไม่ได้มีความหมายแคบเท่านั้น แต่หมายถึงความไม่มีโรคทางจิตใจด้วย ใช้ได้ทุกระดับ

สำหรับชาวบ้านก็ใช้ในระดับโรคทางกายธรรมดา แต่ในทางธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรในมัชฌิมนิกาย หมายถึงพระนิพพานเลย เป็นภาวะไม่มีโรคโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ในจิตใจ หมายความว่าภาษิตนี้ใช้ได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ไปจนกระทั่งถึงบรรลุนิพพาน แต่ให้รู้ความหมายแต่ละขั้นๆ

ความหมายของคำว่า “กุศล” ก็ให้เข้าใจตามลักษณะที่ว่ามานี้ ส่วนที่เป็นอกุศลก็ตรงข้าม ดังได้ยกตัวอย่างไปแล้ว เช่น เมื่อเมตตาเกิดขึ้นในใจเป็นอย่างไร โทสะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ลักษณะก็จะผิดกันให้เห็นชัดๆ ว่า ผลมันเกิดทันที อย่างที่เรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโก เห็นเอง เห็นทันตา

ข. บุญ หมายความแค่ไหน?

คำที่เนื่องกันอยู่กับกุศลและอกุศล ก็คือคำว่า “บุญ” และ “บาป” บุญกับกุศล และบาปกับอกุศล ต่างกันอย่างไร

ในที่หลายแห่งใช้แทนกันได้ อย่างในพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่อง ปธาน คือความเพียร ๔ ก็ตรัสคำว่าอกุศลกับคำว่าบาปไว้ด้วยกัน อยู่ในประโยคเดียวกัน คือเป็นถ้อยคำที่ช่วยขยายความซึ่งกันและกัน เช่นว่า ภิกษุยังฉันทะให้เกิดขึ้น ระดมความเพียรเพื่อปิดกั้นบาปอกุศลธรรมซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่า สังวรปธาน แสดงให้เห็นว่าบาปกับอกุศลมาด้วยกัน

แต่สำหรับบุญกับกุศล ท่านบอกว่า มันมีความกว้างแคบกว่ากันอยู่หน่อย คือ กุศล นั้นใช้ได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ เป็นคำกลางๆ และเป็นคำที่ใช้ในทางหลักวิชาการมากกว่า บางทีก็ระบุว่าโลกิยกุศล โลกุตตรกุศล แต่ถ้าพูดเป็นกลางๆ จะเป็นโลกิยะก็ได้ เป็นโลกุตตระก็ได้

ส่วนคำว่าบุญ นิยมใช้ในระดับโลกิยะ แต่ก็ไม่เสมอไป มีบางแห่งเหมือนกันที่ท่านใช้ในระดับโลกุตตระ อย่างที่แยกเรียกว่า โอปธิกปุฺ แปลว่า บุญที่เนื่องด้วยอุปธิ และ อโนปธิกปุฺ บุญไม่เนื่องด้วยอุปธิ เป็นต้น หรือบางทีใช้ตรงๆ ว่า โลกุตตรปุญญะ บุญในระดับโลกุตตระ

แต่โดยทั่วไปแล้ว บุญใช้ในระดับโลกิยะ ส่วนกุศลเป็นคำกลางๆ ใช้ได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ นี่เป็นความกว้างแคบกว่ากันนิดหน่อยระหว่างบุญกับกุศลในแง่รูปศัพท์ ซึ่งก็อาจเอาไปช่วยประกอบเวลาอธิบายเรื่องกรรมได้ แต่เป็นเรื่องเกร็ด ไม่ใช่เป็นตัวหลักใหญ่

บุญ นัยหนึ่งแปลว่า เป็นเครื่องชำระสันดาน เป็นเครื่องชำระล้างทำให้จิตใจสะอาด ในเวลาที่สิ่งซึ่งเป็นบุญเกิดขึ้นในใจ เช่น มีเมตตาเกิดขึ้น ก็ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ศรัทธาเกิดขึ้น จิตใจก็ผ่องใส ทำให้หายเศร้าหมอง หายสกปรก

ความหมายต่อไปนักวิเคราะห์ศัพท์ แปล บุญ ว่า นำมาซึ่งการบูชา หรือทำให้เป็นผู้ควรบูชา คือใครก็ตามสั่งสมบุญไว้ สั่งสมความดี เช่น สั่งสมศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา ผู้นั้นก็มีแต่คุณธรรมมากมาย และคุณธรรมหรือคุณสมบัติเหล่านั้นก็ยกระดับชีวิตจิตใจของเขาขึ้นทำให้เป็นผู้ควรบูชา ฉะนั้น ความหมายหนึ่งของบุญก็คือ ทำให้เป็นคนน่าบูชา

อีกความหมายหนึ่งคือ ทำให้เกิดผลที่น่าชื่นชม เพราะว่าเมื่อเกิดบุญแล้วก็มีวิบากที่ดีงาม น่าชื่นชม จึงเรียกว่ามีผลอันน่าชื่นชม ใกล้กับพุทธพจน์ที่ว่า สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยทิทํ ปุฺานิ ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข เมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็สบาย มีความเอิบอิ่มแช่มชื่นผ่องใส บุญจึงเป็นชื่อของความสุข

ส่วนบาปนั้นตรงกันข้าม บาป นั้นโดยตัวอักษร หรือโดยพยัญชนะ แปลว่า สภาวะที่ทำให้ถึงทุคติ หรือทำให้ไปในที่ชั่ว หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตตกต่ำ พอบาปเกิดขึ้น ความคิดไม่ดีเกิดขึ้น โทสะ โลภะ เกิดขึ้น จิตก็ตกต่ำลงไป และนำไปสู่ทุคติด้วย

ท่านให้ความหมายโดยพยัญชนะอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่คนดีพากันรักษาตนให้ปราศไป หมายความว่า คนดีทั้งหลายจะรักษาตนเองให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ จึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นบาป เป็นสิ่งที่คนดีละทิ้ง พยายามหลีกหลบเลี่ยงหนีไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย นี่เป็นความหมายประกอบ ซึ่งอาจจะเอาไปใช้อธิบายเป็นเกร็ดได้ ไม่ใช่ตัวหลักแท้ๆ เอามาพูดรวมไว้ด้วยในแง่ต่างๆ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องกรรม

เท่าที่ได้บรรยายมา เมื่อว่าโดยสรุปก็มีความสำคัญที่จะต้องมองอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. กรรมเป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัย ถ้าจะอธิบายลงลึกก็ต้องโยงเข้าไปในเรื่องไตรวัฏฏ์ คือ กิเลส กรรม และวิบาก เข้าสู่หลักปฏิจจสมุปบาท

๒. จะต้องรู้ว่ากรรมนี้เป็นนิยามหนึ่ง หรือกฎหนึ่งในบรรดานิยาม ๕ เท่านั้น อย่าเหมาทุกอย่างเข้าเป็นกรรมหมด ต้องแยกแยะเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง

๓. ต้องแยกหลักกรรมออกจากลัทธิผิดสามอย่างให้ได้ด้วย คือ ลัทธิปุพเพกตวาท ลัทธิอิศวรนิรมิตวาท และลัทธิอเหตุวาท

๔. ให้นำความเข้าใจความหมายของกุศล อกุศล มาช่วยในการอธิบายแง่ลึก ให้เห็นผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับจิตใจ ให้เข้าใจความหมายของกรรมที่แท้จริง ที่เป็นสภาวะอยู่ในจิตใจ ซึ่งมีผลประจักษ์ทันที

ตอน ๒
กรรม โดยใช้การ

 

ความสำคัญของมโนกรรม/
ค่านิยมกำหนดวิถีชีวิตและสังคม

ขอผ่านไปยังเรื่องการให้ผลของกรรม อย่างที่บอกแล้วว่า เราได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับคำอธิบายการให้ผลของกรรมแบบโลดโผน ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แบบที่ว่าทำให้สัตว์ขาหัก แล้วต่อมาตัวเองไปถูกรถทับขาหัก อะไรทำนองนี้ ซึ่งได้ยินกันบ่อย จนบางทีทำให้รู้สึกว่า กรรมเป็นอำนาจเร้นลับอย่างหนึ่งซึ่งลอยอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ มันคอยจ้องจะมาลงโทษเรา ถ้าอธิบายแบบนี้ ก็มีปัญหาที่บอกแล้วว่า คนที่เป็นนักคิดเหตุผลจะไม่ค่อยยอมรับ

ลองมาพิจารณากันดูว่า เราจะสามารถอธิบายกรรมในแง่สืบสาวเหตุปัจจัยได้อย่างไร ความเป็นเหตุเป็นผลนั้นอยู่ที่การสืบสาวเหตุปัจจัย ให้เห็นว่าแต่ละอย่างเชื่อมโยงกัน สืบทอดและต่อเนื่องกันอย่างไร จึงมาออกผลอย่างนี้ ถ้าอธิบายตรงนี้ได้ คนจะต้องยอมรับ

การที่จะอธิบายอย่างนี้ได้ก็ต้องลงไปถึงจุดเริ่มของมัน คือถึงข้างในจิตใจ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรม มี คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

ในบรรดากรรม ๓ อย่างนั้น กรรมที่ละเอียดอ่อนที่สุดก็ได้แก่ มโนกรรม คือ กรรมทางใจ

กรรมทางใจนอกจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแล้ว ก็เป็นจุดเริ่มด้วย หมายความว่า การกระทำที่จะออกมาเป็นวจีกรรมและเป็นกายกรรมได้ ก็เพราะเกิดขึ้นเป็นมโนกรรมก่อน คนเราต้องคิดก่อน คิดขึ้นมาในใจ คิดชั่วแล้วจึงพูดชั่ว ทำชั่ว ถ้าพูดชั่วขึ้นเฉยๆ อาจเป็นเพียงเคยปากหรือใช้คำพูดไม่ถูกเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกรรม

คนจะทำอะไรก็เริ่มจากความนึกคิดในใจ ที่เรียกว่ามโนกรรม ในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสโดยทรงเปรียบเทียบกับลัทธินิครนถ์

ในลัทธินิครนถ์เขาเรียกกรรมว่า ทัณฑะ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ และบอกว่ากายทัณฑะสำคัญที่สุด เพราะว่าเพียงลำพังคิดอย่างเดียวไม่ทำให้ตายได้ แต่ถ้าเป็นกายทัณฑะ เอามีดมา ไปถึงฟันคอ ก็ตายแน่ๆ หรือว่าฉวยปืนมายิงก็ตาย ลำพังคิดไม่ตาย เพราะฉะนั้น ลัทธินิครนถ์ถือว่ากายทัณฑะสำคัญที่สุด

แต่พระพุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด เพราะมโนกรรมเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวการใหญ่ เป็นเจ้าของแผนการ บุคคลก็ดี สังคมก็ดี จะเป็นไปอย่างไรก็ดำเนินไปตามมโนกรรมเป็นใหญ่ มโนกรรมเป็นตัวกำหนดวิถีหรือชี้แนวทางให้แก่แนวคิด ความนิยม ความเชื่อถือ เป็นตัวกำกับการ เช่น คนๆ หนึ่งมีความชอบในอะไร ใฝ่ในอะไร ชีวิตของเขาก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ชอบที่ใฝ่นั้น

สมมติว่าเด็กคนหนึ่งเกิดชอบบวชพระ ชอบห่มผ้าเหลือง เห็นเณรแล้วก็อยากเป็นเณรบ้าง ความฝักใฝ่พอใจอันนี้ก็มาหล่อหลอมทำให้เขาคิดที่จะบวช ต่อมาเขาก็อาจจะบวชแล้วก็อยู่ในพระศาสนาไป แต่อีกคนหนึ่งจิตชอบใฝ่ไปในทางที่อยากได้ของของคนอื่น โดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจจะไปลักขโมย วิถีชีวิตก็จะหันเหไปอีกแบบหนึ่ง นี้ก็คือเรื่องของมโนกรรม ที่มีผลบันดาลชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นไปต่างๆ กัน ความนิยม ความชอบ ความเชื่อถือต่างๆ นี้เป็นเครื่องกำหนดชะตาและสร้างชีวิตของคน พระพุทธศาสนามองในขั้นลึกซึ้งอย่างนี้ จึงถือว่ามโนกรรมสำคัญ

แม้แต่สังคมมนุษย์ที่จะเป็นไปอย่างไร ก็เริ่มมาจากมโนกรรม เช่นสิ่งที่ปัจจุบันนี้ชอบเรียกว่าค่านิยม เมื่อสังคมมีค่านิยมอย่างไร ก็จะชักนำลักษณะการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมนั้นให้เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างเช่น คนในสังคมหนึ่งถือว่าถ้าเรารักษาระเบียบวินัยได้เคร่งครัดก็เป็นคนเก่ง ความเก่งกล้าสามารถอยู่ที่การทำได้ตามระเบียบแบบแผน ความนิยมความเก่งในแง่นี้ก็เรียกว่าเป็นค่านิยมในการรักษาระเบียบวินัย คนพวกนี้ก็จะพยายามรักษาระเบียบวินัยให้เคร่งครัด จนอาจทำให้ประเทศนั้น สังคมนั้น มีระเบียบวินัยดี

ส่วนในอีกสังคมหนึ่ง คนอาจจะมีค่านิยมตรงข้าม โดยมีความชื่นชมว่า ใครไม่ต้องทำตามระเบียบได้ ใครฝืนระเบียบได้ ใครมีอภิสิทธิ์ไม่ต้องทำตามกฎเกณฑ์ได้ เป็นคนเก่ง ในสังคมแบบนี้ คนก็จะไม่มีระเบียบวินัย เพราะถือว่าใครไม่ต้องทำตามระเบียบได้ คนนั้นเก่ง

ขอให้ลองคิดดูว่า สังคมของเรา เป็นสังคมแบบไหน มีค่านิยมอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความใฝ่ความชอบอะไรต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจเป็นตัวนำ เป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคล และเป็นเครื่องชี้นำชะตากรรมของสังคม

สังคมใดมีค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนา สังคมนั้นก็มีทางที่จะพัฒนาไปได้ดี สังคมใดมีค่านิยมต่ำทราม ขัดถ่วงการพัฒนา สังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรม พัฒนาได้ยาก จะประสบปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอย่างมากมาย ถ้าจะพัฒนาสังคมนั้นให้ก้าวหน้า ถ้าต้องการให้สังคมเจริญ พัฒนาไปได้ดี ก็จะต้องแก้ค่านิยมที่ผิดพลาดให้ได้ และต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นด้วย

เรื่องค่านิยมนี้เป็นตัวอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งของมโนกรรม มโนกรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก มีผลระยะยาว ลึกซึ้งและกว้างไกล ครอบคลุมไปหมด พระพุทธศาสนาถือว่าค่านิยมนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมองที่จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้นในการพิจารณาเรื่องกรรม จะต้องให้เข้าใจถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ถือว่ามโนกรรมสำคัญที่สุด และให้เห็นว่าสำคัญอย่างไร นี้คือจุดที่หนึ่ง

จิตสำนึก-จิตไร้สำนึก/ภวังคจิต-วิถีจิต

สืบเนื่องจากเรื่องมโนกรรมนั้น ก็ทำให้ต้องมาศึกษาเรื่องจิตให้มากขึ้น จิตใจของคนเรานี้คิดนึกอะไรต่างๆ สิ่งที่พูดและทำก็เป็นไปตามจิตใจ แต่จิตใจเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน บางครั้งและในเรื่องบางอย่างเราบอกไม่ถูกด้วยซ้ำว่าตัวเราเองเป็นอย่างไร บางทีเราทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เราบอกไม่ถูกว่าทำไมเราจึงทำอย่างนั้น เพราะว่าจิตใจมีความสลับซับซ้อนมาก

ตามหลักพุทธศาสนานั้น มีการแบ่งจิตเป็น ๒ ระดับ คือจิตระดับวิถี กับจิตระดับภวังค์ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าไร้สำนึก ภพจะเป็นอย่างไร ชีวิตแท้ๆ ที่กรรมออกผลจะเป็นอย่างไรนั้นอยู่ที่ภวังค์ แม้แต่จุติปฏิสนธิก็เป็นภวังคจิต ฉะนั้นเราจะมาพิจารณาเฉพาะจิตในระดับที่เรารู้สำนึกกันนี้ไม่ได้ การพิจารณาเรื่องกรรมนี้ จะต้องลึกลงไปถึงขั้นจิตต่ำกว่าหรือเลยสำนึกไป อย่างที่เราใช้ศัพท์ว่าภวังค์

ในจิตวิทยาสมัยนี้ก็มีหลายสาขา หลายสำนัก ซึ่งมีกลุ่มสำคัญที่เขาศึกษาเรื่องจิตแบบนี้เหมือนกัน เขาแบ่งจิตเป็น จิตสำนึก กับจิตไร้สำนึก จิตสำนึกก็คือจิตที่รู้ตัว ที่พูดสิ่งต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ แต่มีจิตอีกส่วนหนึ่งเป็นจิตไร้สำนึก ไม่รู้ตัว จิตที่ไร้สำนึกนี้เป็นจิตส่วนใหญ่ของเรา เขาเทียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ในน้ำ น้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำมีมากกว่า และมากกว่าเยอะแยะด้วย ส่วนที่โผล่มามีนิดเดียว คือจิตสำนึกที่เรารู้ตัวกันอยู่ พูดจาทำอะไรกันอยู่นี้ แต่ส่วนที่ไม่รู้สำนึกหรือไร้สำนึกนั้น เหมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้พื้นน้ำ ซึ่งมีมากกว่าเยอะแยะ เป็นจิตส่วนใหญ่ของเรา

การศึกษาเรื่องจิตนั้นจะต้องศึกษาไปถึงขั้นจิตไร้สำนึก ที่เป็นจิตส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะรู้เรื่องจิตนิดเดียวเท่านั้น การพิจารณาเรื่องกรรมก็จะต้องเข้าไปให้ถึงจุดนี้

ในเรื่องจิตไร้สำนึกนี้ มีแง่ที่เราควรรู้อะไรบ้าง แง่ควรรู้ที่หนึ่งคือที่บอกว่า สิ่งที่เราได้รับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหล่านี้ จิตจะบันทึกเก็บไว้หมดไม่มีลืมเลย

ตามที่เข้าใจกัน ตามธรรมดานี้ สิ่งทั้งหลายที่ได้ประสบนั้น เราลืมแทบทั้งหมด จำได้นิดเดียวเท่านั้น นี่เป็นเรื่องของจิตสำนึก แต่ตามความเป็นจริง ความจำเหล่านั้นยังคงอยู่ในจิตไร้สำนึก สิ่งที่สบทราบคิดนึกทุกอย่างตั้งแต่เกิดมา มันจำไว้หมด แล้วถ้ารู้จักฝึกดีๆ ก็ดึงเอามันออกมาได้ด้วย นักจิตวิทยาบางสมัยสนใจเรื่องการสะกดจิตมาก เพราะเหตุผลหลายอย่าง เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อสะกดจิตแล้วสามารถทำให้คนนั้นระลึกเรื่องราวเก่าๆ สมัยเด็ก เช่นเมื่อ ๑ ขวบ ๒ ขวบ เอาออกมาได้ ซึ่งแสดงว่าประสบการณ์เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่หมด นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง

จิตไร้สำนึก: จุดเริ่มแห่งการให้ผลของกรรม

ที่ว่ามานี้มีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับกรรม ความหมายก็คือ มันแสดงว่าสิ่งที่เราทำไว้ทั้งหมด สิ่งที่เราคิด เรานึก ทุกอย่างไม่ได้หายไปไหนเลย ยังคงอยู่ในจิตใจของเราทั้งหมด เพียงแต่เราไม่รู้ตัวและระลึกออกมาโดยจิตสำนึกไม่ได้เท่านั้น เราสามารถเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เขาศึกษา วิจัย วิเคราะห์กันทีหลังนี้มาประกอบการศึกษาเรื่องกรรมได้ด้วย ทำให้เห็นว่าวิธีการสมัยใหม่ในยุคหลังนี้ก็เป็นเครื่องช่วยย้ำสนับสนุนให้คนปัจจุบันเข้าใจหลักความจริงของจิตที่ท่านสอนไว้ว่าเป็นอย่างไร

ก. จิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่าง และปรุงแต่งชีวิตเรา

สิ่งที่เป็นประสบการณ์ของมนุษย์นี้จิตเราไม่ได้ลืมเลย และก็เป็นอันว่าจิตสั่งสมไว้ทุกอย่าง เมื่อสั่งสมแล้วก็ไม่ได้สั่งสมไว้เฉยๆ มันมีผลต่อตัวเราทั้งหมดด้วย โดยที่เราไม่รู้ตัว สภาพจิตส่วนที่ปรุงแต่งชีวิตของเรานี้ ส่วนมากเป็นจิตที่ไม่รู้ตัว

ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเรามีจิตโกรธบ่อยๆ เป็นคนฉุนเฉียว พบอะไรขัดใจนิดก็เกิดโทสะ และแสดงความเกรี้ยวกราดออกมาให้จิตกำเริบอยู่เสมอ ต่อไปถ้าสั่งสมสภาพจิตอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย ทำให้เป็นคนมักโกรธ ความโกรธง่ายจะเป็นลักษณะจิตใจ เป็นนิสัย ต่อมาสภาพจิตก็แสดงออกทางหน้าตา หน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่เสมอ กลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าบุคลิกภาพ และออกมามีผลทั้งต่อและจากผู้อื่น คนที่พบเห็นก็ไม่อยากคบ ไม่อยากพูดจาด้วย เขาอยากจะหลีกเลี่ยง กลัวจะเกิดเรื่อง อะไรทำนองนี้ แล้วก็กลับมามีผลต่อชีวิตของตนเอง

รวมความว่าเรื่องก็ดำเนินไปในลักษณะที่ว่า จากความคิดจิตใจ ก็ออกมาเป็นลักษณะนิสัย เป็นบุคลิกภาพ แล้วก็เป็นวิถีชีวิตของคนนั้น และความมีนิสัยอย่างนี้ หรือมีความโน้มเอียงอย่างนี้ ก็ชักจูงตัวเขาเอง ชวนให้ไปพบกับประสบการณ์ต่างๆ และสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนั้นๆ ขึ้นมา

ส่วนในทางตรงข้าม คนที่มีจิตเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส คิดนึกเรื่องดีๆ เสมอ เวลาพบอะไร จิตใจก็มองไปในแง่ดี สบายใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อมา หน้าก็เป็นหน้าตาที่ยิ้มแย้ม เป็นคนมีเสน่ห์ น่ารัก น่าชม ชวนให้คบหา แล้วทั้งหมดนั้น ก็ออกมาเป็นผลต่อวิถีชีวิตของเขาต่อไปด้วย นี่ก็เป็นเรื่องของการสั่งสม

ข. จิตส่วนใหญ่และขุมพลังแท้ อยู่ที่จิตไร้สำนึก

แง่ต่อไปคือ เมื่อจิตไร้สำนึกนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นส่วนที่มีกำลังมาก จิตของเรานี้เราเอามาใช้งานนิดหน่อยเท่านั้น ความจริงมันมีพลังมากมายที่เราไม่รู้ตัวและยังไม่รู้จักดึงเอามาใช้ แต่เราจะเห็นตัวอย่างได้ว่า จิตมีกำลังขนาดไหน ในเมื่อมีเหตุการณ์ที่บังคับตัวไม่ได้ เช่นเวลาเกิดไฟไหม้ขึ้น บางคนยกตุ่มน้ำได้ หรือวิ่งหนีด้วยความตกใจ มาถึงรั้วแห่งหนึ่งซึ่งสูง ปรกติแล้วกระโดดข้ามไม่ได้ แต่ด้วยความกลัวหนีภัยมานั้น สามารถกระโจนข้ามไปได้ เรื่องอย่างนี้เราได้ยินกันบ่อยๆ แสดงให้เห็นว่า ที่จริงจิตของเรานั้นมีความสามารถอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ตามปกติ เราไม่รู้จักใช้มัน มันก็เลยไม่เป็นประโยชน์

ความสามารถนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่จิตไร้สำนึกนั้น ตอนที่เราหนีภัยด้วยความตกใจก็ดี ตอนที่แบกตุ่มน้ำหรือของหนักไปได้เวลาไฟไหม้ก็ดี ตอนนั้นเราคุมสติไม่อยู่ จิตสำนึกของเราไม่ทำงาน แต่ถูกจิตไร้สำนึกกำกับการออกมาแสดงบทบาททำให้เราทำอะไรได้แปลกๆ พิเศษออกไป หรืออย่างในเวลาสะกดจิต ทำให้เอาเข็มแทงไม่เจ็บ ตลอดจนสามารถสะกดจิตแล้วผ่าตัดบางอย่างได้ ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย นี้เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งมีส่วนที่เราไม่รู้จักอีกมาก พวกนักจิตวิเคราะห์ก็มาศึกษากัน นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญชื่อนายซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ศึกษาเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกนี้มาก

ที่ว่าจิตเป็นตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์นั้น จิตสำนึกได้แต่คิดปรุงแต่งเบื้องต้นเท่านั้น ตัวปรุงแต่งสร้างสรรค์แท้จริงที่สร้างผลออกมาแก่ชีวิตส่วนใหญ่ เป็นนิสัย เป็นบุคลิกภาพ ตลอดจนเป็นชะตากรรมของชีวิตนั้น อยู่ที่จิตไร้สำนึกที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา

จะขอชักตัวอย่างหนึ่งมาแสดงให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องกรรม ซึ่งอาจจะช่วยให้เห็นทางเป็นไปได้มากขึ้น ว่าวิธีการศึกษาแบบสมัยใหม่จะมาสนับสนุนการอธิบายเรื่องกรรมอย่างไร

นายซิกมุนด์ ฟรอยด์ เล่าให้ฟังถึงกรณีหนึ่งว่า เด็กผู้หญิงอายุ ๑๗ ปี ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านกับผู้ชายคนหนึ่ง พ่อไม่พอใจมาก วันหนึ่งก็ทะเลาะกับพ่อ พ่อโกรธมากก็ทุบหน้าเด็กหญิงคนนี้ เด็กคนนี้เจ็บก็โกรธมาก อารมณ์วูบขึ้นมาก็เงื้อแขนขวาขึ้นมาจะทุบพ่อบ้าง พอเงื้อขึ้นไปแล้วจะทุบลงมา ก็ชะงักเงื้อค้าง นึกขึ้นได้ว่านี่เป็นพ่อของเรา เราไม่ควรจะทำร้าย ก็ยั้งไว้ได้ แต่ก็ยังถือว่าตัวทำถูก ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ พ่อก็โกรธไม่ยอมพูดด้วย

ต่อมาเช้าวันหนึ่ง อยู่ดีๆ เด็กคนนี้ยกแขนขวาไม่ขึ้น แขนที่จะใช้ตีพ่อนั้นขยับเขยื้อนไม่ได้เลย เรียกว่า ใช้ไม่ได้ เหมือนเป็นอัมพาต หมอทางกายตรวจดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติเลย แขนก็แข็งแรง เส้นเอ็นประสาทอะไรก็ไม่บกพร่องเสียหาย (ลองนึกเทียบกับคนที่ไปฟังผลสอบ พอรู้ว่าสอบตกก็เข่าอ่อน ยืนไม่อยู่ ทั้งที่ร่างกายกำยำล่ำสัน หรือคนที่ได้ยินศาลตัดสินประหารชีวิต อะไรจำพวกนี้)

เรื่องนี้ถ้าเราอธิบายแบบหักขาไก่แล้วต่อมาตัวเองขาหัก ก็เรียกว่าเป็นกรรมสนองแล้ว แต่ในกรณีนี้เขาเอาเรื่องจริงมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ และพยายามอธิบายตามแบบนักจิตวิเคราะห์ ศึกษาไปได้ความแล้ว เขาก็อธิบายว่า จิตไร้สำนึกของเด็กคนนี้แสดงตัวออกมาทำงาน ในเวลาที่จิตไร้สำนึกทำงานแล้ว จิตสำนึกสู้ไม่ได้ ต้องอยู่ใต้อำนาจของมัน

จิตไร้สำนึกทำงานเพราะอะไร ด้วยเหตุผลอะไร เหตุผลคือความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้น เด็กนั้นรู้ว่าการตีพ่อนี้ไม่ดี ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทุบตีจริง แต่เขาก็เงื้อแขนขึ้นกำลังจะทำอาการนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่อาจยอมรับผิดได้ เพราะเขาถือว่าเรื่องที่เขาทะเลาะกับพ่อนั้นเขาไม่ผิด จิตสำนึกแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ ความรู้สึกขัดแย้งก็หนักหน่วงท่วมทับฝังลึกลงไป ในที่สุด การที่เขาเกิดอาการแขนขยับเขยื้อนไม่ได้นั้น เป็นด้วย

๑. จิตไร้สำนึกต้องการขอความเห็นใจจากพ่อ ด้วยอาการที่เขาขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ เขาเกิดไม่สบาย มีอาการผิดปกติไปแล้ว มันจะช่วยให้พ่อเห็นใจเขาได้ เหมือนกับยกโทษให้โดยอ้อม โดยไม่ต้องพูดขอโทษ (และก็ไม่ต้องบอกว่ายกโทษ) แต่ที่แสดงออกมาอย่างนี้ จิตสำนึกไม่รู้ตัว จิตไร้สำนึกเป็นผู้ทำงาน และ

๒. เป็นการชดเชยความรู้สึกที่ว่าได้ทำผิด เหมือนว่าได้ลงโทษตัวเอง มีการลงโทษเสร็จไปแล้ว เพราะความคิดภายนอกถือว่าตัวทำถูกแล้ว ไม่ยอมไปขอโทษพ่อ ยังไปคบผู้ชาย ยังออกไปนอกบ้านตามเดิม แต่ในจิตส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่าที่ได้ทะเลาะกับพ่อ แสดงกับพ่ออย่างนั้นเป็นความผิด แล้วความรู้สึกขัดแย้งนี้ก็ลงลึกไปอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วก็ชดเชยออกมา โดยแสดงอาการให้เห็นว่ามันได้ถูกลงโทษแล้ว เป็นอันว่าฉันได้ชดใช้ความผิดนั้นแล้ว จะได้พ้นความรู้สึกขัดแย้งนี้ไปได้

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ เด็กนั้นก็เลยขยับเขยื้อนแขนไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีโรคหรือความผิดปรกติทางร่างกายเลยสักนิดเดียว แพทย์ค้นหาเหตุแล้วไม่พบ

ปัจจุบันก็มีอย่างนี้บ่อยๆ คนที่เป็นโรคทางกาย มีอาการปวดศีรษะ หาสาเหตุไม่พบต่างๆ เหล่านี้ จิตแพทย์ที่ชำนาญจะต้องค้นหาเหตุทางจิตใจ นี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามองเผินๆ หรือมองช่วงยาวข้ามขั้นตอน ก็พูดถึงเหตุและผลแค่ว่า จะตีพ่อ ต่อมาแขนที่จะตีพ่อก็เสียใช้ไม่ได้

ค. จิตทำงานตลอดเวลา และนำพาชีวิตไป

รวมความว่า จิตไร้สำนึกของเราทำงานอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันไม่ลืม ถ้าได้ทำความชั่วอะไรสักอย่าง จิตก็ไปพัวพันอยู่ แล้วไปปรุงแต่งอยู่ข้างใน เช่น ชักพาให้จิตโน้มเอียงไปหาสภาพอย่างนั้นอยู่เรื่อย หรือปรุงแต่งความคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องแบบนั้น

สมมติว่าไปหักขาไก่ไว้ จิตก็สะสมความรู้สึกและภาพนี้ไว้ในจิตไร้สำนึก แล้วมันก็ปรุงแต่งของมันวนเวียนอยู่นั่นเอง ออกไปไม่ได้ จิตครุ่นคิดแต่เรื่องขาหักๆ ๆ แล้วจิตไร้สำนึกนั้นก็คอยโอกาสชักพาตัวเองไปหาเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การที่ตัวเองจะต้องขาหัก หรือต่อไประยะยาวเมื่อไปเกิดใหม่มันก็เลยปรุงแต่งขาตัวเองให้พิการไปเลย เป็นต้น

นี้เป็นการอธิบายรวบรัดให้เห็นทางเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งในทางจิตวิทยาสมัยใหม่ก็เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ แต่ผลที่สุดมันเป็นเรื่องเหตุปัจจัยในกระบวนการของจิต เป็นเรื่องของกรรมนี้เอง นี้เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นอย่างผิวเผิน ขณะที่เรื่องจิตนี้เรายังจะต้องศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป ไม่ควรผลีผลามเอาความคิดเหตุผลอย่างง่ายๆ ของตนไปตัดสินเหตุผลที่อยู่ในวิสัยอีกระดับหนึ่งที่เลยขึ้นไป หรือสรุปเอาเรื่องที่สลับซับซ้อนลงไปอย่างง่ายๆ

พร้อมกันนั้นก็ให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า วิชาการสมัยใหม่บางอย่างอาจจะมาช่วยอธิบายสนับสนุนให้คนสมัยนี้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี และเดี๋ยวนี้นักจิตวิทยาสมัยใหม่อย่างนักจิตวิเคราะห์หลายคน ก็มาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา แล้วเอาไปใช้ในการศึกษาเรื่องจิตใจและแก้ปัญหาโรคจิต

เท่าที่พูดแทรกเข้ามาในตอนนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตของคน หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมก็ทำงานสัมพันธ์กับจิตใจนั่นเอง คือสัมพันธ์กับจิตตนิยาม จิตตนิยามกับกรรมนิยามต้องไปด้วยกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ในที่นี้เป็นเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอำนาจเร้นลับมหัศจรรย์นั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดานี่เอง ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความสัมพันธ์สืบเนื่องโยงกันอยู่ให้เห็นได้ เป็นแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่มีความสามารถที่จะเแยกแยะเหตุปัจจัยนั้นออกมาให้เห็นชัดเจนเท่านั้นเอง

เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้อย่างนี้ พอให้เห็นแนวทางแล้ว ถ้าท่านสนใจก็อาจจะศึกษาต่อไป เป็นเรื่องของการค้นคว้า เราอาจจะโยงหลักอภิธรรม เรื่องของจิต ทั้งเรื่องวิถีจิตและภวังคจิต กับเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกของจิตวิทยาสมัยใหม่ เอามาเทียบเคียงกัน อันไหนเสริมกันก็จะได้นำมาช่วยประกอบการอธิบายแก่คนยุคนี้ให้ดียิ่งขึ้นไป ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน

การให้ผลของกรรมระดับภายนอก: สมบัติ ๔ - วิบัติ ๔

แง่ต่อไป เกี่ยวกับการได้รับผลกรรมอีกระดับหนึ่ง อย่างที่เราพูดอยู่เสมอว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และมีผู้ชอบแย้งว่า ทำดีไม่เห็นได้ดีเลย ฉันทำดีแต่ได้ชั่ว ไอ้คนนั้นทำชั่วมันกลับได้ดี นี้ก็เป็นอีกระดับหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งก็ต้องมีแง่มีแนวในการที่จะอธิบาย

เบื้องแรกเราต้องแยกการให้ผลของกรรมออกเป็น ๒ ระดับ คือระดับที่เป็นผลกรรมแท้ๆ หรือเป็นวิบาก กับระดับผลข้างเคียงที่ได้รับภายนอก

ยกตัวอย่างเป็นอุปมาจึงจะพอมองเห็นชัด เช่น คนหนึ่งบอกว่า ผมขยันทำการงาน แต่ไม่เห็นรวยเลย แล้วก็บอกว่าทำดีไม่ได้ดี ในที่นี้ ขยัน คือ ทำดี และ รวย คือ ได้ดี ทำดี คือ ขยันก็ต้องได้ดี คือ รวย ปัญหาอยู่ที่ว่ารวยนั้นเป็นการได้ดีจริงหรือเปล่า

ถ้าจะให้ชัดก็ต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เช่น นาย ก. ขยันปลูกมะม่วง ตั้งใจปลูกอย่างดี พยายามหาวิธีการที่จะปลูก ปลูกแล้วปรากฏว่ามะม่วงงอกงามจริงๆ แล้วนาย ก. ก็มีมะม่วงเต็มสวน แต่ นาย ก. ขายมะม่วงไม่ได้ มะม่วงเสียเปล่ามากมาย นาย ก. ไม่ได้เงิน นาย ก. ก็ไม่รวย นาย ก. ก็บ่นว่า ผมขยัน=ทำดี ปลูกมะม่วงเต็มที่ แต่ผมไม่ได้ดี=ไม่รวย

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ นาย ก. ลำดับเหตุและผลไม่ถูก แยกขั้นตอนของการได้รับผลไม่ถูกต้อง นาย ก. ทำเหตุคือขยันปลูกมะม่วง ก็จะต้องได้รับผลคือได้มะม่วง มะม่วงก็งอกงาม มีผลดกบริบูรณ์ นี่ผลตรงกับเหตุ ปลูกมะม่วงได้มะม่วง ขยันปลูกมะม่วง ก็ได้มะม่วงมากมาย แต่นาย ก. บอกว่าไม่ได้เงิน ไม่รวยคือไม่ได้เงิน

ปลูกมะม่วงแล้วไม่ได้เงิน นี่ไม่ถูกแล้ว ปลูกมะม่วงแล้วจะได้เงินได้อย่างไร ปลูกมะม่วงก็ต้องได้มะม่วง นี่แสดงว่า นาย ก. พูดลำดับเหตุผลผิด เหตุผลที่ถูก คือ ปลูกมะม่วงแล้วได้มะม่วง แต่ปลูกมะม่วงแล้วรวย หรือปลูกมะม่วงแล้วได้เงินนี้ยังต้องดูขั้นต่อไป

ถ้าปลูกมะม่วงแล้ว ได้มะม่วงมากมาย มะม่วงล้นตลาด คนปลูกทั่วประเทศ เลยขายไม่ออก ก็เสียเปล่า เป็นอันว่าไม่ได้เงิน ฉะนั้นก็ไม่รวย อาจจะขาดทุนยุบยับก็ได้ เราต้องแยกเหตุผลให้ถูก

เป็นอันว่า อย่ามาเถียงกฎแห่งกรรมเลย ไปศึกษาพัฒนาปัญญาของคุณเองนั่นแหละ กฎไม่ผิดหรอก คุณปลูกมะม่วงก็ได้มะม่วง ส่วนจะได้เงินหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่เหตุปัจจัยอื่น ซึ่งเป็นลำดับเหตุและผลอีกช่วงตอนหนึ่ง ที่จะต้องแยกแยะวินิจฉัยต่อไปอีก เช่นว่า คุณขายเป็นไหม รู้จักตลาดไหม ตลาดตอนนี้มีความต้องการมะม่วงไหม ต้องการมากไหม ราคาดีไหม ถ้าตอนนี้คนต้องการมะม่วงมาก ราคาดี จัดการเรื่องขายได้เก่ง คุณก็ได้เงินมาจากการขายมะม่วง ก็รวย นี่เป็นอีกตอนหนึ่ง คนเราโดยทั่วไปมักจะเป็นอย่าง นาย ก. นี้ คือมองข้ามขั้นตอนของเหตุผล จะเอาปลูกมะม่วงแล้วรวย จึงยุ่ง เพราะตัวเองคิดผิด

ในเรื่องนี้จะต้องแบ่งลำดับเรื่องเป็น ๒ ขั้น ขั้นที่ ๑ บอกแล้วว่า ปลูกมะม่วงได้มะม่วง เมื่อได้มะม่วงแล้ว ขั้นที่ ๒ ทำอย่างไรกับมะม่วงจึงจะได้เงิน จึงจะรวย เราต้องคิดให้ตลอดทั้ง ๒ ตอน

ตอนที่ ๑ ถูกต้องตามเหตุปัจจัยแน่นอนแล้ว คือปลูกมะม่วงได้มะม่วง หลักกรรมก็เหมือนกัน หลักกรรมในขั้นที่ ๑ คือปลูกมะม่วง ได้มะม่วง เหตุดี ผลก็ดี เมื่อท่านปลูกเมตตาขึ้นในใจท่านก็มีเมตตา มีความแช่มชื่น จิตใจสบาย ยิ้มแย้มผ่องใส มีความสุขใจ แต่จะได้ผลอะไรต่อไปเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

สำหรับตอนที่ ๒ ท่านให้ข้อพิจารณาไว้อีกหลักหนึ่ง ดังที่ปรากฏในอภิธรรม บอกไว้ว่า การที่กรรมจะให้ผลต่อไป จะต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ ๔ และวิบัติ ๔ ประกอบด้วย คือ ตอนได้มะม่วงแล้วจะรวยหรือไม่ ต้องเอาหลักสมบัติ ๔ วิบัติ ๔ มาพิจารณา

สมบัติ คือองค์ประกอบที่อำนวยช่วยเสริมกรรมดี มี ๔ อย่าง คือ

๑. คติ คือ ถิ่นที่ เทศะ ทางไป ทางดำเนินชีวิต

๒. อุปธิ คือ ร่างกาย

๓. กาล คือ กาลเวลา ยุคสมัย

๔. ปโยค คือ การประกอบ หรือการลงมือทำ

นี้เป็นความหมายตามศัพท์ ฝ่ายตรงข้าม คือ วิบัติ ก็มี ๔ เหมือนกัน คือ ถ้า คติ อุปธิ กาล ปโยค ดี ช่วยเสริม ก็เรียกว่าเป็นสมบัติ ถ้าไม่ดี กลายเป็นจุดอ่อน เป็นข้อด้อย หรือบกพร่อง ก็เรียกว่าเป็นวิบัติ ลองมาดูว่าหลัก ๔ นี้มีผลอย่างไร

สมมติว่า คุณ ก. กับ คุณ ข. มีวิชาดีเท่ากัน ขยัน นิสัยดีทั้งคู่ แต่เขาต้องการรับคนทำงานที่เป็นพนักงานต้อนรับ อย่างที่ปัจจุบันเรียก receptionist ทำหน้าที่รับแขก หรือปฏิสันถาร คุณ ก. ขยัน มีนิสัยดี ทำหน้าที่รับผิดชอบดี แต่หน้าตาไม่สวย คุณ ข. ก็ขยัน มีนิสัยดี มีความรับผิดชอบดี และหน้าตาสวยกว่า เขาก็ต้องเลือกเอาคุณ ข. แล้วคุณ ก. จะบอกว่า ฉันขยันอุตส่าห์ทำดี ไม่เห็นได้ดีเลย เขาไม่เลือกไปทำงาน นี่ก็เพราะตัวเองมีอุปธิวิบัติ เสียในด้านร่างกาย หรืออย่างคน ๒ คนต่างก็มีความขยันหมั่นเพียร มีความดี แต่คนหนึ่งร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคออดๆ แอดๆ เวลาเลือก คนขี้โรคก็ไม่ได้รับเลือก นี้ก็เรียกว่า อุปธิวิบัติ

ในเรื่องคติ คือ ที่ไปเกิด ถิ่นฐาน ทางดำเนินชีวิต ถ้าจะอธิบายแบบช่วงยาวข้ามภพข้ามชาติ ก็เช่นว่า คนหนึ่งทำกรรมมาดีมากๆ เป็นคนที่สั่งสมบุญมาตลอด แต่พลาดนิดเดียว ไปทำกรรมชั่วนิดหน่อย แล้วเวลาจะตาย จิตไปประหวัดถึงกรรมชั่วนั้น กลายเป็นอาสันนกรรม ทำให้ไปเกิดในนรก พอดีช่วงนั้นพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ทั้งที่แกสั่งสมบุญมาเยอะ ถ้าได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัส แกมีโอกาสมากที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้ แต่แกไปเกิดอยู่ในภพที่ไม่มีโอกาสเลย ก็เลยพลาด นี่เรียกว่า คติวิบัติ

ทีนี้พูดช่วงสั้นในชีวิตประจำวัน สมมติว่าท่านเป็นคนมีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดในดงคนป่า แทนที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกล้าสามารถอย่างไอน์สไตน์ ก็ไม่ได้เป็น อาจจะมีปัญญาดีกว่าไอน์สไตน์อีก แต่เพราะไปเกิดในดงคนป่าจึงไม่มีโอกาสพัฒนาปัญญานั้น นี่เรียกว่า คติเสีย ก็ไม่ได้ผลนี้ขึ้นมา นี่คือ คติวิบัติ

ข้อต่อไป กาลวิบัติ เช่น ท่านอาจจะเป็นคนเก่งในวิชาการบางอย่าง ศิลปะบางอย่าง แต่ท่านมาเจริญเติบโตอยู่ในสมัยที่เขาเกิดสงครามกันวุ่นวาย และในระยะที่เกิดสงครามนี้เขาไม่ต้องการใช้วิชาการหรือศิลปะด้านนั้น เขาต้องการคนที่รบเก่ง มีกำลังกายแข็งแรง กล้าหาญ เก่งกล้าสามารถ และมีวิชาที่ต้องใช้ในการทำสงคราม วิชาการและศิลปะที่ท่านเก่งเขาก็ไม่เอามาพูดถึงกัน เขาพูดถึงแต่คนที่รบเก่ง สามารถทำลายศัตรูได้มาก ท่านก็ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู เป็นต้น นี่เรียกว่ากาลวิบัติ สำหรับท่านหรือนายคนนี้

ข้อสุดท้ายคือ ปโยควิบัติ มีตัวอย่างเช่น ท่านเป็นคนวิ่งเร็ว ถ้าเอาการวิ่งมาใช้ในการแข่งขันกีฬา ท่านก็อาจมีชื่อเสียง เป็นผู้ชนะเลิศในทีมชาติหรือระดับโลก แต่ท่านไม่เอาความเก่งในการวิ่งมาใช้ในทางดี ท่านเอาไปวิ่งราว ลักของเขา ก็เลยได้รับผลร้าย ถูกจับขังคุก หรือเสียคนไปเลย นี้เป็น ปโยควิบัติ

ว่าที่จริง ถ้าไม่มุ่งถึงผลภายนอกหรือผลข้างเคียงสืบเนื่องการเป็นคนดี มีความสามารถ การเป็นคนป่าที่มีสติปัญญาดี การมีศิลปะวิชาการที่ชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนการวิ่งได้เร็ว มันก็มีผลดีโดยตรงของมันอยู่แล้ว และผลดีอย่างนั้น มีอยู่ในตัวในทันทีตลอดเวลา แต่ในการที่จะได้รับผลต่อเนื่องอีกขั้นหนึ่งนั้น เราจะต้องเอาหลักสมบัติ-วิบัติเข้าไปเกี่ยวข้อง

เหมือนปลูกมะม่วงเมื่อกี้นี้ ผลที่แน่นอน คือ ท่านปลูกมะม่วง ท่านก็ได้มะม่วง นี้ตรงกัน เป็นระดับผลกรรมแท้ๆ ขั้นต้น ส่วนในขั้นต่อมา ถ้าต้องการให้ปลูกมะม่วงแล้วรวยด้วย ท่านจะต้องรู้จักทำให้ถูกต้องตามหลักสมบัติ-วิบัติเหล่านี้ด้วย เช่นต้องรู้จักกาละ เป็นต้นว่า กาลสมัยนี้คนต้องการมะม่วงมากไหม ตลาดต้องการมะม่วงไหม มะม่วงพันธุ์อะไรที่คนกำลังต้องการ สภาพตลาดมะม่วงเป็นอย่างไร มีมะม่วงล้นตลาดเกินความต้องการไหม จะประหยัดต้นทุนในการปลูกและส่งให้ถึงตลาดได้อย่างไร เราควรจะจัดดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า ฉันขยันหมั่นเพียรแล้วก็ทำไป เลยได้ความโง่มาเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของอกุศลกรรม

เป็นอันว่าต้องพิจารณาเรื่องสมบัติ-วิบัติ ๔ นี้เข้ามาประกอบ ว่าทำเลที่แหล่งนี้เป็นอย่างไร กาลสมัยนี้เป็นอย่างไร การประกอบการของเรา เช่นการจัดการขายส่งต่างๆ นี้ เราทำได้ถูกต้องดีไหม ถ้าเราปลูกมะม่วงได้มะม่วงดีแล้ว แต่เราปลูกไม่ถูกกาลสมัย เราไม่รู้จักประกอบการให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็มีกาลวิบัติ และ ปโยควิบัติขึ้นมา เราก็ขายไม่ออก เลยต้องขาดทุน ถึงขยันปลูกมะม่วงก็ไม่รวย (อาจจะจนหนักลงไปอีก)

การปฏิบัติที่ถูกต้องในการทำกรรม

เป็นอันว่า ถ้าชาวพุทธเราจะฉลาดรอบคอบในการทำกรรม ก็จะต้องทำให้ถูกทั้ง ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ ตัวกรรมนั้นต้องเป็นกรรมดี ไม่ใช่กรรมชั่ว แล้วผลดีขั้นที่ ๑ ก็เกิดขึ้น จิตใจของเราก็ได้รับผลดีที่เป็นความสุข มีความสุขเป็นวิบากเป็นต้น ตลอดจนผลดีที่ออกมาทางวิถีชีวิตทั่วๆ ไป เช่น ความนิยมนับถือต่างๆ เรียกว่ามีดีเข้ามาในตัวอยู่แล้ว

แต่ในชั้นที่ ๒ เราจะให้การงานกิจการของเราได้ผลดีมากดีน้อย เราจะต้องพิจารณาเรื่องคติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาประกอบด้วย ต้องพิจารณา ๒ ชั้น ไม่ใช่คิดจะทำดีก็ทำดีดุ่มๆ ไป

อย่างไรก็ตาม คนบางคนอาจจะเอาเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาใช้โดยวิธีฉวยโอกาส เช่น กาลสมบัติ ก็ฉวยโอกาสว่า กาลสมัยนี้ คนกำลังต้องการสิ่งนี้ ฉันก็ทำสิ่งที่เขาต้องการ โดยจะดีหรือไม่ก็ช่างมัน ให้ได้ผลที่ต้องการก็แล้วกัน นี้เรียกว่า มุ่งแต่ผลชั้นที่ ๒ แต่ผลชั้นที่ ๑ ไม่คำนึง ก็เป็นสิ่งที่เสียหายและเป็นข้อด้อยในทางกรรม

ฉะนั้น ในฐานะที่เป็นชาวพุทธจะต้องมองผลชั้นที่ ๑ ก่อน คือจะทำอะไรก็หลีกเลี่ยงกรรมชั่ว และทำกรรมดีไว้ก่อน เมื่อได้พื้นฐานดีนี้แล้ว ก็คำนึงถึงชั้นที่ ๒ เป็นผลสืบเนื่องภายนอกซึ่งขึ้นต่อ คติ อุปธิ กาล ปโยคด้วย ก็จะทำให้งานของตนได้ผลดีโดยสมบูรณ์

เป็นอันว่า ในการสอนเรื่องกรรมตอนนี้มี ๒ ชั้น คือ ตัวกรรมที่ดีที่ชั่วเอง และองค์ประกอบเรื่องคติ อุปธิ กาล ปโยค ถ้าเราต้องการผลภายนอกเข้ามาร่วม เราจะต้องให้ชาวพุทธรู้จักพิจารณา และมีความฉลาดในเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยคด้วย

สมมติว่าคน ๒ คน ทำงานอย่างเดียวกัน โดยมีคุณสมบัติเหมือนกัน ดีเหมือนกันทั้งคู่ แต่ถ้าร่างกายคนหนึ่งดี อีกคนหนึ่งไม่ดี คนที่ร่างกายไม่ดี ก็เสียเปรียบ และต้องยอมรับว่าตัวเองมีอุปธิวิบัติ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ต้องแก้ไขปรับปรุงตัว ถ้าแก้ที่ร่างกายไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มพูนคุณสมบัติที่ดีให้ดียิ่งขึ้น เมื่อดียิ่งขึ้นแล้ว คนที่ร่างกายไม่ดี แต่มีคุณสมบัติอื่น เช่น ในการทำงานมีความสามารถชำนิชำนาญกว่ามากมาย จนกระทั่งมาชดเชยคุณสมบัติในด้านร่างกายดีของอีกคนหนึ่งไปได้ แม้ตัวเองจะร่างกายไม่ดี เขาก็ต้องเอา เพราะเป็นคนมีความสามารถพิเศษ นี้ก็เป็นองค์ประกอบที่มาช่วย

ถ้าเรามีร่างกายไม่ดี บกพร่องในด้านอุปธิวิบัติ เราก็จะต้องสร้างกรรมดีในส่วนอื่นให้เหนือยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่มัวแต่ท้อใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี นี้เป็นการรู้จักเอาหลักเรื่อง คติ อุปธิ กาล ปโยค เข้ามาประกอบ และใช้ให้เป็นประโยชน์

นี่คือเรื่องการให้ผลของกรรมในแง่ต่างๆ นำมาถวายเป็นเพียงแง่คิด เพื่อให้เห็นว่าเรื่องกรรมนี้ต้องคิดหลายๆ แง่ หลายๆ ด้าน แล้วเราจะเห็นทางออกในการอธิบายได้ดียิ่งขึ้น และมีความรอบคอบสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญก็คือต้องการเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อเราจะไม่ใช่พูดแต่เพียงว่ามีเหตุอันนี้เกิดขึ้นในที่แห่งหนึ่ง ในเวลาหนึ่งนานมาแล้ว สัก ๒๐–๓๐ ปี ต่อมาเกิดผลดีอันหนึ่ง แล้วเราก็จับมาบรรจบกัน โดยเชื่อมโยงเหตุปัจจัยไม่ได้ ซึ่งแม้จะเป็นจริง ก็มีน้ำหนักน้อย ไม่ค่อยมีเหตุผลให้เห็น คนก็อาจจะไม่ค่อยเชื่อ

เราจึงควรพยายามศึกษา สืบสาวเหตุปัจจัยให้ละเอียดยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่ชัดละเอียดออกมา ไม่ปรากฏออกมาเต็มที่ แต่ก็พอให้เห็นทางเป็นไปได้ คนสมัยนี้ก็ต้องยอมรับในเรื่องความเป็นไปได้ เพราะมันเข้าในแนวทางของเหตุปัจจัยแล้ว ผมคิดว่าเรื่องกรรมจะพูดไว้เป็นแนวทางเท่านี้ก่อน

ท่าทีที่ถูกต้องต่อกรรมเก่า

มีปัญหาที่ท่านถามมาหลายข้อด้วยกัน ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องบุพเพกตวาท เป็นเรื่องที่ถามในหลักนี้ จึงน่าจะตอบ

ท่านถามว่าทารกที่คลอดมา บางครั้งมีโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือถือกำเนิดในครอบครัวที่ลำบากขาดแคลน ถ้าไม่อธิบายในแนวบุพเพกตวาทแล้ว เราควรอธิบายอย่างไรให้เข้าใจง่าย

ในการตอบปัญหานี้ ต้องพูดให้เข้าใจกันก่อนว่า การปฏิเสธบุพเพกตวาท ไม่ได้หมายความว่าเราถือว่ากรรมเก่าไม่มีผล ลัทธิบุพเพกตวาท ถือว่าเป็นอะไรๆ ก็เพราะกรรมเก่าทั้งสิ้น เอาตัวกรรมเก่าเป็นเกณฑ์ตัดสินโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นจะทำอะไรในปัจจุบันก็ไม่มีความหมาย เพราะแล้วแต่กรรมเก่า ต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ต้องแล้วแต่กรรมเก่าจะให้เป็นไป ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ นี้คือลัทธิกรรมเก่า

แต่ในทางพระพุทธศาสนา กรรมเก่านั้นท่านก็ถือว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีผลมาถึงปัจจุบัน แต่ชาวพุทธไม่จบตันอับจนอยู่แค่กรรมเก่า

ทีนี้มาถึงเรื่องที่เด็กคลอดออกมามีโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือเกิดในครอบครัวที่ลำบากขาดแคลน นี้เราสามารถอธิบายด้วยเรื่องกรรมเก่าตามหลักกรรมนิยามได้ด้วย และอธิบายตามหลักนิยามอื่นๆ ด้วย เช่น ในด้านพีชนิยามว่า ในส่วนกรรมพันธุ์พ่อแม่เป็นอย่างไร เพราะกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดได้ด้วย ถ้าพ่อแม่มีความบกพร่องในเรื่องบางอย่าง เช่นเป็นโรคเบาหวาน ลูกก็มีทางเป็นได้เหมือนกัน นี้พีชนิยาม ส่วนกรรมนิยาม ก็อาจจะอธิบายในแง่ความเหมาะสมสอดคล้องกันของคนที่จะมาเกิด กับคนที่จะเป็นพ่อแม่ ทำให้มาเกิดเป็นลูกของคนนี้ และมีความบกพร่องตรงนี้ โดยมีพีชนิยามเข้ามาประกอบช่วยกำหนด

สำหรับกรณีที่มาเกิดในครอบครัวที่ลำบากขาดแคลน ถ้าเราจะยกให้เป็นเรื่องกรรมเก่าก็ตัดตอนไป ในเมื่อเขาเกิดมาแล้วในครอบครัวอย่างนี้ เราก็ตามไม่เห็น ก็ต้องตัดตอนไปว่าทำกรรมเก่าไม่ดี จึงมาเกิดในครอบครัวขาดแคลน แต่เมื่อเกิดอย่างนั้นแล้ว ตามหลักกรรมที่ถูกต้องก็ต้องคิดไปอีกว่า เพราะเหตุที่เกิดในครอบครัวขาดแคลน ก็แสดงว่าเรามีทุนเก่าที่ดีมาน้อย ก็ยิ่งจะต้องพยายามทำกรรมดีให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อจะปรับแก้ชดเชยให้ผลต่อไปข้างหน้าดี ไม่ใช่คิดว่าทำกรรมมาไม่ดีก็ต้องปล่อยแล้วแต่กรรมเก่าจะให้เป็นไป ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ถูก

ในทางที่ถูก จะต้องคำนึงให้ครบทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ เมื่อกรรมเก่าที่มีมาไม่ดี ก็ยิ่งทำให้จะต้องมีกำลังใจเพียรพยายามแก้ไขปรับปรุง เช่น ถ้าหากคนที่เขาเกิดมาร่ำรวยแล้วเขามีความเพียรพยายามเท่านี้ สามารถประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้ เราเกิดมาในตระกูลที่ขาดแคลน เราก็ยิ่งต้องมีความเพียรพยายามให้มากกว่าเขาอีกมากมาย เราจึงจะมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้ ต้องตั้งจิตอย่างนี้จึงจะถูกต้อง

ในส่วนที่เป็นกรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ ชื่อว่ากรรมเก่า กรรมเก่าก็คือ สภาพชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันขณะนี้ สภาพชีวิตของเราก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอยู่ มีอยู่ นี้คือ กรรมเก่า คือผลจากกรรมเท่าที่เป็นมาก่อนหน้าเวลานี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะได้ทำอะไรมา สั่งสมอะไรมาก็รวมอยู่ที่นี้

กรรมเก่ามีเท่าไร ก็เรียกว่ามีทุนเท่านั้น จะทำงานอะไรก็ตาม จะต้องมองดูทุนในตัวก่อน เมื่อรวมทุนรู้กำลังของตัวถูกต้องแล้ว ก็เริ่มงานต่อไปได้ ถ้าเรารู้ว่าทุนของเราน้อยแพ้เขา เราก็ต้องพิจารณาหาวิธีที่จะลงทุนให้ได้ผลดี บางคนทุนน้อยแต่มีวิธีการทำงานดี รู้จักลงทุนอย่างได้ผล กลับประสบความสำเร็จดีกว่าคนที่มีทุนมากก็มี

ฉะนั้น แม้ว่ากรรมเก่าอาจจะไม่ดี คือร่างกายตลอดจนสภาพชีวิตทั้งหมดของเราไม่ดี แต่เราฉลาดและเข้มแข็งไม่ท้อถอย เราก็พยายามปรับปรุงตัว หาวิธีการที่ดีมาใช้ ถึงแม้จะมีทุนไม่ค่อยดี มีทุนน้อย ก็ทำให้เกิดผลดีได้ กลับบรรลุผลสำเร็จ ก้าวหน้ายิ่งกว่าคนที่ทุนดีด้วยซ้ำไป

ส่วนคนที่มีทุนดีนั้น หากรู้จักใช้ทุนดีของตัว ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่บางคนทุนดีไม่รู้จักใช้ มัวเมาประมาทเสียก็หมดทุน กลับยิ่งแย่ลงไปอีก

ดังนั้น การปฏิบัติที่ถูกต้องจึงไม่ใช่มัวท้อแท้หรือทรนงอยู่กับทุนเก่าหรือกรรมเก่า กรรมเก่านั้นเป็นทุนเดิมซึ่งจะต้องกำหนดรู้แล้วพยายามแก้ไข ปรับปรุง ส่งเสริมเพิ่มพูนให้ดีให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

เวลาหมดแล้ว ปัญหามีอีกหลายข้อ ไม่อาจจะตอบได้ เอาไว้ไปตอบเป็นส่วนตัวทีหลัง ขอถวายเรื่องกรรมไว้เพียงเท่านี้ ถือว่าเป็นเพียงแง่คิดบางอย่าง อย่างน้อยก็ถือเอาข้อพิจารณาที่มีอยู่ในคัมภีร์บางอย่างมาช่วยประกอบการอธิบายบางแง่บางด้าน ส่วนเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ก็เป็นสิ่งที่จะต้องไปศึกษาพิจารณากันต่อไป รวมทั้งการแยกแยะสืบสาวเหตุปัจจัย และการแก้ไขปัญหาในระดับสังคมด้วย

ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้สละเวลา กำลังกาย กำลังใจ มาร่วมกันอบรมพระธรรมทูตครั้งนี้ ด้วยจิตมีกุศลเจตนาที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา และประโยชน์สุขแก่ประชาชน ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งกุศลเจตนานั้น จงเป็นปัจจัยให้ทุกท่านมีกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาเข้มแข็ง ปฏิบัติศาสนกิจได้สำเร็จผลด้วยดีจงทุกประการ โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

1บรรยายในการอบรมพระธรรมทูต ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส วันเสาร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๙ (ในการพิมพ์ครั้งใหม่เดือน พ.ย. ๒๕๔๕ ได้ตรวจชำระขัดเกลาถ้อยคำสำนวน และซอยย่อหน้า เป็นต้น ให้อ่านง่ายขึ้นตลอดทั้งเรื่อง)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง