ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ประเทศชาติไม่มีทางพัฒนา
ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพ

เวลานี้มีคนพูดเป็นคติในเรื่องเทพเรื่องไสยว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” นั้นก็ถูกต้อง ไม่ได้ปฏิเสธ พุทธศาสนิกชนไม่ใช่แค่ไม่ลบหลู่ แต่ถึงกับแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาด้วยซ้ำไป คำว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ถูกต้องแล้ว แต่จะต้องเติมต่อให้เต็มว่า “ถึงเชื่อก็ต้องเรียนรู้” และ “ถึงไม่ลบหลู่ก็ไม่รอความช่วยเหลือ”

มนุษย์ต้องไม่รอคอยความช่วยเหลือจากเทวดา แต่ต้องรีบทำการตามเหตุปัจจัยให้เต็มความสามารถ มิฉะนั้นมนุษย์ก็จะไม่พัฒนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน ถ้ามนุษย์ไม่เพียรพยายามทำการให้สำเร็จ ก็คือไม่พัฒนาตัวเอง แล้วก็จะจมอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหน แต่ถ้าเราสู้ปัญหา เจอปัญหาไม่โยนไปให้เทวดาแก้ ตัวเองพยายามคิดแก้ การคิดแก้นั้นก็จะทำให้เกิดปัญญา กว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ ตัวเองก็ได้พัฒนาไปมาก ปัญญาก็เกิดขึ้นมาก ถ้าเรายังคิดไม่สำเร็จ ลูกของเราก็มาคิดต่อ ลูกคิดไม่สำเร็จ หลานก็มาคิดต่อ สังคมก็มีการพัฒนา สังคมที่จะพัฒนามาได้ก็เพราะเจอปัญหาแล้วพยายามดิ้นรนหาทางแก้ไขกันมา

ในการพัฒนาสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนา ขอสรุปจุดเน้นที่การพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้

1. ถือหลักทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า หลักกรรม

2. ถือหลักเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป ทั้งทางพฤติกรรม ทางจิตใจ และทางปัญญา ที่เรียกว่า หลักไตรสิกขา

3. ถือหลักทำการทั้งหลายอย่างเร่งรัดไม่รอเวลาด้วยความไม่ประมาท ที่เรียกว่า หลักอัปปมาท

4. ถือหลักทำตนให้เป็นที่พึ่งเพื่อพึ่งตนเองได้และเป็นอิสระ ที่เรียกว่า หลักอิสรภาพแห่งการพึ่งตนได้

หลักการดังกล่าวมานี้ ชาวพุทธต้องถือปฏิบัติอย่างจริงจังมั่นคง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในสังคมต้องพยายามช่วยกันแก้ปัญหา การช่วยกันแก้ปัญหาจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง