การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไทยต้องปรับตัวให้ทัน

สภาพปัจจุบันของโลกเป็นอย่างไร เวลานี้ทั้งโลกคิดแต่จะเอาชนะกัน ลองดูซิ ในเวทีการแข่งขันระดับโลก ญี่ปุ่นก็จะเอาชนะอเมริกา อเมริกาก็จะเอาชนะญี่ปุ่นให้ได้ ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าเวลานี้มีปัญหาร้ายแรงร่วมกัน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ไม่มีประเทศใดสามารถก้าวข้ามพรมแดนของประเทศ คือ ท้องถิ่นหรือสังคมตนเอง เพราะการห่วงความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำในเวทีโลก คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะเอาชนะเขาได้ เช่น อเมริกันก็มีวัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ ความใฝ่สำเร็จของเขามีความหมายเฉพาะคือ ทำอย่างไรจะชนะการแข่งขันเอาผลประโยชน์มาให้ตนได้มากที่สุด แม้แต่ระบบความคิด reengineering เกิดขึ้นมาก็เพียงเพื่อสนองความมุ่งหมาย อันนี้ ไม่ได้มีอะไรใหม่ ใหม่แต่ในแง่ระบบวิธี แต่เพื่อสนองแนวความคิดอันเก่า คือแนวความคิดที่จะเอาชนะการแข่งขันเพื่อชิงผลประโยชน์

เพราะอะไรจึงเกิด reengineering ก็เพราะในอเมริกาบรรษัทต่างๆ ล้มละลาย ธุรกิจอุตสาหกรรมล้มเหลว แม้การแข่งขันในเวทีโลก ญี่ปุ่นก็ขึ้นมานำในทางเศรษฐกิจ แย่แล้วจะทำอย่างไร เขาก็คิดค้นกระบวนการทำงานขึ้นมาใหม่ บอกว่าวิธีทำงานแบบเดิมที่แบ่งงานกันทำแม้ว่าเคยได้ผลในยุคก่อน แต่ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว ยุคนี้ถ้าจะให้ได้ผล จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ คุณแฮมเมอร์ (Michael Hammer) กับเพื่อน ก็คิด reengineering ขึ้นมา เพื่อที่จะฟื้นฟูพวกบรรษัท และกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมในอเมริกาขึ้นมาให้กลับประสบผลสำเร็จ สามารถเอาชนะในเวทีการแข่งขันทางธุรกิจ นี่แหละเก่งและสำคัญ แต่ก็เท่านั้นเอง คือแค่สนองความคิดในระบบเดิม

ส่วนแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาของโลกที่แท้จริง ยังไม่มีใครเดินหน้าไปได้เลย เช่น ความคิดในเรื่อง sustainable development (การพัฒนาที่ยั่งยืน) ก็มีแต่ความคิดและหลักการ แต่ปฏิบัติการไม่คืบหน้า จึงได้แค่เพียงนำเอาระบบ reengineering มาใช้เพื่อสนองแนวความคิดเดิมที่จะเอาชนะในระบบการแข่งขันแบบเก่า ทำอย่างไรจะเอาระบบวิธี reengineering ไปใช้ประโยชน์สนองระบบความคิดใหม่ที่จะแก้ปัญหาของโลก ซึ่งขณะนี้ไม่มี นี่คือปัญหาของมนุษยชาติในปัจจุบัน ที่ว่าไม่พ้นเทศะ

สำหรับสังคมไทยเรา เวลานี้ต้องคิดทั้งสองขั้นว่า ในการอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ทำอย่างไรสังคมไทยเราจะเอาชนะเขาได้ในการแข่งขัน ซึ่งอันนี้เราก็ทิ้งไม่ได้ เพราะเราตกอยู่ในกระแสค่านิยมของโลกปัจจุบัน ที่ว่าเป็นกระแสโลกาภิวัตน์แห่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการแข่งขัน “ทำอย่างไรจะชนะการแข่งขัน” ทุกชาติคิดอย่างเดียวกัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก็จะต้องเอาชนะในการแข่งขัน อย่างน้อยไม่ให้ถูกครอบงำ นี่เป็นขั้นที่ ๑

แต่เอาชนะการแข่งขันอย่างเดียวไม่พอ จะต้องพัฒนาให้เหนือการแข่งขันด้วยคือต้องขึ้นไปเหนือกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่จะนำโลกไปสู่หายนะมากกว่า อย่าไปนิยมชมชอบโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ เพราะโลกาภิวัตน์อยู่ใต้กระแสนี้ทั้งหมด คือกระแสระบบการแข่งขัน กระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาทางวัตถุ ภายใต้ระบบความคิดที่ถือว่าการพิชิตธรรมชาติเป็นความสำเร็จของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

มนุษย์พิชิตธรรมชาติเพื่ออะไร เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยอุตสาหกรรม มนุษย์จะได้มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขจากการมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อม ความคิดที่ว่า เราจะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุดนั้น เป็นแนวคิดที่ครองโลกปัจจุบัน รวมเป็นฐานความคิดใหญ่ ๒ อย่าง คือ

๑. การพิชิตธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์เป็นเจ้าใหญ่ มีอิสรภาพโดยเป็นนายใหญ่เหนือธรรมชาติ

๒. มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุดจากการเสพมากที่สุด

แนวความคิด ๒ อย่างนี้ ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน ว่าที่จริงพวกที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วก็รู้ตัวแล้วว่า เวลานี้แนวความคิดพิชิตธรรมชาติได้ก่อให้เกิดปัญหาคือธรรมชาติแวดล้อมเสีย เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ไขปัญหานี้ว่าทำอย่างไรมนุษย์จะอยู่ได้ โดยที่ว่าแทนที่จะพิชิตธรรมชาติก็เปลี่ยนเป็นมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยดี เรียกว่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ เป็นการพัฒนาแนวความคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แต่ก่อนนี้แนวคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้นสำหรับใช้กับมนุษย์ด้วยกัน แต่เวลานี้เขาเอามาใช้กับธรรมชาติด้วย เมื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ ก็ต้องมองธรรมชาติอย่างไม่เป็นศัตรู ไม่มองมนุษย์แยกต่างหากออกจากธรรมชาติ แต่ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เวลานี้ตะวันตกหันมาเน้นความคิดนี้กันมาก ตำราฝรั่งทางด้านเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มักเขียนเน้นว่าต่อไปนี้ต้องให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะอะไร เพราะฝรั่งแต่เดิม ๒ พันกว่าปีแล้ว ได้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และคิดที่จะพิชิตธรรมชาติมาตลอด

อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ฝรั่งก็เกิดความขัดแย้งกัน คือ ทั้งที่รู้ตัวว่าการที่จะแก้ปัญหาของโลกได้ เราจะต้องเลิกแนวความคิดพิชิตธรรมชาติ เราจะต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สร้างมลภาวะ ไม่ทำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรม แต่กระแสการแข่งขันในระบบธุรกิจมันไม่อนุญาต เพราะการที่เราจะยิ่งใหญ่ในเวทีแข่งขันทางเศรษฐกิจ เราจะต้องใช้ทรัพยากรมาก จะต้องมีระบบอุตสาหกรรม จะต้องระบายสินค้า แต่อุตสาหกรรมหนัก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก และก่อมลภาวะมาก ก็เอาแค่พ้นตัวก่อน ปัญหาของโลกก็ผลัดไว้ก่อน จึงหาทางขยับขยายโดยตัวเองไม่ทำในประเทศของตนเอง แต่ย้ายอุตสาหกรรมหนักไปยังประเทศที่ด้อยพัฒนา ให้พวกนั้นรับเคราะห์ไป แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อผลิตออกมาและเมื่อบริโภค ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาร่วมกันของโลกทั้งหมด

นี่เป็นตัวอย่างปัญหาของโลกปัจจุบัน วิชาการศึกษาทั่วไปจะมองแค่ที่จะตามค่านิยมของโลก ในการเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลก ในระบบการแข่งขันของระบบธุรกิจอุตสาหกรรมจึงไม่พอ แต่จะต้องมองกว้างเลยต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะก้าวไปสู่การแก้ปัญหาของโลก เพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ของมนุษยชาติให้สำเร็จ ซึ่งเป็นปัญหาที่ตอนนี้ประเทศต่างๆ ก็ติดขัดกันทั้งนั้น

ในการที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ คนไทยเรามีความพร้อมแค่ไหน แม้แต่ในระดับที่ ๑ ที่ว่าพร้อมจะเอาชนะในเวทีการแข่งขันหรือไม่ ไม่ต้องถึงระดับโลกหรอก เพียงแค่ในภูมิภาคนี้ คนของเรามีคุณภาพพอที่จะเอาชนะไหมในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน คนที่จะเอาชนะได้จะต้องมีคุณภาพอย่างไร แล้วดูภูมิหลังของเราว่า เรามีความพร้อมแค่ไหน คนของเราขณะนี้มีคุณภาพอย่างไร

ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันแห่งโลกาภิวัตน์ เรามองเน้นไปที่ความเจริญต่างๆ โดยเฉพาะความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ที่ทำให้มีความสะดวกสบาย แต่พอมองมาที่สภาพของจิตใจ ในแง่ที่ว่าชอบสะดวกสบาย ก็ปรากฏว่าแนวโน้มของคนไทยจะเป็นไปในทางที่อ่อนแอลง เป็นคนใจเสาะเปราะบาง ชอบหวังพึ่งปัจจัยภายนอก และถ่ายโอนภาระ ทีนี้สังคมในระบบการแข่งขันนี่ ไม่ว่าในสังคมย่อยของประเทศไทย หรือกว้างออกไปจนกระทั่งถึงเวทีโลกก็ตาม ระบบชีวิตและสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก คนอ่อนแอจะอยู่ไม่ได้ จะทนไม่ไหว ยิ่งถ้าจะเอาชนะเขา ก็ยิ่งต้องมีความเข้มแข็ง จึงเกิดมีกระแสขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาในการพัฒนามนุษย์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง