รัฐศาสตร์เพื่อชาติ VS รัฐศาสตร์เพื่อโลก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาค ๑
วิสาขทัศน์ เพื่อวัดและพุทธบริษัท

ชาวพุทธที่ดีแท้ ไม่คิดดีอยู่แค่ตัว
แต่ต้องเดินหน้าสามัคคี หนุนการทำดีไปด้วยกัน

การมาในที่นี้ ถ้าใช้คำทางพระศาสนา ก็เรียกว่าเป็นการให้ทั้งกายสามัคคีและจิตสามัคคี

กายสามัคคี คือร่วมกาย โดยมานั่งประชุมกัน มาช่วยกันทำโน่นทำนี่ ตลอดจนมาร่วมกิจกรรมในการเวียนเทียน

จิตสามัคคี คือร่วมใจ ซึ่งอยู่ข้างใน ร่วมใจนี้สำคัญนัก เมื่อใจร่วมกันจึงทำให้มาประชุมในที่เดียวกันได้

ร่วมใจนี้ลึกซึ้ง มีหลายระดับ ร่วมใจจริงๆ ก็ต้องมีศรัทธาร่วมกัน รักกัน มีเมตตาหรือไมตรีจิตต่อกัน หวังดีต่อกัน มีใจสมัครสมานกลมเกลียว คิดร่วมใจกันในการประพฤติปฏิบัติสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เพื่อทำชีวิต ครอบครัว และสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข เป็นต้น อันนี้จึงจะเป็นการร่วมใจที่แท้จริง เรียกว่าเป็นจิตสามัคคี

ถ้ามีครบ ๒ อย่าง ทั้งกายสามัคคีและจิตสามัคคี ก็จะสมบูรณ์ เราต้องการให้ได้ถึงขั้นนี้

การที่มีพิธีในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น ก็เพราะมุ่งให้เราได้แสดงออกซึ่งกายสามัคคีและจิตสามัคคีนี่แหละ คือ มิใช่มีพิธีเฉพาะลำพังตนเอง ซึ่งแต่ละท่านก็คงมีอยู่แล้ว แต่จะให้สมบูรณ์เกิดผลเป็นประโยชน์บริบูรณ์แท้จริง ก็ต้องมาแสดงออกร่วมกันอย่างนี้ พระศาสนา สังคม และเรื่องที่เป็นของส่วนรวม เช่นวัฒนธรรม จึงจะอยู่ได้ และสามารถดำเนินไปด้วยดี

การที่จิตใจโยมมีศรัทธา มีเมตตา มีสามัคคีกันอย่างนี้ ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา แต่ที่ปรากฏอยู่นี้เป็นเพียงการแสดงออก ในเหตุการณ์สำคัญ ที่เป็นจุดกำหนด ที่จริงนั้น ตามปกติ ญาติโยมสาธุชนจำนวนมากก็มีศรัทธาและมีเมตตาธรรมเป็นต้น และได้มาวัดวาอาราม มาทำกิจกรรม มาถวายทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนากันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบรรยากาศสำคัญ ที่มาประสานกัน ช่วยให้วันวิสาขบูชามีความหมายมากขึ้น

หมายความว่า เรามิใช่มาเฉพาะวันวิสาขบูชา หรือเฉพาะวันสำคัญเท่านั้น แต่เราได้เอาใจใส่ในเรื่องของบุญกุศล ในการสร้างความดี ในการร่วมกิจกรรมทางพระศาสนามาโดยตลอด ซึ่งถ้าทำได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ก็จะเป็นการมาช่วยกันทำให้วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา ตลอดจนวันอาสาฬหบูชามีความหมายที่แท้จริงได้อย่างสมบูรณ์

อย่างที่นี่ ก็ต้องขออนุโมทนาญาติโยมจำนวนมาก ที่ได้มาช่วยเหลือเกื้อกูลวัดตลอดมา มิใช่เฉพาะถวายทานบำรุงเลี้ยงพระสงฆ์เท่านั้น แต่ได้มาช่วยในเรื่องการจัดบริเวณวัดวาอารามให้เป็นสถานที่อันสมที่จะเรียกว่าเป็นรมณียสถาน คือเป็นสถานที่ดีงาม ร่มรื่น ที่ชวนให้จิตใจสดชื่นร่าเริงเบิกบาน เรียกสั้นๆ ว่า “รมณียะ” หรือ “รมณีย์” ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสถานที่ที่ดี

วัดที่ดี ทั้งเป็นทัศนีย์ และรื่นร่มรมณีย์

เรามีคำคู่กัน อันหนึ่งเรียกว่า “ทัศนียะ” หรือพูดง่ายๆ เรียกเป็นไทยว่า “ทัศนีย์” และอีกคำหนึ่งว่า “รมณียะ” เรียกเป็นไทยว่า “รมณีย์”

รมณีย์ แปลว่า น่ารื่นรมย์ เป็นที่ยินดี ทำให้จิตใจสบาย ส่วนทัศนีย์ เป็นด้านรูปธรรม เป็นสภาพทางวัตถุที่มองเห็นด้วยตา

ตอนแรก เรามองเห็นสถานที่ที่สะอาด มีต้นไม้ มีธรรมชาติต่างๆ ที่สดชื่นสวยงาม น่าดูน่าชม ก็เป็นทัศนีย์ แต่จะให้ผลจริงๆ ที่ลึกซึ้งลงไป ก็ต้องเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกรื่นรมย์ คือเป็นรมณีย์ อันนี้เป็นลักษณะทั่วไป และวัดวาอารามก็ควรจะเป็นสถานที่ซึ่งเป็นทั้งทัศนียะและรมณีย์

สังเวชนียสถาน ๔ คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และทรงแสดงปฐมเทศนา ในชมพูทวีป ที่ชาวพุทธไปนมัสการกันนั้น ที่จริงท่านไม่ได้เรียกว่าสังเวชนียสถานอย่างเดียว ในพระไตรปิฎกเอง พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นทัศนียสถานและสังเวชนียสถาน คือเป็น ๒ อย่าง แต่เราจับเอามาคำเดียว เรียกว่าสังเวชนียสถาน

โดยทั่วไป ที่อื่นซึ่งไม่ได้เป็นสังเวชนียสถานอย่างนั้น ก็ต้องให้เป็นทัศนียสถาน แล้วก็เป็นรมณียสถาน ดังจะเห็นว่า คำบรรยายลักษณะวัดทั่วไปในพุทธกาลเป็นอย่างนี้

ทัศนีย์ รมณีย์ นี่เป็นเรื่องของสถานที่ ญาติโยมมาในที่ที่ว่าเป็นวัดวาอาราม ถ้ามีลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นที่โน้มนำจิตใจไปสู่ความสงบ ความสดชื่นเบิกบานใจ แล้วก็โน้มนำต่อไปสู่ธรรมะ ถ้ามีการสดับตรับฟัง และฝึกศึกษาปฏิบัติธรรมต่อไป ก็ทำให้ได้ผลดีด้วย เพราะบรรยากาศเกื้อกูล เรียกว่าเป็น “สัปปายะ” อันนี้เป็นด้านหนึ่ง

พระสงฆ์ที่ดี เป็นมโนภาวนีย์
หรืออย่างน้อย ต้องเป็นปสาทนีย์

ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ก็คือตัวบุคคล ในสถานที่นั้น ก็ต้องมีตัวบุคคล ตัวบุคคลที่เหมาะที่ดีก็มีลักษณะแบบเดียวกัน มีคำเรียกเป็นชุดต่อกันไปเลย คือ

บุคคลก็เริ่มต้นด้วยเป็น ทัศนียะ คือน่าดู ซึ่งเป็นลักษณะอาการทางรูปกาย หรือเป็นรูปธรรมภายนอก จากนั้นก็มีศัพท์ที่ลึกลงไป ต่อจากทัศนียะ ก็ต้องเป็น “ปสาทนียะ”

ปสาทนียะ แปลว่า น่าเลื่อมใส น่าชื่นชม น่าเชื่อถือ หมายความว่า มีคุณสมบัติดีงามต่างๆ เช่น มีความรู้ มีความสามารถ มีการประพฤติปฏิบัติดี เป็นต้น เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ชวนให้เชื่อถือ

ทัศนียะ เป็นการมองเห็นด้วยตาในเบื้องต้นก่อน แต่พอถึงปสาทนียะ ก็เป็นการมองลึกเข้าไปข้างใน เรียกว่า เห็นรูปพรรณภายนอกเป็น ทัศนีย์ ต่อจากนั้นมีคุณสมบัติข้างในลึกเข้าไปก็เป็น ปสาทนีย์

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะให้ดียอดเยี่ยม ขอให้ดูอย่างในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ มีผู้คนไปกราบไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น เหตุผลที่เขาไปอย่างหนึ่งก็คือ ต้องการไปพบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระมหาสาวกทั้งหลาย ที่เขาเรียกว่าเป็น “มโนภาวนียะ” หรือเรียกสั้นๆ ก็เป็น มโนภาวนีย์ แปลว่า เป็นที่เจริญใจ

เป็นอันว่ามี ๓ ขั้นด้วยกัน

๑. ทัศนียะ/ทัศนีย์ เห็นรูปร่างและอาการทั่วไปภายนอก ก็น่าดูน่าชม

๒. ปสาทนียะ/ปสาทนีย์ พอใกล้เข้าไป เห็นถึงข้างใน ก็ซึ้งใจ รู้สึกชื่นชม ชวนให้เลื่อมใส มิใช่งามแค่รูปร่างท่าทาง แต่ข้างในมีคุณความดีทางธรรมทางปัญญา มีความรู้ความสามารถน่าเชื่อถือ น่าศรัทธา ต่อจากนั้นก็

๓. มโนภาวนียะ/มโนภาวนีย์ ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เห็นท่านเมื่อใด ก็ใจโปร่งใจโล่ง ไม่มีอะไรที่จะให้เคลือบแคลงขุ่นมัวในส่วนของตัวท่านที่จะคิดเอาจากใครหรือคิดร้ายต่อใคร มีแต่คุณความดีเป็นหลักที่ยึดถือได้และน้ำใจที่มุ่งจะให้ ทำให้ซาบซึ้งใจ พอได้มาพบเห็น ก็มีผลเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ดูผู้มาผู้ชมผู้ชิดใกล้ ทำให้ผู้ที่มาเห็นมาชื่นมาชมมาดูนั้น จิตใจสบายผ่องใสเบิกบานร่าเริงใจ เป็นที่เจริญใจ ด้วยทำให้ผู้นั้นๆ มีใจที่จะพัฒนาก้าวหน้าไปในธรรมในปัญญายิ่งขึ้นไป

เพราะเหตุนี้แหละ ตอนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลายคนจึงได้แสดงความเสียอกเสียใจบอกว่า เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว มิใช่เฉพาะเขาจะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่เขาจะไม่ได้เห็นพระมหาสาวก พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เป็นมโนภาวนียะ ผู้เป็นที่เจริญใจ ที่ว่าพอเห็นแล้ว ได้พบได้พูดคุยสนทนา ก็ทำให้ได้ความรู้ ได้ธรรม ได้บุญกุศล ได้ความดีงาม ได้ปัญญา อะไรต่างๆ อย่างนี้ เรียกว่า มโนภาวนียะ เป็นที่เจริญใจ คือทำให้จิตใจของเขาพัฒนาขึ้นมา

รวมความว่า ควรและขอให้ได้ทั้ง ๓ ขั้น

อันนี้ก็เป็นเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ผู้ที่มาในวัดวาอาราม มาทำบุญทำกุศล ทำให้ได้ผลดีจากพระศาสนาอย่างแท้จริงแม้ถึงญาติโยมทั้งหลายเอง ก็คงจะเป็นทัศนียะ และเป็นปสาทนียะแก่กันและกัน

สำหรับมโนภาวนียะนี่ ตามปกติท่านใช้น้อย มักจะใช้กับท่านที่เป็นพระอรหันต์ ก็เอาละ ขอให้เป็นปสาทนียะก็ยังดี ก็พอแล้วที่จะทำให้สังคมของเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยความรู้สึกเป็นมิตร มีไมตรี มีคุณค่าต่อกัน และรู้สึกในคุณค่าของกันและกัน ชื่นชมต่อกัน หวังว่าบรรยากาศของวัดจะได้ช่วยให้มีความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้

ญาติโยมที่มาวัดก็อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่เฉพาะมาทำบุญทำกุศลถวายทานเลี้ยงพระอย่างเดียว แต่ได้มาช่วยกันจัดดูแลวัด ทำให้สถานที่วัดร่มรื่น ช่วยปลูกต้นไม้บ้าง ทำความสะอาดบ้าง จัดตกแต่งต่างๆ ต้องขออนุโมทนาไว้ในที่นี้

ท่านที่มาช่วยจัดเตรียมงานต่างๆ นั้น ทุกคนย่อมมีความคิดหวังอย่างเดียวกัน คือมีความมุ่งมาดปรารถนาดีต่อผู้ที่จะมาร่วมงาน โดยตั้งใจว่า ขอให้สาธุชนทั้งหลายมาวัดแล้ว จงได้ความสดชื่นเบิกบานใจ ร่าเริงผ่องใส ได้ความสุขสงบกลับไป ได้ประโยชน์ทางศีล ทางจิตใจ แล้วก็ได้ปัญญา ได้ความรู้ความเข้าใจ ต้องตั้งความหวังต่อกันอย่างนี้

ถ้าเราตั้งความหวังต่อกันอย่างนี้ ว่าขอให้ผู้ที่มาแล้ว ได้ประโยชน์มีความสุขโดยทั่วกัน ก็เป็นจิตใจที่ดี เป็นกุศลในตัว พระก็ต้องตั้งจิตอย่างนี้ต่อญาติโยม เป็นหลักของพระพุทธศาสนา

เรามาในวันนี้ ก็เป็นอันว่าได้กายสามัคคีและจิตสามัคคีแล้ว โดยมีความหวังดีปรารถนาดีต่อกัน เปี่ยมด้วยศรัทธาและเมตตาเป็นพื้นฐานที่ดีงาม มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลทั่วกัน อาตมภาพก็ขออนุโมทนา


ลำดับขั้นความสำคัญ ของวันสำคัญ

วันนี้ ที่จะต้องกล่าวเป็นพิเศษก็คือเรื่องวันวิสาขบูชา ส่วนที่พูดเกริ่นนั้นเป็นเรื่องทั่วๆ ไป

ก่อนที่จะพูดเรื่องวันวิสาขบูชา ก็ต้องขอประทานอภัยนิดหน่อย ที่จะพูดถึงเรื่องตัวเอง คือ โยมหลายท่านจะแปลกใจว่า วันนี้อาตมาลงมาได้อย่างไร เมื่อกี้ แค่ให้ศีลก็ไม่ค่อยตลอด เหนื่อย แล้วก็ใจสั่น ความจริงสภาพร่างกายไม่ได้ดีกว่าก่อนนี้ที่ไม่ได้ลง แต่เหตุผลที่คราวนี้ลงมานั้น เกี่ยวกับเรื่องของวันสำคัญ ก็เลยขอถือโอกาสพูดเสียหน่อย คือวันสำคัญที่บอกตอนต้นว่าเป็นวันสำคัญที่สุด

ทำไมจึงว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด เรามีวันสำคัญต่างๆ ซึ่งบางทีก็ไม่สำคัญ แต่เป็นวันที่วัดมีงาน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ก็มีงานที่โยมมาทำบุญทำกุศลโดยปรารภวันเกิดของอาตมภาพ แล้วตอนนี้ก็เลยขยายเป็นวันเด็กไปด้วย

วันเกิดนั้นในแง่ตัวงานไม่ถือว่าสำคัญ เพราะฉะนั้น ถ้าเจ็บป่วยบ้างเล็กน้อย ก็เป็นอันว่าไม่ต้องลง เพราะถือว่าโยมมาทำบุญ ก็เป็นเรื่องที่โยมมีความปรารถนาดี เมื่อโยมทำบุญแล้ว ตัวไม่ได้ลง โยมก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ได้ ไม่มีปัญหา นี้เป็นวันแบบที่หนึ่ง เป็นเรื่องของวันคล้ายวันเกิดเท่านั้น ไม่ใช่วันสำคัญจริง

ต่อมา วันสำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือวันสำคัญตามวัฒนธรรมประเพณี อย่างวันสงกรานต์ เป็นวันที่สำคัญสำหรับประเทศชาติ หรือสำหรับสังคมทั้งหมด เป็นวันที่ญาติโยมมาประชุม แสดงความรักความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งต่อผู้อยู่และผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่ามาทำบุญรวมญาติ อุทิศส่วนกุศลแก่ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น

ในโอกาสอย่างนี้ โยมมาแสดงความปรารถนาดี พร้อมเพรียงสามัคคี พระก็มาแสดงน้ำใจ โดยมาร่วมอนุโมทนา มาช่วยอำนวยความสะดวกในการที่ญาติโยมบำเพ็ญกุศล พระองค์ไหนจะมาได้ก็ดี แต่ถ้าเจ็บป่วย ก็ไม่ต้องมา อยู่ในขั้นที่สำคัญขึ้นมาอีก แต่ยังไม่สำคัญที่สุด

จากนั้นก็มาถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาโดยตรง ซึ่งมีหลายวัน แล้วก็ยังแยกซอยออกไปได้เป็น ๒ กลุ่ม

กลุ่มแรก ก็คือ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา1 เป็นวันสำคัญสำหรับพระสงฆ์ โดยมีกิจที่ท่านต้องทำตามข้อกำหนดทางพระวินัย และในการปฏิบัติกิจของท่านตามพระพุทธบัญญัตินั้น ญาติโยมไม่เข้าไปร่วมทำด้วย

แต่เพื่อแสดงความอุปถัมภ์สนับสนุน ญาติโยมก็มาถวายกำลังและอำนวยความสะดวก ด้วยการเลี้ยงภัตตาหารและถวายวัตถุปัจจัยที่ท่านจะต้องอาศัย จนเกิดเป็นประเพณีทำบุญ ได้แก่การถวายเทียนพรรษาและถวายผ้าอาบน้ำฝนในตอนเข้าพรรษา และตักบาตรเทโวตอนออกพรรษา

ในพิธีทำบุญอย่างนี้ พระสงฆ์ออกมาฉลองศรัทธาสนองน้ำใจของญาติโยม ซึ่งควรยิ่งที่จะมา แต่ถ้ารูปใดมีเหตุขัดข้องอันควร ก็ยกเว้นไป

ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มที่สอง ได้แก่วันอย่าง วิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา กลุ่มนี้เป็นวันที่พุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าเป็นภิกษุ-ภิกษุณี หรืออุบาสก-อุบาสิกา จะต้องแสดงน้ำใจของตนต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระสงฆ์ พูดสั้นๆว่า ต่อพระรัตนตรัย จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคลนั้นเลยทีเดียว อย่างพระแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต่อพระรัตนตรัย ต้องมาแสดงน้ำใจ แบบนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรขาด เป็นเครื่องวัดความสำคัญขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

ทีนี้ ในบรรดาวันสำคัญแบบนี้ ที่เรียกว่า “บูชา” ที่เราจัดกันตามปกติ ซึ่งมี ๓ วัน คือ วิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชานั้น ถือว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เพราะมีวันนี้ วันอื่นจึงมีได้

เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นมา จึงมีวันอาสาฬหบูชาที่พระสงฆ์มาประชุมกัน ถ้าไม่มีวันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาก็มีไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ใครจะไปสั่งสอน วันมาฆบูชาก็เช่นเดียวกัน เป็นวันที่สืบเนื่องมาจากวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมเผยแผ่พระศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าจำเป็นจริงๆ ลงไม่ได้ ก็ตัดไปอีก ๒ วัน ก็เหลือวันวิสาขบูชา

เป็นอันว่า วันวิสาขบูชาต้องพยายามลงให้ได้ เป็นเรื่องของวันสำคัญซึ่งมีความสำคัญตามที่กล่าวมา ก็ขอโอกาสเล่าเหตุผลไว้

เมื่อพูดแล้วว่า วันนี้คือวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญที่สุด เราก็มาพูดถึงความหมายของวันวิสาขบูชากันอีก

อย่างไรก็ตาม เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า วันวิสาขบูชามีความหมายและความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธา ได้ศึกษามามาก แล้วก็มาร่วมกิจกรรมกันไม่ที่นี่ก็ที่โน่น เรียกว่าทุกปี ก็ย่อมมีความแม่นยำในเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาทบทวนกันอีกว่า วันนี้มีความหมายอย่างนั้น อย่างนี้ แม้กระทั่งว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร วันนี้ก็จะไม่ทบทวน

แต่เราสามารถยกความหมายแง่มุมแง่คิดเกี่ยวกับวันสำคัญเหล่านี้มาพูดกันในแต่ละครั้ง แต่ละโอกาส ยักย้ายเปลี่ยนแปลงไป เรียกว่าเป็นปริยายเทศนา (ปริยาย นี่แหละมาเป็นไทยว่า “บรรยาย”)

วันวิสาขบูชาสำคัญ ที่เป็นวันเกิด ๓ อย่าง

สำหรับวันวิสาขบูชานี้ แม้แต่ความหมายเบื้องต้น หรือความหมายพื้นฐาน ที่เราบอกกันว่า เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เราก็ยังสามารถพูดแนวใหม่อีกได้ แล้วแต่จับแง่ความหมาย

วันนี้ ขอให้ความหมายของวันวิสาขบูชาอีกแบบหนึ่งว่า เป็นวันเกิดทั้งหมด คือ เป็นวันเกิด ทั้งวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน

ทำไมจึงว่าเป็นวันเกิด?

ในความหมายแรก แน่นอนว่าชัดอยู่แล้ว วิสาขบูชาเป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เรียกง่ายๆ ก็คือเกิด ได้แก่เจ้าชายสิทธัตถะเกิด

สอง ที่ว่าเป็นวันตรัสรู้ ก็คือเป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิดเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดจริงในวันตรัสรู้

ต่อมา สาม ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็เกิดพุทธศักราช พุทธศักราชนั้นกำหนดจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และเพราะมีการเกิดของพุทธศักราชนี้แหละ เราจึงมีเครื่องกำหนดหมายว่า พระพุทธศาสนาดำรงอยู่สืบต่อกันมานานเท่าไร เป็นเครื่องกำหนดย้อนลงไปถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้า และเหตุการณ์ทั้งหมดทุกอย่าง

พุทธศักราชนี้เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ และเป็นสายโยงที่ยั่งยืนอยู่จนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องโยงตัวเรากับพระพุทธเจ้า และทั้งพระพุทธเจ้ากับเจ้าชายสิทธัตถะนั้น

ในที่นี้ ก็จึงบอกว่า วันวิสาขบูชาเป็น วันเกิด ๓ อย่าง คือ เกิดเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดพระพุทธเจ้า แล้วก็เกิดพุทธศักราช

สำหรับในประเทศลังกา (รวมถึงอินเดีย) และพม่านั้น เขานับต่างจากเรา คือ พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เขาก็นับทันที เพราะฉะนั้น ปีนั้นจึงเป็นพุทธศักราชที่ ๑

แต่ตามแบบของเรานั้น ยังไม่เริ่มนับ แต่หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไปแล้ว ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน … ๑ เดือน ๒ เดือน ๕ เดือน ๑๐ เดือน ๑๒ เดือน

พอครบ ๑๒ เดือน คือครบ ๑ ปี เราจึงพูดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว ๑ ปี เริ่มพุทธศักราช ๑ ของเรานับเวลาที่ล่วงแล้ว คือนับจำนวนปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว แต่ของพม่า ลังกา นับลำดับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไป

ด้วยเหตุนี้ พุทธศักราชในประเทศไทย ซึ่งรวมไปถึง ลาว และเขมรด้วย จึงช้ากว่าในพม่า และลังกา ๑ ปี ญาติโยมต้องทราบด้วย เวลานี้ ในลังกาและพม่า เป็นพุทธศักราช ๒๕๔๘ แล้ว ขณะที่ของเรายังเป็น ๒๕๔๗ นับต่างกันอย่างนี้

นี่เป็นเรื่องที่ควรจะทราบเหมือนกัน เป็นเรื่องความหมายง่ายๆ เอามาพูดพอเป็นเรื่องทักทาย

โพธิญาณที่เป็นแกนของวิสาขบูชา
สอนใจมิให้ระย่อต่อความยากแห่งการลุถึงความสำเร็จ

ทีนี้เราควรพูดให้ลึกลงไปอีก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรจะพูดเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา ก็อย่างที่บอกแล้วเมื่อกี้ว่า ตัวจริงที่สำคัญที่สุดก็คือ การตรัสรู้ การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีความหมายขึ้นมา ก็เพราะว่า จากเจ้าชายสิทธัตถะจึงมีพระพุทธเจ้าได้ การที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติก็เลยพลอยมีความสำคัญไปด้วย

การปรินิพพานก็เหมือนกัน มีความสำคัญก็เพราะเป็นการล่วงลับจากไปของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ได้ตรัสรู้

การตรัสรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น เราก็จะมาพิจารณาความหมายของวันวิสาขบูชา ในแง่ของการตรัสรู้ แต่เรื่องตรัสรู้ในแง่อะไรจะยังไม่พูดในที่นี้

ส่วนที่จะพูดก็คือ มีแง่คิดอย่างหนึ่งว่า การตรัสรู้ก็คือการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่ง การสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านี้ เราเห็นได้ชัดตามพุทธประวัติว่า เป็นสิ่งที่มิใช่ได้มาโดยง่าย เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นยากนักหนา

พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสบ่อยๆ ตั้งแต่เมื่อเริ่มจะเสด็จไปประกาศธรรม ก็ทรงปรารภว่า ธรรมที่ตรัสรู้นี้ พระองค์ได้บรรลุโดยยาก (“กิจฺเฉน เม อธิคตํ” แปลว่า ธรรมนี้เราบรรลุแล้วโดยยาก) แล้วก็ตรัสต่อไปว่า หมู่สัตว์ทั้งหลายมัวลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมาอยู่ในสิ่งติดข้องทั้งหลายมากมาย ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น ละเอียดอ่อน เข้าใจได้ยาก คนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าใจตามได้ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงโน้มพระทัยไปในการที่จะไม่ทรงแสดงธรรม

แต่ตามเรื่องที่บอกว่าพรหมอาราธนา เมื่อพระองค์ได้ทรงพิจารณาว่า สัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็จะมีผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงได้ โดยทรงพิจารณาดังนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะออกไปประกาศธรรม

นี่เป็นเรื่องตอนที่ตรัสรู้แล้ว แต่ก่อนตรัสรู้ยิ่งชัดกว่านั้นอีก คือตอนที่พระพุทธเจ้าจะประทับนั่งที่โคนโพธิ ในราตรีก่อนตรัสรู้ พระองค์ตรัสว่า สิ่งที่จะลุถึงได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของบุรุษ (คำว่าเรี่ยวแรงของบุรุษนี้เป็นสำนวน หมายความว่าของคนนั่นเอง) ถ้าเรายังไม่บรรลุ เราจะไม่ลุกขึ้น แม้ว่าเลือดเนื้อจะแห้งเหือดไป

นี่ก็แสดงว่า ธรรมะที่ตรัสรู้ไม่ใช่ง่ายๆ พระองค์ต้องอธิษฐานพระทัย คือตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ยังไม่บรรลุจุดหมายแล้ว จะไม่เสด็จลุกขึ้นเลย อันนี้ก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่ยาก

ยิ่งย้อนดูต่อไป การที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมีมากมาย

บารมี ก็คือบุญอย่างเยี่ยมยอด บุญคือความดี บารมีก็คือความดีของคนที่ยอดเยี่ยม หมายความว่า เป็นความดีซึ่งคนที่ไม่มีความเข้มแข็งเพียรพยายามจริงๆ ทำไม่ได้ แปลง่ายๆ ว่า คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่ง เช่นว่า จะบำเพ็ญทาน ก็บำเพ็ญอย่างชนิดว่าสละชีวิตให้ได้ จะบำเพ็ญศีล ก็ยอมสละชีวิตเพื่อศีลได้ เป็นต้น จึงจะเป็นบารมี

กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๐ ข้อ และครบ ๓ ขั้น เพราะฉะนั้น ความสำเร็จนี้จึงเป็นสิ่งที่ได้มาโดยยาก คือต้องเข้มแข็ง มีความเพียรพยายามยิ่งยวดที่สุด

1ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด ก็เป็นวันสุดท้ายของพรรษา หรือวันสิ้นสุดพรรษา แต่ทางพระสงฆ์มีคำเฉพาะ เรียกว่า วันปวารณา
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง