บทบาทพระบรมครู

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สัมโมทนียกถา
ของ
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มอบถวายปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาหลักสูตรและการสอน)
ณ อุโบสถวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันพุธที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๑๕.๐๐ น.

กราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณองค์ประธานสงฆ์ ที่เคารพอย่างสูง ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ และท่านสาธุชนทั้งหลาย

วันนี้ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร อันประกอบด้วยท่านอธิการบดีเป็นประธาน พร้อมด้วยท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และคณะอาจารย์ได้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเป็นอย่างสูง นําปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มาถวายแก่อาตมภาพ การที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีมติเห็นชอบในการมอบถวายปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ครั้งนี้ ว่าโดยเฉพาะส่วนของการอนุมัตินั้น ก็นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเป็นอย่างมากอยู่แล้ว บัดนี้ท่านอธิการบดี พร้อมด้วยท่านผู้บริหารผู้ใหญ่และคณะอาจารย์ยังได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่านมาในพิธีครั้งนี้ ถึงสถานที่นี้ คือที่วัดพระพิเรนทร์อีก ก็นับว่าเป็นการแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างสูงยิ่ง จริงอยู่ ในแง่หนึ่งการอนุมัติปริญญาบัตรนี้ก็ดี ตลอดจนการเดินทางมาในสถานที่นี้ก็ดี ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่จะบํารุงส่งเสริมวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม การบําเพ็ญกิจตามวัตถุประสงค์นั้นได้แผ่มาในวงการคณะสงฆ์ ก็นับว่าเป็นข้อที่ควรแก่การอนุโมทนา นับว่าได้ทําให้กิจการด้านการศึกษาของทางบ้านเมืองนั้น มีส่วนสัมพันธ์กับการพระศาสนากับพระสงฆ์และทางวัด โดยเฉพาะในการมอบถวายปริญญาบัตรครั้งนี้ ก็เป็นการสอดคล้องกับประเพณีในการศึกษาของประเทศไทยอย่างหนึ่ง กล่าวคือการศึกษาของประเทศไทยเรานี้ ตั้งแต่เดิมมาก็มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น ระหว่างบ้านเมืองกับทางคณะสงฆ์ หรือทางบ้านกับทางวัด และในการที่มอบปริญญาครั้งนี้ก็ดี หรือในการศึกษาโดยทั่วไปก็ดี ก็ยังมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันนี้ แม้คําว่าปริญญาเองก็เป็นคําที่แสดงอยู่ในตัวถึงความสัมพันธ์อันนั้น กล่าวคือคำว่า “ปริญญา” นั้นก็เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี ยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นชื่อของหมวดธรรมหมวดหนึ่ง และหมวดธรรมนี้ก็มี ๓ ขั้น ตรงกับการจัดปริญญาสมัยปัจจุบัน

คําว่า “ปริญญา” นั้น แปลได้ว่าความรู้รอบ หรือความรู้โดยทั่วถ้วน ความรู้อย่างทั่วถึง หรือความรู้อย่างทั่วตลอด หรือจะแปลว่าความรู้เบ็ดเสร็จก็ได้ ทีนี้ความรู้ทั่วถึง ทั่วตลอด ทั่วถ้วน หรือความรู้เบ็ดเสร็จนี้ ในทางพระพุทธศาสนาได้จัดแบ่งไว้เป็น ๓ ขั้น เรียกว่า ปริญญา ๓

ปริญญา ๓ นั้น มีชื่อต่างออกไปจากที่เรากําหนดเรียกในปัจจุบัน คือ ปัจจุบันนี้เราแบ่งชั้นเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ในทางพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมเดิม ท่านก็มีคําใช้โดยเฉพาะ คือ

  1. ญาตปริญญา
  2. ตีรณปริญญา
  3. ปหานปริญญา

ญาตปริญญา แปลอย่างง่ายๆ ว่า รู้จัก หมายถึง การรู้จัก ปรากฏการณ์หรือเรื่องราวจําเพาะอย่างที่เรียกว่า รู้ปัจจัตตลักษณะ คือ รู้ลักษณะจําเพาะ รู้สภาวะของสิ่งนั้นว่าคืออะไร เป็นมาอย่างไร เกิดจากเหตุปัจจัยอะไร เป็นความรู้เฉพาะตัว เฉพาะเรื่องนั้นๆ เฉพาะ ปรากฏการณ์นั้นๆ อย่างในทางพระพุทธศาสนา เช่น ที่เรียกว่า ขันธ์ห้า แบ่งออกเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความรู้ว่ารูปคืออะไร หรือรูปธรรมคืออะไร เวทนาคืออะไร สัญญาคืออะไร สังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไร เวทนาคืออะไร เวทนาคือสภาวะที่เสวย อารมณ์ หรือที่รู้สึกสุขทุกข์ ความรู้อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นญาตปริญญา ตลอดจนกระทั่งรู้ว่าเวทนานี้เกิดจากอะไร เกิดจากผัสสะอย่างนี้เป็นต้น ตลอดจนขบวนการทั้งหมดของการเกิดขึ้นของสิ่งนั้นๆ หรือปรากฏการณ์นั้นๆ ความรู้ในระดับนี้เรียกว่า ญาตปริญญา

ตีรณปริญญา ความรู้ขั้นเห็นแจ้งความจริงที่อยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์หรือเรื่องราวนั้นๆ ซึ่งทําให้สามารถเชื่อมโยงปรากฏการณ์นั้นๆ กับสิ่งอื่นๆ ได้ หรือเรื่องอื่นๆ ได้ทั้งหมด เช่น ในกรณีของการปฏิบัติธรรม ก็หมายถึงการรู้สามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย ความรู้ใน สามัญลักษณะนี้ก็เรียกว่าเป็นตีรณปริญญา

ปหานปริญญา รู้ในขั้นละกิเลสได้ หมายถึง ความรู้ในขั้นที่ใช้ปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาได้สําเร็จเสร็จสิ้น โดยเฉพาะในเรื่องของมนุษย์ก็คือ การแก้ความทุกข์ หรือดับทุกข์ให้สิ้นไป ความรู้ในขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้าย

ทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่า โลกิยปริญญา ๓ ประการ แต่เมื่อจบโลกิยปริญญา โลกิยปริญญานี้ก็จะนํามาซึ่งสิ่งที่เป็นโลกุตระ พอจบโลกิยปริญญาข้อที่ ๓ คือ ปหานปริญญา ก็เป็นอันว่าเข้าถึงโลกุตรธรรม ถ้าถือเอาโดยสาระก็ได้ความว่า ปริญญา ๓ ประการ หรือ ๓ ขั้น ใน พระพุทธศาสนานั้น

ขั้นที่ ๑ รู้จักสิ่งนั้นๆ เฉพาะตัว เฉพาะเรื่อง เฉพาะปรากฏการณ์ให้เห็นชัด เข้าใจชัด รู้ความเป็นมาเป็นไป และเหตุปัจจัยของมัน

ครั้งที่ ๒ ก็คือรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์และเรื่อง ราวนั้น ๆ ที่เป็นพื้นฐานทําให้เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ และเรื่องราวปรากฏการณ์อื่นๆ ได้ เข้าใจทั่วถึงทั้งหมด เป็นความรู้ที่ซึมซาบแผ่เข้าไปในทุกสิ่งทุกอย่างกว้างออกไป ออกไปจากความรู้ในเฉพาะเรื่องนั้น

ขั้นที่ ๓ ความรู้ขั้นที่ใช้แก้ปัญหาได้สำเร็จ รู้จักใช้แก้ปัญหาให้สำเร็จ ดับทุกข์ของมนุษย์ได้ อันนี้เรียกว่าเป็นปริญญาขั้นที่ ๓

นี่ก็เป็นเรื่องของปริญญาในพระพุทธศาสนาจําเพาะก็มาตรงกับการแบ่งขั้นของปริญญาในสมัยปัจจุบันและเมื่อได้สําเร็จปริญญา ๓ ประการนี้ ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และเป็นอริยะหรืออารยชนที่แท้จริง แนวการจัดการศึกษาทํานองนี้ ก็เห็นว่ามีเค้าโครงอย่างเดียวกันกับการศึกษาในสมัยปัจจุบัน เป็นแต่ว่าในส่วนเนื้อหาสาระที่เป็นรายละเอียดนั้น จะต่างกันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บัดนี้ ทางมหาวิทยาลัยอันมีท่านอธิการบดีเป็นประธาน ได้มีวิทยานุเคราะห์นำปริญญาบัตรมามอบถวายแก่อาตมภาพ โดยมติความ เห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย อาตมภาพขออนุโมทนาในน้ำใจ ซึ่งคิดว่าทางมหาวิทยาลัยมิได้มุ่งหมายที่จะมอบถวายเฉพาะแก่ตัวอาตมภาพเท่านั้น แต่หมายถึงว่าได้มอบถวายในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่ง หรือเป็นบุคคลผู้หนึ่ง โดยเฉพาะในฐานะปัจจุบันก็เป็นผู้ทรงสมณเพศซึ่งได้ทําสิ่งที่เป็นผลอันสอดคล้องกับข้อกําหนดของทางมหาวิทยาลัย ในแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจตามบทบาทของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความดีความงามของมหาวิทยาลัย เป็นความดีความงามของท่านผู้บริหารและเป็นความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กิจการการศึกษาโดยทั่วไป แม้กิจการนั้นจะเป็นในทางโลกหรือทางธรรมในทางบ้านเมืองหรือทางคณะสงฆ์ก็ดี ก็มีสายตายาวไกลที่มองไปอย่างทั่วถึง และในการที่ทางมหาวิทยาลัยได้บําเพ็ญกิจเช่นนี้ เมื่อท่านผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบแล้ว ก็พลอยมีจิตใจร่วมยินดี มาช่วยกันจัดตระเตรียมการในพิธีครั้งนี้ขึ้น กล่าวคือทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอันประกอบด้วย ท่านพระมหานคร เขมปาลี เลขาธิการ ท่านเจ้าคุณพระเมธีสุทธิพงศ์ และ ท่านพระครูอดุลคณาภิบาล รองเลขาธิการ เป็นต้น ก็ได้รับเป็นเจ้าภาพอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญชัย มงคลคาถา ตลอดจนจัดเครื่องไทยธรรมร่วมถวายพระสงฆ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย พร้อมทั้งหนังสือที่ระลึกที่แจกให้แก่ท่านผู้มาร่วมในพิธี ในส่วนวัดพระพิเรนทร์มี ท่านพระครูกิตติญาณปยุต เป็นเจ้าอาวาส พระมหาอุทัย อุทโย เป็นรองเจ้าอาวาส พระมหาอินศร จินฺตาปฺโ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส พร้อมทั้งคณะสงฆ์และศิษย์ของวัดนี้ก็มีน้ำใจช่วยกันจัดเตรียมสถานที่และสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ ที่จะทําให้พิธีนี้ดําเนินไปด้วยดี และทางฝ่ายโยมก็มีอุบาสกอุบาสิกาหลายท่าน มีโยม คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ เป็นผู้นําคณะอาจารย์วิทยาลัยครูสวนดุสิต มาจัดดอกไม้บูชาพระรัตนตรัยเป็นต้น ตลอดจนจัดเรื่อง น้ำปานะต่างๆ เป็นการช่วยกัน ซึ่งทําให้พิธีนี้ดําเนินไปด้วยดี การที่ท่านผู้เกื้อกูลทั้งหลายได้จัดพิธีให้พร้อมเพรียงเช่นนี้ขึ้น ก็ด้วยมีความประสงค์อันสําคัญ เพื่อเป็นการต้อนรับให้เหมาะแก่เกียรติของทางมหาวิทยาลัย และเป็นการอนุเคราะห์แก่ตัวอาตมภาพผู้ที่ได้รับมอบถวายปริญญาบัตรครั้งนี้ด้วย

โดยเฉพาะทางฝ่ายมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้เคยเป็นผู้บริหารชั้นผู้ใหญ่ของมหาจุฬาฯ ในอดีตก็ได้มีเมตตานุเคราะห์ กรุณามาเป็นประธานสงฆ์ในที่นี้ด้วย เกล้ากระผมขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ ขอขอบพระคุณมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทางวัดพระพิเรนทร์ และทางญาติโยมที่ได้เอื้อเฟื้อในการจัดเตรียมพิธีครั้งนี้

ขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัยอํานวยพร รตฺนตฺตยานุภาเวน รตฺนตฺตยเตชสา ด้วยอานุภาพคุณพระพุทธ คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธทั้งหลาย จงอภิบาลรักษาท่านให้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ขอให้ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร เจริญงอกงามรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป ในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ประเทศชาติ และขอให้คณะอาจารย์ เจริญด้วยกําลังกาย กําลังใจ กําลังสติปัญญาในการปฏิบัติภารกิจ ด้านการบริหารก็ดี ทางวิชาการก็ดี ให้สําเร็จลุล่วงไปด้วยดี และขอให้ผู้มาร่วมในพิธีทุกท่าน จงมีความสําเร็จในการดํารงชีวิตและการประกอบอาชีพการงาน บรรลุผลสําเร็จอันพึงปรารถนาและเจริญงอกงามในพระธรรมคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นไป ทั่วทุกท่านเทอญ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง