คติจตุคามรามเทพ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พึงทราบก่อนว่า...
๑. ข้อความที่เป็นตัวหนา คือ คำสนทนาฝ่ายผู้มาเยี่ยม
๒. ข้อความที่เป็นตัวธรรมดา คือ คำตอบของท่านเจ้าคุณฯ
๓. ข้อความที่เป็นตัวหนาขนาดใหญ่ คือ หัวข้อเรื่อง

 

ตอนนี้มีเรื่องน่าเป็นห่วงในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องกระแสนิยมวัตถุมงคลเหรียญ ‘จตุคามรามเทพ’ ซึ่งเท่ากับว่า เกิดการนับถือเทวดามากกว่าพระพุทธเจ้า

ความนิยมนี้รุนแรงมาก กล่าวกันว่า มีการแพร่สะพัดของเงินถึงสองหมื่นสองพันล้านบาท แพร่ระบาดไปทุกวงการ

แม้แต่วัยรุ่นทั้งหญิงและชาย ก็พลอยนิยมแขวนเหรียญ ‘จตุคามรามเทพ’ มากกว่าเครื่องประดับต่างๆ เสียอีก บางทีพ่อแม่ให้แขวนพระ วัยรุ่นบางคนก็จะไม่ยอม เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเซย แต่ถ้าให้แขวนจตุคามรามเทพ ก็จะพอใจ เพราะเห็นเป็นเรื่องทันสมัย

นอกจากนี้ เรื่อง ‘จตุคามรามเทพ’ ได้กลายเป็นเรื่องธุรกิจหาเลี้ยงชีพที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจสืบเนื่องต่างๆ อย่างการทำกรอบหุ้มเหรียญ ทั้งกรอบพลาสติก กรอบสเตนเลส กรอบเงิน รวมไปถึงเลี่ยมทอง มีข่าวหนังสือพิมพ์รายงานว่า บางวันได้เป็นแสนเป็นล้านบาท

ร้านขายหนังสือ รวมถึงแผงหนังสือพิมพ์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ก็มีแต่หนังสือเกี่ยวกับ ‘จตุคามรามเทพ’ ไม่ว่าจะเป็นพ็อคเก๊ตบุ๊ค นิตยสารแทบลอยด์ นิตยสารขนาดแปดหน้ายก ฯลฯ ขายดิบขายดี จนสำนักพิมพ์พิมพ์ออกมาขายแทบไม่ทัน

แม่ค้าขายขนมจีน ก็เลิกขายขนมจีน หันไปจองเหรียญ ‘จตุคามรามเทพ’ เอามาให้เช่า รวยกว่าเยอะ มีแม้กระทั่งธุรกิจให้เช่าแบบเงินผ่อน ราคาตั้งแต่ร้อยบาทไปจนเรือนหมื่น

เรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณฯ มีความคิดเห็นอย่างไร?

ถ้าจะห่วงเรื่องนี้กันละก็ อย่ามาเพิ่งห่วงที่เรื่องจตุคามรามเทพนี่เลย ควรจะห่วงมานานแล้ว กระแสจตุคามรามเทพนี่เป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคนี้ที่สังคมไทยเป็นมานานแล้ว

เรื่องพระพรหม พระราหู พระพิฆเนศ คนไทยเอาทั้งนั้น เดี๋ยวก็ฮือๆ แต่ตอนนี้อาการมันแรงขึ้นๆ ถ้าปล่อยกันอยู่ ก็คงแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเป็นสังคมหลักลอย ที่ผู้คนเลื่อนลอย หาอะไรเป็นหลักยึดไม่ได้

บางคนอาจจะเรียกว่าโรคเส้นตื้น ถ้าใครพูดอย่างนั้นก็อย่าไปว่าเขาเลย เขานึกหาคำที่เหมาะไม่ได้ทันใจ ก็เลยพูดไปตามที่นึกได้

มองอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ ถ้าคนเป็นชาวพุทธจริงละก็ ไม่ต้องไปห่วงเขาหรอก ถ้าเป็นชาวพุทธจริงนะ ถึงจะนับถือของพวกนี้ เขาจะมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลเสียหาย

พวกที่พาสังคมเคว้งคว้างน่าห่วงแน่ ก็คือพวกตื่นตามกระแส หรือพวกเหยื่อกระแส พวกนี้ นอกจากไม่มีหลักอะไร พระพุทธศาสนาที่ตัวว่านับถือ ก็ไม่รู้จักเลย นอกจากนั้นแล้ว แม้แต่สิ่งที่ตัวไปรับเอามา อย่างจตุคามรามเทพนั้น ตัวก็ไม่รู้หน้ารู้หลังว่าเป็นอะไร ไปอย่างไรมาอย่างไรกันแน่ ได้แต่ว่าไปตามเสียงที่ปั่นกระแสเท่านั้นเอง นี่ด้านชาวบ้าน

แต่ไม่ใช่แค่โยมเท่านั้น มันมาเป็นเรื่องของพระกับวัด ที่พลอยเข้ากระแสไปกับเขาด้วย คือ

หนึ่ง เหมือนกับถือหรือฉวยโอกาสหาลาภ หารายได้ หาผลประโยชน์ไปกับเขาด้วย

สอง เสียหลัก ไม่ยืนอยู่ในหลักการของตัว คือพระรัตนตรัย และพระธรรมวินัย แค่เอาเทพมาเปลุกเสกในวัด ถ้าทำพลาด จะกลายเป็นว่าพระไปนับถือเทพเข้า ก็หล่นคะมำเลย นี่ทำไปได้อย่างไร

พระต้องมีความรู้สึกรับผิดชอบทั้งสองด้านพร้อมกัน ด้านหนึ่งก็รับผิดชอบต่อหลักของตัวที่ว่าไปแล้ว อีกด้านหนึ่งก็รับผิดชอบต่อประชาชน คือจะต้องทำอะไรๆ โดยมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของเขา เฉพาะอย่างยิ่งให้เขาเจริญงอกงามขึ้นในศีล ในธรรม ในปัญญา ถ้าพาเขาเสื่อมลง ก็ตรงข้ามเลย

หลวงพ่อที่ดัง มีเทวดาใหญ่เฝ้าดู

เมื่อกี้นี้ ท่านว่า ถ้าคนเป็นชาวพุทธจริง ก็ไม่ต้องห่วง ชาวพุทธจริง ถ้านับถือของพวกนี้ จะมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลเสียหายได้อย่างไร

เรื่องนี้มีอีกแง่หนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน คือการวางใจ วางท่าที คนในสังคมนี้ไม่ควรจะมัวมาเถียงกันแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย เป็นฝ่ายเอาจตุคามฯ กับฝ่ายไม่เอาจตุคามฯ

สำหรับพวกที่ไปตื่นหาจตุคามฯ นั้น ก็มีเรื่องที่ต้องเข้าใจเขาด้วย แล้วก็มีแง่ที่น่าเห็นใจอยู่บ้าง แต่ไม่มีแง่ที่จะตามใจ

อย่างที่เขาอ่อนแอคอยหวังผลหวังพึ่ง หรือเขาเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีความรู้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ว่า จะปฏิบัติตัวอย่างไร ทำให้ตื่นตูมตามกระแสไปง่ายๆ อะไรอย่างนี้ ก็ต้องเข้าใจ และเห็นใจเขาบ้าง ต้องมองไปที่คนและสถาบันที่ควรจะทำหน้าที่รับผิดชอบ เช่นให้การศึกษาแก่เขา รวมทั้งพระนี่แหละด้วย แต่จะปล่อยให้จมกันอยู่อย่างนั้นก็ไม่ได้ นี่คือ เข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่ตามใจ

สำหรับพวกที่เป็นชาวพุทธจริงนั้น เขามีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทวดา ซึ่งเข้าใจรู้กันมาอย่างเป็นระบบ ในที่นี้ควรทบทวนหลักที่เกี่ยวกับเรื่องเทวดาไว้ ๒ อย่าง คือ

๑) หลักความสัมพันธ์ระหว่างเทพทั้งหลายกับปูชนียวัตถุ-สถานในพระพุทธศาสนา

๒) หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา หรือระหว่างคนกับเทพ

ถ้ารู้เข้าใจและทำตามหลักนี้แล้ว ก็จะไม่เสียหาย ชีวิตก็จะไม่เสื่อม สังคมก็จะไม่สลาย

ในข้อ ๑) อันนี้อาตมาเคยเล่ามาแล้วในเรื่องพระพรหม-พระภูมิ คือ คติของเราแต่โบราณเกี่ยวกับการนับถือพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร เป็นต้นนั้น คนก็ไม่ค่อยรู้เรื่องกัน คนจำนวนมากนึกไปเองว่า องค์หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้บันดาลโน่นบันดาลนี่ให้แก่ตน แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น องค์หลวงพ่อท่านไม่ต้องมาเหนื่อยอย่างนั้น

หลักมีอยู่ว่า ที่พระพุทธรูปสำคัญและพระสถูปเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้น มีเทพผู้ใหญ่เฝ้าหรือพิทักษ์รักษา และเทพเหล่านี้แหละคอยดูแลเหมือนเป็นผู้รับสนองงาน

หลักเรื่องนี้สืบมาจากคติเก่าแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นคติโบราณ จารึกไว้ในคัมภีร์ดั้งเดิม คือ เวลามีการสร้างสถานที่สำคัญอะไรต่างๆ แม้แต่บ้านของชาวบ้าน พวกเทวดาก็จะไปจับจองยึดครองสถานที่ ถ้าเป็นบ้านเศรษฐี ก็อาจจะไปอยู่ที่ซุ้มประตูบ้าน

อย่างในครั้งพุทธกาล ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็มีเทวดามาอยู่ประจำที่ซุ้มประตู (ไม่ต้องสร้างศาลให้) หรือในตอนที่พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธสร้างเมืองปาฏลีบุตร (ต่อมาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันเรียกว่าเมืองปัตนะ หรือ Patna) เทวดาทั้งหลายก็มาครองสถานที่ต่างๆ ตามหมาะสมลดหลั่นกันไปตามศักดิ์ของตนๆ

ต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย เทวดาจำนวนมากก็มานับถือพระพุทธศาสนา หรือเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาแล้วไปเกิดเป็นเทวดา เวลาเขาสร้างปูชนียสถานและพระพุทธรูปสำคัญ เทวดาผู้ใหญ่ที่เป็นชาวพุทธก็จะไปอยู่

โดยเฉพาะในสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆ เทวดาก็จะชอบเป็นธรรมดา เพราะจะได้ใกล้ชิดเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แล้วก็ทำหน้าที่ดูแลรักษาไปด้วย เช่น เทวดาที่รักษาพระแก้ว ก็อาจจะอยู่ที่ฉัตร หรืออยู่ที่ฐานพระก็ได้ นี่ก็เป็นคติที่ว่ามีเทวดาคุ้มครองรักษาพระพุทธรูปสำคัญๆ

ทีนี้ ที่ว่าพระพุทธรูปองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ บันดาลโน่น บันดาลนี่ ก็คือเทวดาที่พิทักษ์องค์พระนั่นเองเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ พระพุทธเจ้าไม่ทรงมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องกิเลสของชาวบ้าน ไม่มาเที่ยวบันดาลลาภ บันดาลยศให้ใครหรอก และพระองค์ก็ปรินิพพานไปแล้ว มันเป็นเรื่องของเทวดาที่รักษา

แล้วก็เป็นธรรมดาว่า เทวดาที่มาอยู่กับหลวงพ่อองค์ใหญ่ ก็ย่อมเป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์เดชศักดานุภาพมาก พร้อมกับที่จะต้องเป็นเทพที่ดีมีธรรมด้วย คือมีเมตตากรุณาสูงมาก อยากจะช่วยคนทุกข์ยาก และไม่กลั่นแกล้งข่มเหงรังแกคน ไม่เป็นอย่างเทวดาร้ายหลายองค์ที่ยิ่งใหญ่โต ก็ยิ่งเกรี้ยวกราดพิโรธเอาง่ายๆ คนก็เลยชอบไปหาหลวงพ่อ ไปบอกทุกข์ร้อนแก่หลวงพ่อ แล้วเทวดาที่นั่นก็จะดูแลรับสนองงานต่อไป ก็เป็นคติมาอย่างนี้

เมื่อมาดูในเรื่องนี้ ตำนานบางแหล่งก็ว่า ‘จตุคามรามเทพ’ เป็นเทพที่พิทักษ์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องก็มาลงตรงที่ว่า พระบรมธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช มีประวัติซึ่งเข้าคตินี้ คือเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ก็มีเทวดามาเฝ้า ซึ่งบอกกันว่าชื่อ ‘จตุคามรามเทพ’

องค์จตุคามรามเทพนี้มีประวัติความเป็นมาหลายอย่าง บ้างก็ว่า เป็นกษัตริย์ศรีวิชัยมาก่อน บ้างก็ว่าเป็นกษัตริย์พี่น้อง ๒ พระองค์ จตุคามองค์หนึ่ง รามเทพองค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อสวรรคตแล้ว ก็มาเป็นเทพพิทักษ์พระบรมธาตุ โดยหวังทำความดี จะได้บำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า นี่ก็เป็นเรื่องตามคติพระพุทธศาสนาชัดๆ

ในรายละเอียดของบางตำนานที่ว่าเป็นกษัตริย์พี่น้อง ๒ พระองค์นั้น ก็ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของเมืองและได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ และเมื่อสวรรคตแล้ว ประชาชนได้ยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง แล้วยังมีรูปขนาดใหญ่ของทั้งสองพระองค์ประทับนั่งอยู่ข้างบันไดทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์ในวิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารด้วย

เมื่อดูตามนี้ การที่องค์จตุคามและรามเทพจะทรงพิทักษ์พระบรมธาตุแล้วจะเป็นเทวดารักษาเมืองด้วย ก็ไม่แปลกอะไร เพราะตอนที่เป็นกษัตริย์ยังไม่สวรรคต ก็ทรงบูชาพระธาตุและรักษาเมืองอยู่แล้ว หลังสวรรคต ก็พิทักษ์พระบรมธาตุซึ่งเป็นหัวใจของเมือง พร้อมทั้งเป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง ซึ่งเหมือนรักษาร่างกายของเมืองด้วย เป็นอันว่ารักษาบ้านเมืองให้อยู่ดีพร้อมหมด ทั้งด้านร่างกาย และด้านจิตใจ

คนมาไหว้มาบูชาพระบรมธาตุ พิจารณาได้แล้วขั้นหนึ่งว่าเป็นคนดี ถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไร ก็น่าจะควรแก่เมตตาการุณย์ขององค์จตุคามและรามเทพ ที่ดูแลพระบรมธาตุอยู่และกำลังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์

เลยพูดในข้อที่ ๑) คือคติเรื่องเทพเฝ้าพระพุทธรูปสำคัญและเทวดาพิทักษ์พระสถูปเจดียสถานมาเสียยืดยาว

ที่ใหญ่แท้คือธรรม พึ่งกรรมดีกว่ารอเทวดา

ฟังท่านแล้ว รู้สึกว่ามีอะไรที่เราไม่รู้แต่น่าจะรู้อีกมาก เมื่อไม่รู้ ก็มองอะไรไม่ออก แล้วก็โยงอะไรไม่ถูก แต่นี่เพิ่ง ข้อ ๑) ถ้าได้ฟังข้อ ๒) คงจะตาสว่างขึ้นอีก

เป็นการฟังเรื่องเก่าๆ ของตัวเราเอง เป็นการรู้จักตัวเองเท่านั้น ถ้าแค่เรื่องตัวเองก็ยังไม่รู้ ทางที่ตัวเองเดินมาก็ไม่เห็น แถมข้างหน้าก็มืดอีก แล้วจะมองจะเดินต่อไปให้ดีได้อย่างไร

อ้าว... ต่อไปข้อ ๒) คือหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา หรือระหว่างคนกับเทพ

หลักข้อนี้ก็ง่ายๆ ถ้าเป็นชาวพุทธจริงก็ต้องรู้แก่ใจชัดอยู่แล้วว่า อ๋อ... ไม่ว่าเทพว่าคน ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ถือว่าธรรมสูงสุด และสรรพสัตว์มีกรรมเป็นของตน ไม่ว่าคนหรือเทวดาก็ต้องว่าไปตามกรรม โดยเอาธรรมเป็นมาตรฐานเป็นเกณฑ์ตัดสิน

นี้ก็หมายความด้วยว่า คนกับเทพนั้นนับถือกันตามธรรม และตามปกติ ผู้ที่จะเกิดเป็นเทพได้ ก็เพราะมีคุณธรรม กรรมดีบางอย่าง เมื่อว่าโดยเฉลี่ยเทวดาจึงมีธรรมสูงกว่ามนุษย์ ก็เลยถือกันว่าให้มนุษย์โน้มไปทางเคารพเทวดา

แต่จะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายควรมีเมตตาคือตั้งไมตรีจิตต่อกัน อย่างพวกเราเวลาแผ่เมตตา ก็แผ่ให้เทวดาด้วย ทำบุญ ก็อุทิศให้เทวดาด้วย แม้แต่จะสวดมนต์ฟังธรรมกัน ก็เชิญเทวดามาฟังด้วย และเทวดาที่ดี ก็ใฝ่หาความสุขให้แก่มนุษย์ เหมือนผู้ใหญ่ที่มีเมตตาอยากดูแลรักษาช่วยเหลือเด็ก โดยเฉพาะคุ้มครองเด็กที่ประพฤติดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็เหมือนเทวดาที่รักษาพระบรมธาตุนั่นแหละ ที่ท่านอยากดูแลคนให้อยู่กันดี ให้คนดีพ้นภัยอันตราย

อย่างในบทสวดมนต์ ที่เรียกว่าพระปริตรต่างๆ นั้น ก็มีบทที่สื่อสารกับพวกเทวดาเยอะแยะ

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธที่ปฏิบัติกิจวัตรทางพระศาสนา และทำกิจกรรมในทางบุญกุศลต่างๆ จึงอยู่ในบรรยากาศที่คุ้นเคยสนิทสนมกับเทวดาทั้งหลายแทบจะตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เรียกว่ามีเทวดาคอยและพร้อมที่จะช่วยอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องไปเที่ยวหาชนิดเสี่ยงให้เขาหลอกกันวุ่นวาย

(ชาวพุทธไทยเวลานี้ ห่างเหินและละเลยบุญกิจบุญกรรมใกล้ตัว ก็เลยต้องคอยตื่นตูมไปตามเสียงกู่ก้องกรอกหู จากคนนอกที่แปลกหน้า)

แต่ทั้งนี้ ก็อย่างที่ว่าแล้ว ทั้งเทพทั้งคน ต่างก็มีกรรมเป็นของตน และทุกตนมีภาระของตัวที่จะต้องทำชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น (อย่างที่ว่า องค์จตุคามรามเทพเองก็กำลังบำเพ็ญบารมีอยู่นั่นแหละ) ต้องฝึกหัดทำอะไรต่างๆ ให้เป็น ต้องพัฒนาความสามารถต่างๆ ต้องสร้างความเข้มแข็งในตัวเอง ต้องแสวงหาความรู้ ต้องรู้จักคิด ต้องสร้างปัญญา

ถ้ามัวรับความช่วยเหลือ ก็อ่อนแอป้อแป้ปวกเปียกลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไม่มีใครช่วยไหว (แม้แต่ใครจะมาช่วยอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นไปไม่ได้) ท่านจึงสอนนักหนาให้หัดเข้มแข็งไว้ อย่าไปยอมรอรับความช่วยเหลือ แต่จะต้องเข้มแข็งอดทนที่จะฝึกหัดทำเหตุเอง ให้ผลเกิดขึ้นด้วยการกระทำของตัวเราเอง หรือด้วยการร่วมใจกันคิดและร่วมแรงกันทำด้วยกำลังของพวกเราชาวมนุษย์ด้วยกันเอง นี่คือการทำตามหลักกรรม

กรรมสำคัญที่จะทำให้เราสูงขึ้นตามธรรม และพิสูจน์ความสามารถที่แท้ของมนุษย์ ก็คือ การสร้างสรรค์ผลสำเร็จที่ดีงามหรือสร้างประโยชน์สุขที่ไม่ต้องมีการเบียดเบียนใดๆ โดยใช้เรี่ยวแรงความเพียรพยายาม ทำการด้วยปัญญาที่เข้าถึงเหตุปัจจัยจริงๆ

นี่ไง... ในที่สุด ก็มาเข้าหลักใหญ่ที่ให้พึ่งตน อย่าเพาะนิสัยเสียที่เอาแต่หวังลาภลอย-คอยผลดลบันดาล

คิดดูให้ดีนะ... พึ่งกรรมดีด้วยความเพียรและสติปัญญาของตัวเรา ดีกว่าเที่ยวขอรอผลดลบันดาลจากเทวดาเป็นไหนๆ

เทพดี คนดี บรรจบกันที่ธรรม

เมื่อกี้นี้ท่านว่า โดยเฉลี่ยเทวดามีคุณธรรมสูงกว่าคน ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เทวดาที่แย่กว่าคนก็มีใช่ไหม? แล้วถ้าเจอเทวดาที่ไม่ดี เราจะทำอย่างไร?

ก็แน่ละซิ เทวดาร้ายมีเยอะแยะไป บ้างก็ขี้โกรธ ถืออำนาจ ใครทำอะไรกระทบกระทั่งนิดหน่อย ก็จะเอาตาย อย่าง พระภูมิบางบ้าน เด็กไปทำอะไรเข้า ทั้งที่ไม่ประสีประสา ก็ไม่อภัย แต่มาทำให้เจ็บป่วย เทพบางองค์ก็ดุนัก อะไรๆ ก็จะหักคอ กลายเป็นว่าเทวดามารังแกคน

ถ้าเทวดานั้นเป็นชาวพุทธ เป็นผู้รู้จักธรรม ก็ประพฤติปฏิบัติตามธรรม เรื่องร้ายก็ไม่มี แต่ถ้าเจอเทพร้าย ปัญหาจะเกิด เรารู้หลัก ก็เอาหลักนั้นมาใช้ อย่างที่บอกแล้วว่า “ไม่ว่าเทพว่าคน ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ... เอาธรรมเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ตัดสิน”

เพราะฉะนั้น ถ้าคนกับเทวดามีเรื่องขัดแย้งกัน ขาวพุทธมีทางออก ไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อเทวดา ถ้าคนทำถูก ถ้าการกระทำของเราชอบธรรม เรายืนอยู่ในหลัก เทวดาต้องยอม

ขอยกตัวอย่าง เอาเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เคยพูดถึงแล้วนั่นแหละ เรื่องมีว่า ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้น พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์เสด็จบ่อย เพราะท่านมีศรัทธามาก ถึงแม้พระพุทธเจ้าไม่เสด็จ ก็มีพระสงฆ์ได้รับนิมนต์ไปรับบาตรอะไรทำนองนั้น

ทีนี้ เทวดาที่อยู่บนซุ้มประตูบ้านท่านเศรษฐีนั้น ยังไม่ได้นับถือพระและชอบอยู่สบายๆ เวลามีพระไปที่บ้านผ่านซุ้มประตู ในฐานะที่พระสงฆ์เป็นผู้มีศีล เทวดาซึ่งอยู่บนซุ้มประตูก็ต้องลงมา เป็นการแสดงความเคารพ เทวดาต้องลงมาบ่อยๆ ก็เกิดความไม่พอใจ

เทวดาขัดเคืองขึ้นมา ก็คิดว่า ทำอย่างไรจะให้พระไม่มาบ้านนี้อีก พอดีตอนนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีทำบุญมาก ก็ยากจนลง เทวดาเลยได้โอกาส วันหนึ่งก็ไปปรากฏตัวแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็พรรณนาต่างๆ ว่า “ท่านเป็นผู้มีศรัทธา ทำความดีช่วยเหลือผู้คน แต่เวลานี้ท่านจนลง นี่ก็เป็นเพราะพุทธศาสนา เนื่องจากท่านใช้ทรัพย์ไปบำรุงพระสงฆ์และทำบุญต่างๆ จนจวนจะหมด นี่ถ้าท่านตั้งตัวให้ดี ก็จะร่ำรวยยิ่งขึ้นไป ข้าพเจ้าก็อยากจะช่วย แต่ทำอย่างไรท่านจะไม่ใช้จ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองแบบนี้อีก ถ้าท่านเลิกใช้จ่ายแบบนี้ ข้าพเจ้ามีวิธีช่วยท่าน ข้าพเจ้ารู้ขุมทรัพย์ จะบอกขุมทรัพย์ให้”

ฝ่ายเศรษฐีเป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย ได้อุปถัมภ์พระศาสนา แจกทานสงเคราะห์คนยากไร้ หมดเท่าไรก็ไม่เสียดาย พอได้ยินเทวดาว่าอย่างนี้ ก็คิดว่า เทวดานี่ชวนเราผิดทางเสียแล้ว ก็จึงบอกว่า “นี่ท่านพูดชวนออกนอกลู่นอกทาง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าในฐานะเจ้าบ้าน ไม่อยากให้ท่านอยู่ที่นี่อีกต่อไป”

อันนี้เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเจ้าบ้าน คติโบราณอันนี้ คนไทยไม่ค่อยรู้ เจ้าบ้านมีสิทธิ์ ถ้าเขาไม่ให้อยู่ เทวดาก็ไม่สามารถอยู่ได้

ฝ่ายเทวดาถูกเศรษฐีไล่ไม่ให้อยู่ เดือดร้อน ก็เลยไปหาพระอินทร์ ขอให้ช่วย พระอินทร์บอกว่า “ข้าพเจ้าก็ช่วยไม่ได้ แต่จะแนะอุบายให้อย่างหนึ่ง เอาอย่างนี้สิ ท่านไปพูดกับเขา บอกว่า ท่านเศรษฐีทำบุญทำกุศล ช่วยเหลือผู้คน ทำสังคมสงเคราะห์มากมายนี่ดี มีประโยชน์มาก ข้าพเจ้าสนับสนุน เมื่อท่านจนลง ข้าพเจ้าจะบอกขุมทรัพย์ให้ ท่านจะได้มีเงินมาทำบุญทำกุศลมากๆ”

เทวดาเลยใช้วิธีใหม่ มาปรากฏตัวกับเศรษฐี แล้วพูดอีกแบบหนึ่ง เศรษฐีเลยยอมให้อยู่

นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทวดา ตามคติแต่โบราณที่สืบมาในพระพุทธศาสนา คตินี้ก็คือ เทวดาอาจจะเหนือกว่ามนุษย์ แต่ไม่เหนือกว่าธรรม ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด ถ้ามนุษย์ถูกตามธรรมแล้ว ธรรมก็เป็นตัวตัดสิน เทวดาจะต้องยอม

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ได้เปลี่ยนความยึดถือที่ว่าเทพสูงสุด มาเป็นถือธรรมสูงสุด มีเรื่องในคัมภีร์หลายเรื่องเกี่ยวกับเทวดาและมนุษย์ขัดกัน ท่านสอนคติไว้เพื่อให้เห็นตัวอย่างที่ว่า ต้องเอาธรรมตัดสิน ถ้ามนุษย์ถูก เทวดาก็อยู่ไม่ได้ ต้องแพ้ไปทุกที

ทั้งที่เรื่องทำนองนี้ปรากฏในคัมภีร์หลายที่ มนุษย์จะมีเรื่องขัดแย้งกับเทวดาอย่างไร ก็ต้องยุติด้วยธรรม ถ้าเทวดาผิดธรรม เทวดาต้องไป ท่านพยายามสอนให้มนุษย์หันออกจากทิศทางของลัทธิหวังพึ่งเทวดา ที่มัวอ้อนวอนขอให้เทวดาดลบันดาล ให้หันมายึดถือธรรมเป็นใหญ่ แต่ชาวพุทธก็ไม่สนใจศึกษาคติพระพุทธศาสนาในเรื่องให้ถือธรรมเป็นใหญ่นี้

 

เอาละ พวกเทวดาไม่ดี ก็ว่าไปตามธรรม แต่น่าจะโทษเทวดาดีอย่าง ‘จตุคามรามเทพ’ ที่รักษาพระธาตุด้วย เพราะท่านมีเมตตากรุณาคอยจะช่วยเหลือคน ก็เลยทำให้คนคอยหวังพึ่งชอบรอให้ท่านมาช่วย

แล้วจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้มแข็ง รู้จักคิดทำอะไรด้วยตัวเองให้จริงจังชนิดที่ว่าให้มันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวกันไปเลย?

ข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่า พระกับญาติโยมต้องเข้าใจและจับให้ถูกจุด ถ้าญาติโยมไม่จับจุด พระก็ต้องชี้จุดให้จับ คือ ต้องมาเน้นกันในแง่ที่ว่า เทพองค์นั้นท่านเป็นชาวพุทธที่ดี ท่านมีศรัทธามาทำหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ท่านมาบำเพ็ญความดีของท่าน นับเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ชาวพุทธควรจะปฏิบัติตัวอย่างนี้ๆ เราก็ควรบำเพ็ญความดีอย่างเทพองค์นี้ ควรเอาท่านเป็นตัวอย่างในการที่จะพยายามทำความดีอย่างท่าน ไม่ใช่ว่าท่านทำความดี แต่เราจะคอยฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์จากการทำความดีของท่าน

ควรเอาเทพที่ดีมาช่วยประกันใจตัวให้มั่นคงไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัว และปลุกใจตัวให้มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะทำการดีงามให้สำเร็จ ร่วมขบวนกับเทพนั้นในการบำเพ็ญความดี ตลอดจนบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ไม่ใช่ว่า เห็นท่านศักดิ์สิทธิ์แบบใจดี ก็ได้แต่หวังผลที่ตัวจะฉกฉวยเอา จากการขอให้ท่านมาบันดาลอะไรๆ ให้

รวมแล้วก็คือ มีความรู้เข้าใจ และจัดปรับการปฏิบัติให้เข้ามาในทิศทางที่ถูก เป็น ๒ ขั้น

๑. รู้เข้าใจและโยงเข้าหาหลักการได้ คือรู้จักสิ่งที่ตนนับถือนั้นว่าเป็นใคร คืออะไร และเข้าใจคติแต่เดิมมา ซึ่งตรงกับที่ตำนานบอกว่า จตุคามรามเทพเป็นเทวดาพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุ ให้ท่านเป็นพลังปกปักและปลุกให้เราเข้มแข็ง มั่นใจในการทำการที่ดี

๒. ปฏิบัติตัวตามวิธีที่จะให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากเรื่องนี้ คือทำความดีอย่างท่าน จตุคามรามเทพบำเพ็ญบารมีตามหลักพุทธศาสน์อย่างไร ก็เอามาเผยแพร่บอกกัน เพื่อให้เป็นการนับถืออย่างมีสาระ

ไม่ใช่ว่า นับถือบูชานักหนา แต่ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังบูชาใคร ท่านมาจากไหน

ผู้มีปัญญา เชิญเทพพรหมมาช่วยพัฒนาบ้านเมือง

ฟังตอนนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องท่านท้าวมหาพรหมที่เอราวัณ คราวนั้นท่านก็พูดอย่างนี้...

ใช่แล้ว... เหมือนเรื่องพระพรหมเอราวัณนั่นแหละ เมื่อครั้งท้าวมหาพรหมถูกทุบพัง ก็พูดทีหนึ่งแล้ว ว่าคนไทยนี่ทำเหมือนกับจะเอาแค่ตัวได้ ไปขออย่างเดียว ไม่รู้จักพระพรหมเลย และไม่สนใจว่าท่านเป็นใคร มาอย่างไร ไม่รู้เหนือรู้ใต้ อะไรเป็นอะไรไม่ต้องรู้ทั้งนั้น

เมื่อไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็ทำกันส่งๆ ไป เหมือนคนไขว่คว้าอยู่ในความมืด ประโยชน์อะไรอีกที่ควรจะได้ ก็ไม่ได้

ชาวบ้านไม่รู้ ก็หนักหนาอยู่แล้ว ผู้ปกครอง ผู้บริหารบ้านเมืองก็ไม่รู้อีกด้วย สังคมไทยก็ลอยเท้งเต้ง

เรื่องความเชื่อถือของประชาชนนี่ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมอย่างสำคัญ และมีผลต่อการพัฒนาคน พัฒนาสังคม รวมทั้งการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวกับการใช้และการพัฒนาปัญญา ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางขัดขวางหรือส่งเสริมก็ได้ ผู้รับผิดชอบต่อสังคมจึงต้องเอาใจใส่ที่จะโยงให้เข้าสู่การศึกษา หรือกระบวนการพัฒนาคน โดยเฉพาะการพัฒนาปัญญา

ไม่ว่าเรื่องพระพรหม หรือเรื่องจตุคามรามเทพ ผู้รับผิดชอบต่อสังคม เริ่มด้วยผู้บริหารบ้านเมือง จะต้องดูแลให้เกิดโอกาสในการพัฒนาคน

ที่พูดเรื่องพระพรหมเอราวัณก็เพราะเราละเลย ปล่อยให้คนอยู่กับความหลงหรือการขาดความรู้กันเรื่อยมา พอถึงตอนที่ท้าวมหาพรหมถูกทุบ ก็เป็นเหตุการณ์ร้ายครั้งใหญ่ ซึ่งกลายเป็นโอกาสที่จะมีช่องให้การศึกษาเข้าไป อย่างน้อยจะได้พัฒนาคนในด้านความรู้เข้าใจ ที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาคนนั้นต่อไป

โอกาสที่จะเป็นช่องให้การศึกษาเข้าไปอย่างไร? อ๋อ... ก็ตั้งแต่สร้างศาลเมื่อ ๕๑ ปีก่อนโน้นแล้ว ผู้วางกำหนดในการสร้างศาลเขาก็เขียนบอกกำกับไว้แล้วว่า พระพรหมองค์นี้ คือ ท้าวมหาพรหม จะมาประทับที่ศาลพระพรหมเอราวัณทุกวัน เว้นวันพระ เพราะในวันพระนั้น พระพรหมจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

นี่ทางเชื่อมโยงสู่การก้าวไปในการพัฒนาคนนั้น เขาว่าไว้ให้เสร็จแล้ว ตามกระบวนการของการศึกษาเลยทีเดียว

เราต้องยอมรับความจริงว่า ในการพัฒนามนุษย์ส่วนใหญ่ ในระบบที่ไม่ใช้การบังคับนั้น เราจำเป็นต้องเริ่มด้วยยอมรับคนตามที่เขาเป็น แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยไป

เอ้า... พวกคุณจะไปขอพระพรหม ก็ขอไป ฉันไม่ขัดขวางละ (ถึงคิดจะขวาง ก็ขวางไม่ไหว) แต่ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นมาได้บ้าง ก็เอากิจวัตรของพระพรหมที่บอกไว้แล้วนั่นแหละมาเตือนเขา

ก็เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนไปเลยว่า ท้าวมหาพรหมองค์นี้ท่านคือใคร มาอย่างไร ไปอย่างไร เรื่องเกี่ยวกับพระพรหมมีอะไรที่ควรรู้บ้าง ก็ว่าไป

เสร็จแล้ว ปิดท้ายก็บอกชาวบ้าน เขียนติดไว้ก็ได้ว่า เออ.. วันที่เท่านั้นๆ เป็นวันพระนะ พระพรหมท่านจะไม่มา เพราะท่านไปวัด ท่านจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

แล้วก็แนะนำต่อไปเลยว่า พวกเรานี่ก็มาทำตามพระพรหมกันเถอะนะ ถึงวันพระเราก็ไปวัด ไปฟังธรรมกัน ก็สอนไปสิ ให้ได้ประโยชน์ เป็นจุดเชื่อมที่จะพัฒนาคน

ในเมื่อเราไม่สามารถหักด้ามพร้าด้วยเข่า เขานับถือ ลุ่มหลงอยู่ เราก็เอาเป็นจุดบรรจบประสานให้เป็นแนวทางที่เขาจะเดินก้าวหน้าในการพัฒนาตัวต่อไป

แต่คนไทย ท่านผู้ปกครอง ไม่เอาเรื่องเลย ไม่มองช่องทางที่จะพัฒนามนุษย์อันนี้ ก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรทั้งนั้น

ตรงข้าม ตอนที่ศาลพระพรหมถูกทุบนั้น ท่านผู้บริหารบ้านเมืองมัวแต่กลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายอะไรขึ้นแก่ตัวเอง นึกไปแต่ว่าจะเป็นลางร้าย ต้องไปแก้เคล็ด แทนที่จะมองไปถึงบ้านเมือง และประโยชน์ของประชาชน ก็ตันอยู่แค่ตัวเอง เลยไม่ได้อะไร

 

เรื่องความรู้นี่ มันทำให้เห็นทางออกและทางก้าวไปได้มากจริงๆ

นั่นชิ เราจึงต้องมองถึงประโยชน์ของประเทศชาติ หรือของสังคม แล้วถือโอกาสที่จะให้ความรู้แก่ประชาชน ถามรุกไปเลยว่า คุณรู้ไหม ว่าศาลท้าวมหาพรหมนี้มีความเป็นมาอย่างไร? สร้างมาอย่างไร? ท้าวมหาพรหมคือใคร? ท่านมาจากไหน?

เห็นชัดๆ ว่า พระพรหมองค์นี้ไม่ใช่พรหมในศาสนาพราหมณ์ แต่เป็นพรหมในพระพุทธศาสนา เป็นพรหมในชั้นมหาพรหม

มหาพรหมเป็นหนึ่งในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ซึ่งแบ่งตามฌาน ๔ ระดับ เริ่มด้วยระดับปฐมฌานภูมิ1 คือ ฌานที่ ๑ มีพรหมอยู่ ๓ ชั้น ได้แก่ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหมา

มหาพรหมา คือ พรหมชั้นที่ ๓ ในระดับปฐมฌานภูมิของพรหม ๑๖ ชั้น ท่านกำลังบำเพ็ญธรรมให้สูงขึ้นไป จึงต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าก็คือไปฟังธรรม

เรื่องอย่างนี้ มันเป็นทางที่จะประสานคนเข้ามาสู่ระบบการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่ว่า

หนึ่ง พระก็ถือโอกาสหาลาภ เห็นว่าคนนิยมกันนัก ก็เลยปลุกเสกเอามาให้เช่ากันใหญ่

สอง เลยกลายเป็นการทำให้คนลุ่มหลงหนักขึ้น ผิดหลักผิดทาง แถมเอามาปลุกเสกในวัด ถ้าทำไม่ระวังให้ดี จะกลายเป็นเอามาชูเหนือพระรัตนตรัย

ไปๆ มาๆ เพลินอยู่กับเรื่องนี้ คนเลยเข้าใจผิด เฉออกจากพระศาสนาไป แทนที่จะเชื่อมโยงเข้ามาหาหลักว่า ที่จริงมันเป็นอย่างนี้นะ มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ ต้องก้าวต่อขึ้นมาให้ถึงพระพุทธเจ้าอย่างนี้ๆ

เป็นอันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ ไม่ใช่ใคร ก็โยงกับเรื่องศรีวิชัย หรือเป็นกษัตริย์ศรีวิชัย แล้วตำนานโน้นตำนานนี้ ก็ไม่หนีเมืองนครศรีธรรมราช เวียนอยู่ที่พระบรมธาตุ

ทีนี้ พอโยงมาถึงศรีวิชัย ก็โยงต่อไปอีกว่า ศรีวิชัยอยู่สุมาตรา หรือถ้าตกลงว่าศรีวิชัยอยู่นครศรีธรรมราช ก็ไปถึงสุมาตรานั่นแหละ แล้วสุมาตรานั้นก็มลายูนี่เอง ชาวมลายูก็เป็นลูกหลานกษัตริย์ศรีวิชัยองค์นี้ เพราะฉะนั้น ชาวใต้ ๓-๔ จังหวัด ที่ว่าเป็นมลายู ก็เป็นลูกหลานของกษัตริย์ศรีวิชัยนี้ด้วย

อย่างที่เคยเล่าแล้วว่า เจ้าชายปรเมศวรออกจากสุมาตรา มาขึ้นที่สิงคโปร์ แล้วหนีจากสิงคโปร์มาขึ้นที่มะละกา ตั้งอาณาจักรมะละกาขึ้นมา ศูนย์กลางความเป็นมลายูอยู่ที่มะละกา ก็โยงไปที่ศรีวิชัย

เราก็เอาความรู้อย่างนี้เผยแพร่กันไป จะแยกตัวกันไปทำไมว่า ฉันเป็นมลายู ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ชาวพุทธ อย่างน้อยสืบอดีตกัน มลายูก็เป็นชาวพุทธมาแล้ว เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในบ้านเมืองนี้ วิทยุก็มี ทีวีก็มี ก็ให้ความรู้แก่ประชาชนกันไป

ถ้ารู้เรื่อง ‘จตุคามรามเทพ’ ก็นำมาทำประโยชน์ได้ทั้งในทางสามัคคีและในทางพัฒนาคน ยิ่งนิยมกันมาก ก็ยิ่งต้องเผยแพร่ความรู้ให้มาก

ยุคธุรกิจฟูฟ่า เงินต้องมาเป็นทาสรับใช้ธรรม

ถ้าไม่หาความรู้ความเข้าใจกันอย่างที่ว่านั้น ก็ได้แต่ตื่นตูมตามกระแสเรื่อยไป ก็สมที่ว่าเป็นโรคเส้นตื้น

มันไม่ใช่แค่โรคเส้นตื้นหรอก มันกินลึกเลย แล้วก็หนักหนามาก มันฟ้องสภาพสังคม และบ่งบอกปัญหาคุณภาพของคน

อาการนี้ ด้านหนึ่งก็คือมันแสดง อิทธิพลของระบบธุรกิจว่าสังคมไทยนี่ ธุรกิจเฟื่องดีนัก คนอยู่ใต้ครอบงำของระบบธุรกิจ มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ขนาดหนัก มองหาแต่เงิน

แม้แต่เรื่องทางด้านจิตใจ ก็ไม่เว้น ยังเอามาใช้เป็นช่องทางหรือเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ (อันนี้แหละตรงกับที่เรียกว่าเรื่องจิตวิญญาณ คือเรื่อง spiritual ขั้นพื้นฐานแท้เลย คือเรื่องผีๆ หรือเรื่องผีสางเทวดา)

อีกด้านหนึ่ง อาการนี้แสดงอะไร ก็แสดงว่าคนไทยเวลานี้ตื่นตูมง่ายมาก ปั่นกระแสขึ้นดีนัก ก็เลยสอดรับกับข้อแรกที่ว่าไปแล้ว คือเป็นเหยื่อที่ดีของธุรกิจ

ทำไมจึงตื่นตูมง่าย ก็เพราะพื้นฐานของตัวชอบหวังผลจากการดลบันดาล ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย คิดแต่จะพึ่งอำนาจภายนอกมาทำให้ อย่างที่ว่า “หวังลาภลอย นอนคอยโชค”

แล้วระยะยาวเป็นอย่างไร คนก็อ่อนแอ ไม่มีความเพียรพยายามที่จะทำการให้เกิดผลสำเร็จด้วยเรี่ยวแรงทำการของตนเอง ได้แต่เป็นนักพึ่งพา

ถ้าขมวดให้สั้น ก็คือวงจรของลัทธิบริโภคนิยม กับลัทธิหวังผลดลบันดาล มาบรรจบประสานกัน แล้วก็ส่งผลเป็นเหตุปัจจัยหนุนกัน ให้ชีวิตและสังคมนี้หมุนกลิ้ง หรือลอยเคว้งคว้างต่อไป

 

นิตยสารมติชนรายสัปดาห์ ขึ้นปกว่า จตุคามรามเทพทำให้เกิดการสะพัดของเงินกว่า ๒๒,๐๐๐ ล้าน เท่ากับว่าตอนนี้ มันมีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวด้วย ถ้าผูกเข้าไปตรงนี้แล้ว ท่านเจ้าคุณฯ เห็นว่า เราจะหยุดกระแสนี้ได้อย่างไร

เรารู้อยู่ว่า สังคมนี้กำลังต้องการเงินทองมาก เป็นสังคมธุรกิจ ประสานกับบริโภคนิยม เห็นแก่การเสพบริโภค ระบาดเข้ามากระทั่งในวัด กระแสใหญ่เป็นอย่างนี้ เราต้องพยายามดึงกระแสใหญ่เข้ามาหาหลัก

สังคมสมัยพุทธกาล ก็คล้ายอย่างนี้ คือกำลังเฟื่องในด้านธุรกิจการค้า

ในสมัยพุทธกาลนั้น การพาณิชย์กำลังเจริญรุ่งเรือง มีกองเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมือง เศรษฐีขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ

ในชมพูทวีปมีวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์ถือตัวว่าสูงที่สุด

ว่าที่จริง กษัตริย์เป็นใหญ่มาก่อนตั้งแต่ในยุคพระอินทร์ คือ พวกอารยันเข้ามาจากทางอิหร่าน มาบุกอินเดีย ตอนแรกที่ยกทัพมานั้น พวกนักรบเป็นใหญ่ เป็นยุคของกษัตริย์ ตอนนั้นเทพที่ยิ่งใหญ่คือพระอินทร์

ทีนี้ พออารยันเข้ามาอินเดีย และยึดครองชมพูทวีปได้ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอารยัน พวกมิลักขะเจ้าถิ่นถูกเหยียดลงไปเป็นทาส กลายเป็นชนวรรณะศูทร เกิดวรรณะ ๔ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร

พอตั้งหลักแหล่งได้แล้ว พวกปัญญาชนก็เริ่มใหญ่ขึ้น พระอินทร์ที่เดิมเคยใหญ่ เรียกได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของพวกนักรบ ก็เริ่มอับแสงลง กลายเป็นว่าพระพรหมที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกปัญญาชนหรือเจ้าคัมภีร์ขึ้นมาใหญ่ พระพรหมขึ้นมาตอนนี้

ตอนที่อารยันกำลังรุกเข้ามาอินเดีย ตอนนั้นยังไม่มีพระพรหม แต่พอตั้งหลักแหล่งดีแล้ว พระพรหมก็โผล่ มีพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้ประกอบพิธี เหมือนกับรู้พระทัยสามารถสื่อสารได้กับพระพรหม

ถึงยุคนี้ ใครๆ ก็ต้องอาศัยพระพรหมเป็นเจ้าใหญ่ ต้องทำพิธีบูชายัญ โดยให้พราหมณ์เป็นผู้บอกว่า เมื่อใครต้องการอะไร อยากได้ผลประโยชน์อะไร จะต้องทำอย่างไร ต้องบูชายัญอะไรอย่างไร กษัตริย์ก็ชักจะตกอันดับ พราหมณ์ขึ้นมาเป็นที่หนึ่ง ตามด้วยกษัตริย์ แพศย์ ศูทร ส่วนพระอินทร์ตอนนี้ก็ถูกเรื่องเสียหายเกิดขึ้นมากลบเยอะหมด กลายเป็นเทพที่ไม่ค่อยมีความหมาย

(ส่วนพระพรหมเองที่เป็นใหญ่ในสมัยพุทธกาล ก็มาอับแสงลงเมื่อราว ค.ศ. ๕๐๐-๖๐๐ โดยมีพระศิวะและพระนารายณ์ ใหญ่ขึ้นมาแทน)

ในยุคพุทธกาลจะเห็นว่า ชนพวกหนึ่งกำลังเฟื่องขึ้นมา คือพวกเศรษฐีคหบดี พวกนี้เป็นพ่อค้าวาณิช ทั้งๆ ที่เดิมน่าจะอยู่ในชนชั้นสาม (แพศย์/ไวศยะ) แต่กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมาก เศรษฐีนี่ถึงกับเป็นตำแหน่ง ที่พระราชาทรงแต่งตั้งประจำเมืองเลย มีหน้าที่ไปเฝ้าพระราชาวันละสองครั้ง

รัฐไหนไม่มีเศรษฐี ก็เหมือนจะน้อยหน้า เป็นรัฐที่ไม่รุ่งเรือง เหมือนกับต้องแข่งกันว่า รัฐนี้ๆ มีเศรษฐีกี่คน บางรัฐที่รู้สึกจะด้อยก็จึงต้องหาทางมีเศรษฐี ถึงกับมีการขอเศรษฐีจากอีกรัฐหนึ่ง นางวิสาขาก็ไปจากบ้านเมืองเดิมเพราะเหตุนี้

เรื่องก็คือ แคว้นมคธมีเศรษฐีใหญ่ร่ำรวยมากถึง ๕ คน ทางแคว้นโกศลซึ่งขาดแคลนเศรษฐีใหญ่ ต้องการมีเศรษฐีใหญ่บ้าง จึงขอให้แคว้นมคธส่งเศรษฐีใหญ่แบ่งไปให้คนหนึ่ง แต่แคว้นมคธไม่ได้ให้ตัวเศรษฐีใหญ่ เพียงส่งลูกเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งไปให้ ชื่อว่าธนัญชัย ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเศรษฐีประจำเมืองสาเกต

ธนัญชัยเศรษฐีนี้ก็คือพ่อของนางวิสาขา เมื่อธนัญชัยเศรษฐีย้ายไปอยู่โกศลรัฐ นางวิสาขาเป็นลูก ก็ไปด้วย แต่ต่อมานางวิสาขาแต่งงานไปอยู่เมืองสาวัตถี

เศรษฐีมีอิทธิพลมากเพราะการค้าขาย เรียกว่าสังคมกำลังเฟื่องในทางเศรษฐกิจ จากการค้าขาย ก็มีสิ่งอุปโภคบริโภคกินใช้กันมากมาย มีการอวดกัน เช่นว่า ใช้ผ้าไหมจากรัฐนั้น ที่ถือกันว่าเป็นของชั้นดี

ในท่ามกลางสภาพสังคมอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ความนิยมหรือกระแสที่เกิดขึ้น เป็นจุดปรารภที่จะสอนให้คนที่มีบทบาทสำคัญในสังคมนั้น หันมาใฝ่ธรรม และนำธรรมไปปฏิบัติ ดังเช่นเศรษฐีก็ควรจะเอาทรัพย์มาทำประโยชน์ ส่งเสริมธรรม เกื้อกูลสังคม รวมทั้งพัฒนาชีวิตของตนเอง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภคหรือใช้อิทธิพลจากทรัพย์และอำนาจไปข่มเหงคนอื่น

อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี นับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ก็หันมาทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ที่จริงชื่อตัวว่า สุทัตตะ แต่เพราะทำประโยชน์ ช่วยเหลือคนยากจนให้มีกินมีใช้ ตั้งโรงทานช่วยคนขาดแคลน จนได้สมญาเป็นชื่อว่า “อนาถบิณฑิก” แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา แล้วก็บำรุงพระศาสนา อุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีกำลังไปสอนประชาชนให้อยู่ดีทำดี ช่วยเหลือกัน สูญเสียทรัพย์ไปในการทำบุญเหล่านั้นเท่าไร ก็ไม่คำนึง นี่เป็นตัวอย่าง

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างนี้ ถ้าเราดูลึกลงไป พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเพียงตัวหัวข้อธรรม แต่เป็นคำสอนที่โยงกันหรือเนื่องกับสภาพความเป็นไปของสังคม มีปัจจัยยักย้ายแผกกันไป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนคนพวกนี้พวกนั้นว่า ทำอย่างไรชีวิตเขาจะดี และเขาจะอยู่กันดี พระดำรัสเทศนาก็จึงแตกต่างกัน

มาถึงสมัยนี้ก็เหมือนกัน ปัจจุบันสังคมเป็นอย่างนี้ ก็ต้องรู้เข้าใจว่า ทำอย่างไรจะให้ธรรมเกิดประโยชน์แก่คนเหล่านี้เหล่านั้นที่ต่างๆ กันได้

 

เรื่อง ‘จตุคามรามเทพ’ นี้ ยังมีเรื่องอิทธิฤทธิ์ หรืออภินิหารเกิดร่วมด้วย เช่น คนสวมจตุคามไว้ในเสื้อ พอไปถ่ายรูปเห็นเป็นแสงสว่างออกมา อะไรทำนองนี้ ท่านเจ้าคุณฯ เห็นอย่างไร

ก็เป็นไปได้ที่ว่า หนึ่ง เขาอาจจะสร้างหรือแต่งภาพขึ้นมา สอง ความเชื่อของมนุษย์เป็นแรงทำให้เกิดผลได้ พอเชื่อหรือมีศรัทธาแรงมากเข้า ใจคึกฮึกเหิม ก็เกิดความรู้สึกเป็นจริงเป็นจังอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นจะต้องไปเอาใจใส่เรื่องพวกนี้เลย ในสถานการณ์ตื่นกระแส เสียงเล่าลือก็จะมีกันมาอย่างนี้แหละ แล้วก็อาจจะโหมกระพือซ้ำเข้าไปอีก

เอาสาระกันตรงที่ว่า พอมีกระแสพวกนี้ เราจับแกนของเรื่องให้ได้ และเจาะความรู้ที่โยงมาถึงธรรม แล้วก็มอง เข้าทางที่จะให้ธรรมก้าวต่อไป

 

อย่างเช่น คนนับถือจตุคามรามเทพ ในเมื่อจตุคามรามเทพเป็นเทพพิทักษ์พระธาตุ หัวใจของจตุคามรามเทพก็อยู่ที่พระธาตุ อย่างน้อยคุณก็ควรจะไปให้ถึงพระธาตุ และให้ถึงไม่เฉพาะทางกาย แต่ให้ถึงจริงทั้งด้วยใจและด้วยปัญญา

ภาคผนวก

จตุคามรามเทพ:
เรื่องราว ประวัติ ที่มา

 

[caption id="attachment_12626" align="aligncenter" width="600"] ภาพขุนพันธรักษ์ราชเดช ขึ้นปก ‘มติชนสุดสัปดาห์’[/caption]

 

เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘จตุคามรามเทพ’ นั้น มีมากมายหลายตำนาน บางตำนานกล่าวว่า ‘จตุคามรามเทพ’ เป็นเทวดาพิทักษ์พระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

บ้างก็ว่าเป็นเทวดาพิทักษ์ศาลหลักเมือง หรือเทวดาประจำเมืองนั่นเอง

บ้างก็ว่าเป็นอดีตพระราชาของศรีวิชัยที่ตั้งจิตอธิษฐานเป็นพระโพธิสัตว์ อยู่ในระหว่างบำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้ ฯลฯ

บ้างก็ว่าเป็นเทพองค์เดียว บ้างก็ว่ามีสององค์ ‘จตุคาม’ องค์หนึ่ง ‘รามเทพ’ อีกองค์หนึ่ง

ผู้ที่ปลุกกระแสความเลื่อมใสองค์ ‘จตุคามรามเทพ’ คือ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตนายตำรวจผู้ล่วงลับ ชาวเมืองนครศรีธรรมราช ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของตำรวจไทย ในแง่ความซื่อตรง มีความกล้าหาญ และมีวิชาคาถาอาคมแก่กล้า สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายที่มีไสยเวทย์ทั้งหลายได้อย่างราบคาบ เป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

ประวัติ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช

เดิมชื่อบุตร์ พันธรักษ์ เกิดเมื่อ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๒ ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ ๕ ต.ดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรนายอ้วน-นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เมื่อจบชั้น ม.๑ ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบญจราชูทิศ) ก็เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพ โดยพักที่วัดราชผาติการาม แต่เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร จนจบ ม.๘ แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม จบการศึกษาปี ๒๔๗๒

หลังจบการศึกษาแล้ว เดินทางไปรับราชการตามพื้นที่ต่างๆ ปี ๒๔๗๔ ไปประจำการที่จังหวัดพัทลุง สามารถปราบเสือสังกับเสือพุ่มนักโทษแหกคุกและยังวิสามัญคนร้ายสำคัญอีก ๑๖ ราย ผลงานครั้งนี้ ทำให้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท และได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสมณเพศได้ ๑ พรรษาก็ลาสิกขา

พ.ศ. ๒๔๗๙ ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรสำคัญทำให้มีชื่อเสียงมาก คือ ปราบโจรอะเวสะดอตาเละ ซึ่งมีคาถาอาคมอยู่ยงคงกะพัน เที่ยวปล้นฆ่าคนไทย ได้สำเร็จ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกในปีนั้น

พ.ศ. ๒๔๘๒ ย้ายกลับมาอยู่พัทลุง ปราบเสือสาย และเสือเอิบ ก่อนย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร พ.ศ. ๒๔๘๖ กวาดล้างเสือโนม ต่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยนาท พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นรอง ผ.อ. กองปราบปรามพิเศษของกรมตำรวจ ลุยปราบโจรในจังหวัดสุพรรณบุรี เช่น เสือฝ้าย เสือผ่อน เสื้อคครึ้ม เสื้อปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือไหว เสือมเหศวร เสือไกร และเสือวัน แห่งชุมโจร อำเภอพรานกระต่าย จนได้รับฉายาว่า ‘ขุนพันดาบแดง’ ‘ขุนพันจอมขมังเวทย์’

ต่อมาได้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ตำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจเขต ๘ และได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจเอก และในปี ๒๕๐๕ ได้รับเลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี จนกระทั่งเกษียณอายุในปี ๒๕๐๗ ในปี ๒๕๑๒ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ในประวัติกำเนิดวัตถุมงคล ‘จตุคามรามเทพ’ จะมีชื่อของขุนพันธรักษ์ราชเดชปรากฏอยู่ด้วยเสมอ เพราะตำนานมีว่า ท่านเป็นผู้ที่รู้ว่าภาพวาดจากคนทรง ที่พูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะมาปกป้องบ้านเมือง คือ องค์ ‘จตุคามรามเทพ’ จนนำมาสู่พิธีกรรมลงเสาหลักเมืองนครศรีธรรมราช ที่ได้มีการอัญเชิญองค์ ‘จตุคามรามเทพ’ มาประดิษฐานในศาลหลักเมือง เมื่อปี ๒๕๐๓ ซึ่งขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นเจ้าพิธี และเป็นผู้อ่านโองการอัญเชิญองค์ ‘จตุคามรามเทพ’ ด้วยตนเอง พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ สิริอายุได้ ๑๐๘ ปี

ในงานพระราชเพลิงศพของท่าน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นประธานในพิธี มีการแจกวัตถุมงคล ‘จตุคามรามเทพ’ ทำให้มีผู้มาร่วมในพิธีพระราชเพลิงนับแสนคน และมีข่าวว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เนื่องจากมารอรับวัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ที่แจกในงานดังกล่าว

 

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งเมืองนคร

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของตัวจังหวัด เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด เดิมเป็นเส้นทางโบราณหรือถนนโบราณประวัติปรากฏหลักฐานไม่แน่ชัด แต่จะผูกโยงกับตำนานพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเขียนขึ้นจากคำบอกเล่าภายหลังเหตุการณ์จริงหลายร้อยปี

หลักฐานที่ชัดเจนปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ยืนยันว่า วัดพระมหาธาตุฯ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร อุปราชปักษ์ใต้ได้อาราธนาพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาดูแลรักษาวัด เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า ‘วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร’

ตำนานการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์มีหลายสำนวน หากประมวลเนื้อหาได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมืองต่างๆ แว่นแคว้นชมพูทวีปได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บรักษาเพื่อเคารพบูชา มีเมืองๆ หนึ่งชื่อทันธบุรีได้พระทันตธาตุมาเก็บรักษาไว้ ต่อมามีกษัตริย์จากเมืองอื่นยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระทันตธาตุ กษัตริย์เจ้าเมืองทันธบุรีเห็นว่าจะรักษาเมืองไม่ได้ จึงให้พระนางเหมมาลาและเจ้าทันตกุมารพระธิดาและพระโอรสอัญเชิญพระทันตธาตุหลบหนีไปยังเกาะลังกา

บังเอิญเรือถูกพายุพัดแตก ทั้งสองพระองค์มาขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว จึงฝังพระทันตธาตุส่วนหนึ่งไว้ จากนั้นก็เดินทางต่อไปเกาะลังกา ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้เสด็จมาพบที่ฝังพระทันตธาตุ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ และสร้างเมืองใหม่บริเวณนั้น ซึ่งก็คือเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง

 

จตุคามรามเทพคือใครกันแน่

มีตำนานเล่าว่า จตุคามรามเทพ คือเทวดารักษาเมือง หรือเทพประจำหลักเมืองนครศรีธรรมราช เดิมคือ พระเจ้าจันทรภาณุ ผู้สร้างเมืองศรีธรรมโศก (นครศรีธรรมราช) อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย

อีกตำนานหนึ่ง เชื่อกันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ ทรงเป็นพระโอรสของนาง พญาจันทราหรือนางพญาพื้นเมืองทะเลใต้ ทรงเป็นราชินีของพระเจ้าราตะ หรือ พระสุริยะเทพ ผู้ทรงรวบรวมดินแดนคาบสมุทรทองคำเป็นจักรวรรดิเดียวกันในพุทธศตวรรษที่ ๗ และทรงเป็นพระราชมารดาของเจ้าชายรามเทพ พระนางจันทราทรงบรรลุธรรม ทรงอิทธิฤทธิ์ขนาดบังคับคลื่นลมร้ายให้สงบลงได้ ดังนั้น ชาวทะเลจึงกราบไหว้ท่านก่อนออกสู่กลางทะเล เรียกกันอีกชื่อว่า ‘แม่ย่านาง’ ของชาวศรีวิชัย หรือ เจ้าแม่อยู่หัว

เจ้าชายรามเทพทรงศึกษาวิชาจตุคามศาสตร์จากพระมารดาจนเชี่ยวชาญ ทรงศึกษาพุทธธรรมในลัทธิมหายาน ทรงมีความเชื่อเรื่องการบำเพ็ญบารมี เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อการตรัสรู้ธรรมในภายภาคหน้า ทรงตั้งปณิธานแน่วแน่ในการประกาศพระศาสนาให้มั่นคงทั่วแว่นแคว้น ทรงได้รับการถวายพระนามว่า องค์ราชันจตุคามรามเทพ ต่อมาทรงเจริญอิทธิฤทธิ์สูงส่ง ทรงศักดานุภาพยิ่งใหญ่ แม้กล่าววาจาสาปแช่งผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีอันเป็นไป จนได้ถวายพระนามอีกสองพระนาม คือ จันทรภานุ และ พญาพังพกาฬ

ตำนานเรื่อง พญาพังพกาฬ หรือ พังพะกาฬ ที่เล่าขานกันในเมืองนครศรีธรรมราช ก็ไม่ตรงกัน บ้างว่าเป็นลูกชาวนา ต่อมากลายเป็นนักรบผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ บ้างก็ว่าเป็นพระชาติก่อนขององค์จตุคามรามเทพ

พญาโหราบรมครูของช่างชาวชวากะ จำลองรูปมหาบุรุษเป็นอนุสรณ์ตามอุดมคติศิลปะแบบศรีวิชัย เรียกว่า ร่างแปลงธรรม รูปสมมติแห่งเทวราช ที่มีตัวตนอยู่จริงในโลกมนุษย์ ทรงเครื่องราชขัตติยาภรณ์ ๔ กร ๔ เศียร พร้อมด้วยเทพศาสตราวุธ เพื่อปกป้องอาณาจักรและพุทธจักร เพื่อเป็นคติธรรม ประดิษฐานในทุกหนแห่งในอาณาจักรทะเลใต้

อาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง บันทึกไว้ว่า

เรื่องนี้ยากจะพิสูจน์ แต่ในคติการสถาปนาพระเทวราช อันเป็นศิลปกรรมสมมติในภายหลังตามประเพณีศรีวิชัย ‘จตุคามรามเทพ’ จึงหมายถึง ดวงพระวิญญาณแห่งอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ผู้มาสถิตเป็นผู้คุ้มครองดูแลบ้านเมืองทั้งสี่ทิศ ทรงฤทธิ์อำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ยังเพียบพร้อมด้วยบารมีธรรม ๑๐ ประการ2 ของพระโพธิสัตว์ ผู้มีความเมตตาต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ตรงตามหลักพระพุทธศาสนามหายานที่แพร่หลายในยุคศรีวิชัยไศเลนทรวงศ์ ดังเช่น พระสยามเทวาธิราช ที่สถาปนาขึ้นภายหลังในยุครัตนโกสินทร์ที่สมมติเอาดวงพระวิญญาณของพระมหากษัตริย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวดา เพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง

แต่การที่จะบอกว่าเป็นกษัตริย์พระองค์ใดแน่นั้น ตอบยาก บางท่านบอกคือ พระเจ้าจันทรภาณุ แต่พระเจ้าจันทรภาณุก็อยู่เพียง พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นยุคปลายของตามพรลิงค์ ถ้าเราเชื่อกันว่า ‘จตุคามรามเทพ’ คือ อดีตกษัตริย์ศรีวิชัย ดังนั้น จึงน่าจะเก่าแก่กว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ดังเช่นพระเจ้าวิษณุราช ที่ปรากฎตามศิลาจารึกกรุงศรีวิชัย อยู่ในราว พ.ศ. ๑๓๑๘ ผู้สร้างมหาเจดีย์บรมพุทโธ ห่างกันถึง ๕๐๐ ปี แต่ถ้ามองในเรื่องการกลับชาติมาเกิดตามหลักของมหายาน ตัวอย่างเช่น ดาไลลามะของทิเบต ที่กลับชาติมาเกิดและถือกันว่าเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระอวโลกิเตศวร ในยุคศรีวิชัย ที่พุทธศาสนามหายานยิ่งใหญ่ ก็มีคติว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และยังเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีตัวตนจริงบนโลกมนุษย์

ประเด็นน่าสนใจ คือ ในแผ่นพับวัตถุมงคลรุ่นบูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปี ๒๕๔๗ หรือ บูรณะหลักเมืองนครศรีธรรมราช ๒๕๔๗ ที่ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นที่ปรึกษาการจัดสร้าง ได้มีเล่าเรื่องที่มาขององค์ ‘จตุคามรามเทพ’ แปลกไปกว่าตำนานอื่น ดังนี้

ย้อนหลังในราวปี พ.ศ. ๑๐๔๐ ในสมัยนั้นกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรสุวรรณภูมิ คือ พระเจ้าจันทรภาณุ มีพระบารมีบุญญาธิการมาก ได้แผ่ขยายอำนาจอาณาเขตออกไปถึงประเทศอินเดีย ยึดประเทศอินเดียใต้ และอยู่ปกครองจนเป็นพระมหาราชของอินเดีย ไม่กลับมายังสุวรรณภูมิเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี พระโอรสสองพี่น้องของพระเจ้าจันทรภาณุ คือ ขุนอินทรไศเรนทร์ และขุนอินทรเขาเขียน เห็นบ้านเมืองทรุดโทรมลง ขาดกษัตริย์ปกครอง ครั้นจะตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระบิดาก็ไม่ได้ จึงร่วมกันย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองช้างค่อมศิริธัมมาราช แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ศรีวิชัยสุวรรณภูมิ

ต่อมามีคำอธิบายเพิ่มว่า ในฐานะที่ท่านทั้งสองเป็นปฐมกษัตริย์ จึงได้ขยายเมืองและซ่อมแซมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่เริ่มชำรุดทรุดโทรมลงเป็นครั้งแรก ด้วยคุณงามความดีของพี่น้องสองกษัตริย์ หลังจากสิ้นพระชนม์ลง ประชาชนทั้งหลายจึงได้ยกย่องเทิดทูนให้เป็นพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง มีฐานะเป็นเทวดาประจำเมือง และขนานนามของท่านทั้งสองว่า ‘ท้าวจตุคามราม’ และ ‘ท้าวรามเทพ’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังหลักฐานที่ปรากฏ คือรูปขนาดใหญ่ของท่านทั้งสองที่ประทับนั่งอยู่ข้างบันใดทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์ในวิหารพระทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งมีปรากฎมานานหลายร้อยปีแล้ว

อีกตำนานหนึ่ง ที่ปรากฏในตำราพระพุทธสิหิงค์ (สิหลพุทธรูปนิทาน) และตำนาน ชินกาลมาลีปกรณ์ มีความว่า

ครั้งหนึ่งพระร่วงสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์พระพุทธรูปในลังกาว่าศักดิ์สิทธิ์นัก จึงส่งทูตไปเจรจาพระเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ว่าทำอย่างไรถึงจะได้มา พระยานครฯ ตอบว่า “ไปเอามาบ่มิได้ เพราะลังกามีเทพารักษ์สี่องค์ (จตุเทวรักขา) คือ พระราม พระลักษณ์ สุมนเทพ และขัตตคามเทพ”

ไมเคิล ไรท ได้เขียนไว้ในบทความของเขาใน ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ฉบับที่ ๑๓๙๔ ว่า

ปัจจุบันนี้พระรามยังสถิตอยู่ที่เมืองเทพนคร (Dondra) ครองภาคตะวันตกเฉียงใต้ในนาม อุบลวรรณ พระลักษณ์หายไป มีพิเภก (Vibhisshana) มาขึ้นครองแทนที่วัดกัลยาณีสีมา กรุงโคลัมโบ (ประเทศศรีลังกา) สุมนเทพยังครองสุมนกูฎ (เขาพระพุทธบาทกลางเกาะ) ส่วนขัตตคามเทพ ได้แก่ ขันธกุมาร (บุตรพระอิศวร) ที่สถิตอยู่ที่กฏรคาม (Kataragama) ซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลีว่า ขัตตุคาม แล้วคนไม่ถนัดภาษาย่อมดัดแปลงเป็น จตุคาม ตามใจนึกโดยไม่นึกถึงความหมายหรือหลักภาษา

ไมเคล ไรท สรุปว่า จตุคามรามเทพ น่าจะเป็นเทพฮินดู ๒ องค์ ที่ชาวศรีลังกานับถือ เป็นเทพารักษ์พระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อชาวนครฯ รับพระพุทธศาสนาจากลังกาวงศ์เข้ามา เทพทั้งสองก็ตามมาด้วยในฐานะเทพารักษ์พระบรมธาตุนครฯ ต่อมาในสมัยหลังนี้ ความทรงจำทางประวัติศาสตร์เสื่อมและเอกสารโบราณถูกลืมหรือถูกอำพราง บรรดาผู้มีศรัทธาบางคนจึงรู้สึกแปลกแยกหมดที่พึ่ง แล้วขวนขวายสร้างที่พึ่งขึ้นมาใหม่โดยผนวกชื่อ ขัตตุคาม กับ รามเทพ แล้วอุปโลกน์เทพองค์ใหม่ชื่อ จตุคามรามเทพ ขึ้นมาจากความว่างเปล่า โดยไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ...

ในปัจจุบันนี้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท้าวจตุคามและท้าวรามเทพได้แผ่ขยายออกไปกว้างขวางทั่วประเทศ ทั้งนี้ด้วยพลานุภาพแห่งอิทธิฤทธิ์ บุญญฤทธิ์ของทั้งสองพระองค์ ได้ส่งผลให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาบูชาสักการะ ประสบกับความสัมฤทธิผลในสิ่งที่พึงปรารถนาตามจิตอธิษฐานกันอย่างถ้วนหน้า จึงควรที่ทั้งสองพระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนในสมญานามว่า เทวโพธิสัตว์แห่งอาณาจักรทะเลใต้

พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นผู้หนึ่งที่ยืนยันว่าที่เข้าใจว่าท้าวจตุคามรามเทพเป็นองค์เดียวนั้นไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วมีสองพระองค์และทรงเป็นพี่น้องกัน

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตำนานความเป็นมาของ ‘จตุคามรามเทพ’ ก็ยังมีหลายตำนาน จนไม่รู้ว่าจะเชื่อตำนานไหนดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกตำนานพูดตรงกัน คือ ‘จตุคามรามเทพ’ นั้น สถานะที่แท้จริงของท่าน คือ เทวดา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกฎของไตรลักษณ์ มิได้แตกต่างไปจากมนุษย์

ย่อมมิอาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระศาสดาแห่งเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย การจะนับถือ ‘จตุคามรามเทพ’ มากกว่า ยิ่งกว่า หรือเหนือกว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง

คำนำ

เนื่องจากขณะนี้ กระแสความนิยมวัตถุมงคล “จตุคามรามเทพ” กำลังมาแรงสุดขั้ว ตัวเลขจากศูนย์วิจัยข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยว่า เงินสะพัดจากกระแส 'จตุคามรามเทพ' นี้ สูงเกินกว่าสองหมื่นสองพันล้านบาท ขณะนี้ ไม่ว่าจะเดินไปที่ใด ก็จะเห็นผู้คนแขวน 'จตุคามรามเทพ' ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่น

ปรากฎการณ์นี้ ถ้ามองให้ลึกลงไป ก็จะเห็นได้ว่า มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายประเด็น เช่น หนึ่ง คนไทยขาดสรณะที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีกระแสนิยมอะไร ที่เชื่อตามๆ กันไป ไม่มีหลักคิดพิจารณา สอง ประเทศไทยมีประชากรที่นับถือพุทธศาสนากว่า ๙๐% เหตุใดจึงมีความเชื่อที่งมงาย เมื่อต้องการสิ่งใดก็หวังพึ่งให้เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ ขัดกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่สอนให้พึ่งตนเอง ให้เชื่อกรรม คือการกระทำ ปรารถนาสิ่งใด ก็ให้มีความเพียรสร้างเหตุปัจจัย เพื่อให้สิ่งนั้นสัมฤทธิผลตามที่ปรารถนาด้วยตัวของตัวเอง ไม่คอยหวังพึ่งความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือปัจจัยภายนอก

ด้วยเหตุนี้ สำนักพิมพวัลลดา จึงมีความห่วงใยในสังคมไทย ประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ปัญญาให้กว้างขวางทั่วถึง ซึ่งการพิมพ์หนังสือเผยแพร่เป็นทางหนึ่งที่จะเข้าถึงสาธารณชนจำนวนมาก

คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ กับหมู่มิตรสหายได้ไปกราบเยี่ยมท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ในวันสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีการสนทนาถึงเรื่องดังกล่าวข้างต้น

ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้แสดงทัศนะที่แหลมคม อีกทั้งยังให้ความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ เป็นที่ประทับใจของหมู่คณะอย่างยิ่ง

ครั้นเวลาผ่านไป ทางสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ติดต่อกับทางวัดญาณเวศกวัน เพื่อขอบทความในลักษณะเตือนสติคนไทยในเรื่องกระแสนิยมจตุคามรามเทพ และจะนำไปจัดพิมพ์แจกเนื่องในวันวิสาขบูชา

ในการนี้ ทางวัดฯ ได้มอบ CD บันทึกการสนทนาให้คุณพนิตาเป็นผู้ลอกออกมาเป็นต้นฉบับถวายแก่ท่านเจ้าคุณฯ ตรวจทาน ปรับปรุง เพิ่มเติม ซึ่งท่านก็ได้สละเวลาตรวจแก้และปรับปรุงต้นฉบับ จนกระทั่งเสร็จทันพิมพ์แจกในวันวิสาขบูชาปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

เนื่องจากทางสำนักพุทธฯ แจ้งว่าจะจัดพิมพ์จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม ซึ่งตัวเลขดูเหมือนว่ามาก แต่ถ้าเทียบกับกระแสความนิยมที่บังเกิดขึ้นในขณะนี้ นับว่ายังไม่เพียงพออย่างแน่นอน

คุณพนิตา จึงเสนอว่า สำนักพิมพ์ฯ ควรขออนุญาตพิมพ์เผยแพร่ร่วมไปด้วย โดยคุณพนิตา จะทำภาคผนวกเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น และไม่ต้องไปค้นคว้าหาอ่านที่ใดอีก

สำนักพิมพ์วัลลดาขอกราบนมัสการขอบพระคุณท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ที่ได้เมตตาอนุญาตให้สำนักพิมพ์วัลลดา ตีพิมพ์เรื่อง คติจตุคามรามเทพ ได้ตามที่ทางสำนักพิมพ์ได้ขออนุญาต โดยเป็นการให้เปล่า

ขอขอบคุณ คุณพนิตา อังจันทรเพ็ญ ที่ได้กรุณาจัดภาคผนวก และดำเนินการจัดทำอาร์ตเวิร์คให้พร้อมพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ

สำนักพิมพ์วัลลดา มีโครงการจัดทำหนังสือดีที่เผยแพร่ในราคาย่อมเยา ด้วยเรามีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมการอ่านให้แก่สังคมไทย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา เพราะปัญญาคือแสงสว่างส่องนำทางชีวิต อย่างไม่มีแสงสว่างใดๆ เสมอเหมือน ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามสำนักพิมพ์วัลลดาต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
สำนักพิมพ์วัลลดา

1ชั้นต่อไป คือ ทุติยฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา จากนั้นเป็น ตติยฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา แล้วจึงถึงชั้นสูงสุด คือ จตุตถฌานภูมิ ประกอบด้วย เวหัปผลา อสัญญี อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิษฐา รวมเป็น ๑๖ ชั้น
2ทศบารมี-ปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง