ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เทคโนโลยีกลายเป็นภัย เมื่อคนไม่มีคุณภาพ

ต่อไปก็จะขอพูดถึงว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีนี้ ในขณะที่มันเจริญไป เราก็มองดูและเสพเสวยด้วยความเพลิดเพลิน แต่พร้อมกับความเจริญนั้นเองก็มีสิ่งหนึ่งเพิ่มขึ้นมาด้วย คือภาระแก่ตัวมนุษย์เอง ได้แก่ ภาระในการที่จะใช้ และในการที่จะบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไข เพราะว่าโดยทั่วไป เทคโนโลยียิ่งก้าวหน้ามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีความซับซ้อน มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นเท่านั้น การปฏิบัติต่อเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ยิ่งต้องการความชำนาญ ความละเอียดถี่ถ้วนและความรอบคอบมากขึ้น ผิดพลาดเผลอนิดเดียวอาจเกิดความพินาศใหญ่โต เหมือนอย่างเรื่องที่เล่ามาแล้ว ในกรณีของโรงงานพลังนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล และเกาะทรีไมล์เป็นต้น ก็เป็นเรื่องของความผิดพลาด ซึ่งเขายอมรับแล้วว่าเกิดจากความเผอเรอของคน

ทีนี้ การที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นไปนั้น หาใช่เป็นหลักประกันได้ไม่ว่าคนจะมีความรอบคอบมากขึ้น ดีไม่ดีถ้าเอาแต่หลงมัวเมาเพลิดเพลินกันนัก ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า คุณภาพของคนจะยิ่งเสื่อมถอย ความมีสติรอบคอบจะยิ่งลดลง ถ้าอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ก็จะยิ่งมีมาก และยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าซับซ้อน มีประสิทธิภาพมากเท่าใด อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งเลวร้ายและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น คนที่ไม่มีเทคโนโลยีพลั้งพลาดเผลอสติ อาจจะเดินตกหลุมตกบ่อแข้งขาหัก หรือหล่นเขาล้มตายไปเฉพาะตัวคนเดียว พอมีเทคโนโลยีขึ้นบ้าง เผอเรอพลาดไป อาจขับรถตกภูเขาหรือทำให้ถังแก๊สถังน้ำมันระเบิดเป็นต้น คนตายเป็นสิบเป็นร้อย ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีสูงประณีตซับซ้อนมาก ความประมาทพลั้งเผลอนิดเดียว อาจหมายถึงความพินาศของบ้านเมือง คนตายครึ่งค่อนประเทศ หรือแม้กระทั่งครึ่งค่อนโลก

เป็นอันว่า ถ้ามนุษย์ยังหย่อนคุณภาพ การเกิดอุบัติเหตุทางเทคโนโลยีก็ย่อมจะมีได้เสมอไป โดยที่อาจเกิดจากความผิดพลาดเผอเรอนี้บ้าง เกิดจากความรู้ไม่ถ่องแท้ทั่วตลอดบ้าง อย่างที่กล่าวแล้วในข้อหนึ่งว่า เพราะมนุษย์เรารู้เรื่องธรรมชาติ รู้ความจริงของธรรมชาติ ไม่ตลอดกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ทั้ง ๒ อย่างนี้อย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นความไม่รู้ก็ดี ความเผอเรอพลั้งพลาดก็ดี ก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง ของอุบัติเหตุเนื่องจากความเผอเรอ ซึ่งเกิดจากความไม่รู้และความสะเพร่าของมนุษย์ครั้งสำคัญ ก็เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับอุบัติเหตุที่โรงงานพลังนิวเคลียร์ในโซเวียตนั่นเอง คือ ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ในเดือนมกราคม ๒๕๒๙ มีข่าวใหญ่มากข่าวหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา คือการระเบิดของกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ (Space Shuttle Challenger) หลายท่านคงยังจำได้ เป็นข่าวที่โด่งดังไม่แพ้เรื่องอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลนั้นเลย

โครงการอวกาศของสหรัฐฯในตอนนั้นกำลังเฟื่องฟูมาก มีความหวัง มีความใฝ่ฝันในการสำรวจอวกาศว่าจะเจริญก้าวหน้าอย่างเหลือเกิน แต่แล้วโดยไม่คาดฝันก็เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้น เมื่อกระสวยอวกาศขึ้นไปได้เพียง ๗๓ วินาที หรือ ๑ นาที กับ ๑๓ วินาทีก็ระเบิด มนุษย์อวกาศตายหมดทั้ง ๗ คน

ยิ่งกว่านั้น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ได้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ในโครงการอวกาศของสหรัฐฯอีก ๓ ครั้ง คือ ยานอวกาศระเบิด ๒ ครั้ง และการยิงจรวดเกิดความผิดพลาด ๑ ครั้ง ทำให้โครงการอวกาศของสหรัฐฯชะงักงันตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ทีเดียว เราเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่มืดมัวที่สุดในประวัติการสำรวจอวกาศของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านั้นถอยหลังไปใน พ.ศ. ๒๕๒๒ มีอุบัติเหตุที่แทบจะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ และก่อความพินาศครั้งใหญ่ คือ ที่ฐานปฏิบัติการป้องกันทางอากาศภาคอเมริกาเหนือของสหรัฐฯ ที่ภูเขาชีเอน (Cheyenne) ในรัฐโคโลราโด ซึ่งเป็นที่ทำการตอบโต้การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าโซเวียตยิงขีปนาวุธขึ้นเพื่อจะมาทำลายสหรัฐฯ ที่ฐานปฏิบัติการนี้มีระบบเครื่องตรวจสอบที่ทำให้รู้ว่า ทางโน้นยิงออกมาแล้ว และมีแผนปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไรเพื่อตอบโต้

ทีนี้ ที่ฐานปฏิบัติการนั้นเอง อยู่ๆ ก็มีสัญญาณเตือนภัยขึ้นมา แสดงว่าทางโซเวียตได้ยิงขีปนาวุธออกมาแล้ว ทางสหรัฐฯพอมีสัญญาณเตือนภัยนี้ ก็ปฏิบัติการตามแผน ส่งเครื่องบินขึ้นไปเตรียมที่จะยิงขีปนาวุธตอบโต้ แต่เพื่อความรอบคอบก็เลยมีการตรวจสอบกันขึ้นก่อนว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ก็ได้พบว่า คอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด รายงานผิด เกือบไป เป็นความผิดพลาดในเรื่องที่สำคัญ เรื่องเป็นเรื่องตาย ร้ายแรงยิ่ง หมายความว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาผลุนผลันไม่ได้ตรวจสอบดูให้แน่ รีบยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้โซเวียต โซเวียตก็ว่า อ้าว! ทำไมสหรัฐฯทำอย่างนี้ เล่นโจมตีแบบไม่รู้ตัว ฉันจะเอาบ้าง ก็เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาแน่นอน นั่นครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมาอีกไม่นานเท่าไร คงอีกไม่กี่เดือน ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ ก็เกิดสัญญาณเตือนภัยผิดแบบนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แสดงว่าคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด ยุ่งมาก หลังจากนั้นก็คงแก้ไขกันเป็นการใหญ่ จึงเงียบไป หรืออาจจะมีการผิดพลาดอีก แต่ไม่โด่งดังออกมา นี้ก็เป็นอุบัติเหตุสำคัญมากที่เราไม่ควรจะมองข้าม

ข่าวสหรัฐฯและรายงานเหตุการณ์โลก ประจำวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙ พูดไว้น่าฟังว่า "The most potent technologies tolerate the fewest mistakes" ซึ่งแปลเอาความได้ว่า "เทคโนโลยีที่มีฤทธิ์เดชมากที่สุด ยอมทนให้คนทำผิดได้น้อยที่สุด" ดังนั้นเทคโนโลยียิ่งเจริญก้าวหน้า ความเสี่ยงภัยจากเทคโนโลยีก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น และภัยนั้นก็ยิ่งร้ายแรงมากขึ้นด้วย

จากการสำรวจของ USN&WR-Cable News Network ได้ความว่า ถึงแม้คนอเมริกันส่วนใหญ่จะยังพูดว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีคุณมากกว่าโทษ แต่ตัวเลขจำนวนคนที่พูดอย่างนั้นได้ลดลงจากร้อยละ ๘๓ เมื่อสามปีก่อน เหลือเพียงร้อยละ ๗๒ ในพ.ศ.๒๕๒๙ เกือบ ๑ ใน ๔ ของคนที่สำรวจความเห็น คิดว่า ต่อไปข้างหน้าอีก ๒๐ ปี เทคโนโลยีจะก่อโทษแก่มนุษย์ยิ่งกว่าให้คุณ

เทคโนโลยีที่ทำให้คนในประเทศพัฒนาแล้วหวาดผวาหวั่นใจ และกระวนกระวายมากที่สุดในปัจจุบันก็คือ พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา (จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๙) มีรายงานว่าได้เกิดอุบัติเหตุที่สำคัญในโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ ๑๔ ประเทศ รวม ๑๕๑ ครั้ง หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลในโซเวียตแล้ว ประชามติที่สำรวจในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๗ และ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ปรากฏออกมาว่า คนร้อยละ ๕๒ ไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานพลังนิวเคลียร์ขึ้นใหม่ และคนจำนวนร้อยละ ๒๘ ต้องการให้ปิดโรงงานพลังนิวเคลียร์ เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันลงให้หมดสิ้น (เมื่อปี ๒๕๒๒ คนที่มีความเห็นอย่างนี้มีจำนวนเพียงร้อยละ ๑๔)

นอกจากอันตรายจากอุบัติเหตุในโรงงานพลังนิวเคลียร์แล้ว ภัยนิวเคลียร์ยังมาจากขยะนิวเคลียร์ ที่ต้องทิ้งจากโรงงานเหล่านั้น ซึ่งจะแผ่กัมมันตภาพรังสีที่น่ากลัวไปอีกนานเป็นแสนเป็นล้านปี แม้ว่าจะมีมาตรการในการเก็บกันอย่างรัดกุมที่สุด แต่ก็มีความพลั้งพลาดหลุดรอดออกมาเป็นข่าวเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอุบัติเหตุในขณะขนขยะนิวเคลียร์นั้นไปสู่ที่ฝังเก็บ

อีกอย่างหนึ่งที่น่ากลัวมากซึ่งกำลังจะเพิ่มขึ้นใหม่ ก็คือ ต่อไปข้างหน้า ภัยนิวเคลียร์กับภัยอวกาศจะประสานเข้าด้วยกัน เพราะกระสวยอวกาศที่จะทำขึ้นใหม่จะใช้ธาตุพลูโตเนียมเป็นเชื้อเพลิง ถ้าเกิดอุบัติเหตุอย่างในกรณีแชลเลนเจอร์ขึ้นอีก คราวนี้อาจจะมีผลเหมือนกับว่าแชลเลนเจอร์กับเชอร์โนบิลระเบิดขึ้นพร้อมกัน

ไม่เฉพาะโรงงานพลังนิวเคลียร์เท่านั้น ที่ระเบิดแล้ว เป็นอันตรายใหญ่หลวง แม้แต่โรงงานใหญ่ๆ ที่ผลิตหรือใช้สารเคมีบางอย่าง เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็เป็นอันตรายไม่น้อย ตัวอย่างเช่น เรื่องถังเก็บสารเคมีของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ (Union Carbide Corporation) ซึ่งเป็นบริษัทสารเคมีใหญ่ที่สุดอันดับ ๓ ของอเมริกา ระเบิดที่เมืองโภปาล (Bhopal) ในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๗ ปล่อยแก๊สเมธีลไอโซไซยาเนต (methyl isocyanate) ออกมา ทำให้คนตายไปเกือบทันทีกว่า ๒,๐๐๐ คน และบาดเจ็บอีกหลายหมื่นคน และนี้เป็นเพียงรายที่โด่งดัง

ความจริงอุบัติเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ๙ เดือนหลังจากเกิดเหตุที่โภปาล โรงงานของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์นั้นเอง แต่อีกแห่งหนึ่งในรัฐเวสท์เวอร์จิเนียของสหรัฐฯเอง ก็เกิดอุบัติเหตุแก๊สชนิดเดียวกันนั้นรั่วออกมา ต้องส่งคนเข้าโรงพยาบาลเป็นร้อย

อุบัติเหตุเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต ๑ ใน ๔ ส่วนเกิดขึ้นในการขนส่ง ตามสถิติของ ข่าวสหรัฐฯและรายงานเหตุการณ์โลก นั้นว่า เรือที่ขนส่งสารที่เป็นอันตรายร้ายแรง เกิดอุบัติเหตุทั่วโลก เฉลี่ยวันละ ๑ ราย 1

เทคโนโลยีใหม่สุดซึ่งเสี่ยงภัยร้ายแรงพอๆ กับพลังงานนิวเคลียร์ ก็คือ พันธุวิศวกรรมศาสตร์ หรือ genetical engineering วิทยาการสาขานี้ กำลังโดดเด่นขึ้นมา เป็นความเจริญก้าวหน้าที่ให้ความหวังแก่มนุษย์อย่างมาก และตื่นเต้นกันอย่างยิ่ง มนุษย์จะสามารถสร้างสรรค์ชีวิตพืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ ตลอดจนดัดแปลงปรับปรุงพืชและสัตว์พันธุ์ต่างๆ แม้กระทั่งพันธุ์มนุษย์เอง ให้เป็นไปได้ตามใจปรารถนา เช่น สร้างจุลชีพบางชนิดขึ้นมาสำหรับสังเคราะห์แสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า สร้างแบคทีเรียขึ้นมาชนิดหนึ่งสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดน้ำค้างแข็งที่จะทำลายพืชบางชนิด แต่หลายคนที่เฝ้ามองความเจริญของเทคโนโลยีด้านชีววิทยานี้ ก็หวั่นเกรงกันว่า ชีวิตและพืชพันธุ์ใหม่ๆ เช่น แบคทีเรียเหล่านี้ มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมนุษย์ก็มองดูเฉพาะผลที่ตนต้องการนั้นเท่านั้น แต่ชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีคุณสมบัติ (หรือโทษวิบัติ) อย่างอื่นอีก ซึ่งบางทีมนุษย์ก็ไม่ได้ตรวจตราและคาดไม่ถึง ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ถูกปล่อยแพร่ขยายพันธุ์ออกไปในโลก บางทีอีกนานกว่ามนุษย์จะรู้ตัวว่า มันได้ก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหม่ขึ้นมาแก่โลกและแม้แก่ชีวิตของมนุษย์เอง มนุษย์อาจจะต้องเผชิญกับภัยอันตรายเช่นโรคร้ายใหม่ๆ และอาจจะถึงคราวหนึ่งที่ชีวิตพันธุ์ใหม่ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั้น มนุษย์ปราบไม่ไหว หรือคิดวิธีปราบไม่ทัน และมนุษย์นั้นแหละกลับเป็นฝ่ายที่ถูกมันทำลายเสียเอง

นายจอห์น เฮนนิงสัน (John Henningson) รองประธานบริษัทมัลคอล์ม-เพิรนี (Malcolm-Pirnie, Inc.) ในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา พูดไว้เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีจากประสบการณ์ของเขาเองอย่างน่าฟังว่า

“ผมไม่มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่ง ว่าเรามีความสามารถที่จะจัดการกับอุปกรณ์เหล่านี้; สำหรับตัวเทคโนโลยีเอง ผมเบาใจเสมอ แต่สำหรับบุคลากรที่ทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ผมไม่โปร่งใจเลย”

ความรู้สึกที่นายเฮนนิงสันระบายออกมานี้ บ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของคนที่พัฒนาไม่ทันกันกับความเจริญของเทคโนโลยี หรือแม้ทัน แต่ไม่เพียงพอที่จะควบคุมเทคโนโลยี และสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีไว้ในอำนาจ ไม่เฉพาะความขาดคุณธรรม เช่น ความเอาใจใส่รับผิดชอบเท่านั้น ที่ทำให้เกิดปัญหา แต่สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหานั้นก็คือ ความรู้ไม่ทั่วถึงตลอดกระบวนการของธรรมชาติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง ที่ยังครอบงำวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างปัญหาแก่มนุษย์ในยุคเทคโนโลยีต่อไป2

สภาวการณ์นี้ ถ้าจะพูดในเชิงอุปมา ก็เหมือนกับว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ก้าวหน้ามากถึงขั้นมีของใช้ของเทวดา แต่ตัวมนุษย์เองก็ยังคงเป็นมนุษย์คนเดิม ที่ไม่ได้พัฒนา ยังมิได้ยกระดับคุณภาพของตนขึ้นไปให้เท่าทันเทวดา เมื่อมาใช้ของสำหรับเทวดา ก็เลยก่อปัญหาทำให้เกิดโทษมากกว่าคุณ (แต่ตามคัมภีร์ท่านบอกว่า เทวดานั้นมีสิ่งบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบายมาก เลยหลงเพลิดเพลิน กลับมีสติน้อยกว่ามนุษย์ลงไปอีก มนุษย์อาจจะเดินตามรอยเทวดาในแง่นี้ก็เป็นได้)

1เหตุการณ์ร้ายแรงมากที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ก่อนต้นฉบับหนังสือนี้เข้าโรงพิมพ์ คือกรณีเรือบรรทุกน้ำมัน Exxon Valdez ของสหรัฐอัปปางที่อลาสกา เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๒ เป็นเหตุให้น้ำมันรั่วไหลลงไปในทะเล ประมาณ ๔๕ ล้านลิตร ซึ่งสหรัฐฯเองกล่าวว่าเป็นอุบัติภัยประเภทนี้ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ทำให้ชีวิตในมหาสมุทรสูญสิ้นไปเหลือคณนา เป็นตัวอย่างความผิดพลาดของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ซึ่งเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมในด้านคุณภาพของคน และเป็นความเสื่อมโทรมของคุณภาพด้านจริยธรรม เพราะกับตันเรือผู้เป็นต้นเหตุของหายนภัยครั้งนี้ สั่งงานด้วยความประมาทเลินเล่อ เนื่องจากดื่มสุรามาก ทำให้มองเห็นว่า ถ้าไม่สามารถพัฒนาคุณภาพของคนในด้านจริยธรรมขึ้นไปให้ทันกับความเจริญทางเทคโนโลยี ยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ความเสื่อมคุณภาพของคนในด้านจริยธรรมก็จะยิ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ร้ายแรงได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

2เรื่องราวตอนนี้ ดู Kurt Finsterbusch, Sociology 88/89 (Connecticut: The Dushkin Publishing Group, Inc., 1988) [เฉพาะคำพูดที่ยกมาอ้าง ดูที่ p.215]
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง