วันอาสาฬหบูชา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

วันเข้าพรรษา

คำว่า พรรษา แปลว่า ฤดูฝน ปีหนึ่งก็ผ่านฤดูฝนครั้งหนึ่ง คนที่อยู่มาเท่านั้นฝนเท่านี้ฝนก็คืออยู่มาเท่านั้นปี ดังนั้น ในที่ทั่วๆ ไป จึงแปลพรรษากันว่า ปี

คำว่า เข้าพรรษา ก็คือ เข้าฤดูฝน คือถึงเวลาที่จะต้องหยุดการเดินทางในฤดูฝน พักอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ โดยไม่ไปแรมคืนที่อื่น เพราะเหตุนี้ จึงมีคำเกิดขึ้นอีกคำหนึ่งคือคำว่า จำพรรษา

คำว่า จำพรรษา ก็คือ อยู่วัดประจำในฤดูฝน หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องอยู่ในวัดที่ตนอธิษฐานพรรษาตลอดสามเดือนในฤดูฝน จะไปแรมคืนที่อื่นไม่ได้ นอกจากมีเหตุจำเป็น

คำว่า วันเข้าพรรษา ก็คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานพรรษา ซึ่งเป็นวันแรกของการจำพรรษานั่นเอง

“อธิษฐาน” แปลว่า ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป “อธิษฐานพรรษา” ก็คือ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไปว่าจะอยู่ประจำ ณ ที่นั้นตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน

กาลที่นิยมว่าเป็นฤดูฝน ที่เรียกในบาลีว่า วสฺสาน นั้น มีกำหนด ๔ เดือน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ การจำพรรษาของพระสงฆ์มีกำหนด ๓ เดือน การจำพรรษานั้น มี ๒ ระยะ ระยะแรกเรียกว่า ปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาแรก หรือ พรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ระยะหลังเรียกว่า ปัจฉิมพรรษา แปลว่าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันเข้าปุริมพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เป็นวันเข้าปัจฉิมพรรษา

ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือเพิ่มเดือน ๘ เข้ามาอีกเดือนหนึ่ง เป็นแปดสองแปด ในปีนั้นให้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง เป็นวันเข้าปุริมพรรษา

การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตวันเข้าพรรษาไว้ ๒ วัน คือ วันเข้าปุริมพรรษา และวันเข้าปัจฉิมพรรษานั้น ก็เพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวันเข้าปุริมพรรษาไม่ทันด้วยเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเลื่อนไปเริ่มจำพรรษาในวันเข้าปัจฉิมพรรษา

การจำพรรษา และวันเข้าพรรษา ถึงจะมีเป็นสองอย่างก็จริง แต่ที่ถือเป็นสำคัญและปฏิบัติกันโดยทั่วไปนั้นก็คือ วันเข้าปุริมพรรษา ซึ่งเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และไปครบสามเดือนในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ยังเหลือเวลาอีกหนึ่งเดือนท้ายฤดูฝนสำหรับเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปในที่ต่างๆ ต่อไป ฉะนั้นในทางปฏิบัติ เมื่อพูดถึงวันเข้าพรรษา ก็หมายถึงวันเข้าปุริมพรรษานั่นเอง

มูลเหตุที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษา กล่าวความตามบาลีวัสสูปนายิกขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎก1 ว่าในมัชฌิมประเทศสมัย โบราณคืออินเดียตอนเหนือ เมื่อถึงฤดูฝนพื้นที่ย่อมเป็นโคลนเลนทั่วไป ไม่สะดวกแก่การเดินทาง คราวหนึ่ง มีพระพวกที่เรียกว่าฉัพพัคคีย์ คือเป็นกลุ่มมี ๖ รูปด้วยกัน ไม่รู้จักกาล เที่ยวไปมาทุกฤดูกาล ไม่หยุดพักเลย แม้ในฤดูฝนก็ยังเดินทาง เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัดและสัตว์เล็กๆ ตาย คนทั้งหลายพากันติเตียนว่า ในฤดูฝนแม้พวกเดียรถีย์และปริพาชกเขาก็ยังหยุด ที่สุดจนนกก็ยังรู้จักทำรังบนยอดไม้เพื่อหลบฝน แต่พระสมณศากยบุตรทำไมจึงยังเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ที่เป็นของเป็นอยู่ และทำสัตว์ให้ตายเป็นอันมาก ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ในฤดูฝนในที่แห่งเดียวเป็นเวลา ๓ เดือน เรียกว่า จำพรรษา ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องจำพรรษา และมีวันเข้าพรรษาสืบมาจนบัดนี้

สถานที่ที่พระสงฆ์จำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ จำพรรษาในที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้ และในตุ่มหรือในหลุมขุด ซึ่งไม่ใช่เสนาสนะคือไม่ใช่ที่อยู่ที่อาศัย ทรงอนุญาตให้จำพรรษาในกุฏิที่มุงที่บังมีหลังคาและฝารอบขอบชิด อยู่ให้ครบ ๓ เดือน ถ้าอยู่ไม่ครบ ๓ เดือน หลีกไปเสีย พรรษาขาดและต้องอาบัติคือมีโทษ แต่เป็นโทษขนาดเบา เรียกว่าอาบัติทุกกฏ ถ้ามีภัยอันตรายเกิดขึ้น จะอยู่ในที่นั้นไม่ได้ เช่นน้ำท่วม หรือชาวบ้านถิ่นนั้นอพยพไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น อนุญาตให้ไปในระหว่างพรรษาได้ ไม่เป็นอาบัติ หรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องไปแรมคืนที่อื่น เช่นกิจนิมนต์ กิจเกี่ยวกับพระศาสนา ตลอดจนพระอุปัชฌาย์อาจารย์อาพาธ เป็นต้น อนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือกิจที่ไปทำแล้วกลับมาให้ทันภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด

พิธีอธิษฐานพรรษา2 คือ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันโดยนิยมในโรงพระอุโบสถ ทำวัตรสวดมนต์ตามธรรมดา แล้วเปล่งวาจาอธิษฐานพรรษาพร้อมกันว่า อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ (นิยมว่า ๓ หน) แปลว่า ข้าพเจ้าจำพรรษาในอาวาสนี้ตลอดสามเดือน ดังนี้ และยังมีธรรมเนียมอธิษฐานพรรษาเฉพาะรูปๆ ซ้ำอีก ซึ่งบางแห่งยังปฏิบัติอยู่ว่า เมื่อออกจากโรงพระอุโบสถกลับไปถึงที่อยู่คือกุฎี ทำความสะอาดปัดกวาดเรียบร้อย ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้แล้ว กล่าวคำอธิษฐานพรรษาในกุฎีอีกว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ (นิยมว่า ๓ หน) แปลว่า ข้าพเจ้าจำพรรษาในกุฎีนี้ตลอดสามเดือน ดังนี้

เมื่อกล่าวคำอธิษฐานพรรษาเสร็จแล้ว ยังมีพิธีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือพิธีขอขมาโทษ ซึ่งเป็นพิธีที่เนื่องกับวันเข้าพรรษา วิธีปฏิบัติ คือ พระผู้น้อยนำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปหาพระผู้ใหญ่ กล่าวคำขอขมาโทษ แปลเป็นใจความว่า “กระผมขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินทางกาย วาจา ใจ เพราะความประมาท” แล้วพระผู้ใหญ่ก็กล่าวตอบแปลเป็นใจความว่า “ข้าพเจ้ายกโทษให้ แม้ท่านก็พึงยกโทษให้ข้าพเจ้า” พระผู้น้อยก็กล่าวว่า “กระผมขอยกโทษให้” เป็นอันต่างฝ่ายต่างให้อภัยกันในความล่วงเกินที่ได้ทำมาแล้ว นับเป็นวิธีสมานสามัคคีอย่างดียิ่ง

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็นโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษจากที่ได้บำเพ็ญเป็นประจำตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน เริ่มต้นแต่เมื่อใกล้จะถึงเข้าพรรษาต่างก็ช่วยกันซ่อมแซมตกแต่งเสนาสนะเพื่อให้พระสงฆ์ได้อยู่เป็นสุข นำลูกหลานญาติมิตรไปประชุมกันตามวัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร พอถึงวันเข้าพรรษา บางพวกก็อธิษฐานว่า จะรักษาอุโบสถศีล ตลอด ๓ เดือน บางพวกก็อธิษฐานว่า จะฟังเทศน์ทุกวันมิให้ขาดตลอด ๓ เดือน บางพวกปวารณาตนต่อภิกษุสามเณรเฉพาะองค์ หรือทั้งวัด ถวายสิ่งที่ขาดเหลือตลอด ๓ เดือน บางพวกก็อธิษฐานใจ เว้นสิ่งที่ควรเว้น บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เช่นพวกดื่มเหล้า บางคนก็เว้นดื่มเหล้าตลอดพรรษา โดยตั้งใจเว้นเองก็มี เข้าไปปฏิญาณต่อหน้าพระก็มี บางคนที่ทำบาปหยาบช้าทารุณกรรมต่างๆ ก็ปฏิญาณตนไม่ทำในสิ่งนั้น บางคนก็จัดดอกไม้ธูปเทียนและของใช้ประจำอื่นๆ เช่น สบู่ แปรง ยาสีฟัน สีย้อมผ้า ตลอดจนยารักษาโรค เป็นต้น ไปถวายแก่พระที่ตนเคารพนับถือ หรือที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน นี้เป็นกุศลพิธี คือเป็นพิธีบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

ผ้าอาบน้ำฝนนั้น มีกำหนดตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง โดยคืบพระสุคต3 คำนวณตามอัตราที่นิยมถือกันมาเทียบกับมาตราที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ตัดเศษแล้วได้ ยาว ๒ เมตร กว้าง ๘๓ เซนติเมตร (ถ้าถืออย่างง่าย คิดเท่ากับมาตราที่ใช้ในปัจจุบันเลยทีเดียว จะได้เพียงยาว ๑ เมตรครึ่ง กว้าง ๖๒.๕ เซนติเมตร) ทำยาวหรือกว้างกว่ากำหนดใช้ไม่ได้ ภิกษุผู้ทำหรือให้ทำหรือใช้นุ่งมีความผิด เวลาที่จะถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นมีพุทธบัญญัติไว้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ระยะนี้เป็นเวลาที่พระภิกษุจะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ผู้ประสงค์จะบำเพ็ญกุศลให้ต้องตามพุทธานุญาต จึงหาผ้าอาบน้ำฝนถวายในระยะนี้ แต่ที่ปฏิบัติกันทั่วๆ ไปถวายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน เพราะวันนั้นเป็นวันธรรมสวนะและเป็นวันอาสาฬหบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนไปประชุมกันที่วัดเป็นปรกติอยู่แล้ว จึงถือโอกาสถวายผ้าอาบน้ำฝนในวันนั้น

1วินย.๔/๒๐๕-๒๒๒ (วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๒๐๕-๒๒๒)
2ดูวิธีปฏิบัติตามมติอรรถกถา ที่ วินย.อ. ๓/๑๕๙ (สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค ๓ หน้า ๑๕๙)
3วินย.๒/๗๗๓ (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎก เล่ม ๒ ข้อ ๗๗๓)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง