พุทธศาสนากับสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สันโดษ

ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจำต้องเข้าใจความหมายของธรรมที่ตนปฏิบัติอย่างถ่องแท้ ต้องรู้แนวทางหรือวิธีปฏิบัติ และที่สำคัญยิ่งคือต้องรู้จุดหมายของธรรมข้อนั้น ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นด้วย มิฉะนั้น จะเป็นการปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย ไร้ผลผิดพลาด กลายเป็นความงมงาย และกลับเป็นโทษได้ เช่นเดียวกับการกระทำอย่างอื่น ที่ไร้จุดหมายทั้งหลาย ซ้ำยังเป็นเหตุให้มีผู้มองพระพุทธศาสนาไปในทางที่ผิดอีกด้วย โดยเหตุนี้ก่อนจะปฏิบัติธรรมข้อใด น่าจะได้ศึกษาความหมาย แนวการปฏิบัติและจุดหมายของธรรมข้อนั้นให้เห็นชัดเสียก่อน

ในที่นี้ จะแสดงการศึกษาธรรมแบบวิเคราะห์ไว้สักข้อหนึ่ง คือเรื่อง “สันโดษ” ตามที่ปรากฏในหลักฐานทางตำรา

ความหมาย

ความสันโดษนี้ ศัพท์บาลีเป็นสนฺตุฎฐี แต่ที่ใช้สนฺโตโสมีบ้างน้อยแห่ง โดยพยัญชนะ คำว่าสนฺตุฎฐี หรือ สันโดษ แปลได้ดังนี้

๑. ความยินดีพร้อม คือความพอใจ

๒. ความยินดีในของของตน

๓. ความยินดีโดยชอบธรรม

รวมความหมายในทางธรรมว่า สันโดษ คือความยินดีในของที่ตนมี ซึ่งได้มาโดยชอบธรรม หรือความพอใจ มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม

วัตถุประสงค์

ก. วัตถุประสงค์ทั่วไป

การประพฤติสันโดษ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนการดำเนินตามอริยมรรค คือ การศึกษาปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ที่จะให้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด คือวิมุตติ (ความหลุดพ้น, ความมีจิตใจเป็นอิสระ) หรือนิพพาน ความดับกิเลสและทุกข์ได้สิ้นเชิง)

ข. วัตถุประสงค์เฉพาะ

เพื่อให้จิตใจปลอดโปร่ง มั่นคง ปราศจากความติดข้องในสิ่งเย้ายวน ปราศจากความครุ่นคิดกังวลในการที่จะหาทางบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง จะได้นำเวลาความคิดและแรงงานมาทุ่มเทอุทิศให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เต็มที่

หลักการ

- มีความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุคือปัจจัย ๔ แค่พอดี คือพอสะดวกสบาย พอเกื้อกูลแก่สุขภาพ แก่การดำเนินชีวิตที่ดีงาม และแก่การปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน ไม่ใช่เพื่อ โก้ ฟุ้งเฟ้อ หรูหรา แข่งโอ่อ่ากว่ากัน

- แสวงหาปัจจัย ๔ ด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างจริงจัง โดยทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม ซึ่งเหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน ไม่ขัดหรือเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ และสามารถนึกถึงสิ่งที่ตนได้มานั้นด้วยความเอิบอิ่มภูมิใจ

- พอใจและมีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ตนหามาได้ เป็นผลสำเร็จของตนเอง ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ตั้งมั่น สงบ ไม่กระวนกระวาย

- เอาเวลา ความคิด และแรงงานมาอุทิศให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยเต็มที่ พยายามแก้ไข ปรับปรุง ทำงานให้ก้าวหน้า ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่พล่าเวลาและความคิดให้เสียไปด้วยความฟุ้งเฟ้อ ความปรนปรือ และไม่ให้จิตใจถูกรบกวนด้วยสิ่งเหล่านี้

คำว่าภาวะและฐานะของตนนั้น เช่น เป็นบรรพชิต หรือเป็นคฤหัสถ์เป็นต้น ซึ่งมีขอบเขตแห่งการดำเนินชีวิต การประพฤติปฏิบัติ และการหาเลี้ยงชีพแตกต่างกันไปตามระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคม เป็นต้น

ขอบเขต

ปัจจัย ๔ เป็นขอบเขตของสันโดษ หมายความว่า สันโดษเป็นธรรมที่จำกัดไว้ให้ใช้กับปัจจัย ๔ คือ ให้ใช้สันโดษกับสิ่งที่เป็นเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตด้านวัตถุเท่านั้น ไม่กินความถึงความดีงามและหน้าที่การงาน เป็นต้น1

กรณีที่สอนไม่ไห้สันโดษ

พระพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงสอนให้มีความสันโดษในเรื่องทุกอย่าง ในบางกรณีกลับทรงสอนไม่ให้สันโดษ และความไม่สันโดษนี้ นับว่าเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งด้วย เช่นที่ได้ตรัสไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้ชัดคุณของธรรม ๒ ประการ คือ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างหนึ่ง และความไม่รู้จักระย่อในการทำความเพียร อย่างหนึ่ง”2

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็เพราะอาศัยธรรม ๒ อย่างนี้ เช่น เพราะยังไม่ทรงพอพระทัยในความรู้และคุณพิเศษที่ได้ในสำนักของอาฬารดาบส และอุททกดาบส จึงทรงแสวงธรรมและบำเพ็ญเพียรต่อมา และเพราะไม่ทรงท้อถอย จึงบรรลุโพธิญาณได้

อีกแห่งหนึ่ง ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมบรรลุความยิ่งใหญ่ และความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ชั่วเวลาไม่นานเลย คือ เป็นผู้มากด้วยความสว่างแห่งญาณ ๑ เป็นผู้มากด้วยการประกอบการเพียร ๑ เป็นผู้มากด้วยความเบิกบานใจ (มีปีติและปราโมทย์) ๑ เป็นผู้มากด้วยความไม่สันโดษ (ในกุศลธรรมทั้งหลาย) ๑ เป็นผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ และมุ่งมั่นพยายามทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ๑”3

อนึ่ง ตามหลักฐานนี้ คุณธรรมคือความไม่สันโดษ ก็มีขอบเขตด้วยเหมือนกัน คือ จำกัดให้ใช้กับกุศลธรรมทั้งหลาย อันได้แก่สิ่งที่เป็นความดีงาม ถูกต้อง ชอบด้วยเหตุผล เกิดจากปัญญา สิ่งที่ตัดรอนความชั่ว ทำให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงาม ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

พูดสรุปได้ว่า ท่านสันโดษในปัจจัย ๔ แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม หรือสันโดษในการแสวงวัตถุ แต่ไม่ให้สันโดษในการทำสิ่งที่ดี

บุคคลที่ต้องสันโดษ

สันโดษ เป็นธรรมที่ท่านเน้นพิเศษสำหรับบรรพชิต ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนสันโดษไว้มากมายหลายแห่ง พบแต่ที่ตรัสสอนแก่พระภิกษุเท่านั้น ไม่พบที่ตรัสสอนคฤหัสถ์โดยเฉพาะเลย มีพบ ๒-๓ แห่งเท่านั้นที่ไม่ระบุชัดว่าตรัสแก่พระภิกษุ คือตรัสเป็นข้อธรรมกลางๆ ในมงคลสูตร4 ว่าเป็นอุดมมงคลอย่างหนึ่ง และในธรรมบท5 ว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง แม้ที่กำหนดว่าเป็นลักษณะตัดสินธรรมวินัยอย่างหนึ่งใน ๘ ประการ ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นหลักกลางๆ ก็ตรัสแก่พระภิกษุณี คือพระนางมหาปชาบดีโคตมี6

การที่พระพุทธเจ้ามุ่งตรัสสอนสันโดษแก่พระภิกษุเป็นพิเศษนั้น เป็นเพราะการออกบวชเป็นพระภิกษุมีความหมายที่จะทำความเพียร บำเพ็ญข้อปฏิบัติทางจิตใจและแจกจ่ายธรรมทานโดยเฉพาะ จึงต้องพยายามตัดกังวลและสิ่งเย้ายวนทางวัตถุให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อใช้เวลาและแรงงานให้เกื้อกูลแก่การบำเพ็ญ สมณธรรมมีสมาธิเป็นต้น และการเทศนาสั่งสอนธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระภิกษุ

ถึงแม้สันโดษจะเป็นธรรมที่มุ่งเน้นพิเศษสำหรับบรรพชิตแต่คฤหัสถ์ก็ควรประพฤติ โดยทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตให้ถูกต้อง แล้วปฏิบัติตามหลักการ คือ ตัดความกังวลฟุ้งเฟ้อและการปรนปรือตนเอง มุ่งมั่นใฝ่ใจการปฏิบัติหน้าที่การงานของตน

ธรรมควบประสาน

ในการปฏิบัติธรรมข้อหนึ่งๆ มิใช่ว่าผู้ปฏิบัติจะมุ่งบำเพ็ญ คุณธรรมข้อนั้นโดยลำพังอย่างเดียว ตามปกติมักมีธรรมที่ควรปฏิบัติควบคู่ประสานกัน เพื่อเสริมและเพิ่มกำลังแก่กันด้วย พระพุทธเจ้าจึงมักตรัสธรรมเป็นหมวดๆ มีจำนวนต่างๆ กัน และธรรมบางข้อมักมาคู่กันเสมอ ไม่ว่าในหมวดธรรมใดๆ เช่น เมื่อสอนศรัทธาแล้วก็จะต้องสอนปัญญาด้วย เพื่อไม่ให้กลายเป็นความงมงาย เป็นต้น

สำหรับธรรมข้อสันโดษนี้ ก็มีธรรมควบประสาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ด้วยกันเกือบทุกครั้งอย่างหนึ่ง คือความเพียร พยายาม หรือวิริยารัมภะ ที่แปลกันว่า การปรารภความเพียร ถือเอาความหมายง่ายๆ ว่า การระดมความเพียรหรือตั้งหน้าตั้งตาเพียรพยายามปฏิบัติหน้าที่ ไม่หยุดยั้ง หลักฐานในเรื่องนี้พึงดู นาถกรณธรรม ๑๐ กถาวัตถุ ๑๐ และธรรมหมวดอื่นๆ ตามที่มาทั้งหลายซึ่งอ้างไว้แล้วข้างต้น

ลักษณะของผู้สันโดษ

- เป็นผู้แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพด้วยความเพียรและปัญญาเท่าที่เหมาะสมกับภาวะของตน และเป็นการชอบธรรม

- ไม่อยากได้ของผู้อื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทำการทุจริตเพราะปากท้อง และผลประโยชน์ส่วนตัว

- เมื่อหามาได้ และใช้สอยสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ติด ไม่หมกมุ่นมัวเมา ไม่กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น

- เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยไม่สำเร็จ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำ ยังคงปฏิบัติหน้าที่การงานของตนต่อไปได้ และพยายามทำใจให้ผ่องใสสงบเป็นปกติ

- ไม่ถือเอาสิ่งที่ตนหาได้ สมบัติของตน หรือผลสำเร็จของตน มาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น

- หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตน สามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขในฐานะที่ตนเข้าถึงในขณะนั้นๆ

- มีความภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากเรี่ยวแรงกำลังงานของตน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดขึ้นจากการกระทำของตน

- มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งหน้าปฏิบัติหน้าที่การงานให้ก้าวหน้า และบรรลุความสำเร็จ

อาการแปลกปลอมหรือสันโดษเทียมและความหมายที่คลาดเคลื่อน

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกับความเป็นไปอย่างอื่นส่วนมาก คือมีความไขว้เขว ความเข้าใจผิด และการหลอกลวงได้ สันโดษก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง ที่มีสภาพความประพฤติชั่วบางอย่างมาคล้ายคลึงเข้า โดยอาการภายนอก ความชั่วที่ดูเผินๆ คล้ายสันโดษนี้ คือความเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่เอาธุระ ความเพิกเฉยต่างๆ

การวินิจฉัยอาการแปลกปลอม หรือลวงนี้ กระทำได้ไม่ยาก ข้อตัดสินที่เด็ดขาด คือพิจารณาว่าผู้นั้นมุ่งหน้ากระทำสิ่งที่ดีงาม ปฏิบัติหน้าที่การงานของตนหรือไม่ ถ้าไม่ ก็พึงวินิจฉัยว่าเป็นความเกียจคร้านเฉื่อยชา

ความหมายคลาดเคลื่อนของสันโดษที่ใช้กันมากในปัจจุบัน คือการปลีกตัวจากสังคมไปอยู่สงบเงียบ หรือการไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับใคร ซึ่งใกล้กับความหมายของคำว่า “วิเวก”

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ (ธรรมที่พึงกำจัดด้วยสันโดษ)

๑. การเบียดเบียนกันเพราะความอยากได้ของผู้อื่น

๒. การทุจริต เพราะอยากได้ แต่ไม่อยากทำ หรืออยากได้เร็วโดยทางลัด ไม่อาจรอคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดจากการกระทำของตนเอง

๓. ความฟุ้งเฟ้อ สำรวย การใช้ชีวิตอย่างโก้หรู ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ชอบทำการงาน

๔. ความทอดทิ้ง ละเลย ไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน ตลอดถึงการทุจริตต่อหน้าที่

๕. ความเกียจคร้าน เฉื่อยชา

๖. ความเดือดร้อนใจ ความกระวนกระวาย รุ่มร้อน หาความสุขไม่ได้เพราะไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ มีความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา

ผลได้พิเศษ

ผลพลอยได้พิเศษ นอกเหนือจากที่เป็นวัตถุประสงค์เฉพาะของธรรมข้อนี้ มีหลายอย่าง เช่น

๑. สิ่งที่ตนมีอยู่และแสวงหามาเพื่อสร้างความสุขความสะดวกสบายแก่ตน ก็ให้ความสุขได้จริง

๒. ป้องกันความทุจริต ที่จะเกิดจากความอยากได้โดยไม่อยากทำ การได้ไม่รู้จักพอ และการอยากได้ของของผู้อื่น ทำให้สังคมสงบสุขไปด้วย

๓. ทำให้มุ่งปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน ทำให้เกิดความก้าวหน้าทั้งส่วนตัว และความเจริญของประเทศ

๔. ป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดจากความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อของประชาชน ทำให้เวลาความคิดและแรงงานเกิดผลงอกเงยมากขึ้น

สันโดษประยุกต์

สันโดษนี้ เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในทางสังคมระดับชาติ ก็อาจแปลความหมายเป็นความพอใจในผลิตผลของประเทศของตน ความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นของชาติของตน และความร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลสำเร็จให้เป็นสมบัติของชาติของตนเอง ด้วยความพากเพียร และอดทน

ในที่นี้ จะไม่วิจารณ์ว่า การประยุกต์สันโดษมาใช้ในกรณีนี้เป็นสิ่งควรทำหรือไม่อย่างไร เป็นแต่พูดให้เห็นว่าเป็นไปได้ในรูปเช่นนี้ และถ้าคนในชาติใดเป็นคนสันโดษตรงตามความหมายของธรรม ผลที่ปรากฏออกมาเป็นส่วนรวมของชาตินั้น ก็จะเป็นเช่นนี้

ปัจจุบันนี้ น่าจะได้มีการศึกษาข้อธรรมต่างๆ ที่ชวนไขว้เขว เช่น สันโดษนี้ และเรื่องทาน ศีล กรรมเป็นต้น ในรูปวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจชัดเจน เป็นการป้องกันภัยที่จะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การเข้าใจโดยสักว่าถือตามๆ กันมา และการตีความให้เข้ากับประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงหลัก อันก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติธรรม และทำให้มองหลักธรรมในทางที่ผิด ซึ่งเป็นความเสียหายแก่พระศาสนาและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

1ข้อความแต่เริ่มต้นบทความ ถึงตอนนี้ และแม้ต่อจากนี้ไป พึงดูหลักฐานตามที่มาต่อไปนี้คือ ที.สี. ๙/๑๐๑/๘๑: ม.มู. ๑๒/๒๒/๒๓; องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๒๐/๒๓๖; องฺ.ทสก. ๒๔/๑๘/๓๐; ๒๔/๗๐/๑๔๐;  ๒๔/๘๓/๑๖๔; องฺ.เอก. ๒๐/๖๒/๑๓; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๘/๓๕; ๒๑/๑๙๘/๒๘๕; ม.ม. ๑๓/๓๒๐/๓๑๗; องฺ.ทสก. ๒๔/๓๐/๗๑; ขุ.ธ. ๒๕/๑๐/๑๓ ฯลฯ.
2องฺ.ทุก. ๒๐/๒๕๑/๖๔; อภิ.สํ. ๓๔/๑๕/๘.
3อง.ฉกฺก ๒๒/๓๕๑/๔๘๒.
4ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๘/๓๗๗ (ตอบปัญหาเทวดา. อรรถกถาคือ ขุทฺทก.อ. ๑๗๒; สุตฺต.อ. ๒/๑๒๕ ว่ามงคลสันโดษนี้จัดเข้าเป็นข้อปฏิบัติเมื่อออกบวชแล้ว)
5ขุ.ธ.๒๕/๒๔/๔๒ (เฉพาะแห่งนี้ อรรถกถาเล่าเรื่องประกอบว่าตรัสแก่ คฤหัสถ์คือพระเจ้าโกศล)
6วิน.ย. ๗/๕๒๓/๓๓๑; อง.อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๓/๒๘๙
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง