กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๑. เรื่องว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในเมือง ไม่ใช่ในสวนป่า

ตัวอย่างที่ ๑ ท่านเมตตาฯ เขียนว่า

เมื่อพระอานนท์ทราบว่าพระพุทธองค์จะปรินิพพานแน่แล้ว ได้เกิดความเสียใจจนกระทั่งจะเป็นลม ไม่อาจประคองตนไว้ได้ ต้องยืนเหนี่ยวกลอนประตูหัวสิงห์อยู่ กลอนประตูนี้อยู่ในป่าตามลำพังไม่ได้แน่นอน นอกจากเสียว่าพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่ในห้องของอาคารที่อยู่ในเมืองกุสินารานั้นเอง

ท่านเมตตาฯ เห็นว่า ข้อความ “ยืนเหนี่ยวกลอนประตูหัวสิงห์อยู่” นี้ แสดงว่าสถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ต้องเป็นอาคารในเมือง ไม่ใช่ใต้ต้นสาละ เพราะที่สวนหลวงจะมีกลอนประตูอย่างนี้ไม่ได้ ท่านคงคิดว่า ไม้หัวสิงห์นี้เป็นวัตถุมีค่าหรือมีราคา อาจจะใช้ศิลปะ หรือทำอย่างดี จะต้องเป็นอาคารใหญ่ๆ ที่สำคัญ หรือเป็นที่อยู่ของคนมีเงิน อย่างน้อยท่านก็คงคิดว่า ในสวนหลวง เป็นป่า มีแต่หมู่ไม้ จะมีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างไม่ได้ ท่านก็เลยสรุปว่า ต้องเป็นอาคารที่อยู่ในเมือง เรื่องนี้ท่านก็ผิดละ แล้วก็ผิดลิบเสียด้วย

เริ่มต้นก็ชัดๆ ว่าไม่มีหัวสิงห์ที่ไหนเลย ข้อมูลก็ชัดๆ อยู่แล้วว่า “หัวลิง” ดูศัพท์บาลียิ่งชัด เป็น "กปิสีสํ" = หัวลิง กปิ ก็คือ กระบี่ ที่แปลว่าลิง เช่น ในรามเกียรติ์แบบชาวบ้านพูดถึงหนุมานว่า กระบี่วานรผ่อนพักกายา กระบี่แปลมาจากบาลีว่า กปิ ซึ่งแปลว่าลิง สีสํ = หัว "กปิสีสํ" ก็ = ไม้หัวลิง

เรื่องไม้หัวสิงห์ หรือหัวลิงนี้ เมื่อเดือนก่อน คณะชาวธรรมะร่วมสมัยมาถามเรื่องท่านเมตตาฯ นี้ อาตมายังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานรายละเอียด ก็ยังพูดเผื่อให้ท่านเมตตาฯว่า บางทีอาจจะเกิดจากการพิมพ์ผิด คือ ท่านเมตตาฯ เขียนไปถูก เป็นหัวลิง แต่ นสพ. ไปพิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์ หรืออาจจะเป็นได้ว่า พระไตรปิฎกแปลภาษาไทยพิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์ ตอนนั้นพูดเข้าข้างท่านเมตตาฯ ไว้ก่อน แต่ต่อมาไปอ่านข้อเขียนของท่านให้ละเอียดขึ้น จึงรู้ว่าท่านจงใจเขียนเป็นหัวสิงห์จริงๆ และไปตรวจดูในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ก็ไม่ได้พิมพ์ผิด คือไม่มีคำว่าไม้หัวสิงห์

เมื่อเป็นอย่างนี้ เรื่องไม้หัวสิงห์-หัวลิง ท่านเมตตาฯ ก็เลยพลาดหลายขั้น

  1. ข้อมูลเบื้องต้นที่สุด พระไตรปิฎกแปลไทยพิมพ์ไว้อย่างอื่น ท่านก็จับหรือจำเอาไปเป็นไม้หัวสิงห์ ทำให้ใครๆ ว่าได้ว่า ท่านอ่านลวกๆ แม้แต่เรื่องไม่ควรผิด ก็ผิดไปได้
  2. เมื่อจะจับเอาเป็นข้อมูลสำคัญ ถึงกับจะสันนิษฐาน ก็เอาเลย ไม่ตรวจสอบก่อน ที่จริง ถ้าจะถึงขั้นแสดงมติ ก็ต้องไปตรวจดูว่าไม้หัวสิงห์-หัวลิง ที่ว่านี้ คำบาลีเดิมว่าอะไร มีข้อความแวดล้อมว่าอย่างไรหรือไม่ ถ้าไปดูพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีต้นเดิม ก็จะเห็นว่า อ๋อ แปลมาจาก "กปิสีสํ" ก็จะชัดลงไปอีกว่าเป็นหัวลิง ตัดทางผิดพลาด และจะสันนิษฐานได้ด้วยความมั่นใจ
  3. โดยวิสัยของนักวิชาการ เมื่อเจอถ้อยคำเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้สำหรับชีวิตความเป็นอยู่สมัยโน้น ซึ่งไม่ใช่ยุคสมัยของเราเอง ไม้หัวสิงห์-หัวลิง อะไรนี้ พวกเราไม่เคยใช้ ไม่รู้จัก ก็ต้องไม่คิดเอาเองอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องตรวจสอบหาความรู้ก่อนว่า ไม้หัวลิง หรือกปิสีสํนี้ มีกล่าวถึงที่อื่นไหมในพระไตรปิฎก เผื่อจะได้เห็นชัดขึ้นว่า เป็นวัสดุที่มีลักษณะอย่างไร ใช้กันอย่างไร ค้นหาให้ถึงที่สุดแล้ว ถ้ายังไม่ชัด จึงค่อยสันนิษฐาน แต่นี่เจอและจับเอามาผิดเป็นไม้หัวสิงห์แล้ว ท่านก็ไม่ตรวจสอบ และไม่ค้นดูว่าสมัยนั้น เขาใช้กันอย่างไร

ทีนี้ไม้หัวลิง หรือกปิสีสํนี้ ก็มีกล่าวไว้ที่อื่นในพระไตรปิฎกด้วย เราจะเห็นได้ชัดว่าในพระวินัยมีกล่าวไว้

ในพระวินัยปิฎกมีบัญญัติไว้หลายแห่ง เกี่ยวกับเรื่องสิ่งก่อสร้าง เรือนพัก แม้แต่ “ถาน” คือส้วมของพระที่สร้างขึ้นมา พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตว่าให้มีอุปกรณ์ดังนี้ๆ ทีนี้ในบรรดาอุปกรณ์เหล่านั้นก็มี "กปิสีสํ" ไม้หัวลิงนี้ด้วย แต่ในบาลีวินัยปิฎก เขียน “กปิสีสกํ” คือไม้กลอนรูปหัวลิง แสดงว่าเป็นไม้สลักไม้กลอน ที่มีในสิ่งก่อสร้างง่ายๆ แม้แต่สิ่งก่อสร้างในวัด แม้กระทั่งส้วม (เช่น วินย.๗/๑๙๑/๗๔) เรื่องของวัด ที่อยู่ของพระ ก็ง่ายๆ อยู่แล้ว

แม้แต่ถานคือส้วมในวัด ก็ยังมีไม้หัวลิงได้ ในสวนหลวงย่อมมีสิ่งก่อสร้างหรืออาคารได้หลายอย่าง เริ่มแต่เรือนพักคนเฝ้าสวน ตลอดจนที่ประทับพักผ่อนของเจ้ามัลละ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องไปสันนิษฐานอะไรไกล นี่แหละ แค่ตัวศัพท์ก็ผิด ชัดๆ แล้ว ท่านว่าหัวสิงห์ ที่จริงเป็นหัวลิง ก็ไปแล้ว

ท่านเมตตาฯ อาจจะไปอ่านพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย หรือฟังคำแปลจากที่ไหนก็ตาม ที่บอกว่าหัวลิง ทีนี้ท่านอาจจะอ่านเผินๆ ใจก็ไปนึกเป็นหัวสิงห์ คือมีอะไรต่างๆ เยอะไปในเมืองไทยที่เป็นหัวสิงห์ แต่ไม่เคยได้ยินว่าหัวลิง พออ่านปั๊บ ใจไปนึกถึงหัวสิงห์ ก็จำไว้เป็นหัวสิงห์ไปเลย เป็นอันว่า

  1. ดูคำไทยไม่ชัด เพราะพระไตรปิฎกแปลไทย (เท่าที่ตรวจดู ๓ ชุด) ก็ไม่ได้พิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์
  2. ไม่ได้ตรวจสอบกับบาลี ซึ่งแน่นอนว่าเป็น "กปิสีสํ"
  3. ไม่ได้ตรวจสอบว่า ไม้กลอนอย่างนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีการใช้อย่างไร ในยุคสมัยนั้น ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงที่อื่นหรือเปล่า

การตรวจสอบข้อมูลต้องให้ถ่องแท้ ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปสันนิษฐานทันที นี่อยู่ๆ ก็ปั๊บ คิดเอาเองเลย ว่าในป่าต้องไม่มีไม้หัวสิงห์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าต้องไปปรินิพพานในตัวเมือง โดยเหตุนี้ จากการที่จับข้อมูลผิดพลาด การสันนิษฐานก็ผิด กรณีนี้ก็คล้ายๆ กับว่า เขาพูดมะนาว เราจับเอาเป็นมะพร้าว พอเป็นอย่างนี้แล้วก็ตีความสันนิษฐานไปคนละเรื่องละราว ที่เรียกว่าเตลิดไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง