ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เว้นสุขบำเรอประสาท คือหัดเป็นสุขอย่างอิสระ
ไม่ใช่จะหาทุกข์มาทน

อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้จะต้องกำหนดจดจำให้ดีว่า จุดมุ่งหมายอยู่ที่ไหน ถ้าเข้าใจความมุ่งหมายผิด ก็จะเฉไฉเขวออกไปเลย ทางที่จะเขวเป็นอย่างไร คือ มีคนไม่น้อยไม่เข้าใจความมุ่งหมายของการถือข้อปฏิบัติประเภทเว้นจากการหาความสุขจากที่นั่งที่นอนหรูหรา และการกินอาหารมากมายเป็นต้น เขาไม่ได้มองการถือข้อปฏิบัติงดเว้นเหล่านั้นในแง่ที่เป็นเครื่องฝึกตน ให้อยู่ได้โดยไม่ต้องฝากความสุขไว้กับวัตถุภายนอก ไม่ได้มองไปในแง่ของการที่จะก้าวต่อไปสู่ความสุขทางจิต แต่เขามองเขวออกไปอย่างอื่น

อย่างที่หนึ่งก็จะมองไปว่า การที่ทำอย่างนี้ก็คือ การทำตัวเราให้ทนทุกข์ได้มากขึ้น

ที่จริงนั้น ถ้าว่าโดยลำพังตัวมันเองแล้ว การเว้นอาหารในเวลาวิกาลก็ตาม เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ก็ตาม โดยธรรมชาติของมันแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องของความทุกข์เลย สำหรับคนที่เขาสบายๆ ไม่หวังพึ่งสิ่งเหล่านั้น ไม่ฝากความสุขไว้กับสิ่งเหล่านั้นแล้ว เขาไม่มีสิ่งเหล่านั้นเขาก็สบาย บางคนเขาเห็นเป็นของเกะกะไปเสียด้วยซ้ำ ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ มีนวม มีฟูกฟูหรูหรา บางคนเขาเห็นเป็นของวุ่นวายรุงรัง เขาไม่อยากนอน เขาบอกว่าฉันขอนอนบนพื้นสบายกว่าคือการไม่มีไม่ใช้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความทุกข์หรอก

แต่บางคนมองเห็นเป็นเรื่องของการทนทุกข์ แล้วก็บอกว่า พระพุทธศาสนาท่านสอนให้คนเรารู้จักทุกข์และให้ได้มีความทุกข์ เมื่อได้มีความทุกข์แล้ว เราก็จะได้มีความสุขที่สูงขึ้นไป หรือเป็นการทำความดี เป็นบุญเป็นกุศลมากขึ้น เราจะมีความสุขที่สูงขึ้นไป หรือได้ทำความดีเป็นกุศลยิ่งขึ้นไป ด้วยการทำตัวให้เป็นทุกข์ จุดที่จะพลาดก็คือตอนนี้ คือการมองว่าเราจะมีชีวิตที่ดี หรือมีความสุขสูงขึ้นไปด้วยการที่ต้องทำตัวเองให้เป็นทุกข์

พอมองอย่างนี้แล้วก็เที่ยวหาวัตร คือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่จะเอามาทำตัวให้เป็นทุกข์ แล้วทีนี้พอได้ปฏิบัติแล้วก็มีความภูมิใจในการที่ทำตัวให้เป็นทุกข์ได้สำเร็จ ถ้าทำตัวให้เป็นทุกข์ได้มาก แสดงว่า ฉันเก่ง แล้วก็มีความสุขจากการภูมิใจนั้น

ความสุขนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวสาระที่แท้ของการปฏิบัติ แต่เกิดจากความภูมิใจที่ตัวทำได้สำเร็จ คือ สามารถทำทุกข์ให้แก่ตนได้สำเร็จ ว่าเราสามารถทนทุกข์อย่างนั้นได้ ความสุขเกิดจากสิ่งที่ท่านเรียกว่า มานะ ซึ่งเป็นกิเลส คือความภูมิใจในการที่ทำสำเร็จ ให้ตัวเองมีความทุกข์ได้อย่างนั้น แล้วฉันก็ยังอยู่ได้ ฉันเก่งแล้ว คนอื่นทำไม่ได้อย่างฉัน ก็เลยมีความสุขจากมานะนั้น ตอนนี้ท่านเรียกว่ากิเลสเกิดขึ้นแล้ว ความก้าวหน้าในแบบนี้ เป็นการสนองมานะ

หรือมิฉะนั้น เขาก็จะหลงผิดว่า ความสุขจะสำเร็จได้ด้วยการทำตนให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องพยายามทำตนให้เป็นทุกข์มากขึ้น อันนี้ท่านเรียกว่าเป็น ทิฐิที่ผิด คือเข้าใจผิดว่า ความสุขจะสำเร็จได้ด้วยการทำตนให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็ทำตัวให้เป็นทุกข์มากขึ้น ก็เป็นทิฐิที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ลำบาก เหมือนอย่างทุกรกิริยาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงไปทดลองมาแล้ว ก่อนที่จะตรัสรู้

เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ให้สมัครใจกินมื้อเดียว ที่ให้รับประทานอาหารไม่มาก หรือไม่ให้นอนแบบหรูหราแสนสบายอะไรนี่ ไม่ได้มุ่งหมายให้เราสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเอง แต่ต้องการให้เราฝึกตนเองให้พ้นจากการที่จะต้องฝากความสุขไว้กับสิ่งบำเรอภายนอกหรือวัตถุ หมายความว่า เป็นการฝึกในวิถีทางแห่งชีวิตที่มีอิสรภาพ ให้เข้าถึงความจริงที่ว่า ความสุขของเรานี้ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับวัตถุภายนอก เราสามารถมีความสุขได้ด้วยชีวิตที่เรียบง่าย ตลอดจนแม้แต่หาความสุขได้โดยลำพังจิตใจของเราเอง อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในการฝึกตนเท่านั้นเอง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง