เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๒ -
ชาวพุทธต้องกู้อิสรภาพให้แผ่นดินไทย

จากมนุษย์ปุถุชน มาดูจุดเริ่มต้นว่าจะพัฒนาตรงไหน

ในการที่จะพัฒนาคนนั้น ลองหันมาดูมนุษย์ปุถุชนว่าเป็นอย่างไร เมื่อมองตามธรรมชาติของคนเราที่เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็จะเห็นว่ามีลักษณะอย่างหนึ่ง ในบรรดาลักษณะหลายๆ อย่าง คือการที่ว่าเราจะทำอะไร หรือจะมีความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์อะไรหรือไม่ ก็ขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอก

พูดเป็นหลักการได้ว่า มนุษย์ปุถุชนนั้นเมื่อทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคาม ก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอประสบความสำเร็จ สุขสบาย พ้นทุกข์ไปได้ ก็จะลงนอนเสวยสุข พฤติกรรมอย่างนี้เป็นธรรมชาติทั่วไปของมนุษย์ปุถุชน คือคนที่ยังมีกิเลส ซึ่งจะดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามขึ้นมาก็เพราะทุกข์มันบีบ ภัยมันมาคุกคาม ทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ เช่น อดอยากบ้าง สงครามจะมาบ้าง นอนอยู่ไม่ได้แล้ว จึงลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายทำอะไรกันใหญ่ แต่พอพ้นภัยสุขสบายแล้ว ประสบความสำเร็จ มีเงินมีทองใช้ดีแล้ว ...สบาย คราวนี้ก็ลงนอน เสวยสุข

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนามักตกอยู่ในวงจรนี้ และนี่ก็คือวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ หมายความว่า พอเจอทุกข์เจอปัญหาเดือดร้อนขึ้นมา ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายขยันหมั่นเพียรสร้างสรรค์ ก็เลยร่ำรวยขึ้นมา เป็นต้น เรียกว่าเจริญ แต่พอเจริญมีความสุขดีแล้ว ก็เฉื่อยชา หรือถึงกับลุ่มหลง ระเริง มัวเมา ตกอยู่ในความประมาท แล้วก็เสื่อมลง บุคคลก็ตาม ครอบครัวก็ตาม สังคมก็ตาม ประเทศชาติก็ตาม หรือแม้แต่ที่เราเรียกว่าอารยธรรมทั้งหลาย ลองศึกษาดูเถิด โดยมากเป็นอย่างนี้

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย คือมาสั่งสอนแนะนำว่า ทำอย่างไรมนุษย์จะไม่ต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญที่เกิดจากกิเลสของตัวเองแบบนี้ คือ ทำอย่างไรจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้มีคุณสมบัติอย่างใหม่ให้กลายเป็นว่า ... ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าจะสุข ฉันก็สร้างสรรค์ตลอดเวลา คือมีความขยันหมั่นเพียรด้วยสติที่คอยเตือนให้ทำตามที่ปัญญาบอก

ที่ว่านั้นหมายความว่า เมื่อเราพัฒนาปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะเป็นตัวบอกว่าอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม อะไรจะทำให้เกิดความเจริญ ตามหลักแห่งเหตุปัจจัย เมื่อรู้ว่าอะไรจะทำให้เกิดความเสื่อม สติจะคอยเตือนให้เราเร่งแก้ไขป้องกัน กำจัด เมื่อรู้ว่าอะไรจะทำให้เกิดความเจริญ สติก็เตือนให้เราสร้างสรรค์ทำสิ่งนั้นขึ้นมา

ถ้าเราอยู่ด้วยสติ เราก็ไม่ประมาท ไม่ผัดเพี้ยน ไม่หลงระเริง ไม่มัวเมา เราก็จะกระตือรือร้นเพียรพยายามละเว้นสิ่งที่รู้ว่าควรละเว้น และทำตามที่รู้ว่าควรจะทำ ถ้าอย่างนี้ เมื่อเจริญแล้ว หรือถึงจะสุขสบายแล้ว ก็เจริญต่อไป ไม่ต้องเสื่อม นี้แหละเป็นจุดสำคัญ

พระพุทธเจ้าทรงให้หลักประกันว่า ถ้าเราไม่ประมาท เราไม่ต้องเสื่อม ไม่ใช่ว่าเมื่อเจริญแล้วจำเป็นจะต้องเสื่อมเสมอไป แต่ที่จะเสื่อมหรือไม่เสื่อมก็อยู่ที่เหตุปัจจัย ไม่ใช่เสื่อมไปโดยเลื่อนลอย ใครบอกว่าเสื่อมแล้วก็เจริญเอง เจริญแล้วก็ต้องเสื่อม ก็แสดงว่าไม่ได้ถือหลักเหตุปัจจัย กลายเป็นลัทธิเดียรถีย์ที่ท่านเรียกว่า อเหตุวาท คือลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธิแล้วแต่เวรแต่กรรม หรือลัทธิที่ถือว่าถึงคราวก็เป็นไปเอง

สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องเสื่อมไปตามเหตุปัจจัย และเจริญตามเหตุปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยจะรู้ได้อย่างไร ก็รู้ด้วยปัญญา เราก็พัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้เหตุปัจจัย แต่ทีนี้ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเมื่อรู้แล้วจะประมาทหรือไม่ ถ้าประมาทก็อีกนั่นแหละ ทั้งที่รู้ว่าอันนี้ไม่ดี จะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม แต่มันล่อใจ ก็ไปทำเสียนี่ เลยกลายเป็นทำเหตุของความเสื่อม ทีนี้ในทางตรงข้าม ทั้งที่รู้ว่าอันนี้ดี จะเป็นเหตุปัจจัยให้เจริญ ก็ผัดเพี้ยน พรุ่งนี้ค่อยทำ เดือนหน้าค่อยทำ หรือละเลยเสียจนหมดโอกาส นี่เรียกว่าคนประมาท ก็เลยหนีไม่พ้นวงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา ก็เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย คือย้ำหลักไม่ประมาท ให้คนทั้งหลาย แม้สุขสบายแล้วก็ยังไม่ประมาท คนผู้ใด ทั้งที่สุขสบายแล้วก็ยังไม่ประมาทได้ คนนั้นเรียกว่าเป็นคนที่พัฒนาแล้ว แต่ถ้าคนไหนจะขมีขมันทำต่อเมื่อเจอทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม พอสุขสบายก็นอน อย่างนี้ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเต็มที่ ไม่มีอะไรที่แสดงถึงการพัฒนา

หลักความไม่ประมาทนี้ ควรจะเน้นเป็นพิเศษสำหรับสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่สภาพแวดล้อมทุกอย่างเอื้อให้สุขสบาย ชวนให้ประมาท แต่ทั้งที่พระพุทธศาสนาย้ำนัก ไม่ให้ประมาท แต่คนไทยกลับมองข้ามหลักความไม่ประมาทนี้ไปเสีย เลยจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยเกินไป

ปุถุชนสามัญก็แย่อยู่แล้ว ถ้าหลงติดยากล่อมจะแย่ยิ่งกว่านั้น

ย้อนมาดูเรื่องมนุษย์ปุถุชนสามัญที่ว่าตามปกติก็เป็นอย่างนี้ คือ ต่อเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่พอสุขสบายก็นอนเสวยสุข แล้วก็วนเวียนเราต้องมีอยู่ในวงจรเสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเสื่อมเรื่อยไป แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น ยังมีคนที่แย่กว่าปุถุชนสามัญอีก คือ แม้แต่ยามทุกข์ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย

ตามธรรมดาโดยธรรมชาติ คนเรานั้นเวลาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม อยู่นิ่งเฉยไม่ได้หรอก จะต้องดิ้น แต่ที่ไม่ดิ้น หรือไม่ค่อยมีกำลังดิ้นนั้น เกิดจากเหตุ ๒ ประการ

๑. สบายมานานจนเคยตัว จนเป็นคนเห็นแก่ง่าย หรือจะเอาแต่สบาย เคยตัวติดเป็นนิสัย อยู่กันในสังคมแห่งความสนุกสนานบันเทิง อยู่กันอย่างฟุ้งเฟ้อหรูหรา ไม่เคยเหนื่อยยาก ไม่เคยลำบาก ไม่เคยอดทนก็เลยอ่อนแอ พอมาเจอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามเข้าก็เลยท้อแท้ พอไม่ได้อย่างใจ แทนที่จะดิ้นก็เลยอ่อนใจระย่อหมดแรงหมดกำลัง ก็ซบเซา เหงาหงอย จับเจ่า หรือคร่ำครวญร้องทุกข์ไป นี่พวกหนึ่ง เรียกว่าพวกซ้ำเติมตัวเอง

๒. เจอทุกข์แล้ว เตรียมจะดิ้นรนขวนขวาย หรือภัยมา เตรียมจะลุกขึ้นสู้ แต่เกิดมียากล่อมเข้ามา พอได้ยากล่อมเข้า ทีนี้ก็ลืมแล้ว ไม่นึกถึงการที่จะต้องดิ้นรนขวนขวาย เลยติดอยู่กับยากล่อมนั่นเอง

เรื่องยากล่อมนี้สำคัญนะ บางสังคมมียากล่อมมากเหลือเกิน ยากล่อมที่จะทำให้คนเจอทุกข์ไม่ลุกขึ้นดิ้นนี่ มีหลายระดับ

ก) อย่างง่ายๆ ก็คือ สุรา ยาเสพติด การพนัน พวกนี้เป็นยากล่อมขั้นหยาบ มีพิษรุนแรงมาก พอไปเจอยากล่อมพวกนี้แล้ว ที่จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็ไม่เอาแล้ว ได้แต่เมาซม ติดเพลิน ครึ้มใจ หวังลมๆ แล้งๆ หลบทุกข์ หนีปัญหาไปชั่วคราว แล้วก็นอนอีก.. ก็เลยแย่ มีแต่ทรุดลงไป นอกจากนี้มีอะไรอีก

ข) ลัทธิคอยโชค ก็มาปลอบกันว่า ไม่เป็นไรหรอกน่า มันเสื่อมได้มันก็เจริญได้ พอเสื่อมๆ ไป เดี๋ยวมันก็เจริญเอง เดี๋ยวนี้พูดกันเยอะเหมือนกัน นี่เรียกว่าลัทธิแล้วแต่โชค ลัทธินี้ไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา

บอกแล้วว่าพุทธศาสนาถือหลักเหตุปัจจัย สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเสื่อมหรือเจริญ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ามนุษย์ต้องการผล มนุษย์ต้องเพียรพยายามทำเหตุให้ถูกต้อง แต่พอไปเจอลัทธิคอยโชค ก็คิดว่าแล้วแต่โชค เดี๋ยวมันก็ดีเอง ก็เลยติดยากล่อม เพลินอยู่กับความหวังที่เลื่อนลอย ปล่อยไปเรื่อยๆ บางทีมันก็ไม่ดีขึ้นมา บางทีมันก็ดีด้วยปัจจัยอื่นที่ตัวไม่ได้ศึกษา หรือบางทีเหตุปัจจัยร้ายมาซ้ำเติม จากวิกฤติก็เลยกลายเป็นวิบัติ

ยากล่อมมีเยอะ ยากล่อม ก็คือ อะไรก็ตามที่มาช่วยกล่อมใจให้เพลินๆ สบายไปได้ในเวลานั้นๆ แล้วก็เลยลืมทุกข์ลืมปัญหาและนอนใจ ลืมดูความเป็นจริง

ค) ยากล่อมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลัทธิรอคอยความช่วยเหลือ หรือหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลที่ว่ามาแล้วตั้งแต่ต้น สังคมอินเดียเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้าทุกอย่าง จนกระทั่งบูชายัญ หวังที่จะให้อำนาจยิ่งใหญ่ภายนอกมาดลบันดาล ช่วยเหลือ มัวแต่มองไปนอกตัว ไม่มองว่าตัวเราจะต้องทำอะไร คิดแต่รอให้ท่านช่วย ตัวเราก็ไม่ต้องทำอะไร มันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็อยู่ที่ท่าน มันขึ้นต่อท่าน ไม่ได้ขึ้นต่อเรา เราจะทำอะไรก็ไม่มีผล ก็ได้แต่นอนรอไป อย่างนี้ก็เป็นยากล่อมอีกอย่างหนึ่ง ยากล่อมนี้เมืองไทยมีเยอะ

ง) แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นสูง อย่างสมาธิและวิปัสสนา ถ้าผิดหลักเมื่อไร ก็อาจจะกลายเป็นยากล่อมได้ทั้งหมด อย่าไปนึกภูมิใจว่าเราปฏิบัติธรรมแล้วจะถูก โดยเฉพาะสมาธิสมัยนี้ใช้เป็นยากล่อมกันมาก คือว่า พอทำสมาธิได้ก็ใจสบาย หายทุกข์หายร้อน เคยกลุ้มใจมีความเครียดก็หาย ก็มีความสุขดี ทีนี้พอมีความทุกข์มาก็นั่งสมาธิแล้วก็สบาย

แม้แต่สมาธิที่ว่าดี เมื่อปุถุชนได้ ก็มักเอามาใช้เป็นยากล่อม

สำหรับเรื่องสมาธินี้ท่านก็ไม่ได้ถึงกับประณามเสียๆ หายๆ ก็ใช้ได้อยู่ เพราะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยคนเราจิตใจว้าวุ่น กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ทำอะไรไม่ได้ ก็มานั่งสมาธิ ใจจะได้รวม สงบลง จะได้พัก จะได้ตั้งมั่น ประโยชน์ที่ต้องการอยู่ที่ตรงนี้ แต่พร้อมกันนั้นเราจะได้กำลังด้วยนะ ไม่ใช่พักเฉยๆ

การพักด้วยสมาธินี้ทำให้เราได้กำลัง และทำให้เราพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป สิ่งที่ต้องการก็คือเอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าสมาธิเพียงเพื่อได้พัก ได้นอนหลับ มาเพลิน มาซม มาเสวยความสุข หรือหาความสุขอยู่กับสมาธิ จนติดจมอยู่ที่นั่น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะทำผิดพลาดกันเยอะ

อย่างในเมืองฝรั่งก็มีทางเขวได้มาก เพราะฝรั่งไม่เคยเจอสุขสงบอย่างนี้ เขาเจอแต่ความเครียด ความทุกข์ทางจิตใจ จนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก เมื่อไม่รู้หลักการที่เป็นพื้นฐานไว้ พอได้สมาธิ ก็เลยสบาย ได้ทางออก ก็เลยมาติดยากล่อมเสียอีก ดีไม่ดีสมาธิที่ใช้ผิดทางอย่างนี้จะพาให้สังคมฝรั่งเสื่อมไปด้วย

การปฏิบัติสมาธินี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชาวพุทธเองก็ต้องระวัง สมาธินั้นไม่ใช่เพื่อหยุด แต่เพื่อเดินหน้าต่อ อย่าลืมว่าสมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมหนึ่งในกระบวนปฏิบัติของไตรสิกขา ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า การปฏิบัติต้องดำเนินไปให้ครบไตรสิกขา ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ ถ้ายังไม่บรรลุจุดหมายอย่าเพิ่งหยุด

องค์ธรรมทุกอย่างในพระพุทธศาสนา อยู่ในกระบวนการ พัฒนามนุษย์ทั้งสิ้น ถ้าองค์ธรรมไหนมาทำให้มนุษย์หยุด คือไม่ส่งผลเป็นปัจจัยเอื้อในการเดินหน้าต่อไป ก็ต้องสงสัยว่ามีหวังผิดแล้ว อันนี้ขอย้ำว่า การปฏิบัติธรรมข้อใดก็ตาม แม้จะดีจะสุข ถ้าทำให้เราหยุด ก็ควรสงสัยว่าคงจะปฏิบัติผิด เพราะองค์ธรรมทุกอย่างนั้นมีไว้เพื่อเป็นองค์ประกอบในกระบวนการพัฒนามนุษย์ จึงจะต้องเป็นปัจจัยที่ส่งต่อให้ก้าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมาย

สมาธิมีเป้าหมายเพื่อให้เรามีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ ซึ่งจะเป็นจิตที่เป็น กัมมนีย์ แปลว่า ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน ประโยชน์แท้อยู่ที่นี่ คือเอาไปใช้ และการใช้ที่สำคัญก็คือใช้งานทางปัญญา โดยนำไปคิดพิจารณาแก้ปัญหา ค้นหาความจริง ตลอดจนมองดูสภาวธรรมให้เห็นชัด เพราะจิตที่เป็นสมาธินี้เป็นจิตที่ใส สงบ มั่นคง แน่วลงไป จะมองอะไรก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง จะคิดอะไรก็เป็นลำดับ ไม่มีอะไรมาวุ่น มารบกวน มาบัง มาขวาง มาแทรกแซง

รวมความว่า สมาธิก็เป็นองค์ธรรมในการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ถ้าไม่วางท่าทีให้ดีอาจจะทำให้เขว อาจจะทำให้หลง อาจจะทำให้ตกหลุมได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องย้ำกันไว้มิให้ลืมว่า สมาธิเป็นเพียงองค์ธรรมหนึ่งที่จะส่งผลต่อไปในกระบวนการของไตรสิกขาเท่านั้น ถ้าเมื่อไรไปหลงติดในความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น ก็จะกลายเป็นยากล่อม ซึ่งแปลว่าผิดทางแล้ว

ต่อเมื่อใดเราบรรลุผลสำเร็จ บรรลุความสมบูรณ์ของการพัฒนาตน เป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ จึงไม่ต้องใช้สมาธิในแง่สิกขา แต่เพราะจบสิกขาแล้ว ท่านจึงใช้เวลาให้ผ่านไปด้วยการเผยแผ่ธรรม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เวลาเหนื่อยขึ้นมาท่านก็นั่งสมาธิพักผ่อน เรียกว่า “ทิฏฐธรรมสุขวิหาร” พวกเราก็เหมือนกัน ใช้สมาธิพักผ่อนได้ แต่พักแล้วอย่าไปติดเอาสมาธิเป็นยากล่อมก็แล้วกัน ย้ำว่าเอาสมาธิเป็นที่พักได้ แต่อย่าให้ติดเป็นยากล่อม

มาตรวัดระดับการพัฒนาของคน ที่ดูได้ไม่ยาก

เมื่อคนเจอทุกข์กำลังลุกขึ้นดิ้น พอติดยากล่อมก็หยุด เพลิน ลืมทุกข์ไป เลยหมดแรงดิ้น นี่แหละจึงกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าปุถุชนสามัญ เพราะว่าปุถุชนสามัญนั้นเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ต่อเมื่อสุขสบายจึงลงนอนเสวยสุข แต่คนที่ติดยากล่อมนี้ต่ำกว่าระดับปุถุชนสามัญไปอีก เพราะเจอทุกข์ก็ไม่ดิ้น ได้ยากล่อมแล้วก็สบาย เพลิน ซึมเซื่อง ซบเซา ก็เพลินอยู่กับยากล่อมนั้นแหละ ไม่ไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่แก้ปัญหา ตกอยู่ในความประมาท กลายเป็นคนที่นอนเสวยสุขตั้งแต่ยังเป็นทุกข์อยู่ด้วยซ้ำ

พุทธศาสนาย้ำเรื่องนี้ คือ หลักความไม่ประมาท ท่านเตือนว่า แม้แต่เป็นอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี จนถึงพระอนาคามี ตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่านอนใจ อาจจะประมาทได้ตลอดเวลา มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่ประมาทได้อย่างแท้จริง เพราะคนเรานี้ เวลามีความสุข อย่างหนึ่ง ยามประสบความสำเร็จ อย่างหนึ่ง หรือคราวที่เกิดความรู้สึกภูมิใจว่าเรานี้ดีแล้ว อย่างหนึ่ง สามตัวนี้มักล่อให้หย่อน หรือไม่ก็หยุดเลย พูดสั้นๆ ว่า ตกหลุมความประมาท

เมื่อประสบความสำเร็จหรือมีความสุขแล้วประมาทนั้นเห็นได้ชัด แต่คนที่มีความดี ถ้าเกิดความภูมิใจก็ต้องระวัง อย่างพระโสดาบัน ภูมิใจว่าเราได้บำเพ็ญความดีสำเร็จมาถึงแค่นี้ พอเกิดความพอใจอย่างนี้ ก็ชักจะเฉื่อย ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระอริยบุคคลที่เป็นอย่างนี้ว่า เธอเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท ฉะนั้นอย่าได้นอนใจ ชาวพุทธต้องเดินหน้าเสมอ

ตามที่พูดมาในที่นี้ เราสามารถแบ่งมนุษย์ได้เป็น ๔ ระดับ โดยวัดจากมาตรฐานปุถุชน คือ

๑. มนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปุถุชนสามัญ คือพวกที่เจอทุกข์ ก็ไม่ดิ้น ถูกภัยคุกคามก็ไม่ตื่นตัว ได้แต่ท้อแท้ ระทดระทวย จับเจ่า หรือไม่ก็นอนเฉื่อย เพราะติดยากล่อม เพลินไปเรื่อยๆ ส่วนในเวลาที่สุขสบายไม่ต้องพูดถึง ก็ยิ่งเพลิดเพลินหมกมุ่นมัวเมา เรียกว่า ทุกข์ก็ไม่ดิ้น สุขก็นอนซึม หรือทุกข์ก็ซม สุขก็ซึม

๒. มนุษย์ปุถุชนสามัญ คือพวกที่ว่าถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอสบายก็ลงนอนเสวยสุขเฉื่อยลงไป

๓. มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว คือพวกที่ว่าเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่แม้จะสุขสบายแล้วก็ยังเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ไม่หยุด พวกนี้นับว่าเข้าสู่ทางของอารยชนแล้ว

๔. มนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด คือยามทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคาม ก็ไม่พลอยทุกข์ จิตใจยังปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ แล้วก็ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป หมายความว่า ในด้านการกระทำ ก็มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์ และในด้านจิตใจ ก็มีความสุข ไม่ถูกทุกข์ครอบงำด้วย และแม้จะสุขแล้วก็ยังขวนขวายสร้างสรรค์ต่อไป

คนเราที่พัฒนาแล้วโดยมากก็ยังได้แค่ขั้นที่ ๓ คือถูกทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคามก็ขวนขวายจริง แต่จิตใจไม่สบาย กระวนกระวาย ทุรนทุราย แม้ว่าจะไม่ประมาทก็จริง แต่ยังมีความเดือดร้อนใจ มีความเครียดในใจ ดังจะเห็นกันมากในปัจจุบันนี้ว่า ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรจำนวนมากมีความทุกข์ในใจด้วย เป็นคนขยันจริง แต่เร่าร้อน เครียด ซึ่งแสดงว่า ยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด

ฉะนั้น คนในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่จิตใจมีความเครียดมีความทุกข์นั้น จะต้องได้รับการแก้ไขให้พัฒนาต่อไปอีก ให้เป็นคนชนิดที่ว่า ทั้งๆ ที่ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จิตใจก็ยังดีงามสุขสบายปลอดโปร่ง พร้อมกันนั้นก็เพียรพยายามสร้างสรรค์ต่อไป แม้ถึงยามสุขสบายก็ไม่หยุดหรือผัดเพี้ยน

จะต้องระลึกไว้ว่า คนที่พัฒนาแล้วนั้น เขาจะเป็นอยู่หรือทำการอะไร ก็ไม่ได้ขึ้นต่อความสุขความทุกข์ แต่เขาขึ้นต่อปัญญา ปัญญาเป็นตัวรู้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ และสติก็คอยบอกหรือคอยเตือน ให้เว้นสิ่งที่ควรเว้น และให้ทำสิ่งที่ควรทำตามที่รู้ด้วยปัญญานั้น นี่แหละเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยระดับการพัฒนาของคน

สำรวจคนไทย ว่ามีศักยภาพที่จะเผชิญวิกฤติแค่ไหน

หันมาดูสังคมของเรา สังคมไทยเวลานี้ได้ประสบภาวะที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ ถึงขั้นเป็นวิกฤติการณ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ควรจะนำหลักการของพระพุทธศาสนามาใช้ได้เต็มที่ แต่เวลานี้เราเป็นอย่างไร ลองสำรวจตัวเราแต่ละคน และสำรวจสังคมไทยว่าได้ปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่ามานี้แค่ไหนเพียงไร

เวลานี้เราถูกทุกข์บีบคั้น ถูกภัยคุกคามแล้ว เราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย มีความขยันหมั่นเพียรที่จะสร้างสรรค์หรือเปล่า หรือว่าเราไปติดยากล่อม ติดสุรา ยาเสพติด การพนัน นี้พวกที่หนึ่งเห็นง่าย หรือเลยจากนั้นอีกพวกหนึ่งก็ไปติดลัทธิอ้อนวอน ลัทธินอนคอยโชค ลัทธิหวังผลดลบันดาล จนกระทั่งติดสมาธิเป็นยากล่อม ถ้าติดก็ต้องรีบลุกขึ้นมาแก้ไขกัน

ที่จริง เรื่องติดยากล่อมนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยมานานแล้ว ไม่ใช่มีเฉพาะเวลานี้ แต่เวลานี้เป็นตอนสำคัญที่เราจะต้องรีบแก้ไข ถ้าไม่แก้ตอนนี้สังคมจะเลวร้ายหนักลงไปอีก เพราะวิกฤติจะกลายเป็นวิบัติ แต่ถ้าแก้เสียตอนนี้ วิกฤติก็มีทางที่จะกลายเป็นวิวัฒน์ คนที่ฉลาดต้องเอาวิกฤติเป็นวิวัฒน์ให้ได้ เพราะวิกฤติเป็นช่วงต่อระหว่างวิบัติกับวิวัฒน์ หมายความว่า ถ้าทำดี ทำถูก วิกฤติก็จะกลายเป็นวิวัฒน์ แต่ถ้าทำไม่ดี ทำไม่ถูก ก็จะกลายเป็นวิบัติไปเลย

ตอนนี้สังคมไทยมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ยามมีทุกข์นี้ ถ้าเราลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็จะเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาคน ยิ่งถ้ามองสังคมในวงกว้าง ก็เป็นโอกาสดีเลิศที่จะพัฒนามนุษย์ เพราะคนเราเรียนรู้ได้มากจากปัญหา ได้ศึกษาจากความทุกข์

ขอให้สำรวจดูเถิด คนที่จะพัฒนาจากการมีความสุขหาได้ยาก ในประวัติบุคคลสำคัญ และประวัติศาสตร์ของชาติที่เจริญทั้งหลาย จะเห็นแต่มนุษย์ที่พัฒนาจากการแก้ปัญหา และเข้มแข็งขึ้นมาจากการเผชิญทุกข์ทั้งนั้น ส่วนคนหรือชาติประเทศที่สบายมีความสุขแล้ว ไม่มีอะไรจะให้สู้ หรือคิดแก้ไข ก็เลยไม่มีอะไรจะให้ใช้ความคิด ทำให้โน้มไปในทางที่จะหลงเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้นคนที่มีความสุขแล้วนี้ ถ้าไม่มีคนสอนที่ดี หรือไม่มีกัลยาณมิตร และตัวเองก็ไม่รู้จักคิด ไม่หาแบบฝึกหัดมาทำ จึงเจริญยากที่สุด

คนที่มีความทุกข์นั่นแหละ ทุกข์มันจะสอน คือมันทำให้เราต้องดิ้นรนหาทางออก คิดแก้ไข ใช้กำลัง ใช้ฝีมือ เรียกว่าได้ใช้ทั้งสมองและมือเต็มที่ รวมทั้งเท้าก็ต้องเคลื่อนไหวไม่ได้หยุด จึงได้ฝึกตัวเองตลอดเวลา เป็นอันว่า คนเราเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการพยายามแก้ปัญหา ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเราพยายามแก้ไขปัญหา เราก็ได้พัฒนาปัญญา เพราะเราต้องคิด พอเราคิดหาทางแก้ไขปัญหา ปัญญาก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมา ยิ่งถ้าเป็นคนรู้จักคิด หรือคิดเป็น ก็ยิ่งก้าวไปไกล

ถ้าไม่มีปัญหาให้คิด แล้วปัญญาจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่มีโจทย์เลขแล้วเราจะคิดเลขเก่งได้อย่างไร ถ้าไม่ทำแบบฝึกหัด จะเกิดความชำนาญได้อย่างไร

ฉะนั้นคนที่เกิดมากับความสุข ถ้าไม่ระวังตัวให้ดี มัวประมาทอยู่ก็เสียเปรียบมาก ส่วนคนที่เกิดมาเจอความทุกข์ เมื่อวางใจถูกก็ได้เปรียบในแง่ที่จะพัฒนาตนเอง อันนี้เป็นคติสำคัญที่จะต้องเอาไว้สอนลูกหลาน

ขอให้จำไว้ว่า ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ที่ไม่มีแบบฝึกหัด ย่อมยากที่จะพัฒนา เพราะฉะนั้น คนใดสังคมใด ได้เจอทุกข์ภัยและความยากลำบากมามาก เป็นผู้ที่ทำแบบฝึกหัดมาแล้ว ก็จะเก่งกล้าสามารถและประสบความสำเร็จ ชีวิตใดสังคมใดอยู่สุขสบายก็ต้องไม่ประมาท ให้รีบหาแบบฝึกหัดมาทำ

เริ่มแต่ในครอบครัว ก็ต้องดูพ่อแม่ว่าช่วยให้ลูกพัฒนาหรือไม่

อย่างคนที่ประสบความสำเร็จมาเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นหัวหน้าครอบครัวในปัจจุบันนี้ หลายท่าน ในอดีตยากจนข้นแค้น ตอนเป็นเด็กลำบากมาก บางวันมีรับประทาน บางวันไม่มี ต้องช่วยพ่อแม่หาเงิน ขยันอดทนดิ้นรนขวนขวาย จนกระทั่งประสบความสำเร็จ ครอบครัวเป็นปึกแผ่น ร่ำรวย

พอร่ำรวยแล้วก็คิดว่า เราลำบากมานักหนาแล้ว ถึงลูกเราก็ขอให้เขาสบายให้เต็มที่ คิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยบำรุงบำเรอลูกใหญ่ บางทีก็เลยกลายเป็นเสียไป เพราะอย่างที่บอกแล้วว่า สุขไม่ช่วยให้คนได้เรียนรู้ แต่คนเราเรียนรู้จากการแก้ปัญหา ฝึกหัดพัฒนาตนจากการเผชิญความทุกข์ยากลำบาก

คนที่เกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อมสุขสบาย จึงเสียเปรียบหลายอย่าง เริ่มแต่ไม่มีเครื่องทดสอบ ไม่มีแบบฝึกหัด ไม่ได้ทั้งความเข้มแข็งในการดิ้นรนต่อสู้ ไม่ได้ทั้งทักษะจากการฝึกพฤติกรรม และไม่ได้ทั้งปัญญาในการคิดแก้ปัญหา ขอย้ำว่าสองอย่างนี้สำคัญยิ่งนัก คือ

๑. ความเข้มแข็ง ความหนักแน่นมั่นคง ที่จะทำการทั้งหลายให้สำเร็จด้วยความพากเพียรขยันอดทน

๒. ความรู้คิดรู้พิจารณาใช้ปัญญาแก้ปัญหา ทำการสร้างสรรค์ พัฒนาตนให้เจริญงอกงามมีความสามารถยิ่งขึ้นไป

คนที่เกิดมากับความสุขนั้น สองอย่างนี้ได้ยากเหลือเกิน คือที่จะได้ความเข้มแข็งทนทาน และได้ปัญญาแก้ปัญหานี้ยาก ฉะนั้น พ่อแม่ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดี คือเป็นคนที่ระวังไม่ให้ลูกตกอยู่ในความประมาท รู้จักหาแบบฝึกหัดให้ลูกทำ

ถามว่า ถ้าเป็นอย่างที่ว่านั้น พ่อแม่หลายรายที่เคยทุกข์มาแล้ว พอประสบความสำเร็จสุขสบายก็คงต้องประมาท แต่บางคนก็ยังไม่เห็นประมาท ก็ยังขยันขันแข็งต่อไป ทำไมเป็นอย่างนั้น

คำถามนี้ตอบไม่ยาก เพราะว่าพ่อแม่เหล่านั้นดิ้นรนขวนขวายมานานจนเป็นนิสัย เคยชินอย่างนั้นแล้ว แม้จะมีความสุขสบายขึ้นมา ความเคยชินเก่าก็ทำให้ขยันต่อไป แกอยู่นิ่งไม่ได้

แต่ก็จะเห็นได้ว่าหลายคนหนีไม่พ้น บางคนเคยทุกข์มามาก แต่ต่อมาพอประสบความสำเร็จ มีความสุข ก็หันไปมัวเมาประมาท มีให้เห็นถมไป แต่หลายคนก็อย่างที่ว่าแล้ว ยังเคยชินกับนิสัยเก่า เรียกว่ามีบุญเก่าที่สะสมไว้ จึงอยู่ได้ แต่ลูกไม่มีบุญเก่าสะสมไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงต้องถ่ายทอดบุญนี้ให้

อย่าถ่ายทอดให้ลูกแต่ทรัพย์ภายนอก ควรสนใจถ่ายทอดทรัพย์ภายในของตัวเองนี้แหละให้ลูก ทรัพย์ที่ประเสริฐของเราก็คือนิสัยแห่งความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความเพียรพยายามขยันอดทน ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา การสู้ทุกข์สู้อุปสรรค ที่เราสร้างขึ้นมาในตัวนี้แหละ นี่คือทรัพย์อันประเสริฐ เรียกว่าอริยทรัพย์จากภายในตัวเราแท้ๆ ที่ควรให้แก่ลูก

ลูกได้เงินทองภายนอกเท่าไร ก็ไม่เท่าได้อริยทรัพย์ภายในนี้ พ่อแม่ควรจะถ่ายทอดทรัพย์นี้ให้ได้

อย่าไปมัวแต่นึกให้ลูกมีความสุข ไม่ทุกข์อย่างเรา ไม่จำเป็นต้องให้เขาทุกข์อย่างเราหรอก แต่ขอให้ถ่ายทอดอริยทรัพย์ให้เขาด้วย คือคุณสมบัติของตัวเอง ที่ได้มาระหว่างที่เพียรพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวนั้นแหละ

วิกฤติที่แท้ของสังคมไทย ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจ

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องในระดับชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เรื่องของสังคมก็เหมือนกัน ในสังคมที่มีความสุขสบาย คนทั้งหลายย่อมมีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ง่าย เห็นแก่ความสะดวกสบาย ลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาฟุ้งเฟ้อสำเริงสำรวย และพร้อมกันนั้นก็จะอ่อนแอใจเสาะเปราะบาง เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว เวลาเจอทุกข์ก็มักสู้ไม่ไหว เพราะเคยชินกับความเห็นแก่ง่ายสะดวกสบาย พอเจอทุกข์ก็ท้อ ฉะนั้นจึงต้องปลุกใจกันขึ้นมา

ยามวิกฤตินี้เป็นตอนที่สำคัญ และความสำคัญนั้นก็อยู่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ทุกข์นี้สอนคน วิกฤติที่พูดกันว่าเป็นโอกาส นั้น

๑. ต้องใช้โอกาสนั้น ไม่ใช่เป็นโอกาสแต่ก็ทิ้งโอกาสเสียเปล่า

๒. โอกาสที่สำคัญที่สุดก็คือ ใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวคน

วิกฤติการณ์ของสังคมไทย ที่เจอกันมานี้ ที่ว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่สำคัญเท่าไรหรอก ยังไม่ใช่วิกฤติที่แท้ วิกฤติที่แท้ของสังคมไทยซ่อนตัวอยู่ลึกกว่านั้น และเรากำลังประสบวิกฤตินี้ ประเทศชาติไทยจะไปดีหรือไปร้ายก็ตอนนี้

การสูญเสียเงินทอง หรือสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้นไม่เท่าไรหรอก แต่ถ้าสูญเสียความเป็นมนุษย์นี่สิ ร้ายที่สุด คือการสูญเสียคุณภาพของคน ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ในความหมายแคบๆ ของลัทธิเศรษฐกิจแห่งยุคนี้ ก็ว่าสูญเสียทรัพยากรมนุษย์

เราสูญเสียไปอย่างหนึ่งแล้ว คือสูญเสียทางเศรษฐกิจ อย่าให้สูญเสียซ้ำสอง คือสูญเสียคุณภาพมนุษย์ด้วย

เวลานี้ เราอยู่ในภาวะที่เสี่ยงมาก ถ้าบริหารบ้านเมืองไม่ดี เราจะสูญเสียอย่างที่สอง คือ จะสูญเสียคุณภาพของมนุษย์ด้วย ถ้าสูญเสียคุณภาพของมนุษย์ก็คือสูญเสียคน ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่าการสูญเสียเงินทองทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น วิกฤติที่แท้จริงของสังคมที่ไทยอยู่ตรงนี้ คือ วิกฤติคุณภาพคน ที่เป็นตัวตัดสินว่าเราจะไปรอดหรือไม่

แม้แต่จะแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ตรงนี้ คืออยู่ที่ว่าจะแก้วิกฤติในเรื่องคุณภาพคน ด้วยการพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ ถ้าเราใช้โอกาสนี้ไม่เป็น ก็จะสูญเสียซ้ำสอง เสียเศรษฐกิจ เสียเงินเสียทองแล้วไม่พอ จะเสียคนไปด้วย

ตอนนี้ถ้าไม่ระวังตั้งตัวให้ดี คนไทยจะไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย ดีไม่ดีก็จะไปจมกันอยู่อย่างที่ว่าแล้ว คือ ติดยากล่อม

มัวลุ่มหลงสุรา ยาบ้า การพนันบ้าง

ติดลัทธิรอโชคช่วย ลัทธิรอความช่วยเหลือจากภายนอก รออำนาจดลบันดาลบ้าง

อันนี้แหละคือการสูญเสียคุณภาพคน ซึ่งก็คือเสียคน ถ้าเราเสียคนอย่างนี้แล้วเราจะไม่ฟื้นเลย เพราะจะไม่มีกำลังที่จะมาพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมา ก็จะเป็นเศรษฐกิจแบบที่ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน เป็นของบังเอิญตามกระแส เป็นเศรษฐกิจหลอกๆ บวมโป่งข้างนอก แต่กลวงข้างใน

อย่าลืมว่าตอนที่ผ่านมานี้ เราบอกว่าที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจก็เพราะเรามีเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ แล้วตอนนี้ฟองสบู่มันแตก เศรษฐกิจฟองสบู่ก็คือเศรษฐกิจที่ไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีแก่นสาร มองเห็นแต่เปลือกนอกโป่งใหญ่ขึ้นมา เป็นเศรษฐกิจแบบลูกโป่ง การที่มันแตกตอนนี้ก็ดีแล้ว เพราะลูกโป่งยังเล็กอยู่ ถ้าลูกโป่งใหญ่ขึ้นไปแล้วแตกจะเป็นอันตรายมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นแตกเสียดีแล้ว ภัยอันตรายยังน้อยหน่อย

ขอย้ำว่า ตอนนี้อย่าให้เสียซ้ำอย่างที่สองคือ คุณภาพมนุษย์ ถ้าเราฟื้นมนุษย์ไม่ขึ้น ดีไม่ดีเราจะไปเพลินกับเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง คือ เศรษฐกิจแบบยากล่อม และเศรษฐกิจแบบรวยทางลัด ซึ่งจะไม่ได้อะไรขึ้นมา เพราะเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจฟองสบู่ การที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกไปนี้ น่าจะเป็นคติสอนใจเราให้มาสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนกันเสียที อย่าไปหลงกับเศรษฐกิจแบบวูบวาบ ซึ่งไม่มีแก่นสาร

เศรษฐกิจแบบที่ว่า คือ เศรษฐกิจทางลัด เศรษฐกิจรวยไว เศรษฐกิจมักง่าย เศรษฐกิจยากล่อม เศรษฐกิจมอมเมา เศรษฐกิจแบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะไม่มีแก่นสารอยู่ในตัวคน คือความสามารถในการผลิต และความเข้มแข็งพากเพียรในการสร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ว่าไม่เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากความเพียรสร้างสรรค์ และความสามารถในการผลิต เพราะคนขาดคุณภาพ ไม่เป็นนักผลิต ไม่เป็นนักสร้างสรรค์

ที่ว่าวิกฤติเป็นโอกาส คือใช้เป็นสื่อพัฒนาความสามารถในตัวคน

ประเทศที่จะเจริญทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง พลเมืองจะต้องมีความสามารถในการผลิตหรือในการสร้างสรรค์ จึงจะสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนได้

เศรษฐกิจที่มั่นคงมีแก่นนั้น ต้องมีฐานนี้อยู่ในตัวคน คือความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์

อย่างสังคมอเมริกันที่พูดกันนักหนาถึงความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะใช้คำไหนก็ตาม ก็คือ ต้องมีความสามารถอยู่ในตัวคน ถ้ามิฉะนั้นก็จะเป็นเศรษฐกิจวูบวาบแบบยืมเขามา หรือเป็นเศรษฐกิจหลอกตา ที่ไม่ยั่งยืนไม่มั่นคง แล้วก็จะล่อให้เพลิดเพลินสบาย และตายใจ แล้วก็ตกอยู่ในความประมาท ยิ่งซ้ำเติมตัวเองหนักลงไป

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เวลานี้ประเทศไทยมีวิกฤติที่สำคัญยิ่งกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤติที่แท้คือ วิกฤติคุณภาพคน หรือวิกฤติในการพัฒนามนุษย์ อย่าให้การสูญเสียทางเศรษฐกิจนั้น มาซ้อนด้วยการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปอีก เดี๋ยวจะไม่มีทุนที่จะไปฟื้นเศรษฐกิจนั้นขึ้นมา แต่ถ้าเราตั้งหลักให้ดี เราเอาโอกาสนี้มาใช้ในการพัฒนาคน เราก็จะได้และจะเป็นการได้ที่เป็นแก่นสาร ที่ยั่งยืนดีกว่า

เพราะฉะนั้น จึงต้องมาย้ำเรื่องนี้ คือการที่จะกู้คุณภาพคนขึ้นมา ขอให้มองย้อนดูว่า การที่เราสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงขั้นวิกฤติครั้งนี้ อาจจะเป็นได้ว่า เราได้เสียคุณภาพคนไปก่อนแล้วด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่?

เพราะเราสูญเสียคุณภาพคนนี้ไปแล้วเราจึงมาเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนี้เราจึงจะต้องกู้คนขึ้นมา แล้วคนนี่แหละจะมากู้เศรษฐกิจได้ แล้วจะเป็นเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง คนที่มีคุณภาพ หรือจะใช้ศัพท์ทางเศรษฐกิจสมัยนี้ว่า ทรัพยากรมนุษย์ที่ดีมีคุณภาพนี่แหละ ที่เราจะต้องสร้างขึ้นมา

มนุษย์ที่มีคุณภาพนั้น ถ้าใช้คำสั้นๆ ก็คือมนุษย์ที่มีธรรมนั่นเอง เช่นมีความเพียรสร้างสรรค์ มีความเข้มแข็งไม่พรั่นต่อทุกข์ภัย มีความไม่ประมาท เป็นคนใช้ปัญญาพัฒนาสร้างสรรค์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นยามสุขสบาย ก็ยังใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ต่อไป ถ้าได้อย่างนี้ละก็ เราไม่กลัววิกฤติใดๆ เลย

เป็นอันว่า สิ่งสำคัญตอนนี้ก็คือ ต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ เริ่มด้วยเสียหนึ่งแล้ว อย่าเสียซ้ำสอง ถึงจะเสียด้านวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว แต่ถ้าเราพัฒนาคนได้ ไม่ต้องเสียใจ เพราะเราได้คุ้ม เราได้สิ่งที่ประเสริฐกว่า เหมือนคนที่ตกทุกข์ได้ยากแล้ว กลับสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ จะเป็นคนที่เข้มแข็ง มีสติปัญญาความสามารถที่เป็นฐานอันมั่นคงของเศรษฐกิจนั้นสืบไปอย่างยืนยาว

ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าก็อยู่ที่การใช้โอกาสตอนนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะพัฒนามนุษย์ได้สำเร็จหรือไม่ มาพัฒนาคนให้เข้มแข็ง ไม่หวั่นต่อทุกข์ภัย เป็นคนที่รู้จักใช้ปัญญา และมีความเพียรสร้างสรรค์กันเถิด ถ้าทำได้อย่างนี้ นี่แหละคือวิกฤติเป็นโอกาสอย่างแท้จริง

วิกฤติเป็นโอกาสที่แท้อยู่ที่นี่ คือทำอย่างไรเราจะใช้สถานการณ์แห่งทุกข์ภัยนี้สร้างคุณภาพคนขึ้นมาได้

เราจะต้องสร้างทุนมนุษย์ คือพัฒนาคุณภาพของคนไทยขึ้นมาให้ได้ อย่าไปหลงใหลกับเศรษฐกิจวูบวาบที่ล่อตาล่อใจ ให้อยากได้อยากเอา ถ้ามันไม่มีเนื้อหาแก่นสาร ไม่ช่วยให้มนุษย์พัฒนา แต่กลับทำให้มนุษย์มัวเมาอ่อนแอ เราอย่าไปเอาเลย

อย่าเอาเลย เศรษฐกิจมักง่าย ไส้กลวง ที่ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีเกียรติ

เราต้องเข้มแข็งที่จะปฏิเสธเศรษฐกิจประเภทที่ไร้แก่นสาร ไม่เห็นแก่การได้เงินได้ทอง ที่มีลักษณะต่อไปนี้ คือ

๑. เศรษฐกิจที่ทำลายโอกาสในการพัฒนามนุษย์ ทำให้เสียคุณภาพคนลงไป

๒. เศรษฐกิจที่ซ้ำเติมลักษณะนิสัยไม่ดีที่มีอยู่ในพวกเราจำนวนไม่น้อย คือ การที่เคยสุขสบายแล้วเห็นแก่ง่าย เห็นแก่สะดวก เป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้งานยาก อย่าซ้ำเติมคนไทยด้วยเศรษฐกิจชนิดที่ได้เงินทองมาง่ายๆ ซึ่งยิ่งจะทำให้คนไทยไม่พัฒนาตัวเอง แล้วยิ่งเห็นแก่ง่าย เอาแต่สะดวกสบาย กลายเป็นทาสของสังคมอื่นเขาในระยะยาวหนักลงไปอีก

๓. เศรษฐกิจที่ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เศรษฐกิจใดเราสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความเพียรพยายามบากบั่น ใช้กำลังสติปัญญาของตนเอง ด้วยความสามารถในการผลิต อันนั้นคือเศรษฐกิจมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เราควรจะภูมิใจ แต่เศรษฐกิจใดที่ได้มาอย่างคนที่หมดหนทาง ต้องไปขายเนื้อขายตัว หรือไปหลอกล่อมอมเมาเพื่อนมนุษย์ อันนั้นเป็นเศรษฐกิจที่ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ สังคมไทยเราจะเอาหรือเศรษฐกิจแบบนั้น? ถ้ามองเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ก็เหมือนกับเสียศักดิ์ศรี คุณไม่มีทางอื่นแล้วหรือ จึงต้องทำแบบนี้

จริงอยู่ เศรษฐกิจหาเงินหาทองแบบนี้ บางประเทศเขาอาจจะทำบ้าง แต่เขาทำเป็นเครื่องเล่น อย่างสังคมอเมริกันนี้ โดยส่วนใหญ่ก็คือเขามีความภูมิใจในความเพียรสร้างสรรค์ เช่น ที่เขาคุยอยู่ตลอดเวลาว่าเขามีความภูมิใจในสังคมของเขา ที่สร้างสรรค์อุตสาหกรรมขึ้นมาด้วย จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic)

ความเพียรสร้างสรรค์อันนี้สิ ที่อเมริกันเขาภูมิใจ ผลสำเร็จที่แท้ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศของเขาอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเครื่องเล่น ไว้ล่อเด็กๆ อย่างเช่น ลาสเวกัส หรือแอตแลนติกซิตี้ เป็นต้น

อันนั้นเขาไม่ได้มีไว้สำหรับสร้างสรรค์ประเทศของเขา แต่มีไว้กันคนอื่นไม่ให้พัฒนาความสามารถที่จะเจริญอย่างเขา เพราะฉะนั้น คนไทยเราจะต้องมีความระมัดระวังไม่ประมาทตลอดเวลา อย่าไปเอาเลย เศรษฐกิจมักง่ายไส้กลวง อย่างเช่นเศรษฐกิจรวยทางลัด เรามาพัฒนาคนให้เป็นฐานของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมั่นคงกันดีกว่า

เพราะฉะนั้น จึงขอย้ำว่า เวลานี้สังคมไทยอยู่ในภาวะวิกฤติที่สำคัญที่สุด ซึ่งสำคัญกว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจ คือ วิกฤติคุณภาพคน ที่เป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์ ตัววิกฤติก็อยู่ตรงที่ว่าเราจะตื่นขึ้นมาและเร่งใช้โอกาสนี้ในการสร้างสรรค์มนุษย์ที่มีคุณภาพ ไว้เป็นทุนในการพัฒนาประเทศชาติระยะยาวหรือไม่

ตอนนี้จะต้องมาช่วยกันกระตุ้นเตือนและปลุกใจ เพราะคนไทยนี้จะให้ได้อย่างที่พูดไปแล้วแสนยาก เนื่องจากคนไทยจำนวนมากก็อย่างที่ว่าไปแล้ว เคยแต่สุขสบาย พอเจอทุกข์เข้า ก็ได้แต่ท้อแท้ จับเจ่า คร่ำครวญ ระทมทุกข์มาก หรือไม่ก็ไปติดยากล่อม มัวแต่เพลิน ครึ้มใจกันอยู่

คนที่ทุกข์นั้น ในด้านหนึ่ง เราอย่าปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว ในสังคมอย่างนี้ใครมีหน้าที่รับผิดชอบก็มาช่วยกันหน่อย มาช่วยกันปลุกใจ ปลอบใจ และให้กำลังใจ บางครั้งเขาจะหาเครื่องปลอบใจบ้าง เราก็รู้ทัน ผ่อนๆ สายป่านให้บ้าง แต่คอยระวังนะ อย่าให้เขาไปติดยากล่อมเป็นอันขาด สิ่งที่เอามาปลอบใจหรือแม้แต่กล่อมใจนั้นเอาพอให้พักใจ หายเดือดร้อนสับสนว้าวุ่นกระวนกระวายไปได้บ้าง โดยที่ตัวเราเองรู้อยู่ คอยคุมไว้อย่าให้เขาไปติดยากล่อม

ข้อนี้ต้องย้ำเด็ดขาดว่าไม่ให้ติดยากล่อม เสร็จแล้วก็ปลุกใจขึ้นมา ให้เขาขยันหมั่นเพียร ให้รวมกำลังรวมแรงมาสู้ ร่วมใจกันเผชิญทุกข์เผชิญปัญหา พากันเดินหน้าต่อไป สังคมจะพัฒนาได้อย่างแน่นอน

เอาทุกข์เป็นฐานสู่ความก้าวหน้า เอาปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา

ขอย้ำเรื่องการสร้างสรรค์คุณสมบัติในตัวคนไทยนี้ เวลานี้ที่ว่าเป็นโอกาสก็อยู่ที่นี่เอง เพราะเป็นยามดีที่สุด ถ้าใจเราตั้งรับมัน

ชีวิต ครอบครัว วงศ์ตระกูล สังคม ตลอดจนอารยธรรมที่เจริญมา มักเริ่มต้นจากการมีทุกข์ มีปัญหา ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ลองดูประเทศปัจจุบันที่เข้มแข็งนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นประเทศที่ไม่ติดยากล่อม ก็จะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น คือมีพลเมืองที่ขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง สู้ เดินหน้า โดยมีภูมิหลังจากการต่อสู้ ดิ้นรน ขวนขวาย ถูกบีบคั้น มีภัยคุกคาม เจอทุกข์มาก่อนทั้งนั้น

บางประเทศแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังทุกข์เต็มที่ แม้ว่าแสนจะแห้งแล้ง เขาก็พยายามแก้ไข เช่นทำอย่างไรจะให้ทะเลทรายกลายเป็นป่า มีบางคนพูดว่า คนอิสราเอลกับคนไทยนี้มีความสามารถคนละอย่าง เป็นการพูดให้ขำขัน เขาบอกว่า คนอิสราเอลมีความสามารถที่จะทำทะเลทรายให้เป็นป่า แต่คนไทยมีความสามารถที่จะทำป่าให้เป็นทะเลทราย ก็เป็นความสามารถคนละอย่าง แต่อย่างไหนจะสร้างสรรค์กว่ากัน

ประเทศอิสราเอลนั้นทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคามเหลือเกิน ไหนจะธรรมชาติแห้งแล้ง แผ่นดินเป็นทะเลทราย ไม่มีน้ำ ไม่มีต้นไม้และพืชพันธุ์ ไหนถูกประเทศอาหรับเพื่อนบ้านคอยจ้องจะตีอยู่ทุกวัน เราก็เห็นอยู่ชัดๆ ส่วนคนไทยเรานี้แสนจะสุขสบาย ซึ่งก็เป็นข้อดีแล้ว แต่ทำอย่างไรคนไทยเราจะได้ประโยชน์จากข้อดีหรือข้อได้เปรียบนั้น และรู้จักใช้หลักพระพุทธศาสนา คือคติที่ว่า คนที่พัฒนาแล้วแม้สุขสบายก็ยังไม่ประมาท ยังขวนขวายเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ถ้าคนไทยทำได้อย่างนี้ เราจะได้สองเท่าทวีคูณ

จะต้องตระหนักว่า ความไม่ประมาทนี้แหละคือมาตรฐานวัดการพัฒนาของมนุษยชาติ ไทยเรามีโอกาสดีแล้วที่น่าจะได้ประโยชน์ เราไม่ได้อยู่ในภาวะที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามต้องดิ้นรนขวนขวาย เพราะสังคมของเราโดยพื้นเดิม อยู่กันสุขสบาย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ทำอย่างไรเราจะไม่ประมาทด้วย ขอให้ได้อันนี้

ถึงตอนนี้เราเจอแล้วนะ ทุกข์ที่บีบคั้น ภัยที่คุกคาม ก็ขอให้ได้ประโยชน์จากทุกข์ภัยนั้น คือ เอาทุกข์มาเป็นแบบฝึกหัดพัฒนาตน และเอาปัญหามาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา อย่างที่เคยพูดบ่อยๆ ว่า คนฉลาดเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา คนที่ปัญญางอกงามขึ้นมาได้ ก็พัฒนามาจากการคิดแก้ปัญหาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ปัญหานี้แหละเป็นทางมาของปัญญา และทุกข์ก็สามารถผันให้เป็นฐานของความเจริญก้าวหน้า ปัญหานั้นเปลี่ยนพยัญชนะตัวเดียวก็กลายเป็นปัญญา

คนไทยจะต้องมีความสามารถอันนี้ เด็กไทยจะต้องมีความสามารถอันนี้ คือเป็นเด็กที่สู้ปัญหา เป็นเด็กผู้มีความสามารถที่จะเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา และเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความเจริญงอกงามได้ แล้วชาติไทยจะเจริญแน่แท้ จะพ้นวิกฤติอย่างแน่นอน

ฉะนั้น ในการที่จะกู้แผ่นดินไทย จะต้องตั้งหลักให้ได้ เราอาจจะไม่ยอมรับว่านี่เราเสียแผ่นดิน แต่หลายคนก็พูดว่า เป็นการเสียอิสรภาพทางเศรษฐกิจไปแล้ว บางคนถึงกับว่าการสูญเสียครั้งนี้ใหญ่ยิ่งกว่ากรุงแตก ว่าเข้าไปอย่างนั้นเลย

เอาละ มันจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม ถ้าเรายอมรับจะใช้คำว่า “ต้องกู้แผ่นดินไทย” ก็ขอถามว่า เราต้องกู้อะไรก่อน เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่า ต้องกู้ตัวคน คือกู้คุณภาพในตัวคน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า ธรรมะ ก็คือต้องกู้ธรรมะ ถ้าเรากู้ธรรมะได้ ก็กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ

กู้ธรรมะได้ กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ

เวลานี้ภารกิจของคนไทยไม่ใช่แค่กู้แผ่นดินเท่านั้น แต่ต้องกู้ธรรมะด้วย

ไม่รู้ว่าธรรมะหายไปไหนเสียมากมายแล้ว ที่โผล่ออกมาเป็นลัทธิอะไรก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มวลมนุษย์แล้ว ตอนนี้คนไทยกลับยอมสูญเสียอิสรภาพไปเป็นเมืองขึ้นของใคร ไปหลงทางอยู่ที่ไหน นี่คือออกนอกพระพุทธศาสนา หรือออกนอกธรรมะไป ยกตัวอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แม้แต่เอาสมาธิมาใช้เป็นยากล่อม กลายเป็นมิจฉาสมาธิ หรือเอามาหนุนการหาผลประโยชน์ ก็คือออกนอกพระพุทธศาสนา

สมาธิไม่ได้เกิดมาพร้อมกับพระพุทธศาสนา สมาธินี้ฤาษี ชีไพรในสมัยก่อนพุทธกาลเขาทำเขาใช้กันมา โยคี ฤาษี ดาบส มากหลายท่านบำเพ็ญสมาธิจนได้สมาบัติชั้นสูง พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ยังเคยไปเรียนกับเขาเลย แต่ฤาษีโยคีเหล่านั้นมัวไปติดยากล่อม หรือไม่อย่างนั้นก็เอาสมาธิไปใช้ทางฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ แสดงความยิ่งใหญ่แข่งกัน ทำให้คนเพลิดเพลินมัวเมายิ่งขึ้น

ตัวฤาษีโยคีเองก็ติดยากล่อม พอได้สมาธิแล้วก็เล่นฌานเพลิน มีศัพท์พระท่านเรียกว่า “ฌานกีฬา” พวกฤาษี ชีไพร ได้ฌานแล้วก็ไม่ยุ่งกับใคร ตัดขาดจากสังคม นั่งเล่นฌานกีฬาไปวันๆ สบาย มีความสุข เป็นกันมานานแล้ว เขามีสมาธิกันอยู่แล้ว อย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าก็ยังเคยไปเรียนจากเขา แต่มันไปตันอยู่กับความสุขทางจิตใจ และความเก่งกาจ ไม่ก่อให้เกิดสติปัญญา ไม่ได้แก้ปัญหาให้จบสิ้น พระองค์จึงสอนให้เอาสมาธินั้นมาใช้ประโยชน์อีกขั้นหนึ่ง นี่สิเป็นจุดก้าวต่อของพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธศาสนานั้นไม่หยุดแค่สมาธิ ไม่จบแค่เอาสมาบัติเป็นฌานกีฬา

ถ้าเรา ไปติดยากล่อมสมาธิ เราก็เหมือนกับฤาษีโยคีในสมัยก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าเสด็จละออกมาแล้ว เราต้องเอาสมาธิมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และในการก้าวไปกับธรรมที่เป็นกระบวนปฏิบัติแห่งไตรสิกขาต่อไป ให้เกิดผลในการพัฒนาชีวิต เอามาพัฒนาตนเองให้ได้ อันนี้แหละที่เป็นสิ่งสำคัญ

เวลานี้เราออกนอกธรรมะไปแล้ว หรือธรรมะหล่นหายจากเราไป จึงต้องกู้ธรรมะกลับขึ้นมา คือกู้ธรรมขึ้นมาในตัวคน ถ้ากู้ธรรมที่ว่านี้ขึ้นมาได้ ก็กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ ขอย้ำว่า กู้ธรรมะได้ กู้แผ่นดินไทยสำเร็จ

ในแง่เศรษฐกิจก็เหมือนกัน พูดสั้นๆ ว่า เราจะกู้เศรษฐกิจได้ ต้องกู้คุณภาพในตัวคนขึ้นมา ถ้าพูดอย่างแคบๆ ก็ว่า ต้องกู้ทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมา ถ้ากู้คนขึ้นมาให้มีคุณภาพได้ กู้เศรษฐกิจไทยไม่ยากเลย เชื่อไหม เพราะฉะนั้น ต้องทำอันนี้ให้ได้

ถึงเวลาต้องปลุกใจคนไทย ที่จริงถึงเวลานานแล้ว แต่ถ้ายังไม่ทำก็ถึงเวลาอีกทีหนึ่ง ลุกขึ้น กู้ธรรมะขึ้นมาในใจคน พัฒนาตัวคนนี้ให้สำเร็จให้ได้ ให้มีคุณภาพทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา นี่แหละจึงว่ามากู้แผ่นดินไทยด้วยการกู้ธรรมะ เพราะการกู้ธรรมะนั้นจะเป็นการกู้แผ่นดินไทยไปในตัว เมื่อเรากู้ธรรมะได้ ก็กู้แผ่นดินไทยไปในตัวเอง เสร็จสิ้นไปเลย ไม่ต้องไปทำ ๒ ครั้ง

แคบเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง ถ้ากู้คุณสมบัติในตัวคน หรือพูดสั้นๆ ว่า กู้คุณภาพคน คือ กู้ธรรมะขึ้นมาในตัวคนได้ การกู้เศรษฐกิจไทยก็ไม่ยาก

ขอเพียงพัฒนาคนไทยให้เป็นผู้มีความสามารถในการผลิต และในการคิดสร้างสรรค์ เราก็จะมีเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืน ไม่ใช่เศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่ใช่เศรษฐกิจทางลัด หรือเศรษฐกิจกลวงใน อะไรทั้งสิ้น

เดี๋ยวนี้นิยมใช้คำว่ายั่งยืน การพัฒนาก็ให้ยั่งยืน ตอนนี้เราก็ต้องมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการกู้แผ่นดินไทยโดยกู้ธรรมะขึ้นมาอย่างที่กล่าวแล้ว

วันนี้วันดี เป็นวันวิสาขบูชา เฉพาะอย่างยิ่งเป็นวิสาขบูชาแรกหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในผืนแผ่นดินไทย จึงขอให้เราชาวพุทธลุกขึ้นมากู้ธรรมะให้แก่แผ่นดินไทย โดยเริ่มต้นที่ในหัวใจของเรา แล้วก็มาชวนกัน และปลุกใจกันให้

๑. มีความเข้มแข็ง เจอทุกข์ภัยไม่พรั่น

๒. มีความเพียรสร้างสรรค์ โดยใช้สติปัญญา

๓. ร่วมแรงร่วมใจกันฟันฝ่า เดินหน้าต่อไป

ถ้าทำได้เพียง ๓ อย่างเท่านี้ ก็กู้ธรรมะได้ และกู้แผ่นดินไทยสำเร็จ และที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่อะไร ก็คือการปฏิบัติตามพุทธจริยวัตรที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพัฒนาพระองค์เองมา เมื่อถึงวันวิสาขบูชาอย่างนี้ อย่างน้อยเราต้องให้ได้ประโยชน์จากพุทธประวัติ คือจากการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระองค์สักอย่างหนึ่ง

ถ้ากู้ธรรมได้จริง ไทยมีแต่ยิ่งเจริญ ไม่รู้จักเสื่อม และวิกฤติก็จะกลายเป็นวิวัฒน์

พระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบการพัฒนาชีวิตของบุคคล ทรงบำเพ็ญความดีที่เรียกว่าบารมีอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ย่อท้อ เข้มแข็ง บากบั่น สู้ความยาก ผจญอุปสรรคทุกอย่างจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ถ้าคนไทยเอาพระจริยวัตรนี้มาใช้ ทุกข์ภัยเราก็ยังไม่กลัว แล้วสุขเราจะไปกลัวอะไร สุขเราก็ยิ่งใช้ให้เป็นประโยชน์

ความสุขไม่ใช่จุดหมายของชีวิต สุขก็เช่นเดียวกับธรรมข้ออื่นๆ คือเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในกระบวนการพัฒนามนุษย์ สุข คือภาวะสะดวก เอื้อ คล่อง หมายความว่า ความสุขเป็นปัจจัยเอื้อต่อการกระทำ หรือการที่จะเดินหน้าต่อไปได้ง่าย

เวลาสุขนั้นไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรติดขัด จะทำอะไรก็ทำได้ง่าย คล่อง สะดวก ตรงข้ามกับตอนที่ทุกข์ ซึ่งบีบให้เราต้องดิ้น เพราะจำเป็น แต่จะทำอะไรก็ติดขัดคับข้องลำบาก เช่น เงินทองก็ไม่มี สภาวะแวดล้อมทั้งหลายไม่เอื้อ ยากลำบากเหลือเกิน แต่พอสุขก็คือปัจจัยทุกอย่างมันเอื้อ มันหนุน มันช่วย แต่พอปัจจัยเอื้อให้ทำได้คล่อง ได้ง่าย ได้สะดวก เรากลับนอนเสีย ไม่ทำ นี่คือไม่รู้จักใช้ธรรมะ

คนที่รู้จักใช้ธรรมนั้น ถึงทุกข์ก็ไม่กลัว กลับเข้มแข็ง สู้ ทั้งๆ ที่ยาก เราก็ทำและพัฒนาตัวได้มาก ครั้นถึงตอนสุขมา ทำได้คล่อง ได้สะดวก เราก็ยิ่งทำต่อไปเพราะปัจจัยเอื้อให้ทำได้มาก ถ้าคนไทยเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ประมาท จัดเป็นมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว จะประสบความสำเร็จ และมีแต่จะเจริญ รับรองว่าไม่มีเสื่อม

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วุฑฒิเยว ปาฏิกังขา โน ปริหานิ หมายความว่า ถ้าปฏิบัติตามหลักที่ตรัสสอนไว้โดยไม่ประมาท ก็หวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว จะไม่มีความเสื่อม

พุทธพจน์ที่ตรัสนี้ไม่ได้ขัดกับหลักอนิจจังแต่ประการใด เพราะหลักอนิจจัง ที่ว่า ไม่เที่ยง หมายความว่า เปลี่ยนแปลงไป ไม่คงอยู่อย่างเดิม แต่ที่ว่าไม่เที่ยงนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ไม่เที่ยงอย่างเลื่อนลอย

คำว่า “เจริญ” ก็คือ เปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจังอยู่ในตัว คำว่า “เสื่อม” ก็เปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจังอยู่ในตัว เพราะว่าคำว่าเจริญ และคำว่าเสื่อมเป็นคำที่แสดงความเคลื่อนไหว ไม่อยู่นิ่งๆ ที่ว่าเสื่อมก็คือไม่เที่ยง ที่เคลื่อนไหวไปด้านหนึ่ง ที่ว่าเจริญก็เหมือนกัน ก็คือไม่เที่ยง ที่เคลื่อนไหว ไปอีกด้านหนึ่ง

เจริญแล้วเจริญต่อไป เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เสื่อมแล้วเสื่อมต่อไป ทุกอย่างนี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น คือเป็นอาการของความไม่อยู่นิ่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำเหตุปัจจัยถูกต้อง มันเจริญแล้ว เจริญต่อไป มันก็ไม่เที่ยง ไม่ได้ขัดกันแต่ประการใด พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะก็คือแสดงความจริง จึงไม่ขัดกันเลย

เดี๋ยวจะว่า เอ๊ะ! พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน อ้าว แล้วทำไมมาตรัสตรงนี้ว่า ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนี้ จะไม่มีเสื่อม มีแต่เจริญอย่างเดียว ถ้าเข้าใจดีแล้ว จะเห็นว่าไม่ขัดกัน แต่กลับสอดคล้องกันและหนุนกัน คือ เป็นหลักธรรมในภาคปฏิบัติที่เอาความรู้ในสัจธรรมมาใช้ประโยชน์

ย้ำอีกทีว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลุกขึ้นมา จะใช้คำว่า “กู้แผ่นดินไทย” หรือจะใช้คำอะไรก็ตาม ก็ให้เข้าใจความหมายอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า บัดนี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องทำให้วิกฤติของเมืองไทยนี้ เป็นจุดตั้งต้นของวิวัฒน์ ขออย่าให้เป็นจุดนำไปสู่วิบัติ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ก็แน่นอนว่าวิกฤติจะนำไปสู่วิวัฒน์ คือความเจริญงอกงาม ด้วยการที่เรากู้ธรรมขึ้นมาได้ในผืนแผ่นดินไทย ให้ธรรมนี้แพร่กระจายไปในหัวใจคน และในสังคมไทยทั้งหมด

ถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะได้ประโยชน์จากวันวิสาขบูชา จึงขอให้เป็นเหมือนกับการนัดหมายว่า ให้วันวิสาขบูชานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นวิวัฒน์กันต่อไป

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน ที่ได้มาประชุมฟังธรรมกันในวันนี้ ด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศรัทธาต่อธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อศรัทธาแล้วก็จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ

นอกจากนี้ เราต้องมีเมตตา มีจิตใจหวังดี ปรารถนาดี เป็นมิตรต่อกัน แล้วมาร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน เพียรพยายามสร้างสรรค์ด้วยความเข้มแข็ง เราก็จะนำสังคมไทยไปสู่ความเจริญงอกงามและสันติสุข และไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น เราจะช่วยมวลมนุษยชาติทั้งโลกให้เจริญงอกงาม มีอารยธรรมที่แท้จริง เพื่อให้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนด้วย

ขอความหวังนี้ ซึ่งเป็นความหวังที่ประกอบด้วยเหตุปัจจัย มีเหตุมีผลตามธรรม จงสัมฤทธิ์ผลด้วยกำลังเรี่ยวแรงการกระทำของเราทั้งหลายสืบไป

ขอทุกท่านจงเจริญด้วยธรรม อันจะเป็นปัจจัยให้ประสบซึ่งจตุรพิธพรชัย มีความก้าวหน้าเจริญงอกงามในการดำเนินชีวิต และในการประกอบกิจหน้าที่การงาน ให้ประสบความสำเร็จสมหมาย มีความสุขร่มเย็น ทั้งในชีวิตของตน ในครอบครัว ในสังคมไทย และในโลกทั้งมวลนี้สืบไป ทุกเมื่อเทอญ (สาธุ)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง