หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา1

พระพุทธศาสนาเป็นระบบความคิด คำสอน ความเชื่อถือ และการปฏิบัติที่เก่าแก่ ซึ่งเมืองไทยรับนับถือกันมาเป็นเวลานาน พระพุทธศาสนาได้มีประโยชน์เกื้อกูลแก่กิจการด้านต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาเป็นอันมาก หรือจะพูดให้ถูกว่า บรรพบุรุษของชาวไทยได้นำเอาพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ในทางการศึกษาในประเทศไทยมากบ้างน้อยบ้างตามยุคสมัย แต่ในปัจจุบัน การศึกษาที่ดำเนินกันอยู่ในระบบที่เป็นทางการ เป็นระบบสมัยใหม่ ซึ่งได้รับเอาแนวความคิดทางตะวันตกเข้ามามาก

ถึงแม้ว่าขณะนี้ เราได้หันมาสนใจที่จะนำหลักการทางพระพุทธศาสนามาใช้ในทางการศึกษา แต่เราก็มีกรอบความคิดของเราอยู่แล้วอีกแบบหนึ่ง คือแบบของสมัยใหม่หรือแบบตะวันตก ซึ่งในแง่หนึ่ง ถ้ามองให้ดีก็ดีเหมือนกัน คือ เมื่อเรามีกรอบความคิดอีกแบบหนึ่งที่ต่างออกไปเช่นนี้แล้ว เอามาใช้มองพระพุทธศาสนา เราก็อาจจะได้ประโยชน์ได้แง่คิดไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะต่างไปจากเดิมที่เคยรู้เข้าใจกันมา จึงนับว่าเป็นการริเริ่มที่ดีที่จะได้มาลองดูว่า เราจะเอาพุทธศาสนามาใช้ได้อย่างไร เมื่อว่าตามหลัก ก็ถือว่า พระพุทธศาสนาเป็นความจริง เป็นสัจธรรม เนื้อหาสาระจึงยืนยงคงอยู่อย่างนั้นเอง แต่ผู้มองสามารถมองได้ต่าง ๆ กัน จึงขอให้มาช่วยกันดูว่าเราจะมองได้อย่างไรบ้าง แล้วช่วยกันเลือกสรรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

"การศึกษา" หมายความว่าอะไร

หัวข้อปาฐกถาที่ตั้งไว้ว่า หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา นั้น ก็เหมือนกับบอกอยู่ในตัวแล้วว่า หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนาคือหลักธรรมอะไร คำว่าศึกษา เป็นคำที่มาจากสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีก็คือ สิกขา เรียกได้ว่าเป็นคำเดียวกัน เมื่อคำว่าศึกษา แปลเป็นบาลีว่า สิกขา เราก็จะพบว่า สิกขาเป็นหลักธรรมใหญ่ในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ซึ่งเราเรียกว่าไตรสิกขา หรือ สิกขา ๓ ดังนั้นจึงตอบได้เลยว่า หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนาก็คือหลัก สิกขา หรือไตรสิกขานั่นเอง จากนั้นก็ต้องหาคำตอบต่อไปว่า สิกขาคืออะไร และจะโยงไปหาอะไรต่อไปอีกบ้าง แต่ในเบื้องต้นนี้กล่าวได้ว่า สิกขาคือหลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา และสิกขานั้นมี ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หลักสิกขานี้ครอบคลุมข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา สิกขาเป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติ เมื่อหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดอยู่ในไตรสิกขา ก็กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งการศึกษา เรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น

ในทางพระพุทธศาสนา บุคคลที่ปฏิบัติถูกต้องแล้ว เข้าอยู่ในแนวทางถึงขั้นที่ยอมรับได้ ท่านเรียกชื่อว่า เสขะ แปลว่าผู้กำลังศึกษา พระเสขะ เป็นพระอริยบุคคล คือเป็นบุคคลที่เข้าสู่แนวทางที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาแล้ว เสขะ หรือ พระเสขะ ก็คือนักศึกษา เมื่อศึกษาจบแล้วไม่ต้องศึกษาอีก ก็เรียกว่า อเสขะ ซึ่งมีประเภทเดียว ได้แก่ พระอรหันต์เท่านั้น เรื่องของพระพุทธศาสนาทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการศึกษาและจบลงด้วยการจบการศึกษา กระบวนการทั้งหมด ก็เรียกว่า สิกขา อย่างนี้ จึงกล่าวว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการศึกษา

อีกคำหนึ่งที่ใช้มากคือ ภาวนา แปลว่า การฝึกฝน อบรม การทำให้เกิดให้มีให้เป็น ให้เจริญขึ้น เป็นความหมายหนึ่งของการปฏิบัติหรือกระบวนการปฏิบัติ และอีกคำหนึ่งคือ ทมะ แปลว่าการฝึกฝน โดยมากใช้บรรยายคุณสมบัติของบุคคลว่า คนที่ฝึกฝนตนดีแล้วจะเป็นผู้ประเสริฐสุดในมนุษย์ทั้งหลาย ดังคำบาลีที่กล่าวว่า ทนฺโต เสฏฺโ มนุสฺเสสุ ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแปลอย่างภาษาสมัยใหม่ก็คือ คนที่ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ก็คือคนที่มีการศึกษา พระพุทธเจ้าได้พระนามว่า อตฺตทนฺโต แปลว่า ผู้ที่ฝึกตนแล้ว(ทมะ)บ้าง ว่า ภาวิตตฺโต แปลว่า ผู้ที่ได้ฝึกอบรมตนแล้ว(ภาวนา)บ้าง รวมแล้วก็เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น คำว่า สิกขา ทมะ และ ภาวนา เป็นคำประเภทไวพจน์ มีความหมายใช้แทนกันได้ทั้งหมด ดังนั้น การที่ได้มาพูดถึงเรื่องการศึกษานี้จึงเป็นการเข้าสู่เรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรง

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ในประเทศไทย บางทีเราใช้คำว่า "ศึกษา" สับสน เช่นใช้คำว่า "ศึกษา" คู่กับคำว่า "ปฏิบัติ" กลายเป็นว่า ศึกษาอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นการใช้อย่างภาษาชาวบ้าน แต่บางทีใช้เป็นทางการก็มี ทำให้เกิดการสับสน ศึกษากลายเป็นเรียนหนังสือ และยังไม่ได้ทำ ถ้าทำเรียกว่าปฏิบัติ จึงเรียกกันว่า ศึกษาและปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จะต้องทำความหมายของสิกขา หรือศึกษาให้ชัดขึ้น ที่จริง คำว่าศึกษาเป็นการปฏิบัติ ไม่ใช่เล่าเรียน เล่าเรียนเป็นเบื้องต้นของการศึกษา ถ้าพูดให้เต็มก็คือ เรียนให้รู้เข้าใจ และทำให้ได้ทำให้เป็น หรือเรียนรู้และฝึกทำให้ได้ผล จึงจะเรียกว่าการศึกษา ไม่ใช่เรียนแต่เนื้อหาวิชาอย่างเดียว ดังตัวอย่างความหมายของสิกขาในคัมภีร์มหานิเทศ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"บุคคลย่อมศึกษาอธิศีล คือศึกษาเรื่องความประพฤติดีทางกายวาจาให้สูงขึ้นไปบ้าง ศึกษาในการฝึกอบรมจิตใจให้ดีขึ้นบ้าง ศึกษาในการอบรมปัญญาให้เจริญขึ้นไปบ้าง เมื่อหน่วงจิตคำนึงถึงการศึกษา ๓ อย่างนี้ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อเห็นคือเข้าใจก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งจิตกำหนดแน่วแน่ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อน้อมจิตกำหนดไปก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อประคองความเพียรก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อเอาสติกำหนดก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อตั้งจิตมั่นก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อรู้ทั่วชัดด้วยปัญญาก็เรียกว่าศึกษา เมื่อรู้สิ่งที่พึงรู้จำเพาะก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อกำหนดรู้สิ่งที่ควรกำหนดรู้ก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อละสิ่งที่พึงละก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อประจักษ์แจ้งสิ่งที่ควรประจักษ์แจ้งก็ชื่อว่าศึกษา เมื่อฝึกอบรมเจริญสิ่งที่ควรปฏิบัติควรฝึกอบรมก็ชื่อว่าศึกษา"2

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า

"ภิกษุเล่าเรียนพระสูตร เล่าเรียนพระวินัย เล่าเรียนพระอภิธรรม ถือปฏิบัติเป็นผู้อยู่ป่าเป็นประจำ ถือปฏิบัติเป็นผู้ฉันอาหารบิณฑบาตเป็นประจำ ถือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เอามาซักเอามาย้อมทำเองเป็นประจำ ถือมีจีวรแค่ ๓ ผืนเป็นประจำ เป็นต้น ก็ชื่อว่าศึกษา"3

ตามหลักฐานนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า คำว่าศึกษามีความหมายอย่างไร ฉะนั้น ที่เราเรียกกันว่าปฏิบัติก็คือศึกษา การใช้คำว่าศึกษาเข้าคู่กับคำว่าปฏิบัติ จึงไม่ถูกต้อง คำว่า ปฏิบัตินั้น ที่จริงต้องคู่กับคำว่า ปริยัติ กล่าวคือ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหมวดหนึ่งท่านเรียกว่า สัทธรรม ๓ มี ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติคือเล่าเรียน ปฏิบัติคือลงมือทำ ปฏิเวธคือประจักษ์แจ้งผล สามอย่างนี้ เป็นการครบวงจรของการศึกษา คือต้องมีการเล่าเรียน การปฏิบัติ และการประจักษ์แจ้งผล ส่วนที่เรียกว่าเล่าเรียนคือ ปริยัติ และทำคือปฏิบัติ สองอย่างรวมกันเรียกว่า ศึกษา ฉะนั้น ศึกษาก็คือปริยัติและปฏิบัตินั้นเอง เมื่อรวมกันแล้ว ออกผลก็คือ ปฏิเวธ

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบคำสอนของพระองค์ว่า เหมือนมหาสมุทร ซึ่งมีคุณสมบัติ ๘ ประการ ใน ๘ ประการนี้ มีข้อหนึ่งกล่าวว่า มหาสมุทรนั้นค่อยๆ ลาดลึกลงไปตามลำดับ เหมือนกับพระธรรมวินัยนี้ ซึ่งมีข้อปฏิบัติลุ่มลึกลงไปตามลำดับ เรียกว่า อนุปุพฺพสิกขา แปลว่าศึกษาไปตามลำดับ เช่นเป็นศีล สมาธิ ปัญญา คำไวพจน์ของอนุปุพฺพสิกขาก็คือ คำว่า อนุปุพฺพกิริยา แปลว่า การกระทำไปตามลำดับ และอนุปุพฺพปฏิปทา แปลว่า การปฏิบัติไปตามลำดับ ดังนั้นคำว่า สิกขา (ศึกษา) กิริยา (กระทำ) ปฏิปทา (ปฏิบัติ) จึงเป็นคำที่ใช้แทนกันได้โดยส่วนมาก และผลที่ได้จากสิกขา กิริยา หรือปฏิปทานั้น ก็คือ ปฏิเวธ ได้แก่การประจักษ์แจ้งผลดังที่กล่าวแล้ว โดยนัยนี้ ความหมายของการศึกษาจึงคลุมไปหมด คือทั้งเรียนให้รู้เข้าใจ คิดได้ ทำเป็น หรือ คิดเป็น ทำเป็น ก็รวมอยู่ในความหมายของการศึกษาทั้งหมด

ข้อที่พึงสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การศึกษาเป็นเรื่องในชีวิตจริง หรือ สัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่น เมื่อคนจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเขาประสบปัญหา ก็มีครูหรือกัลยาณมิตร ซึ่งอาจจะเป็นพ่อแม่ก็ได้ มาแนะนำชี้แจง นี้เรียกว่า เป็นส่วนแรกของการศึกษา คือ ปริยัติเกิดขึ้น และในขณะที่เขาได้รับการแนะนำชี้แจงนั้น ก็มีปัญหาที่เขาประสบรออยู่เฉพาะหน้า ซึ่งเขาจะต้องแก้ ต้องลงมือทำ เมื่อลงมือแก้ ลงมือทำ เห็นผลปฏิบัติขึ้นมา ก็เป็นปฏิเวธ กระบวนการศึกษาจึงเกิดขึ้น แต่การศึกษาจะไม่เต็มกระบวน ถ้าอยู่ในวงจำกัดอย่างที่เราทำมา คือมาเรียนในห้อง เรียนแต่เนื้อหา ซึ่งลอยตัวอยู่ไม่สัมพันธ์กับการปฏิบัติ จึงไม่ครบกระบวนการ การศึกษาที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อประสบปัญหา หรือสถานการณ์ที่จะต้องลงมือทำ แล้วได้เรียนรู้และนำมา ปฏิบัติแก้ไขปัญหา แล้วประจักษ์แจ้งผลขึ้นมา

เรื่องความหมายของการศึกษา เป็นปัญหามาเรื่อย ดังที่ปรากฏว่า ตั้งแต่สมัยเกือบร้อยปีมาแล้ว คนก็เข้าใจการศึกษาในความหมายแคบๆ ว่าเล่าเรียนหนังสือ และการพยายามทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ก็ได้มีมานานแล้วเช่นกัน เช่น ในหนังสือลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๐-๒๔๕๐ ได้พบว่า มีรายงานของพระเถระผู้ใหญ่ที่ไปจัดการศึกษาในต่างจังหวัด แล้วกราบทูลมาว่า ชาวบ้านไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เพราะไม่เห็นประโยชน์ว่าจะเรียนหนังสือไปทำไม พระองค์จึงมีลายพระหัตถ์ชี้แจงไป ความตอนหนึ่งว่า

"การเรียนหนังสือนั้นไม่ใช่ตัวศึกษา เป็นแต่เอกเทศของศึกษา การฝึกหัดให้มีความคิด สามารถประกอบกิจนั้นๆ ได้ นั่นแลเป็นตัวศึกษาโดยตรง. . . ถึงลูกชาวบ้านที่สำเหนียกในการทำกินตามตระกูล ก็ได้ชื่อว่าศึกษาเหมือนกัน"4

นี่แสดงว่าปัญหาไม่ใช่เกิดเฉพาะบัดนี้ เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้วก็มีเหมือนกัน และก็ต้องชี้แจงกันมาอย่างนี้ อีกแห่งหนึ่ง พระองค์มีพระดำริในการจัดการศึกษาว่า

"คำว่าศึกษา หมายความกว้างไม่เฉพาะแต่เรื่องหนังสือ เรียนให้รู้จักอะไรๆ เช่นรู้จักผิด รู้จักชอบ หัดทำอะไรๆ เป็น เช่นปรุงเครื่องเรือนเป็น จัดว่าศึกษาทั้งนั้น"5 เป็นอันว่า เราจะต้องทำความเข้าใจความหมายของการศึกษาให้ถูกต้อง

ทำไมจึงต้องมีการศึกษา

เมื่อได้ความหมายของการศึกษาเช่นนี้แล้ว ก็มีคำถามต่อไปว่า ทำไมจึงต้องศึกษา ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐาน ถ้าไม่มีเหตุผลว่าศึกษาทำไม แล้วเราจะเรียนไปทำไม การที่ต้องศึกษานั้น เหตุผลเบื้องแรกก็คือ ชีวิตต้องการดำรงอยู่ด้วยดีและเจริญงอกงาม แต่การดำรงอยู่ด้วยดีและความเจริญงอกงามนั้น หาได้สำเร็จแก่ชีวิตอย่างเป็นไปเองไม่ หากเป็นสภาพที่ชีวิตต้องทำให้เกิดขึ้น และในการที่จะทำเช่นนั้น ชีวิตก็ต้องเผชิญกับสิ่งบีบคั้นจำกัดขัดขวาง ซึ่งรวมทั้งความบกพร่องอ่อนแอของมันเอง สภาพที่บีบคั้นจำกัดขัดขวาง ซึ่งจะต้องแก้ไขนี้ รวมเรียกว่า ปัญหา จึงพูดสั้นๆ ได้ว่า ชีวิตนี้มีปัญหา คือชีวิตมีสิ่งบีบคั้นจำกัดขัดข้องที่จะต้องแก้ไข ปัญหาคือสิ่งที่บีบคั้นจำกัดขัดข้องนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ทุกข์

ทุกข์ แปลว่า สิ่งที่บีบคั้น ทำให้ไม่มีอิสรภาพ ทำอะไรก็ไม่โปร่งไม่โล่ง ชีวิตเกิดมาแล้วก็ต้องมีการแก้ไขปัญหา มีการบริหารตลอดเวลา ทั้งร่างกายและจิตใจ ในด้านร่างกายจะเลี้ยงอย่างไรจึงจะอยู่รอด การแก้ปัญหาก็คือต้องหาอาหาร หาปัจจัยสี่ให้ คนเรานั้นตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าไม่มีพ่อแม่ ก็อยู่ไม่รอด ต่างจากสัตว์เดรัจฉานจำนวนมากที่เกิดมาก็ออกหากินได้เองทันที พ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงดู แต่มนุษย์นี้ ถ้าเกิดมาแล้วปล่อยไปก็ตายเลย ถึงแม้โตขึ้นมาก็ยังแพ้สัตว์ เช่นลิงในป่ารู้หมดว่ากินอะไรได้ไม่ได้ แต่คนถ้าไปป่าก็ไม่รู้ว่าจะกินอะไรได้หรือไม่ กล่าวกันว่าคนถ้าไปป่า ต้องเอาลิงไปด้วย ลิงกินอะไรก็กินตามลิง ถือเป็นของกินได้ แสดงว่าต้องอาศัยลิงสอน ดังนั้น ในแง่ของสัญชาตญาณ มนุษย์เสียเปรียบสัตว์ทั้งหลายมาก รวมความว่า ชีวิตมีข้อจำกัดขัดข้อง จึงต้องบริหารแก้ไขปัญหากันตลอดเวลา ไม่เฉพาะกายเท่านั้น ทางจิตใจก็ต้องบริหารแก้ปัญหาตลอดเวลาด้วย จึงต้องยอมรับว่า ชีวิตมนุษย์มีปัญหา ซึ่งต้องบริหารแก้ไข

มีคำถามข้อต่อไปว่า ทำไมจึงมีปัญหาขัดข้องที่ต้องแก้ไขหรือมีทุกข์ที่จะต้องดับ ตอบว่า เพราะมนุษย์ยังมีความไม่รู้ มนุษย์เกิดมาพร้อมด้วยความไม่รู้ ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลาย ดังที่กล่าวไว้แล้ว เช่น ไม่รู้จักว่าจะกินอะไร ไม่รู้ว่าจะเดินได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะเป็นอยู่อย่างไร ไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร จะปฏิบัติต่อโลกหรือสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวอย่างไร จึงจะอยู่ได้ด้วยดี ไม่รู้ตลอดไปถึงว่า จะเจริญงอกงามไปถึงไหน ไปสู่จุดหมายใด ดังนั้น มนุษย์จึงต้องเรียนรู้ต้องหาความรู้ ความไม่รู้ที่ทางพระเรียกว่าอวิชชานี้ เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์ต้องมีปัญหา ทำให้ชีวิตนี้ต้องถูกบีบคั้นและถูกจำกัด มีความขัดข้องต่างๆ ที่เรียกว่าทุกข์ สิ่งที่ต้องทำก็คือจะต้องพัฒนาคนขึ้นไปให้มีความรู้ ให้มีสิ่งที่เรียกว่า ปัญญา ให้มี วิชชา พร้อมทั้งความสามารถอื่นๆ ที่จะช่วยให้แก้ปัญหาได้

เมื่อแก้ปัญหาได้ก็คือดับทุกข์ได้ เมื่อดับทุกข์ได้ก็บรรลุอิสรภาพ การแก้ปัญหาได้ ดับทุกข์ได้ หรือบรรลุอิสรภาพนั้น มีความหมายอย่างเดียวกัน แก้ปัญหาได้ก็คือ ทำให้พ้นจากสิ่งบีบคั้น ก็คือไม่มีทุกข์ เมื่อพ้นจากความทุกข์ ก็มีอิสรภาพ เป็นตัวของตัวเอง

ดังนั้น สิ่งที่ต้องการก็คือการพัฒนาคนซึ่งหมายถึงการพัฒนาปัญญา พัฒนาความรู้ และคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นเครื่องประกอบ ให้มีความสามารถในการแก้ปัญหา สรุปว่า มนุษย์ต้องการฝึกฝนพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา และการศึกษาก็เป็นเครื่องช่วยฝึกฝนพัฒนาคนให้มีความสามารถในการแก้ปัญหา หรือเป็นผู้พร้อมที่จะแก้ปัญหาได้อย่างสำเร็จผล ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตต้องการจะดำรงอยู่ด้วยดี มีความเจริญงอกงาม แต่ชีวิตนี้มีปัญหา จึงต้องมีการศึกษา เพื่อพัฒนาตนให้สามารถที่จะแก้ปัญหา ถ้าชีวิตไม่มีปัญหา ไม่มีทุกข์ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษา เมื่อศึกษาดีแล้ว ก็แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง สามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี และเจริญงอกงามเข้าถึงจุดหมายที่ชีวิตพึงต้องการ

การศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ก. หลักความเชื่อพื้นฐาน (โพธิศรัทธา)

เมื่อการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว จะศึกษาอย่างไร เริ่มต้นที่ไหน ตามปกติของมนุษย์เมื่อจะทำอะไรนั้น เราจะเริ่มต้นด้วยความเชื่อ มีความเชื่อขึ้นมาก่อน ซึ่งทางพระศาสนาเรียกว่า ศรัทธา แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ก็เริ่มต้นด้วยความเชื่อ อย่างน้อยก็เชื่อว่าในธรรมชาติต้องมีกฎเกณฑ์ มีกระบวนการแห่งเหตุผล มีระเบียบในธรรมชาติ เมื่อมีความเชื่อนี้จึงสืบสวนสังเกต ทำการหาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดปัญญา แก้ข้อสงสัย แต่ต้องมีความเชื่อเป็นพื้นฐานอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือศรัทธานั้น มีความหมายและคุณค่าที่ยังต้องแยกแยะพิจารณา กล่าวคือ ความเชื่อนั้นพูดได้ในแง่หนึ่งว่าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งคือความเชื่อที่ทำให้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ความเชื่ออีกประเภทหนึ่งตรงกันข้าม คือความเชื่อที่ทำให้เลิกศึกษา ความเชื่อประเภทที่ทำให้ต้องศึกษาต่อไปดังเช่น ความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวแล้ว กล่าวคือ เมื่อเขาเชื่อว่าธรรมชาติต้องมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ ก็ทำให้เขาต้องค้นหาว่ากฎเกณฑ์นั้นคืออะไร และด้วยความเชื่อนี้เขาก็มีพลังที่จะค้นคว้าสังเกตรวบรวมข้อมูล พิสูจน์ ทดลองต่อไป ส่วนความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เลิกศึกษาก็คือความเชื่อประเภทที่มอบจิตมอบใจฝากปัญญาไว้กับผู้อื่น ด้วยวางใจว่าเขาจะช่วยเหลือทำอะไรๆ ให้ได้ทุกอย่าง โดยที่เราไม่ต้องคิดไม่ต้องทำอะไรเลย ปลงใจมอบภาระให้เขาคิดให้ทุกอย่าง ได้แต่รอคอย ท่านว่าอย่างไรก็ว่าก็ทำไปตามนั้น

ในทางพระพุทธศาสนา ระบบการปฏิบัติก็เริ่มด้วยความเชื่อหรือศรัทธาเหมือนกัน แต่ลองมาพิจารณาดูว่าเป็นศรัทธาประเภทไหน ความเชื่อในพระพุทธศาสนา ที่เป็นเบื้องต้นของการศึกษา เรียกว่า ตถาคตโพธิศรัทธา คือความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หมายถึงเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เชื่อว่ามนุษย์มีปัญญาที่พัฒนาเป็นพุทธได้ คือเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ที่จะฝึกฝน พัฒนาได้จนสูงสุดเป็นพุทธ ตถาคตโพธิศรัทธานั้น โยงมาถึงตัวมนุษย์ เพราะความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนให้เป็นพุทธได้ มีความมั่นใจในตนเองในฐานะเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ ก่อนจะเริ่มการศึกษา ต้องมีความเชื่อนี้อยู่เป็นพื้นฐาน ชาวพุทธถ้าไม่มีความเชื่อนี้ ก็อาจจะเขวออกไปจากพระพุทธศาสนา อาจจะถึงกับกลายเป็นนักบวงสรวงอ้อนวอนไปก็ได้ ดังนั้น จึงถือเป็นหลักสำคัญว่า พุทธศาสนิกชนต้องเริ่มจากจุดนี้ว่าเรามีความเชื่ออย่างนี้หรือไม่ เราได้ปลูกฝังศรัทธานี้แล้วหรือไม่ ศรัทธานั้นพระพุทธเจ้าตรัสคำจำกัดความไว้ในพระไตรปิฎกว่า หมายถึงตถาคตโพธิศรัทธา แต่เราไม่ค่อยได้สนใจกันว่าศรัทธาที่พระพุทธเจ้าต้องการนั้น คือ ศรัทธาอย่างไร ศรัทธานี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าปราศจากศรัทธานี้ การศึกษาจะเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อไม่เชื่อในศักยภาพของตนเองว่าจะพัฒนาได้ ก็ไม่เชื่อในการพัฒนาตนเอง ไม่เกิดแรงจูงใจที่จะฝึกฝนพัฒนาแต่อย่างใด

ในพระพุทธศาสนานั้นถือหลักการนี้สำคัญมาก จึงมีพุทธภาษิตและถ้อยคำต่างๆ ที่พยายามเร้าใจพุทธศาสนิกชน ให้มีความเข้มแข็งมุ่งมั่นในการฝึกฝนพัฒนาตน โดยยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติก็มีคำตรัสเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า อาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ)ว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่สุดแห่งโลก วาจานี้ถือได้ว่า เป็นคำประกาศอิสรภาพของมนุษย์ หรือคำประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ ที่กล่าวว่าเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ ซึ่งสอนให้เชื่อในพระพรหม ว่าเป็นผู้สร้างโลก บันดาลทุกสิ่งทุกอย่างและลิขิตชะตากรรมของมนุษย์ มนุษย์จะต้องฝากความหวังและโชคชะตาไว้กับเทพเจ้า คอยอ้อนวอนเอาอกเอาใจเพื่อให้ยกโทษและประทานรางวัล ด้วยการทำพิธีบวงสรวงสังเวย มีพิธีบูชายัญเป็นต้น ในสมัยพุทธกาล สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องพยายามแก้ไขอย่างมาก คือพิธีบูชายัญ อ้อนวอนเทพผู้เป็นใหญ่ให้โปรดปราน ทำให้เกิดข้อปฏิบัติที่เป็นโทษต่อชีวิตและสังคม พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงความเชื่อของประชาชนให้เห็นว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนจนเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศได้ แม้แต่ยิ่งกว่าเทวดา มาร และพรหม ซึ่งเราจะเห็นว่า ในพระไตรปิฎกมีข้อความมากมายที่ให้เห็นว่า พระพรหม และเทวดา ทั้งหลายมาเคารพบูชาพระพุทธเจ้า มาฟังธรรมจากมนุษย์ เช่น คาถาแห่งหนึ่งว่า

มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํอตฺตทนฺตํ สมาหิตํ

. . . . . . . .. . . . . . . .

เทวาปิ นมสฺสนฺติ. . . . . . . .

แปลความว่า พระพุทธเจ้าทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นผู้ฝึกฝนตนแล้ว มีจิตตั้งมั่น. . . แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ ดังนั้น จึงถือเป็นหลักการว่า มนุษย์นั้นให้พัฒนาตนไปเถิด เมื่อพัฒนาตนดีแล้ว แม้แต่เทวดาและพระพรหมก็จะเคารพนับถือสักการะบูชา นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่พัฒนาได้ เมื่อเชื่ออย่างนี้แล้ว ก็จะเลิกฝากความหวังฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้า จะหันมาพึ่งตนเอง และฝึกฝนพัฒนาตน หลักตถาคตโพธิศรัทธา หรือเรียกง่ายๆ ว่า โพธิศรัทธา จึงมีความสำคัญมาก สรุปคือ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตนซึ่งพัฒนาได้จนเป็นพุทธ ซึ่งแม้แต่เทพก็เคารพบูชา

ประการต่อไป หลักการนี้ทำให้มีความมั่นใจ มีกำลังในการที่จะดำเนินตามระบบของการฝึกฝนพัฒนาตน เพราะเมื่อมีความเชื่อก็มีกำลังใจที่จะทำต่อไป

ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า หลักการนี้ ถ้ามองด้วยท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจเห็นว่าจะทำให้มนุษย์หยิ่งผยองลำพองตน แต่ความจริงนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเข้าใจถูกต้อง หลักการนี้จะไม่ทำให้เราผยองลำพองเลย เพราะเราไม่ได้เชื่อว่าเรานี้เก่งเกินคนอื่น แต่เราเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนได้ ความเชื่อนี้จะทำให้เกิดความสำนึกว่า เราเป็นสัตว์ที่ยังต้องพัฒนา และทำให้เราต้องการพัฒนาตน เมื่อมีความสำนึกและความต้องการอย่างนี้ เราก็ย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน ดังนั้น หลักการนี้จึงทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่หยิ่งผยองลำพองตน

ข้อที่พึงเน้นก็คือ หลักการนี้จะนำไปสู่จิตสำนึกในการศึกษา คือ การที่มีความตระหนักสำนึกตนอยู่เสมอว่า เรานี้ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตน เมื่อมีความสำนึกในการที่จะต้องพัฒนาตนอย่างนี้แล้ว ก็จะก้าวไปสู่การมีท่าทีของจิตใจอย่างถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายที่ได้ประสบรอบตัว ผู้ที่มีจิตสำนึกในการศึกษา หรือมีจิตสำนึกในการพัฒนาตนแล้ว จะมองเห็นทุกสิ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้อยู่เสมอ คือมองสิ่งทั้งหลายด้วยท่าทีของการหาข้อมูล เพื่อเอามาใช้ในการพัฒนาตน ดังนั้น หลักการเรื่องตถาคตโพธิศรัทธาจึงโยงต่อไปยังหลักสำคัญ คือ จิตสำนึกในการศึกษา ซึ่งจะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ถ้าสร้างไม่ได้ การศึกษาที่แท้จริงก็ยากที่จะเกิด คนส่วนมากก็จะมีท่าทีของปุถุชนต่อไป

ท่าทีของปุถุชนก็คือการรับประสบการณ์ต่างๆ ด้วยท่าทีของการยินดี ยินร้าย หรือชอบชัง ชอบหรือไม่ชอบแล้ว ความรู้ก็จบอยู่แค่นั้น ต่อจากนั้น ก็คิดปรุงแต่งเกิดเรื่องราวเป็นปัญหาหรือก่อทุกข์ต่อไป แต่เมื่อเกิดจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว ก็จะเปลี่ยนจากการรับประสบการณ์ต่างๆ ด้วยท่าทีของปุถุชน มาเป็นท่าทีของนักศึกษา คือ ท่าทีของการมองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ไปหมด เมื่อมีประสบการณ์เข้ามา จะไม่มองว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่จะมองว่าได้เรียนรู้อะไร จะเอาอะไรมาใช้ในการพัฒนาตนได้บ้าง เป็นการมองไปอีกอย่างหนึ่งโดยมีท่าทีที่เปลี่ยนไป

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนานี้เริ่มจากมนุษย์ เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เรียนเรื่องมนุษย์ เพื่อจะแก้ปัญหาของมนุษย์ โดยพัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง นี้เรียกว่าหลักตถาคตโพธิศรัทธา เป็นหลักการเบื้องต้นหรือหลักการพื้นฐาน

ข. หลักแม่บทของระบบบูรณาการ (พระรัตนตรัย)

หลักการแห่งตถาคตโพธิศรัทธานี้จะโยงต่อไปอีกสู่หลักการที่สอง ซึ่งความจริงเป็นเรื่องที่โยงกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อมองเข้าไปในหลักตถาคตโพธิศรัทธา คือความเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้เป็นพุทธนั้น ก็จับสาระได้ว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนไปจนสูงสุด แล้วกลายเป็นพุทธได้ แล้วมองดูภาพต้นไม้แห่งการพัฒนา ก็จะได้องค์ประกอบคู่สำคัญขึ้นมาคือ มนุษย์กับพุทธะ มนุษย์เป็นฐานแล้ว จุดสุดยอดเป็น พุทธะ

มองต่อไปอีก มนุษย์จะเป็นพุทธได้ จะพัฒนาตนอย่างไร ก็คือพัฒนาตนให้มีปัญญา รู้เข้าใจถึงความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์หรือใครก็ตามก็ต้องเรียนรู้ ความจริงของธรรมชาติ เมื่อรู้ความจริงในธรรมชาติถึงที่สุดก็เป็นพุทธ ก็มาถึงคู่ที่สอง คือธรรมชาติและความจริงของธรรมชาตินั้น การรู้จักธรรมชาติ เช่นว่า นี้เป็นต้นไม้ นี้เป็นเมฆ ฟ้า ฝน ทะเล ภูเขา รู้จักเช่นนั้นยังไม่เรียกว่ารู้ความจริงของธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่บางคนอาจไม่รู้จักต้นไม้ หรืออัญมณีบางชนิด แต่เขาเข้าใจสาระหรือแก่นแท้คือกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น การรู้จักธรรมชาติในที่นี้ไม่ใช่รู้จักอย่างที่ตามองเห็น แต่เข้าใจกฎเกณฑ์ที่เป็นสาระเป็นแก่นแท้เป็นความจริงในธรรมชาตินั้น พระพุทธเจ้าเข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น จึงเป็นพุทธ การที่เป็นพุทธ ก็คือ การเข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ความจริงคือสาระหรือแก่นแท้ของธรรมชาตินั้นเรียกว่าธรรม เมื่อเข้าถึงธรรมชาติซึ่งเป็นฐานโดยรู้ความจริง รู้กฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นก็คือรู้ธรรม ถึงตอนนี้ก็ได้องค์ประกอบคู่ที่สอง คือ ธรรมชาติกับธรรมะ จากรากฐานคือธรรมชาติ ก็ไปสู่ยอดคือ ธรรม หรือ ธัมมะ

มนุษย์ทั้งหลายจำนวนมาก หรือแม้สัตวโลกอื่นๆ ทั้งหมดนี้ ในสมัยก่อนเรียกรวมกันว่าสัตว์โลก สมัยนี้บัญญัติใหม่ว่าสังคม ในที่นี้ขอเรียกอนุโลมตามศัพท์สมัยใหม่ว่า สังคม สังคมประกอบด้วยสัตว์ทั้งหลาย หรือมนุษย์ทั้งหลายมากมาย สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ควรจะได้พัฒนาตนตามหลักที่กล่าวมาข้างต้น คือพัฒนาตนจนสูงสุดเป็นพุทธ ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลายในสังคมพัฒนาตนขึ้นไปเป็นจำนวนมากแล้ว เรามีศัพท์บัญญัติเรียกชนกลุ่มนี้ว่า สังฆะ สังฆะคือสังคม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พัฒนาตนเป็นพุทธแล้ว สังฆะจึงเป็นอุดมคติของสังคม เป็นอันว่าได้องค์ประกอบคู่ที่สามคือ สังคมกับสังฆะ จากฐานคือสังคม พัฒนาไปถึงจุดสุดยอดก็เป็น สังฆะ

ถึงตอนนี้เราก็ได้หลักสามอย่าง แยกเป็น ๒ ชุด ชุดหนึ่งเป็นฐานคือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม อีกชุดหนึ่งเป็นจุดสุดยอดที่พัฒนาแล้วด้วยการศึกษา คือ พุทธ ธรรม และสังฆะ ซึ่งเราเรียกว่าหลักรัตนตรัย นี่คือหลักใหญ่ข้อที่สอง เป็นอันว่า หลักตถาคตโพธิศรัทธาก็โยงมาสู่หลักรัตนตรัยคือหลักของคุณค่าสูงสุด คุณค่าสูงสุดของมนุษย์คือ ๓ สิ่งนี้ ซึ่งจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและความมั่นใจ ที่จะถือเอาเป็นอุดมคติของการพัฒนามนุษย์ คือ หนึ่ง มีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่พัฒนาให้เป็นพุทธได้ สอง มีความเชื่อในธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาซึ่งเราจะต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเข้าใจและปฏิบัติถูกต้องก็จะมีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ แต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็เป็นโทษแก่ตัวมนุษย์เอง สาม มั่นใจว่า เมื่อหมู่มนุษย์ได้พัฒนาตนเองแล้วเราก็จะมีสังคมที่เป็นอุดมคติที่ดีงาม เรียกว่าเป็นสังฆะ รวมสามอย่างนี้เป็นคุณค่าสูงสุดสำหรับมนุษย์ จึงเรียกว่า พระรัตนตรัย

คุณค่าสูงสุด หรือพระรัตนตรัยนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สรณะ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ สำหรับใช้นำทางชีวิตและสังคม กล่าวคือ จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของตนตามแนวทางที่จะเป็นพุทธ จะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และปฏิบัติตามความจริงคือธรรมนั้น และจะต้องพัฒนาสังคมให้ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพุทธเพื่อรวมกันเข้าเป็นสังฆะ นี้เป็นหลักนำทางชีวิตและสังคมที่จะต้องระลึกเตือนใจอยู่เสมอ เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ก็เรียกได้ว่า ถึงพร้อมด้วยไตรสรณาคมน์ คือเป็นการเข้าถึงหลักแห่งสรณะ รวมความว่า หลัก ๓ อย่างนี้ เรียกว่าไตรรัตน์หรือรัตนตรัย ในแง่ที่เป็นคุณค่าสูงสุด เรียกว่าสรณะหรือไตรสรณะ ในแง่ว่าเป็นหลักนำทางชีวิตและสังคมที่จะต้องระลึกไว้เสมอ

ฉะนั้น เราจะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างองค์ประกอบทั้งสามว่า เรามีพุทธเป็นแม่แบบหรืออุดมคติของมนุษย์ หรือพุทธในฐานะผู้ค้นพบและประกาศความจริงในธรรมชาติ ความจริงนั้นก็คือธรรมซึ่งเป็นแม่แบบเป็นสาระของธรรมชาติ และทำให้คนทั้งหลายที่เข้าใจและปฏิบัติตามเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม และทำให้สังคมนั้นพัฒนาเป็นสังฆะ รวมเป็นหลักสามประการ เรียกว่าเป็นแม่บทใหญ่ของระบบความคิดที่เรียกว่า พุทธธรรม หรือเป็นแม่บทใหญ่ เป็นกรอบรวมที่สมบูรณ์ ครอบคลุมระบบความสัมพันธ์ทั้งหมด ที่มนุษย์แต่ละบุคคลจะต้องเกี่ยวข้อง ในการดำรงชีวิตก็ตาม ในการพัฒนาตนก็ตาม การระลึกถึงหลักสามประการนี้เสมอ ก็คือในแง่ฐานล่าง เมื่อจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงองค์ทั้งสาม คือ มนุษย์ ธรรมชาติ สังคม เช่น ถ้าจะพัฒนาเทคโนโลยี ก็ต้องดูว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยให้มนุษย์ดีขึ้นด้วยไหม เกื้อกูลต่อธรรมชาติไหม ทำลายธรรมชาติหรือขัดแย้งกับธรรมชาติไหม และเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมหรือไม่ การคำนึงในระดับฐานล่าง ๓ ประการ ใช้ในกรณีของการดำรงชีวิต ส่วนในการพัฒนาตน ก็คำนึงถึงหลัก ๓ ประการ ในระดับจุดยอดที่เป็นองค์ของสรณะ ๓ คือ ระลึกเตือนใจว่า เราพัฒนาตามแนวทางสู่ความเป็นพุทธหรือไม่ ปฏิบัติตามหลักความจริงถูกต้องหรือไม่ จะทำให้มีสังคมที่ดีงามหรือไม่ ต้องคำนึงอยู่เสมอในการดำรงชีวิตและในการพัฒนาตน

การศึกษาดำเนินไปอย่างไร

หลักการทางพุทธศาสนามีลักษณะอย่างหนึ่ง คือจะต้องโยงกันได้หมด ถ้าโยงไม่ได้แสดงว่ายังไม่เข้าใจ หลักสรณะสามหรือไตรรัตน์คือ พุทธะ ธัมมะ สังฆะ จะโยงไปหาหลักอะไรได้อีก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วได้มาสั่งสอนประชาชนเพื่อให้เป็นสมาชิกของสังฆะ พระองค์ได้เสด็จไปสั่งสอนในที่ต่างๆ ทั่วไป และก็ได้เกิดมีคนที่พัฒนาตน จนได้เป็นพุทธอย่างพระองค์มากมาย จึงเป็นสังฆะขึ้น แต่วิธีการที่เดินทางสอนเรื่อยไปนั้น เป็นการทำงานที่ได้ผลช้า พระองค์จึงดำเนินวิธีการที่ปัจจุบันเรียกว่า การจัดตั้ง หรือ organization ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้สังฆะเกิดขึ้นอย่างได้ผลจริง และจะเป็นหลักประกันในระยะยาว ที่จะให้มีการทำงานพัฒนามนุษย์เพื่อประกอบกันขึ้นเป็นสังคมที่เป็นสังฆะตลอดไปนานเท่านาน พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะขึ้นมาใหม่อีกแบบหนึ่ง เราจึงมีสังฆะ ๒ แบบ แบบที่หนึ่งคือ ใครก็ตามที่ได้พัฒนาตนมีการศึกษาดีแล้ว ก็ประกอบกันเข้าเป็นสังคมที่เรียกว่า สังฆะเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งสมาชิกจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบวชมีรูปแบบ ห่มผ้าเหลือง ปลงผม เป็นชุมชนทางนามธรรม นี้เป็นสังฆะประเภทที่หนึ่ง ซึ่งบัญญัติศัพท์เรียกว่าเป็น สาวกสังฆะ อย่างในคำสวดว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ แปลว่า หมู่สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว หมายถึงบุคคลแปดประเภท รวมเป็น ๔ ชุด ได้แก่ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ จะเป็นใครอยู่ที่ไหนก็ตามก็อยู่ในกลุ่มสังฆะนี้ ต่อมาเราบัญญัติเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอริยสังฆะ แปลว่าชุมชนแห่งอารยบุคคล ต่อไปแบบที่สองคือ พระพุทธองค์ได้ทรงจัดตั้งกลุ่มคนหรือชุมชน ที่จะทำงานเพื่อให้มีสังฆะประเภทที่หนึ่งนั้นสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยจัดตั้งเป็นองค์กร เป็นขบวนการ เป็นสถาบัน เรียกว่าสังฆะเหมือนกัน ภายในสังฆะนี้มีการจัดระบบการดำเนินชีวิตให้เกื้อกูล ให้เอื้ออำนวยต่อการที่จะพัฒนาตนของสมาชิกแต่ละคน และให้เอื้ออำนวยต่อการที่จะทำงาน แนะนำสั่งสอนชักจูงคนให้พัฒนาตนเข้าสู่ระบบสังคมที่เป็นสังฆะอย่างแรกนั้น สังฆะประเภทที่สองจึงเกิดขึ้น เป็นชุมชนทางรูปธรรม เรียกว่าภิกขุสังฆะ หรือ สมมติสังฆะ เป็นหน่วยจัดตั้งเพื่อทำหน้าที่นำคนให้มาประกอบกันเป็นสังฆะประเภทที่หนึ่งต่อไป

สังฆะประเภทที่หนึ่งที่เรียกว่าสาวกสังฆะหรืออริยสังฆะนั้น เกิดจากการพัฒนาตนของแต่ละคนให้เข้าถึงธรรมะคือตัวความจริง สังฆะประเภทนี้อยู่คู่กับธรรม ธรรมเป็นตัวสาระที่จะเอามาพัฒนาคนเพื่อให้เข้าถึงธรรมเป็นพุทธแล้วก็เข้าร่วมอยู่ในสังฆะ แต่สังฆะประเภทที่สองที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นมาเป็นสถาบันเป็นองค์กรนั้น มีระเบียบบทบัญญัติที่เราเรียกว่าวินัยเป็นตัวกำหนด วินัย ก็คือระบบการจัดตั้ง ระเบียบของสังคม แบบแผนประเพณีของสถาบันหรือขององค์กรที่จะทำให้คนที่อยู่ในกลุ่มนั้นมีชีวิตที่เหมาะสม เหมาะแก่การทำงานที่จะสร้างสังฆะให้สำเร็จ คนในสังฆะอาจเป็นปุถุชน มีความดีงามในจิตใจยังไม่มาก แต่สมัครใจและมีคุณสมบัติพอ ก็รับเข้ามาอบรมเพื่อจะสร้างสังฆะ โดยทำหน้าที่ทั้งในทางพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกของสังฆะประเภทที่หนึ่ง และช่วยเผยแผ่ สืบต่อคำสอนสืบทอดเจตนารมณ์ของพุทธไว้ โดยสั่งสอนธรรม ให้คนมาร่วมเป็นสมาชิกของสังฆะกันมากขึ้น สังฆะประเภทที่สองนี้คู่กับวินัย ด้วยเหตุนี้ จึงมี วินัยคู่กับธรรม

ถึงตอนนี้ก็ขึ้นสู่หลักที่สาม ที่เรียกว่าหลักธรรมวินัย พระพุทธศาสนาประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรม กับ วินัย รวมเป็น ปาพจน์ ดังนั้น จากหลักรัตนตรัยก็ก้าวมาสู่หลักที่เรียกว่า ปาพจน์ ๒ คือหลักแม่บทด้านปฏิบัติการ หลักนี้ทำให้เราต้องคำนึงว่า มิใช่เฉพาะธรรมเท่านั้นที่สำคัญ วินัยก็สำคัญเหมือนกัน และวินัยนั้นก็ไม่ใช่มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย ในภาษาไทยคำว่าวินัย เราใช้กันในความหมายเพียงแง่หนึ่ง หรือส่วนหนึ่งของความหมายเดิมเท่านั้น แต่ในความหมายที่แท้จริง วินัย หมายถึงระบบแบบแผนการจัดตั้งทั้งหมด ถ้าเทียบกับสังคมปัจจุบัน การจัดวางระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมือง การปกครอง วัฒนธรรมประเพณีนั้นอยู่ในเรื่องวินัยทั้งสิ้น ธรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีในธรรมชาติ ส่วนวินัย เป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นระบบแบบแผนที่มนุษย์จัดตั้งขึ้น พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของผู้ที่จัดตั้งระบบแบบแผนของมนุษย์ วินัยก็คือการจัดวางระบบสังคมเพื่อช่วยมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมนั้นเอง ดังนั้น วินัยจึงต้องอาศัยธรรมเป็นฐานอิง โดยมีจุดหมายเพื่อจะนำไปถึงบั้นปลาย คือเพื่อดำเนินไปให้เข้าถึงธรรม วินัยเป็นวิธีการของมนุษย์เพื่อทำให้ธรรม ออกผลในสังคม ดังนั้น ในการฝึกอบรมมนุษย์จึงต้องมีทั้งสองอย่าง คือธรรมและวินัย จะมีด้านเดียวไม่พอ โดยเฉพาะในการเกี่ยวข้องกับสังคมทั้งหมดเป็นส่วนรวม

สรุปว่า เราจะต้องมีความเชื่อพื้นฐาน คือเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนได้ และการที่จะพัฒนาตนให้เป็นพุทธได้ ก็โดยเข้าถึงความจริงที่เป็นแก่นแท้ของธรรมชาติ และปฏิบัติให้สอดคล้อง โดยนำเอาความจริงในธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ ช่วยกันพัฒนามนุษย์ให้เป็นสมาชิกของสังคมที่เรียกว่าสังฆะ

หลักแม่บทของการแก้ปัญหา

ก. ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการแก้ปัญหา

คำถามต่อไปก็คือ เราจะพัฒนาตนได้อย่างไร ดังได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตนี้เป็นปัญหา การพัฒนาตนนั้นเป็นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ในการดับทุกข์ ในการบรรลุถึงอิสรภาพ การที่จะทำได้ก็คือ เมื่อมีความเชื่อในศักยภาพของตนเป็นพื้นฐานแล้ว ก็มาปฏิบัติตามวิธีการแก้ปัญหา เพราะการพัฒนาตนก็คือพัฒนาปัญญาให้มีความรู้ที่เข้าใจในเหตุปัจจัยของกระบวนการแห่งเหตุผลที่มีในธรรมชาติ แล้วเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ การนำเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ เป็นระบบการแก้ปัญหาตามแนวทางของปัญญา การแก้ปัญหาตามระบบวิธีเหตุผลนี้ เราเรียกว่าเป็นหลักอริยสัจ ๔ เป็นวิธีการแห่งปัญญาในระบบการแก้ปัญหาตามเหตุผล คนที่เชื่อในหลักตถาคตโพธิศรัทธา มีศรัทธาในพระรัตนตรัยแล้ว ถ้าเชื่อถูกต้องตามแนวทางจริงแล้ว ก็จะก้าวมาสู่การแก้ปัญหาตามหลักของอริยสัจ เหมือนดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า

พหุํ เว สรณํ ยนฺติ . . . ชนทั้งหลายจำนวนมาก ถูกภัยหรือความกลัวคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขาต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เป็นต้นเป็นที่พึ่งที่ระลึก แต่ที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ทำให้คนพ้นจากความทุกข์ได้จริง ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะนำทางชีวิตแล้ว มารู้เข้าใจหลักการของอริยสัจแล้วแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจนี้ จึงจะพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง

ดังนั้น หลักรัตนตรัยก็มาเชื่อมโยงกับหลักอริยสัจ คือเมื่อเราเชื่อในรัตนตรัย เราก็จะแก้ปัญหาตามวิธีการของปัญญาที่เรียกว่าอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นหัวข้อง่ายๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด

ทุกข์ คือปัญหาของมนุษย์ หรือแปลตามศัพท์ว่า สิ่งที่บีบคั้นจำกัดขัดข้องของชีวิตและสังคม ชีวิตและสังคมของเรายังไม่ปลอดโปร่ง ยังไม่มีอิสรภาพ เรียกว่ามีทุกข์อยู่ ทุกข์เป็นตัวปัญหา

ต่อจากนั้นต้องค้นหาสาเหตุ สาเหตุของปัญหานั้นมีศัพท์เรียกว่า สมุทัย เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ต้องละสาเหตุ

ต่อไปหลักการในการละเป็นอย่างไร เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของชีวิตและสังคมคืออะไร วัตถุประสงค์ หรือสิ่งที่ต้องการนั้น เราจะต้องรู้เข้าใจ และต้องรู้หลักการในการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง หลักการนี้เรียกว่านิโรธ หรือความพ้นทุกข์ เป็นหลักการดับทุกข์ และสภาวะที่เป็นจุดหมายเมื่อดับทุกข์ได้สำเร็จ

เมื่อมีหลักการในการแก้ปัญหาแล้ว รู้จุดหมาย รู้ความต้องการแล้ว ก็มีเรื่องที่ต้องรู้ต่อไปคือ จะมีกลวิธีในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้บรรลุจุดหมายนั้น เพื่อจะกำจัด แก้ไขสาเหตุนั้น วิธีปฏิบัตินั้นเรียกว่ามรรค

ดังนั้น จึงสรุปหลักการแก้ปัญหาว่ามี ๔ ข้อ คือ ทุกข์ ได้แก่ ปัญหา หรือสิ่งบีบคั้นจำกัดขัดข้อง สมุทัย สาเหตุของปัญหา นิโรธ หลักการและจุดหมายของการแก้ปัญหา มรรค วิธีการปฏิบัติของมนุษย์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้สำเร็จ

อริยสัจนี้เป็นหลักแม่บทในการแก้ปัญหา และพัฒนาตนเพื่อสร้างอิสรภาพของมนุษย์ เรียกว่าเป็นวิธีการแห่งปัญญาในการแก้ปัญหา หรือการแก้ปัญหาตามระบบวิธีของเหตุและผล ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักอริยสัจ คือเป็นหลักที่ต้องใช้ปัญญา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้องใช้ปัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุอิสรภาพ ซึ่งเป็นภาวะที่หลุดพ้น ปลอดปัญหา

ข้อสังเกตต่อไปคือ อริยสัจนี้เป็นหลักการแก้ปัญหาตามเหตุผล ถ้าเรียงลำดับตามหลักการของเหตุผล ท่านเรียงผลก่อนเหตุเป็นคู่ๆ คือ ข้อหนึ่ง ทุกข์หรือปัญหา ข้อสอง สาเหตุของปัญหา ข้อหนึ่งคือทุกข์เป็นผล ข้อสองคือสมุทัยเป็นเหตุ อีกคู่หนึ่ง นิโรธคือจุดหมายที่ต้องการ ก็เป็นผล ส่วนมรรคเป็นวิธีปฏิบัติให้สำเร็จผล ก็เป็นเหตุ โดยสาระสำคัญคือเป็นเรื่องของเหตุผล

มีปัญหาว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเรียงผลก่อนเหตุ ถ้าตามลำดับสามัญเราคิดว่าต้องเรียงเหตุก่อนผล เพราะเหตุมาก่อน การที่เรียงเช่นนี้ก็มีเหตุผล กล่าวคือ การเรียงผลก่อนเหตุตามวิธีของอริยสัจนี้ เป็นหลักการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และใช้ได้ผลจริง ในการสอนก็ตาม การปฏิบัติก็ตาม จะให้ได้ผลจริงต้องเรียงเช่นนี้ เราประสบปัญหาก่อน แล้วเราจึงสืบหาเหตุ เสร็จแล้วก็ดูว่าปัญหานั้นจะแก้ไขได้ไหม สาเหตุนั้นจะกำจัดได้ไหม เมื่อจะลงมือแก้ปัญหาก็ต้องรู้ก่อนว่า จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เราต้องการจุดหมายนั้นไหม แล้วจึงดำเนินวิธีปฏิบัติให้ถึงจุดหมายนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเรียงผลก่อนเหตุ เรียงอย่างนี้เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่เรียงตามทฤษฎี แต่เรียงเพื่อให้ใช้ได้ผลตามความเป็นจริง

ในการสอนก็เช่นเดียวกัน ต้องเรียงอย่างนี้ คือสอนจากสิ่งที่ปรากฏไปหาสิ่งที่ไม่ปรากฏ จากสิ่งที่รู้อยู่แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่รู้ จากสิ่งที่คนสนใจอยู่แล้วไปหาสิ่งที่ยังไม่สนใจ ถ้าสอนสมุทัยก่อน คนก็ไม่สนใจว่าสอนทำไม แต่ถ้าสอนเริ่มด้วยปัญหาที่เขาประสบอยู่ ทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสนใจและมองเห็นอยู่แล้ว ก็ทำให้ชี้แจงกันง่าย และคนก็มีความสนใจอยากแก้ปัญหา เป็นการเร้าความสนใจ ดังนั้นจึงต้องสอนทุกข์หรือปัญหาก่อน คนมีปัญหาก็อยากพ้นไปจากปัญหา คนมีทุกข์ก็อยากพ้นทุกข์ เมื่อเขามองเห็นปัญหาแล้ว เขาก็อยากแก้ไขแน่นอน เราก็บอกว่าต้องค้นหาสาเหตุของมัน แล้วมาช่วยกันค้นหาเหตุปัจจัย ก็ก้าวไปสู่ข้อที่สองได้ ส่วนในข้อที่ ๔ ก็ต้องเร้าความสนใจให้เห็นว่าทุกข์นี้แก้ได้ ปัญหาแก้ไขได้ แก้ไขแล้วดีอย่างไร เมื่อคนรู้ว่าแก้ไขแล้วดีอย่างไร มองเห็นจุดหมายที่ดี เขาก็มีกำลังใจที่จะปฏิบัติ ยิ่งอยากไปถึงจุดหมายเท่าไร เขาก็ยิ่งพร้อมที่จะปฏิบัติเท่านั้น แต่ถ้าบอกวิธีปฏิบัติเสียก่อน เขาเห็นว่ายากแล้วอาจไม่สนใจแก้ไขเลย ดังนั้น โดยวิธีการต้องทำเช่นนี้ หลักอริยสัจจึงเรียงจากผลไปหาเหตุ เป็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำให้มนุษย์มีกำลังใจว่า ปัญหาของมนุษย์แก้ไขได้ด้วยการกระทำของมนุษย์เอง ด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจดลบันดาลจากภายนอก นี้เป็นแนวทางของอริยสัจ และเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาชีวิตนี้เอง เกี่ยวกับการดำรงอยู่แห่งชีวิตของเรานี่เอง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด อริยสัจจับตรงลงไปที่ตัวชีวิตของทุกคน จึงเป็นเรื่องของทุกคนและทุกชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสนใจก็ได้ ไม่สนใจก็ได้ ทุกคนที่ต้องการแก้ปัญหาให้ได้ผล ก็ต้องดำเนินตามแนวอริยสัจนี้

ข. กิจกรรมในการแก้ปัญหา

สิ่งที่ต้องสนใจต่อไป คือหน้าที่ของเราต่ออริยสัจ ซึ่งเรียกว่ากิจในอริยสัจ กิจคือหน้าที่หรือสิ่งที่ต้องทำ หมายความว่า อริยสัจแต่ละข้อมีข้อกำหนดว่าเราควรจะทำอะไรต่อมัน เราต้องรู้ว่า ทุกข์นี้เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร สมุทัยเรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร นิโรธเรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร มรรคเรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร

ทุกข์คือปัญหา เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ของเราต่อปัญหา คือต้องรู้เข้าใจว่าตัวปัญหาคืออะไร ต้องเข้าใจให้ชัด ท่านเรียกว่าหน้าที่ต่อทุกข์คือ ปริญญา ปริญญาคู่กับทุกข์ ปริญญาคือการกำหนดรู้ ทำความรู้จัก รู้ความทุกข์ รู้ปัญหา จะแก้ปัญหาต้องรู้จักปัญหาก่อน ปัญหาอยู่ที่ไหน มีขอบเขตแค่ไหน ถ้าไม่รู้จักปัญหา ก็แก้ไขไม่สำเร็จ

สมุทัย เหตุของทุกข์ เรามีหน้าที่จะต้องละต้องกำจัด ศัพท์พระเรียกว่า ปหานะ

นิโรธ จุดหมายหรือผลที่ต้องการนั้น เรามีหน้าที่ต้องประจักษ์แจ้ง ต้องเข้าถึง ต้องบรรลุ หรือทำให้สำเร็จ เรียกตามศัพท์ว่า สัจฉิกิริยา

มรรค วิธีปฏิบัติ หน้าที่ของเราคือลงมือทำหรือลงมือปฏิบัติ ศัพท์พระเรียกว่า ภาวนา

สรุปว่า ทุกข์ ต้องรู้จัก สมุทัย ต้องละ ต้องแก้ นิโรธ ต้องประจักษ์แจ้ง ต้องเข้าถึง และ มรรค ต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ เมื่อรู้หน้าที่แล้ว ก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง

สิ่งที่ควรเรียนรู้ในกระบวนการแก้ปัญหา

ก. ชีวิตและโลก

เนื้อหาที่ยกมาให้ดูในที่นี้ แสดงไว้พอให้เห็นเป็นหัวข้อไปก่อนว่า ในเรื่องทุกข์มีอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้ ในเรื่องสมุทัย มีอะไรที่เราจะต้องละหรือต้องแก้ไข ในเรื่องนิโรธมีอะไรที่เราจะต้องประจักษ์แจ้ง และในเรื่องมรรค มีอะไรที่เราจะต้องทำ

ต่อไปนี้จะเข้าสู่เนื้อหาโดยสังเขป เริ่มต้น ในเรื่องทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์นั้น มีอะไรบ้างที่จะต้องรู้จัก ทุกข์นั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ชีวิตของเรานี้เอง ชีวิตของเรายังมีปัญหา มีความทุกข์ เป็นที่รองรับของความทุกข์ รองรับปัญหา จึงต้องรู้จักชีวิตก่อน ดังนั้น เรื่องแรกที่ต้องเรียน คือต้องรู้จักชีวิต ชีวิตนี้ในทางพุทธศาสนาท่านมีศัพท์เรียกว่า ขันธ์ ๕ พุทธศาสนามองชีวิตเป็นหน่วยย่อยๆ ที่มารวมกันเข้า เป็นการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ เรียกว่าขันธ์ ๕ เรามาเรียนเรื่องขันธ์ ๕ คือเรียนเรื่องชีวิต หรือระบบชีวิต เพราะเราจะแก้ปัญหาของระบบชีวิตทั้งกายและใจ คนมีทุกข์ คือระบบของชีวิตมีปัญหา เกิดความบีบคั้นขัดข้อง เราจะต้องแก้ไขให้ระบบนี้เรียบร้อยคล่องตัว เหมือนแพทย์จะเรียนแก้ไขโรค เริ่มแรกก็ต้องรู้จักร่างกาย เพราะโรคอาศัยร่างกายเป็นที่รองรับ จึงต้องเรียนเรื่องร่างกาย หรือกายวิภาค และสรีรวิทยา แบ่งแยกให้เห็นว่าส่วนของร่างกายมีอะไร ทำหน้าที่ทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร แต่เราเรียนเรื่องชีวิตกว้างกว่านั้น ต้องเรียนทั้งกายและใจ ซึ่งมี ๕ ขันธ์ อาจจะเรียกว่าเป็นขันธวิภาค และเรียนขันธวิทยา เป็นอันว่า จะแก้ปัญหาต้องรู้จักตัวเรา ชีวิตของเรา รู้ว่าที่ตั้งของปัญหาเป็นอย่างไร คือเรียนเรื่องขันธ์ ๕ หรือเรื่องระบบชีวิต

ประการที่สอง ชีวิตที่มีปัญหาเกิดขึ้นนั้น มีกิจกรรม มีความสัมพันธ์กับโลก มีการรับรู้ประสบการณ์จากโลกเข้ามา และมีการปฏิบัติต่อโลก การเกี่ยวข้องกับโลกนี้เองเมื่อทำไม่ถูกต้องก็ทำให้มีปัญหา มนุษย์จะดำเนินชีวิตต่อไป ก็ต้องอยู่ในโลกนี้ให้ได้ดี ต้องแก้ปัญหาในการที่ไปเกี่ยวข้องกับโลก ดังนั้น ปัญหาชีวิตก็ต้องเนื่องกันกับโลก โลกนี้ปรากฏแก่มนุษย์ทางไหน โลกปรากฏแก่มนุษย์เป็นประสบการณ์เข้ามาทางอินทรีย์หรืออายตนะ ในระบบชีวิตของเรา สิ่งที่สัมพันธ์กับโลกก็คือ อายตนะ ซึ่งเป็นช่องทางแห่งการรับรู้ จึงต้องเรียนด้านที่สำคัญของชีวิตอีกด้านหนึ่ง เป็นด้านที่สอง คือ อายตนะ ๖ อย่าง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งเกิดปัญหา ทั้งแก้ปัญหา ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับโลก ก็ทางอายตนะ ๖ นี้ เป็นอันว่า ในเรื่องชีวิตด้านที่สองต้องเรียนเรื่องอายตนะ ๖ การเรียนเรื่องอายตนะ ๖ เป็นการเรียนเรื่องชีวิตโดยโยงไปหาโลก ตอนแรกเรียนเรื่องขันธ์ ๕ คือ ชีวิต ต่อมาเรียนอายตนะ คือ เรียนชีวิตและโลก ตามที่เข้ามาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จากชีวิตก้าวไปสู่โลก ถ้าเรียนอายตนะของเราเอง คือ เรียน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน ๖ ถ้าเรียนโลกภายนอกที่ปรากฏแก่เรา ก็เรียกว่าอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกายที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คือสิ่งที่รู้ที่คิดในใจ ทั้ง ๖ อย่างนี้ เป็นประสบการณ์ที่รับรู้เข้ามา เป็นข้อมูลให้แก่ชีวิต โลกทั้งหมดที่เรารู้จักมีเพียงเท่านี้

ข. ตัวก่อและตัวแก้ปัญหาของชีวิต

หลักที่สาม คือลักษณะของชีวิตและโลก ที่ทางพระรวมเรียกว่าสังขาร ชีวิตและโลกมีลักษณะอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ชีวิตและโลกนี้มีลักษณะประการที่หนึ่ง ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ เรียกว่า อนิจจัง ประการที่สอง มีลักษณะบีบคั้น ขัดแย้ง เรียกว่า ทุกข์ ประการที่สาม คือ ไม่ขึ้นกับความปรารถนาของใคร ไม่เป็นตัวตนของใคร แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าเป็น อนัตตา สรุปว่า ลักษณะของโลกและชีวิตเป็นเช่นนี้ จึงมีศักยภาพหรือมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้น ถ้าชีวิตเที่ยงแท้คงที่ก็คงไม่มีปัญหา ไม่มีทุกข์ หรือถ้ามันไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา ชีวิตก็ไม่มีทุกข์แน่นอน แต่ชีวิตและโลกเป็นอย่างนี้ เราจึงมีปัญหาที่ต้องแก้ ถ้าเราต้องการจะแก้ปัญหา เราก็ต้องรู้จักปัญหา รู้ลักษณะความเป็นจริง รู้เท่าทันโลกและชีวิตนั้น คือต้องรู้จักลักษณะ ๓ อย่าง ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ นี้ ดังนั้น ในเรื่องทุกข์นี้หลักใหญ่ๆ ที่ต้องเรียน ก็คือเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องอายตนะ ๑๒ และเรื่องไตรลักษณ์

ต่อไป สาเหตุของปัญหาคืออะไร เพราะมนุษย์มีความไม่รู้ ความไม่รู้นี้ทำให้ปฏิบัติต่อทุกสิ่ง ทั้งต่อชีวิตของตนเอง และต่อโลกไม่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความไม่รู้นี้เรียกว่า อวิชชา เมื่อไม่รู้แต่ก็ต้องพยายามอยู่ให้รอด ก็ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนทะยานไปตามความอยาก ความดิ้นรนทะยานอยากนี้เรียกว่า ตัณหา เมื่อดิ้นรนทะยานไปตามความอยาก โดยความไม่รู้ เป็นความมืดบอด ก็แก้ปัญหาผิดพลาด แทนที่จะแก้ปัญหาสำเร็จก็สร้างปัญหามากขึ้น ตัณหาจึงเป็นตัวเหตุสำคัญของปัญหา ตัณหาสืบมาจากอวิชชา ถ้าไม่มีอวิชชาก็ไม่ใช้ตัณหาและก็จึงไม่มีปัญหา กระบวนการที่อวิชชาเป็นฐานก่อตัวให้เกิดตัณหา จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ทั้งหมดนี้เรียกว่าหลักปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้น ในเรื่องสมุทัย จึงต้องเรียนหลัก ปฏิจจสมุปบาท กระบวนการปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อรู้กระบวนการแล้วรู้จุดของปัญหา รู้ตำแหน่งของสาเหตุแล้ว ก็จะแก้ได้ กระบวนการนี้ เมื่อสรุปแล้วจะได้เป็น ๓ ส่วน คือ กิเลส กรรม และวิบาก กรรมเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของชีวิตมาก ท่านจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังนั้น ในหลักของสมุทัยจึงเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา รวมทั้งเรื่องกรรมด้วยเป็นส่วนสำคัญ

ต่อไป เมื่อจะแก้ไข เรารู้สาเหตุแล้วก็ไปดับตรงเหตุ ไปทำลายอวิชชา โดยสร้างปัญญาขึ้นมา เพื่อไม่ให้พฤติกรรมของเราถูกกำหนดขึ้นมาด้วยความดิ้นรนทะยานไป ตามอำนาจความอยาก ภายใต้ความมืดบอดของอวิชชา แต่ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้เหตุรู้ผล เข้าใจกระบวนเหตุปัจจัย นำเอาความรู้ในกระบวนเหตุปัจจัยมาใช้แก้ปัญหา เมื่ออวิชชาดับเพราะเกิดปัญญา หรือเกิดวิชชาขึ้นมา กระบวนการของทุกข์ก็ดับไป กระบวนการที่ดับไปตามลำดับ คือ อวิชชาดับ สังขารดับ . . . ตัณหาดับ อุปาทานดับ ฯลฯ เราเรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทในส่วนย้อนวงจร หรือ ปฏิจจสมุปบาทขาดนั่นเอง คือขาดวงจร เมื่อปฏิจจสมุปบาทขาดวงจร ก็เป็นผลสำเร็จ คือชีวิตนี้ได้แก้ปัญหาสำเร็จ บรรลุอิสรภาพ ข้อนี้เรียกว่า นิโรธ ดังนั้น ในเรื่องนิโรธ จึงเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทในส่วนวงจรขาด และเรียนเรื่องจุดหมายที่ว่าเมื่อทำลายวงจรปฏิจจสมุปบาทได้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น นิโรธนั้นเรียนไปถึงการเกิดวิชชา เกิดวิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ที่เรียกอย่างปัจจุบันว่าอิสรภาพ เกิดวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ เกิดสันติ เกิดความสงบ เกิดความสุขที่แท้จริง เกิดนิพพาน เรื่องเหล่านี้จะเรียนอยู่ในหัวข้อว่าด้วยนิโรธทั้งสิ้น จัดเป็นจุดหมายที่ชีวิตต้องการ

นอกจากจุดหมายสูงสุดแล้ว ก็ยังมีจุดหมายย่อยเป็นขั้นเป็นตอนอีก หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องรอเข้าถึงจุดหมายสูงสุดหนเดียว ในระหว่างนี้ยังมีจุดหมายย่อยๆ เรียกว่า นิโรธ หรือวิมุตติ ซึ่งแยกเป็น ๕ ขั้น เป็นจุดหมายในระดับต่างๆ ที่เราจะเข้าถึงได้

อนึ่ง ในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงจุดหมายนี้ ก็มีประโยชน์หรือคุณค่าที่พึงประสงค์ของชีวิต ที่เรียกว่าอัตถะ ซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้ จัดเป็นจุดหมายชีวิตที่เป็นขั้นตอนต่างๆ เช่นเดียวกัน คือ จุดหมายชีวิตในระดับสามัญ สำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลก เราควรมีอะไรบ้าง เช่น มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม เหล่านี้ เป็นต้น จัดเป็นประโยชน์ขั้นต้นเรียกว่า ทิฏฐธรรมิกัตถ สูงขึ้นไปเป็นประโยชน์ในทางจิตใจ ประโยชน์เบื้องหน้า ได้แก่ ความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตนว่า เราได้ประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีลธรรม มีความสุจริต ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น มีปัญญารู้เข้าใจโลกและชีวิต พอที่จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ลุ่มหลงมัวเมา เป็นต้น เรียกว่า สัมปรายิกัตถ และที่สูงสุด คือ ลุอิสรภาพสมบูรณ์ มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ พ้นแล้วจากความทุกข์ มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ซึ่งเรียกว่าปรมัตถ

ประโยชน์สามอย่างนั้น อาจแบ่งในแง่ของตนเองและผู้อื่นก็ได้ คือ ทุกคนควรเข้าถึงประโยชน์หรือจุดหมายทั้งสามระดับนั้น และร่วมมือช่วยเหลือให้คนอื่นๆ เข้าถึงประโยชน์ หรือจุดหมายเหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน ประโยชน์ตนเองเรียกว่า อัตตัตถะ ประโยชน์ผู้อื่นเรียกว่า ปรัตถะ และประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือประโยชน์ร่วมกันเรียกว่า อุภยัตถะ ซึ่งเราควรพยายามทำให้เกิดขึ้นทั้งสามอย่าง

ข้อสุดท้ายคือมรรค ได้แก่วิธีปฏิบัติที่เราต้องลงมือทำ กล่าวคือ ระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นจริยธรรม หรือข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกว่า พรหมจริยะ คือชีวิตประเสริฐ บางทีเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง แล้วเอามาจัดเป็นระบบการศึกษาพัฒนาตน ที่เรียกว่าไตรสิกขา สิกขาก็คือการศึกษา การศึกษาจึงมาอยู่ในหัวข้อสุดท้ายนี้ คือเป็นภาคปฏิบัติอยู่ในข้อที่เรียกว่า มรรค

ค. ประมวลสิ่งที่ต้องเรียนรู้

จะเห็นว่า ธรรมทั้งหมดอยู่ในครอบคลุมของเรื่อง อริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น ธรรมทั้งหมดนั้นมีวิธีการจัดแบ่งประเภท ตามหลักหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ เรามีหน้าที่กำหนดรู้ เรียกว่า ปริญญา สมุทัย เรามีหน้าที่ละ กำจัด เรียกว่า ปหานะ นิโรธ เรามีหน้าที่ต้องประจักษ์แจ้งบรรลุถึง เรียกว่า สัจฉิกิริยา และมรรค เรามีหน้าที่ต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ เรียกว่า ภาวนา ธรรมทั้งหมด หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงสามารถจัดเข้าในหลักกิจในอริยสัจ ๔ ประการนี้ ดังนั้น เมื่อเรียนธรรมอะไรก็ตาม ให้โยงมาเข้าหลัก ๔ ประการนี้ได้หมด กล่าวคือ

๑. ธรรมบางพวกเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักต้องทำความกำหนดรู้ ธรรมพวกนี้จัดเข้าอยู่ในประเภททุกข์ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ตามสภาพของมัน เรียกว่า ปริญไญยธรรม

๒. ธรรมบางพวก เป็นตัวก่อปัญหา ซึ่งเราจะต้องแก้ไข ต้องกำจัด เรียกว่า ปหาตัพพธรรม

๓. ธรรมที่เราต้องบรรลุถึง เป็นจุดมุ่งหมาย เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่พึงประจักษ์แจ้ง

๔. ธรรมทั้งหลายที่ต้องปฏิบัติ ลงมือทำ จัดเข้าอยู่ในหมวดหนึ่ง เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม คือธรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติ

โดยนัยนี้ จากหลักอริยสัจ ก็ก้าวไปสู่หลักการแยกประเภทธรรม ซึ่งทำให้เห็นว่า เรื่องราวทั้งหมดในโลก ในชีวิต ล้วนอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ ประการ ธรรมทั้งหลายโยงเข้าได้หมดสิ้นในกรอบนี้

เมื่อจับเอาสิ่งทั้งหลายที่จะต้องเรียนรู้เข้ามาสัมพันธ์กัน เราก็เริ่มต้นด้วยการเรียนเรื่องชีวิต คือ ขันธ์ ๕ ในข้อทุกข์ ซึ่งเป็นปริญไญยธรรม เป็นการเรียนเรื่องตัวของเราเอง ในตอนนี้เราก็จะทราบแนวความคิดของพระพุทธศาสนา ว่า พุทธศาสนามองชีวิตเป็นระบบ ที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยมาประชุมกันเป็นองค์รวม ระบบนี้ทำหน้าที่สัมพันธ์กันเกิดเป็นชีวิตขึ้น ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตและการที่องค์ประกอบเหล่านั้นทำหน้าที่สัมพันธ์กัน ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเรา เพราะว่า เมื่อเรารู้ว่าชีวิตเป็นระบบที่ส่วนประกอบทำงานสัมพันธ์กัน ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างเราควรปฏิบัติอย่างไร เราควรมีท่าทีต่อชีวิตอย่างไรแล้ว เราก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องชีวิตแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาก็เป็นไปได้ยาก เมื่อเข้าใจระบบของชีวิตแล้วก็มองเห็นต่อไปว่า ระบบของชีวิตนั้นเป็นไปในลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้ ลักษณะนี้เมื่อมองในทางร้ายก็คือ มันมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ แต่ถ้ามองในทางดีก็คือ มันมีศักย-ภาพที่จะพัฒนาได้ด้วย เพราะการที่ขันธ์ ๕ เปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ เราจึงแก้ไขปรับปรุงได้ และในการที่จะแก้ไขนั้นก็ต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยของมัน เพราะความไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลงไปนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจเหตุปัจจัยแล้ว ก็สามารถจัดการกับชีวิตได้ตามความรู้ของเราที่เรียกว่าปัญญา

ในความเป็นไปของระบบชีวิตนั้น ด้านที่สำคัญ ก็คือ การที่มันสัมพันธ์กับโลก โดยรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ เป็นข้อมูลเข้ามาทางอายตนะ และมนุษย์ก็เกิดปัญหาเกิดความทุกข์ขึ้นมาจากการสัมพันธ์นี้เอง เพราะทั้งโลกและชีวิต ต่างก็เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ เช่นเดียวกัน เมื่อไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง ก็ปฏิบัติในความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง ปัญหาก็เกิดขึ้น แต่เมื่อรู้เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดปัญหาขึ้น จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร ความรู้ความเข้าใจนี้ ก็เป็นปัญญา ซึ่งจะทำให้เราจัดการกับชีวิตและปฏิบัติต่อโลกได้อย่างถูกต้อง ในทางที่จะไม่ให้เกิดปัญหา ฉะนั้น แทนที่จะตกเป็นทาสของโลกและชีวิตด้วยอำนาจอวิชชา และสร้างปัญหาด้วยตัณหา เราก็เปลี่ยนมาเป็นแก้ปัญหาด้วยความรู้ ด้วยปัญญา เมื่อเข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัย เอาความรู้ในเหตุปัจจัยตามกระบวนการของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ เอามาแก้ปัญหาของมนุษย์ได้สำเร็จ มนุษย์ก็มีอิสรภาพเกิดขึ้น

บุคคลที่เข้าถึงอิสรภาพ มีสันติสุขที่แท้จริงอยู่ภายใน หรือแม้เพียงกำลังดำเนินเข้าในกระแสสู่ภาวะเช่นนั้น ย่อมเป็นผู้มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา คือ ใช้ปัญญาเป็นตัวนำในการดำเนินชีวิต มีท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลาย ทั้งโลกและชีวิตตามที่มันเป็น ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เป็นผู้พร้อมที่จะแก้ปัญหาทั้งหลายด้วยวิธีการแห่งปัญญา เป็นผู้ที่ทุกคนสามารถไว้วางใจและมั่นใจได้ว่า จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่นวิทยาการเป็นต้น ที่ได้รับเพิ่มเสริมในช่วงชีวิตนี้ ไปในทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ร่วมกัน ไม่เป็นไปเพื่อเพิ่มปัญหา หรือก่อการเบียดเบียน บุคคลเช่นนั้น นอกจากประสบอิสรภาพและสันติสุขด้วยตนเองภายในแล้ว ก็เป็นผู้มีคุณสมบัติพรั่งพร้อมที่จะสร้างอิสรภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม นับว่าเป็นผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ตามนัยแห่งพุทธะ เข้าถึงความจริงแห่งธรรมะ และเป็นสมาชิกที่ดีผู้ร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมสู่ความเป็นสังฆะ เป็นที่บรรจบประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งปัญญาที่เข้าถึงความจริง ความดีงามแห่งคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งความเป็นอิสระไร้ทุกข์ที่เรียกว่าสุขอันแท้จริง

ถ้าจะพูดกันอย่างง่ายๆ และรวบรัด เรื่องของอริยสัจ หรือเรื่องธรรมในพระพุทธศาสนา ก็จบลงเพียงเท่านี้

1บรรยาย ในการประชุมสัมมนา ครุศึกษาตามแนวทางของพุทธศาสตร์ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๑
2คัมภีร์ขุททกนิกาย มหานิทเทส, ๒๙/๙๖๐/๖๐๘
3อ้างแล้ว, ๒๙/๔๐๙/๒๘๕
4วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา, ประมวลพระนิพนธ์: ลายพระหัตถ์เกี่ยวกับการศึกษา (มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔), หน้า ๓๐๙
5วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา, ประมวลพระนิพนธ์: การศึกษา (มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๑๔), หน้า ๘๑
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง