คนไทยกับป่า

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การแก้ปัญหาระดับจิตใจ:
สร้างคุณธรรมและความสุข

๒. ระดับจิตใจ องค์ประกอบของการแก้ปัญหาในระดับจิตใจนี้มีมากมาย เช่น จิตสำนึกรับผิดชอบ ความเมตตากรุณา ท่าทีของจิตใจที่ชื่นชมความงามของธรรมชาติ ความรู้สึกเป็นสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เป็นต้น คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น

คุณสมบัติที่ว่านั้น บางทีเป็นความเคยชินของจิตใจ ที่ส่งอิทธิพลหล่อหลอมจากพ่อถึงลูก และจากแม่ถึงลูกได้ เรานำเด็กเข้าไปเที่ยวในสวน ในอุทยานแห่งชาติที่สวยงาม ให้เขาสนุกสนานเพลิดเพลินมีความสุข เขาก็จะมีความประทับใจ ฝังใจ แล้วมีความรู้สึกที่ดีต่อธรรมชาติ มีความรักความพอใจชอบที่จะอยู่ในบรรยากาศอย่างนั้น

เมื่อใดพฤติกรรมที่ดี มีรากฐานทางจิตใจด้วย พฤติกรรมนั้นจะแน่น ถ้าเขาไม่มีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมนั้นจะไม่ยั่งยืน ถ้าเมื่อไรเขามีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมนั้นจะมั่นคงยั่งยืนคงอยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องให้พฤติกรรมกับจิตใจประสานกัน

ทำอย่างไรจึงจะให้เขามีความสุขในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้น ถ้าพฤติกรรมนี้เกื้อกูลต่อธรรมชาติ เป็นพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เราอยากให้เขามีพฤติกรรมอย่างนั้นสืบต่อไป เราก็ต้องพยายามให้เขามีความสุขในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้นด้วย

ในเรื่องนี้ การสร้างท่าทีความรู้สึก พร้อมทั้งบรรยากาศแวดล้อม เช่น ความรู้สึกของพ่อแม่ ครู อาจารย์ ที่แสดงออกต่อสภาพแวดล้อม เป็นการสร้างบรรยากาศในการนำเด็กเข้าสู่ธรรมชาติ บรรยากาศนี้มีอิทธิพลมากในการสร้างความรู้สึกแก่เด็ก

โดยเฉพาะในครั้งแรก พอเขาเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติแวดล้อมครั้งแรก ถ้าผู้ที่นำเข้าไป โดยเฉพาะผู้ใหญ่ จะเป็นพ่อแม่ หรือครูอาจารย์ก็ตาม ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจที่ดี ก็จะทำให้เขามีความสุข ต่อจากนั้น ความรู้สึกที่ดีนั้นก็จะติดอยู่ และพฤติกรรมที่ดีต่อธรรมชาติก็จะตามมา อันนี้สำคัญมาก

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมจึงต้องให้สัมพันธ์กับจิตใจ ให้ลงถึงจิตใจ ด้วยการสร้างท่าทีของจิตใจ พร้อมทั้งความรู้สึกที่ดีงาม ที่มีความชื่นชมธรรมชาติเข้ามาให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะก็คือความสุข ถ้าคนมีความสุขควบคู่ประสานกันไปกับพฤติกรรม พฤติกรรมนั้นก็จะอยู่มั่นคง

ตกลงว่า ในระดับจิตใจนี้ เราอาจจะมุ่งไปที่คุณธรรมสำคัญคือ เมตตากรุณา ความรู้สึกพอใจและเป็นสุข และจิตสำนึกรับผิดชอบ ทั้ง ๓ ตัวนี้ถ้าได้มา ก็เป็นส่วนที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะการรักษาป่ามาก

อย่างไรก็ดี เพียงแค่ระดับจิตใจยังไม่พอ ต้องได้อีกระดับหนึ่งคือ ระดับปัญญา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง