พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การยอมรับความ “ไม่เพียงพอ” ของวิทยาศาสตร์

เรื่องที่ ๑ ซึ่งอยากจะทบทวนอีกครั้งหนึ่งคือ เรื่อง “ไม่เพียงพอ” ได้บอกแล้วว่า วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมานี้ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์หรือแก้ปัญหาสำคัญของโลกปัจจุบัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งคือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะปัญหาการอนุรักษ์ธรรมชาติกำลังเป็นปัญหาใหญ่มากของโลกยุคนี้ และวิทยาศาสตร์ก็จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย แม้แต่การวิจัยวิทยาศาสตร์ที่ว่าทำอย่างไรจะให้เอื้อต่อการที่จะนำมาปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพ ทำให้เรารู้ภัยอันตราย เหตุผล จุดที่จะแก้ไข และเทคโนโลยีที่เกิดจากวิทยาศาสตร์ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งที่วิทยาศาสตร์มีคุณค่ามากมายอย่างนี้ ก็ไม่เพียงพอเลยที่จะแก้ปัญหานี้ ยิ่งกว่านั้น เมื่อสืบสาวกันไป ปัญหานี้ก็ปรากฏว่าเกิดมาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเองนั่นแหละ แล้ววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็กลับไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากตนเองนี้ได้ เพราะทั้งที่มีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในมือ แต่ก็ไม่ลงมือใช้ความรู้นั้น ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีที่จะแก้ไขก็เฉยเสีย กลับไปใช้แต่เทคโนโลยีที่มีผลตรงข้ามคือเป็นการทำลายยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ ว่า ความรู้ของวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ จะช่วยได้บ้างก็แค่ขู่ให้ยั้ง ทั้งๆ ที่ถ้าใช้ก็ได้ผล แต่ก็ติดค้างที่คำว่า “ถ้า” อยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์อาจจะต้องพอใจกับการร่วมมือกับวงการอื่น โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดป้อนความรู้ให้แก่เขาในการแก้ปัญหา

ทีนี้ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ มีอะไรที่นอกเหนือความรู้วิทยา­ศาสตร์และอุปกรณ์เทคโนโลยี ถ้ามองในแง่พุทธศาสนา การแก้ปัญหาของมนุษย์นั้นไม่ว่าเรื่องใด ต้องทำสามด้านเป็นสามประสาน เพราะการแก้ปัญหานี้เกี่ยวกับตัวมนุษย์ เรื่องของมนุษย์นั้นมีด้านต่างๆ ที่เราจะต้องเอามาประสานกันเป็นระบบ การแก้ปัญหาก็เป็นระบบที่ต้องมีการประสาน สามประสานนี้อย่างไร ดังในตัวอย่างคือเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้ก็มีสามด้านที่จะต้องประสานคือ

๑. ด้านพฤติกรรม

๒. ด้านจิตใจ

๓. ด้านความรู้หรือปัญญา

สามด้านนี้จะต้องประสานเข้ามาด้วยกันในการแก้ปัญหา กล่าวคือ

๑. ในขั้นพฤติกรรมก็ต้องมีการฝึกควบคุมพฤติกรรมทางสังคม หรือที่จริงคือพฤติกรรมในการแสดงออกทั่วไป ไม่เฉพาะทางสังคม แต่หมายถึงการแสดงออกทางกายวาจาทั้งหลายซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเคยชิน การฝึกพฤติกรรมนี้ต้องการความเคยชิน

การแก้ปัญหาด้วยการฝึกการควบคุมพฤติกรรมทางสังคม หรือทางกายวาจานี้ มี ๒ ระดับด้วยกัน คือ

ระดับที่หนึ่ง คุมด้วยบัญญัติหรือกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกาต่างๆ ตลอดจนการลงโทษผู้ที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตาม นี่อยู่ในระดับที่หนึ่ง ขั้นต้นที่สุด อันนี้ต้องมีเหมือนกัน ทางพระเรียกว่า วินัย

ระดับที่สองของเรื่องที่หนึ่ง คือ การควบคุมด้วยเจตนาจากภายในของตัวมนุษย์เอง หมายความว่า ให้ตัวมนุษย์เองมีความตั้งใจที่จะควบคุมพฤติกรรมทางกายวาจาของตนเอง ซึ่งอันนี้โดยมากจะเกิดจากศรัทธาทางศาสนา เช่น การเชื่อคำสอนในทางศาสนาเป็นต้น พอมีศรัทธาขึ้นมา ก็พร้อมและสมัครใจที่จะควบคุมพฤติกรรมของตนได้ทันที และจริงจังด้วย ระดับนี้ เรียกว่า ศีล

ถ้าพูดอย่างสั้น ระดับที่หนึ่ง คือ วินัย ได้แก่ การวางมาตรการสำหรับห้ามหรือปิดกั้นเจตนาที่จะละเมิดหรือทำลายระเบียบ ส่วนระดับที่สอง คือ ศีล ได้แก่ การมีเจตนาที่จะรักษาหรือไม่ทำลายระเบียบ

ทั้งสองระดับนี้ เป็นเรื่องเดียวกันในแง่ว่าเป็นการควบคุมพฤติกรรม และเป็นการฝึกการควบคุมพฤติกรรม เราต้องจัดสภาพแวดล้อม จัดวางกฎระเบียบข้อบังคับ ในโรงเรียน ในหมู่บ้าน หรือในสังคมเป็นต้น นี้เป็นสิ่งที่ต้องทำในระดับหนึ่ง เรียกว่าเป็นระดับวินัย แต่ไม่เพียงพอ ต้องทำในระดับที่เรียกว่า ศีล คือ ระดับที่สองของเรื่องที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการควบคุมเจตนาจากภายในด้วย ควบคุมและฝึกกันจนกลายเป็นความเคยชิน หรือพฤติกรรมเคยชิน

๒. การแก้ปัญหาด้วยการฝึกควบคุมพฤติกรรมนั้นยังไม่ลึก ไม่แน่นสนิท จึงต้องเข้ามาถึงด้านจิตใจ เอาละ คิดตามกระบวนการเหตุผลเลย ด้านจิตใจก็อยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน

เราต้องการอะไร อ้อ จุดหมายคืออนุรักษ์ธรรมชาติ คนแต่ละคนจะปฏิบัติการในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็ต้องมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยนัยนี้ “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” โยงไปสู่ “ความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ”

ความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติเกิดจากอะไร เกิดจากความ “รักธรรมชาติ” เมื่อรักธรรมชาติก็ต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ยังไม่จบ ความรักธรรมชาติจะเกิดได้อย่างไร ความรักธรรมชาติจะเกิดเมื่อคนนั้น “มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ”

เท่าที่ได้ยินพูดกันจะเห็นว่า มีคนจับหลักกันได้มากเหมือนกันว่าต้องรักธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทางจิต ใช่ ถ้าเขารักธรรมชาติ เขาก็ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และปฏิบัติการในการอนุรักษ์ก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้ามองแค่นั้น ก็ยังเรียกว่าตัน เป็นการมองกระบวนการของเหตุปัจจัยไม่ตลอดสาย เมื่อมองเห็นไม่ตลอดสาย การปฏิบัติก็ไม่สำเร็จ จึงต้องสืบลงไปให้ถึงต้นตอ ว่าทำอย่างไรคนจึงจะรักธรรมชาติ

ความรักธรรมชาตินั้นจะเกิดได้ยาก ถ้าคนไม่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ มนุษย์จะต้องมีจิตใจที่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ แล้วเขาจึงจะรักธรรมชาติ แล้วเขาก็จะต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วเขาก็จะลงมืออนุรักษ์ธรรมชาติ นี่เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยสายหนึ่ง ตัวแปรอื่นอาจมีได้อีก แต่นี่เป็นตัวอย่าง

ในแง่นี้คือทางด้านจิตใจนี้ กลายเป็นว่า เท่าที่เป็นมา วิทยาศาสตร์ได้มีส่วนสำคัญในการขัดขวางทำลายตัวแก้ปัญหา กล่าวคือแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติและแนวความคิดที่จะหาความสุขจากวัตถุที่พรั่งพร้อมด้วยการจัดการกับธรรมชาตินี่แหละ ได้ทำให้คนมีความรู้สึกลึกๆ ว่า มนุษย์เราจะมีความสุขต่อเมื่อมีเทคโนโลยี และธรรมชาติเป็นตัวกีดขวางความสุขนั้น

เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ฝึกอบรมกันมาในการศึกษาสมัยปัจจุบันนี้ ลึกๆ แล้วรู้สึกว่าเขาจะมีความสุขด้วยเทคโนโลยี ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะมีความสุขได้ด้วยธรรมชาติ และอาจจะเลยไปถึงขั้นที่รู้สึกว่าธรรมชาตินั้นเป็นศัตรูผู้ทำลายความสุข หรือเป็นตัวขัดขวางเขาไม่ให้ได้รับความสุข เขาจึงจะต้องพิชิตธรรมชาตินั้น หรือว่าเมื่อพิชิตธรรมชาติแล้วเขาก็จะได้มีความสุขอยู่กับเทคโนโลยี ลองวิเคราะห์ดูจิตใจของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน จะพบว่าคนในสังคมนี้จำนวนมากหรือทั่วๆ ไปมีความรู้สึกอันนี้แฝงอยู่ ซึ่งสืบเนื่องจากความเป็นมาในพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของยุคที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่เรียกว่าเป็นยุคอุตสาหกรรม

แนวความคิดพิชิตธรรมชาติ พร้อมทั้งแนวความคิดที่จะหา​ความสุขจากความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวแทนและเป็นสื่อนำนั้น ได้ครอบงำจิตใจของมนุษย์มาอย่างยาวนานและลึกซึ้งเหลือเกิน จนกระทั่งมนุษย์มีความรู้สึกว่า ธรรมชาติเป็นศัตรูผู้ขัดขวางความสุขของมนุษย์ ขอให้ลองพิสูจน์ดูว่าเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า ถ้าตราบใดยังมีความรู้สึกนี้อยู่ มนุษย์จะรักธรรมชาติได้ยาก เพราะเขาจะไม่มีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่าต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ แนวความคิดพิชิตธรรมชาติไปไม่รอด และแนวความคิดหาความสุขจากวัตถุที่พรั่งพร้อมก็เป็นไปไม่ได้

ถ้าเราจะอยู่ในโลกที่มีธรรมชาติอยู่ต่อไป ความสมดุลพอดีจะต้องมี และสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นมาก็คือ ความรู้สึกมีความสุขในการอยู่กับธรรมชาติ อย่างน้อยให้รู้สึกว่าธรรมชาตินี้ให้ความสุขแก่เราได้ ธรรมชาติมีความงามอะไรต่างๆ เสร็จแล้วก็เบนเทคโนโลยีมาในทางที่จะเป็นตัวเสริม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องถึงกับทำลายเทคโนโลยี นี่เป็นด้านจิต

การแก้ไขปัญหาในระดับที่สองของขั้นหรือด้านที่ ๑ คือ ขั้นควบ​คุมจัดสรรพฤติกรรมที่จะได้ผลดีหนักแน่นนั้น จะเห็นได้ว่าก็อาศัยด้านจิตใจนี่แหละเป็นฐานรองรับ เช่น ถ้ามีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น หรือมีศรัทธาที่ทำให้สมัครใจจัดการกับพฤติกรรมของตนเองอย่างจริงจังในทันทีอย่างที่กล่าวมาแล้วเป็นต้น การฝึกและควบคุมพฤติกรรมก็ไม่ต้องกระทำด้วยการบังคับหรือฝืนใจ

๓. ด้านปัญญาความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะปัญญาที่รู้เข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี่แหละ มีประโยชน์มาก เพราะการที่เราจะรู้คุณโทษของการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือการทำลายธรรมชาติได้ก็ด้วยปัญญา สำหรับความรู้ในเรื่องนี้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ช่วยได้มาก โดยจะช่วยป้อนความรู้ข้อมูลต่างๆ ให้เห็นความเชื่อมโยงว่า อะไรบ้างที่ทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสีย ทำให้เสียอย่างไร และเมื่อธรรมชาติเสียไปแล้วจะเกิดโทษแก่ชีวิตมนุษย์อย่างไร

ปัญญาเป็นตัวสร้างความพร้อมที่จะปรับทัศนคติของคน เพราะเมื่อเรารู้แล้วว่าถ้าทำสิ่งนี้ลงไปจะทำให้ธรรมชาติเสีย แล้วผลร้ายจะกลับย้อนมาถึงตัวมนุษย์ ก็จะทำให้เรามีความพร้อมในระดับหนึ่ง ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม

แต่บางทีถึงจะมีปัญญารู้คุณโทษแล้ว แต่เราก็ยังเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ เพราะในระดับของจิตมันไม่เอา มันไม่ลงลึกเข้าไปในจิต เพราะฉะนั้นด้านจิตจะต้องไปด้วยกัน คือให้มีทั้งความรู้เหตุปัจจัยและคุณโทษในเชิงปัญญา และการปรับเปลี่ยนความรู้สึกลึกซึ้งที่เป็นเหตุปัจจัยในเชิงจิตให้คนรู้สึกมีความสุขกับธรรมชาติไปพร้อมกันด้วย เพราะการที่จะทำความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมทางจริยธรรมของมนุษย์นี่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในเชิงข้อมูลเหตุผลอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ คือ ทั้งๆ ที่รู้ก็ไม่เปลี่ยน เพราะความเคยชินบ้าง เพราะผลประโยชน์ที่บำเรอตนอีกด้านหนึ่งบ้าง เพราะค่านิยมของสังคมเป็นต้นบ้าง เพราะฉะนั้นจึงต้องแก้ทุกอย่างทุกด้านโดยประสานกันเข้ามา วิธีการของพระพุทธศาสนานั้นเป็นวิธีสามประสานมาโดยตลอดในการแก้ปัญหาทุกอย่าง ซึ่งเราเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาจริยธรรม

วิธีสามประสานนี้คืออะไร เมื่อพูดตามศัพท์ในพระพุทธศาสนา ขั้นหรือด้านที่ ๑ ก็คือ ศีลนั่นเอง เริ่มแต่การควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในระดับวินัย ได้แก่ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ภายนอก ที่เป็นบัญญัติธรรมของสังคม จนถึงระดับที่สอง คือการควบคุมพฤติกรรมด้วยเจตนาสมัครใจจากภายใน ซึ่งเป็นตัวศีลเอง เรียกว่าระดับวินัยกับระดับศีลซึ่งรวมอยู่ในขั้นศีล

ขั้นหรือด้านที่ ๒ เป็นเรื่องของจิตใจ ที่เราเข้าไปจัดการกับกระบวนการของเหตุปัจจัยในทางจิตด้วยการฝึกฝนพัฒนาความรู้สึก และลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความสุข ความสงบ ความรัก เป็นต้น เป็นด้านที่เรียกว่าสมาธิ หรืออธิจิตตสิกขา

ขั้นหรือด้านที่ ๓ ได้แก่ ปัญญา คือความรู้ความเข้าใจ ซึ่งมีหลายขั้นหลายตอน ปัญญานี้จะเป็นตัวคอยกำกับขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ อีกทีหนึ่ง โดยตรวจสอบ และชี้นำให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องโดยตลอด แต่ตัวมันเองอย่างเดียวมักจะเริ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการฝึกฝนจัดสรรพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ปัญญาซึ่งช่วยกำกับการปฏิบัติในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ นั้น รวมทั้งการตรวจสอบในแง่ลบด้วย เช่น ถ้ามองเห็นพฤติกรรมเคยชินอย่างไหนไม่ดี เป็นโทษ หรือแม้จิตใจจะมีความสุข แต่ถ้าความสุขแบบนั้นจะก่อให้เกิดผลเสีย เป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่น ปัญญาก็บอกให้แก้ไขละเลิกหรือเว้นเสีย ให้พัฒนาแต่พฤติกรรมเคยชิน และการหาความสุขที่ถูกต้อง เป็นคุณ ไม่มีโทษ

เป็นอันว่า สามด้านนี้จะประสานกัน นอกจากประสานกันแล้ว ยังอิงอาศัยกัน และส่งผลสืบทอดกัน ทั้งทางขึ้นและทางลงอีกด้วย ประการแรกเราควบคุมและฝึกพฤติกรรมให้เคยชิน จนทำอย่างนั้นๆ หรือไม่ทำอย่างนั้นๆ เป็นปกตินิสัย พร้อมกันนั้นก็ฝึกทางด้านจิตใจ สร้างความรู้สึกให้มีความสุข ความพอใจ กับทั้งบรรยากาศที่ชื่นชมในการที่จะปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมเช่นนั้นด้วย แล้วพร้อมกันนั้นอีกนั่นแหละ ก็ให้มีความรู้ความเข้าใจเหตุผลในการกระทำ มองเห็นคุณโทษและคุณค่าด้วยปัญญา

พอปฏิบัติเคยชินอย่างนั้นๆ เข้า จิตใจก็มักโน้มเอียงไปทางที่จะพอใจในพฤติกรรมแบบนั้น และเกิดศรัทธาในแบบแผนพฤติกรรมแบบนั้น พอเกิดความพอใจมีศรัทธาก็พร้อมที่จะรับรู้และทำความเข้าใจในเรื่องนั้น พอเกิดปัญญารู้เข้าใจมองเห็นคุณค่า จิตใจก็เกิดศรัทธา และความพึงพอใจ พอจิตเกิดศรัทธาและพอใจ ก็พร้อมและสมัครใจที่จะควบ​คุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปในแนวทางนั้น นี้คือความสัมพันธ์อย่างง่ายๆ ระหว่างขั้นหรือด้านทั้งสาม ที่เรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งในที่นี้ได้ยกเอาเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง