แสงเงินแสงทองของชีวิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ยึดหลักเหตุผลมองตามเหตุปัจจัย

กระบวนการพัฒนาดำเนินไปได้ เพราะมองและทำตามหลักการแห่งเหตุปัจจัย

ข้อต่อไปท่านว่าจะต้องมี ทิฏฐิสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิที่ถูกต้อง

ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึง ความคิดเห็น ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ และหลักการที่ยึดถือไว้

คนเรานี้ เมื่อมองสิ่งทั้งหลาย ก็มองไปต่างๆ กัน แต่ถ้าถือตามหลักการของพระพุทธศาสนา ก็จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ทิฏฐิที่ถูกต้อง คือความเข้าใจ ความคิดเห็น หรือการถือหลักการเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐาน โดยมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุปัจจัย เหตุทำให้เกิดผล และผลก็เกิดจากเหตุ

การที่เราจะเดินทางก้าวหน้าไปในมรรค และบรรลุผลนั้นได้ เราจะต้องทำเหตุของมัน เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานอย่างนี้ ถือหลักการของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ ก็จะทำให้เราปฏิบัติ คือทำเหตุปัจจัยเพื่อจะใด้เกิดผล

ถ้าไม่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ เราก็จะปล่อยให้ความอยากกำหนดชีวิตของเรา จะทำอะไรๆ เพียงตามที่ใจอยาก หรือไม่ก็เอาแต่คอยอ้อนวอน คอยอาศัยสิ่งภายนอกให้มาช่วย เราก็เลยไม่ต้องทำอะไร เมื่อไม่ทำตามเหตุปัจจัย ก็จะไม่สามารถก้าวไปในมรรคได้ การก้าวไปในมรรคจะต้องทำเหตุ

เมื่อเรามีทัศนคติ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องตามแนวทางของเหตุปัจจัย มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยแล้ว ก็เป็นทิฏฐิพื้นฐานที่จะทำให้ก้าวหน้าไปถูกต้อง ท่านจึงเรียกหลักข้อนี้ว่า จะต้องมีทิฏฐิสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิที่ถูกต้อง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง