นิติศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

– ๒ –
หลักแห่งปฏิบัติการ

ถ้าคนอยู่ในหลักการ ก็ไม่ต้องมีกฎหมาย
ถ้ากฎหมายไม่ใช่เพื่อหลักการ ก็ไม่ควรให้เป็นกฎหมาย

กฎหมายแม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่เป็นหลักประกันว่าจะทำให้ชีวิตดีงามและสังคมมีสันติสุขได้ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ที่มีและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของประชาชน คนจะต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักการพื้นฐานและจิตใจที่เข้ากันได้ เช่น ไม่แบ่งแยกรังเกียจเดียดฉันท์กันด้วยเรื่องชนชั้น ผิวพรรณ เชื้อชาติ และลัทธิศาสนา มีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น สังคมจึงจะมีความมั่นคงยั่งยืนอยู่ได้

ฉะนั้น สามัคคีหรือเอกีภาพจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงรักษาสังคม และจะต้องมีหลักความประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความสามัคคีเช่นนั้น

การที่สังคมบัญญัติวินัยคือกฎหมายต่างๆ ขึ้น ก็เพื่อมาหนุนให้คนดำรงอยู่ในหลักการต่างๆ เหล่านั้น อันจะทำให้สังคมหรือสังฆะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วจะได้มีความมั่นคงยั่งยืนและมีสันติสุขตามวัตถุประสงค์

หลักการต่างๆ เพื่อดำรงรักษาสังคมนั้น เท่ากับเป็นสาระหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ถ้าคนยึดถือและปฏิบัติตามหลักการเหล่านั้น ก็แทบจะพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย นอกจากในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้อย่างที่กล่าวข้างต้น หลักการต่างๆ เหล่านี้ นอกจากนำมาเป็นหลักในการบัญญัติข้อกฎหมายแล้ว บางทีก็มีอยู่ในรูปที่เป็นคติธรรมหรือหลักคำสอน

ธรรมที่เป็นหลักการทั่วไปซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นสิกขาบทในทางวินัยมีหลายอย่าง ที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในชุมชนแห่งกัลยาณมิตร เช่น หลักสาราณียธรรม เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักการของประชาธิปไตย ขอยกมาเป็นตัวอย่าง หลัก สาราณียธรรม ๖ ประการ (สารณียธรรม ก็เรียก) คือ

๑. เมตตากายกรรม จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา ทำด้วยใจรักหวังดี เช่น เมื่อมีเรื่องที่ต้องจัดทำ หรือมีงานส่วนรวม ก็มาช่วยเหลือร่วมมือกัน พร้อมเพรียงกันทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยหวังดีที่จะให้เกิดประโยชน์สุขต่อกัน

๒. เมตตาวจีกรรม จะพูดอะไรก็พูดต่อกันด้วยเมตตา พูดด้วยใจรักหวังดี มีปิยวาจา ช่วยแก้ปัญหา มุ่งให้เกิดความสามัคคีและประโยชน์สุขร่วมกัน

๓. เมตตามโนกรรม จะคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา คิดด้วยใจรัก หวังดี คิดในทางที่จะแก้ไขปัญหา ในทางสมัครสมานประสานส่งเสริม หรือเอื้อเฟื้อช่วยเหลือสนับสนุนกันเพื่อจุดหมายที่ดีงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

๔. สาธารณโภคิตา ได้มาแบ่งกันกินใช้ หลายคนเข้าใจผิดว่า พระพุทธศาสนาไม่เอาใจใส่เรื่องวัตถุ แต่แท้จริงพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องลาภหรือผลประโยชน์หรือเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ถือว่าต้องจัดสรรให้เรียบร้อยชอบธรรม แต่ให้อยู่ในขอบเขตที่เรียกว่าเป็น ปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องการแบ่งปันลาภและเอื้อเฟื้อกัน รวมถึงเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ จึงเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งในหลักการอยู่ร่วมกัน

๕. สีลสามัญญตา เสมอสมานกันโดยศีล ตั้งอยู่ในหลักความประพฤติเสมอกัน คล้ายกับที่พูดกันว่ามีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายทุกคนต่อหน้าวินัยแล้วเสมอกันทั้งหมด แม้แต่เป็นพระอรหันต์ก็ไม่ยกเว้น นอกจากมีกฎยกเว้นให้เป็นสิกขาบทโดยเฉพาะ จึงจะพ้นโทษทางวินัย ในเรื่องของวินัยจะอ้างธรรมไม่ได้ วินัยกำหนดไว้ให้เสมอภาคกันและจึงต้องพยายามประพฤติตัวให้เสมอกันโดยศีล ไม่ให้เป็นที่รังเกียจแก่ชุมชน

๖. ทิฎฐิสามัญญตา เสมอสมานกันโดยทิฏฐิ หมายความว่า ยึดถือหลักการพื้นฐานและอุดมการณ์ของสังคมร่วมกัน ในสังคมใดไม่มีหลักการร่วมกัน ก็จะดำรงเอกภาพไว้ไม่ได้ เช่น ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่ยึดถือหลักการแห่งประชาธิปไตยร่วมกัน ก็ถึงอวสาน เพราะฉะนั้นสมาชิกจึงต้องมีอุดมการณ์ และมีหลักการที่เป็นทิฏฐิพื้นฐานร่วมกัน

ธรรม ๖ ข้อนี้เป็นหลักแห่งความสามัคคี ในระหว่างบุคคลก็เป็นปิยกรณ์ แปลว่าสร้างความรักกัน ครุกรณ์ สร้างความเคารพกัน สารณียะ ทำให้ระลึกถึงกัน หรือยึดเหนี่ยวใจกันไว้ และในแง่ส่วนรวมก็เป็นไปเพื่อสังคหะ คือทำให้รวมคนเข้าเป็นหมู่อยู่ได้ เพื่ออวิวาทะ ทำให้ไม่วิวาทกัน เพื่อสามัคคี คือพร้อมเพรียงกัน และเพื่อเอกีภาพ ที่เรียกว่า เอกภาพ คือทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีหลักการอื่นอีก เช่น อปริหานิยธรรม คือธรรมที่จะทำให้ไม่เสื่อม ซึ่งมี ข้อ คือ

๑. ประชุมกันเนืองนิตย์

๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็อยู่จนเลิกโดยพร้อมเพรียงกัน และเมื่อมีกิจส่วนรวม คือสังฆกรณีย์ เกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมใจกันทำ

๓. ไม่ถืออำเภอใจแล้วบัญญัติอะไรตามใจตัว หรือล้มเลิกถอนบทบัญญัติอะไรตามใจชอบ

๔. เคารพนับถือยกย่องบุคคลที่เป็นหลัก ที่เรียกว่า สังฆบิดร มองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อ แต่ภิกษุใดเป็นเถระ เป็นรัตตัญญู หมายความว่า ได้มีประสบการณ์ยาวนาน มีความรู้เป็นหลัก ต้องมองเห็นความสำคัญของถ้อยคำของท่าน และให้สำคัญว่าเป็นสิ่งอันพึงฟัง ไม่ลบหลู่ละเลยหรือมองข้ามไป

๕. ให้เกียรติและคุ้มครองสตรี ไม่ให้มีการข่มเหงรังแกกุลกุมารี (น่าสังเกตว่า สังคมไทยเวลานี้ได้ทรุดลงไปไกลในเรื่องนี้ ถึงขั้นที่มีโสเภณีเด็กแพร่หลาย อย่างที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น; สำหรับหมู่สงฆ์ ข้อนี้ท่านใช้ว่า ไม่ลุแก่อำนาจตัณหา คือไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอปรนเปรอเสพบริโภคและผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสังคมคฤหัสถ์ก็ควรจะปฏิบัติด้วย)

๖ ให้ความสำคัญแก่ เจดีย์ หรืออนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพ เป็นที่รวมใจของสังคม และเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดจิตสำนึกต่อส่วนรวม (สำหรับหมู่สงฆ์ ข้อนี้ท่านใช้ว่า มีใจผูกพันใฝ่ชอบเสนาสนะป่า)

๗. จัดอารักขาคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ หมายความว่า พระสงฆ์ หรือนักบวชที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่ประมาทมัวเมา เป็นหลักใจของประชาชน เป็นตัวแทนของคุณธรรม เป็นหลักของศีลธรรม เป็นผู้รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ให้ถือเป็นหน้าที่ของบ้านเมืองจะต้องจัดการอารักขา คุ้มครองป้องกัน และยินดีต้อนรับท่าน (ข้อนี้สำหรับหมู่สงฆ์ ท่านเปลี่ยนเป็นว่า ยินดีต้อนรับเพื่อนสพรหมจารีที่ยังไม่มา และตั้งใจต่อท่านที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข)

สำหรับคฤหัสถ์ คือคนทั่วไปที่อยู่ในสังคมใหญ่ ยังมีหลักธรรมอีกชุดหนึ่งเรียกว่า สังคหวัตถุ แปลว่า หลักการสงเคราะห์ คือหลักการยึดเหนี่ยวประสานหมู่ชนให้อยู่ในความสามัคคี ซึ่งมี ๔ ประการ (สังคหะ แปลว่า สังเคราะห์ หรือสงเคราะห์ ที่เราใช้ในความหมายว่าช่วยเหลือกัน แต่คำศัพท์เดิมแปลว่ารวมเข้าด้วยกัน) หมายความว่า ในการที่จะผนึกให้สังคมมีความมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ คนจะต้องมีธรรม ๔ ข้อนี้ คือ

๑. ทาน การให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน มีลาภหรือผลประโยชน์ก็กระจายเฉลี่ยกันไป

๒. ปิยวาจา การพูดด้วยใจรักหวังดี กล่าวถ้อยคำสุภาพไพเราะ รู้จักใช้วาจาแสดงน้ำใจ ที่จะแก้ปัญหาและช่วยเหลือกัน

๓. อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ เอาเรี่ยวแรงกำลังความสามารถเข้าช่วยเหลือร่วมมือกัน

๔. สมานัตตตา การเอาตัวเข้าสมาน มีความเสมอภาค ทำตัวให้เข้ากันได้ โดยร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ร่วมกันเผชิญและแก้ปัญหา ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง สม่ำเสมอสมานกันโดยธรรม

สังคหวัตถุ ๔ นี้ แปลเป็นภาษาง่ายๆ ในแง่ของการช่วยเหลือกันเพื่อให้เกิดการประสานสังคม คือ

๑) ช่วยด้วยสิ่งของเงินทอง

๒) ช่วยด้วยถ้อยคำ เช่น แนะนำคนให้รู้วิธีแก้ปัญหาของเขา ให้ความรู้ สั่งสอนวิชาการ เพื่อให้สามารถแก้ไขบำบัดความทุกข์ยาก

๓) ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังความสามารถ

๔) ทำตัวเสมอสมาน คือ ทำตัวให้เข้ากันได้ โดยมีความเสมอภาคกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอหน้าตามธรรม

ที่ว่ามานี้เป็นหลักที่จะรวมหมู่ชนให้อยู่ด้วยกัน และทำให้สังคมมีความเจริญมั่นคง แต่เป็นหลักที่ไม่ได้บัญญัติเป็นสิกขาบทในวินัย จึงไม่มีการกำหนดความผิดและไม่มีการลงโทษ แต่ให้เป็นหลักที่รู้กันว่าควรประพฤติปฏิบัติ

มีหลักปฏิบัติอีกชุดหนึ่ง ซึ่งพูดถึงกันมากว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการดำรงรักษาสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย คือ ศีล ๕ และจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติในกฎหมายทั้งแพ่งและอาญาแทบทั้งหมด มีเจตนารมณ์ตามหลักศีล ๕ นี้

อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่า ศีล ๕ นี้ที่จริงเป็นสิกขาบท แต่เป็นสิกขาบทสำหรับคฤหัสถ์ (ในวินัยสำหรับพระภิกษุ ศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ นี้ กระจายแยกออกไปเป็นสิกขาบทย่อยๆ มากหลายข้อ และรวมอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ที่เราเรียกกันว่าศีล ๒๒๗ ซึ่งมีบัญญัติความผิดแก่ผู้ละเมิด)

ในสังคมของชาวพุทธนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดความผิดและการลงโทษไว้แก่ผู้ละเมิดศีล ๕ เราพูดได้ว่าทางพระศาสนายกศีล ๕ นี้ให้เป็นเรื่องของสังคมคฤหัสถ์ โดยเฉพาะทางฝ่ายรัฐจะนำมาจัดแยกซอยเป็นข้อกำหนดย่อยๆ ลงไป ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของแต่ละถิ่นฐานและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงต่างกันไป แล้วกำหนดความผิดและการลงโทษตามที่เหมาะสมตามธรรม และเท่าที่เป็นมาจะเห็นได้ว่า กฎหมายโดยทั่วไปในขั้นพื้นฐานมีสาระสำคัญเพื่อจะดำรงรักษาศีล ๕ หรือเพื่อดูแลไม่ให้คนละเมิดสิกขาบท ๕ ข้อนี้

โดยนัยนี้ ศีล ๕ (สิกขาบท ๕) จึงเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยให้สังคมอยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่การที่สังคมจะก้าวไปสู่จุดหมายแห่งการพัฒนาที่ถูกต้องดีงามแท้จริง จะต้องให้คนพัฒนาขึ้นไปเหนือกว่าศีล ๕ ที่เป็นเพียงระดับแก้ไขป้องกันความชั่วร้ายและการเบียดเบียนกัน สู่หลักการเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาแสดงข้างต้น อันควรจะเป็นสาระและเจตนารมณ์ที่แท้จริงทั้งของกฎหมายและการปกครอง

เมื่อได้พูดถึง ศีล ๕ แล้ว ก็ควรจะนำข้อย่อยมาแสดงไว้ด้วย ซึ่งมีดังนี้

๑. การเว้นจากปาณาติบาต (การไม่ละเมิดต่อชีวิตร่างกาย)

๒. การเว้นจากอทินนาทาน (การไม่ละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน)

๓. การเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร (การไม่ละเมิดต่อคู่ครองของหวง)

๔. การเว้นจากมุสาวาท (การไม่ละเมิดต่อกันทางวาจา)

๕. การเว้นจากสุรายาเมา (การไม่ดื่มสุราหรือเสพสิ่งเสพติด)

ศีล ๕ (สิกขาบท ๕) นี้ มีสาระสำคัญที่มุ่งเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดีโดยไม่เบียดเบียนกัน จะได้มีความสงบเรียบร้อย ที่เป็นโอกาสพื้นฐานแห่งการพัฒนาชีวิตสู่ประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป

สำหรับ ๔ ข้อแรก จะเห็นความหมายนี้ได้ชัดเจน แต่ข้อ ๕ ที่ว่า เว้นจากสุรายาเสพติดที่จะทำให้เกิดความประมาทขาดสตินั้น มักมองเห็นชัดแต่ในแง่ของโทษต่อชีวิตของตัวผู้เสพเอง แต่ที่จริงในการจัดเข้าชุดแห่งศีล ๕ นี้ ท่านมุ่งความหมายเชิงสังคม

ในแง่สังคมนั้น การละเมิดศีลข้อ ๕ คือ เสพสุรายาเมาสิ่งเสพติด ก่อความเสียหายหรือโทษภัยที่สำคัญ คือ

๑. คนเมาสุรายาเสพติด ขาดสติแล้ว จะทำการร้ายละเมิดศีลได้หมดทุกข้อ ไม่ว่าจะฆ่าคน ทำร้ายกัน ลักหรือทำลายทรัพย์สิน ทำความผิดทางเพศ พูดเท็จ ก็ได้ทั้งนั้น

๒. ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะก่อความพินาศหรือความเสียหายอย่างมาก

๓. แม้ยังไม่ได้ลงมือทำการร้ายใดๆ ก็เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น คนที่ขับรถไปในถนนหลวง พอมองเห็นรถที่กำลังแล่นสวนมามีคนขับที่เมาเหล้า หรือระแวงว่าคนขับรถสิบล้อที่กำลังแล่นสวนมาเสพยาม้ายาบ้า ก็จะเกิดความรู้สึกหวาดหวั่น พรั่นใจ

รวมความว่า สังคม โดยเฉพาะรัฐ จะต้องจัดตั้งวางมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะการออกกฎหมาย ที่จะมาเป็นประกันให้คนดำรงอยู่ในศีล ๕ หรือสิกขาบท ๕ นี้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนยึดถือหลักการต่างๆ ที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่น สาราณียธรรม ๖ และสังคหวัตถุ ๔ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า หลักการต่างๆ เหล่านี้และทำนองนี้ เป็นสาระของวินัย หรือเป็นเจตนารมณ์ที่แท้ของกฎหมาย ถ้าคนมีการศึกษาที่พัฒนาตนอย่างถูกต้อง ให้มีศรัทธา เห็นคุณค่า พร้อมและเต็มใจ สมัครใจที่จะปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดของกฎหมายหรือสิกขาบทในวินัย

ในทางตรงข้าม การที่มีสิกขาบทหรือกฎหมาย ก็เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจว่า จะมีการปฏิบัติให้เกิดผลตามหลักการเหล่านี้ ดังนั้น ถ้าคนไม่ปฏิบัติตาม หรือเคลื่อนคลาดจากหลักการมากขึ้น ก็ยิ่งต้องมีการบัญญัติสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมากขึ้นๆ และมักจะต้องมีการบัญญัติความผิดและการลงโทษมากขึ้น หรืออาจจะหนักขึ้นด้วย

เมื่อคนเป็นวิญญูรู้สาระของกฎหมาย สังคมสงบสุขด้วยกติกาง่ายๆ
ครั้นคนเสื่อมลงไป กฎหมายยิ่งบังคับซับซ้อน สังคมยิ่งเสื่อมทรุด

เป็นความจำเป็นว่า เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ก็ต้องมีข้อตกลงที่กำหนดกันขึ้นไว้ว่า จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร เป็นต้น เพื่อให้ชีวิตแห่งการอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยดี เอื้อประโยชน์ต่อทุกคนด้วยกัน เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาพัฒนาดีแล้ว ที่เขาเข้าใจความหมายของข้อตกลงสำหรับการเป็นอยู่และทำกิจการร่วมกันเช่นนี้ และมีจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติ การมีกฎหมายเพียงในความหมายว่าเป็นข้อหมายรู้ หรือข้อกำหนดที่หมายรู้ในการอยู่ร่วมกัน ก็เป็นการเพียงพอ (เรื่องนี้จะพูดถึงอีกข้างหน้า)

ในภาวะเช่นนี้ กฎหมายหรือข้อหมายรู้ จะเป็นเพียงข้อตกลง หรือกติกาทางปัญญา ซึ่งมีจำนวนจำกัดตามความจำเป็นแห่งกิจที่จะทำ และเมื่อคนยังปฏิบัติกันดี ก็ไม่ต้องมีสิกขาบทหรือข้อกฎหมายมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อคนขาดการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ได้พัฒนาตน เขาไม่เข้าใจความหมาย ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ

เมื่อคนไม่ปฏิบัติตามข้อหมายรู้นั้น ก็ต้องมีการบัญญัติข้อกฎหมายในลักษณะที่เป็นข้อบังคับ ที่มีการกำหนดความผิดและการลงโทษเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นว่า ยิ่งมีการบัญญัติข้อกฎหมายมาก ชีวิตและสังคมกลับยิ่งเสื่อมโทรม และในกรณีเช่นนี้ การมีกฎหมายในความหมายว่าเป็นข้อบังคับมาก กลับกลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสื่อมโทรมของชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น ในสังคมที่คนมีการศึกษาถูกต้อง พัฒนาตนดีแล้ว ก็จะมีกฎหมายแต่เพียงที่เป็นข้อหมายรู้ ไม่ต้องเลยไปเป็นข้อบังคับ

แต่ตรงข้าม ในสังคมที่ไม่พัฒนา คนขาดการศึกษา หรือเมื่อการศึกษาเสื่อมลง กฎหมายที่มีความหมายเป็นข้อบังคับ ก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ โดยที่แม้จะจำเป็นเพื่อกันไม่ให้เสื่อมโทรมลงไปอีกๆ แต่ก็ไม่ช่วยให้ชีวิตและสังคมดีงามขึ้นได้เลย อย่างน้อย ยิ่งมีข้อบัญญัติมาก หลักการที่เป็นสาระกลับยิ่งเลือนลางจางหาย

เคยมีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า (ม.ม.๑๓/๑๗๑-๒/๑๗๔; และดู สํ.นิ.๑๖/๕๓๑-๕/๒๖๓)

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อก่อนโน้น สิกขาบทมีน้อยกว่า แต่ภิกษุผู้ดำรงในอรหัตตผลกลับมีมากกว่า ครั้นมาบัดนี้ สิกขาบทมีมากกว่า แต่ภิกษุที่ดำรงในอรหัตตผลกลับมีน้อยกว่า”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“เป็นเช่นนั้น ภัททาลิ เมื่อหมู่ชนกำลังเสื่อมลง เมื่อสัทธรรมกำลังเลือนหาย สิกขาบทก็มีมากขึ้น แต่ภิกษุที่ดำรงในอรหัตตผลกลับน้อยลง

ภัททาลิ พระศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (เรื่องเสียหายวุ่นวาย) ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ แต่เมื่อใดมีอาสวัฏฐานิยธรรมปรากฏในสงฆ์ เมื่อนั้นพระศาสดาก็จะบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อขจัดแก้ไขอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

ภัททาลิ อาสวัฏฐานิยธรรมทั้งหลาย จะยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ . . . ยังไม่ถึงความพรั่งพร้อมด้วยลาภ . . . ยังไม่ถึงความพรั่งพร้อมด้วยยศ . . . ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูต . . . ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู แต่เมื่อใดสงฆ์ถึง(ภาวะดังที่กล่าวมานั้น) เมื่อนั้นก็จะมีอาสวัฏฐานิยธรรมปรากฏในสงฆ์ และเมื่อนั้นพระศาสดาก็จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อขจัดแก้ไขอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น”

โดยนัยดังกล่าวมา การศึกษาที่แท้ ในความหมายของการพัฒนาคนอย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และสัมพันธ์กับวินัย ไม่ว่าจะในความหมายที่เป็นกฎหมาย เป็นระบบที่จัดตั้ง หรือเป็นการปกครองก็ตาม ทั้งในแง่ที่ว่าจะต้องมีการพัฒนาคนอย่างถูกต้องเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และในแง่ที่ว่าวินัยเช่นกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดสรรสภาพเอื้อโอกาสในการพัฒนาชีวิตของมนุษย์

เมื่อมีการศึกษาที่แท้ที่ทำให้คนพัฒนาอย่างถูกต้อง คนก็จะพร้อมที่จะปฏิบัติตามวินัยโดยเฉพาะที่เรียกว่ากฎหมาย(ที่ชอบธรรม) และคนที่มีการศึกษาที่พัฒนาตนแล้วอย่างถูกต้องนั้น ก็จะมองวินัย โดยเฉพาะกฎหมายนั้นเป็นข้อหมายรู้ ที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ในการช่วยกันสร้างสรรค์สภาพชีวิตและสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นต่อไป

สงฆ์เป็นชุมชนแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งขึ้นตามหลักการที่กล่าวนี้ และพระพุทธเจ้าก็ทรงได้รับถวายคำสรรเสริญว่า ทรงฝึกคนและปกครองคนโดยไม่ต้องใช้ทัณฑอาชญา (เช่น วินย.๗/๓๘๑/๑๙๐; ม.ม.๑๓/๕๒๙/๔๘๓; ๕๖๕/๕๑๑)

นักปกครองในอุดมคติ ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าเป็นจักรพรรดิ ซึ่งเป็นธรรมราชา ก็เป็นผู้ที่ปกครองแผ่นดินโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะ หรือศัสตราวุธ (เช่น ที.สี.๙/๑๔๓/๑๑๕; ที.ม.๑๐/๒๘/๑๘; ที.ปา.๑๑/๓๔/๖๒)

ตามความหมายที่กล่าวมานี้ การปกครองที่ดี คือการปกครองโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ และกฎหมายที่ดี คือบัญญัติที่เป็นข้อหมายรู้ในการที่จะเป็นอยู่และทำกิจในการมีชีวิตร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นขึ้นต่อความสำเร็จในการปฏิบัติตามหลักการแห่งการพัฒนาคน

จะรักษาธรรมให้แก่สังคมได้ ต้องรักษาดุลยภาพให้แก่ใจของตน

มีอีกหลักหนึ่งที่เป็นพื้นฐานลึกลงไปในจิตใจ คนเรานี้ถ้าไม่มีพื้นฐานในใจ กฎหมายหรือวินัยจะกำหนดอย่างไรก็ไม่ได้ผลจริงจังยั่งยืน เพราะคนจะหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย ตลอดจนสมคบกันหาประโยชน์จากกฎหมาย อย่างน้อยก็ไม่มีความยินดีเต็มใจพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม และในที่สุดกฎหมายก็จะอยู่ไม่ได้ วินัยรวมทั้งกฎหมายจึงต้องมีคุณสมบัติในใจคนเป็นฐานรองรับ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจและเป็นเครื่องผูกใจให้คนประพฤติตามกฎหมายได้

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาคน การดำรงสังคมก็ไปไม่ตลอด

สังคมที่จะบัญญัติกฎหมายต่างๆ ต้องถือกฎหมายเป็นตัวเกื้อหนุน คือจะต้องถือเป็น means ไม่ใช่เป็น end ถ้าเราถือกฎหมายเป็น end ก็จบ แม้แต่ถือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมายก็ยังไปไม่รอด เพราะขาดสาระหรือตัวแกน คือการพัฒนาคน

จะพัฒนาคนอย่างไร ก็ต้องทำให้คนประพฤติปฏิบัติทำการทั้งหลายด้วยปัญญา จากเจตนาที่ดี บนฐานแห่งจิตใจที่มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกต่อสังคม

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมไว้ชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าทีพื้นฐานในจิตใจของคนที่จะสร้างสรรค์และรักษาสังคมมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รักษากฎหมาย แต่เป็นคุณสมบัติสำหรับบุคคลที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์สังคมนี้ไว้

สังคมมนุษย์นั้น มนุษย์ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์ มิฉะนั้นก็จะพินาศ แม้แต่การที่จะรักษากฎหมายได้ ก็ต้องมีท่าทีพื้นฐานในจิตใจมาเป็นแกนให้ก่อน ท่าทีพื้นฐานนี้ไม่ใช่หลักธรรมยากอะไร ก็คือหลักพรหมวิหาร ๔ นี่เอง

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้เป็นท่าทีที่สำคัญของจิตใจ แต่ในสังคมไทยเข้าใจธรรมชุดนี้กันผิดพลาดมาก และปฏิบัติกันไม่ครบถ้วน หรือปฏิบัติคลาดเคลื่อนจนทำให้เกิดผลร้ายบางอย่าง

“พรหมวิหาร” แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พรหม คือ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างโลกและอภิบาลโลก ในทัศนะของพราหมณ์ เขาถือว่ามนุษย์อยู่กันไป พอถึงกัปป์หนึ่งโลกจะพินาศ และพระพรหมจะสร้างโลกขึ้นมาใหม่ แล้วพระพรหมก็ลิขิตชีวิตและจัดสรรสังคมมนุษย์ว่าจะให้เป็นอยู่กันอย่างไร

แต่พระพุทธศาสนาไม่รอพระพรหม เราถือว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างสรรค์และอภิบาลสังคม เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องทำตัวให้เป็นพรหม โดยประพฤติตามหลัก ที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ คือ

๑. เมตตา มีใจไมตรี ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

๒. กรุณา พลอยสะเทือนใจ ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ที่จะเห็นทุกข์ของเขา

๓. มุทิตา พลอยยินดีในความดีงามความสุขความสำเร็จของเขา

๔. อุเบกขา วางใจเป็นกลางต่อทุกคนเพื่อรักษาธรรม

ท่าทีพื้นฐาน ๔ ประการนี้เข้าใจง่าย เพราะเป็นท่าทีที่แสดงออกต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น วิธีที่จะดูความหมายก็ดูที่คนอื่น คือดูตามสถานการณ์ที่คนอื่นเขาประสบ จึงจะรู้ว่าเราจะใช้พรหมวิหารข้อไหน แล้วความหมายก็จะชัดออกมาเอง

สถานการณ์ที่ ๑ เมื่อคนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา คือ มีความหวังดี มีความรัก มีความเป็นมิตร (เมตตา มาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่า มิตร คือคุณสมบัติของมิตรนั่นเอง ได้แก่น้ำใจที่หวังดีอยากให้เขาเป็นสุข)

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อบุคคลอื่นนั้นตกต่ำ คือ เขาเดือดร้อนเป็นทุกข์ประสบปัญหา เราก็มีกรุณา คือพลอยหวั่นไหวสะเทือนใจไปกับความทุกข์ของเขา อยากจะช่วยบำบัดทุกข์นั้น หรือยกเขาขึ้นมาจากความทุกข์นั้น (จะเห็นว่า เมตตากับกรุณาต่างกันมาก)

สถานการณ์ที่ ๓ เมื่อบุคคลอื่นนั้นเปลี่ยนจากปกติและตกต่ำเป็นขึ้นสูง คือเขาประสบความสำเร็จ มีความสุข ทำอะไรๆ ได้ดี หรือก้าวไปในความดีงาม เราก็มีมุทิตา คือพลอยยินดีด้วยในความดีงามและความสุขความสำเร็จของเขา พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน

สถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งสำคัญที่สุดที่จะรักษาสังคมไว้ได้ คือ เมื่อบุคคลอื่นนั้นละเมิดธรรม หรือสมควรรับผิดชอบต่อธรรม เราก็มีอุเบกขา คือวางใจเป็นกลาง ไม่ขวนขวายช่วยเหลือที่จะทำให้เสียธรรม โดยวางเฉยต่อบุคคลนั้น ให้เขารับผิดชอบต่อธรรมและตามธรรม ดำรงอยู่ในความสมเหตุสมผล

ในข้ออุเบกขานี้ จะต้องเข้าใจหลักความจริงพื้นฐานก่อนว่า เบื้องหลังสังคมมีธรรมรองรับอยู่ คือหลักการแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติ ความเป็นเหตุเป็นผลในสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย การที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กันดี ไม่พอที่จะทำให้สังคมอยู่ได้ แม้มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันดีใน ๓ สถานการณ์แรก แต่ถ้าเขาไม่รักษาธรรมไว้ สังคมก็อยู่ไม่ได้ แต่จะวิปลาสคลาดเคลื่อนจนถึงความวิบัติ

เพราะฉะนั้น จึงมีสถานการณ์ที่ ๔ คือ ไม่ว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ตามในสถานการณ์ ๑, ๒ หรือ ๓ แต่ถ้าความสัมพันธ์นั้นไปละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรมแล้ว ก็มาถึงสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องหยุดความสัมพันธ์นั้น คือวางเฉย ไม่ช่วย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต้องหยุด เพื่อรักษาธรรม นี้คืออุเบกขาซึ่งเป็นตัวรักษาหลักการของสังคม

ได้กล่าวแล้วว่า เบื้องหลังความเป็นไปในสังคมมนุษย์ที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกัน ยังมีธรรม ที่เป็นความจริงแห่งความถูกต้องดีงาม ความที่ควรจะเป็นตามเหตุผล ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือความเป็นไปตามกฎธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง

บนฐานแห่งหลักความจริงแท้ตามกฎธรรมชาตินั้น เมื่อมนุษย์เอาความรู้ในความจริงมาตั้งเป็นหลักการ เป็นกฎเกณฑ์กติกาในสังคม เราก็พลอยเรียกหลักชั้นสองที่มนุษย์บัญญัตินี้เป็น “ธรรม” ไปด้วย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งขึ้นเพื่อเรียนธรรมศาสตร์ ก็คือเรียนวิชากฎหมาย นี่คือการที่กฎของมนุษย์ก็ถูกเรียกเป็นธรรมไปด้วย

หลักการที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าระดับไหน จะเป็นระดับความจริงในธรรมชาติ หรือหลักการในสังคมมนุษย์ก็ตาม ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปละเมิดหรือจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักการนั้น มนุษย์จะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้วเอาธรรมเป็นใหญ่ และปฏิบัติไปตามธรรม คือ เฉยต่อคนและปฏิบัติไปตามธรรม

ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นข้อธรรมใหญ่ที่คุมท้าย เพราะเป็นตัวรักษาหลักการไว้ ถ้าไม่รักษาหลักการนี้ สังคมมนุษย์แม้จะมีการช่วยเหลือกันดีก็ไปไม่รอด เพราะสังคมนั้นสูญเสียดุลยภาพ กล่าวคือ

๑. เมื่อคนมีน้ำใจต่อกัน มีเมตตา กรุณา และแม้แต่มุทิตากันดี ก็มีความอบอุ่นมีความสุขในการอยู่ร่วมกันดี แต่ข้อเสียจะเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์จำนวนหนึ่งจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น โดยคิดว่าถ้าเราเดือดร้อนก็ไปหาผู้ใหญ่คนนั้นได้ ไปหาญาติคนนี้ได้ เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย สังคมที่เป็นเช่นนี้ก็จะทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในความประมาท อ่อนแอ เฉื่อยชา หรือถึงกับเกียจคร้าน

๒. เมื่อเอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นหลัก ชอบช่วยเหลือกันเป็นส่วนตัว ก็อาจจะช่วยกันจนเกินขอบเขต โดยไม่คำนึงถึงหลักการหรือความถูกต้องชอบธรรม แม้จะมีกฎเกณฑ์กติกาหลักการก็ไม่เอา แต่จะเลี่ยงหลีกหลบไป หรือมองข้าม ตลอดจนทำลายกฎกติกานั้นเสีย เมื่อเป็นอย่างนี้สังคมก็เสียหลัก

ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีอุเบกขาไว้เป็นประกัน เมื่ออุเบกขาเข้ามาคุม ก็รักษาดุลของสังคมไว้ได้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน กับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมนี้สมดุลกัน

ในทางตรงข้าม ถ้ามีแต่ข้อสุดท้ายคืออุเบกขา ก็กลายเป็นตัวใครตัวมัน เช่น ในสังคมตะวันตก ฝรั่งมีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน เมตตากรุณาน้อย ไม่ค่อยมีน้ำใจ แต่ยึดถือหลักการกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน คุณจะทำอะไรก็ทำของคุณไป ฉันไม่ช่วย ถ้าไม่ผิดกฎหมายฉันไม่ว่าอะไร แต่ถ้าคุณทำผิดกฎหมายเมื่อไรฉันจัดการทันที ระหว่างนั้นฉันไม่ช่วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ดิ้นรนขวนขวายคุณก็ตาย

ในสังคมที่เน้นอุเบกขาแบบนี้ ชีวิตจะขาดความอบอุ่น จะเครียด แห้งแล้ง มีทุกข์ในจิตใจ เป็นโรคประสาทและโรคจิตกันมาก แต่เป็นการบีบคั้นคนให้ต้องดิ้น ก็เข้มแข็งดี ทำให้เกิดความเร่งรัดในการสร้างความเจริญก้าวหน้า พร้อมกับสามารถรักษาหลักการและกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนมีการปฏิบัติตามกฎหมายได้ดี

ในครอบครัวที่พ่อแม่มีอุเบกขามาก เด็กถ้าไม่ร้ายเสียคนไปเลย ก็จะเป็นคนแข็งแกร่ง ช่วยตัวเองได้ดี บุกฝ่าไปได้ แต่อาจจะเหี้ยมเกรียม

ในครอบครัวนั้น ถ้าพ่อแม่มีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา มาก ขาดอุเบกขา เด็กจะอ่อนแอ เลี้ยงไม่โต ไม่มีความเข้มแข็ง ทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ชอบพึ่งพา ถ้าอย่างแรงก็เป็นนักเรียกร้อง เอาแต่ใจและไม่รู้จักกฎกติกา

ทุกคนมีชีวิตแห่งความสัมพันธ์ ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง เราสัมพันธ์อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเราควรจะมีน้ำใจไมตรีช่วยเหลือกันและกัน และเราก็ช่วยกันได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เราอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันตามกฎธรรมชาติ ที่ไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อความเป็นจริงนี้ด้วยปัญญา โดยพัฒนาความรู้ความสามารถของตนขึ้นมาเพื่อให้สามารถรับผิดชอบตนเองได้ ในด้านนี้ ถึงแม้มนุษย์จะช่วยกัน ก็ช่วยกันไม่ได้จริง และทำให้กันไม่ได้ จะช่วยกันได้ก็ด้วยการช่วยให้เขาฝึกฝนพัฒนาตัวเขาเองขึ้นมาจนพึ่งตัวของเขาเองได้

ฉะนั้น จะต้องระลึกไว้เสมอว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่กับมนุษย์เท่านั้น แต่มนุษย์นั้นต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตด้วย ทุกคนมีชีวิตที่รับผิดชอบต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ถึงแม้ในด้านมนุษย์เราจะช่วยเหลือกันดี พ่อแม่จะรักและทำให้ลูกทุกอย่าง แต่ชีวิตและโลกนี้มันไม่ได้มาตามใจด้วย มันมีกฎมีเกณฑ์มีกติกาแห่งธรรมตามความเป็นจริงของมัน ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องตามเหตุผลด้วยสติปัญญาความสามารถที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาในตนเอง

ด้วยเหตุฉะนี้ ทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อธรรม คือความเป็นจริงของชีวิตและสังคม และเราจะต้องฝึกต้องหัดกันให้มีความสามารถนี้ ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องมีท่าทีข้อที่ ๔ คือ อุเบกขาไว้คุมท้าย ชีวิตจึงจะดี และสังคมจึงจะอยู่ได้

สรุปว่า อุเบกขาที่เกิดจากปัญญา เป็นดุลยภาพในจิตใจ ที่ช่วยให้เกิดผลภายนอก ๓ ด้าน (ของเรื่องเดียวกัน) คือ

๑. ช่วยรักษาบุคคล ด้วยการสร้างโอกาสให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อเหตุผลและความเป็นจริงของโลกและชีวิต เช่น คอยดูแลให้เด็กทำการต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง คิดเป็น ทำเป็น เป็นต้น

๒. ช่วยรักษาสังคม ด้วยการสนองเจตนารมณ์ของข้อตกลง(สมมติ)ที่วางไว้ โดยปฏิบัติตาม เป็นต้น ทำให้เกิดความเสมอภาค เช่น การที่ทุกคนจะมีความเสมอกันต่อหน้าหลักการกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย เป็นต้น

๓. ช่วยรักษาธรรม ด้วยการทำให้มีการปฏิบัติตาม ไม่ถูกคนล่วงละเมิด ดำรงรักษาไว้ได้ซึ่งความถูกต้อง ความชอบธรรม ความดีงาม หรืออย่างน้อยความสมเหตุสมผล (ซึ่งมักถือเอาตามความลงตัวโดยเหตุผล หรือการลงความเห็นตามเหตุผลและหลักฐาน ที่เรียกว่าความยุติธรรม อันได้แก่ ธรรมคือยุตติ หรือธรรมโดยยุตติ)

อุเบกขาทำให้เกิดดุลยภาพภายในจิตใจแล้ว ก็คุมพรหมวิหารทั้ง ๔ ให้อยู่ในดุลยภาพด้วย และจึงทำให้เกิดดุลยภาพในสังคมมนุษย์ ด้วยการเอาความรักความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้แก่คน พร้อมกับในขณะเดียวกันก็เอาความถูกต้องดีงามและความพอดีไว้ให้แก่ธรรมชาติและสังคม

เมื่ออุเบกขารักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม หรือระหว่างคนต่อคนกับธรรมไว้ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมเหลียวแลที่จะปฏิบัติต่อคนนั้นๆ ด้วยเมตตากรุณามุทิตา เท่าที่ไม่เสียหรือกระทบต่อธรรมด้วย

ไทยเราเรียกผู้ทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดีว่า “ตุลาการ” ซึ่งจะแปลว่า ผู้มีอาการดุจตราชู ก็ได้ ผู้สร้างตุลาคือสร้างตราชูหรือสร้างมาตรฐาน ก็ได้ หมายความว่า ดำรงตนคงที่ เที่ยงธรรม เป็นมาตรฐานของสังคม เป็นกลางต่อทุกคน ทั้งดีและร้าย สม่ำเสมอในทุกกรณี ไม่เลือกที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ไม่ว่าในสุขหรือทุกข์ ว่าไปตามที่เป็นจริงต่อทุกคนในทุกกรณี (ในภาษาบาลีท่านใช้คำว่า “ตุลาภูตะ” แปลว่า ผู้เป็นดุจตราชู มีคำอธิบายหลายแห่ง เช่น วินย.อ.๓/๒๓๒; องฺ.อ.๒/๕๔; พุทฺธ.อ.๑๖๖-๗; จริยา.อ.๓๑๕ เป็นต้น) นี้คือภาวะที่จิตมีอุเบกขา

เมื่อตั้งอยู่ในอุเบกขา ตัวของผู้ปฏิบัติก็พร้อมที่จะรักษาตนเองไว้ไม่ให้ล่วง อคติ คือ การออกนอกทางที่ควรจะไป หรือความประพฤตินอกทางแห่งธรรม ที่แปลง่ายๆ ว่า ความลำเอียง ประการ คือ (ที.ปา.๑๑/๑๗๖-๑๗๗/๑๙๕)

๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะ รัก หรือเพราะชอบกัน

๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะ ชัง หรือเพราะขัดเคือง

๓. ภยาคติ ลำเอียงเพราะ ขลาด หรือเพราะกลัว

๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะ เขลา หรือเพราะหลงผิดรู้ไม่เท่าถึงการณ์1

นี้คือภาวะแห่งดุลยภาพในจิตใจของบุคคล ที่ส่งผลออกมาทำให้รักษาดุลยภาพในสังคมไว้ได้

จะเห็นชัดว่า พรหมวิหารสามข้อแรกนั้นหนักในด้านความรู้สึก ส่วนข้อที่สี่หนักด้านความรู้

สามข้อแรกหนักด้านความรู้สึกอย่างไร เบื้องแรกเราพัฒนาคนให้พ้นจากความรู้สึกที่ไม่ดีมาสู่ความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทำให้มีเมตตา เป็นต้น คือ ยามเขาเป็นปกติ เราก็รู้สึกเป็นมิตร เขาเดือดร้อน เราก็รู้สึกสงสารเห็นใจ เขาได้ดีมีสุข เราก็รู้สึกพลอยชื่นชมยินดีด้วย ทั้งหมดนี้เป็นด้านความรู้สึก ซึ่งเมื่อสถานการณ์นั้นๆ มาถึง ก็พร้อมทันที

แต่ข้อที่ ๔ คืออุเบกขา อาศัยความรู้สึกไม่ได้ ต้องอาศัยความรู้ คือปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงต้องมากับปัญญา เพราะต้องรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรคือหลักการ แล้วจึงจะปฏิบัติคือมีอุเบกขาได้ ฉะนั้น อุเบกขาจึงต้องตั้งอยู่บนปัญญา

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงแยกว่า อุเบกขามี ๒ ชนิด คือ อุเบกขาที่เป็นกุศลนี้ กับอุเบกขาที่เป็นอกุศล ซึ่งเรียกว่า “อัญญาณุเบกขา” แปลว่า เฉยโง่ คือเฉยไม่รู้เรื่อง ไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง

เฉยในภาษาไทย เรามักจะมองแบบเฉยโง่ ซึ่งผิด เป็นอกุศลธรรม ฉะนั้น เฉยในที่นี้ต้องหมายความว่า เฉยเพราะรู้ว่าถ้าช่วยเขาจะกลายเป็นการทำลายธรรม จึงเฉยไม่เอากับบุคคลนั้น เพื่อจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรม

โดยเฉพาะผู้พิพากษา จะต้องมีท่าทีอุเบกขานี้มากหน่อย แม้ว่าจะสงสารหรืออย่างไรก็โอนเอนไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎกติกา และตามหลักการ เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวรักษาธรรม เช่นความเที่ยงธรรมในสังคมไว้ ในหมู่มนุษย์จะต้องมีธรรมข้อที่ ๔ นี้ไว้เพื่อรักษาธรรมวินัย ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกา อย่างที่ว่ากฎต้องเป็นกฎ อะไรทำนองนี้

พฤติกรรมจะถึงภาวะแห่งดุลยภาพ
เมื่อจิตใจและปัญญามาประสานอย่างสมดุล

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ากฎต้องเป็นกฎ ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะกฎมี ๒ ชั้น อย่างที่ว่ามาแล้ว คือกฎธรรมชาติ กับกฎมนุษย์

กฎธรรมชาติซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มีอยู่เป็นอยู่ของมันตามธรรมดานั้น เราต้องรู้และรู้ให้ชัดให้ทั่วตลอด เพราะถ้าไม่รู้เราก็พลาด กฎไม่ผิด แต่เราเองพลาด

ส่วนกฎมนุษย์นี้มนุษย์สร้างขึ้นมา เมื่อมนุษย์สร้างเองก็มีทางพลาด กลายเป็นกฎที่ผิด เพราะฉะนั้น การที่จะเอากฎหมายเป็นเกณฑ์ก็จะต้องคอยตรวจสอบกฎหมายตลอดเวลาด้วย โดยเฉพาะต้องดูว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติคือตัวธรรมหรือเปล่า

ฉะนั้น สำหรับกฎหมายคือกฎที่มนุษย์ตั้ง หรือวินัย จึงต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องและความได้ผลตามกฎธรรมชาติหรือความจริงตามธรรมอยู่เสมอ เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่เป็นธรรมนั้น ซึ่งต้องอาศัยการที่รู้ทั้งหมด คือรู้ทั้งด้านกฎธรรมชาติ และรู้ด้านมนุษย์ทั้งแง่บุคคลและสังคม

การจะวางกฎหมายได้ดี ต้องรู้เข้าใจธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติทั่วไป คือความจริงแห่งธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย และธรรมชาติของมนุษย์ เข้าใจจุดหมายของชีวิต เข้าใจจุดหมายของสังคม ตลอดจนเข้าใจจุดหมายของกฎหมายเอง ซึ่งต้องไปสอดคล้องกับจุดหมายที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ถ้าไม่เช่นนั้น จุดหมายของกฎหมายก็พลาดได้

รวมความว่า กฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์นี้จะต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ มิฉะนั้น แม้แต่อุเบกขาก็อาจจะพลาดเหมือนกัน ในกรณีที่เอากฎหมายซึ่งเป็นกฎชั้นรองมาใช้

เรื่องของกฎหมายมีทางพลาดได้ทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ ทั้งการบัญญัติกฎหมาย และการใช้กฎหมาย (ทั้งสองขั้นนี้เป็นด้านพฤติกรรม) และผิดพลาดด้วยเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ด้านปัญญา ไม่รู้ความจริง คือไม่รู้เท่าทันทั่วถึงธรรม คำว่า “ธรรม” นี้มีหลายชั้น ว่ากันถึงที่สุดก็คือตัวธรรมที่เป็นความจริงในธรรมชาติ ถ้าไม่รู้ความจริงนี้ เช่น ไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตมนุษย์ และไม่เข้าใจเหตุปัจจัยในสังคม ว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร มีปัญหาอย่างไร กลไกของปัญหาสังคมเป็นอย่างไร การทำเหตุปัจจัยอย่างนี้ๆ จะก่อให้เกิดผลในสังคมสะท้อนกันไปอย่างไร ถ้าปัญญาไม่รู้ความจริงนี้เพียงพอ การบัญญัติกฎหมายจะพลาดทันที เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้เข้าใจความจริงของตัวธรรมทุกระดับ

ต่อจากปัญญาที่รู้ความจริงคือธรรม เช่นเหตุปัจจัยทั้งหลายแล้ว ก็ยังต้องมีปัญญาในขั้นจัดตั้งวางวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบระบบขึ้นมาอย่างประสานสอดคล้องและให้ได้ผลจริงตามธรรมนั้นด้วย

๒. ด้านเจตนา (คือด้านจิตใจ) ถ้ามีเจตนาแอบแฝง เช่น คิดจะหาจะเอาผลประโยชน์แก่ตัวหรือพวกของตัว หรือจะกลั่นแกล้งทำร้ายคนอื่นพวกอื่น ก็จะทำให้พลาดอีกเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัยที่เป็นกฎในระดับสังคมมนุษย์จึงมีทางผิดพลาด ที่ทำให้ต้องมีการตรวจสอบอยู่เสมอ ๒ ชั้นด้วยกัน คือ

๑. ปัญญาเพียงพอหรือไม่ มีความรู้ความเข้าใจทั่วตลอดและวางแผนจัดตั้งได้สอดสมทั่วถ้วนไหม

๒. เจตนาเป็นอย่างไร

ในการใช้กฎหมาย ถ้าปัญญาไม่พอ ไม่รู้ความจริง หาความจริงไม่ทั่วถึง ก็เกิดความผิดพลาด ถ้าเจตนาไม่ดี ก็อาจจะเลี่ยงหลบหรือเอากฎหมายเป็นเครื่องมือสนองเจตนาร้ายนั้น

ขอเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกหน่อย คือ ในการใช้กฎหมาย หรือใช้หลักการกฎเกณฑ์กติกา ดังได้กล่าวแล้วว่า ในทางวินัยหรือกฎหมายมีกรรมชนิดที่เป็นสมมติ ซึ่งทำให้ไม่ต้องรอกรรมตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เมื่อมีพระภิกษุทำผิดวินัย สงฆ์ก็ต้องดำเนินการ ถ้าใครละเว้นก็มีความผิด แม้แต่ภิกษุรู้ว่าภิกษุรูปหนึ่งทำความผิดร้ายแรง แล้วช่วยปกปิดความผิดนั้น ก็เป็นอาบัติ

นอกจากในกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว แม้แต่ในยามปกติ ทุก ๑๕ วัน ก็ต้องมีการประชุมครั้งหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุทุกรูปตรวจสอบความประพฤติของตนตามปาติโมกข์ คือประมวลกฎหมาย ที่เป็นวินัยขั้นพื้นฐาน (ยังมีวินัยอีกระดับหนึ่งซึ่งว่าด้วยการจัดกิจการของส่วนรวม อันนั้นไม่ต้องเอามาตรวจสอบกันในที่ประชุมนี้) คือเอาวินัยที่เป็นข้อประพฤติส่วนบุคคลมาสาธยายในที่ประชุมทุก ๑๕ วัน ถ้ามีใครทำผิดก็จะต้องจัดการทันที เช่นมีการลงโทษ

วิธีการลงโทษก็เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีหลัก ขอเล่าเรื่องในพระสูตรเป็นตัวอย่าง (ม.อุ.๑๔/๑๐๕-๑๑๓/๘๙–๙๖)

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ พระอานนท์ยังอยู่ พระอานนท์นี้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ มหาเสนาบดีของแคว้นมคธ เดินทางมาตรวจราชการงานเมือง ดูแลงานซ่อมแซมพระนคร มาถึงที่พระอานนท์กำลังสนทนากับพราหมณ์คนหนึ่งค้างอยู่

สนทนากันมาถึงตอนที่พราหมณ์ถามว่า มีพระภิกษุรูปใดบ้างไหมที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่างเท่ากับพระพุทธเจ้า พระอานนท์ตอบว่าไม่มี เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบและเป็นผู้ชี้แสดงมรรคา ส่วนสาวกทั้งหลายเป็นผู้รู้ตาม ดำเนินตาม

วัสสการพราหมณ์จึงถามต่อว่า พระพุทธเจ้าก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว พระองค์ได้ตั้งใครเป็นหัวหน้าปกครองสงฆ์ต่อไป พระอานนท์ตอบว่า ไม่ได้ตั้ง

วัสสการพราหมณ์นี้เป็นนักปกครองบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ จึงว่า พวกท่านไม่มีหัวหน้า ไม่มีผู้ปกครอง จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ความพร้อมเพรียงสามัคคีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พวกเราไม่ใช่จะไม่มีหัวหน้า พวกเรายึดถือธรรมคือหลักการ พวกเราอยู่กันด้วยหลักการ คือยึดถือธรรม

วัสสการพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า ที่ท่านว่าอยู่กันด้วยหลักการ คือยึดถือธรรมนั้น หมายความว่าอย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท วางวินัยแม่บทเป็นหลักอ้างอิงไว้แล้ว เมื่อถึงวันอุโบสถ ๑๕ วันครั้งหนึ่ง พระภิกษุที่อยู่ในท้องถิ่นหนึ่งๆ ก็มาประชุมพร้อมกัน ขอให้พระภิกษุรูปหนึ่งสวดสาธยายสิกขาบทที่วางไว้เป็นแม่บทนั้น เมื่อมีพระทำความผิด สงฆ์คือที่ประชุม ก็ให้ภิกษุรูปนั้นปฏิบัติตามกติกา การที่ปฏิบัติเช่นนี้ไม่ถือว่าใครลงโทษภิกษุนั้น แต่ถือว่าธรรมลงโทษเขา

อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญ คือกฎเกณฑ์กติกามีอยู่แล้ว สิกขาบทมีอยู่ว่าดังนี้ ใครทำความผิด ที่ประชุมเพียงแต่เป็นสื่อ มาเป็นตัวแทนของหลักการ มาเป็นปากเสียงให้แก่หลักการ เพื่อจะให้หลักการที่วางไว้มีผลในเชิงปฏิบัติ ที่ประชุมและภิกษุทั้งหลายมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตัวหลักการนั้น แต่เวลาที่ลงโทษถือว่าหลักการลงโทษ ไม่มีภิกษุรูปใดลงโทษ

ส่วนที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งภิกษุใดไว้เป็นหัวหน้าปกครองสงฆ์แทนพระองค์ แต่ภิกษุทั้งหลายก็มีภิกษุที่เคารพนับถือเป็นหัวหน้านั้น ก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมคือหลักการที่เป็นคุณสมบัติไว้ ภิกษุใดมีคุณสมบัติอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็พร้อมใจกันยกภิกษุรูปนั้นขึ้นเป็นที่เคารพนับถือเชื่อฟัง นี่คือ การที่ไม่ตั้งบุคคล แต่ยึดถือหลักการ

อันนี้ก็เป็นแง่ของนิติศาสตร์แนวพุทธอีกเรื่องหนึ่ง คือผู้พิพากษาจะต้องทำใจและวางท่าทีแบบนี้ คืออย่าไปนึกว่าเราเป็นผู้ลงโทษ ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดแน่นอน ผู้พิพากษาต้องทำใจให้บริสุทธิ์ ปราศจากความรู้สึกที่เป็นตัวเขาตัวเรา มีแต่เจตนาที่รักษาธรรม และใช้ปัญญาที่รู้ความจริงถ่องแท้ ทำหน้าที่เป็นเพียงกระบอกเสียงให้แก่ตัวธรรมคือหลักการและตัวบทกฎหมายเท่านั้น

เมื่อทำได้อย่างนี้ ถ้ามีการลงโทษ ก็คือกฎหมายลงโทษเขา กติกาลงโทษเขา ตัวธรรมลงโทษเขา

ถ้ามีใจบริสุทธิ์และปัญญาถ่องแท้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นตัวธรรมลงโทษเขา นี่คือให้ธรรมในระดับหลักการของมนุษย์มาทำหน้าที่ เพราะถ้ารอให้ธรรมในกฎธรรมชาติมาแสดงผล สังคมอาจจะวิปริตไปเสียก่อนก็ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีความสามารถในการจัดตั้ง เราก็ใช้ความสามารถนั้นจัดสรรระบบของสังคมเพื่อจะดำเนินการให้เป็นไปตามธรรม โดยมุ่งให้มีประสิทธิผลในการที่สังคมจะอยู่ร่วมกันด้วยดี คนที่ดำเนินการตามหลักการและกฎกติกาอย่างนี้ ถือว่าดำเนินการตามธรรม เป็นสื่อให้แก่ธรรม เป็นทางผ่านของธรรม หรือเป็นกระบอกเสียงแก่ตัวธรรม ไม่ใช่เป็นผู้ไปทำอะไรของตนเอง และไม่ใช่ไปลงโทษเขา

นอกจากนั้น เมื่อเราปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามวินัย โดยมีความรู้สึกต่อกฎหมาย ด้วยท่าทีแห่งการปฏิบัติต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ที่มุ่งเพื่อจะรักษาธรรม ก็จะเป็นการปฏิบัติด้วยสภาพจิตของพรหมผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก คือพรหมวิหาร ๔ ข้อที่กล่าวแล้วนั้น

มนุษย์จะมีท่าทีต่อกฎหมายต่างกันเป็น ๓ ระดับ ซึ่งต้องขึ้นต่อการที่กฎหมายนั้นเป็นธรรมหรือไม่ด้วย

ท่าทีที่ ๑ คือความรู้สึกแบบเป็นเครื่องบังคับ ถือว่าเป็นความรู้สึกที่ต่ำสุด และจะไม่ยั่งยืน เดี๋ยวนี้เราชอบใช้คำว่ายั่งยืน โดยเฉพาะในคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน กฎหมายก็จะไม่ยั่งยืน และสังคมนี้ก็จะไม่ยั่งยืน ถ้ามนุษย์เต็มไปด้วยความรู้สึกว่ากฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายเป็นข้อบังคับ ท่าทีที่ ๑ คือท่าทีความรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ

ท่าทีที่ ๒ เป็นท่าทีแบบพระพุทธศาสนาที่มองว่า กฎเกณฑ์กติกานี้ เราบัญญัติจัดวางขึ้นมาเพื่อสร้างสภาพเอื้อในสังคม ที่จะเป็นโอกาสให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น คนจะมองกฎเกณฑ์กติกา ว่าเป็นเครื่องฝึกตน ดังที่เรียกว่า สิกขาบท คือเป็นข้อฝึก หรือข้อเรียนรู้ ที่จะเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจที่รู้สึกว่าจะฝึกตัวเอง หรือจะเรียนรู้เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ เพราะว่าการที่เราจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามได้ เราจะต้องมีระบบความเป็นอยู่ที่เอื้อ

เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ เขาก็จะมีความสำนึกตระหนักว่า ระบบชีวิตแบบนี้เราต้องทำให้ได้ เมื่อเราทำได้แล้วเราจะสามารถมีชีวิตที่ดี จากนี้เขาก็เต็มใจและพร้อมใจ ที่จะปฏิบัติอย่างเป็นการฝึกตน

ถ้ามองกว้างออกไปก็คือ ในสังคมนี้ การที่เราจะอยู่ร่วมกันด้วยดี เหตุผลก็มีอยู่แล้ว ว่าเราจะต้องมีความประพฤติกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องพยายามปฏิบัติ มาฝึกตัวกัน อย่าถือเป็นข้อบังคับ เราจะต้องฝึกตัว พัฒนาตัวกันจนกระทั่งอยู่ตัว จนกระทั่งเรามีความประพฤติอย่างนั้นเป็นธรรมดา

มนุษย์นี้ฝึกได้ เรียนรู้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นว่ากฎนี้เขาสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดสภาพเอื้อต่อชีวิตที่ดีงามของเราต่อไป ถ้าเราอยากจะมีชีวิตที่ดีงาม เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎนี้ เราต้องมาฝึกกัน เมื่อฝึกแล้วต่อไปเราจะทำได้เป็นธรรมดาไปเลย มันก็จะเป็นสภาพชีวิตที่ดีงามเกิดขึ้นมา สังคมก็บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะเป็นสภาพเกื้อกูลต่อชีวิตของแต่ละคนด้วย และสังคมเองก็อยู่ดีด้วย

ดังนั้น มนุษย์จะต้องมองกฎกติกาเหล่านี้เป็นข้อฝึก คือเป็นสิกขาบทอย่างที่ว่า ถ้าถึงขั้นนี้แล้วมนุษย์จะเริ่มพัฒนา

ท่าทีที่ ๓ มนุษย์ที่พัฒนายิ่งขึ้นกว่านี้ จะไปถึงอีกระดับหนึ่งที่จะมีปัญญารู้เข้าใจว่า กฎเกณฑ์กติกาของสังคมนี้ มนุษย์วางขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อจะให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และจะได้มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ดังที่เห็นได้ชัดๆ แล้ว เพราะฉะนั้น กติกาเหล่านี้จึงเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรเท่านั้นเอง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีงาม และให้สังคมมีสภาพที่เอื้ออย่างที่เราต้องการและอย่างที่มันควรจะเป็น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องปฏิบัติตามกติกาในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างนี้

เพราะฉะนั้น กฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาจึงเป็นเพียงข้อหมายรู้ร่วมกันว่าจะเอาอย่างไร มนุษย์ที่มีท่าทีความรู้สึกขั้นนี้เรียกว่าเป็นคนที่พัฒนาไปมากแล้ว พระอรหันต์จะอยู่ด้วยท่าทีความรู้สึกแบบนี้

แม้แต่พระอรหันต์ก็ต้องมีกติกา คือต้องมีวินัย ทำไมพระอรหันต์ต้องมีวินัย เพราะการอยู่ร่วมกันต้องมีระเบียบระบบ เช่น จะมาฉันพร้อมกันเวลาเช้า ก็ต้องวางกติกาว่าฉันเวลาไหน จะเอาสิ่งใดเป็นเครื่องนัดหมาย ถ้าใช้ระฆัง จะตีกี่ที ก็ตกลงบัญญัติกติกาว่า ถ้าตีระฆัง ๒ ครั้งหมายถึงมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ๓ ครั้งนัดประชุม ๕ ครั้งบอกเวลาฉัน ตลอดกระทั่งว่าเมื่อมาแล้วจะนั่งกันอย่างไร จะทำอะไรกันอย่างไร พูดสั้นๆ ว่าต้องมีวินัย

เพราะฉะนั้น แม้แต่พระอรหันต์ผู้พัฒนาสูงสุดแล้วก็ต้องมีกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ไม่เช่นนั้นก็อยู่ด้วยกันโดยเรียบร้อยด้วยดีไม่ได้ เพราะแทนที่จะเกิดมีโอกาส ก็กลายเป็นเกิดความขัดข้อง

เป็นอันว่า เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกัน ก็ต้องมี social contract แต่ความหมายอาจจะไม่เหมือนของฝรั่ง2 พระอรหันต์คือมนุษย์ที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว มองกติกาเหล่านี้ด้วยความเข้าใจด้วยปัญญาว่า เป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกัน เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันด้วยดีเท่านั้นเอง

ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นนี้ โดยมีความรู้สึกต่อกฎหมายอย่างนี้ได้ ก็เป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว เรียกว่าเป็นผู้มีการศึกษา

แต่ถ้ามนุษย์ยังมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับอยู่ ก็แสดงว่ามนุษย์ยังไม่มีการศึกษา หรือไม่เช่นนั้นก็มีกฎหมายที่เป็นเครื่องบังคับเขาจริง คือกฎหมายไม่เป็นธรรม แต่ถ้ากฎหมายเป็นธรรม ก็แสดงว่ามนุษย์ไม่มีการศึกษา จึงมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ

ถ้าคนมีการศึกษา อย่างน้อยก็จะมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องฝึกตน เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการที่จะมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป และ

ถ้าเขาพัฒนายิ่งขึ้นไปอีกจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะมองกฎหมายว่าเป็น เครื่องหมายรู้ร่วมกัน ซึ่งตรงตามความหมายของสมมติที่แท้จริง คือเป็นเรื่องของมติร่วมกัน การตกลงหรือรับรู้ร่วมกัน หรือยอมรับร่วมกัน ด้วยเหตุผลเพื่อความดีงามร่วมกัน ทั้งของชีวิตแห่งบุคคลและของสังคม

พูดมาถึงตรงนี้ คงจะช่วยให้มองเห็นความหมายที่แท้และความสำคัญของ “สมมติ” พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสมมตินั้น ที่ว่าไม่ละเลยแต่ถือสำคัญ อย่างรู้เท่าทัน ใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง โดยไม่หลงติดนั้น คืออย่างไร (พึงศึกษาจากพุทธพจน์ในที่ต่างๆ เช่น ที.สี.๙/๓๔๒/๒๔๘; สํ.ส.๑๕/๖๕/๒๑)

ถ้าประชาชนประพฤติตามกฎหมายด้วยจิตสำนึกอย่างหลังนี้ ก็พูดได้ว่า สังคมบรรลุความสมบูรณ์แล้วในแง่ของนิติศาสตร์ เพราะย่อมหมายถึงการที่คนพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ จนทั้ง ๓ ด้านของชีวิต คือ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา มาบูรณาการประสานกันลงตัว

ทางด้านปัญญาก็รู้เข้าใจเหตุผลและความมุ่งหมายของวินัย ทางด้านจิตใจก็มีความเต็มใจและร่วมใจ พร้อมทั้งทางด้านพฤติกรรมก็ปฏิบัติตามด้วยดีอย่างมีเหตุผล

แต่ในความเป็นจริง สังคมจะไม่บรรลุภาวะนี้ เพราะเป็นธรรมดาว่า ในขณะหนึ่งขณะเดียวกัน มนุษย์ทั้งหลายย่อมอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างกันหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะปล่อยตัวประมาทไม่ได้ จะต้องเพียรพยายาม อย่างน้อยให้มีคนจำนวนหนึ่งมีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๓ โดยให้คนจำนวนมากที่สุดมีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๒ และให้คนที่มีท่าทีปฏิบัติในระดับที่ ๑ มีจำนวนน้อยที่สุด สังคมก็จะยังพออยู่กันได้ และนับได้ว่าเป็นสังคมที่ดี

ความเคร่งครัดในวินัย ประสานกับจิตใจที่ไม่ยึดมั่น
คำนึงแต่จะรักษาธรรมเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน

กิจกรรมหรือข้อยึดถือปฏิบัติที่ตกลงกันในสังคมมนุษย์ พระท่านใช้คำว่า “สมมติ” ทั้งนั้น

ตัวอย่างเช่น มีจีวรเกิดขึ้นในวัด พระภิกษุแต่ละรูปในวัดนั้นมีสิทธิ สิทธิก็เป็นของสมมติเหมือนกัน ญาติโยมอาจได้สิทธิมีของครอบครองมากมาย แต่พระมีสิทธิเพียงเครื่องใช้ที่เรียกว่า บริขารนิดเดียว เช่น มีไตรจีวรที่ถือได้จริงๆ ชุดเดียว นอกจากนั้นแล้วมีสิทธิครอบครองได้แค่ ๑๐ วันเป็นอย่างมาก เกินกว่านั้นเก็บไม่ได้ แล้วทีนี้จะทำอย่างไร

ถ้าจีวรเกิดขึ้นมากมาย ก็ให้มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับเก็บ เรียกว่า จีวรนิทหกะ แปลว่าภิกษุเจ้าหน้าที่เก็บจีวร

ภิกษุองค์หนึ่งจีวรขาด อยากจะได้จีวรใหม่ จะไปหาภิกษุองค์ที่เก็บก็ไม่ได้ เพราะองค์เก็บไม่มีหน้าที่แจก ต้องไปหาพระภิกษุอีกองค์หนึ่งผู้มีตำแหน่งเรียกว่า จีวรภาชกะ แปลว่า ภิกษุเจ้าหน้าที่แจกจีวร

ภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้ คือทั้งพระจีวรนิทหกะ (ผู้เก็บจีวร) และพระจีวรภาชกะ (ผู้แจกจีวร) ต้องได้รับแต่งตั้งจากสงฆ์ โดยมีกฎเกณฑ์บัญญัติว่า ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างนี้ๆ คือ ไม่มีอคติ ทั้ง ๔ และรู้งานในหน้าที่ โดยเข้าที่ประชุมพิจารณาแล้ว ที่ประชุมตกลงมีมติร่วมกัน แต่งตั้งภิกษุรูปนี้เป็นผู้เก็บจีวรหรือเป็นผู้แจกจีวร

การเลือกตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ให้มีตำแหน่งหน้าที่อย่างนี้ท่านเรียกว่า สมมติ

คำว่า “สมมติ” ของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลวไหลอย่างที่ญาติโยมเข้าใจกัน แต่เป็นเรื่องที่จริงตามสมมติ คือตามที่ตกลงกันนั้น เมื่อภิกษุรูปนั้นได้รับการสมมติแล้ว ก็มีอำนาจหน้าที่จริงๆ (ตามที่ตกลงกัน) ในการที่จะเก็บจีวร หรือในการที่จะแจกจีวร เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง การสร้างโบสถ์จะต้องมีนิมิต คือเครื่องหมายเขต เวลาผูกสีมาคือตกลงกำหนดเขตนั้น ก็เรียกว่า “สมมติสีมา” สมมติ ก็คือมติร่วมกันดังที่กล่าวแล้ว

เรื่องของสังคมมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของมติที่มนุษย์จะตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า “สมมติ” ทั้งสิ้น แต่กล่าวแล้วว่าสมมติเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของสมมติ เพราะมนุษย์มีความสามารถในการสมมติ จึงสามารถทำการสร้างสรรค์อารยธรรมให้เจริญงอกงามขึ้นมาได้ เพราะเหตุที่สมมติเป็นเรื่องจริงในระดับหนึ่ง และเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ในพระพุทธศาสนา ท่านจึงแสดงไว้ทั้งปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ

การเข้าถึงสมมติ คือการรู้เข้าใจตามเป็นจริงว่า กฎเกณฑ์เป็นต้นนี้ เป็นสิ่งที่เราตกลงกันกำหนดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์บางอย่าง เมื่อเรามีเหตุผลในการตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันนี้ เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสมมตินั้น เพราะฉะนั้น พระจึงมีลักษณะที่ว่ายิ่งพัฒนาไปก็จะยิ่งปฏิบัติตามวินัยได้เคร่งครัด

อาจมีผู้สงสัยว่า ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่เรียกว่าการรักษาสิกขาบทนั้นก็เป็นข้อฝึกเท่านั้น พระอรหันต์เป็นผู้ฝึกเสร็จแล้ว ไม่ต้องฝึกอีกต่อไปแล้ว ทำไมจะต้องปฏิบัติด้วย ก็กลายเป็นว่าพระอรหันต์ยึดถือสมมติมากใช่ไหม

ตอบว่า ตามปกติคนเรานั้น แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ผู้ที่ยังฝึกกับผู้ที่ฝึกแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษากับผู้จบการศึกษา หรือผู้ที่กำลังพัฒนากับผู้ที่จบการพัฒนาแล้ว พระอรหันต์นั้นจบการพัฒนาแล้ว แต่ปรากฏว่าเป็นผู้ที่ถือวินัยจริงจังมาก เพราะอะไร มีเหตุผลในเรื่องนี้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑. เป็นผู้นำ พระอรหันต์ในฐานะที่เป็นผู้สมบูรณ์แล้ว จึงต้องปฏิบัติตนเป็นผู้นำเขาในความเคร่งครัดในสิกขาบท ขอยกตัวอย่างว่า (วินย.๔/๑๕๓/๒๐๘) เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุลงอุโบสถสวดปาติโมกข์ทุก ๑๕ วัน มีพระอรหันต์องค์หนึ่งดำริว่า หลักการนี้บัญญัติขึ้นเพื่อจะตรวจสอบความบริสุทธิ์ เราเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ควรจะต้องไปหรือไม่ พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงตัวเลยตรัสว่า ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์แล้วไม่เคารพกฎ แล้วใครจะเคารพกฎ ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์แล้วไม่ถือสำคัญ ใครจะเห็นสำคัญ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงต้องเป็นผู้นำในการรักษาสิกขาบท

๒. เป็นแบบอย่าง ซึ่งก็อยู่ในฐานะผู้นำด้วยเหมือนกัน ท่านเรียกว่าปฏิบัติเพื่อให้ชนรุ่นหลังถือเป็นแบบอย่าง ข้อนี้สำคัญมาก หมายความว่า ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อตัวเอง เพราะตัวเองพัฒนาสมบูรณ์แล้ว สำหรับตัวเองทำให้พอแล้ว เต็มแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็คิดแต่จะทำเพื่อผู้อื่น อะไรจะเป็นการดีแก่คนรุ่นหลัง ก็ทำให้เป็นตัวอย่างไว้

ดังเช่น พระมหากัสสปะ ท่านแก่มากอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ท่านก็ยังถือธุดงค์ เช่น อยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นต้น พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระมหากัสสปะว่า เธอถือธุดงค์เคร่งครัดมาเป็นเวลายาวนาน บัดนี้เธอก็ชราแล้ว เรี่ยวแรงกำลังก็ไม่ค่อยมี ผ้าบังสุกุลนี้เนื้อไม่ดีและหนักมาก เธอรับจีวรที่ญาติโยมถวายมาใช้เถิด แต่พระมหากัสสปะได้ทูลขอปฏิบัติถือธุดงค์เช่นนั้นต่อไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่ามีเหตุผลอะไร เพราะหากยอมใช้จีวรเนื้อดีก็จะเบาสบาย พระมหากัสสปะชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง เรียกว่า ปจฺฉิมา ชนตา ทิฏฺฐานุคตึ อาปชฺเชยฺย แปลว่า ประชุมชนภายหลังจักได้ถือเป็นแบบอย่าง (สํ.นิ.๑๖/๔๘๑/๒๓๙) จะได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนเหล่านั้นเอง

๓. เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน หรือเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะวินัย กฎหมาย และกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตและสังคมที่ดีงามดังกล่าวแล้ว พระอรหันต์นั้นเป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีก ท่านจึงปฏิบัติเพื่อผู้อื่นและเพื่อส่วนรวมได้เต็มที่ ตามคติที่ว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ คือ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของโลก

อย่างในเรื่องพระมหากัสสปะ เมื่อท่านทูลชี้แจงเหตุผลแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานสาธุการว่าท่านปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน (สํ.นิ.๑๖/๔๘๒/๒๓๙; ฯลฯ) ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัย

นี้คือหลักการในการรักษาวินัย กฎหมาย และระเบียบแบบแผนต่างๆ ซึ่งคนที่อยู่ในระดับต่างๆ ของสังคมควรจะมีท่าทีที่ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าในสังคมไทยมีการยึดถือเข้าใจผิดกันบ่อยๆ เช่น บางทีมีการอ้างว่า พระภิกษุท่านนั้นท่านนี้เป็นพระอริยะ ท่านหมดกิเลสแล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว ท่านจะทำอะไรก็ได้เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น เอาหลักความไม่ยึดมั่นถือมั่นมาอ้าง (รายหนึ่งถึงกับว่าให้หญิงสาวนวดให้) ญาติโยมหลายท่านฟังแล้วว่าน่าจะจริงนะ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นถือมั่น จะไปเอาอะไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งไม่จริงแท้แน่นอน เป็นสิ่งสมมติ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละ ระวังจะตกหลุม

ที่ว่าต้องระวังก็คือ ความไม่ยึดมั่นที่แท้ กับความไม่ยึดมั่นเทียมหรือความไม่ยึดมั่นอย่างปลอม เป็นคนละอย่างกัน การที่พระอรหันต์ท่านไม่ยึดมั่นนั้น ท่านไม่ยึดมั่นแท้ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง แต่ในการดำเนินชีวิตท่านยอมรับความจริงตามเหตุตามผล

ได้กล่าวแล้วว่า สมมติ นั้น คือสิ่งที่มนุษย์ตกลงกัน มีมติร่วมกัน โดยกำหนดวางไว้ตามเหตุผล เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ พระอรหันต์อยู่ด้วยปัญญาที่เข้าใจเหตุผลนั้น และท่านไม่มีอะไรที่เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ของตัวท่านเองด้วย เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดที่จะปฏิบัติตามสมมตินี้ จึงกลายเป็นว่า พระอรหันต์เป็นผู้พร้อมที่สุด ที่จะปฏิบัติตามวินัยหรือกฎกติกาที่เป็นสมมติ เพราะไม่มีกิเลสที่ทำให้เห็นแก่ตัวหรือทำเพื่อตัว

ถ้าคนยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว กฎเกณฑ์กติกาจะขัดขวางผลประโยชน์ของเขา อย่างน้อยก็ตามใจตัวที่ขี้เกียจทำ หรือเป็นการไม่สบายที่ต้องไปทำตามกฎ กิเลสเช่นความขี้เกียจ และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวต่างๆ เหล่านี้ จะมาขัดขวาง ทำให้คนไม่ปฏิบัติตามกติกาสังคม เพราะฉะนั้น คนที่ยังมีกิเลสจึงปฏิบัติตามกฎได้ยาก ส่วนพระอรหันต์ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่มีเรื่องส่วนตัวที่จะเข้ามากีดกั้น มาทำให้จิตใจต้องฝืนหรือหลบซ่อน ท่านไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว ท่านพร้อมที่จะทำตามสิ่งที่มีเหตุผลทุกอย่าง เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรม

บางคนบอกว่า อะไรมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย แล้วก็ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร กลับไปบ้านก็ว่าเงินทองไม่ใช่ของเรา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลูกก็ไม่ใช่ของเรา ภรรยาก็ไม่ใช่ของเรา บอกว่าไม่ยึดมั่น นี่แหละ เจอความยึดมั่นอย่างหนักเข้าไปแล้ว ความยึดมั่นเกิดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว นี่ก็คือ “ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” เพราะว่าความไม่ยึดมั่นที่เขาอ้างนั้น เป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เป็น concept หรือเป็นสัญญาที่รับเอามาถือไว้ แล้วก็ยึดมั่นว่าฉันจะไม่ยึดมั่น เท่านั้นเอง

ส่วนความไม่ยึดมั่นที่แท้จริง เกิดจากปัญญาที่รู้ความจริงแล้วใจไม่ติด ใจเป็นอิสระอยู่ แล้วก็ปฏิบัติไปตามเหตุผลอย่างจริงจังตามหน้าที่หรือตามเหตุผลที่ได้ตกลงเห็นชอบร่วมกัน เพื่อความดีงามบางอย่าง มีอะไรเป็นไป ใจก็ไม่ตกเป็นทาส ไม่ถูกครอบงำ อันนี้สิที่สำคัญ ส่วนการปฏิบัติในทางรูปธรรมดำเนินตามแบบแผนกติกาที่ตกลงไว้ ถ้ามันชอบธรรมสมเหตุสมผล ดังนั้น พระอรหันต์จึงเป็นผู้ปฏิบัติจริงจังตามสมมติ และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด

วินัยนี้ ในแง่หนึ่งเป็นการสร้างแบบแผนชีวิตตัวอย่างสำหรับผู้ที่จะมีชีวิตที่ดีงามอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ทั้งที่พระพุทธเจ้าสอนหลักความไม่ยึดมั่น แต่วินัยของพระทำไมกลับให้เอาจริงเอาจังกับสิ่งต่างๆ มากนัก นี่แหละวินัยเป็นตัวแสดงให้เห็นชัดว่า ในระบบการฝึกมนุษย์ที่แท้จริงนั้น ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้

จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความไม่ยึดมั่น ซึ่งอาจจะซ้อนกันอยู่เป็น ๒ ชั้น คือ

ในชั้นที่ ๑ ท่านสอนให้ไม่ยึดติด เช่น ไม่เห็นแก่ลาภ ไม่โลภ ไม่หมายมั่นในการที่จะต้องได้จีวรอย่างนี้อย่างนั้น ที่จะเอาแต่ใจ หรือจะมีของในครอบครองให้มาก เพราะฉะนั้นจึงมีสิกขาบทในวินัยที่บัญญัติว่าให้ภิกษุมีสิ่งของเครื่องใช้ได้จำกัดเท่านั้นเท่านี้ เพียงเท่าที่พอแก่การใช้ประโยชน์ที่แท้จริง

ในเวลาเดียวกัน มองอีกขั้นหนึ่ง ก็จะเห็นความไม่ยึดมั่นในชั้นที่ ๒ คือสิ่งของอย่างไหนที่ตกลง (สมมติ) ว่าเป็นของท่านแล้ว ท่านต้องมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น วินัยกำหนดว่า พระภิกษุรูปหนึ่ง(มีสิทธิ)มีจีวรได้ชุดเดียว ดูจะเป็นการไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ จึงไม่ให้มีมาก แต่พระจะบอกว่า เรื่องจีวรนี้ไม่สำคัญ ฉันไม่ยึดมั่นถือมั่น มันไม่ใช่ของของเราจริง เราเกิดมามันก็ไม่ได้มีติดมาด้วย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แล้วก็ไม่เอาใจใส่ ปล่อยสกปรก ไม่ซัก หรือว่าปล่อยให้ขาดเป็นรู ไม่ปะชุน

พระภิกษุจะปล่อยปละละเลยอย่างนั้นไม่ได้ วินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุปล่อยให้จีวรขาด ไม่ปะชุน แม้จะเป็นรูเท่าหลังเล็บนิ้วก้อย ก็มีความผิด เป็นอาบัติ (วินย.อ. ๒/๑๖๘) เอาล่ะซิ จีวรผืนเดียว ต้องรักษาอย่างดีขนาดนี้ ปล่อยให้ขาด ไม่ปะ ก็โดนปรับความผิดแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ภิกษุมีจีวรชุดเดียวต้องรักษาไว้ให้ดี ถ้าอยู่ปราศจากมันแม้แต่ราตรีเดียว ก็เป็นอาบัติ (วินย. ๒/๑๐/๗) ท่านเรียกว่าขาดครอง ญาติโยมไม่เข้าใจหลักการนี้ก็จะพูดว่า พระทำไมมายึดมั่นถือมั่นกะเรื่องจีวรแค่นี้ สำคัญอะไรนักหนา

เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจหลักการนี้ให้ถูก วินัยเป็นระบบแห่งวิถีชีวิตของการฝึกตน ถ้าเรามองเห็นธรรม คือความจริงแท้แห่งความถูกต้องดีงาม ที่เข้ามาสู่วินัย คือระบบการจัดตั้งของมนุษย์ ในรูปของระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตแล้ว ก็ผ่านตอนนี้ไปได้ จึงจะขอเลยต่อไปสู่เรื่องในระดับการบัญญัติและการใช้กฎหมาย และเรื่องอื่นๆ อีกสัก ๓-๔ อย่าง

ความยึดมั่นกฎหมาย หลงติดในสมมติ จะกลายเป็นภัย
แต่ถ้าเข้าถึงธรรมที่เป็นฐานของกฎหมาย ก็จะกลายเป็นนักนิติศาสตร์ที่แท้

การบัญญัติกฎหมายซึ่งเป็นกฎมนุษย์ มีข้อที่ต้องระวังหลายอย่าง ข้อระวังที่ ๑ ก็คือ การที่มนุษย์จะแปลกแยกจากธรรมชาติ ซึ่งจะไม่อธิบายมาก แต่จะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาพูดตอนต้นแล้วในเรื่องกฎมนุษย์ กับ กฎธรรมชาติ ที่ซ้อนกันอยู่

ดังได้บอกแล้วว่า ที่จริงนั้น การที่เราบัญญัติกฎมนุษย์ขึ้นมา ก็เพราะความต้องการแท้จริงของเราอยู่ที่กฎธรรมชาติ เราจึงบัญญัติกฎมนุษย์ขึ้นมาหนุนการกระทำที่จะให้ได้ผลตามกฎธรรมชาตินั้น

ทำไมเราจึงบัญญัติกฎมนุษย์ว่าให้คนมาทำสวน ๑ เดือนแล้วเราให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท การที่กฎมนุษย์เกิดขึ้นมานี้ เพราะแท้จริงแล้วมีกฎธรรมชาติอยู่เบื้องหลัง คือเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติว่า จะให้ต้นไม้เจริญงอกงาม จึงจัดระบบให้มีคนมาทำสวน กฎมนุษย์ว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็มาหนุนกฎธรรมชาติที่ว่า ทำสวน ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ และหลงสมมติ คือติดอยู่แค่กฎสมมติเมื่อไร ชีวิตและสังคมจะเริ่มวิปลาสทันที เริ่มจากคนทำสวน ซึ่งมาทำสวนเพียงเพราะต้องการผลตามกฎมนุษย์ คือ ต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เขาไม่ต้องการผลตามกฎของธรรมชาติ ไม่ได้ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม อะไรจะเกิดขึ้น ผลเสียหรือความวิปลาสที่เกิดขึ้น คือ

๑. ในด้านชีวิตของตัวบุคคลนั้นเอง คนทำสวนก็ไม่มีความสุขในการทำสวน เพราะเขาทำสวนด้วยความฝืนใจเนื่องจากเขาไม่ได้ต้องการผลที่แท้จริงของการทำสวน แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเงิน การทำสวนจึงทำให้เขาต้องมาทรมาน ต้องรอเวลาเดือนหนึ่งกว่าจะได้เงินเดือน ซึ่งเป็นภาวะที่แย่จริงๆ เพราะฉะนั้นเขาจึงทำสวนด้วยใจทุกข์ทรมานเต็มทีตลอดเวลา

๒. ในด้านกิจการของสังคม ประโยชน์ส่วนรวมก็เสีย เพราะว่าเมื่อคนทำสวนไม่เต็มใจทำสวน นอกจากตัวเขาเองจะไม่มีความสุขแล้ว ก็ยังไม่ตั้งใจทำงานอีก เมื่อไม่ตั้งใจทำ สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้จากเขา กิจการของสังคมก็เสีย เพราะการทำสวนไม่มีคุณภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น เมื่อคนทำสวนนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ ต้องการผลแต่ตามกฎมนุษย์ และไม่ตั้งใจทำสวน สังคมมนุษย์ก็ต้องตั้งกฎมนุษย์ซ้อนเพิ่มเข้ามาอีก เช่นจะต้องดำเนินการตั้งคนคุมขึ้นมาเพื่อคุมคนทำสวนคนนี้ แต่นายคนคุมก็แปลกแยกจากธรรมชาติ ต้องการแต่ผลตามกฎมนุษย์อย่างเดียว ก็เลยไม่ได้เรื่องอีก แล้วก็ตั้งกฎซ้อนเข้ามาเป็นชั้นๆ จนซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ผลที่สุดก็ล้มเหลวหมด

การที่สังคมนี้ยังดำรงอยู่ได้ ก็เพราะคนเราบางส่วนยังไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ทั้งสังคมนี้แปลกแยกจากกฎธรรมชาติมาติดอยู่กับกฎมนุษย์อย่างเดียวโดยหลงสมมติเมื่อไร สังคมนี้ก็จะปั่นป่วนวิปริต และชีวิตก็จะไม่มีความสุข จะเสียคุณภาพชีวิต ดังเช่นคนทำสวนที่ทำงานด้วยความทุกข์ทรมานดังกล่าวมาแล้ว

เวลานี้ มนุษย์เริ่มเข้าสู่ระบบที่ติดสมมติมากขึ้น ระบบแข่งขัน หรือระบบผลประโยชน์ที่กำลังเข้ามา ส่งผลกระทบต่อระบบทุกอย่างของสังคม ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แม้แต่กฎหมายก็จะถูกกระทบด้วย เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจะต้องทันต่อแนวโน้มนี้ด้วย ระบบการแข่งขันหาผลประโยชน์นี้เป็นระบบที่เต็มไปด้วยสมมติ และจะผลักดันให้มนุษย์ทำการต่างๆ เพื่อผลตามกฎสมมติอย่างเดียว จนกระทั่งในไม่ช้าคนก็จะแปลกแยกจากธรรมชาติแทบจะสิ้นเชิง

ดังตัวอย่างที่ยกมาพูดบ่อยๆ คือ เมื่อคนตั้งโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาโรงหนึ่ง ในขณะที่สังคมเข้าสู่ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น ถามว่าอะไรเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของโรงพยาบาล คำตอบตามระบบผลประโยชน์ก็คือ กำไรสูงสุด เพราะเขาตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อผลประโยชน์ เมื่อได้กำไรสูงสุดก็คือความสำเร็จ ถ้าไม่ได้กำไรสูงสุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ

การตั้งโรงพยาบาลแล้วทำให้ได้กำไรสูงสุดนี้เป็นเรื่องของกฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่การแพทย์ได้กลายเป็นธุรกิจแล้ว จึงมุ่งไปที่การได้ผลประโยชน์ตอบแทน แต่ตามกฎธรรมชาติ การแพทย์คืออะไร ผลของการแพทย์คืออะไร การแพทย์เป็นเหตุ อะไรเป็นผลตามกฎธรรมชาติ ตอบว่าการที่คนหายโรค มีสุขภาพดี เป็นผลตามกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของโรงพยาบาลตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้จริง ก็คือ การที่ได้ช่วยให้ผู้คนในสังคมนี้ ห่างเบาบรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพดีขึ้น นี้คือความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ

พูดสั้นๆ ว่า ความสำเร็จของมนุษย์ตามความหมายแห่งกฎสมมติ คือ การได้กำไรสูงสุด แต่ความสำเร็จของมนุษย์ตามความหมายแห่งกฎแท้ของธรรมชาติ คือ การทำให้ชีวิตดีงามมีความสุข สังคมสันติ และโลกเป็นแดนเกษม

ตอนนี้ ระหว่าง ความสำเร็จตามกฎมนุษย์ กับความสำเร็จตามกฎธรรมชาติ เราจะเลือกเอาความสำเร็จอย่างไหน ในสังคมปัจจุบันนี้กิจการทุกอย่างกำลังกลายเป็นธุรกิจ แม้แต่การศึกษา เรากำลังจะมองกันอยู่แค่กฎมนุษย์ และหลงอยู่กับกฎสมมตินั้น ไม่ว่าจะทำอะไร ก็มุ่งผลสำเร็จที่กำไรสูงสุด ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้แต่แพทย์ ก็จะคำนึงแต่รายได้ ไม่คำนึงถึงชีวิตของคน คนจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ให้ฉันได้กำไรก็แล้วกัน นี่ดีแต่ว่าแพทย์ของเรายังมีคุณธรรมอยู่หลายท่าน

เวลานี้กิจการทุกอย่างกำลังจะเป็นอย่างนี้ นี้คือการที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ ติดในสมมติ เขาจึงไม่สามารถเชื่อมกฎธรรมชาติกับกฎของมนุษย์เข้าหากัน เขาไม่รู้ตระหนักว่า การที่เราจัดตั้งวินัย คือวางระบบสังคมในหมู่มนุษย์ขึ้นมานี้ แท้จริงแล้วก็เพื่อให้ความเป็นจริงในกฎธรรมชาติปรากฏผลที่ดีงามขึ้นมาแก่ชีวิตและสังคมของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ยังตระหนักรู้และทำให้เป็นไปอย่างนี้ได้ ก็คือ การเชื่อมระหว่างกฎมนุษย์กับกฎธรรมชาติ หรือวินัยกับธรรมได้

พระพุทธเจ้าตรัสธรรมกับวินัยไว้ด้วยกันเป็นคู่กัน เพราะที่แท้นั้น ฐานของชีวิตและสังคมมนุษย์ของเราคือธรรม และประโยชน์ที่แท้ของเราก็คือธรรม นิติศาสตร์จะต้องจับจุดนี้ให้ได้ โดยเฉพาะในเมื่อสังคมต่อไปนี้จะประสบปัญหาเรื่องนี้มากขึ้นทุกที ซึ่งเราจะต้องคิดว่าจะเอาอย่างไรกับมัน

กฎหมายนั้น ว่าที่จริง สาระที่แท้ต้องอยู่ที่เจตนารมณ์ซึ่งสอดคล้องกับธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคนไม่เข้าถึงธรรม ก็จะมีปัญหาจากกฎหมายได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะ

๑. ปัญญาไม่เข้าถึงธรรม ก็ตาม

๒.เจตนาไม่เป็นธรรม เช่น ไม่บริสุทธิ์ หรือไม่ประกอบด้วยเมตตาคือความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ เนื่องจากเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวหรือคิดจะกลั่นแกล้งผู้อื่น ก็ตาม

เพราะฉะนั้น บางครั้งกฎหมายก็จึงกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ข่มเหงกันในสังคมได้ และเราจึงต้องคอยตรวจสอบเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายกับข้อกำหนดตามตัวอักษร ด้วยความสำนึกตระหนักว่า ข้อกำหนดตามตัวอักษรนั้น ที่จริงจัดวางไว้เพื่อสนองเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่เมื่อออกมาแล้วบางทีมันกลับเป็นเครื่องมือในการที่จะไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คนจึงใช้บัญญัติตามตัวอักษรเพื่อทำร้ายคนอื่นก็ได้ หรือเพื่อสนองการหาผลประโยชน์ของตนเองก็ได้ ดังที่มีคนใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองกันมากมาย

เพราะฉะนั้น การที่จะต้องตรวจสอบกฎมนุษย์คือกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับธรรมและให้ช่วยนำมนุษย์เข้าถึงตัวธรรมให้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่นักกฎหมายโดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมายจะต้องมี ก็คือการเข้าถึงธรรมทั้งในแง่

๑. การเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา คือความรู้ในความจริงอย่างที่ว่ามีหลายระดับ ตั้งแต่

๑) ความรู้ในกฎแห่งความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักการแห่งความถูกต้องดีงาม อย่างน้อยรู้ตัวกฎเกณฑ์กติกาในความหมายที่แท้จริงของมัน และตามที่มนุษย์บัญญัติ และรู้ไปถึงสังคม สภาพปัญหาของสังคม เหตุปัจจัยแห่งความเป็นไปในสังคม กลไกของความเป็นไปนั้น ตลอดจนการหยั่งรู้หยั่งเห็นว่าการที่วางกฎข้อนี้แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นมาในสังคม เป็นต้น และ

๒) ความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา เขามีความประสงค์อะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่า คนเราทุกคนมีความเข้าใจและความต้องการนั้นอยู่แม้โดยไม่รู้ตัว ถึงแม้เห็นไม่ชัดมันก็มีอยู่ในใจ และถ้าไม่ชัดนี่แหละ มันจะมีอิทธิพล ซึ่งทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด

๒. การเข้าถึงธรรมด้วยจิตใจ คือมีเจตนาบริสุทธิ์ รักความเป็นธรรม มีความมุ่งมาดใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม ด้วยการดำรงธรรมไว้ในสังคม อันนี้จะต้องมีอยู่ในใจ คือความใฝ่ปรารถนาที่จะดำรงธรรมและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

การเข้าถึงธรรมที่ว่ามานี้จะต้องมีอยู่ในนักกฎหมาย โดยเฉพาะผู้บัญญัติกฎหมาย

เมื่อผู้บัญญัติกฎหมายเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา และด้วยจิตใจแล้ว พฤติกรรมของเขาในการบัญญัติกฎหมายก็จะเป็นพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรมด้วย

เมื่อผู้ใช้กฎหมายเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา และด้วยจิตใจแล้ว ก็จะมีพฤติกรรมในการใช้กฎหมายอย่างผู้เข้าถึงธรรมด้วยพฤติกรรมด้วย

ขอย้ำอีกทีว่า เมื่อมีการบัญญัติกฎหมายใดก็ตาม ในใจของผู้บัญญัติย่อมมีความคิดความเห็นความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระเรียกว่า ทิฏฐิ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจ

ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอาจจะเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ คนที่มีความเข้าใจอย่างนี้อยู่ในใจ แม้จะไม่ได้ทำความเห็นหรือความเชื่อนั้นให้ประจักษ์ออกมาแก่ตนเอง มันก็ฝังลึกอยู่ เวลาเขามาบัญญัติกฎหมาย เขาก็จะบัญญัติอย่างหนึ่ง

แต่อีกคนหนึ่งมีความเชื่อว่า ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น ความสุขไม่ได้อยู่เพียงแค่การเสพวัตถุ แต่อยู่ที่คุณค่าทางนามธรรมที่ลึกซึ้งกว่านั้น เวลาเขามาบัญญัติกฎหมายเขาก็จะบัญญัติอีกอย่างหนึ่ง

เป็นอันว่า ทิฏฐิ หรือแนวความคิดความเชื่อนี้จะเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะมากำหนดวิถีทางในการคิดวินิจฉัยและให้เหตุผลแก่เขาผู้นั้นในการทำกิจกรรมทางปัญญาทั้งหมด เรื่องนี้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้น นักกฎหมายจะอยู่แค่เหตุผลพื้นๆ ในทางสังคมเท่านั้นไม่ได้ แต่เขาจะต้องเข้าถึงความจริงซึ่งรวมทั้งเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ด้วย เพราะว่ามนุษย์ที่ตรากฎหมายในสภานิติบัญญัติเป็นต้นนั้น

๑. จะวางกฎหมายจากฐานแห่งปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขา ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น เขามีปัญญารู้แค่ไหน ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งในตัวเขาให้ทำได้อย่างนั้นเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็ภูมิธรรมภูมิปัญญานั่นเอง ตลอดจนสภาพหล่อหลอมของค่านิยมทางสังคม และวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งเข้ามาเป็นปัจจัยปรุงแต่งในใจ แล้วแสดงอิทธิพลออกมาเป็นการวินิจฉัย การให้ความเห็น ตลอดจนการยกมือว่าจะเอาข้างไหน พูดง่ายๆ ว่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาในตัวคนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เริ่มแต่ทิฏฐิของเขา ซึ่งเป็นปัจจัยหล่อหลอมทั้งในตัวบุคคลและในทางสังคม

๒. เมื่อบัญญัติกฎหมายแล้ว กฎหมายนั้นก็จะไปเป็นปัจจัยปรุงแต่งผลักดันสังคมอีก ทำให้สังคมก้าวไปทางไหนอย่างใดต่อไป

เป็นอันว่า ทิฏฐิในตัวคนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้มีผลขึ้นมา ๒ อย่างนี้ โดยเฉพาะนักกฎหมายจะตรากฎหมายที่ดีไม่ได้ถ้าไม่รู้ธรรมชาติของมนุษย์ว่า มีศักยภาพอย่างใด ควรมีชีวิตอย่างไร

ตัวอย่างเช่น เวลานี้จะออกกฎหมายเกี่ยวกับสนุกเกอร์ จะเห็นว่าความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์จะอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของผู้ออกกฎหมาย เช่น บางคนเข้าใจว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ซึ่งเจ้าของความคิดอาจไม่รู้ตัวเลย แต่เขาจะวินิจฉัยและตัดสินใจลงมติต่างๆ ตามภูมิธรรมภูมิปัญญาที่เขามีอยู่เบื้องหลังตัวเขานั้น เพราะฉะนั้น การตัดสินใจของเขาจึงเป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของตัวเขาเอง

โดยนัยนี้เราจึงพูดได้ว่า กฎหมายที่ออกมา เป็นตัวฟ้องภูมิธรรมภูมิปัญญาของนักกฎหมาย หรือของผู้ทำงานนิติบัญญัติ

แม้ว่าจะต้องคำนึงถึงหรือไม่ลืมมองปัจจัยทางสังคม เช่น ค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย แต่ก็อย่าลืมว่า การที่มนุษย์มีปัญญาพัฒนามาได้เพียงแค่ในระดับที่อยู่ใต้ค่านิยมของสังคมยังไม่เพียงพอ มนุษย์ที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์จะต้องไม่จมอยู่ใต้ปัญหานั้นเสียเอง มิฉะนั้น สังคมมีค่านิยมอย่างไร แม้แต่ค่านิยมที่เป็นปัญหา ค่านิยมนั้นก็จะชักพานักกฎหมายไปได้มนุษย์จะเพียงเป็นไปตามสังคมเท่านั้นไม่ได้ มนุษย์ต้องแก้ไขสังคมได้ด้วย

ถึงตอนนี้ ขอแทรกเรื่องความจริงที่เป็นหลักใหญ่ไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องสำคัญมาก (ควรอยู่ใน ภาค ๑) แต่จะพูดไว้เพียงเป็นแนว คือ หลักที่ว่า มนุษย์นี้มีภาวะ หรือสถานะ ๒ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ

๑) เป็นชีวิต ซึ่งเป็นธรรมชาติ อยู่ในธรรมชาติ และเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ต้องขึ้นต่อกฎธรรมชาติ ทั้งนี้ แยกเป็น ๒ ด้าน คือ กาย และใจ อันจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญา

๒) เป็นบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ร่วมในสังคม มีความสัมพันธ์ต่อกันโดยขึ้นต่อเจตจำนง

เมื่อมองคนต้องมองทั้งสองด้าน และให้ประสานโยงถึงกัน ทั้งด้านที่เป็นบุคคลในสังคม และด้านที่เป็นชีวิตในธรรมชาติ โดยเฉพาะมองคนต้องให้ถึงชีวิต แต่เรามักจะมองคนแค่บุคคล ซึ่งเป็นด้านสังคม

ตามแนวคิดตะวันตก สังคมศาสตร์มองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล แทบไม่พูดถึงในแง่เป็นชีวิต โดยปล่อยให้ชีวิตเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ศึกษาชีวิตนั้นแต่ด้านวัตถุร่างกายอย่างเดียว นิติศาสตร์อยู่ในหมวดสังคมศาสตร์ ก็จึงมองมนุษย์ในแง่เป็นบุคคล

แต่จุดหมายของศาสตร์ทั้งหลายที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์จะไม่มีทางสัมฤทธิ์จริงได้ ถ้ามองคนเพียงแค่ด้านบุคคล โดยไม่คำนึงถึงความเป็นชีวิต เพราะมนุษย์โดยพื้นฐานเป็นธรรมชาติ คือเป็นชีวิต และต้องมองชีวิตให้ครบทั้งด้านกายหรือด้านวัตถุ และด้านจิตใจ

มนุษย์ ทั้งที่เป็นชีวิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ และเป็นบุคคลในสังคม เกี่ยวเนื่องโยงเป็นอันเดียวกัน ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตและไม่ปรับปรุงชีวิตให้ดี ความเป็นบุคคลที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมก็เป็นไปได้ยาก ชีวิตที่พัฒนาอย่างดีจึงจะทำให้ความเป็นบุคคลเจริญงอกงามได้อย่างถูกต้อง หากเราจะให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม อยู่ในโลกที่ดี มีสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข เราจะต้องประสานความคิดเรื่องชีวิตกับความเป็นบุคคลให้กลมกลืนและเกื้อหนุนกันให้ได้

เพียงแค่รับประทานอาหาร คนก็กินอาหารทั้งในฐานะที่เป็นบุคคลและกินในฐานะที่เป็นชีวิต มีทั้งการกินเพื่อสนองความต้องการของบุคคล และการกินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต

แน่นอนว่า คุณค่าที่แท้จริงของอาหารคือเพื่อสนองความต้องการของชีวิต การกินเพื่อสนองความต้องการที่ถือว่าดีที่สุดของบุคคล (เช่น อร่อย โก้ แสดงฐานะ ซึ่งรวมทั้งสิ้นเปลืองที่สุด) อาจะบั่นทอนหรือทำลายชีวิตของเขาเอง ถ้าเมื่อใดเข้าใจถึงความจริงที่โยงมาประสานกัน ก็เท่ากับจับจุดของการแก้ปัญหาได้ ถ้ามองไม่เห็นจุดประสาน แม้แต่คนแต่ละคน ก็จะไม่สามารถเข้าใจตัวเองและปฏิบัติต่อตัวเองให้ถูกต้องได้

การพัฒนาที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติตั้งแต่ระหว่างบุคคลกับชีวิตในตัวคนเอง

การตัดสินใจทางสังคม รวมทั้งนิติบัญญัติ มีกรณีมากมาย ที่คำนึงถึงแต่บุคคล(และสังคม) โดยไม่มองไปให้ถึงคุณหรือโทษต่อชีวิต(และธรรมชาติ) คือ มองคนไม่ถึงชีวิต เพราะติดอยู่แค่บุคคล ทำให้ไม่อาจสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริง และก่อปัญหาแก่อารยธรรมในระยะยาว

ต้องยอมรับว่า กฎหมายมากมายในระบบสังคมที่เป็นมา ได้เป็นเครื่องบั่นทอนอารยธรรม เช่น ทำให้เกิด “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” ดังเช่นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืนที่ผ่านมาแล้วในสังคมตะวันตก ซึ่งก็ต้องเป็นเพราะนักกฎหมายเองก็มีส่วนในความเข้าใจเช่นนั้น คือมีมิจฉาทิฏฐิด้วย จึงช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

งานของนักกฎหมายมีผลกว้างไกลอย่างนั้น โดยที่นักกฎหมายเองอาจอยู่ใต้อิทธิพลของนักปกครองและนักเศรษฐศาสตร์เป็นต้น และมองความเป็นมนุษย์ไม่ทั่วตลอดถึงความจริงทั้งด้านชีวิตและด้านบุคคลอย่างที่กล่าวแล้วนั้น

ดังนั้น นักบัญญัติกฎหมายก็ตาม ผู้ใช้กฎหมายก็ตาม จึงต้องไม่ประมาท จะต้องศึกษาพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น และมีเจตนาดียิ่งขึ้น

การศึกษาที่ผลิตนักกฎหมายผู้สามารถมาสร้างกฎหมายที่เกื้อหนุนต่อชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอารยธรรมของมนุษย์

เพราะฉะนั้น การที่จะบัญญัติกฎหมายที่ถูกต้องให้เป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้นั้น จะต้องทำด้วยความไม่ประมาท โดยมีความรับผิดชอบอย่างสูง ทั้งด้านปัญญาและด้านเจตนา ถ้ากฎหมายผิด ก็จะทำลายชีวิตมนุษย์ ทำลายสังคม ตลอดจนทำลายตัวธรรมทั้งหมดเลยทีเดียว

นี้เป็นการเตือนให้ต้องระวังว่า ธรรมที่เป็นฐานของกฎหมายหรือเป็นฐานของวินัย อาจถูกทำลายโดยกฎหมายที่ผิด ด้วยปัญญาที่รู้ไม่เท่าถึงการณ์ หรือด้วยเจตนาที่ร้าย ซึ่งมีผลเป็นการทำลายอารยธรรมของมนุษย์

รวมความว่า กฎหมายแท้มีหลักอยู่ในใจที่ต้องรักตัวธรรม (เช่น รักความเป็นธรรม) และรักประโยชน์สุขของสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ กลับไปหลักเก่าที่ว่าต้องมีทั้งตัวเจตนา คือเจตจำนง ที่มีเมตตา มีความใฝ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ตลอดจนมนุษยชาติ และมีความรู้แจ้ง คือมี ปัญญา ที่เข้าถึงความจริง จนกระทั่งถือธรรมเป็นใหญ่

เมื่อไรนักกฎหมายถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เรียกว่า เป็นธรรมาธิปไตย คือถือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการเป็นใหญ่ แต่จะถือธรรมเป็นใหญ่ได้ก็ต้องมีปัญญารู้ธรรม รู้หลักการ รู้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม มันพันกันอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นอย่างน้อยต้องมี ๒ อย่างนี้ คือรักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ โดยรู้ด้วยปัญญาและมีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้มีพื้นฐานที่จะบัญญัติกฎหมายที่ดี

กฎหมายและนิติบัญญัติมีความสำคัญต่อชีวิตและสังคมตลอดจนอารยธรรมของมนุษยชาติเป็นอย่างมากเช่นนี้ และนักกฎหมายหรือผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติจะต้องมีคุณสมบัติที่เข้าถึงธรรม ทั้งด้วยปัญญา ด้วยจิตใจ และด้วยพฤติกรรม อีกทั้งต้องมีความสามารถในการจัดตั้งวางระเบียบระบบที่เป็นสมมติเพื่อสื่อธรรมออกมาสู่วินัยอย่างได้ผลดี ดังที่กล่าวแล้ว

ดังนั้น การศึกษาด้านนิติศาสตร์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีขอบข่ายกว้างขวางลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนวิชากฎหมายในความหมายตามตัวอักษรเท่านั้น แต่เป็นการศึกษา เพื่อสื่อสัจธรรมในธรรมชาติสู่อารยธรรมของมนุษยชาติทั้งหมด และเพื่อรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติให้ดำรงอยู่ในดุลยภาพแห่งสัจธรรมของธรรมชาติ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างดีที่สุด ซึ่งต้องการปัญญาที่กว้างขวางยิ่งใหญ่

อารยธรรมของมนุษย์จะยั่งยืนเพียงใด
อยู่ที่ภูมิธรรมภูมิปัญญาในการจัดการกับสมมติ

เวลานี้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เช่นเรื่อง “สิทธิ” ที่มีการนำเข้ามาเผยแพร่หรือใช้กัน เรามักแยกไม่ถูก เพราะฉะนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตอีกนิด

อย่างที่ในวงการนิติศาสตร์ตะวันตกมีสายความคิดแบบ natural law, natural rights ซึ่งดูคล้ายๆ กับเรื่องธรรม แต่ที่จริงไม่ใช่เลย แนวคิดแบบนี้คล้ายๆ จะถือว่ามีกฎหมายที่เป็นกฎสากล ที่ใช้ได้ทุกกาลเทศะ อยู่ในหัวสมองหรือในปัญญาของมนุษย์ แต่ที่จริงปัญญาของมนุษย์ที่เข้าถึงตัวความจริงในธรรมชาติที่จะทำให้มีกฎสากลอะไรแบบนั้นได้ ในทางพุทธศาสนาแยกเป็น ๒ ชั้น คือ

๑. ความจริงของธรรมชาติ ที่ไม่เข้าใครออกใคร เช่นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้เข้าใจแล้วใช้ความสามารถของเรามาจัดตั้งระบบสังคมของเราเอง

๒. ถ้ามนุษย์เราเข้าถึงความจริงนั้นจริง และมีความสามารถจริง เราก็จัดระบบสังคม โดยเฉพาะการปกครองและกฎหมาย ซึ่งเป็นวินัยได้ดีที่สุด โดยสอดคล้องกับความเป็นจริงในธรรมชาติ แล้วมนุษย์ก็จะได้รับประโยชน์เอง ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงมาตั้งข้อกำหนดต่างๆ ขึ้น

อย่างไรก็ดี การกำหนดในเรื่องสิทธิเป็นต้นนี้ เป็นสมมติ ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าเป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราสร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักสมมติ มนุษย์ก็จะอยู่กันได้แค่ตามธรรมชาติพื้นฐานเหมือนอย่างหมู แมว ช้าง ม้า เท่านั้น หรืออาจจะแย่กว่าสัตว์เหล่านั้น เพราะโดยสัญชาตญาณมนุษย์สู้สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ ดังได้ยกตัวอย่างว่า เราสร้างกฎให้คนทำสวนมาทำสวนแล้วได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท อันนี้เป็นความสามารถของมนุษย์ ซึ่งในสัตว์อื่นไม่มี แต่ก็ได้บอกแล้วว่า ถ้ามนุษย์หลงสมมติเมื่อไร เมื่อนั้นคือความพินาศ

การที่จะไม่หลงสมมติก็คือ จะต้องโยงจากสมมตินั้นเข้าถึงตัวธรรมคือความจริงอยู่ตลอดเวลา เช่น คนทำสวนยังไม่แปลกแยกจากธรรมคือกฎธรรมชาติ เขาทำสวนได้เงินเดือนตามกฎมนุษย์ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมกับที่ลึกลงไปในใจที่แท้ เขาก็ทำสวนเพื่อได้ผลตามกฎของธรรมชาติ คือ เพื่อให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

ถ้าเขามองทะลุสมมติเข้าถึงความจริงคือตัวธรรมอย่างนี้ ประโยชน์ของสังคมที่เป็นจุดหมายแท้ก็ไม่เสีย แต่กลับทำให้กลายเป็นว่าสมมติมาหนุนความจริงแท้ บัญญัติมาหนุนหลักการ คือวินัยมาหนุนธรรม ทำให้ความต้องการผลตามธรรมชาติบรรลุจุดหมายเป็นจริงสมประสงค์ยิ่งขึ้น

มนุษย์เรามีความฉลาด เราจึงบัญญัติสิทธิต่างๆ ขึ้นมา แต่อย่างที่บอกแล้วว่า สิทธิ นี้เป็นความสามารถของมนุษย์ที่ตกลงกำหนดกันขึ้น ซึ่งจะได้ผลดีจริงหรือไม่เพียงไรก็อยู่ที่เราจะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ มีเจตนาที่ดีงาม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หวังประโยชน์สุขแก่สังคม และทำการด้วยความรู้ความเข้าใจระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยอย่างกว้างขวางทั่วถึงที่สุด

น่าสังเกตว่า ในช่วงเวลาแห่งความเจริญของอารยธรรมมนุษย์ ยุคปัจจุบัน มีการเน้นเรื่องสิทธิมากขึ้น และปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ ก็ซับซ้อนขึ้น กับทั้งมีการกำหนดสิทธิใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้นด้วย

ขอยกตัวอย่างเช่น เวลานี้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกำหนดสิทธิอย่างหนึ่งขึ้นเรียกว่า pollution rights แปลว่า “สิทธิในการก่อมลภาวะ” ซึ่งไม่มีในธรรมชาติ และก็ไม่ได้ถือว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติ แต่ก็ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาเพื่อความดีงามของสังคม เท่าที่มนุษย์ที่กำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา จะมีสติปัญญามองเห็นว่าจะเป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาในหมู่มนุษย์

สำหรับในกรณีนี้เหตุผลก็คือว่า เวลานี้ธรรมชาติเสื่อมโทรมเสียหายมาก เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจการด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาจึงมีว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์ไม่ทำลายธรรมชาติ ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องทำ (ที่จริงอาจเป็นว่า ทั้งๆ ที่การพัฒนาเศรษฐกิจผิดทางจนกลายเป็นโทษแล้ว หรือเป็นการพัฒนาในทางที่ก่อผลร้ายเช่นเพื่อสนองความโลภไปแล้ว เราก็ยังจำเป็นต้องทำการพัฒนาอย่างนั้น) การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ก็ต้องทำ ก็มีทางประนีประนอม คือทำให้เขาผลิต โดยสร้างมลภาวะให้น้อยที่สุด

ในบรรดาวิธีการทั้งหลายที่จะแก้ปัญหา รวมทั้งจริยธรรมในการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ก็มีการบัญญัติสิทธิขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ สิทธิในการก่อมลภาวะ

วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้คือ รัฐเอาสิทธิในการก่อมลภาวะให้บริษัท หรือโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใดแห่งหนึ่งไป โดยกำหนดให้มีสิทธิก่อมลภาวะได้เท่านี้ เมื่อได้รับสิทธิไปแล้ว บริษัทหรือโรงงานนั้นก็ต้องไปจัดการระบบธุรกิจอุตสาหกรรมของตนเอง ให้ก่อมลภาวะภายในขอบเขตแห่งสิทธิที่ได้มา ถ้าธุรกิจของตนไม่มีประสิทธิภาพ ก็ก่อมลภาวะมากแต่ผลิตสินค้าได้น้อย ถ้าจะดำเนินธุรกิจอยู่ต่อไป ก็ไม่คุ้ม เพราะหมดสิทธิก่อมลภาวะแล้ว จะผลิตสินค้ามากกว่านั้นไม่ได้ ก็ขาดทุน อาจจะต้องล้มเลิกกิจการไปเอง เท่ากับว่ารัฐไปบีบให้ธุรกิจรักษาธรรมชาติแวดล้อม

ทีนี้เมื่อโรงงานหรือกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ผลิตของได้น้อย แต่ก่อมลภาวะสูง หมดสิทธิที่จะผลิตเกินกว่านั้นแล้ว ธุรกิจขาดทุนยับเยินจะอยู่ไม่ได้ ก็สามารถขายสิทธินี้แก่บริษัทอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คือสามารถผลิตของมาก โดยก่อมลภาวะน้อย บริษัทหรือโรงงานที่มีประสิทธิภาพนั้นก็มาซื้อเอาสิทธินี้ไป

ตัวอย่างนี้เป็นอุบายวิธีที่ทำให้การทำลายสภาพแวดล้อมเบาลง ด้วยการผลิตของมากแต่ก่อมลภาวะน้อย นี่ก็คือภาวะที่เศรษฐกิจก็ไปได้ และสิ่งแวดล้อมก็มีทางที่จะอยู่ดีได้พอสมควร นับว่าเป็นวิธีการประนีประนอมอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาที่มีปัญหาว่าจะไม่ยั่งยืน

ในเรื่องสมมติและบัญญัตินี้ มนุษย์มีความสามารถก็คิดกันเอา ถ้าปัญญาดีและเจตนาดี ความพยายามก็จะได้ผลดีด้วย และเมื่อเราพิจารณาต่อไป เห็นว่าวิธีนี้ยังไม่ได้ผลดีนัก ก็เปลี่ยนไปอีก

เรื่องสิทธิกฎข้อบังคับต่างๆ นี้ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ แต่อย่างที่ว่าแล้ว จะต้องไม่ลืมความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะอายอินเดียนแดงอย่างที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียซ ได้เจอมาแล้ว เมื่อครั้งซื้อแผ่นดินเมืองซีแอตเติ้ลจากอินเดียนแดง ถูกอินเดียนแดงตอบมาว่า “อะไรกัน ท่านจะเอาแผ่นดินและผืนฟ้ามาซื้อขายกันหรือนี่ ความคิดนี้แปลกประหลาด” เพราะว่ามีที่ไหน มนุษย์เอาแผ่นดินมาแบ่งกัน มันเป็นเรื่องที่สังคมมนุษย์ตกลงกัน แล้วเราก็บอกว่าเป็นสิทธิในทรัพย์สิน และในอะไรต่างๆ แต่เวลาอ้างกับธรรมชาติ มันไม่ฟังเรา

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรู้ตระหนักในหลักการ ๒ ชั้นที่โยงเชื่อมกัน คือ ตัวธรรมความจริงในกฎธรรมชาติที่เราจะต้องรู้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นฐานของการสร้างวินัยที่เป็นระบบกฎเกณฑ์กติกาในสังคม พร้อมทั้งเป็นจุดหมายของวินัยนั้นไปด้วยในตัว ทั้งนี้มนุษย์จะต้องไม่ประมาท โดยมีการศึกษาพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภานิติบัญญัติ จะต้องคำนึงถึงหลักความจริงนี้ให้มาก เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า กฎหมายที่บัญญัติกันนั้นออกมาจากปัจจัยปรุงแต่งภายใน คือภูมิธรรมภูมิปัญญา พร้อมทั้งปัจจัยหล่อหลอมจากสังคมภายนอก ซึ่งตนเองเป็นผู้ตัดสินใจ กฎหมายที่ออกมาจึงเป็นตัวฟ้องว่าผู้บัญญัติมีภูมิธรรมภูมิปัญญาแค่ไหน

ต่อจากนั้น กฎหมายที่ออกมาก็จะเป็นปัจจัยปรุงแต่งสังคมและอารยธรรม หรือเป็นตัวทำลายต่อไป ถ้าร้ายก็ทำลายทั้งชีวิตสังคมและทำลายอารยธรรมตลอดจนทำลายตัวธรรมด้วย ถ้าดีก็ส่งเสริมให้อารยธรรมมนุษย์เจริญก้าวหน้าเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

มีข้อที่ขอย้ำอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าทรงจัดตั้งสร้างระบบสังคมที่เรียกว่า สังฆะ ขึ้นมาเพื่อเป็นชุมชนแห่งการศึกษา แล้วมีการปกครองขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาคือการฝึกฝนพัฒนาชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นไปได้ด้วยดี การฝึกคนหรือให้การศึกษาแก่เขานั้น แท้ที่จริงเป็นการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาตัวเอง แต่เมื่อทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกเขาด้วย และในการฝึกนั้นพระองค์มีลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อำนาจ หรือที่ศัพท์ทางพระเรียกว่า ผู้ฝึกโดยไม่ต้องใช้อาชญา คือไม่ต้องใช้การลงโทษ

ลักษณะนี้อาจจะเป็นอุดมคติว่า กฎหมายที่ดีที่สุด และการปกครองที่ดีที่สุด ต้องบรรลุจุดหมายโดยใช้อาชญาให้น้อยที่สุด ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องใช้เลย พระองค์จึงมีคุณสมบัติพิเศษที่ฝึกคนโดยไม่ต้องใช้อาชญา และที่จริงนั้นกฎหมายเองก็เป็นเครื่องฝึกคนอยู่แล้ว แต่การที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็อยู่ที่ว่าจะต้องทำให้คนมีจิตสำนึก และมีท่าทีต่อกฎหมายแบบเป็นสิกขาบท คือเป็นข้อฝึกตน ไม่ใช่ข้อบังคับ และทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งว่า กฎหมายเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันในข้อสมมติของสังคมอย่างที่ว่ามาแล้ว

โดยนัยนี้ แนวทางในการทำกฎหมาย จึงมี ๒ ทางคือ ในระบบสังคมที่การปกครองเป็นจุดหมายในตัว คือการปกครองเพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย ก็จะเป็นการปกครองด้วยอำนาจ หรือเน้นการใช้อำนาจ กฎหมายก็จะมุ่งบังคับและควบคุม โดยเน้นการกำจัดคนชั่ว ด้วยการลงโทษคนทำความผิด

แต่ในระบบที่ถือคติว่าการปกครองเป็นการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา เพื่อเป็นสภาพเอื้อให้มนุษย์ได้พัฒนาตนเข้าสู่ชีวิตที่ดีงาม การบัญญัติกฎหมายก็จะเน้นการสร้างคนดี เพราะเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ให้ขึ้นไปสู่ชีวิตที่ดีงาม เมื่อกฎหมายเป็นสิกขาบทคือเป็นเครื่องฝึกตน กฎหมายก็จะเป็นเครื่องมือในการสร้างคนดี เพราะฉะนั้น จึงควรเน้นกฎหมายในการสร้างคนดีมากกว่าการกำจัดคนชั่ว

เป็นอันว่า กฎหมายมี ๒ แบบ ถ้าเน้นอำนาจก็จะเป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่วโดยมีการห้ามและบังคับมาก แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างคนดี ก็จะมีลักษณะในทางจัดสรรโอกาสและมีการส่งเสริมมาก แต่ในความเป็นจริงซึ่งสังคมในขณะหนึ่งๆ มีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย การปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน คือ ทั้งส่งเสริมคนดี และกำราบคนร้าย ทั้งนี้โดยมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดี

รวมความว่า ถ้าแยกโดยจุดเน้น กฎหมายก็มี ๒ แบบ คือ แบบสร้างคนดี กับแบบกำจัดคนชั่ว

ถ้าใช้ระบบอำนาจก็แน่นอนว่าจะเอียงไปในแบบกำจัด แต่ถ้าใช้ระบบที่มองสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่คืบหน้าไปสู่ความดีงาม เราก็ออกกฎหมายมาสร้างสภาพเอื้อให้ชีวิตพัฒนา ก็เป็นกฎหมายที่พยายามสร้างคนให้เป็นคนดี และสร้างคนให้เป็นคนดีให้มากจนกระทั่งเราแทบไม่ต้องลงโทษคน หรือลงโทษคนให้น้อยที่สุด เพราะไม่มีคนชั่วที่จะต้องลงโทษ ถ้าทำได้อย่างนั้นก็เป็นกฎหมายที่ดี

แต่ทั้งนี้กฎหมายย่อมสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับการปกครอง การปกครองจึงต้องมีนโยบายในการที่จะสร้างสรรค์สังคมในแบบที่ว่า ใช้การปกครองเพื่อสร้างคน โดยสร้างคนดีเพื่อให้มีคนชั่วที่จะต้องลงโทษให้น้อยที่สุด ซึ่งก็คือ เป็นการถือ แนวคิดแบบสิกขา

1ลำดับเดิม คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ แต่ในที่นี้เรียงตามลำดับที่ตรัสสรุปไว้ในคาถา ซึ่งจำง่ายกว่า
2ในฝ่ายตะวันตก บุคคลหลักที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ social contract ๓ ท่าน คือ Thomas Hobbes, John Locke และ Jean Jacques Rousseau แม้จะมีทัศนะในเรื่องนี้ต่างกันบ้าง  แต่ก็รวมลงเป็นอย่างเดียวกันในแนวคิดใหญ่ของตะวันตก ที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเห็นว่าการจัดการทางสังคมอย่างนี้ เป็นเรื่องตรงข้ามกับภาวะของธรรมชาติ (ที่ป่าเถื่อนไร้ขื่อแป) ซึ่งบุคคลต้องยอมสละสิทธิเสรีภาพของตนบ้าง เพื่อได้รับการคุ้มครองจากสังคมหรือจากผู้ปกครอง ส่วนทางพระพุทธศาสนามองมนุษย์เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษที่ฝึกศึกษาได้ การจัดการทางสังคมอย่างนี้ก็เป็นการประสานประโยชน์จากความจริงของธรรมชาตินั่นเอง มนุษย์ที่พัฒนาแล้วจึงมีชีวิตจิตใจที่กลมกลืนกับกติกาทางสังคมที่ตกลงจัดวางกันขึ้นนั้น
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง