ไขข้อข้องใจของ นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิต 3 ด้าน

ทีนี้ในการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนั้น ท่านก็บอกให้รู้ว่าชีวิตของเราที่เป็นอยู่ดำเนินอยู่นี้มี 3 ด้าน

1) ด้านภายนอก

ด้วยกายวาจา เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างหนึ่ง ด้านนี้เป็นเรื่องข้างนอก ก็ต้องพัฒนาเรื่อยไป คือ ทำให้ดีขึ้น ให้การพูดได้ผลดี พูดได้ถูกต้อง พูดคำสุจริต เป็นคำสัจจะ เป็นคำสุภาพอ่อนโยน พูดได้น่าฟัง น่าเชื่อถือ ฯลฯ นอกจากฝึกในเรื่องวาจา ก็ฝึกความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทั่วๆ ไป

ฝึกพัฒนาในเรื่องการใช้กายทำอะไรต่างๆ รวมทั้งการบริโภคอาหาร ใช้ปัจจัย 4 ใช้เทคโนโลยี การใช้ตา หู จมูก ลิ้น ไปสัมพันธ์กับประสบการณ์และเรื่องราวภายนอก ด้วยการดู การฟัง เป็นต้น ให้ดูเป็น ฟังเป็น ได้ประโยชน์ได้สติปัญญา ไม่ใช่แค่สนุกสนานตื่นเต้นไปวันๆ

ในการอยู่ร่วมสังคม ก็ต้องฝึกการอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ กติกา การอยู่ในวินัย ตั้งแต่กฎจราจรบนท้องถนน จนกระทั่งวินัยของทหาร วินัยของข้าราชการ วินัยของพระสงฆ์ แล้วก็ทำอาชีพการงานของตัวเองให้ถูกต้องสุจริต ขยันหมั่นเพียร ให้เกิดผลดี เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอาชีพนั้นๆ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมทางกายวาจาที่ไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทางสังคมและทางวัตถุ แดนนี้ทั้งหมด เรียกว่าศีล

เพราะฉะนั้นมนุษย์เราก็จะต้องอยู่กับศีลตลอดเวลา ถ้าใครไม่ฝึกพฤติกรรมของตัว เรียกว่าไม่เอากับศีล แล้ว จะมีชีวิตที่ดีเจริญงอกงาม ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพียงแค่พูดไม่ดี พูดไม่เป็น ก็ติดขัด เจออุปสรรคเยอะแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะเจริญงอกงามทางด้านความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมสังคม ก็ต้องฝึกศีล คือใช้กาย วาจาให้ดี ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้มีผลดีขึ้นแก่ชีวิต และให้เกิดผลดีแก่ผู้ร่วมสังคม นี่เรียกว่ามีศีล ซึ่งจะต้องฝึกกันเรื่อยไป เป็นด้านหนึ่ง

2) ด้านลึกเข้าไป

ก่อนจะออกมาเป็นพฤติกรรม ที่แสดงทางกาย วาจา ทุกครั้ง มนุษย์มีเจตจำนง มีเจตนา มีความตั้งใจ มีความจงใจ ว่าจะเอา จะได้ จะทำ หรือจะแสดงออกอย่างไร ดังนั้นพฤติกรรมที่แสดงออกมาข้างนอกจึงมีตัวเชิดอยู่เบื้องหลัง คือ ความตั้งใจ ความจงใจ เจตนา หรือเจตจำนง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปข้างใน คือในใจ แสดงว่าด้านจิตใจมีความสัมพันธ์อยู่กับพฤติกรรม พฤติกรรมนี้ตั้งอยู่บนฐานของจิตใจอีกที แล้วแต่จิตใจจะให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างไร เพราะมีเจตนาอย่างไร ตอนนี้ขึ้นต่อคุณภาพของจิตใจแล้ว

จิตใจมีโลภะมาก ก็มีพฤติกรรมทางกายวาจาไปแบบหนึ่ง
โลภน้อยลง พฤติกรรมก็ไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่โลภ หรือมีใจกว้างเสียสละ พฤติกรรมที่พูดที่ทำก็ไปอีกแบบหนึ่ง

จิตใจมีโทสะมาก ก็ทำให้พฤติกรรม ทางกาย วาจาไปอย่างหนึ่ง ถ้าหายโกรธ
หรือรักใคร่มีเมตตา ก็พูดจาท่าทางทำอะไรๆ ไป อีกแบบหนึ่ง

จิตใจมีโมหะ ก็แสดงออกมาที่พฤติกรรม พูดจาท่าทางเงอะงะหลงงมงายอะไร
ไปแบบหนึ่ง แต่ถ้าเกิดปัญญารู้เข้าใจ พฤติกรรมกาย วาจา ก็ไปอีกแบบหนึ่ง

รวมแล้วก็อยู่ที่ว่าจะมีคุณสมบัติหรือคุณวิบัติมาประกอบกับจิตใจอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้พฤติกรรมที่ดี อยู่ได้มั่นคง ก็ต้องพัฒนาจิตใจด้วย แต่ข้อสำคัญในที่สุด สุข-ทุกข์ของเราก็ไปอยู่ที่ใจเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติที่ทำให้พฤติกรรมดีร้าย ประณีต ทราม หยาบ ละเอียด เท่านั้น แต่หมายถึงว่าความสุขความทุกข์ด้วย ในที่สุดก็อยู่ที่จิตใจ ถ้าไม่รู้จักจัดการกับจิตใจของตัวเอง ข้างนอกเจอเรื่องมากมาย ข้างในใจตั้งรับไม่เป็น ก็ต้องพลาดจากสุข เจอทุกข์อยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นด้านจิตใจก็ต้องมีการฝึก

เราควรฝึกจิตใจในเรื่องคุณธรรม ความดีงาม ให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลงน้อยลง ให้โลภะ โทสะ โมหะ ลดลง เพิ่มคุณสมบัติที่ดี ซึ่งตรงกันข้ามกับ โลภะ โทสะ ให้มีความคิดเผื่อแผ่ เสียสละ ให้มีเมตตากรุณา ให้จิตใจมีอุดมคติ ให้มีความใฝ่รู้และอยากทำสิ่งที่ดีงาม

นอกจากนั้น จิตใจ บางทีอ่อนแอ ว้าเหว่ เหงา เศร้า ขุ่นมัว ท้อแท้ ฯลฯ ก็ต้องฝึกทำจิตใจให้มีสมรรถภาพ มีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ใจสู้ ไม่ย่อท้อ มีกำลังใจแกล้วกล้า มีสติเหนี่ยวรั้งใจได้ มีสมาธิ ใจแน่วแน่ สามารถทำใจให้สงบได้ ไม่ว้าเหว่ ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไม่เครียด ให้ใจสดชื่น ให้ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส มีความสุข เรื่องจิตใจนี่เยอะ เป็นแดนใหญ่เลย ลึกลงไปกว่าพฤติกรรม ตกลงต้องฝึกด้านจิตใจด้วย

ด้านจิตใจทั้งหมดนั้นท่านสรุปโดยใช้คำแทนตัวเดียวว่า สมาธิ ที่จริงสมาธิรองรับคุณสมบัติที่ดีๆ ของจิตใจ คลุมอยู่ในชีวิตทั้งหมด การนั่งช่วยในการฝึกสมาธิ แต่สมาธิไม่ได้อยู่ที่การนั่ง

3) ด้านปัญญา

มนุษย์เรานี้ไม่ได้อยู่แค่จิตใจ กับพฤติกรรม

จิตใจที่จะให้กายวาจาแสดงพฤติกรรมอะไรออกไป และพฤติกรรมจะแสดงออกได้แค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับความรู้ คนเราจะแสดงพฤติกรรมออกมา ตั้งต้นแต่จะเดินไปไหน ก็ต้องรู้ และจะทำพฤติกรรมได้แค่ไหน ก็อยู่ในขอบเขตของความรู้ คนที่มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้ง พฤติกรรมก็จะยิ่งซับซ้อน ยิ่งทำได้มากขึ้น แล้วก็สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างดีด้วย

ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ พฤติกรรมทำไปเปล่าๆ เหลว! ไม่ได้เรื่อง

จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจไม่มีปัญญาก็บีบคั้นอัดอั้น เจออะไรไม่รู้จะทำอย่างไร ก็อึดอัดทุกข์ก็มา แต่พอรู้ปั๊บก็โล่งเลย พฤติกรรมจะไปได้ จิตใจจะโล่งจะโปร่ง เป็นอิสระด้วยปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่ชี้นำ บอกทาง ให้แสงสว่าง เปิดขยายมิติ แล้วก็เป็นตัวปลดปล่อยทำให้เป็นอิสระ พอปัญญามารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เข้าใจปัญหาปั๊บ รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็โล่งทันที

เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวสำคัญ ในที่สุดจะพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจไปได้ ต้องอาศัยปัญญา

ก็เลยต้องมีอีกแดนหนึ่ง คือ แดนปัญญา ซึ่งหมายถึงความรู้ เริ่มตั้งแต่รู้ข้อมูลธรรมดาที่สดับตรับฟังจากผู้อื่น ความรู้ที่รับเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น ฯลฯ

เพียงแค่การรับรู้ของคนทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสกาย นี่แหละ ถ้าไม่พัฒนา ก็มีปัญหาแล้ว ถ้ารับรู้ไม่เป็น ก็อยู่แค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ พอเห็นสวยงาม ก็ชอบใจ เห็นไม่สวยไม่งาม ไม่ถูกตา ไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบใจ

ถ้าไม่ชอบใจแต่ต้องอยู่กับมัน ก็เกิดความทุกข์ หาทางหนีหรือคิดทำลาย จิตใจงุ่นง่าน พลุ่งพล่าน โทสะเกิด

พอไปเจอสิ่งถูกตาถูกใจ ก็ชอบ จะเอา ได้มาแล้วก็เกิดความสุข แต่ถ้าชอบแล้วไม่ได้ หรือได้แล้วมันไม่อยู่ด้วย มันจะจากจะหายหรือสลายไป เอ้า! ทุกข์อีกแล้ว

การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส เป็นช่องทางที่มาแหล่งใหญ่ของความสุขความทุกข์ของมนุษย์ ต้องคอยหามาบำรุงบำเรอให้มันเสพอยู่เรื่อยๆ ถ้าขาดเมื่อไร หรือเบื่อขึ้นมา ก็ทุกข์เข้าทันที

ว่ากันในขั้นพื้นฐาน เรื่องราวและปัญหาของชีวิตและสังคมมนุษย์ก็สุมรวมกันอยู่ที่นี่ ถ้ามนุษย์อยู่กันแค่นี้ ไม่พัฒนาขึ้นไปบ้าง ชีวิตและสังคมก็จะเป็นอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้

ถ้ามนุษย์พัฒนาขึ้นไปบ้าง ความสุขของเขาก็จะพัฒนาไปด้วย สุขทุกข์ของเขาจะไม่อยู่แค่ใช้ตา หู ฯลฯ รับความรู้สึก แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ วนเวียนอยู่แค่นั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง