นิติศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๑ -
หลักการพื้นฐาน

กฎหมาย ต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรม

เรามาดูกันว่า ในพระพุทธศาสนา กฎหมายคืออะไร คำที่ใกล้ที่สุด ตรงที่สุด ก็คือคำว่า “วินัย” แต่จะเห็นได้ชัดว่า คำว่าวินัยไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่กิจการของรัฐเท่านั้น ถ้าจะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธจะต้องเข้าใจเรื่องวินัยให้ชัดเจน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องวินัยก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นนิติศาสตร์แนวพุทธได้

วินัย คืออะไร แน่นอนว่าวินัยไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย “วินัย” ในภาษาไทยมีความหมายแคบ เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับในการปฏิบัติกิจหน้าที่ และการเป็นอยู่

แต่วินัยในความหมายของพระพุทธศาสนา ในชั้นแรกนี้จะให้ความหมายไว้เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจว่า “วินัย” แปลง่ายๆ ว่า “การจัดตั้งวางระบบแบบแผน”

วินัยเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้จะต้องมองดูวินัยในฐานะเป็นองค์ประกอบใหญ่อย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาทั้งหมดมีองค์ประกอบใหญ่อยู่เพียง ๒ อย่างเท่านั้น และ ๒ อย่างนี้รวมกันเป็นชื่อของพระพุทธศาสนา

คำว่า “พระพุทธศาสนา” ที่เราเรียกกันปัจจุบันนี้ เป็นคำใหม่ ในสมัยพุทธกาลก็มี แต่ใช้ในความหมายว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้า” เวลานี้คำว่าพระพุทธศาสนาขยายความหมายออกไปจนกลายเป็นสถาบัน และเป็นกิจการทุกอย่าง แล้วเราก็ลืมศัพท์เดิมที่มีความหมายสำคัญกว่า ซึ่งใช้ในสมัยพุทธกาล คือ คำว่า “ธรรมวินัย” ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็เรียกว่า ธรรมวินัยนี้ หรือธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว

ธรรมวินัย มาจากคำคู่ คือ ธรรม กับ วินัย แล้วรวมกันเป็นเอกพจน์ คือสองอย่างแต่รวมเป็นอันเดียว นี้คือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เราจะต้องมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองคำนี้ คือคำว่า ธรรม กับ วินัย แล้วจะเห็นหลักการของพระพุทธศาสนาทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เรื่องของกฎหมาย หรือเรื่องนิติศาสตร์ในพระพุทธศาสนา ก็มาดูที่ความหมายของวินัย และความสำคัญของวินัย ที่อยู่ในหลักการที่เรียกว่าธรรมวินัย นั้น

ทีนี้ก็ย้อนไปดูว่าธรรมวินัยนั้นเป็นมาอย่างไร เริ่มต้นก็มีธรรมอยู่ก่อน (คือมีอยู่เป็นประจำตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน หรือมีอยู่แล้วแต่เดิม) ธรรม คือความจริงในธรรมชาตินั่นเอง หลักการของพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า

“ตถาคต(คือพระพุทธเจ้า)จะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม หลักความจริงก็คงอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา . . . ตถาคตทั้งหลายค้นพบหลักความจริงคือตัวธรรมนี้แล้ว จึงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจง่าย”     (ดู องฺ.ติก. ๒๐/๕๗๖)

นั่นคือจุดตั้งต้นของพระพุทธศาสนาที่ว่า ธรรมมีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ขึ้นต่อพระพุทธเจ้าเลย

ธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เราอาจจะแปลได้หลายอย่าง เช่นแปลว่า ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมชาติและธรรมดานี่เอง ธรรมชาติ คือสิ่งต่างๆ ธรรมดา คือความเป็นไปของธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนี้แล้ว ก็ทรงนำมาเปิดเผยแสดงสั่งสอน

ความจริงนี้เป็นกฎธรรมชาติ เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เหตุอย่างใดก็ก่อให้เกิดผลอย่างนั้น หรือเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดผลขึ้นมา

มนุษย์จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมคือความเป็นจริงแห่งเหตุปัจจัยนี้ก็ทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามนุษย์ไม่รู้ ก็ไม่สามารถเอาประโยชน์จากมันได้ และถ้ามนุษย์ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงนี้ ก็เกิดผลเสียแก่ตนเอง แต่ถ้ามนุษย์ปฏิบัติถูกต้อง และดำเนินชีวิตด้วยความรู้เข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ คือความเป็นจริงอันนี้ ผลดีก็ได้แก่ตัวมนุษย์เอง

ทำอย่างไรมนุษย์จะประพฤติปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตได้ดี ก็ต้องรู้ความจริง ถ้ามนุษย์รู้ธรรมคือรู้ตัวความจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในธรรมชาตินี้เมื่อใด เขาก็จะสามารถเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้

ตัวอย่างเช่น เขาต้องการจะกินผลมะม่วง เขาเห็นต้นมะม่วง จะกินผลก็เก็บเอา แต่ต่อมาถ้าเขารู้ว่ามะม่วงที่จะเกิดมาเป็นผลสุกให้เรารับประทานได้นั้นเกิดจากต้นไม้นี้ ซึ่งก่อนนั้นต้องโตมาจากเมล็ด และชอบที่ดินอย่างนั้น ต้องอาศัยปุ๋ย อาศัยน้ำ อุณหภูมิ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ถ้ามนุษย์รู้อย่างนี้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องคอยไปหาต้นมะม่วงที่อยู่ไกล เขาจะสามารถปลูกต้นมะม่วงในสวนของตนเองได้ ถึงตอนนี้มนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาติหรือธรรม การรู้ธรรมจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เช่นมีธาตุต่างๆ มารวมกัน มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักมันก็ปฏิบัติต่อชีวิตไม่ถูก แม้แต่กินอาหาร ก็กินไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากอาหารเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงค้นพบธรรมนี้ พระองค์ทรงเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรมนี้เต็มที่ โดยทรงนำเอาธรรมมาประพฤติปฏิบัติตาม จึงทรงพัฒนาพระองค์เองขึ้นมาจนเป็นพุทธ และทรงเห็นคุณประโยชน์ของการรู้ธรรมนี้จึงทรงนำไปสั่งสอนผู้อื่น

อย่างไรก็ดี การที่จะสั่งสอนให้ได้ผลดีจะทำอย่างไร หมู่มนุษย์จำนวนมากๆ ถ้าไปสอนทีละคนก็ได้ทีละนิดละหน่อย กว่าจะสำเร็จสักคนหนึ่งพระองค์ก็เหนื่อยแน่ เดินทางไปเป็นวันๆ และได้ทีละเล็กทีละน้อย ตลอดพระชนมชีพคงไม่ได้กี่คน ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ประโยชน์แก่คนจำนวนมาก ก็ต้องมีวิธีการ

วิธีการก็คือการจัดตั้ง โดยทำให้มีระบบการที่มนุษย์จะมารวมตัวกันเป็นชุมชน และมีระเบียบแบบแผนในการเป็นอยู่ตลอดจนการดำเนินกิจการ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นได้ประโยชน์จากธรรม หรือจากการสอนของพระองค์อย่างเต็มที่ พระองค์จึงทำการจัดตั้ง และวางระบบแบบแผนในทางสังคมขึ้นมา การจัดตั้งนี้ก็คือตั้งเป็นชุมชนที่เรียกว่า “สังฆะ”

สังฆะ นั้นไม่ใช่บุคคล ในภาษาไทยเรามองคำว่าสงฆ์นี้เป็นตัวพระภิกษุไป ความจริงคำว่า “สงฆ์” หมายถึง หมู่ หรือ ชุมชน หมายความว่า ต้องมีคนจำนวนหนึ่งมารวมกัน ไม่ใช่คนเดียว ภาษาไทยนี้สับสน เราเรียกพระองค์เดียวว่าพระสงฆ์ไปแล้ว ก็เลยใช้กันจนติดแล้วก็ทำให้เกิดปัญหาในบางครั้ง แต่ตัวสงฆ์ที่แท้จริงก็คือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมา

เมื่อตั้งเป็นชุมชนขึ้นมาแล้ว และเมื่อคนที่มารวมกันเข้ามีระเบียบแบบแผนในความเป็นอยู่และการสัมพันธ์กัน คือมีวินัย ธรรมก็จะเข้าถึงประชาชนหรือหมู่ชนได้จำนวนมาก ไม่ใช่เป็นประโยชน์ทีละน้อย

เป็นอันว่า เดิมนั้นก็มีธรรม แต่เพื่อให้คนหมู่ใหญ่ได้ประโยชน์จากธรรม จึงมีวินัย ขึ้นมาจัดสรรความเป็นอยู่ของหมู่มนุษย์ให้เกิดมีโอกาสอันดีที่สุด ที่จะใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

รวมความว่า วินัย ก็คือการจัดโครงสร้างวางระบบแบบแผนของชุมชนหรือสังคม เพื่อให้หมู่มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน โดยมีความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ที่ดีงาม ที่จะให้ได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง จุดหมายที่แท้ก็คือ ให้หมู่มนุษย์จำนวนมากได้ประโยชน์จากธรรม

การที่พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เราเรียกเต็มๆ ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ก็เพราะพระองค์ทรงมีความสามารถ ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ สามารถเข้าถึงตัวความจริง ที่เรียกว่า ธรรม

ชั้นที่ ๒ นอกจากรู้ความจริงแล้ว ยังสามารถนำเอาความจริงนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ ด้วย วินัย

ความสามารถขั้นที่สองนี้ ก็คือการที่สามารถจัดตั้งวางระบบชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ขึ้นมาด้วยวินัย เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ

ส่วนท่านผู้ใดสามารถรู้เข้าใจถึงความจริงคือธรรมด้วยปัญญาของตนเอง แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เรียกว่า วินัย ให้มีสงฆ์เป็นชุมชนคนหมู่ใหญ่ขึ้นมาที่จะได้ประโยชน์จากธรรมนี้ ท่านผู้นั้นก็เป็นพระพุทธเจ้าอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า คือผู้รู้เฉพาะตน

เพราะฉะนั้น การจัดตั้งวางระบบที่เรียกว่า วินัย นี้ได้ จึงถือว่าเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ว่า ไม่เฉพาะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเอาความจริงของธรรมชาตินั้นมาทำให้เกิดประโยชน์แก่หมู่ชนจำนวนมากได้ด้วย อันนี้เป็นความสามารถขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เรื่องที่ว่ามานี้ทำให้มีเหตุผลโยงกันด้วยในแง่ที่ว่า ถ้าจัดตั้งวางระบบแบบแผนโดยไม่มีธรรมคือความจริงที่แท้เป็นฐานแล้ว การจัดตั้งนั้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้น วินัย คือการจัดตั้งของมนุษย์จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือตัวความจริงที่แท้ และต้องอาศัยปัญญาที่รู้ความจริงนั้นมาจัดตั้ง

เพราะฉะนั้น เบื้องหลังวินัย ก็คือหลักการแห่งธรรม ที่เป็นความจริงแน่แท้อยู่ในธรรมดาของธรรมชาติ เป็นหลักการอันสูงสุด ทั้งโดยตัวมันเอง และโดยเป็นสาระและเป็นจุดหมายของวินัย ไม่มีใครสูงเหนือธรรม พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักการว่า ธรรมสูงสุดในโลก ธรรมสูงสุดในสังคมมนุษย์ (ที.ปา.๑๑/๗๑/๑๐๗)

สำหรับผู้นับถือเทพเจ้า ธรรมก็เป็นมาตรฐานตัดสินบรรดาเทพเจ้า ตลอดจนพระพรหม หมายความว่าธรรมย่อมเหนือเทพ แม้แต่จะนับถือกรรมโดยเชิดชูกรรมที่เป็นบุญ ธรรมก็เป็นมาตรฐานตัดสินกรรมและความเป็นบุญนั้น

พระพุทธเจ้าทรงเคารพธรรม (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑/๒๕) และทรงจัดตั้งวางระบบแห่งวินัยขึ้นบนฐานแห่งธรรมนั้น และเมื่อสงฆ์ที่ตั้งขึ้นด้วยวินัยนั้นขยายใหญ่โตขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์ และทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์ โดยที่สงฆ์นั้นก็เกิดมีขึ้นจากธรรม เป็นสงฆ์เพราะธรรม และมีอยู่เพื่อความปรากฏแห่งธรรมในโลก

นักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “จักรพรรดิ” ผู้เป็นธรรมราชา ก็ต้องเคารพธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ จัดดำเนินการปกครองโดยธรรม (ที.ปา.๑๑/๓๕/๖๔) เช่นเดียวกัน

โดยนัยนี้ ธรรม จึงเป็นทั้งฐานของวินัย และเป็นทั้งจุดหมายของวินัย

๑. ที่ว่าเป็นฐาน หมายความว่า ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ จึงจะสามารถมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมนั้นได้ ถ้าไม่รู้ การจัดตั้งก็ผิดพลาดหรือไร้ความหมาย

๒. ที่ว่าเป็นจุดหมายคือ การที่ให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน และมีการจัดตั้งระเบียบแบบแผนทั้งหมดนั้น ก็เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง

ดังนั้น ธรรมจึงเป็นทั้งเบื้องต้นและที่สุดแห่งวินัย ถ้าปราศจากธรรม วินัยก็ไม่มีความหมาย ไร้ประโยชน์ แต่ถ้ามีแต่ธรรมเป็นของจริงตามธรรมชาติ แม้จะมีคนที่รู้ธรรมแต่ไม่สามารถมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่ได้ ธรรมนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่มีอยู่เป็นความจริง ดังนั้นสองอย่างนี้จึงต้องอิงอาศัยกัน เมื่อครบทั้งสองอย่างจึงเป็นพระพุทธศาสนา

ในเรื่องนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดถึง ธรรม เราจะใช้คำว่า “แสดง” เพราะธรรมเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เราเพียงแต่ไปรู้และแสดงมัน แต่ถ้าพูดถึง วินัย จะใช้คำว่า “บัญญัติ” เพราะเป็นเรื่องที่มนุษย์จัดตั้งหรือทำขึ้นมา

ขอย้ำว่า ธรรมไม่ใช่ของมนุษย์ทำขึ้น แต่เป็นของมีอยู่ตามธรรมดา ส่วนวินัยเป็นของที่มนุษย์จัดตั้งขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม และพูดว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย

อย่างไรก็ดี คำว่าบัญญัติที่ใช้กับ “ธรรม” ก็มีบ้าง แต่ใช้เป็นคำประกอบ โดยมีความหมายว่า จัดวางหรือนำเสนอในรูปลักษณะที่จะเอื้อต่อการรู้เข้าใจ แต่สำหรับ “วินัย” จะใช้คำว่า บัญญัติ เป็นคำหลักเลยทีเดียว

เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายหรือวินัย กับธรรมที่เป็นความจริงในกฎธรรมชาตินี้ จะนำไปสับสนกับคติของฝรั่งในเรื่อง natural law และ natural rights ไม่ได้ เพราะเป็นคนละแบบกันเลย

พวกฝรั่งมีคติเกี่ยวกับกฎหมายตามสายหรือสำนักต่างๆ ซึ่งมีแนวความคิดหลายแบบ เช่น พวกหนึ่งถือว่ามี natural law คือ กฎหมายตามธรรมชาติ และมี natural rights คือมีสิทธิตามธรรมชาติด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ตรงกับเรื่องธรรมกับวินัยที่ได้พูดไปแล้วแต่ประการใด

กฎมนุษย์ต้องไม่แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ

ตอนนี้เรากลับมาพูดเรื่องธรรมกับวินัยอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันว่า เรามีความจริงตามธรรมชาติที่เรียกว่า ธรรม กับการจัดตั้งของมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ

ข้อสังเกตสำคัญในที่นี้คือ เรื่องวินัยและเรื่องกฎหมายนี้เป็นเรื่อง “สมมติ” แต่สมมติไม่ใช่เรื่องเหลวไหล สมมติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในภาษาไทยเราใช้คำนี้ในความหมายที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ในภาษาพระ สมมติเป็นเรื่องใหญ่ ถึงกับจัดเป็นสัจจะประเภทหนึ่ง

ในทางพุทธศาสนามีหลักว่า สัจจะ มี ๒ อย่าง คือ

๑. สัจจะที่เป็นความจริงแท้แน่นอนมีอยู่ในธรรมชาติ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ (สัจจะโดยเนื้อแท้) และ

๒.สัจจะที่เป็นความจริงตามความตกลงยอมรับร่วมกันของหมู่มนุษย์ เรียกว่า สมมติสัจจะ (สัจจะโดยสมมติ)

ตามหลักสัจจะสองอย่างนี้ เราก็มีกฎธรรมดาของธรรมชาติ กับกฎสมมติของมนุษย์ ธรรมเป็นกฎธรรมชาติ เพราะมันเป็นความจริงแห่งความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาของมัน ส่วนกฎหมายนี้เป็นกฎมนุษย์

ควรทราบว่า กฎธรรมชาติ กับกฎมนุษย์นี้ สัมพันธ์กันอย่างไร

มนุษย์เราตามปกติจะทำกิจกรรมใดก็ตาม ย่อมมีความมุ่งหมาย คือต้องการผลของมัน เราต้องการผลสักอย่างหนึ่ง เราก็ทำกิจกรรมที่เป็นเหตุให้ได้ผลนั้น อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เมื่อยังไม่มีการจัดตั้งวางระบบสังคมขึ้นมาก็ดำเนินชีวิตอย่างนั้น ทำไปตามธรรมชาติ ผลที่เกิดตามเหตุในธรรมชาตินั้น ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าเขาไม่รอให้ต้นไม้มันงอกเอง เขาจะทำอย่างไร เขาก็ปลูกต้นไม้ เช่นเอาเม็ดมะม่วงมา แล้วเขาก็ขุดดิน เอาเม็ดมะม่วงลง กลบดินแล้วก็รดน้ำเป็นต้น เมื่อปลูกต้นไม้มากๆ ก็เรียกว่าทำสวน

การทำสวนนี้เป็นเหตุ และจะทำให้เกิดผลคือต้นไม้เจริญงอกงาม อันนี้คือเหตุและผลตามกฎธรรมชาติ พูดย้ำว่า การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล นี้เป็นความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรม

เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม เราก็จัดตั้งระบบแบบแผนขึ้นในสังคมแล้วมีวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา เราบอกว่าเราต้องการให้มีสวนดอกไม้สวยงามที่นี่ เราก็ใช้ระบบระเบียบในสังคมมาช่วยให้มีสวนตามที่ต้องการ โดยให้คนๆ หนึ่ง หรือจำนวนหนึ่ง มาทำหน้าที่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะให้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงใยเรื่องอื่น เราก็จ้างคนมาทำสวน และเราก็ให้เงินเดือนเขา

ในสังคมที่มีอารยธรรมแล้วก็จะมีการปฏิบัติเช่นนี้ แทนที่ว่าทุกคนจะต้องไปทำสวนเอง เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนขึ้น มีการตั้งเงินเดือนและบอกว่าคุณมาทำสวน ฉันจะให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็เกิดมีกฎของมนุษย์ขึ้นว่า การทำสวนเป็นเหตุและการได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล เป็นกฎขึ้นมาให้เห็นเหตุเห็นผลจริงๆ คือ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล ไม่มีใครเถียง เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ

แต่ถามอีกชั้นหนึ่งว่า จริงแน่หรือไม่? การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี้จริงแท้หรือไม่ ตอบว่าจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่แท้แล้วไม่จริง การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเกิดขึ้นมีที่ไหนในโลก ไปขุดดินทำสวนแล้วเงินเกิดขึ้นมา ๕,๐๐๐ บาทเป็นไปได้ที่ไหน ที่แท้นั้นกฎนี้เป็นกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาโดยการ “สมมติ”

สมมติ แปลว่า มติร่วมกัน มาจากคำว่า สํ (ร่วมกัน) + มติ (การยอมรับหรือตกลง) เพราะฉะนั้น สมมติจึงแปลว่า ข้อตกลงร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน

กฎของมนุษย์ที่ว่า ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี้ เป็นกฎที่ตั้งอยู่บนสมมติ คือการยอมรับร่วมกัน ถ้าสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อใด กฎนี้จะหายไปทันที เช่น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ การทำสวนก็ไม่เป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทก็ไม่เป็นผล

เพราะฉะนั้น กฎที่ว่านี้จึงไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริงในธรรมชาติ แต่เป็นกฎที่จัดวางกันขึ้นด้วยการตกลงยอมรับร่วมกันคือการสมมติของมนุษย์เอง จึงเรียกว่าเป็น กฎของมนุษย์ หรือ กฎมนุษย์

อารยธรรมของมนุษย์ได้สร้างกฎทำนองนี้ขึ้นมามากมาย เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยดี แต่ทั้งนี้เราจะต้องถามให้เกิดความชัดเจนทางปัญญาว่า ในการจัดตั้งวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นนี้ ที่แท้จริงนั้นมนุษย์ต้องการอะไร

การที่เราวาง กฎมนุษย์ ขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุให้ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ผลแท้จริงที่เราต้องการ คือผลตามกฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเจริญงอกงามของต้นไม้ อันนี้แน่นอน เราจึงเห็นความจริง ๒ ชั้น คือมีกฎ ๒ ชั้น ซ้อนกันอยู่

การทำสวนอันเดียว มีความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎซ้อนกันทีเดียว ๒ กฎ คือ

๑. กฎธรรมชาติ ที่เป็นธรรม เป็นไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย คือการทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล

๒. กฎมนุษย์ ที่เป็นกฎสมมติ เกิดจากมติร่วมกัน คือ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล

สองกฎนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะ ถ้าไม่มีความจริงตามกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ที่ว่าการทำสวนเป็นเหตุและต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลแล้ว การวางกฎมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย คือทำสวน ๑ เดือนได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็ไม่มีความหมายอะไร

แท้จริงนั้น การที่เราวางกฎสมมติของมนุษย์ ก็เพราะเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ถ้าเราไม่ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้วเราจะวางกฎมนุษย์ให้คนทำสวนได้เงินเดือนไปทำไม ทั้งนี้หมายความว่า เราวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้น ก็เพื่อสนับสนุนการทำเหตุที่จะให้เกิดผลแท้จริงตามกฎธรรมชาตินั้นเอง

ขอย้ำว่า วินัย คือการจัดตั้งวางระบบจัดระเบียบและวางกฎสมมติขึ้นมานี้ เป็นความสามารถพิเศษอันเลิศของมนุษย์ ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของพวกตนได้ประโยชน์มากที่สุดจากธรรม คือความจริงของธรรมชาติ และการวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นมา ก็เพื่อช่วยหนุนให้เกิดความมั่นใจที่จะได้ผลที่ต้องการตามกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น มนุษย์จะต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า สิ่งต้องการที่แท้คือความเป็นจริงตามธรรม

เรื่องที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แท้จริงนั้นเราต้องการผลจริงๆ ตามกฎธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ยังเข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงนี้ และยังโยงสัมพันธ์กฎสมมติของมนุษย์เข้ากับกฎธรรมชาติที่ซ้อนรองรับอยู่ได้ คือไม่ลืม ไม่มองข้ามผลที่ต้องการที่แท้จริง ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะดำรงอยู่ด้วยดี แต่เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาอารยธรรมออกไปๆ มนุษย์จำนวนมากก็ได้แปลกแยกจากธรรมชาติไปเสีย และพากันหลงสมมติ

หลงสมมติ คือติดอยู่ในกฎสมมติของมนุษย์ ไม่เข้าถึง หรือไม่สามารถเชื่อมโยงให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ถ้าความแปลกแยกจากธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ความวิปลาสทั้งของชีวิตและสังคมก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที เช่น คนทำสวนทำงานเพื่อต้องการเงินเดือนอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำให้เกิดผลตามกฎธรรมชาติ คือ การทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

เพราะฉะนั้นจะต้องถือว่า การเข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติหรือธรรมนี้ จะต้องเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากความจริงหรือธรรมนี้เมื่อใด การดำเนินชีวิตของเขาจะวิปริตทันที และสังคมก็จะไม่ได้รับผลที่ต้องการ ลองคิดดูว่า ถ้าคนสวนมาทำสวนด้วยต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท และไม่ต้องการผลที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ อะไรจะเกิดขึ้น และเรื่องนี้จะมีผลโยงไปถึงเรื่องอื่นทั้งหมด ซึ่งจะยังไม่พูดถึงในที่นี้ เพียงแต่ขอยกขึ้นมาพูดไว้เป็นตัวอย่าง

อนึ่ง การหลงสมมติเป็นโทษภัยแก่มนุษย์ฉันใด การไม่ยอมรับสมมติที่บัญญัติจัดวางขึ้นโดยชอบธรรม ก็เป็นภัยอันตรายต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์เองด้วยฉันนั้น เรื่องนี้จะได้พูดกันต่อไปข้างหน้า

พัฒนาคนให้รู้จักเคารพสิทธิกันและกัน
แต่ต้องรู้ทันว่าที่แท้มนุษย์ไม่มีสิทธิ

มนุษย์เรามีความสามารถในเรื่องวินัยนี้ เราจึงจัดโครงสร้างวางระบบตั้งกฎระเบียบในการจัดแจงจัดสรรสังคมขึ้นมามากมาย และพัฒนาอารยธรรมขึ้นได้ จนกระทั่งมนุษย์ถึงกับตกลงกันให้พวกตนมีสิทธิ แม้แต่จะเป็นเจ้าของและจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา เช่น แผ่นดิน ก็นำมาแบ่งกันโดยกำหนดให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกิดขึ้น เอาแผ่นดินมาจัดสรร บัญญัติว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของคุณ ที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน จะละเมิดกันไม่ได้ โดยมีกฎหมายเข้ามารองรับ ถ้าละเมิดกันก็มีการลงโทษตามกระบวนการของกฎหมายนั้น

กฎหมายจึงเป็นเครื่องแสดงการยอมรับสิทธิหรือเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดมีสิทธินั้นขึ้น และกฎหมายก็เป็นเครื่องมือคุ้มครองสิทธิของบุคคล ตลอดจนคุ้มครองกิจการต่างๆ ของคน แต่ไปๆ มาๆ มนุษย์ก็อาจจะลืมความจริงที่แท้ของธรรมชาติไปเลย จนบางที เมื่อมนุษย์ต่างอารยธรรม ต่างวัฒนธรรมมาพบกัน ก็มีเรื่องแปลกๆ

ตัวอย่างเช่น เรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๑๔๑ ปีล่วงมาแล้ว (พ.ศ. ๒๓๙๘) ประธานาธิบดีอเมริกา ชื่อว่าแฟรงคลิน เพียซ ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากพวกอินเดียนแดงเผ่าหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้าชื่อว่า ซีแอตเติล (Seattle) ซึ่งได้เป็นที่มาของชื่อเมืองใหญ่ ในรัฐวอชิงตัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

ตอนนั้นดินแดนนี้เป็นของอินเดียนแดงเผ่าของซีแอตเติล เมื่อประธานาธิบดี เพียซ ติดต่อขอซื้อไป ก็ได้รับคำตอบจากอินเดียนแดงว่า

“ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาซื้อขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาดสำหรับพวกเรา” (Gore, 359)

เวลานี้เรายึดถือกันเหลือเกินใช่ไหม ที่ดินนี้เป็นของฉัน ฉันมีกรรมสิทธิ์ และก็รู้สึกกันว่าเป็นความจริงอย่างนั้นจริงๆ แต่เมื่อมนุษย์ที่เราเห็นว่ายังไม่มีอารยธรรมมาได้ยินได้ฟังเรื่องอย่างนี้เข้า เขารู้สึกแปลกประหลาด อินเดียนแดงเหล่านี้นึกไม่ออกว่ามนุษย์มีการนำแผ่นดินผืนฟ้ามาขายกันได้อย่างไร

ต่อไป นอกจากเอาแผ่นดินมาแบ่งกันแล้ว มนุษย์ก็จะขายผืนฟ้ากันจริงๆ ด้วย เช่น อาจจะมีการเช่าที่ตั้งสถานีอวกาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมติขึ้นทั้งสิ้น สมัยก่อน ตอนที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ ขอซื้อที่ดินจากพวกอินเดียนแดงนั้น คนอเมริกันย่อมรู้สึกดูถูกคนอินเดียนแดงมาก ว่าคนพวกนี้ไม่มีสติปัญญา โง่เขลาเหลือเกิน ไม่มีอารยธรรม ไม่รู้จักเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

แต่มาบัดนี้ ความคิดของอินเดียนแดงกลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ เพราะว่ามนุษย์ยุคนี้มาประสบปัญหาจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม แล้วเห็นกันว่าการกระทำของมนุษย์ที่เบียดเบียนธรรมชาติ ที่จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจนั้น ได้เป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ทำให้เกิดมลภาวะเป็นต้น ปรากฏว่าคนอเมริกันยุคนี้กลับไปยกวาทะของอินเดียนแดงผู้นี้มายกย่องสรรเสริญกัน

ตัวอย่างเช่น รองประธานาธิบดี Al Gore คนปัจจุบันนี้ เมื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเรื่อง Earth in the Balance ก็ยกถ้อยคำหรือวาทะของอินเดียนแดงคนนี้มาอ้างอิง (Gore, 359) เหมือนดังจะเยาะเย้ยความคิดของชาวอเมริกันผู้เจริญแล้ว ที่หลงไปตามสมมติ และยอมรับว่าความคิดความเข้าใจของพวกอินเดียนแดงนั้นสอดคล้องตรงตามความจริงของธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น เรื่องสิทธิเป็นต้น ตามที่บัญญัติในกฎหมาย จึงเป็นเรื่องของการที่มนุษย์มาตั้งกฎเกณฑ์กันขึ้น เพื่อประโยชน์ในหมู่มนุษย์ของเรา จนหลงเพลินไปว่าเรามีความชอบธรรมที่จะไปจัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา แต่ตามความจริงสิทธิอย่างนี้มีหรือไม่ เช่น ที่ฝรั่งพวกหนึ่งบอกว่ามนุษย์มีสิทธิตามธรรมชาตินั้น ในทัศนะของพระพุทธศาสนาว่าเป็นความสับสน

จะต้องเข้าใจว่า ความจริงตามธรรมชาติก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้น เช่น การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่มนุษย์นั้นมีสติปัญญา เมื่อรู้ความจริงนั้นแล้ว และต้องการจะให้ชีวิตและกิจการงานของตนอยู่ได้ด้วยดีภายใต้กฎธรรมชาตินั้น ก็นำความรู้ในกฎธรรมชาติมาจัดสรรวางระบบแบบแผนขึ้นในสังคมของตน เพื่อให้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาตินั้นเกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน ด้วยการตกลงกันวางข้อกำหนดขึ้น เช่นการกำหนดให้มีสิทธิต่างๆ ขึ้นมา แต่ทั้งนี้จะต้องมีความรู้ตระหนักในความจริงว่า มันเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ตกลงกัน ไม่ใช่ความเป็นจริงในธรรมชาติ

สมมติว่า เราตกลงกันว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉัน หรือของคนนั้นคนนี้ ก็เกิดเป็นสิทธิขึ้นมา แต่สิทธิที่ว่านั้นเป็นเรื่องที่จะใช้อ้างกันได้ในหมู่มนุษย์เท่านั้น จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติไม่ได้ เราจะบอกว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของฉันแล้ว ทุกอย่างในที่นี้จะต้องเชื่อฟังฉัน ฉันปลูกอะไรแกจะต้องงอก อันนี้จะเอาไปอ้างกับธรรมชาติโดยไม่ทำเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ก็เป็นไปไม่ได้ การอ้างสิทธินั้นจะไม่สำเร็จผลเลย ธรรมชาติจะไม่ฟัง

เรื่องของธรรมชาติก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คุณต้องการอะไรคุณก็ต้องทำให้ถูกตามเหตุปัจจัย ถ้าคุณทำไม่ถูกตามเหตุปัจจัยก็ไม่เกิดผลที่คุณต้องการ

เราจะบอกว่าต้นมะม่วงต้นนี้เป็นต้นไม้ของฉัน เกิดในที่ดินของฉัน ฉันมีสิทธิจัดการได้ แกต้องฟังฉัน แกต้องงอกงาม แกต้องออกผลมากให้ได้เท่านี้ในฤดูนี้ปีนี้ ให้ฉันมีรายได้เท่านี้ ฯลฯ การอ้างสิทธิกับธรรมชาติอย่างนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ มนุษย์จะต้องทำตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติทั้งสิ้น

ดังนั้น มนุษย์จึงจะต้องรู้จักแยกระหว่างความจริงตามกฎธรรมชาติ กับความจริงที่มนุษย์มาตกลงกันวางขึ้น เพราะว่าแม้แต่ชีวิตของมนุษย์เอง ในแง่ของกฎธรรมชาติมนุษย์ก็ไม่มีสิทธิอะไร เราจะบอกว่าฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน ก็ไม่มีผลอะไร ถ้าไฟไหม้จะมาถึงตัว ไม่ยอมหนี จะอ้างสิทธิกับไฟว่า “ฉันมีสิทธิในชีวิตของฉัน แกไม่มีสิทธิจะทำอะไรฉัน” ไฟก็ไหม้เอาเท่านั้น หรือลองเข้าป่าไปพบเสือแล้วไปยืนอ้างสิทธิบอกกับเสือว่า “ข้าเป็นเจ้าของชีวิตของข้า ข้ามีสิทธิในชีวิตของข้า” บอกกับเสือ เสือก็ไม่ฟัง มันก็งับกินเท่านั้นเอง

แม้แต่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เราจะอ้างสิทธิในชีวิตของเรากับธรรมชาติ ก็ไม่มีผลอะไร แต่เราจะต้องปฏิบัติ หรือดำเนินชีวิตของเราให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติ เราต้องรักษาสุขภาพของเรา เราต้องกินอยู่หลับนอน ต้องทำกิจกรรมทั้งหลายให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตรงตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าเราไม่ทำตามนั้น จะอ้างสิทธิต่อธรรมชาติ ก็ไม่อาจได้รับผลที่ต้องการ

ในโลกยุคต่อไป ปัญหาเรื่องสิทธิจะซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังเช่นปัญหาที่เกิดจากความเจริญทางเทคโนโลยี ทางด้านการแพทย์ และทางด้านข่าวสารข้อมูล เป็นต้น อย่างที่เป็นปัญหามากขึ้นๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องสิทธิในการเกิด สิทธิในการให้กำเนิด สิทธิในการตาย สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์ กับสิทธิที่จะมีชีวิตที่มีสุขภาพดีของมารดาผู้ถือว่าตนเป็นเจ้าของครรภ์ เพราะฉะนั้น การเข้าใจความจริงที่ทำให้แยกได้ระหว่างความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ กับความจริงตามที่ตกลงกัน(โดยสมมติ)ด้วยปัญญาของมนุษย์ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้โลกได้ประสบปัญหาจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก และตระหนักเห็นภัยจากการทำลายธรรมชาติ เนื่องจากปัญหาและความตื่นตัวในเรื่องนี้ ก็ได้มีบุคคลและกลุ่มชนที่เริ่มตั้งข้อพิจารณาขึ้นมาว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายมีสิทธิในชีวิตของมันหรือไม่ และบางคนก็ลงความเห็นว่า “มี”

เมื่อตกลงว่าสัตว์ดิรัจฉานมีสิทธิในชีวิตของมัน ก็มีเรื่องที่มนุษย์จะต้องแก้ปัญหาในหมู่พวกตนตามมาอีกมาก เช่น นาย ก. เป็นเจ้าของเล้าหมู เลี้ยงหมูไว้ฆ่าขายเนื้อจำนวนมาก นาย ข. เห็นว่าหมูมีสิทธิในชีวิตของมัน จึงลอบไปปล่อยหมูออกจากเล้า ตำรวจจับนาย ข. ฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของนาย ก. แต่นาย ข. อ้างว่าเขาไม่ได้ลักทรัพย์ เขาเพียงแต่ปล่อยหมูไปตามสิทธิของมัน (เหมือนช่วยคนที่ถูกคนอื่นกักขังไว้; แต่ก็พึงสังเกตด้วยว่า สมัยก่อนโน้น เมื่อยังมีระบบทาส เจ้าของทาสก็มีสิทธิตามสมมติที่จะจัดการกับทาส คล้ายกับที่เจ้าของเล้าหมูจะจัดการกับหมู แต่มาบัดนี้ เมื่อสังคมยกเลิกระบบทาสแล้ว การปฏิบัติต่อคนอย่างนั้นกลายเป็นความผิด กรรมสิทธิ์ต่อทาสกลายเป็นไม่มี)

เรื่องทำนองนี้คงเป็นปัญหาสำหรับนักกฎหมายในอนาคตจะวินิจฉัยกันต่อไป แต่ก็มีตัวอย่างแล้วที่รัฐฮาไว สหรัฐอเมริกา นักศึกษาชั้นบัณฑิตศึกษาผู้หนึ่งเห็นว่าปลาโลมามีสิทธิในชีวิตของมัน มันควรจะมีอิสรภาพ จึงปล่อยปลาโลมา ๒ ตัว ออกจากสถานีทดลอง ปรากฏว่าเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักทรัพย์ (ดูความคิดของชาวตะวันตกต่อเรื่องอย่างนี้ เช่น Rolston, 47 และ Howard, 132 เป็นต้น)

ขอให้สังเกตว่า แม้ใครก็ตามจะบอกว่าสัตว์มีสิทธิในชีวิตของมัน สัตว์นั้นก็คงไม่สามารถเอาสิทธินั้นไปอ้างกับใครๆ หรือกับสัตว์อื่นใด แต่สิทธิของสัตว์นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์นั่นเองจะนำไปอ้างต่อมนุษย์ด้วยกัน ในการที่จะปฏิบัติต่อสัตว์นั้นๆ ตามที่พวกตนตกลงกัน

เป็นอันว่า สิทธิต่อชีวิต เป็นต้น อ้างไม่ได้กับธรรมชาติ แต่อ้างได้กับมนุษย์ด้วยกันตามที่ตกลงยอมรับ นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรม กับกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า วินัย ซึ่งซ้อนกันอยู่และโยงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่แยกออกเป็น ๒ ระดับ

ถึงจะพัฒนาระบบขึ้นมาหลากหลาย
ทุกระบบต้องลงกันได้บนฐานหนึ่งเดียวแห่งธรรม

ดังได้กล่าวแล้วว่า กฎของมนุษย์คือวินัย ต้องอิงอยู่บนความจริงของธรรมชาติคือธรรม และมีไว้ก็เพื่อเข้าถึงและได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาตินั่นเอง ความหมายของวินัย ซึ่งรวมทั้งกฎหมายก็อยู่ที่นี่

แต่ตามที่กล่าวแล้วว่า วินัยคือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เป็นสมมตินี้ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ไม่มีในหมู่สัตว์อื่น มนุษย์มีความสามารถพิเศษเช่นนี้ จึงสร้างสรรค์วัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมาได้ โลกของมนุษย์จึงเป็นแดนของสมมติ

แต่มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อเราบอกว่า ธรรม (คือความจริง เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นนี้) เป็นฐานของวินัย (คือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ทุกอย่าง) เพราะฉะนั้น การที่จะให้กฎของมนุษย์ได้ผลจริง ระบบต่างๆ จึงต้องประสานโยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

เวลานี้ เมื่อมนุษย์เรามีอารยธรรมเจริญมากขึ้น เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมมากขึ้น โดยแยกเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง และระบบสังคมด้านต่างๆ มากมาย

การที่เรามีระบบเหล่านี้จัดแยกออกไปเป็นหลายด้าน ก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ และในการที่จะศึกษาได้ลึกละเอียด แต่ที่จริงนั้นกฎธรรมชาติคือความจริงที่รองรับระบบเหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นความจริงอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้กฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงระบบแบบแผนต่างๆ ในสังคมมนุษย์ ได้ผลอย่างแท้จริง ระบบเหล่านั้นจะต้องประสานเป็นอันเดียวกันได้ บนฐานแห่งความเข้าใจในความจริงตามกฎธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวนั้น

ปัญหาของโลกมนุษย์ในปัจจุบันนี้ก็คือ มนุษย์ต่างคนต่างคิดและวางระบบตามความคิดที่แยกส่วนแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ ของตน ทำให้มีระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครองเป็นต้น หลายรูปหลายแบบ โดยที่ระบบเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง และมนุษย์ยิ่งเจริญขึ้น ก็ดูเหมือนว่าระบบและทฤษฎีต่างๆ จะยิ่งแยกเป็นเฉพาะส่วนเฉพาะด้านออกไปๆ และก็ยิ่งไม่ชัด หรือถึงกับไม่คำนึงว่าทฤษฎีเหล่านั้นได้เข้าถึงธรรมคือความจริงในกฎธรรมชาติหรือไม่

ทฤษฎี ก็คือการพยายามที่จะเข้าถึงความจริงที่เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม นั้น และจากทฤษฎีก็ไปจัดโครงสร้างวางระบบตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นในสังคม แต่ถ้าทฤษฎีไม่เข้าถึงธรรมคือความจริง ระบบที่เขาจัดตั้งขึ้นบนฐานของทฤษฎีนั้น ก็ไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืน คือไม่สามารถสร้างผลสำเร็จตามที่ต้องการได้ และจะเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระบบต่างๆ ในสังคมเดียวกันตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง ต่อมาระบบเหล่านี้ก็จะขัดแย้งกัน เช่น ระบบเศรษฐกิจไปทางหนึ่ง ระบบการเมืองไปทางหนึ่ง ระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ เช่นระบบการจัดการศึกษาไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคิดว่าสภาพในปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ด้วย และเมื่อเป็นอย่างนั้น ระบบต่างๆ ก็จะขัดแย้งกันบ้าง ชักพาไขว้เขวไปคนละทิศละทางบ้าง ตัวมนุษย์เองมีความขัดแย้งกันในระบบบ้าง แล้วการดำเนินชีวิตและกิจการของมนุษย์ก็จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น

ตัวอย่างง่ายๆ ในปัจจุบันนี้ก็คือ แม้แต่ระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองการปกครองก็เป็นปัญหากันอยู่ ระบบเศรษฐกิจหนึ่งก็จัดตั้งขึ้นตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หนึ่ง ซึ่งเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติในด้านหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าได้เข้าถึงความจริงหรือไม่ ซึ่งก็รอไม่ได้จึงต้องปฏิบัติกันไป เมื่อตกลงว่าเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนี้ ก็จัดระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ต่อมาทางด้านการปกครองก็มีทฤษฏีการปกครอง เช่น แนวคิดประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งนำมาใช้เป็นฐานในการจัดระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ในเมื่อระบบเศรษฐกิจกับระบบการปกครองมาจากฐานแห่งทฤษฎีคนละฐาน แล้วจับมาประสานกัน ปรากฏว่าฝ่ายสังคมนิยมก็อ้างว่า พวกตนก็ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย และอ้างว่าระบอบประชาธิปไตยแบบของตนเป็นประชาธิปไตยที่แท้ เช่น เป็นประชาธิปไตยของประชาชน ส่วนอีกสังคมหนึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ก็อ้างว่าพวกตนใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แล้วสองฝ่ายนี้ก็เถียงกันว่าของใครเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ของใครจะนำสังคมไปสู่สันติสุขได้จริง

เวลานี้ฝ่ายทุนนิยมเสรีชนะ ก็นำระบบสองด้านนี้มาผนวกกันว่าในด้านเศรษฐกิจใช้ระบบทุนนิยมแบบตลาดเสรี (free-market economy) ส่วนในด้านการปกครองใช้ระบบประชาธิปไตย (democracy) และบอกว่าต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมจึงจะดีที่สุด จึงผนวกสองคำนี้เป็น free-market democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี ซึ่งทำให้บางคนอาจจะหลงเพลินไปว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องเป็นตลาดเสรี คือต้องเป็นทุนนิยม

ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ความขัดแย้งในตัวระบบเองก็อาจจะมีอยู่ และที่สำคัญคือ ฝ่ายหนึ่งจะครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น แนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เข้ามาครอบงำแนวคิดของประชาธิปไตย ทำให้มองความหมายของหลักการของประชาธิปไตย ไปตามอิทธิพลของแนวความคิดทางเศรษฐกิจ ดังที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ว่า การตีความหมายของความเสมอภาคและเสรีภาพ เป็นการตีความหมายแบบทุนนิยม คือ ใต้อำนาจของระบบเศรษฐกิจแบบสนองความต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งพูดสั้นๆ ว่าเป็นการมองความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง

เพื่อความชัดเจน ขอยกตัวอย่างนิดหน่อย เสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย เน้นความหมายในแง่ของการที่บุคคลมีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพ เช่น สติปัญญา ความสามารถของตนออกไปเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นความหมายเชิงร่วมมือและเอื้อต่อกัน แต่ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยม เสรีภาพเน้นความหมายในแง่ของการที่จะได้ผลประโยชน์ตามที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่ง

ความเสมอภาค (สมภาพ หรือสมานภาพ) ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย เน้นความหมายในแง่ของการมีส่วนร่วมอย่างเสมอหน้ากัน เช่น เสมอในสุขและทุกข์ คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ไขปัญหา แต่ภายใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความเสมอภาคเน้นความหมายในแง่ของการเพ่งจ้องผลประโยชน์ว่า ถ้าเขาได้ ๕๐๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นความหมายเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง

ว่าโดยสรุป สภาพเช่นนี้ก็คือการที่มนุษย์ยังไม่มีความสามารถ ที่จะประสานระบบการต่างๆ ของมนุษย์ให้เข้าถึงและสอดคล้องกับหลักความจริงของธรรมชาติได้ ถ้ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ หลักการและระบบต่างๆ ที่มนุษย์จัดตั้ง จะต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่บนฐานของความจริงนี้ ความสำเร็จอยู่ที่นี่ ถ้ามิฉะนั้นจะไม่มีทางสำเร็จผลดีได้จริง และไม่ยั่งยืน

เพราะฉะนั้น การที่ระบบเศรษฐกิจการเมืองการปกครองเป็นต้นของมนุษย์จะแก้ปัญหาได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่ามนุษย์จะเข้าถึงตัวธรรมคือความจริงได้เพียงใด แต่ขณะนี้เป็นการพูดถึงหลักการให้เห็นว่า มนุษย์จะจัดตั้งวางระบบแบบแผนอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นจะต้องมาจากฐาน คือ การรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย แล้วจึงจัดตั้งวางระบบทางสังคมขึ้น ซึ่งจะนำมาจัดแยกเป็นระบบย่อยๆ อย่างไรก็ได้ และถ้าทำได้สำเร็จ ก็คือความสามารถพิเศษสองชั้นของมนุษย์ ที่ว่านอกจากมีปัญญาเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือธรรม ซึ่งนับว่าเลิศประเสริฐขั้นที่หนึ่งแล้ว ยังก้าวสู่ขั้นของวินัย ต่อไปด้วย คือสามารถเอาความรู้ในความจริงหรือธรรมนั้น มาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมขึ้นอย่างประสานสอดคล้องได้สำเร็จ

จะเห็นว่า กฎหมาย นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมนุษย์หรือความประพฤติเท่านั้น แต่เป็นเครื่องกำหนดการจัดวางระบบ และกำหนดกิจการต่างๆ ของสังคมว่าจะทำอย่างไรกันด้วย เพราะฉะนั้น วินัย จึงไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย คือ วินัยไม่ใช่เป็นเพียงระเบียบความประพฤติของคนเท่านั้น แต่วินัย หมายถึงระบบการจัดสรรสังคมทั้งหมด การจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การจัดระเบียบกิจการของสังคม ซึ่งจะให้เป็นอย่างไรก็ต้องมีกติกา มีข้อกำหนดที่ให้หมายรู้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

เพราะฉะนั้น กฎหมาย จึงครอบคลุมความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการทั้งหมดของสังคมมนุษย์ (ในขอบเขตของประเทศหนึ่งๆ เป็นต้น) กิจการด้านเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็เป็นตัวบ่งบอก การปกครองจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็เป็นตัวกำหนด การดำเนินชีวิตของบุคคลจะมีขอบเขตแค่ไหน คนจะสัมพันธ์กันภายในขอบเขตอย่างไร กิจการใดจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็จะก้าวเข้าไปคุมทั้งหมด

ดังนั้น วิชากฎหมาย จึงครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างในการดำเนินชีวิต และกิจการทุกอย่างของสังคม และจึงมีทั้งกฎหมายที่คุมคน คุมความประพฤติของคน และกฎหมายที่วางระบบกิจการที่ดำเนินการโดยคน คือเรื่องของคนที่อยู่ในสังคมนี้กฎหมายคุมหรือครอบคลุมหมด

อย่างไรก็ตาม เท่าที่เป็นมาถึงบัดนี้ คำที่ว่า กฎหมายครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์(ในสังคม)นั้น เพียงแต่ดูคล้ายจะเป็นจริงเท่านั้น แต่หาได้เป็นจริงแท้ไม่

ที่ว่าดูคล้ายจะเป็นจริง หมายความว่า เราอาจจะมีกฎหมายสำหรับกิจกรรมและกิจการทุกอย่างในสังคมมนุษย์ ครบทุกอย่าง แต่ที่ว่าไม่จริงแท้ก็คือ กฎหมายเหล่านั้นก็คุมกิจกรรมและกิจการด้านนั้นๆ แต่ละอย่างแต่ละด้านเท่านั้น เป็นเอกเทศจากกัน ยังหาได้มีกฎหมายที่เชื่อมโยงประสานกิจกรรมและกิจการทุกด้านเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างครอบคลุมทั่วทั้งหมดไม่

ในสังคมที่สมบูรณ์ จะต้องมีกฎหมายหรือวินัยใหญ่อันหนึ่งที่จะทำหน้าที่นี้ คือ เป็นที่ประมวลประสานระบบย่อยทุกอย่างของสังคม ให้เข้ามาอยู่ในระบบสัมพันธ์ใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งหมดอันเดียวกัน อย่างกลมกลืนและเกื้อหนุนกัน โดยโยงเข้ากับความจริงพื้นฐานอันเป็นหนึ่งเดียวของระบบแห่งธรรมดาของธรรมชาติ

รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นตัวอย่างของระบบสมมติที่ก้าวเข้ามาขั้นหนึ่งสู่การที่จะเป็นกฎหมายใหญ่ที่ครอบคลุมนี้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมจริง

โลกยุคที่ผ่านมา เป็นโลกที่มีอารยธรรมบนฐานความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน ที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง และการพัฒนาทั่วโลกก็อยู่ในขั้นของการเน้นความเจริญเติบโตขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การปกครองและกฎหมายต่างๆ ก็หันไปใส่ใจกับด้านเศรษฐกิจนี้มาก กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องราวและกิจกรรมด้านเศรษฐกิจจึงมีมากมายเป็นพิเศษ

แต่บัดนี้โลกได้สำนึกแล้วว่า การพัฒนาที่มุ่งวัตถุเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวเด่นนี้เสียดุล เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่

นับว่าเป็นการถึงเวลาที่ นิติศาสตร์ จะต้องก้าวใหญ่อีกขั้นหนึ่ง สู่ขั้นของการกำหนดจัดวางระบบชีวิตและสังคมที่กว้างขวางครอบคลุม โยงประสานเกื้อหนุนกันเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียว บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ความจริงอย่างทั่วตลอดรอบด้าน ซึ่งจะทำให้ระบบแห่งกฎสมมติของมนุษย์ ประสานสอดคล้องถูกต้องและได้ผลจริงตามระบบแห่งกฎธรรมชาติอันจริงแท้ที่เป็นฐานอยู่อย่างแท้จริง

ในสังคมหลายยุคหลายสมัย ผู้มีอำนาจปกครองประเทศหรือสังคมนั้นๆ เป็นผู้ตรากฎหมายออกมาควบคุมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตาม แต่การปฏิบัติเช่นนั้นบางทีก็จัดได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว พอให้ได้ผลที่จะให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยไว้ก่อน

กฎหมายที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย ต้องการปัญญาพิเศษ ที่หยั่งรู้ความจริงแห่งเหตุปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง โยงมาสู่การจัดตั้งวางระเบียบระบบสำหรับชีวิตและสังคมอย่างประสานสอดคล้องดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่มีผู้ปกครองผู้มีปัญญาพิเศษเช่นนั้น ก็อาจต้องมีแหล่งปัญญาพิเศษดังกล่าวที่จะมาตรากฎหมายให้ผู้ปกครองบริหารกิจการไปตามนั้นอีกชั้นหนึ่ง

การมีฝ่ายนิติบัญญัติแยกจากฝ่ายบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยอย่างปัจจุบัน อาจถือได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งในวิถีทางที่กล่าวนี้ แต่ก็จะต้องถามว่า บุคคลหรือคณะบุคคลผู้มาร่วมกันทำหน้าที่เช่นนั้น มีการพัฒนาที่จะทำให้เป็นผู้มีปัญญาพิเศษดังกล่าวนั้นแล้วหรือไม่ ถ้ายัง สังคมจะต้องมุ่งที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายนั้นให้ได้

กล่าวโดยสรุป กิจทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่นักนิติศาสตร์จะต้องทำให้ได้มี ๒ อย่างคือ

๑) รู้เข้าใจหยั่งทราบถึงจุดหมายที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังระบบแห่งสมมติทั้งหมดของมนุษย์

๒) จัดตั้งวินัยหรือกฎหมายที่มีขอบข่ายครอบคลุม ที่จะประสานระบบสมมติของมนุษย์ทุกอย่างเข้าเป็นระบบใหญ่อันหนึ่งอันเดียว ที่โยงถึงกันทั่วทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวของธรรมชาติ

กฎหมายเพื่อสังคมมนุษย์ จะไม่สมจริง
ถ้าหยั่งไม่ถึงความจริง แห่งธรรมชาติมนุษย์

ขอย้ำว่า “วินัย” มีความหมาย ๓ ชั้น
ชั้นที่ ๑ คือ การจัดตั้งวางระเบียบชีวิต และวางระบบกิจการ
ชั้นที่ ๒ คือ ข้อกำหนดที่บอกให้รู้ว่าจะจัดตั้งวางระเบียบระบบให้เป็นอย่างไร
ชั้นที่ ๓ คือ  ก) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือสร้างเสริมโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น หรือการชักนำดูแลให้คนใช้ระเบียบและระบบนั้นเป็นเครื่องมือ(ที่จะช่วยกันทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการ)พัฒนาชีวิตของตน หรือ
ข) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่และประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น

ความหมายของ “วินัย” ที่เราเข้าใจกันมาก คือความหมายที่ ๒ ได้แก่ระเบียบแบบแผนที่บอกว่าจะให้จัดตั้งวางระบบอย่างไร หรือข้อกำหนดที่เป็นแม่บทในการจัดตั้ง

ตัวอย่างเช่น พระมาอยู่ร่วมกัน ต้องมีวิธีแสวงหาและการจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่ คืออาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ในเรื่องนี้วินัยก็จะบอกว่า พระภิกษุมีวิธีที่จะได้มาและจัดสรรแบ่งปันปัจจัยสี่กันอย่างไร เมื่อมีใครมานิมนต์พระ จะให้ใครเป็นผู้ทำหน้าที่ในการบอกให้พระรูปไหนไป และจะจัดอย่างไร เช่น จะให้ใครไปก่อนไปหลัง ปัจจัยสี่ อย่างไหนพระภิกษุจะเก็บสะสมได้หรือไม่ได้ เก็บได้มากเท่าใดและนานเท่าไร จะเก็บอย่างไร ใครจะเป็นผู้เก็บ เมื่อมีการขัดแย้งกันขึ้น หรือมีพระทำความผิด จะดำเนินคดีอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นี่คือเรื่องของวินัยในความหมายที่สอง ซึ่งตรงกับ กฎหมาย

ความหมายของวินัยอย่างที่ ๓ ก็คือ การปกครอง วินัยในความหมายนี้เป็นเรื่องของการปกครอง เพราะการดูแลให้บุคคลเป็นอยู่ประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาและให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปตามครรลอง ก็คือการปกครองในความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด ต่อจากนั้นจึงแยกออกเป็นรายละเอียดในการบริหาร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องมีการจัดดำเนินการที่เป็นงานรวม เพื่อให้หมู่ชนหรือสังคมดำเนินไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อันได้แก่ การปกครอง

โดยนัยนี้ คำว่า วินัย จึงมีความหมายกว้าง และไปโยงกับที่ได้กล่าวถึงในตอนแรกว่า กฎหมายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองมาก เพราะวินัยเอง จะแปลว่า การปกครองก็ได้

วินัย นั้น โดยรากศัพท์ แปลว่า การนำไปให้วิเศษ มาจาก วิ แปลว่า ให้วิเศษ และ นี ตัวเดียวกับใน “นีติ” แปลว่า นำ รวมกันเป็น “วินัย” แปลว่าการนำไปให้วิเศษ หมายความว่า ทำให้คนมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น และทำให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี เป็นความหมายทั้งในระดับบุคคลและสังคม เป็นได้ทั้งกฎหมายและการปกครอง ที่จะจัดสรรให้เกิดความเรียบร้อยดีงามขึ้นในสังคมมนุษย์

(ถ้าเป็นกฎหมาย ก็แปลว่าเครื่องนำไปให้วิเศษ ถ้าเป็นการปกครอง ก็แปลว่าการนำไปให้วิเศษ)

จึงพูดได้ว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องของกฎหมายและการปกครอง หรือเรื่องของวินัย ก็คือ การจัดการให้เกิดความเรียบร้อยหรือมีสันติสุขขึ้นในสังคม นี้เป็นความหมายของวินัยในระดับหนึ่ง

แต่แท้จริง สิ่งนี้คือจุดหมายของวินัย หรือกฎหมายและการปกครอง จริงหรือไม่ จุดหมายของนิติศาสตร์ คืออะไรแน่?

ถ้ามองในแง่ของวินัย ตามความหมายของพระพุทธศาสนา ความสงบเรียบร้อยอยู่กันด้วยดีในสังคม ยังมิใช่เป็นจุดหมาย ทำไมจึงยังไม่ใช่ ถ้ามองเผินๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการปกครองโดยมีกฎหมาย วางระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี โดยสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้น การมีความสงบก็น่าจะเป็นการบรรลุจุดหมาย แต่แท้จริงความสงบเรียบร้อยในสังคมนั้นเราถือว่าเป็นปัจจัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย

ความสงบเรียบร้อยของสังคมไม่ใช่เป็นจุดหมาย ถ้าจะให้ได้คำตอบต้องถามต่อไปว่า ทำไมจึงต้องมีวินัย?

ได้พูดแล้วว่า การมีวินัยสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของสงฆ์ คือ สังฆะหรือชุมชนของพระภิกษุ หรือพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาอยู่ร่วมกัน

ทำไมจึงเกิดสงฆ์? ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตั้งสังฆะขึ้นมา เรื่องนี้โยงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าจุดมุ่งหมายของการมีการปกครอง มีกฎหมาย มีระเบียบกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้น เพื่ออะไร

ในการจัดตั้งหรือจัดสรรสังคม เรามองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร? ถ้าเรามองโยงลงไปไม่ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ศาสตร์ทั้งหลายจะไม่เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ได้จริง

ศาสตร์ทุกศาสตร์จะต้องหยั่งลงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ และจะต้องตั้งอยู่บนฐานของปัญญาที่เข้าใจความจริงตั้งแต่ธรรมชาติของมนุษย์ เพราะว่าในที่สุดนั้น การจัดตั้งวางระบบทุกอย่างเราทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เราก็ไม่รู้ว่ามนุษย์จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เขาต้องการอะไร และเราควรจะทำอะไรให้เขา

ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาติหรือความจริงแห่งชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่เราทำให้เขานั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ อาจจะกลายเป็นโทษเป็นพิษภัยแก่เขาก็ได้ ทั้งที่เราอาจจะมีเจตนาดีก็ตาม

จุดหมายของสังคม คือจุดหมายของกฎหมาย
แต่สุดท้าย จุดหมายของกฎหมายต้องสนองจุดหมายของชีวิตคน

ทีนี้ กลับไปสู่คำถามขั้นรากฐานว่า พระพุทธศาสนามองธรรมชาติของมนุษย์อย่างไร? พระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือทั้งต้องฝึกและฝึกได้ ถ้าใช้ศัพท์ภาษาสมัยใหม่ก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา และศึกษาได้

นี้คือธรรมชาติของมนุษย์ที่แปลกจากสัตว์อื่น สัตว์ชนิดอื่นนั้น ไม่ต้องฝึกแต่ก็ฝึกไม่ได้ ไม่ต้องฝึก หมายความว่า เมื่อเกิดมาก็มีชีวิตอยู่รอดได้ง่าย โดยแทบไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องศึกษาอะไร เพราะอาศัยสัญชาตญาณช่วย ออกจากท้องแม่ ๒ นาทีอาจจะเดินได้เลย ถ้าเป็นห่านก็ออกจากไข่ตอนเช้า บ่ายก็ตามแม่ไปลงสระน้ำ ว่ายน้ำได้ หากินได้โดยไม่ต้องฝึก สัตว์เหล่านั้นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษในแง่ที่ว่า ถ้าไม่มีการฝึกฝน ไม่มีการเรียนรู้แล้ว อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่รอด

มนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถอยู่รอดด้วยตนเอง เมื่อเกิดมาแล้วต้องมีผู้อุ้มชูเลี้ยงดู โดยเฉพาะพ่อแม่ เลี้ยงดูไปเป็นปีๆ ก็ยังอยู่ไม่รอด ต้องเลี้ยงดูไปหลายปีจนเขาสามารถดำเนินชีวิตได้ ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูเขานั้น เขาทำอะไร นี่คือสิ่งสำคัญ สิ่งที่เขาทำคือการเรียนรู้ และฝึกศึกษาพัฒนาตัวเอง

ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยง เด็กก็เรียน เขาต้องเรียนทุกอย่างเพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ ไม่ว่าจะนั่ง จะกิน จะนอน จะขับถ่าย ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกต้องหัดทั้งสิ้น คือต้องศึกษานั่นเอง ถ้าไม่เรียนรู้ไม่ฝึกฝนเขาจะทำไม่ได้สักอย่างและอยู่ไม่รอด กว่าจะเรียนรู้ในการเดิน การพูด เด็กบางคนใช้เวลาเกือบ ๒ ปี จึงเดินได้ พูดได้

โดยนัยนี้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องลงทุนด้วยการศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา จึงพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่การที่ต้องฝึกนี้มองอีกด้านหนึ่งก็เป็นข้อดีของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้นไม่ต้องฝึกก็จริง แต่มันฝึกไม่ได้ ที่จริงไม่ถึงกับฝึกไม่ได้เลย แต่ฝึกได้น้อยอย่างยิ่ง เรียนรู้ได้จำกัด เรียนรู้ได้นิดหน่อย และส่วนใหญ่ถ้าจะฝึกต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นี้มีความสามารถพิเศษที่ฝึกตนเองได้ เรียนรู้ด้วยตนเองได้ ถ้ามนุษย์ฝึกตนแล้วก็พัฒนาได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด ฝึกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างไรก็ฝึกเอา

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงพัฒนาตนจนกระทั่งทิ้งสัตว์ชนิดอื่นทั้งหมด มนุษย์สามารถสร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องอยู่ในธรรมชาติตลอดชีวิต เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น มนุษย์นี้เกิดมาแล้ว ก็ฝึกศึกษาพัฒนา เรียนรู้ก้าวหน้าไปไม่มีที่สิ้นสุด สร้างสรรค์อารยธรรมสืบต่อกันได้ จากมนุษย์รุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน ต่อไปเรื่อยๆ

ธรรมชาติของมนุษย์มีความพิเศษอยู่ตรงนี้ คือการที่มนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามเป็นเลิศได้ ด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา แต่พูดย้อนกลับว่า มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามเป็นเลิศได้ จะต้องเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี้จึงถือว่า เป็น “สัตว์ที่ต้องศึกษา” และจึงวางเป็นหลักได้ว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ คือชีวิตแห่งการศึกษา พระพุทธศาสนาถือคตินี้ สอดคล้องกับการที่มนุษย์มีธรรมชาติอย่างนี้

เราต้องการให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม แต่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ฝึกศึกษา พัฒนาตัวเอง ดังนั้น จึงเข้ามาสู่ระบบของพระพุทธศาสนาในเรื่องของการโยง ธรรม กับ วินัย

มนุษย์เรียนรู้เพื่อเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ถ้ามนุษย์รู้เหตุปัจจัยที่เป็นความจริงในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย มนุษย์ก็จะกระทำการต่างๆ ได้ผลตามที่ตนต้องการแทบทุกอย่าง เช่น จะกินผลไม้ ก็ไม่ต้องรอเดินไปกินที่ต้นในป่า แต่สามารถเอาเม็ดมาปลูกให้มีต้นไม้ที่บ้านได้

ความสามารถสร้างสรรค์ทำสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมายนั้น เกิดจากการเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาของมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาให้เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ และเอาประโยชน์จากความรู้นั้นให้ได้ แล้วด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาโดยใช้ความรู้นี้ มนุษย์ก็จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้

ชีวิตและสังคมดีงาม ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนของมนุษย์นี้ จึงเป็นจุดหมายแห่งกิจกรรมและกิจการทั้งหลายของมนุษย์

แต่การที่คนทั้งหลายผู้มาอยู่รวมกันจะเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนให้สามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องมีชีวิตที่ปลอดภัยและสังคมที่อยู่กันสงบเรียบร้อยเป็นสภาพเอื้อหรือเกื้อหนุน และนี่แหละคือจุดที่การปกครองและกฎหมายเข้ามา คือ สังคมต้องมีวินัย ทั้งในแง่ของการปกครอง และกฎหมาย เพื่อสร้างสรรค์ความสงบเรียบร้อย อันเป็นสภาพเอื้อที่จะช่วยให้คนทั้งหลายพัฒนาชีวิตของตนขึ้นไปให้สามารถบรรลุจุดหมายแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม มีสันติสุขและเป็นอิสระได้ จนเข้าถึงประโยชน์สุขที่สูงสุด

วินัย / กฎหมาย เป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส
ที่จะเป็นฐานของการพัฒนาสู่การสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นไป

ได้เคยพูดไว้ที่อื่นแล้วว่า วินัยเป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส จึงขอยกมาอ้าง ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้

“. . .วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี

ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย?

ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบ กระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่า ตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้ เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว

กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบ หรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคลก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด

โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้น การจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้นเราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย” (วินัย: เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด, น. ๑๕-๑๗)

เมื่อประชาชนเป็นอยู่โดยมีชีวิตร่างกายปลอดภัย ครอบครัวมั่นคง ทรัพย์สินไร้อันตราย ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องหวาดระแวง จะดำเนินกิจการใดก็มั่นใจ ไม่ต้องกลัวถูกฉกฉวยผลหรือข่มเหงเอาเปรียบ ก็นับว่าสังคมมีความสงบเรียบร้อยแล้ว

กระนั้นก็ตาม สังคมที่ดีจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่จะต้องมีมาตรการทางการปกครองและกฎหมายมาเอื้อโอกาสส่งเสริมสนับสนุน ช่วยให้ประชาชนผู้ทำการอาชีพ หรือประกอบกิจกรรมและดำเนินกิจการต่างๆ ที่ดีงามสุจริต มีกำลังใจและตั้งใจทำงานสร้างสรรค์ ฝึกปรือฝีมือและความจัดเจนชำนิชำนาญในการงานวิชาชีพของตนๆ พัฒนาความสามารถที่จะสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมและกิจกรรมที่เป็นคุณประโยชน์ให้เจริญแพร่หลาย ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมทางวัตถุและทางสังคมที่ผาสุกสบาย เอื้อต่อการเข้าถึงความดีงามและความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

ท่ามกลางความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่มีความพรั่งพร้อมเอื้ออำนวยทางเศรษฐกิจและทางสังคมเช่นนี้ วินัย ทั้งด้านการปกครองและกฎหมาย หรือทั้งด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จะต้องเน้นมาตรการที่จะส่งเสริมกิจกรรมและกิจการทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทางศีลธรรม ทางศาสนา และคุณค่าทางจิตใจต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาด้านคุณธรรม ใฝ่ในอุดมคติทางนามธรรม และเข้าถึงความดีงามและความสุขทางจิตใจที่สูงหรือประณีตยิ่งขึ้นไป ทั้งเพื่อประโยชน์สุขแห่งชีวิตของประชาชน และเพื่อความมั่นคงยั่งยืนแห่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและทางสังคมนั้นด้วย

พร้อมกันนั้นก็ให้มีมาตรการทางวินัย ทั้งด้านการปกครอง และกฎหมาย ที่จะส่งเสริมการค้นคว้าแสวงปัญญา และกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของประชาชน เพื่อให้ชีวิตเข้าถึงความดีงามความเป็นเลิศความสุขและอิสรภาพที่แท้จริง และนำทางอารยธรรมสู่ความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

ถ้าพูดสั้นๆ ด้วยภาษาแห่งไตรสิกขา ก็คือการใช้มาตรการทางวินัย (ทั้งการปกครองและกฎหมาย) มาช่วยสร้างสภาพเอื้อและส่งเสริมประชาชนให้พัฒนา ทั้งในด้านพฤติกรรม (โดยเฉพาะสัมมาอาชีวะ และอนวัชชกรรม คือกิจกรรมสร้างสรรค์) ในด้านจิตใจ และในทางปัญญา

วินัย / กฎหมายช่วยจัดสรรสังคมดี ที่เอื้อให้คนงอกงามมีชีวิตที่ดี
คนยิ่งงอกงามมีชีวิตที่ดี ก็ยิ่งหนุนสังคมดีที่คนจะมีชีวิตงอกงาม

ชีวิตมนุษย์มี ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ซึ่งดำเนินไปด้วยกัน และสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน แยกขาดจากกันไม่ได้

พฤติกรรม ที่แสดงออกทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี เป็นส่วนที่ปรากฏออกมาในการติดต่อกับสภาพแวดล้อมทั้งทางวัตถุและทางสังคม แต่เบื้องหลังพฤติกรรมนั้นก็คือ เจตนา ความตั้งใจและแรงจูงใจ ภายในจิตใจ ซึ่งเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่จะแสดงออกมาเพื่อสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งในจิตใจนั้น และพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจะมีลักษณะอาการอย่างไร ก็เป็นไปตามสภาพจิตใจ เช่นความรู้สึกสบายใจไม่สบายใจเป็นต้นของเขา

นอกจากนั้น พฤติกรรมของเขาจะตื้นเขินคับแคบ หรือดำเนินไปอย่างลึกซึ้งซับซ้อนในขอบเขตกว้างขวาง มีประสิทธิภาพที่จะสนองความต้องการของตนเองอย่างได้ผลหรือไม่เพียงใด ก็ย่อมขึ้นต่อความรอบรู้ ความเข้าใจและความเฉลียวฉลาดคือปัญญาของเขา พฤติกรรมจึงแยกออกไม่ได้จากจิตใจและปัญญา

จิตใจ ก็อาศัยพฤติกรรม เช่น จิตใจจะมีความสุขเมื่อมีพฤติกรรมที่ดำเนินไปได้ตามความต้องการ หรือได้ทำพฤติกรรมที่ถูกใจ แต่ถ้าต้องทำพฤติกรรมที่ไม่ปรารถนา ก็จะฝืนใจ มีความทุกข์ ถ้าได้ทำพฤติกรรมที่ชอบหรือเคยชิน ก็ชอบใจสบายใจ แต่ถ้าพฤติกรรมนั้นถูกขัดขวางปิดกั้น ก็ไม่ชอบใจ โกรธหรือเกิดความทุกข์

พร้อมกันนั้น จิตใจก็เป็นไปตามปัญญา ถ้าคิดนึกหรือประสบสถานการณ์ใดแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร จะเอาอย่างไรกับมัน จิตใจก็จะอึดอัดขัดข้อง เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันเป็นทุกข์ แต่ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หรือต่อประสบการณ์ใด ถ้ารู้เข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร มองเห็นชัดโล่งไปว่าจะปฏิบัติหรือจัดการกับมันได้อย่างไรแล้ว จิตใจก็โปร่งโล่งสุขสบาย ถ้ามีทุกข์อยู่ก็พ้นหายหมดทุกข์ไป เมื่อเห็นคนอื่นหน้าตาบึ้ง พูดจาหรือมีกิริยาอาการไม่สุภาพ จิตใจก็รู้สึกโกรธขัดเคือง แต่พอรู้ว่า คนนั้นเขามีปัญหา มีความกดดันในใจจากแรงบีบคั้น เช่นขาดเงินหรือกำลังกลุ้มใจเรื่องครอบครัวเป็นต้น พอรู้ขึ้นมาเกิดปัญญาแล้ว จิตใจก็หายโกรธเคือง กลายเป็นสงสารเห็นใจอยากเข้าไปช่วยเหลือ จิตใจจึงแยกกันไม่ได้กับพฤติกรรมและปัญญา

ปัญญาก็เช่นกัน จะพัฒนาหรือทำงานได้ผลดี ก็ต้องอาศัยจิตใจและพฤติกรรม ถ้าจิตใจอ่อนแอเหนื่อยหน่ายเฉื่อยชา เจอปัญหาก็ไม่สู้ ไม่พยายามคิดหาทางแก้ไข ปัญญาก็ไม่พัฒนา หรือจะพิจารณาศึกษาอะไร จิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ก็คิดไม่ออกหรือมองไม่ชัด แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็ง มีความเพียรแรงกล้า เจอปัญหาก็สู้ พยายามคิดหาทางแก้ไข ปัญญาก็พัฒนาได้ดี ยิ่งจิตใจนั้นเป็นสมาธิ สงบมั่นคงแน่วแน่ ไม่มีอะไรกวนได้ ก็ยิ่งคิดได้ชัดเจนมองเห็นสว่างโล่ง

พร้อมกันนั้น ในการแสวงปัญญา ก็ต้องใช้พฤติกรรมเกื้อหนุน และเป็นเครื่องมือ เช่นต้องเดินไปยังแหล่งข้อมูล ต้องดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ต้องรู้จักดู รู้จักฟัง รู้จักสัมผัส ต้องรู้จักเข้าหาผู้คน รู้จักพูดจา ถ้าพูดจาสุภาพ รู้จักตั้งคำถาม รู้จักพูดให้กระชับตรงประเด็น และโต้ตอบเป็น เป็นต้น การแสวงปัญญาก็ได้ผลดี ฯลฯ โดยนัยนี้ ปัญญาก็สัมพันธ์กับจิตใจและพฤติกรรม

การจัดการหรือจัดดำเนินการให้ระบบความเป็นไปของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน คือพฤติกรรม จิตใจ และปัญญานี้ สัมพันธ์กันในลักษณาการที่ทำให้ชีวิตดีงาม เป็นอยู่อย่างได้ผลยิ่งขึ้น นี่แหละ คือการเรียนรู้ การฝึก หรือการพัฒนาชีวิต ที่เรียกว่า สิกขา หรือการศึกษา และเพราะเป็นการพัฒนาหรือศึกษาอย่างเป็นระบบครบ ๓ ด้านไปด้วยกัน จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

จิตใจ และปัญญา เป็นเรื่องภายใน เป็นส่วนเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล แต่พฤติกรรมเป็นชีวิตด้านที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ทั้งกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสังคม และกับวัตถุทั้งหลาย เราสามารถใช้พฤติกรรมเป็นสื่อในการเข้าถึงจิตใจและปัญญา การพัฒนาพฤติกรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาจิตใจและปัญญา

ในทางกลับกัน พฤติกรรมก็เป็นสื่อหรือเป็นแดนที่แสดงออกของจิตใจและปัญญา ถ้าจิตใจและปัญญาได้มีการพัฒนาอย่างดี ก็จะทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีงามเกื้อกูล ดังนั้น พฤติกรรมของคนจะเป็นไปในทางเบียดเบียนบั่นทอนสังคม หรือเป็นไปในทางที่ส่งเสริมเกื้อหนุนต่อความเป็นอยู่และกิจการที่ร่วมกัน ก็อยู่ที่ว่าจิตใจและปัญญาได้รับการพัฒนาหรือไม่เพียงใด

วินัย เอาพฤติกรรมเป็นจุดเชื่อมโยงเข้าสู่ไตรสิกขาในตัวคน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัยเชื่อมโยงกับระบบไตรสิกขาที่พฤติกรรมคือด้านศีลของคน

อาจพูดด้วยอีกสำนวนหนึ่งว่า วินัย คือการจัดระบบพฤติกรรม หรือการจัดระบบชีวิตและสังคมที่จะส่งเสริมพฤติกรรมของคน เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาในไตรสิกขา

จากจุดเริ่มที่พฤติกรรม เมื่อประชาชนได้อาศัยสภาพแวดล้อมแห่งระบบชีวิตและสังคมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาชีวิตของตน และได้พัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญามากขึ้น ตัวเขาเองก็จะมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขมากยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ภาวะที่พัฒนาแล้วทางด้านจิตใจและปัญญานั้น ก็จะส่งผลออกมาทางด้านพฤติกรรม ทำให้เขามีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ซึ่งประณีตเกื้อกูลหนุนเสริมสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อโอกาสต่อการพัฒนาชีวิตของเพื่อนมนุษย์ โดยที่ตัวเขาเองจะเป็นผู้ปกครองตนเองได้ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นข้อหมายรู้ร่วมกัน ทำให้วินัย ไม่ว่าจะในความหมายของระเบียบระบบที่จัดตั้งก็ตาม ข้อกำหนดในการจัดตั้งคือกฎหมายก็ตาม หรือการจัดการให้เป็นไปตามระเบียบระบบนั้นคือการปกครองก็ตาม ได้ผลตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง อย่างมั่นคงยั่งยืน

นิติศาสตร์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมของมนุษย์ หมายความว่า พฤติกรรมหรือชีวิตด้านศีล เป็นแดนสัมพันธ์ของนิติศาสตร์ แต่การจัดสรรด้านพฤติกรรมหรือศีลอย่างเดียว ไม่เพียงพอแก่การสร้างสรรค์และดำรงรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติ

การที่นิติศาสตร์ใช้ศีลหรือพฤติกรรมเป็นแดนเชื่อมโยงส่งผลเข้าสู่แดนแห่งจิตใจและปัญญา ทำให้เกิดการพัฒนาคนอย่างเต็มทั้งระบบ โดยสื่อสมมติสู่ตัวธรรมอันเป็นความจริงแท้ในธรรมชาติให้สำเร็จได้ นี่ต่างหากที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงของนิติศาสตร์

ถ้าการปกครองและกฎหมายขาดจุดหมายในการพัฒนามนุษย์ คือการปกครองและกฎหมายนั้นไม่เป็นเครื่องมือสื่อสิกขา พอสังคมสงบเรียบร้อยและมีความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมา ความเฉื่อยชาประมาท และความขัดแย้งในหมู่ชนก็จะแพร่หลายขยายตัว ต่อจากนั้น สังคมก็จะเลื่อนไหลลงไปในกระแสแห่งความเสื่อม หรือวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเจริญแล้วก็เสื่อม เช่นเดียวกับอารยธรรมเก่าๆ เช่น กรีก และโรมัน เป็นต้น ที่ล่มสลายไปแล้วในอดีต

เรื่องนี้จะต้องสำนึกตระหนักกันให้มาก เพราะสังคมที่เจริญขึ้นในทางเศรษฐกิจที่พรั่งพร้อมและความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อยมั่นคงถึงระดับหนึ่งแล้ว ความโน้มเอียงที่จะประมาทมัวเมาจะแรงเข้มมาก จนแม้แต่จะมีมาตรการในการพัฒนาทางจิตปัญญาอยู่ ก็ยังยากที่จะชูสังคมนั้นขึ้นไว้ได้

ย้อนมาดูการจัดตั้งสังฆะ ในฐานะเป็นสังคมที่เกิดจากวินัยเป็นตัวอย่าง ดังที่กล่าวแล้วว่า มนุษย์จะได้ผลดีจากกฎธรรมชาติได้ก็โดยที่มีการจัดตั้ง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเข้าถึงความจริงในกฎธรรมชาติ รู้ความจริงนั้นแล้ว ทรงเห็นว่ามนุษย์จะได้ประโยชน์ เขาจะมีชีวิตที่ดีงามถ้าเขาเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตัวเองให้เข้าถึงธรรม และเอาความรู้ในธรรม หรือในกฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

แต่ทำอย่างไรจึงจะให้ประโยชน์นี้เกิดเป็นผลแก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก ก็จึงต้องจัดตั้งขึ้นมาเป็นสังฆะ เพื่อคนที่ต้องการจะฝึกศึกษาพัฒนาตัวเองนั้น จะได้มีสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ระบบการอยู่ร่วมกัน บรรยากาศและโอกาส ที่เอื้อเกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาของเขา เช่นการที่จะได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดและเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า หรือจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าตน หรือหมู่บุคคลที่มีความต้องการและระดับการเรียนรู้อย่างเดียวกัน ใฝ่ในการฝึกฝนพัฒนา จะได้มาเกื้อกูลต่อกันด้วยการปรึกษาสังสรรค์ เป็นต้น

โดยนัยนี้จึงเกิดมี สังฆะ ขึ้นมาเป็นชุมชนแห่งการศึกษา เพื่อให้คนที่ต้องการเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรม จะได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาดังกล่าวแล้ว และเป็นศูนย์กลางที่บุคคลภายนอกที่ต้องการเรียนรู้จะเข้ามาหาในฐานะเป็นแหล่งของการศึกษา และพร้อมกันนั้น พระที่มีความรู้ ได้เล่าเรียนสูงขึ้นไปหรือเข้าถึงธรรมแล้ว ก็จะออกจากศูนย์กลางนี้ ไปให้ความรู้เพื่อการศึกษาของประชาชน

นี้คืองานของวินัย ที่ทำให้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นสังฆะ โดยมีหลักแหล่งที่เรียกว่า วัด ซึ่งก็คือชุมชนที่เป็นแหล่งแห่งการศึกษานั่นเอง

รวมความว่า การใช้วินัยจัดตั้งสังฆะคือสงฆ์ขึ้นมานั้น มีจุดมุ่งหมายนี้ คือเป็นการจัดระบบความเป็นอยู่ สร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศตลอดจนระบบความสัมพันธ์ในการทำกิจการร่วมกันทุกอย่าง ให้เป็นสภาพเอื้อต่อการที่แต่ละบุคคลผู้เข้ามาสู่ชุมชนนี้ จะได้มีโอกาสที่จะศึกษา เรียนรู้ พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น นี้คือวัตถุประสงค์ของวินัย

เพราะฉะนั้น การปกครองที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดสรรสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่กันโดยสงบเรียบร้อยนี้ จึงมีความมุ่งหมายเพื่อให้ความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อยนั้นเป็นสภาพที่เอื้อต่อการที่แต่ละบุคคลในสังคมนั้นจะได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกหัด ศึกษา พัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

หมายความว่า เราต้องการให้หมู่มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จึงจัดให้มีการปกครองโดยวางข้อกำหนดเป็นกฎหมายขึ้นมา เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์ด้วยวินัย ซึ่งมาจัดสรรให้ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม การทำกิจการร่วมกัน ประสานกันเป็นระบบที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของหมู่มนุษย์ไปสู่ความดีงามสูงสุดที่เป็นจุดหมาย

ถ้าไม่มีจุดหมายนี้ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ไม่มีความหมายที่ชัดเจนเพียงพอ ไม่มั่นคงยั่งยืน และไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่หมู่มนุษย์

การปกครองที่แท้ และกฎหมายที่ถูก
ต้องมีจุดหมายสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

เมื่อสังฆะ คือสงฆ์ขยายใหญ่ขึ้น มีพระภิกษุจำนวนมากขึ้น ในการปกครองต่อมา พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติให้พระภิกษุผู้บวชใหม่แต่ละรูปมีอุปัชฌาย์ คือเมื่อจะบวชต้องมีอุปัชฌาย์

อุปัชฌาย์ แปลว่า ผู้ดูแล ซึ่งเรามักจะมองในแง่ว่าเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อมองให้ตรงแท้ตามความหมายของพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า อุปัชฌาย์มีขึ้นเพราะว่า บุคคลใดก็ตามเมื่อสมัครเข้าบวชมีชีวิตเป็นภิกษุอยู่ในชุมชนนี้ ก็ถือเป็นการตกลงว่า จะเข้ามารับการฝึกฝน มาเรียนรู้ มาสิกขาคือศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่บวชเข้ามาใหม่ ยังไม่รู้หลักการ แนวทาง และวิธีการในการศึกษาปฏิบัติ จำเป็นจะต้องได้ผู้ดูแลแนะนำให้ความรู้พื้นฐานเบื้องต้น ยิ่งเมื่อมาอยู่ร่วมกันมากๆ ขึ้น ก็มีปัญหาว่า ผู้เข้ามาใหม่นั้น บางบุคคลเข้ามาแล้วอาจจะเคว้งคว้างเลื่อนลอย ไม่ได้รับการแนะนำให้ฝึกฝน ศึกษา เรียนรู้ แล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์จากสังฆะที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้มีอุปัชฌาย์ขึ้นมา

อุปัชฌาย์ เป็นเหมือนผู้ค้ำประกันตัวผู้บวชต่อที่ประชุมสงฆ์ในการบวช กล่าวคือ แม้ว่าที่ประชุมสงฆ์จะพิจารณาเห็นว่าบุคคลที่สมัครเข้ามา มีคุณสมบัติ ควรรับเข้าบวชได้ แต่ที่ประชุมสงฆ์ก็ต้องการให้มีคนที่จะรับผิดชอบช่วยดูแลผู้ที่บวชใหม่นั้น ก็จึงมีอุปัชฌาย์มาเป็นผู้ประกันต่อสงฆ์ ที่จะให้ความมั่นใจแก่สงฆ์หรือที่ประชุมว่า บุคคลผู้นี้เมื่อบวชเข้าไปแล้วจะไม่เคว้งคว้าง ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะได้รับการศึกษา

โดยนัยนี้ จึงเหมือนว่าได้เกิดการปกครองขึ้นเป็นระดับขั้น ตั้งแต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงปกครองสงฆ์ให้ชุมชนทั้งหมดดำเนินไปในระบบแห่งไตรสิกขา จนถึงพระอุปัชฌาย์ผู้ดูแลให้พระภิกษุที่บวชเข้ามาใหม่ในปกครองของตนแต่ละรูปได้รับการศึกษา

เพราะฉะนั้น การปกครองตามความหมายในพระพุทธศาสนาจึงเป็น การปกครองเพื่อการศึกษา หมายความว่า การปกครองและความสงบเรียบร้อยที่เกิดจากการปกครองนั้นมิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงปัจจัยคือสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้แต่ละบุคคลบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษา หรือเพื่อเป็นหลักประกันของการศึกษา จึงถือเป็นคติได้ว่า การปกครองที่มีขึ้นเป็นเรื่องของการศึกษา และเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น

ในสังคมไทยยุคก่อนๆ จะเห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองจะเป็นแบบอาจารย์กับศิษย์ เช่น เจ้าอาวาส เราเรียกว่า “อาจารย์” คือผู้ที่สอน แนะนำ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนต่างๆ ดังที่เรายังเรียกเจ้าอาวาส ติดมาถึงปัจจุบันนี้ว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ท่านไม่ค่อยได้ทำหน้าที่นั้นแล้ว เพราะสังคมวิปลาสคลาดเคลื่อนไป

ความจริงนั้น การศึกษานั่นแหละครอบคลุมการปกครองอยู่ในตัว กล่าวคือ ในความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้น เมื่ออาจารย์สอน และศิษย์เป็นผู้ได้รับความรู้ อาจารย์ก็กลายเป็นผู้ปกครองโดยมีลูกศิษย์เป็นผู้ใต้ปกครอง การปกครองของอาจารย์ ก็คือการคอยดูแลให้ศิษย์อยู่ในความดีงาม และฝึกฝนเพื่อความดีงามยิ่งขึ้นไป เข้ากับหลักการที่ว่าการปกครองในความหมายของพระพุทธศาสนาเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา และในที่สุด การปกครองก็เป็นเรื่องของการศึกษา ด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา ดังที่เห็นกันอยู่ว่า อาจารย์ปกครองศิษย์ด้วยการศึกษา ซึ่งเป็นการปกครองในตัว ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ที่มีความเคารพเป็นหลักประกัน ทำให้มีความเชื่อถือและเชื่อฟังด้วยดี

ถ้าไม่ปกครองด้วยการศึกษาอย่างนี้ ก็ต้องปกครองด้วยอำนาจ เมื่อปกครองด้วยอำนาจก็เกิดความรู้สึกในเชิงปฏิปักษ์ ที่เอียงไปในทางที่จะขัดแย้งกัน เช่น ในการปกครองสงฆ์ปัจจุบันนี้ เมื่อการศึกษาเสื่อมโทรมลง ก็ต้องหันไปเน้นการปกครองด้วยอำนาจ เจ้าอาวาสมีอำนาจเป็นผู้ปกครอง มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเป็นเครื่องมือ พระลูกวัดอยู่ใต้ปกครองต้องทำตาม

ผู้ใต้ปกครองเหล่านั้นไม่มองว่าผู้ปกครองคือผู้เอื้อโอกาสเพื่อการพัฒนาชีวิตของตน แต่มองว่า ผู้ปกครองคือผู้มาคอยบังคับ คอยกีดกั้นเขาจากสิ่งที่ต้องการจะทำ จึงมีความรู้สึกแบบเป็นปฏิปักษ์กัน ด้วยเหตุนี้ การปกครองแบบใช้อำนาจจึงก่อให้เกิดปัญหา เริ่มตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในจิตใจเป็นต้นไป ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มการใช้อำนาจ ใช้อาญา และจะเน้นการลงโทษมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่เป็นการปกครองแบบพยายามสร้างคนดี แต่เป็นการปกครองแบบพยายามกำจัดคนเลว

การปกครองในทางบ้านเมืองที่เป็นแบบนี้ ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อหลักการเพื่อจุดหมายที่แท้เลือนหายไปแล้ว ทุกอย่างก็จะวิปลาสไปหมด

ดังนั้น การปกครองในสมัยนี้ของพระสงฆ์ เราจึงเห็นว่าไม่ค่อยได้ผล เพราะได้กลายมาเป็นการปกครองเพื่อการปกครอง คือปกครองแบบใช้อำนาจ พระลูกวัดจะมีความรู้สึกต่อเจ้าอาวาสแบบเป็นปฏิปักษ์ อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเป็นผู้ขัดขวางผลประโยชน์ที่ต้องการ แล้วใจก็ไม่รับ ความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็จะมีความรู้สึกในทางที่อยากจะหรือหาทางที่จะละเมิดอยู่เสมอ

ถ้าจะเอาระบบที่ถูกต้อง จะต้องรู้ตระหนักในหลักการว่า การศึกษาคือเนื้อหาสาระของชีวิตแห่งความเป็นพระภิกษุ การปกครองเป็นเครื่องมือรับใช้การศึกษา คือเป็นการจัดระบบความเป็นอยู่ความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อครูอาจารย์ปกครองลูกศิษย์ ก็เป็นการปกครองด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา

เราอาจจะเลียนศัพท์ของประชาธิปไตยที่บอกว่า ระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แล้วเราก็พูดว่า ในพระพุทธศาสนา การปกครอง คือการปกครองที่เป็นเรื่องของการศึกษา ด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา หลักการนี้ชัดเจนมาก การที่เราจัดระบบการปกครองด้วยวินัย หรือด้วยกฎหมาย ก็เพื่อเอื้อต่อชีวิตบุคคลที่เขาจะได้พัฒนา เรียนรู้ มีการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

รวมความว่า วินัย มีความหมาย

ทั้งในแง่บุคคล ว่าเป็นเครื่องฝึกตัวของบุคคลนั้นเอง คือเมื่อบุคคลนั้นนำหลักการนี้มาประพฤติปฏิบัติ วินัยก็เป็นเครื่องมือของเขาในการที่จะได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนเอง และ

ในทางสังคม ว่าเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิต ที่ทั้งตัวเขาเองและคนอื่นมีส่วนร่วมได้ประโยชน์ด้วยกัน

เป็นอันว่าได้ความหมาย ๒ อย่าง ดังนั้น วินัย ในทางพระพุทธศาสนา จึงแปลว่า การฝึก หรือการนำไปให้วิเศษ และโดยนัยนี้ ตามความหมายในพระพุทธศาสนา กฎหมายจึงเป็นเครื่องฝึกมนุษย์หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต

ถ้าเราไม่มองวินัยและกฎหมายเป็นเครื่องฝึก แล้วคนจะมองกฎหมายและวินัยในความหมายอย่างไร อย่างแรกที่จะมองคือ มองเป็นเครื่องบังคับหรือบังคับควบคุม

ถ้าพลเมืองมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับเมื่อไร ก็เรียกว่าฐานเสียเมื่อนั้น เพราะคนจะมีความรู้สึกขัดแย้ง (เช่นขัดแย้งต่อความสะดวกสบาย ขัดแย้งต่อความพอใจชอบใจส่วนตัว ตลอดจนขัดขวางผลประโยชน์ของตัว) ฝืนใจ และจึงมีความคิดโน้มไปสู่การที่จะละเมิดอยู่เสมอ

มีกฎหมายไว้จัดการปกครอง
เพื่อทำให้เกิดสังคมดี ที่คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตที่ดีงาม

ในทางพุทธศาสนานั้น ฐานเบื้องแรกคือการเริ่มจากจุดที่มองว่า วินัยเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ หรือเป็นเครื่องพัฒนาชีวิต เพราะการที่เข้ามาอยู่ร่วมชุมชนนี้ ก็คือการที่จะได้สภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ และโอกาสจากระเบียบและระบบการทุกอย่าง ที่จะช่วยเกื้อหนุนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตัวเราทุกคนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกตน พร้อมทั้งเป็นเครื่องช่วยให้ได้สภาพแวดล้อมและระบบการอยู่ร่วมกันที่เอื้อต่อการฝึกตัวนั้น นี่เป็นการมองมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ผู้ต้องศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว

ถึงตอนนี้ ขอให้ย้อนกลับไปมองความหมายข้อที่ ๓ ของวินัย ที่หมายถึงการปกครอง ที่ได้กล่าวไว้ว่า

“ชั้นที่ ๓ คือ ก) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น หรือการชักนำดูแลให้คนใช้ระเบียบและระบบนั้นเป็นเครื่องมือ(ที่จะช่วยกันทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการ)พัฒนาชีวิตของตน หรือ

ข) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่และประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น”

ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่า การปกครองที่แท้ถูกต้องตามหลัก คือข้อ ก) ที่ว่าเป็นการใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือเสริมสร้างโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการปกครองที่เป็นเครื่องมือของการศึกษา หรือเป็นการปกครองที่เอื้อหรือนำคนให้พัฒนาชีวิตสู่ความดีงาม

แต่คนจำนวนมากมักมองการปกครองตามความหมายในข้อ ๓. ข) ที่ว่า เป็นการบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรืออย่างน้อยก็ควบคุมคนให้ปฏิบัติตามระเบียบระบบนั้นๆ ซึ่งเป็นการปกครองแบบเน้นอำนาจ และเป็นการปกครองที่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง ซึ่งมิใช่เป็นการปกครองที่ถูกต้อง จัดเป็นการปกครองแบบกิจการชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ไม่ช่วยเชื่อมโยงไปสู่จุดหมายที่ดีงามสูงขึ้นไป

ถ้าการปกครองเป็นการบังคับควบคุมคนให้อยู่ในระเบียบ กฎหมายก็เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคน

ถ้าการปกครองเป็นการชักนำดูแลช่วยเสริมสร้างโอกาสให้คนฝึกศึกษาพัฒนาตน หรือสร้างสภาพเอื้อต่อการฝึกศึกษาพัฒนาตนของคน กฎหมายก็เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคน รวมทั้งเป็นเครื่องมือฝึกศึกษาพัฒนาตนของแต่ละคน

เมื่อเราแยกวินัยออกมาเป็นข้อๆ จะยิ่งเห็นความหมายนี้ชัดเจน วินัยเป็นชื่อรวม ซึ่งอาจจะเทียบได้กับคำว่าประมวลกฎหมาย วินัยไม่ใช้กับข้อบัญญัติแต่ละข้อ บทบัญญัติแต่ละข้อไม่เรียกว่าวินัย บางครั้งเราอาจสับสน วินัยเป็นศัพท์เอกพจน์ ไม่มีการใช้เป็นพหูพจน์ นอกจากแยกเป็นระบบหรือแบบแผนใหญ่ๆ คนละอย่าง เช่น วินัยของภิกษุ และวินัยของภิกษุณี

วินัย คือระบบทั้งหมด ซึ่งต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บนฐานแห่งธรรมคือความจริงของกฎธรรมชาติ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ระบบนี้แยกย่อยออกไปเป็นข้อๆ คล้ายกับมาตราในกฎหมาย แต่ละข้อเรียกว่า “สิกขาบท

คำว่า “สิกขาบท” นั้นบอกทัศนะของพระพุทธศาสนาในเรื่องนิติศาสตร์ชัดเจน

สิกขาบท คือ สิกขา + บท บท คือข้อ และ สิกขา คือศึกษา สิกขาบท จึงแปลว่า ข้อศึกษา หรือ ข้อฝึก กฎแต่ละข้อที่บัญญัติขึ้นมาในวินัยเป็นข้อศึกษาทั้งสิ้น

ถ้าพระภิกษุเรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง จะต้องมองกฎหรือพุทธบัญญัติต่างๆ ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่ต้องมองในความหมายว่าเป็นข้อฝึกตน หรือเป็นข้อศึกษา คือเป็นสิกขาบท คล้ายๆ กับเป็นแบบฝึกหัด (ในภาษาปัจจุบัน) ข้อกำหนดทุกอย่างในวินัยเป็น สิกขาบท คือข้อฝึกตนทั้งสิ้น

แม้แต่หลักความประพฤติที่ให้คฤหัสถ์ปฏิบัติ ที่เรียกว่า “ศีล” ก็เป็นคำที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ไม่เป็นทางการ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เวลาที่โยมขอศีล จะกล่าวว่า “ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ” แต่เวลาที่พระให้ พระจะสรุปว่า อิมานิ ปัญจะ สิกขาปทานิ, สีเลนะ สุคะติง ยันติ เป็นต้น ซึ่งฟ้องชัดว่า ศีล เป็นคำที่ชาวบ้านเรียก แต่พระเรียกว่า สิกขาบท โยมขอศีล พระให้สิกขาบท (โยมขอศีล พระบอกให้ตั้งใจถือปฎิบัติเอาแล้วจะเกิดเป็นศีลขึ้นในตัวเอง)

ขอให้สังเกตสิกขาบทแต่ละข้อ เช่นว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษาที่จะเว้นจากการทำลายชีวิต อะทินนาทานา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษาที่จะงดเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ดังนี้เป็นต้น ทุกข้อเป็น สิกขาบท หมายความว่า พระพุทธศาสนามองมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ก็ต้องฝึก ต้องศึกษา สิกขาบททั้ง ๕ ที่เรียกกันว่าศีล ๕ ข้อนี้ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้ชีวิตดีงามยิ่งขึ้น ไม่ใช่ข้อบังคับ

เป็นอันว่า วินัยแยกย่อยออกเป็นข้อๆ เรียกว่า “สิกขาบท” นี้คือข้อบ่งชัดว่า เรามองวินัย ตัวบทกฎหมาย บทบัญญัติต่างๆ เป็นเรื่องของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น

เมื่อใดเราปฏิบัติตามสิกขาบทได้แล้ว ตั้งอยู่ในวินัย จึงจะเป็นผู้มีศีล ศีลคือคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติตามวินัย หมายความว่า ศีลเกิดขึ้นที่ตัวคนเมื่อเขาปฏิบัติตามหรือตั้งอยู่ในวินัย

ในภาษาไทยเวลานี้สับสนมาก วินัยกับศีลก็แยกกันไม่ออก ศีลกับสิกขาบทก็ใช้กันสับสน

วินัย คือการจัดตั้งวางระบบและระเบียบแบบแผน กับทั้งตัวบทกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์กติกา ที่เป็นข้อกำหนดในการจัดตั้ง รวมทั้งการจัดการให้คนประพฤติปฏิบัติ หรือให้กิจการดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายเป็นต้นนั้น

เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัย โดยปฏิบัติตามสิกขาบท ก็เป็นผู้มีศีล ศีลจึงเป็นคุณสมบัติของคน เป็นสภาพการฝึกฝนพัฒนาที่อยู่ในตัวคน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า วินัย เป็นระเบียบชีวิตและระบบกิจการของสังคมมนุษย์ ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยปรีชาญาณที่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมคือความจริงของกฎธรรมชาตินั้น และจะได้มีชีวิตที่ดีงาม วินัยจึงต้องตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจในความจริงนั้น และการที่มนุษย์จะเข้าถึงความดีงามนี้ได้ มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดพัฒนาตน วินัยเป็นเครื่องมือพัฒนา ที่จะนำพามนุษย์ให้เข้าถึงธรรม และได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

ถ้ามองเช่นนี้ ก็จะเห็นความหมายของวินัยดีขึ้น

กระบวนวิธีในการบัญญัติข้อกฎหมาย
กฎหมายโดยหลักการ กับกฎหมายโดยบัญญัติ

เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ ที่มารวมกันเป็นวินัยนี้ พระองค์ตรัสแสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้งว่า ที่ทรงบัญญัติสิกขาบท คือ ข้อฝึก หรือกฎแต่ละข้อนี้ เพื่ออะไร ซึ่งได้แก่วัตถุประสงค์ ๑๐ ประการ (วินย.๑/๒๗; องฺ.ทสก.๒๔/๓๑) จัดได้เป็น ๕ หมวด คือ

๑. เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

๒. เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล

๓. เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์

๔. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปในสังคมใหญ่ที่แวดล้อม

๕. เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา

ทั้ง ๕ หมวดนี้แยกย่อยเป็นหมวดละ ๒ ข้อ ดังนี้

๑. เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม

๑.๑ “สังฆสุฏฐุตายะ” เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยส่วนรวม ที่จะมีความเรียบร้อย อยู่กันด้วยดี ด้วยการตั้งวินัยขึ้นมาบนฐานแห่งการยอมรับร่วมกัน ที่ว่า “ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์” หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช้วิธีบังคับขืนใจ แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อผลดีร่วมกัน และโดยความยอมรับร่วมกัน

๑.๒ “สังฆผาสุตายะ” เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ไม่ใช่เฉพาะแต่อยู่เรียบร้อยดี ต้องอยู่สบายด้วย และเป็นความสบายของส่วนรวม

๒. เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล

๒.๑ เพื่อกำราบคนหน้าด้าน (ทุมมังกุ = ผู้เก้อยาก)

๒.๒ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

พูดสั้นๆ ว่า เพื่อส่งเสริมคนที่ประพฤติดี และกำราบคนที่ประพฤติชั่ว หรือเพื่อปิดช่องคนร้าย-ให้โอกาสคนดี

๓. เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์เอง คือคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดกับชีวิตของมนุษย์ เช่น เรื่องความดี ความชั่ว เป็นต้น โดยมุ่งที่จะสร้างสภาพเอื้อต่อชีวิตที่ดีงาม

๓.๑ เพื่อปิดกั้นผลเสียหายที่จะเกิดในปัจจุบัน

๓.๒ เพื่อป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดในอนาคต

๔. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป คือ เพื่อผลดีแก่จิตใจของประชาชน ทำให้คนมีจิตใจผ่องใสด้วยอาศัยความดีงามของพระสงฆ์เป็นสื่อ

๔.๑ เพื่อความเลื่อมใสของประชาชนที่ยังไม่มีความเลื่อมใส

๔.๒ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไปของประชาชนที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว
สองข้อนี้มุ่งเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเอง เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนากับประชาชนมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทำให้เขามีจิตใจที่สงบ แช่มชื่น สบาย ผ่องใส เกิดศรัทธา มีปีติและความสุข เป็นกุศลพื้นฐานที่จะนำไปสู่คุณความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป

๕. เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา
๕.๑ เพื่อให้สัทธรรม คือธรรมที่แท้ หรือหลักการที่แท้ของพระศาสนา ดำรงอยู่ได้มั่นคงยั่งยืน
๕.๒ เพื่ออนุเคราะห์วินัย คือ เพื่อช่วยค้ำจุนให้ระเบียบแบบแผนและระบบการต่างๆ เกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างยั่งยืน (เพื่อให้วินัยเกิดผลสมวัตถุประสงค์)

แต่ละครั้งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท พระองค์จะทรงแถลงวัตถุประสงค์เหล่านี้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น จะขอเล่าวิธีบัญญัติสิกขาบทในพระวินัยของพระพุทธเจ้า (วินัยคือรวมสิกขาบททั้งหมด)

กล่าวตามวิวัฒนาการในสังฆะ เมื่อสงฆ์คือชุมชนของพระภิกษุยังเล็กอยู่ (เมื่อพระพุทธเจ้าตั้งสงฆ์ใหม่ๆ) บุคคลที่เข้ามาในตอนแรกรู้ชัดในวัตถุประสงค์ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ว่า เราเข้ามาเพื่อจะพัฒนาชีวิต ด้วยการเรียนรู้ และฝึกตนในไตรสิกขา เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามที่ประเสริฐ ตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า มนุษย์จะประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ ผู้ที่ฝึกแล้วหรือศึกษาแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด แม้ยิ่งกว่าเทพเจ้า

หลักการของพระพุทธศาสนามีอย่างไร ผู้เข้ามารู้ตระหนักชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น สังฆะในระยะแรกจึงดำรงอยู่โดยไม่มีกฎหรือข้อบังคับ วินัยมีอยู่โดยหลักการอย่างเป็นไปเอง วินัยมีอยู่แล้วทั้งๆ ที่ไม่มีสิกขาบท มีแต่เพียงหลักการ และข้อนัดหมาย หรือข้อหมายรู้ร่วมกันตามหลักการนั้น

ให้ตั้งข้อสังเกตว่า วินัย ไม่จำเป็นต้องมีสิกขาบท คือมีระบบแบบแผนโดยไม่ต้องมีข้อบัญญัติ หรือมีการปฏิบัติตามหลักการโดยไม่ต้องมีข้อกำหนด

ตอนแรกมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท พระก็อยู่กันได้ด้วยดี โดยถือหลักการ ปฏิบัติไปตามหลักการ มีหลักการเป็นเครื่องรักษาควบคุม ดังปรากฏว่า ในวันอุโบสถ เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมกัน พระพุทธเจ้าก็ทรงแถลงหลักการของพระพุทธศาสนา เป็นการทบทวนว่าพระพุทธศาสนามีอุดมการณ์อย่างนี้ มีหลักการอย่างนี้ (พูดสั้นๆ ว่า มีแต่โอวาทปาติโมกข์ คือหลักการแม่บท ไม่มีอาณาปาติโมกข์ คือกฎหมายแม่บท) ทรงปฏิบัติเช่นนี้ตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๒๐ ปี จนกระทั่งเมื่อมีการบัญญัติสิกขาบทแล้ว จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันทบทวนตรวจสอบความประพฤติด้วยสิกขาบทเหล่านั้น (พูดสั้นๆ ว่า ต่อจากนั้นจึงมีอาณาปาติโมกข์) (องฺ.อฏฺฐก.๒๓/๑๑๐/๒๐๗; วินย.อ.๑/๒๑๒, ๒๑๔, ๒๔๘; อุ.อ.๓๑๙)

ขอยกตัวอย่างหลักการใหญ่ๆ เช่นที่เรานำมาสวดกันว่า “ไม่ทำชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส” หรือ “นิพพานเป็นบรมธรรม” หรือ “บรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีลักษณะสำคัญคือเป็นผู้ไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใคร” หลักการเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแถลงทบทวนกับที่ประชุมของพระสงฆ์ โดยไม่มีข้อบัญญัติย่อยละเอียดลงไปเป็นกฎข้อบังคับที่จะลงโทษแก่ผู้ทำผิด พระสงฆ์ในระยะแรกอยู่กันด้วยหลักการ

ความเป็นมาของการที่จะบัญญัติสิกขาบทมีเรื่องราวที่น่าสนใจว่า (วินย.๑/๗-๘) ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศาสนาของพระพุทธเจ้าในอดีตที่พูดถึงในขณะนั้น ซึ่งมีพระพุทธเจ้าที่ออกพระนาม ๕ พระองค์

พระสารีบุตรทูลถามว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนที่มั่นคงยั่งยืน ของพระองค์ไหนไม่มั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ศาสนาของพระวิปัสสี พระสิขี และพระเวสสภู ตั้งอยู่ไม่นาน ไม่มั่นคงยั่งยืน แต่ศาสนาของพระกกุสันธะ และพระโกนาคมนะ ตั้งอยู่มั่นคงยั่งยืนยาวนาน

พระสารีบุตรทูลถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดศาสนาของ ๓ พระองค์แรกจึงไม่มั่นคงยั่งยืน และเพราะเหตุใดของ ๒ พระองค์หลังจึงมั่นคงยั่งยืน พระพุทธเจ้าตรัสเฉลยว่า เพราะว่า พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ที่ออกพระนามมาข้างต้นนั้น ไม่ค่อยจะได้ทรงสั่งสอน และมีคำสอนที่เป็นหลักการต่างๆ น้อย อีกทั้งไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ และไม่ได้มีการประชุมทบทวนประมวลบทบัญญัติที่เรียกว่า “ปาติโมกข์” ต่างจากศาสนาของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์หลัง ซึ่งมีคำสั่งสอนมาก มีการบัญญัติสิกขาบท คือตราข้อกฎหมายไว้เป็นแบบแผน เรียบร้อย

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบว่า พระภิกษุทั้งหลายมาจากชาติตระกูลต่างๆ กัน ภูมิหลังต่างๆ กัน เหมือนกับดอกไม้นานาพันธุ์ที่เขานำมาวางบนพื้นกระดาน ถ้าไม่ได้ร้อยไว้ด้วยเส้นด้าย ลมมาก็พัดกระจุยกระจาย แต่ถ้าเอาด้ายร้อยไว้ก็จะคุมกันอยู่ แม้ลมพัดมาก็จะไม่กระจุยกระจาย

สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เวลานั้นมีหลักคำสอนมากแล้ว แต่ยังไม่ได้บัญญัติสิกขาบท พูดง่ายๆ ว่ากฎหมายยังไม่มี พระสารีบุตรจึงทูลอาราธนาว่า ถ้าเช่นนั้น เพื่อจะให้พระศาสนาของพระองค์ในบัดนี้ มั่นคงยั่งยืนต่อไป ขอให้พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ยังไม่ถึงเวลา”

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าเมื่อใดจะถึงเวลา คือเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น มีข้อเสียหายเกิดขึ้น จึงจะทรงบัญญัติสิกขาบท และข้อเสียหายต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ สังฆะนี้

๑. ตั้งมาได้เป็นเวลายาวนานพอสมควร

๒. ขยายตัวใหญ่โตขึ้น

๓. มีผลประโยชน์เกิดมากขึ้น

เมื่อนั้นแหละจะเกิดปัญหามีข้อเสียหายขึ้นมา และจะทรงบัญญัติสิกขาบท นี้เป็นแนวทัศนะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์

ผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญ นี่คือเรื่องของมนุษย์ แม้แต่ในพระสูตรที่ตรัสถึงการปกครองของมนุษย์ ก็ตรัสว่า แต่เดิม มนุษย์ยังไม่มีการปกครอง ต่อมามีผู้คนจำนวนมากขึ้น และมีผลประโยชน์เกิดขึ้น ซึ่งในยุคแรกเป็นเรื่องของพืชผลในที่ดิน จึงมีการจัดแบ่งสรรปันเขตที่ดิน และต่อมาก็เกิดมีการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ในที่ดินนั้น จึงมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ ในพระพุทธศาสนาจึงเล่าประวัติการเกิดขึ้นของผู้ปกครอง โดยถือเป็นเรื่องของวิวัฒนาการในสังคมมนุษย์ (ที.ปา.๑๑/๖๑-๖๓/๙๙–๑๐๑) ต่างจากในศาสนาพราหมณ์ที่ถือว่า พระพรหมเทพเจ้าจัดตั้งกำหนดผู้ปกครองมาให้ และเมื่อมีการปกครอง ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ อย่างน้อยก็คือข้อตกลงกัน จึงมีสิ่งที่เรียกว่า กฎหมาย (กฎหมายนี้ศาสนาพราหมณ์ก็ว่าเป็นบัญญัติของพระพรหมเช่นกัน)

ข้อกำหนดของกฎหมาย หรือสิกขาบทในวินัย ท่านบัญญัติไว้ก็เพื่อให้ได้ผลตามหลักการ ดังวัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการ ที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งพูดได้ว่า ข้อสุดท้าย คือ ข้อ ๑๐ เป็นข้อที่คุมและคลุมทั้งหมด

วัตถุประสงค์ข้อที่ ๑๐ ตามคำบาลีว่า “วินยานุคฺคหาย” แปลว่า เพื่ออุดหนุนหรือค้ำจุนวินัย หมายความว่า บัญญัติสิกขาบท คือตรากฎหมายขึ้น ก็เพื่อค้ำจุนระบบที่จัดตั้งไว้ หรือพูดอีกความหมายหนึ่งว่า เพื่อเกื้อหนุนการปกครอง

เมื่อผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทั้ง ๑๐ ประการนั้น ก็จะเกิดสภาพเอื้อโอกาสและเกื้อหนุนให้สมาชิกทุกคนของสังคม/สังฆะ สามารถพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป ดังกล่าวข้างต้น

หันกลับมาพูดเรื่องการบัญญัติสิกขาบทว่า ต่อมามีเหตุไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นซึ่งพระสงฆ์และประชาชนติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงเริ่มบัญญัติสิกขาบท ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละข้อ หรือแต่ละมาตรานี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติตามลำดับทำนองนี้ คือ

๑. มีพระภิกษุทำเรื่องเสียหายเกิดขึ้น

๒. ประชาชนหรือพระสงฆ์กล่าวติเตียนว่าเป็นสิ่งเสียหาย ไม่ดีไม่งาม แล้วเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์เองถือเป็นหน้าที่ พอได้ยินประชาชนโจษขานว่าพระองค์นั้นองค์นี้ประพฤติไม่เหมาะ ก็จะมีพระนำความมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ให้พระภิกษุทั้งหลายมาประชุมกัน และเรียกตัวบุคคลที่ทำความผิดเสียหายนั้นมาซักถามในที่ประชุม เมื่อยอมรับว่าเป็นความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงชี้แจงโทษความเสียหายว่าการกระทำนั้นไม่ดีไม่ถูกต้องอย่างไร ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไร เมื่อชี้แจงเสร็จแล้วจึงตรัสว่าจะทรงบัญญัติสิกขาบท โดยทรงแถลงวัตถุประสงค์ ๑๐ ประการในการบัญญัติสิกขาบท แล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงยกสิกขาบทขึ้นแสดง (เป็นหลักอ้างอิง) ดังนี้ว่า . . .”

โดยนัยนี้จึงเกิดเป็นข้อบัญญัติที่เรียกว่าสิกขาบท ขึ้นมาทีละข้อ สิกขาบทแต่ละข้อนั้นมีบัญญัติต้นเดิมก่อน หากต่อมาปรากฏว่ายังไม่เหมาะ เช่นควรมีข้อยกเว้น และจะทรงปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติม ก็ทรงเรียกประชุมสงฆ์อีก แล้วตรัสชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้น และปรับแก้สิกขาบทนั้นใหม่

การบัญญัติครั้งแรก เรียกว่า มูลบัญญัติ หรือบัญญัติเดิม ส่วนข้อแก้ไขเพิ่มเติม เรียกว่า อนุบัญญัติ สิกขาบทบางสิกขาบทจึงมีทั้งมูลบัญญัติและอนุบัญญัติ และอนุบัญญัตินั้นอาจจะมีหลายครั้งด้วย

ขอยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพระภิกษุเดินทางไปกับภิกษุณี ประชาชนติเตียนว่า พระเดินทางไปกับภิกษุณี สงสัยว่าจะเป็นสามีภรรยากัน ชาวบ้านโจษขานกันไป ติเตียนให้เสียหาย พระพุทธเจ้าทรงเรียกประชุมสงฆ์และดำเนินขั้นตอนตามแบบแผน แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ไม่ให้พระภิกษุเดินทางไกลไปไหนกับภิกษุณี นี้เป็น มูลบัญญัติ

ต่อมาปรากฏว่า เมื่อมีการเดินทาง ภิกษุไม่ยอมเดินทางร่วมกับภิกษุณี และเมื่อแยกกันเดินทาง ภิกษุณีถูกประทุษร้าย เกิดปัญหาเป็นเรื่องมาถึงพระพุทธเจ้า ก็ทรงประชุมสงฆ์ และทรงบัญญัติสิกขาบทแก้ไขเพิ่มเติมจากมูลบัญญัติว่า ไม่ให้เดินทางร่วมกัน เว้นแต่สมัย คือ เมื่อมีเหตุอันสมควร ได้แก่ หนึ่ง เดินทางไปกับกองคาราวาน สอง มีภัยอันตราย (วินย.๒/๔๕๒/๒๙๐) ข้อที่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้เรียกว่า อนุบัญญัติ

กฎหมายที่แท้ประสานประโยชน์ของบุคคลกับสังคม
และประสานสมมติของมนุษย์ เข้ากับความจริงแท้ของธรรมชาติ

ขอย้ำว่า วินัยที่เราเรียกว่ากฎหมายนั้น ไม่ถือความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมาย แต่เป็นการสร้างสภาพเอื้อ คือ เพื่อให้มีความสงบเรียบร้อย ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้บุคคลแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาชีวิตสู่จุดหมายที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คือ เป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการศึกษานั้นเอง

เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า การที่มีกฎหมายหรือมีวินัยนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนจะพัฒนาตน คือพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะเราถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนต้องศึกษา ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีได้เลยทันที และยิ่งกว่านั้น ยังมีคุณค่าดีงามสูงส่งขึ้นไปที่ชีวิตมนุษย์ควรจะได้จะถึงยิ่งขึ้นไปๆ อีก

เป็นอันว่า การตั้งกฎเกณฑ์ หรือกติกาสังคมนี้

๑. เพื่อสร้างสภาพที่มนุษย์จะอยู่กันด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นอันดี

๒. เพื่อให้สภาพที่สงบเรียบร้อยนั้น เป็นเครื่องเกื้อหนุนต่อการที่มนุษย์เหล่านั้นทุกๆ คนจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คือเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี

กฎหมายไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่สร้างสภาพเอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย

มองในแง่ของพระพุทธศาสนา ข้อหลังนี้สำคัญกว่า คือการจัดสรรสภาพที่เอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะเราถือตามความจริงของธรรมชาติว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก ต้องศึกษา จึงจะสามารถมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

ถ้ามองง่ายๆ เราอาจจะคิดว่า ขอให้กฎหมายสอดคล้องกับหลักศีลธรรมก็แล้วกัน เมื่อคนมีศีลธรรมได้ก็ดีแล้ว คือเรายอมรับว่าศีลธรรมเป็นหลักที่ดีอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ศีลธรรมมีผลปฏิบัติในสังคม เพราะว่าหลักเกณฑ์ของศีลธรรมนั้นไม่มีเครื่องบังคับ อาจจะไม่ได้ผล จึงต้องเอากฎหมายมาช่วย

ยกตัวอย่างเช่น เราถือว่าศีล ๕ ดีแล้ว ถ้าคนประพฤติตามศีล ๕ หมด สังคมก็เรียบร้อย แต่ทำอย่างไรจะให้คนประพฤติตามศีล ๕ นั้น ก็ต้องตรากฎหมาย รัฐก็เอาใจใส่วางกฎเกณฑ์กติกาข้อบัญญัติขึ้นมา เพื่อจะให้ศีลธรรมได้ผล กฎหมายจึงสอดคล้องกับระบบศีลธรรม

แต่ที่จริง ลึกลงไปไม่ใช่เพียงแค่นั้น ศีล ๕ ก็เป็นข้อฝึกคน คือแต่ละข้อเป็นเพียงสิกขาบทเท่านั้น เราจะเอากฎหมายมาบังคับให้คนมีศีล ๕ ยังไม่ถูก แต่ทำอย่างไรจะเอากฎหมายมาช่วยให้คนพัฒนาตนให้มีศีล ๕ หรือสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนจะ(พัฒนาตนให้)มีศีล ๕ เพื่อจะได้สามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องมุ่งในแง่ว่า จะทำอย่างไรให้คนมีโอกาสพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีต่างหาก เราต้องการอันนี้

เมื่อมองในแง่นี้จึงถือว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา เพื่อให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การจัดระบบกิจการอะไรต่างๆ ของสังคมจะมีจุดหมายรวมอยู่ที่นี่

ในเรื่องนี้ สังคมจะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในการที่จะต้องมีจุดหมายที่ดีงามชัดเจน ถ้าไม่มีการสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดจุดหมายที่ชัดเจนไว้ ก็จะมีจุดหมายที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่ออันตราย เพราะอาจจะเป็นจุดหมายที่ไม่เคยนึกถึงและไม่เคยยกขึ้นมาตรวจสอบ และกลายเป็นจุดหมายที่ผิดพลาดก็ได้

ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่ได้พูดออกมาและไม่ชัดแก่ตนเอง แต่เวลาตัดสินใจทุกครั้ง จะต้องมีความเข้าใจนี้แฝงกำกับอยู่เบื้องหลัง ถ้าความเข้าใจและความมุ่งหมายนี้ไม่ได้รับการพัฒนาและไม่เคยจับยกขึ้นมาตรวจสอบ ก็อาจก่อความผิดพลาดได้ และก็จะกลายเป็นการสร้างผลร้ายแก่สังคมโดยไม่รู้ตัว

เป็นอันว่า เมื่อเราจะสร้างสภาพเอื้ออย่างที่ว่านี้ เราก็จึงจัดตั้งชุมชนขึ้นมา ชุมชนที่มีสภาพเอื้อต่อการศึกษาของคนคืออย่างไร ถ้าใช้ศัพท์พระก็คือ “ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร”

หมายความว่า บุคคลที่มาอยู่ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่องค์พระศาสดาหรือผู้นำ เป็นกัลยาณมิตรคือผู้ที่จะช่วยเกื้อหนุนผู้อื่นในการที่จะพัฒนาชีวิตได้ดี ให้เป็นชีวิตที่เจริญงอกงามมีความสุขยิ่งขึ้น พระภิกษุทั้งหลายที่มาอยู่ด้วยกัน ก็คือมาช่วยกัน มาเอื้อต่อกัน มาอุดหนุนกัน ให้แต่ละบุคคลพัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตรขึ้น

ด้วยการกำหนดวางหรือบัญญัติสิกขาบทเหล่านี้ สิกขาบททั้งหลายจึงเป็นทั้งข้อฝึกคน และเป็นเครื่องมือสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ให้บุคคลที่เข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ในการเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ก็คือ เพื่อการศึกษานั่นเอง

เพราะฉะนั้น สังฆะ คือชุมชนนี้ จึงมีประโยชน์ที่จะให้ชีวิตของแต่ละบุคคลได้รับประโยชน์จากสังฆะ เมื่อแต่ละคนได้ประโยชน์จากสังฆะ แต่ละคนนั้นก็ต้องเป็นส่วนประกอบหรือส่วนร่วม ที่จะต้องช่วยเอื้อเฟื้อเกื้อต่อสังฆะด้วยเช่นกัน เป็นการเอื้อต่อกันระหว่างสังคมกับบุคคล ไม่ใช่ข้างเดียว คือ ไม่ใช่บุคคลเพื่อสังคม หรือสังคมเพื่อบุคคล

เราสร้างสังคม/สังฆะขึ้นมา เพื่อให้มีสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลนั้นจะพัฒนาตัวได้ด้วยดีสู่การเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม และสังฆะนั้นจะดำรงอยู่ด้วยดี ก็ด้วยการที่บุคคลแต่ละคนนั้นเป็นส่วนร่วมที่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีหลักการและบทบัญญัติว่า แต่ละบุคคลจะต้องมีความสัมพันธ์กับสังคม/สังฆะที่เป็นส่วนรวมนั้นอย่างไร และก็จะมีหลักการขึ้นมาอย่างหนึ่งในแง่ที่เกี่ยวกับวินัยว่า พระภิกษุจะต้องถือสังฆะเป็นใหญ่ คือถือส่วนรวมเป็นใหญ่

มีพระดำรัสของพระพุทธเจ้าเองว่า

“เราเคารพธรรม (คือถือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม ตัวกฎธรรมชาติ) แต่เมื่อสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น เราก็เคารพสงฆ์ด้วย” (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑๒๕)

เพราะฉะนั้น เมื่อสังฆะคือชุมชนสงฆ์ขยายใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ ตอนแรกพระพุทธเจ้าทรงตั้งสังฆะขึ้น พระองค์ทรงบวชให้แก่ผู้ขอเข้ามาในสังฆะ ด้วยพระองค์เอง ใครต้องการจะเข้ามาในสังฆะ พระองค์ก็ทรงรับเอง ทรงพิจารณาคุณสมบัติเอง แต่เมื่อสังฆะใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้สังฆะบวช จึงต้องตั้งกฎเกณฑ์และระเบียบการดำเนินการในการบวชขึ้นมา เช่นว่า

๑. ต้องมีที่ประชุม องค์ประชุมต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป คือกำหนดองค์ประชุม

๒. ตัวผู้ที่ขอบวช ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ

๓. มีวิธีดำเนินการบวช เช่น เมื่อเริ่มการประชุม จะต้องมีภิกษุรูปหนึ่งที่มีสติปัญญาความสามารถ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุม เป็นผู้ซักถามคุณสมบัติของผู้ขอเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ทั้งซ้อมข้างนอกที่ประชุม แล้วซักถามเอาจริงในที่ประชุม ให้ที่ประชุมพิจารณาตรวจสอบว่าผู้นี้มีคุณสมบัติที่จะบวชได้หรือไม่ จะยอมรับเข้าสู่สงฆ์ได้หรือไม่

พร้อมนั้นก็ให้มีอุปัชฌาย์เป็นตัวประกันที่จะให้ความมั่นใจแก่สงฆ์ว่า ผู้ที่เข้ามาบวชนั้นจะได้รับการศึกษาอย่างแน่นอน ไม่เคว้งคว้างเลื่อนลอย

นี้คือการบวช ซึ่งเป็นเรื่องของสังฆกรรม แต่มาปัจจุบันนี้มักเหลือเพียงเป็นพิธี จนกระทั่งผู้ที่เข้าไปร่วมกิจกรรมนั้นไม่รู้ว่าทำอะไรกัน แต่ที่จริงคือการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ

เนื่องจากพระพุทธเจ้าเองทรงให้ถือสังฆะเป็นใหญ่ พระองค์ก็เคารพสงฆ์ จึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ดำเนินการ เริ่มแต่กำหนดให้มีองค์ประชุมว่า การที่จะทำกิจการระดับนี้ต้องใช้องค์ประชุมเท่านี้ เช่น ถ้าสวดปาติโมกข์ ต้องใช้ ๔ รูปขึ้นไป ถ้ารับกฐินต้อง ๕ รูปขึ้นไป ถ้าจะบวชภิกษุต้อง ๑๐ รูปขึ้นไป ต่อมาก็มีอนุบัญญัติว่าในถิ่นไกลชายแดน ที่เรียกว่าปัจจันตประเทศ หาพระยาก และพระที่จะไปก็เป็นผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาดีพอสมควรแล้ว จึงยอมลดหย่อนให้ว่า ให้องค์ประชุมมีพระเพียง ๕ รูปได้ เป็นต้น

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องชีวิตของสงฆ์ แต่ข้อสำคัญก็คือ ให้ภิกษุถือสงฆ์เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์ เพราะฉะนั้นพระภิกษุจะต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

พระภิกษุ แม้แต่เป็นพระอรหันต์ เมื่อมีกิจการของส่วนรวมเกิดขึ้น ถ้าไม่มาเข้าที่ประชุม ก็อาจถูกลงโทษ มีพระอรหันต์ถูกที่ประชุมลงโทษในประวัติของพระพุทธศาสนาหลายองค์ อย่าได้นึกว่าพระอรหันต์พ้นโทษ ในแง่ของธรรมท่านพ้นโทษคือไม่มีกิเลส แต่ในแง่ของวินัยไม่พ้น

วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรม และเพื่อธรรม แต่แยกออกเป็นคนละเรื่องกัน ธรรมเป็นเรื่องของความจริงแท้ในธรรมชาติ ส่วนวินัยเป็นเรื่องของสมมติเพื่อหนุนธรรม แต่สมมติไม่จำเป็นต้องรอธรรม

คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมว่ามีกฎธรรมชาติเป็นกฎแห่งกรรม เขาจะได้รับผลตามกรรมของเขา แต่วินัยไม่รอ วินัยจึงตั้งกรรมสมมติขึ้นมา และนำผู้กระทำความผิดเข้ามาในกลางที่ประชุมและลงโทษ วินัยไม่รอธรรม จึงไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยจึงจัดการทันที

ในเรื่องนี้ยังมีชาวพุทธที่เข้าใจไม่ค่อยถูกต้องว่า ใครทำกรรมชั่ว เราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวเขาก็ต้องรับผลกรรมของเขาเอง การมองอย่างนี้แสดงว่าพลาดแล้ว

ในพระพุทธศาสนามีหลักการ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ในเรื่องของสังคม ถ้าผิด วินัยก็จัดการทันที หมายความว่า วินัยมีวิธีดำเนินการเพื่อให้ธรรมสำเร็จเป็นผลในสังคม มิฉะนั้น ในที่สุด ถ้าเราไม่เอาใจใส่ การปฏิบัติตามธรรมก็จะคลาดเคลื่อนไป และสังคมก็จะคลาดจากธรรม

อย่างไรก็ตาม จะต้องทำความเข้าใจลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ แท้จริงนั้น ที่พูดว่า “วินัยไม่รอธรรม” เช่น เมื่อมีภิกษุทำความผิด วินัยและสงฆ์จะไม่รอให้กรรมแท้ตามกฎธรรมชาติแสดงผล แต่สงฆ์จะนำเอากรรมสมมติตามวินัยมาใช้จัดการกับภิกษุนั้นทันที การที่พูดอย่างนี้นับว่าเป็นสำนวนพูดในระดับหนึ่ง

จะต้องไม่เข้าใจผิดไปว่ามนุษย์แยกตัวเองพ้นเหนือกฎธรรมชาติได้ เพราะว่าการจัดตั้งต่างๆ โดยสมมติ และปฏิบัติการต่างๆ ในทางวินัยทุกอย่างนั้น แท้ที่จริงก็คือความสามารถพิเศษของมนุษย์ ที่นำเอาปัจจัยในฝ่ายของตนเองเข้าไปเป็นส่วนร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่มนุษย์ในทางที่ดีงามพึงปรารถนา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัย หรือระบบสมมติทั้งหมด ก็คือการที่มนุษย์นำเอาปัญญาและเจตจำนง ซึ่งเป็นคุณสมบัติธรรมชาติอันวิเศษที่ตนมีอยู่ มาเพิ่มเข้าไปเป็นปัจจัยพิเศษในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้กระบวนการของเหตุปัจจัยนั้น ดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน โดยสอดคล้องกับปัญญาและเจตจำนงของมนุษย์นั้นเอง

ปัญญา และ เจตนาหรือเจตจำนงที่ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ นั้นก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง แต่เป็นธรรมชาติด้านนามธรรม และเป็นธรรมชาติส่วนพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการฝึกศึกษาพัฒนาที่เป็นศักยภาพของมนุษย์

พูดสั้นๆ ว่า วินัย คือการนำเอาปัญญาและเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของมนุษย์ เข้าไปร่วมเป็นปัจจัยที่จะผันแปรกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดผลดีแก่ตนในเชิงสังคม

ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา อยู่ที่นี่ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักใช้คุณสมบัติเหล่านี้ให้เป็นปัจจัย ความเป็นมนุษย์จะมีประโยชน์อะไร

การที่กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากปัญญาและเจตจำนง/เจตนาของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะชักนำให้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่มนุษย์ตามความต้องการของปัญญาและเจตจำนงได้จริงนั้น ย่อมเป็นข้อเรียกร้องหรือบังคับอยู่ในตัวว่า มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาและเจตจำนงในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้นำไปสู่ผลที่ต้องการได้จริง

ขอย้อนกลับไปย้ำว่า บุคคลต้องเกื้อหนุนต่อสังฆะ โดยเคารพสงฆ์ คือถือสงฆ์เป็นใหญ่ การที่อยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งมั่นคงของสังคมหรือสังฆะนั้น แล้วสังฆะจะได้มารองรับหนุนบุคคลนั้นให้เจริญเติบโตขึ้นไปได้ ถ้าสังฆะไม่เจริญมั่นคง ก็จะไม่เอื้อให้บุคคลเจริญเติบโต เพราะฉะนั้น จึงให้ถือหลักการเรื่องถือสงฆ์เป็นใหญ่และหลักการเรื่องความสามัคคีเป็นสำคัญ ตามหลักที่เรียกว่า “สังฆสามัคคี” แปลว่า ความพร้อมเพรียงของสงฆ์ ถ้าสงฆ์ไม่มีความสามัคคีแล้ว สภาพชีวิตและระบบความเป็นอยู่ก็จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาของบุคคล เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสามัคคี

ขอย้ำเรื่องความสามัคคีอีกหน่อยว่า สามัคคีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตหมู่ หรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม (เช่น ขุ.อิติ.๒๕/๑๙๗/๒๓๘) โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย สามัคคีก็คือความพร้อมเพรียงกัน ความร่วมแรงร่วมใจกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า เอกีภาพ (แต่ไทยเรานิยมใช้ว่า เอกภาพ)

โดยทั่วไป เราจะมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของความสามัคคีในแง่ของความมีพลัง คือเป็นการรวมกำลังกัน ตรงข้ามกับความแตกแยกขัดแย้งที่ทำให้สูญสิ้นกำลัง เมื่อสามัคคีกัน คน ๒ คน มารวมกับคนอีก ๒ คน ก็เท่ากับ ๒+๒ เป็น ๔ แต่ถ้าขัดแย้งแตกแยกกัน คน ๒ คน มาพบกับคนอีก ๒ คน ก็เท่ากับ ๒-๒ เป็น ๐

คุณค่าแท้ของสามัคคีที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานของวินัยและประชาธิปไตย ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น คือ ทำให้สังคมเกิดมีคุณประโยชน์ตามความหมายของมัน โดยเป็นสภาพเอื้ออำนวยโอกาสแก่ทุกคนที่จะดำรงชีวิตของตนอยู่ด้วยดี สามารถพัฒนาชีวิตของตนให้เข้าถึงประโยชน์สุขยิ่งขึ้นไป

แต่ลึกลงไปอีก คุณค่าและความหมายของสามัคคีที่มักไม่ได้นึกถึงกัน ก็คือ สามัคคีเป็นฐานรองรับสมมติไว้ ถ้าไม่มีสามัคคี สมมติก็อยู่ไม่ได้ อารยธรรมก็สั่นคลอน เพราะสังคมมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยสมมติ และสามัคคีก็รองรับสมมติไว้ โดยทำให้คนยอมรับตามสมมตินั้น

ถ้าคนไม่สามัคคีกัน ก็จะเกิดการไม่ยอมรับตามสมมติ เช่น ไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นหรือของคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน ไม่ยอมรับสิทธิต่างๆ ของคนพวกอื่นฝ่ายอื่น ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกฎหมาย จึงทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายระส่ำระสาย จนถึงอาจจะทำให้สังคมดำรงอยู่ไม่ได้

ในทางกลับกัน ถ้าสมมติไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม หรือไม่เป็นไปตามธรรม ก็จะทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน ไม่สามารถร่วมจิตร่วมใจกัน และยอมรับสมมตินั้นไม่ได้ แล้วความขัดแย้งแตกสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงหรือแพร่หลาย ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสลายของสังคม

จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่จะให้สมมติที่เป็นหลักของสังคมตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม และเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อให้เกิดความสามัคคี แม้หากว่าสมมตินั้นขัดต่อผลประโยชน์ของบุคคลบางคน แต่ถ้าสมมตินั้นชอบธรรม มีธรรมเป็นฐานรองรับ เขาก็ไม่อาจปฏิเสธสมมตินั้นได้ พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีการพัฒนาคนอยู่เสมอเพื่อให้ร่วมสามัคคีในการที่จะยอมรับและปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรมนั้นๆ

ถ้าคนไม่ยอมรับความจริงในธรรมดาของธรรมชาติ เขาก็จะได้รับผลร้ายตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ แต้ถ้าเขาไม่ยอมรับสมมติ เขาก็จะแตกสามัคคีกันในสังคมมนุษย์เอง และผลร้ายก็เกิดแก่เขาเนื่องจากความแตกสลายของสังคมของเขานั้น

พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องสามัคคี ในทางสังคมนั้น นอกจากบัญญัติสิกขาบทแล้ว ก็มีหลักการในด้านธรรมที่จะอุดหนุนวินัยด้วย พร้อมทั้งในทางวินัยก็ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาเพื่อสร้างความสามัคคี

ดังนั้น ถ้าพระเกิดทะเลาะกันขึ้นจึงต้องมีวิธีระงับอธิกรณ์ คือ ดำเนินคดี เพื่อตัดสินความผิด และลงโทษกัน ให้เสร็จสิ้นไป ไม่ให้ต้องรออยู่อย่างนั้น และถ้ามีคดีเกิดขึ้นแต่ไม่ดำเนินการ ก็ต้องเอาผิดกับพระที่ไม่ดำเนินการอีก จะไปอ้างว่ารอให้กรรมจัดการ ไม่มีทาง วินัยไม่รอด้วย วินัยก็มีกรรมที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที (ดูเรื่องสังฆกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงนิคคหกรรมจำนวนมาก ในพระวินัยปิฏก)

เป็นอันว่า กรรม มี แบบ คือ

๑. กรรมในธรรม ที่เป็นกฎธรรมชาติ

๒. กรรมในวินัย ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยสมมติ

ในทางวินัย ถ้าพระทำผิด ชุมชนคือสงฆ์ ก็มีกรรมสมมติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบท ที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที และต้องจัดการโดยไม่รอกรรมในกฎธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะว่า ถึงตอนนี้ เราได้นำเอากรรมสมมติ ที่เกิดจากปัญญาและเจตนาของมนุษย์ มาเป็นปัจจัยร่วมที่เพิ่มเข้าไปเป็นกรรมในกฎธรรมชาติด้วยแล้ว

 

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง