การศึกษากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ตัดความวุ่นวายด้านวัตถุ เพื่อเร่งการสร้างสรรค์ได้เต็มที่

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ให้เราไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย หลักพุทธศาสนาที่สัมพันธ์คู่กันกับสันโดษ คือความไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้สันโดษในสิ่งเสพแล้วให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ถึงกับตรัสยืนยันไว้ว่า การที่พระองค์ได้ตรัสรู้มานี้ เพราะได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. การเพียรพยายามโดยไม่ย่อท้อ

หลักการคู่นี้เป็นหลักสำคัญมาก ทั้งในพระสูตร และพระอภิธรรม ในอภิธรรมท่านยกไว้ในมาติกา เป็นแม่บทหนึ่งในทุกมาติกา (แม่บทชุด ๒) หลักธรรมอย่างนี้เรามองข้ามไป เราไปมองแต่สันโดษ เราก็แยกไม่ถูกว่าสันโดษอย่างไรหรือไม่สันโดษอย่างไร พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนไว้เฉพาะความสันโดษ แต่สอนความไม่สันโดษไว้ด้วย ความไม่สันโดษเป็นเป้าหมายของความสันโดษ

ทำไมจึงว่าความไม่สันโดษเป็นจุดหมายของความสันโดษ เพราะเราสันโดษ เพื่อไม่สันโดษ หมายความว่าเมื่อเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพที่ปรนเปรอตัวเอง เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ได้ จะเห็นได้ว่า คนที่ไม่สันโดษในสิ่งเสพ คอยหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง เขาจะใช้เวลาหมดเปลืองไปในการแสวงหาความสุขสำราญเป็นการส่วนตัวและใช้แรงงานไปในการวุ่นวายหาสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ครุ่นคิดแต่ว่าจะหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเองที่ไหน ความคิดจะหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ ทำให้เสียหน้าที่การงาน สิ่งที่ดีงามไม่ได้สร้างสรรค์

ในทางตรงข้าม เมื่อเรามีความสันโดษในสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้ ทีนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้นี้ไปทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามที่เป็นเรื่องของกุศลธรรม ทำกิจการ ทำหน้าที่ของตนให้ได้ผลดี คนที่สันโดษในสิ่งเสพแล้วไม่สันโดษในกุศลธรรมก็ยิ่งทำให้ชีวิตของตนเจริญงอกงาม และพัฒนาสังคมประเทศชาติได้ผลด้วย แต่ปัจจุบันเรามองไม่ออกว่าสันโดษคืออะไร จะมองสันโดษว่าจะได้สบาย เพราะมีความพอใจ สันโดษแล้วก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน สุขได้แล้ว ก็นอนขี้เกียจ อย่างนี้เป็นสิ่งผิด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่

กล่าวโดยรวม หลักพุทธศาสนาที่แท้ทำให้คนเดินหน้าด้วยความเพียรพยายามและปรับปรุงพัฒนาตนอยู่เสมอ เรื่องนี้จำเป็นต้องย้ำเตือนกันบ่อยๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวเฉพาะความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” (องฺ ทสก. ๒๔/๕๓) นี่คือหลักการสำคัญ ซึ่งรับกันหมด สันโดษเพื่อให้ไม่สันโดษ แล้วให้มีสิกขาพัฒนาตนอยู่เสมอ โดยไม่ประมาท นี้ป็นหลักการที่แท้ของพุทธศาสนา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง