ตอบเรื่อง สีลัพพตปรามาส วินัย ดูใจ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คำปรารภ

หนังสือ ตอบเรื่อง สีลัพพตปรามาส วินัย ดูใจ นี้ มีที่มาจากเรื่องที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ตอบคำถามของพระที่วัดญาณเวศกวัน เมื่อคืนวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗ แม้ร่างกายจะอิดโรย และอ่อนแรงจากโรคาพาธเรื้อรังอย่างหนัก

เมื่อพระกับโยมช่วยกันถอดความจากเครื่องบันทึกเสียงออกมาแล้ว ท่านได้อธิบายขยายความเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนมากขึ้นอีก ทางวัดเห็นว่าเหมาะที่จะนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อแจกเป็นธรรมทานให้กับพุทธศาสนิกชน ในวาระสำคัญแห่งวันวิสาขบูชาปีนี้ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗

พุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งปัญญา หากพุทธบริษัททั้งหลายมีความตระหนักในการที่จะทำกิจต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจ แม้ในเรื่องเล็กน้อย ก็จะเป็นความเจริญก้าวหน้า บนมรรคาแห่งความรู้แจ้งของผู้ใฝ่ในไตรสิกขาอย่างแท้จริง

ขอกุศลจริยาเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาในแนวแห่งไตรสิกขานี้ จงเป็นปัจจัยแห่งความเจริญแพร่หลายของพระสัทธรรม เพื่อความเกษมศานต์แห่งมหาชน ตลอดกาลยาวนานสืบไป

วัดญาณเวศกวัน
๑๙ เมษายน ๒๕๕๗

ถาม ๒ ข้อ - ตอบยาวแยกหลายข้อ

สีลัพพตปรามาส วินัย ดูใจ

ฯลฯ

พระเก่าถามพระพรหมคุณาภรณ์ที่กุฏิ
หลังอุโบสถ วันศุกร์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗

ถาม

ระยะปีสองปีมานี้ ได้ยินพระบ้าง โยมบ้าง คุยกันเรื่องแนวการปฏิบัติที่มุ่งเน้นในเรื่องการดูจิตรักษาใจตัวเอง โดยไม่ต้องสนใจปฏิกิริยาของบุคคลที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย คำอธิบายของพระโยมเหล่านั้น ฟังแล้วเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง ซึ่งหลักที่ได้ยินมา คือ

- การที่บุคคลตั้งใจทำกิจวัตรให้ตรงต่อเวลาอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอนั้น จัดอยู่ในจำพวกสีลัพพตปรามาส อันเป็นกิเลส จึงไม่ควรกระทำ ที่ถูกคือ บุคคลควรจะทำกิจต่างๆ นั้นตามความพอใจ ไม่ใช่เพราะถูกกะเกณฑ์ หรือต้องทำเพราะเป็นระเบียบกติกาที่ตกลงร่วมกัน?

- เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ หรือพูดจาตักเตือนว่ากล่าว แต่เราควรรักษาใจตัวเองโดยการนิ่งเฉยเสีย เพราะถ้าเราโกรธ แล้วแสดงออกมาทางกายวาจา เท่ากับว่าเรากำลังประพฤติผิดศีล ขณะที่อีกฝ่ายแค่ประพฤติผิดวินัยเท่านั้น ใครจะทำผิดก็ชั่งเขา ให้รักษาจิตเราเอาไว้ก่อน?

(โดยนัยกลับกัน หากเราทำผิดกฎระเบียบ ก็ไม่ต้องใส่ใจว่าจะมีคนไม่พอใจหรือไม่ เขาจะดุด่าว่ากล่าวก็ชั่งเขา เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่บุคคลอื่นจะต้องดูแลจิตของตัวเองไม่ให้เศร้าหมองขุ่นมัวเป็นอกุศล หน้าที่เราคือทำในสิ่งที่พอใจเท่านั้น)

หลักคิดข้างต้น ดูเหมือนว่าน่าจะถูกต้อง แต่ที่จริงยังครึ่งๆ กลางๆ ข้างๆ คูๆ และแฝงนัยของการพยายามหาแง่มุมที่คิดว่าชอบธรรมมากลบเกลื่อนความผิดตามสมมติ ฉะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติตามการตีความธรรมวินัยที่ผิดเพี้ยนนี้ จึงใคร่กราบขอความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ ได้ให้แนวทางที่ถูกต้องด้วย

ตอบ

ความหมายของสีลัพพตปรามาส

คำสอนที่เล่ามาในคำถามนั้น ไม่ใช่แค่ครึ่งๆ กลางๆ ข้างๆ คูๆ เท่านั้น แต่จะพาออกนอกลู่นอกทาง ถึงกับออกนอกพระธรรมวินัยไปเลยทีเดียว จึงขอให้ช่วยกันทำความเข้าใจให้ชัด และช่วยคนที่จะหลงผิดไปให้ทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง หรืออย่างน้อยให้ใกล้หลักเข้ามา

เรื่องที่ถามนี้ ไม่ใช่เรื่องสีลัพพตปรามาสอะไรหรอก เป็นเพียงเรื่องของความเข้มแข็งหรือความอ่อนแออย่างธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

ต้องเข้าใจก่อนว่า สีลัพพตปรามาส แปลว่า ความถือมั่นในศีลพรตจนเลยเถิด ควรแยกศัพท์ดูกันนิดหนึ่ง

“สีลัพพต” = ศีลและพรต; สีล ก็คือ ศีล, พต มาจาก วต; เอา วต ตัวนี้เป็น พต เพราะในบาลี เป็น ได้, วต จึงเป็น พต, แต่ไทยเอาเป็นพรต โดยใช้คำสันสกฤต คือแปลจากบาลีไปเขียนอย่างสันสกฤต กลายเป็น พรต,

สีล + พต = (ซ้อน “พ” เข้าไปตามหลักภาษาของเขา) ก็เป็น สีลัพพต แล้วก็แปลว่า ศีลและพรต

กำหนดไว้ให้ดีว่า วต นี้แปลว่า พต แล้วเป็น พรต ไม่ใช่ วัตต (วัตต ที่แปลว่า วัตร) คนละคำ (กิจวัตร เป็นต้น ไม่อยู่ใน วต หรือ พรตนี้) สีลัพพต จึงไม่ใช่ ศีลและวัตร

(ขอเล่าแถมแทรกไว้นิดหนึ่งว่า ในเมืองไทยเรานี่ใช้ผิดเยอะ ผมเองตอนแรกก็พลอยเขียนตาม เช่น เราชอบพูดกันว่า “ธุดงควัตร” แต่พอตรวจสอบกันจริงๆ ธุดงควัตรไม่มีหรอก แล้วแถมอรรถกถาบาลีฉบับไทยนี่ชำระกัน ก็ไม่แน่ลงไป เป็น ธุตงฺควตฺต บ้าง เป็น ธุตงฺควต บ้าง คำนี้ ในฉบับพม่าเขาเสมอต้นเสมอปลายแน่นอนลงไปเลย คือของเขาเป็น ธุตงฺควต อย่างเดียว ไม่มี ธุตงฺควตฺต เลย แต่ฉบับของไทยเรานี่ยังยุ่ง มีปนๆ กันไป ควรจะต้องค้นตรวจสอบให้ลงกันทั้งหมด เป็นอันว่า เป็นคนละคำ วต ก็คำหนึ่ง วตฺต อีกคำหนึ่ง, วต เป็นพรต วตฺต เป็นวัตร)

วตฺต คือ วัตร เป็นพวกขนบธรรมเนียมในการปฏิบัติแต่ละกิจแต่ละเรื่อง เช่น จะปฏิบัติตัวในการเข้าส้วมเข้าห้องน้ำ ก็มีวัจจกุฎีวัตร อาคันตุกะมาจะปฏิบัติหรือต้อนรับอย่างไร ก็มีอาคันตุกวัตร จะไปอยู่อาศัยไปนอนไปนั่งจะปฏิบัติต่อที่นั่นอย่างไร ก็ทำตามเสนาสนวัตร นี่คือ วตฺต (วัตร)

ส่วน วต คือ พรต เป็นหลักการที่ถือปฏิบัติ ที่เรียกว่าบำเพ็ญพรต เช่น ถืออดอาหาร ถือโหนกิ่งไม้ ถือยืนขาเดียว มีมากนอกพุทธศาสนา ในพุทธศาสนาท่านให้ปฏิบัติได้ในขอบเขตหนึ่งโดยมีความเข้าใจที่จะทำให้ถูกต้อง ไม่ให้กลายเป็นการทรมานตนของคนขาดปัญญา

ตัวอย่างที่ชัด คือธุดงค์ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ยกขึ้นมาถือ คือเป็นพรตชุดหนึ่ง แต่อย่างที่ว่าแล้ว ของเราไม่รุนแรงอย่างเขา แค่ใช้ขัดเกลากิเลส เช่น นอกพุทธศาสนา เขาถือพรตอดอาหาร เราถือธุดงค์แค่ฉันมื้อเดียว นอกพุทธศาสนาเขาถือไม่นุ่งผ้า หรือนุ่งแบบคนป่า ปิดข้างหน้า เปิดข้างหลัง หรือปิดข้างหลัง เปิดข้างหน้า เราถือธุดงค์แค่นุ่งห่มจีวรบังสุกุล

เป็นอันว่า พรต คือ วต เป็นหลักใหญ่ของชีวิตที่ถือไว้ โดยเข้าใจว่าจะทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่เป็นธรรมเนียมวิธีปฏิบัติในแต่ละกิจแต่ละเรื่อง อย่างที่ว่าแล้ว กิจวัตรก็อยู่ใน วตฺต คือ วัตร ไม่ใช่ พรต แยกให้ได้นะ ในอรรถกถาบาลีของไทยเรา คำนี้สับสนพลาดไป

เป็นอันว่า ในคำว่า “สีลัพพต” ได้แก่ ศีลและพรต นั้น คือ สีล และ วต (พรต ไม่ใช่วัตร)

ทีนี้ “ปรามาส” แปลว่า การยึดถือมั่นจนเลยเถิด ถือเลยเถิดเป็นอย่างไร ที่ว่ายึดถือศีลพรตเลยเถิด ก็คือ ไม่ถือให้ตรงตามจุดมุ่งหมาย ก็เลยไม่ตรง ไม่พอดี จึงเลยเถิดไปเสีย

ยึดถือตามจุดมุ่งหมาย คือ ถือปฏิบัติโดยมีความรู้เข้าใจด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาจะรู้จุดหมายได้อย่างไร พูดสั้นๆ ก็คือว่า ถือปฏิบัติด้วยปัญญาที่รู้ความมุ่งหมาย เมื่อรู้ความมุ่งหมาย ก็ปฏิบัติถูกต้องได้ เมื่อเราจะปฏิบัติอะไร เราศึกษาไต่ถามให้รู้ชัดลงไปว่า อันนี้มีความหมายอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ เราก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย เวลาทำอะไร ก็มองไปที่จุดหมาย อย่างนี้ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส

การยึดถือปฏิบัติที่เป็นสีลัพพตปรามาสนั้น เป็นความผิดพลาดเลยเถิดไปเพราะเจตนาของใจที่ขุ่นมัวโง่เลอะ ก็เลยยึดถือไปตามกิเลสที่เป็นเหตุต่างๆ คือ

๑. สีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ คือยึดถือด้วยโมหะ ถือโดยหลงโง่งมงาย ปฏิบัติตามๆ เขาไปอย่างนั้นๆ โดยไม่รู้เรื่อง โดยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ความมุ่งหมาย อย่างที่ว่าแล้ว เขาสอนมาอย่างนั้น อาจารย์ทำมา ก็ทำตามกันไป อย่างนี้เป็นกันมาก เป็นสีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ

๒. สีลัพพตปรามาสด้วยโลภะ ข้อนี้ท่านยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ถือศีลโดยอยากไปเป็นเทวดา คิดว่า เราถือศีลอย่างนี้แล้ว จะได้เป็นเทวดาองค์นั้นองค์นี้ จะได้มีอำนาจฤทธิ์เดชอย่างนั้นๆ เรียกว่า ยึดถือด้วยโลภะ ที่จริงนั้น การไปเป็นเทวดา ไปสวรรค์อะไรๆ นั้น เป็นเรื่องของผลพลอยได้ เป็นผลพ่วง เมื่อปฏิบัติถูก ก็ไปเอง เป็นธรรมดาของมัน ไม่ต้องไปอยาก

๓. สีลัพพตปรามาสด้วยโทสะ เช่น ยึดถืออย่างเป็นปฏิกิริยา ได้ยินเขาว่าแล้วขัดใจขึ้นมา ฮึดฮัดบอกว่า ข้าจะถือของข้าอย่างนี้แหละ ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป โกรธ อย่างนี้ก็โทสะ

ที่กล่าวมานี้เป็นการยกตัวอย่าง รวมความว่า สีลลพตปรามาส จะเกิดขึ้น เมื่อไม่ปฏิบัติด้วยปัญญา พูดสั้นๆ เอาง่ายๆ ก็ว่าปฏิบัติด้วยกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ แม้จะทำด้วยริษยาหรือกิเลสอะไร ก็อยู่ในนี้

เอาเป็นอันว่า นี่คือความหมายของคำ ยุติที่ว่าให้ปฏิบัติด้วยปัญญา โดยรู้ความหมายและความมุ่งหมาย

พอใจจึงควรทำ ก็มี ไม่ต้องพอใจ แต่ใจเข้มแข็ง ควรจะทำ ก็มี
สำคัญที่ฝึกตน โดยรู้จักใช้ปัญญา

ตามคำถามข้างต้น มีการสอนว่า การที่บุคคลตั้งใจทำกิจวัตรให้ตรงต่อเวลาอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอนั้น จัดอยู่ในจำพวกสีลัพพตปรามาส อันเป็นกิเลส จึงไม่ควรกระทำ ที่ถูกคือ บุคคลควรจะทำกิจต่างๆ นั้นตามความพอใจ ไม่ใช่เพราะถูกกะเกณฑ์ หรือต้องทำเพราะเป็นระเบียบกติกาที่ตกลงร่วมกัน

อันนี้ต้องระวังจะกลายเป็นการสอนให้เข้าใจผิดพลาด เป็นการสอนโดยไม่รู้จักแยกแยะ แทนที่จะเป็นธรรม ก็จะพาออกไปนอกธรรม

ตามที่พูดให้ฟังแล้ว คงรู้เข้าใจแล้วว่า สีลัพพตปรามาส คือการยึดถือหลักการและข้อปฏิบัติต่างๆ เลยเถิดไป ไม่ตรงตามความหมายและความมุ่งหมายของมัน เพราะขาดปัญญา ไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการปฏิบัตินั้น โดยเป็นการปฏิบัติเพราะโง่หลงงมงายบ้าง เพราะโลภะบ้าง เพราะโทสะบ้าง

แต่ถ้ารู้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการปฏิบัตินั้นชัดเจนดีแล้ว มองเห็นเหตุผลที่ตนจะปฏิบัติว่าถูกต้องมั่นใจแล้ว จะต้องปฏิบัติจริงจังเต็มที่ จึงจะถูกต้อง เป็นการปฏิบัติด้วยฉันทะ ด้วยวิริยะ เป็นต้น โดยคนที่เข้มแข็งและมีปัญญา การไม่ปฏิบัติจริงจัง ตามใจตัวเพราะเกียจคร้านเป็นต้น จึงจะเป็นกิเลส และถึงขั้นเป็นความประมาท

ที่ว่า บุคคลควรจะทำกิจต่างๆ ตามความพอใจนั้น ก็ถูกนิดหนึ่ง แต่คำว่าตามความพอใจนั้น มีแง่พิจารณาหลายอย่าง “ตามความพอใจ” แบบที่ว่าเอาแต่ใจของตัว ตามที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น ก็คือทำตามกิเลส และไม่รู้จักฝึกตน ความเสื่อมจะรออยู่ข้างหน้า

คนควรทำการต่างๆ ด้วยความพอใจ ที่มากับความเข้าใจ หรือเกิดจากความเข้าใจ คือมีปัญญา รู้ว่า การนี้ทำแล้วดีงามเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นความพอใจที่เป็นฉันทะ

เรื่องนี้เราไม่อยากทำ ไม่มีความพอใจ แต่พอพิจารณาด้วยปัญญา หรือมีผู้ปรารถนาดีอธิบายให้ฟังว่าทำแล้วจะดีงามเป็นประโยชน์อย่างไร เดิมไม่อยากทำเลย แต่พอรู้เข้าใจเห็นเหตุผล ก็เกิดความพอใจ เกิดฉันทะขึ้นมา นี่คือความพอใจทำให้เกิดขึ้นได้ ควรทำด้วยความพอใจอย่างนี้ ไม่ใช่ทำตามพอใจ ที่เพียงว่ามีความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ ต้องแยกแยะ

ที่ไม่ให้ทำเพราะถูกกะเกณฑ์นั้น ก็ต้องแยกแยะเหมือนกัน การบังคับให้ทำนั้นตามปกติก็ไม่ถูกต้อง แต่ในบางกรณี ก็ไม่ใช่การบีบบังคับด้วยจิตโทสะเป็นต้น ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ และเขาหวังดี ก็รู้จักปฏิบัติให้เหมาะ ไม่ใช่ตัดสินพรวดไปทีเดียว

โดยเฉพาะการที่ต้องทำเพราะเป็นระเบียบกติกาที่ตกลงร่วมกันนั้น นอกจากเป็นเรื่องของเหตุผลทางสังคมแล้ว ถ้าเราพิจารณาแล้วมองเห็นด้วยปัญญา ว่าเรื่องนี้ควรทำเพราะดีงามเป็นประโยชน์ แต่ยากสำหรับเรา เราอ่อนแอ ไม่อยากทำ ใจป้อแป้ ไม่สู้ ในกรณีอย่างนี้ ระเบียบกฎกติกาวินัยก็เป็นเครื่องช่วยให้เราได้ฝึกตน ทำให้มีความเข้มแข็ง แล้วเราก็จะก้าวหน้าไปได้ สิ่งที่ไม่เคยทำได้ ก็จะทำได้ ที่ทำได้ไม่ดี ก็จะทำได้ดี ชำนาญแคล่วคล่องง่ายดายขึ้น ทีนี้ พอฝึกดีแล้ว ถึงไม่มีระเบียบกฎกติกา ก็อยากทำ และนำคนอื่นๆ ให้ทำได้ด้วย

จุดสำคัญอยู่ที่เป็นการฝึกตน มีความเข้มแข็ง และตั้งอยู่บนฐานของปัญญา เมื่อทำด้วยมีปัญญารู้เข้าใจ เกิดฉันทะขึ้นมา หรือด้วยวิริยะ ก็เข้มแข็งก้าวไป การฝึกตนก็เกิดขึ้น และก็จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

ไม่ใช่ว่า เมื่อไรๆ ก็อยู่แค่ความชอบใจและไม่ชอบใจ มีจิตใจอ่อนแอ งอก่องอขิง จมอยู่ในความประมาท

ควรรู้จักใช้ปัญญา ปลุกฉันทะขึ้นมา ทำการด้วยความเข้มแข็ง ฝึกตนยิ่งๆ ขึ้นไป

เมื่อปฏิบัติถูกชัดแน่แล้ว ก็เข้มแข็งจริงจังแน่วไปเลย

ตอนนี้ ถ้าชัดแก่ตนแล้วว่า เรารู้ความหมายและความมุ่งหมายเข้าใจถูกต้อง ทีนี้ก็ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง จิตใจก็จะแช่มชื่นเบิกบาน มีความมั่นใจ ก็เอาจริงเอาจังเต็มที่เลย จะเหยาะแหยะไม่ได้ พอรู้แน่แล้ว ก็มุ่งแน่วไปเลย ไม่มัวละล้าละลัง

ศีลและพรตที่ขยายออกไปนี่ ก็เป็นข้อปฏิบัติขั้นศีลนั่นแหละ เป็นแค่ขั้นต้น อะไรกัน ถ้าแค่ข้อปฏิบัติขั้นต้น แค่ขั้นพฤติกรรมภายนอกนี่ยังทำไม่ไหวแล้ว ถึงขั้นจิตใจ จะไปสู้อะไรได้

ต่อจากศีล ก็คือขั้นสมาธิ ขั้นจิตใจ ที่จะต้องชนะจิตใจของตนได้ จนเป็นเจโตวสี คือมีอำนาจเหนือจิตใจของตนได้ จึงจะเป็นความสำเร็จ จึงต้องมีความเข้มแข็ง

เมื่อมั่นใจว่าถูกต้องแน่ชัดแล้ว ก็ทำเต็มที่เลย ตอนนี้ก็จะได้ฝึกจิตใจไปด้วย ข้างนอกทำจริงจัง ในใจก็มีความเข้มแข็งมั่นแน่ว แล้วก็ก้าวต่อไปในขั้นสมาธิของจิต จุดสำคัญอยู่ที่นี่ ไม่ใช่มัวอ่อนแอป้อแป้ ถ้าถือศีลและพรตที่ถูกต้อง เช่นอย่างถือธุดงค์ แล้วไปมัวอ่อนแอ จะทำสำเร็จได้อย่างไร ธุดงค์ทุกข้อนั้นก็ชัดอยู่แล้ว ท่านวางไว้เป็นพรตให้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จะทำสำเร็จได้ ก็ต้องเข้มแข็งอย่างมากเท่านั้น ถ้าไม่เข้มแข็ง จะถือธุดงค์ได้อย่างไร ไม่มีทาง

อะไรจะละจะเว้น ก็ละก็เว้นได้จริง อะไรตกลงให้ทำ ก็ทำให้จริง ไม่ใช่เหยาะแหยะเหลาะแหละไปหมด กลายเป็นคนที่ล้มเหลว ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรสักอย่าง นี่คือฝึกในทางตรงข้ามกับที่ท่านสอน ปล่อยตัวให้เรื่อยเปื่อย ต่อไปก็จะกลายเป็นคนอ่อนแอจนเคยชินเป็นนิสัย

ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องรู้ว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร จึงจะไม่เป็นสีลัพพตปรามาส ต้องมีปัญญารู้ความหมายความมุ่งหมาย เช่นว่า ธุดงค์นี่เพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลส เออ เรานี่เป็นคนขี้เกียจ ความขี้เกียจนี่เป็นกิเลสตัวร้าย เราจะต้องขัดเกลากิเลสตัวขี้เกียจนี้ เราก็ต้องเข้มแข็ง เอาชนะไล่ความขี้เกียจไปได้ นี่คือปฏิบัติตรง

ถ้าเราเป็นคนอ่อนแอ คอยตามใจอยากของตัวเอง อยากอย่างไร ก็จะเอาอย่างนั้น เช่น อยากฉันนั่นฉันนี่อยู่เรื่อย ฉันตามเวลาตามกติกาแล้วไม่พอ ในระหว่างมื้อยังอยากฉันอีก นึกอยากจะฉันอะไร ก็ฉันอีก อย่างนี้ไม่ได้ นี่เป็นความล้มเหลวในธรรมวินัย

ท่านจึงให้ฝึก เมื่อรู้ตัวว่าเรานี้ชอบตามใจตัวในเรื่องการฉันโน่นฉันนี่ เราก็จะฝึกตัว เอาละ เราจะฉันมื้อเดียวละ ก็เอาจริงโดยสมาทานมันเลย สมาทานว่าเราถือธุดงค์ฉันมื้อเดียว โดยมีความตระหนักรู้ความมุ่งหมายว่า เราทำเพื่อฝึกตน เพื่อขัดเกลากิเลส จะได้ไม่อ่อนแอมัวแต่ตามใจตัว ไม่ไปไหนสักที

เมื่อรู้ความมุ่งหมายแม่นแก่ใจอย่างนี้แล้ว ก็ต้องเข้มแข็งใจสู้เต็มที่ ไม่ยอมตามใจกิเลส นี่แหละมันอยู่ที่นี่ มันเป็นเรื่องของความเข้มแข็ง กับความอ่อนแอ ไม่ใช่เรื่องสีลัพพตปรามาสอะไรเลย มันคนละขั้นคนละตอน คนละเรื่องกัน

ธรรมวินัยนี่เป็นของผู้มีวิริยารัมภะ ที่ว่าปรารภความเพียร ถูกไหม คือ ร่ำแต่จะเพียร จะเพียรพยายามอยู่ร่ำไป จึงเรียกว่า วิริยารัมภะ ซึ่งอยู่ที่เข้มแข็ง ถ้ามัวไปตามใจตัวเองอยู่ เป็นคนอ่อนแอ ก็ไปไม่รอด มีแต่จะต้องมีความเพียร จะมาขี้เกียจผัดผ่อนอ่อนแอเหยาะแหยะได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ ขออภัยใช้คำไม่ค่อยเพราะหน่อย ก็เรียกว่า “ใจหงิก”

คนที่ร่างกายเป็นง่อย ยังดีกว่าคนใจหงิก ทำไมเป็นอย่างนั้น คนง่อยนั้น ร่างกายเป็นง่อย จึงทำอะไรไม่ค่อยไหวใช่ไหม แต่ถ้าเขามีใจเข้มแข็ง ถึงกายจะง่อย เขาก็ยังพยายามสู้กระเสือกกระสนไป อันไหนทำได้ พอไปได้แค่ไหน ก็พยายามทำมันไปจนสุดเต็มที่แค่นั้น ยังมีทางก้าวไปได้ แต่ถ้าคนใจหงิกเสียแล้ว มันไม่เอาเลย แย่ยิ่งกว่าคนเป็นง่อย เพราะฉะนั้นจึงไปไม่รอด

ถ้าจะอยู่ในธรรมวินัยนี้ ต้องมีใจเข้มแข็ง มีอะไรต้องทำ เมื่อมันถูกต้อง เมื่อมันตรงจุดมุ่งหมาย แน่ใจแล้ว ก็ทำเต็มที่เลย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรนั้น แม้แต่ทั้งชีวิตก็ทรงยอมทุ่ม ถูกไหม เมื่อทรงทราบว่าผิด ก็ทรงละเลิกได้เลย ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ นี่คือความถูกต้องจริงจัง

จุดของเรื่องที่เป็นปัญหา อยู่ที่ทำด้วยความไม่เข้าใจ ทำด้วยความไม่รู้ อันนั้นเป็นขั้นที่ ๑ ทีนี้ ขั้นต่อไป พอรู้แล้วกลับอ่อนแอเสียอีก ก็เลยไปไม่รอด จุดสำคัญอยู่ที่นี่ จึงได้บอกว่า ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มแข็ง กับความอ่อนแอ ไม่เกี่ยวอะไรกับสีลัพพตปรามาส

วินัยมาช่วยให้ปฏิบัติธรรมได้จริง ย้ำให้ยิ่งต้องเข้มแข็งในการฝึก

กิจวัตรเป็นต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวินัย ว่าโดยความหมายทั่วไป วินัยนี้มุ่งในแง่สังคม มันเป็นเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้ชุมชนมีความประพฤติเสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยรักษาสามัคคี

แต่วินัยมีความหมายในแง่ส่วนตัวด้วย คือเป็นเครื่องฝึก ตามศัพท์ท่านแปลว่า “เครื่องนำไปให้วิเศษ” ก็คือฝึกนั่นแหละ ฝึกเป็นการทำให้ดีขึ้น หรือทำให้วิเศษขึ้นไป เมื่อเราจะทำตัวให้ดีขึ้น จะทำอะไรให้เป็น ให้เก่ง ให้ชำนาญขึ้น เราก็ฝึก คนจึงต้องมีการฝึกตัวเอง

ในพระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งในวัด ในสังฆะ คือในหมู่พระนี้ บวชเข้ามาก็เพราะเห็นด้วยอย่างที่ท่านสอนแล้ว จึงตั้งใจว่าจะเอาจริงกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านจึงมีวินัยไว้ให้ วินัยนั้นเพื่อช่วยคนที่จะเอาจริง และเพื่อให้ทำจริงจัง

ท่านจัดตั้งวางวินัยให้มา เพราะว่า คนเรานี่ ถึงจะมาบวชเป็นพระแล้วก็เถอะ ทั้งๆ ที่รู้ตามธรรมว่า อันนี้ดี ควรจะทำ แต่ใจมันไม่เข้มแข็ง มันไม่ค่อยจะสู้ บางทีบางคนนั้นก็ถึงกับเหยาะแหยะ มันอ่อนแอป้อแป้ปวกเปียก หรือคอยจะท้อ

คนอย่างนี้ก็จะได้มาเจอกับวินัย นี่ก็คือมีเกณฑ์มาตรฐานวางไว้ให้แล้ว ก็เหมือนกับบังคับนั่นแหละ พอเจอกับวินัย ก็บอกตัวเองได้เลยว่าต้องทำ

ถ้าไม่เจอวินัย ทั้งที่ธรรมบอกไว้แล้วว่านี่ดี ควรจะทำ เห็นด้วย แต่ก็ยังรีรอ คิดจะผัดไว้ก่อน พอวินัยมากำกับ มาสำทับให้ต้องทำ การปฏิบัติธรรมก็เลยได้มีเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เพราะวินัยมาช่วยให้เอาจริงกับการปฏิบัติธรรมนั้น นี่คือการฝึกเข้ามาแล้ว

คนไหนไม่เอากับวินัย ไม่เห็นประโยชน์ของวินัย ไม่เอากับวินัย การมาบวชอยู่ในสังฆะก็แทบไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จะอยู่ในสงฆ์หรืออยู่ในวัดไปทำไม ถ้าจะอ้อแอ้ ก็ไปหาที่นอนแช่

วินัยมาทำให้เรากวดขันตัวเอง ช่วยให้เราบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ ดังนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกตัวเอง คอยสำทับให้เราต้องฝึกตัวเองให้ก้าวต่อไป เพราะฉะนั้น วินัยจึงมีประโยชน์ที่ว่ามาเสริมธรรม อย่างที่ว่าแล้ว ลำพังธรรมอย่างเดียวนี่ ทั้งที่เราได้เรียนได้รู้มาว่าควรจะทำ ควรปฏิบัติอะไร แต่ใจมันอ่อนแอ ไม่ยอมเริ่ม ไม่ยอมลงมือ ไม่ยอมก้าวไป วินัยก็มาเข้าคู่กับธรรม มากำกับสำทับให้คนปฏิบัติธรรม แล้วก็เลยปฏิบัติจริงจังต่อมา ก็จึงได้ผลขึ้นมา มิฉะนั้นก็จะนอนรออยู่นั่นเอง เมื่อคนนอนรอใจ ธรรมก็นอนรอคน แต่วินัยไม่ยอมให้รอ

ทีนี้ วินัยก็มาเชื่อมคนเข้ากับสังคม เมื่อคนมาเป็นส่วนร่วมในสังคม เมื่อตัวพระมาเป็นส่วนร่วมในวัดในสังฆะ วินัยก็เป็นมาตรฐานที่บอกแจ้งไว้ว่า คนอื่นเขาทำอย่างนี้ เราก็ต้องทำเหมือนเขานั่นแหละ คือเป็นเรื่องของทุกคน เพื่อให้สังคม ให้หมู่คณะอยู่กันด้วยดีเป็นอันเดียว แล้วก็อยู่ได้ นี่คือวินัยรักษาสังคม

แต่ที่นี่ เราพูดแค่ในแง่ตัวเองนี่แหละ เอาแค่ส่วนตัว ในแง่ส่วนตัวก็คือ วินัยมาทำให้เกิดความเข้มแข็ง และมีเครื่องกำกับให้ปฏิบัติตามธรรม อย่างที่พูดแล้วว่า ธรรมอยู่นี่แล้ว แต่ใจเราไม่แข็งแรงพอ วินัยจึงมาช่วยเสริมย้ำกำกับให้เราต้องทำ วินัยมากำกับความประพฤติ กำกับกิริยาอาการ ขับเคลื่อนรูปธรรมให้ต้องทำด้วย ให้ต้องทำตาม บังคับรูปธรรมคือร่างกาย ได้แก่กายวาจา ให้ประสานกับใจ แล้วใจนี่ก็อาศัยทางกายวาจาด้วย

เมื่อการประพฤติทางกายวาจาโน้มไปอย่างใด ใจก็จะโน้มตามไปด้วย เหมือนเราไปให้ทาน ใจก็ต้องบอกต้องสั่ง มือจึงให้ทานได้ และเรารู้หลักอยู่แล้วว่าให้มีเมตตา ถ้าคนรู้หลัก พอไปให้ทาน มันก็ทำให้เมตตาเพิ่มขึ้นง่าย ถ้าเรามีแต่เมตตา แผ่เมตตาแล้วไม่ทำอะไรสักที เมตตาในใจไม่แสดงออกไป มันก็ไม่เข้มแข็ง มันต้องออกไปเป็นรูปธรรมด้วย ไปให้เขา ไปทำการสงเคราะห์ และใจรู้หลักอยู่แล้ว ก็คือมีปัญญามาบอกใจ ใจที่รู้ก็จะได้เรียกเอาเมตตา เรียกเอากรุณามา ที่จะคิดหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลให้เขาพ้นทุกข์ เป็นต้น นี่ก็คือประสานกันไป ท่านจึงให้ปฏิบัติโดยมีศีล สมาธิ และปัญญา เกื้อหนุนกันไป อย่างนี้จึงจะเจริญ

ในเรื่องที่พูดกันอยู่นี้ พอเริ่มต้นก็ต้องมีปัญญาอยู่บ้าง พอให้รู้ว่า นี่เราปฏิบัติศีลและพรตอันนี้ เพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร เมื่อมีปัญญาพอรู้เข้าใจแล้ว ใจเอาด้วย ใจก็บอกตกลงจะทำ แล้วเราก็ปฏิบัติไปตามนั้น และเมื่อจะให้มั่นให้แน่ ก็เอาวินัยมาช่วยกำกับให้ทำให้ได้ ใจก็เข้มแข็งเพราะวินัยมากำกับกายวาจาให้เอา ก็ประสานไปด้วยกัน ได้ครบศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นกระบวนการที่ประสานเสริมกันไป

เอาละนะ ทวนว่า พวกกิจวัตรนั้นเป็นเรื่องของวินัย ข้อกิจวัตรทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของวินัย พรตก็พวกหนึ่ง ใหญ่ๆ วัตรก็พวกหนึ่ง ย่อยๆ อย่างที่ย้ำว่า วัตรเป็นข้อปฏิบัติปลีกย่อยเล็กน้อย ที่ท่านเรียกว่าขนบธรรมเนียม แล้วทั้งหมดนั้นก็จัดเข้าในศีล พูดว่าศีลคำเดียว ก็คลุมหมด แต่ต้องพูดด้วยรู้ด้วยเข้าใจ คือ คำว่าพรตก็อยู่ในศีลด้วย วัตตะหรือวัตรก็อยู่ในศีล

การที่เราต้องปฏิบัติวัตรต่างๆ ก็เพราะว่า วัตรเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เราต้องทำอย่างนั้นๆ เป็นประจำ มันก็เลยเป็นวินัยที่มาหนุนมากำกับมาบังคับควบคุมตัวเองให้เราต้องทำจริงจังจนเป็นแบบแผนเคยชิน เพราะต้องทำตลอดเวลา ทำสม่ำเสมอ เช่น ทุกวันลงทำวัตรสวดมนต์ เช้า-ค่ำ ทำได้จนทำเป็นธรรมดา จึงเป็นวินัยช่วยให้เข้มแข็งเป็นจริงเป็นจัง ถ้าไม่มีวัตรตั้งไว้ เราก็ไม่รู้จะจับจุดที่ไหน พอมีวัตรไว้ ก็คือท่านบอกแล้วว่าให้ทำนั่นๆ เราก็ไปทำตามนั้นปั๊บ เราก็มีใจเข้มแข็งด้วย เพราะต้องเอาจริงเอาจังจึงทำได้ พอเราทำได้ตามวัตรนั้น วินัยก็ได้ผลขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า วัตรเป็นส่วนย่อยของความประพฤติประจำตัว ติดตัว พอประพฤติได้อย่างนั้นๆ เป็นคุณสมบัติของเรา อยู่ในตัวเรา มันก็เป็นศีล นี่แหละมันมาช่วยหนุนให้คนมีศีล ท่านจึงบัญญัติวัตรไว้เป็นส่วนหนึ่งของวินัย เราจะได้มีเครื่องกำหนดหรือจุดจับในชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ จะมีศีลขึ้นมาได้ มันต้องมีข้อปฏิบัติเหล่านี้มาช่วย ทำให้มีจุดกำหนดว่าจะทำอะไร แล้วทำไปตามนั้น พอทำได้อยู่ตัว เข้าในตัว เป็นปกติของเรา ก็คือมีศีล

เป็นอันว่า ในวินัยที่กว้างใหญ่นั้น วัตรเป็นข้อปฏิบัติปลีกย่อย แม้กระทั่งหยุมหยิม ในชีวิตประจำวัน หรือประจำชีวิต ซึ่งช่วยให้เราฝึกตัว ทำให้มีโอกาสเกิดศีลได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ไม่ต้องไปนั่งคิดนั่งคลำ ว่าจะเจริญศีลตรงไหนดี กายวาจาอาศัยข้อปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นวัตรนี่แหละ เราทำ เราพูดให้ถูกตามวัตรที่ท่านวางไว้ เช่น จะทำอะไรในที่ประชุม เราบอกขอโอกาส ก็เป็นวัตรอย่างหนึ่ง เราปฏิบัติต่ออาคันตุกะ ปฏิบัติต่อเสนาสนะให้เหมาะสม ก็เป็นวัตรทั้งนั้น แม้แต่หยุมๆ หยิมๆ พอเราทำ ก็คือทำในส่วนของวินัย ก็เป็นวินัย พอวินัยมา ก็นำศีลให้เกิดขึ้น

ดูใจ ขึ้นไปให้ถึงปัญญา ไม่ใช่ปล่อยใจให้จมอยู่ใต้สิ่งที่ดู

ทีนี้ก็มาดูใจ ดูใจนี่ ถ้าว่าถึงหลักเดิมก็คือ จิตตานุปัสสนา ในสติปัฏฐาน ๔ เมื่อปฏิบัติในระยะแรกๆ บางสำนักก็จะเน้นการดูจิต มันเป็นเทคนิคของสำนักนั้นๆ

สติปัฏฐานนั้น ๔ อย่าง กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เวลาปฏิบัติจริงก็คือ ในชีวิตที่เป็นอยู่เป็นไปตลอดเวลา ชีวิตก็อยู่ในอนุปัสสนา ๔ เมื่อปฏิบัติครบ ๔ อันนี้ ก็คือครบทั้งชีวิต แต่พอเริ่มต้น จะทำให้ครบทั้ง ๔ มันไม่ค่อยจะไหว

ทีนี้ สำนักทั้งหลายก็มีเทคนิคของตัว คือ ตอนแรก ตอนเริ่ม เอาหมดทั้งสี่ ยังไม่ไหว จะเริ่มที่อันไหนดี ตามโบราณสืบมา มักเอากายานุปัสสนาเป็นตัวเริ่ม แต่บางสำนักอย่างโกเอนก้าหรือโคเองก้า ท่านว่าเวทนา เรื่องเจ็บปวด เรื่องสุข-ทุกข์ นี่ชัด มันเด่น ก็เอาเวทนานุปัสสนาเป็นจุดเปิดการปฏิบัติ เอาเวทนานุปัสสนาเป็นที่เริ่ม บางสำนักก็เริ่มที่จิตตานุปัสสนา เน้นการดูจิต

สำหรับโบราณนั้น เขามองว่าร่างกายเป็นของหยาบ ดูชัดจับง่ายหน่อย จึงเอากายานุปัสสนาเป็นจุดเริ่ม แล้วค่อยๆ ขยายไปถึงอนุปัสสนาอย่างอื่นในสติปัฏฐาน ๔ แต่ในที่สุดแล้ว ต้องมาประสานกันหมด คือในที่สุด เมื่อปฏิบัติได้จริง ก็พรึ่บเลย หมายความว่า ไม่ว่าด้านไหนโผล่มา ต้องได้หมด ต้องทันหมด แต่ตอนเริ่มแรกมันทันไม่ไหว ก็เลยเอาอันไหนที่ท่านเห็นว่าง่ายหรือได้ผลไว

ทีนี้ เรามาดูเรื่องจิต ดูจิตดูใจ ก็ดูไปตามที่มันเป็น แล้วในการดูตามที่มันเป็นนั้น จะทำอย่างไร การปฏิบัติในการดู ก็ก้าวไปในหลักศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ แล้วตอนที่ปฏิบัติอยู่น่ะ มันเป็นศีล สมาธิ ปัญญาอย่างไร

การที่เราดูไปนั้น ก็เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงดูจิตของพระองค์นั่นแหละ พระองค์ทรงเล่าในพระสูตรว่า เมื่อประทับอยู่ ทรงเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา พระองค์ก็สืบสาว ก็ตามดูเจ้าความรู้สึกนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ก่อนมันจะเกิด อะไรเกิดขึ้น มีความรู้สึกอะไรก่อน แล้วความรู้สึกนี้จึงเกิดขึ้น สืบสาวตามดู อ้อ อันนั้นเกิดขึ้นแล้ว อันนี้จึงเกิด แล้วอันนั้นล่ะ ก่อนที่อันนั้นจะเกิด อะไรเกิดขึ้น อย่างนี้ ก็ตามดู ก็ตามสังเกตนั่นเอง อนุปัสสนา ฝรั่งแปลกันว่า observation ก็คือสังเกตดูความเป็นไป ดูของจริงนะ ดูตามที่มันเกิด ตามที่มันเป็นไป

ทีนี้ ดูจิตของเรา ก็ดูตามที่มันเป็น ถ้าเราฝึกปฏิบัติอะไรอยู่ ก็ดูไปตามนั้น แล้วก็ก้าวไปในการปฏิบัติด้วย ถ้าดูจิตดูใจ ก็ดูแล้วก็รู้ตามที่มันเป็นอยู่นั่นแหละ ทีนี้ การดูก็ไปพร้อมอยู่ในการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คือการฝึกใช่ไหม ก็คือการฝึกตน

เราฝึกตนอยู่ ก็ดูใจในขณะแห่งการฝึกของเรานั้นแหละว่า เรากำลังฝึกกำลังปฏิบัติในเรื่องนี้ แล้วจิตในเวลานั้น เป็นอย่างไรๆ นี่รู้ เป็นขั้นหนึ่งละ

ทีนี้ การดูใจนั้น ไม่ใช่การปล่อยใจหรือตามใจ มันคนละเรื่องกัน การดูใจ คือดูตามที่มันเป็น แล้วก็รู้ตามที่มันเป็น เป็นเรื่องของความ “รู้” เป็นเรื่องของปัญญา จบตอนของมันแล้ว ไม่มีเรื่องของการปล่อยใจ หรือไม่ปล่อยใจ ไม่มีเรื่องของการตามใจ หรือไม่ตามใจ เป็นคนละขั้นคนละตอนกัน

การปล่อยใจ หรือไม่ปล่อยใจ และการตามใจ หรือไม่ตามใจนั้น เป็นเรื่องของความ “ตั้งใจ” คือเป็นเจตนา ไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญา แม้ว่าอาจจะเป็นเจตนาอย่างอ่อนจนไม่รู้ตัว แต่ก็คือเจตนานั่นแหละ

พอเป็นเจตนา ก็เป็นสังขาร ทีนี้แหละ กุศล หรือไม่ก็อกุศล ย่อมแทรกย่อมปนเข้ามา คือก็จะเป็นกุศล หรือไม่ก็เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณาเองว่าจะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ที่จริงก็ง่ายๆ เจตนาที่ปล่อยตัวตามใจ ก็คือขี้เกียจ ไปจนถึงประมาท ก็เป็นอกุศลนั่นเอง ทีนี้ก็ซับซ้อนขึ้นละ ก็คือดูใจที่ขี้เกียจ หรือดูใจที่มีกิเลสหรือดูจิตที่ถูกกิเลสครอบงำนั่นเอง

ทีนี้ ถ้าดูจิตในการปฏิบัติ ความตั้งใจในการปฏิบัติ หรือเจตนาในการฝึกนั้น ก็ชัดแล้วว่าเป็นกุศล ทีนี้ ก็กลายเป็นว่า ดูจิตแล้ว แทนที่จะปฏิบัติคือฝึกให้ไปทางกุศล นี่กลับให้เป็นอกุศล ตรงข้ามกับการปฏิบัติ

ยิ่งกว่านั้น พอตามใจ ปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส ก็เสื่อมจากการปฏิบัติ ที่จริง การดูจิตดูใจในขณะปฏิบัติ ก็เพื่อรู้แล้วจะได้ทำให้ดี คือ ถ้าดูแล้วรู้ว่า จิตเป็นอกุศลอยู่ มีเจตนาอกุศลแทรกอยู่ จะได้ละ จะได้แก้ไข ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล จะได้เจริญ แต่นี่ดูรู้แล้วว่า จิตเกียจคร้าน เป็นอกุศล แทนที่จะปฏิบัติ แทนที่จะฝึก คือแก้ไข ละอกุศลนั้นเสีย ก็ไม่ทำ การปฏิบัติก็เหลวหมด แทนที่จะลดละอกุศล และเจริญกุศล ก็กลับตรงข้าม การปฏิบัติ หรือการฝึกก็เหลวหมด

หนำซ้ำ เมื่อปล่อยตัวปล่อยใจอย่างนี้ ยอมให้อกุศลครอบงำหรือให้มันหมักหมมอยู่ โดยไม่จัดการแก้ไข และไม่พยายามหันไปทำให้เป็นกุศลขึ้นมา ก็คือการตกอยู่ในความประมาท เลยยิ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดไปไกล ไม่รู้ว่าปฏิบัติอะไร ไปจบไปตันอยู่แค่ได้เป็นคนงอก่องอขิง จมอยู่ในความประมาท

ขอให้จับจุดว่า จะปล่อยใจ จะตามใจไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นการดูจิตดูใจอะไรเลย มันผิดขั้นผิดตอนไปแล้ว แยกแยะให้ถูก ถามตัวเองว่า ดูใจ ให้รู้จักใจ แล้วจะได้ตามใจอย่างนั้นหรือ หรือว่าจะดูใจ ให้รู้จักใจ แล้วจะได้ก้าวไปในการปฏิบัติ ด้วยการละและการเจริญให้ตรงเรื่องกัน

เมื่อดูจิต ได้รู้จิตตามที่มันเป็นแล้ว เวลานั้นเราปฏิบัติอะไรอยู่ ถ้าเราดูใจ รู้สภาวะของใจในขณะนั้นแล้ว ก็เป็นการให้โอกาสแก่การปฏิบัติหรือแก่การฝึก

ทีนี้ ถ้าฝึกใจไปตามปกติ มันก็เป็นสมถะ ดูจิตนี่เป็นสมถะหรือไปวิปัสสนาก็ได้ ทีนี้ เมื่อดูจิตดูใจ ก็ฝึกไปด้วย เช่นว่า จิตเรายังมีโทสะมาก เราก็รู้ว่าควรเจริญเมตตา เราก็เจริญเมตตาดูซิ แล้วดูความเป็นไปของจิต จิตที่มีเมตตา เปลี่ยนจากโทสะนี้ มันมีอาการอย่างไร ดูจิตอย่างนี้ ดูตามที่มันเป็น แล้วควบประสานไปกับการฝึกอย่างนี้ ก็เจริญสมถะควบไป

ส่วนวิปัสสนาก็คือว่า ไม่ใช่แค่ดู แล้วฝึกให้จิตเข้มแข็ง ให้มีเมตตา หรืออะไรอย่างนั้น นั่นสมถะ ทีนี้ เราก็ดูจิตดูใจตามที่มันเป็นอย่างนั้น ดูว่ามันเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างไร ดูแล้วก็รู้ตามที่มันเป็นๆ ต่อไปๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อกี้ จิตมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น เมื่ออันนี้เกิดแล้วอันนั้นก็เกิดขึ้น เมื่ออันนั้นเกิดแล้ว อันโน้นเกิด เมื่ออันนี้เกิดแล้ว อันนั้นจึงเกิด เมื่ออันนี้ไม่เกิด อันนั้นก็ไม่เกิด ตามดูไปอย่างนี้ ก็ได้เห็นเหตุปัจจัย ทีนี้การเห็นปฏิจจสมุปบาทก็จะมา

ดูตามที่มันเป็น อ๋อ จิตนี้ดับไปแล้ว จิตนี้เกิดมา จิตที่มีอารมณ์แบบนี้ ที่มีความรู้สึกอย่างนี้แต่ก่อนไม่มี แต่บัดนี้มีขึ้นแล้ว แล้วเดี๋ยวมันก็หายไปอีก ดูไปๆ รู้ไปๆ ตามที่มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เห็นความเกิดดับ การดูอย่างนี้ ก็เป็นวิปัสสนาแล้ว

เป็นอันว่า ดูจิตนี่ก็ไปได้ ๒ ทาง ดูแบบสมถะก็ได้ฝึกจิต เราต้องการให้คุณธรรมความดี กุศลธรรมอะไรเกิดขึ้นมา เราดูไป พร้อมกันนั้นเราก็ได้ฝึกละอกุศลฝึกเจริญกุศลไปด้วย ในแบบของสมถะ หรือดูแบบวิปัสสนา ก็ดูตามที่มันเป็นนั่นแหละ ดูความเป็นไปของจิตที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เกิด อันนั้นดับ อันนี้ดับ แล้วอันนั้นเกิด อันนี้มีแล้ว อันนั้นจึงมี นี่ก็ฝึกไปด้วย คือฝึกปัญญา วิปัสสนาก็มา

แต่ถ้าเราดูโดยปล่อยเรื่อยเปื่อย เราปล่อยใจ ใจมันก็เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเมื่อมันไม่ดำเนินไปในการฝึก มันก็เป็นไปตามกิเลส เมื่อมันไม่ไปในทางที่ปัญญาเป็นใหญ่ มันก็ไปตามทางของเจตนา

ในขั้นหนึ่ง การดูเป็นการปฏิบัติ คือดูก็ได้รู้ แต่ทีนี้ รู้นั้นเกี่ยวอะไรกับการปฏิบัติที่ดำเนินไป มันจะเสริมการฝึกละอกุศลเจริญกุศลไหม หรือจะได้เสริมการดูรู้เห็นตามความเป็นจริงของวิปัสสนาไหม

ทีนี้ ถ้าเราดูโดยไม่มีการปฏิบัติต่อไป จิตมีกิเลสอะไรเกิดขึ้น ก็เห็นกิเลสนั้น ถ้าเป็นคนปัญญาไว ก็แล้วไป ก็จะไปต่อได้ อย่างที่ว่า คนที่แม้แต่ว่ากำลังจะตาย ก็ยังตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ได้ อันนี้หมายความว่า ตัวเองปฏิบัติมาไม่ถูก ใจเกิดมีกิเลส ก็เห็นกิเลสอะไรต่ออะไร ใจก็เศร้าหมอง แต่พอดีเกิดจิตสำนึกวาบขึ้นมา เกิดความรู้ทันกิเลสขึ้น ก็อาจจะพลิกทีเดียวเลย คือเกิดความรู้เข้าใจเห็นโพลงสว่างตามความเป็นจริง มองเห็นสภาวะ ก็ไปวิปัสสนาได้ โดยเกิดโยนิโสมนสิการมาช่วย แต่นั่นไม่ใช่การปฏิบัติตามปกติ

การปฏิบัติตามปกติก็คือว่า จะเอาสมถะก็ฝึกจิตไปด้วย โดยการดูรู้เห็นช่วยให้ก้าวไปในการปฏิบัติที่ละอกุศลเจริญกุศลนั้น หรือเอาวิปัสสนาก็ดูตามที่มันเป็น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตอะไรเป็นอย่างไรๆ ก็รู้ตามที่มันเป็น อย่างที่ท่านบรรยายว่า จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ ก็รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้น จิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส ก็รู้ตามที่มันเป็น แต่ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อย คือมันมาในการฝึก มีการฝึกไปด้วย โดยละอกุศลเจริญกุศล หรือก้าวไปในการรู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยใจไปตามกิเลสเรื่อยเปื่อย รวมความว่า หลักใหญ่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปด้วยกัน มาหนุนกัน

ในกระบวนนี้ ถ้าปฏิบัติถูก ก็ตรวจสอบได้ เอ นี่เรามีศีลหรือเปล่า ถ้าไม่มีศีล ก็คงจะไม่ค่อยถูกแล้วนะ เรามีความรู้เข้าใจปัญญาเจริญขึ้นไหม ถ้าปัญญาก็มืดๆ มัวๆ มีแต่ใจที่ปล่อยไปตามกิเลส อย่างนี้จะไปรอดอะไร ต้องตรวจสอบได้ ต้องมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อถูกหลักแล้ว ไม่ว่าปฏิบัติอะไร มันก็คือการฝึกนั่นแหละ

คำว่าปฏิบัตินั้น แปลว่าดำเนิน เดิน ก้าว ก็คือ การไปข้างหน้า เดินต่อไป เป็นศัพท์หนึ่งที่ท่านใช้ควบคู่หรืออยู่ในกลุ่มพวกคำว่าฝึก ฝึกไปก็คือสิกขานั่นเอง สิกขา ก็ฝึก ทมะ ก็ฝึก (ทมะ กับทันตะ ก็อันเดียวกัน ทมะเป็นนาม และเป็นต้นเดิมของกิริยาศัพท์ ทันตะคือคนที่ฝึกแล้ว) แล้วก็ภาวนา ก็ฝึกปรือให้เป็นให้มีให้เจริญขึ้นไป สิกขา ภาวนา ทมะ เป็นหลักรวมการปฏิบัติ คุมและคลุมหมด เวลาเราปฏิบัติ ก็คือดำเนินไปในหลักรวมที่ว่านี้

ในสิกขา ก็มีการปฏิบัติ ปฏิบัติ แปลว่าเดิน ดำเนิน ปฏิบัติ ปฏิบัติอะไร ดำเนินเดินไปไหน ก็ปฏิบัติดำเนินไปในไตรสิกขา ทำอย่างไรสิกขาจะเกิดขึ้น ก็ปฏิบัติสิ ปฏิบัติแล้วสิกขาก็เกิดขึ้น ก็คือต้องเดิน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ เมื่อคุณเดินไป สิกขาจึงจะเดินหน้าไปได้ ทมะจึงไปได้ ภาวนาจึงเป็นไปได้ และจะเดินไปได้ ก็ต้องเข้มแข็ง ต้องมีกำลัง มีเรี่ยวแรง

ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น ปัญญาต้องรู้ ข้อปฏิบัตินี้มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ก็ต้องรู้ ต้องชัด เราทำอันนี้เพื่ออะไร ดูจิต ดูเพื่ออะไร ดูใจ ดูเพื่ออะไร ต้องตอบตัวเองได้ ดูว่าเราฝึกได้ผลไหม หรือดูให้รู้ตามที่มันเป็น ให้เห็นตามเป็นจริง เข้าไปถึงปฏิจจสมุปบาท เห็นไตรลักษณ์ ไปในวิปัสสนา

อย่างน้อยก็อย่างที่ว่าแล้ว ดูรู้ว่าจิตของเราขณะนี้มีกิเลสไหม นี่รู้ทัน แล้วเมื่อมีกิเลส เราตระหนักว่ากิเลสเป็นของไม่ดี มีโทษ ต้องละ ก็จะละได้ การรู้ตามเป็นจริง จึงช่วยในการละกิเลสนั้น และเมื่อรู้ว่าจิตมีกุศล เรารู้อยู่แล้วว่ากุศลต้องเจริญ คือต้องภาวนา เราก็เจริญกุศลนั้นได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ดู ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ก็ไม่ได้ทำอะไร การดู รู้ เห็น จึงมาช่วยในการฝึก ในการปฏิบัติ

กระบวนการเหล่านี้เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แล้วก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ รวมแล้วหลักการทั่วไปคือ ต้องฝึก ต้องเดินหน้า แล้วก็ต้องมีความเข้มแข็ง

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความเข้มแข็ง ศัพท์ธรรมะทุกคำบอกให้เข้มแข็งทั้งนั้น นึกให้ติดใจไว้ วิริยารัมภะนี่ตรัสเรื่อย วิริยารัมภะ แปลว่า ปรารภความเพียร หมายความว่าใจปรารภๆ จะเพียร มุ่งเอาอันนี้ ไม่ไปไหน คือใจมันเอา ร่ำแต่จะเพียร จะเพียรอยู่ร่ำไป เพียรพยายามเต็มที่เลย สู้ไม่มีถอย ถ้ามีวิริยารัมภะ ก็เดินหน้าอย่างเดียว นี่คือต้องเข้มแข็ง

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาของคนอ่อนแอ พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของผู้เข้มแข็ง มีแต่เดินหน้า ตอนบำเพ็ญเพียร ทรงสู้ทุกอย่าง แม้แต่แทบจะแย่อยู่แล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงถอย แต่อันไหนรู้ว่าผิด อย่างการอดอาหาร บำเพ็ญทุกรกิริยา นั่นแหละพรต และเป็นพรตที่พระองค์ทรงทราบว่ามันผิด คือปัญญารู้แล้ว ก็เลิก

ถ้ารู้แล้วว่าผิด หรือยังไม่รู้ แต่ถือไปโดยงมงาย ก็เป็นสีลัพพตปรามาส ถ้าพระองค์ไปกลั้นหายใจ อดอาหาร โดยทำไปตามที่เขาว่า อย่างนี้จะทำให้หลุดพ้นได้ ทำไปโดยโมหะ ไม่มีปัญญา ก็เป็นสีลัพพตปรามาส แต่พระองค์รู้ทันแล้ว อันนี้ไม่ถูกแล้ว ไม่เอา เลิก ไม่ยอมตกอยู่ใต้สีลัพพตปรามาส ข้อปฏิบัติใดถูก มีความมุ่งหมายอย่างนี้ อยู่ในขั้นตอนนี้ เช่น ธุดงค์ ก็ปฏิบัติไปตามตรงตามความหมายและความมุ่งหมายของมัน แค่พอดี ตรงไปตรงมา

ธุดงค์ไม่ได้พาไปถึงนิพพาน แต่เป็นขั้นตอนเบื้องต้น ซึ่งเลือกได้ด้วย เป็นขั้นตอนในการช่วยกำจัดขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสนั้นช่วยเรา เพราะว่าใจเราไม่เข้มแข็ง เรานี่ช่างอ่อนแอเหลือเกิน ตามใจตัวเองอยู่เรื่อย ไม่ได้เรื่องได้ราวสักที เรารู้ตัว เราจึงสมาทานธุดงค์

สมาทาน คือรับหรือจับเอามาทำอย่างจริงจัง การที่จะถือธุดงค์ได้ ต้องเข้มแข็งจริงๆ เราก็เลยสมาทานธุดงค์นั้น เราจะเอาข้อไหนดี ธุดงค์ไม่ได้จำเป็น ไม่ได้บังคับใคร แต่ท่านให้ดูว่า ข้อนี้ถ้าเราฝึกน่าจะดี จะได้แก้ความขี้เกียจ แก้ความตามใจตัวเองเสียที ธุดงค์ก็จะมาบังคับ เช่น ถือบิณฑบาตประจำทุกวันไม่ขาด ถือแค่ไตรจีวร ถือผ้าบังสุกุลเป็นพรต (ไม่ใช่เป็นวัตร) เอาแต่ผ้าบังสุกุลจีวรอย่างเดียว ธุดงค์นี่ชัด ทุกข้อมาช่วยเสริมกำลังจิตให้เข้มแข็ง ไม่ยอมให้เราตามใจกิเลส ไม่ยอมให้เราปล่อยจิตปล่อยใจของเราให้อ่อนแอ ท่านจึงจัดหาพรตมาให้เราฝึก เพื่อจะได้เข้มแข็ง ให้ก้าวไปได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะมัวแต่อ่อนแอ เหยาะแหยะ ปวกเปียก ป้อแป้

เพราะฉะนั้น อย่าให้ใจหงิก แล้วมัวแต่หง็อกแหง็ก ไม่ไปไหน เดี๋ยวจะสู้คนเป็นง่อยไม่ได้ ต้องเข้มแข็ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเข้มแข็งทั้งนั้น เมื่อเราฝึกปฏิบัติธรรมด้วยความเข้มแข็ง ต่อไปไม่ว่างานอะไรก็ไม่ต้องกลัว สู้ได้หมด

ถ้าแค่ในจิตใจตัวเอง จะปฏิบัติธรรมยังเข้มแข็งไม่ได้ แล้วต่อไปจะสู้งานอะไรข้างนอก ถ้าแพ้ใจตัวเองเสียแล้ว จะไปเอาชนะมารที่ไหน ท่านให้เอาชนะมาร พระพุทธเจ้าสำเร็จก็ด้วยชนะมาร ท่านจึงบอกว่าต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ผู้ที่เอาชนะใจตัวเองได้ คือมีชัยชนะสูงสุด

พระพุทธเจ้าเน้นให้เอาชนะใจตนเอง ไม่ใช่ให้ยอมแพ้ ถ้าใจปวกเปียกอ่อนแอ จะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องตรวจสอบว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ถูก ข้าไม่เอากับแก จิตของเราอ่อนแอ มันจะเอาอย่างนั้น เรามีปัญญา เราก็บอกว่าแกไม่ถูกแล้ว ข้าต้องบังคับแก แล้วเราก็ชนะใจตัวเองได้ พอชนะใจได้ เราก็เดินหน้า ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่ต้องไปไหนแล้ว ได้แต่วนเวียนจมอยู่แค่ความประมาทนั่นแหละ

พูดตักเตือนว่ากล่าว ไม่จำเป็นอะไรที่จะทำด้วยความโกรธ หวังดีก็เตือนได้

อีกข้อหนึ่งบอกว่า เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ หรือพูดจาตักเตือนว่ากล่าว แต่เราควรรักษาใจตัวเองโดยการนิ่งเฉยเสีย เพราะถ้าเราโกรธ แล้วแสดงออกมาทางกายวาจา เท่ากับว่าเรากำลังประพฤติผิดศีล ขณะที่อีกฝ่ายแค่ประพฤติผิดวินัยเท่านั้น ใครจะทำผิดก็ชั่งเขา ให้รักษาจิตเราเอาไว้ก่อน

ถ้าสอนอย่างนี้จริง ก็แสดงว่าคนที่สอนนั้นเองสับสน เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ ตอนนี้ถูกต้อง แต่ที่ไม่ให้พูดจาตักเตือนว่ากล่าวนั้น ยังไม่ถูกต้อง

ควรพูดเสียใหม่ว่า เมื่อพบเห็นคนทำผิดกฎระเบียบ เราไม่ควรแสดงความโกรธ แต่ควรพูดจาตักเตือนว่ากล่าวด้วยเมตตา ด้วยกรุณา คือไม่ต้องไปด่าว่าเขาด้วยความโกรธหรือด้วยโทสะ แต่ควรมีความปรารถนาดีต่อเขา แล้วก็ว่ากล่าวตักเตือนเพื่อให้เขาไม่จมอยู่ในความผิดในความชั่ว

ควรจะสอนว่า ถ้าเราเห็นคนทำผิด แล้วเราโกรธ อยากจะด่าว่าตักเตือนเขา นี่คือถึงโอกาสที่จะได้ฝึกตัวเราเองแล้ว จะได้ทำประโยชน์แก่คนที่ทำผิดนั้นด้วย แล้วก็จะได้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย คือ ตัวเราเองก็จะได้ฝึกใจให้เปลี่ยนจากโกรธเป็นเมตตากรุณา คืออยากช่วยให้เขาพัฒนาเป็นคนที่ดีขึ้น ให้เป็นคนรู้จักระเบียบวินัย แล้วเราก็ฝึกวาจาของตน แทนที่จะใช้คำหยาบ ก็จะได้พยายามใช้คำพูดที่สุภาพอ่อนโยน ทำให้พูดเป็น ถ้าพูดให้เขารู้ตัวได้โดยเขาไม่โกรธ ให้เขาเชื่อและทำตามได้ ทั้งเราและเขา ก็จะเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปด้วยกัน ส่วนด้านสังคมหรือส่วนรวมนั้นก็จะดีขึ้น ได้ประโยชน์แน่นอนชัดอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย

โดยเฉพาะพระสงฆ์ ที่ท่านให้อยู่ร่วมกันเป็นสงฆ์ อยู่กันเป็นชุมชนเป็นวัด ก็เพื่อให้มาช่วยบอกกล่าวแนะนำตักเตือนสั่งสอนกัน ทุกคนจะได้เจริญงอกงามไปในธรรมวินัย จึงมีอุปัชฌาย์อาจารย์ มีการปวารณา ฯลฯ

การนิ่งเฉยเสีย ไม่ใช่การรักษาใจ แต่เป็นการดูดายข้างนอก เป็นการไม่ฝึกตนข้างใน และเป็นความประมาทในธรรม

ถ้าจะนิ่งไว้ก่อน ยังไม่ว่ากล่าวตักเตือนเขา ก็ต้องทำด้วยเหตุผลอย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องที่จะมารักษาใจ แต่ต้องฝึกทั้งใจและใช้ปัญญา คือ พิจารณาเห็นเหตุผล เช่นว่า กาลเวลายังไม่เหมาะ หรือตัวเราตัวเขายังไม่พร้อม พูดไปเวลานี้ อาจเกิดผลเสีย เราก็คิดหาทางแก้ปัญหา คือจะช่วยเขา ฝึกตัวเรา และทำประโยชน์ของส่วนรวมให้สำเร็จนั่นแหละ แต่หาวิธีอื่น เช่นเอาไปปรึกษาหารือผู้สมควร หรือรอเวลาที่เหมาะ เป็นต้น ไม่ใช่จมอยู่ในความประมาท แล้วอ้างว่ารักษาใจ

พึงตระหนักว่า การทำที่เรียกว่ารักษาใจกำกวมอย่างนี้ ในระยะยาว จะเสียหายมาก เป็นทางมาของความเสื่อมอย่างเดียว

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง