มองสันติภาพโลก ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

มองสันติภาพโลก
ผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์1

หัวข้อเรื่องตั้งไว้ให้พูดเกี่ยวกับ “ศาสนา” ซึ่งเป็นคำที่กำหนดความหมายกันขึ้นตามสมมติในโลก โดยเฉพาะ “ศาสนา” เป็นคำที่มีการบัญญัติซ้อนกันมาหลายชั้น จนกระทั่งความหมายที่ใช้ขณะนี้ บางทีก็ไม่สื่อไปถึงตัวศัพท์เองเลย อย่างน้อยถ้าไม่พร่าๆ มัวๆ ก็มองไปตามความหมายของคำฝรั่ง (คือ religion) ที่เป็นคนละเรื่อง มากกว่าจะมองตามความหมายของคำของเราเอง

นอกจากนั้น ยังมาเจอกับการแบ่งแยกอีก ว่าเป็นศาสนานั้นศาสนานี้ เหมือนกับติดป้ายให้ แล้วคนก็ติดในป้ายนั้นด้วย เรียกว่าติด ๒ ชั้น

ทีนี้ สำหรับพวกเราที่เป็นนักศึกษา ถ้าจะเข้าใจให้ชัดจึงต้องมอง ๒ ชั้น ทั้งชั้นนอก คือ ชื่อที่เป็นเหมือนป้าย และเป็นรูปแบบ ทั้งชั้นใน คือ เนื้อหาสาระ

ถ้าจะพูดเรื่องนี้ในแง่มุมของพุทธศาสนา อาจจะไม่พูดตามชื่อหัวข้อ เพราะส่วนที่ต้องการคือเนื้อหาสาระ ซึ่งอาจเรียกว่า “ธรรม” หรืออะไรก็แล้วแต่ คือสิ่งที่เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะให้เข้าใจชัด และได้ประโยชน์จริง ก็ต้องเรียนศาสนาไม่แยกจากเรื่องอื่นๆ เพราะศาสนานั้นแทรกบ้าง ซึมบ้าง ปนบ้าง แฝงบ้าง ครอบบ้าง คลุมบ้าง ไม่เชิงบวก ก็เชิงลบ ในทุกกิจกรรมและกิจการอื่นของคน ทั้งบุคคล สังคม และโลก

อย่างปัญหาสันติภาพ ที่เด่นเป็นเรื่องใหญ่อยู่นี้ ปัจจุบันก็เห็นปัจจัยด้านศาสนาชัดขึ้นๆ แต่ที่จริงเป็นมาลึกจากภูมิหลังในอดีต ใครที่คิดจะแก้ปัญหาสันติภาพ ถ้าไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปของศาสนา ก็ต้องกลายเป็นคนทื่อ

ที่ว่านี้จริงอย่างไร ก็ให้มาดูกัน (พอเห็นแนว)

1คำบรรยาย แก่นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท สาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ วัดญาณเวศกวัน ๑๗ ธ.ค. ๒๕๔๐ (ชื่อเดิมว่า “ทัศนะของพุทธศาสนาต่อศาสนาอื่น”)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง