สัจจธรรมกับจริยธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จากจริยธรรมสู่บัญญัติธรรม

ต่อไปนี้ ขอขึ้นเรื่องใหม่ เมื่อพูดถึงสัจจธรรมกับจริยธรรมที่มาสัมพันธ์กันนั้น บางทีเรายังหลงและสับสนกันอยู่ จึงมีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปอีก กล่าวคือ มนุษย์เรามีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติที่ต้องทำมากมายหลายอย่าง หลักเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกอย่างนั้นเป็นจริยธรรมทั้งหมดหรือไม่ ข้อนี้ตอบว่า ไม่ใช่ ระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติของมนุษย์ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ดีนี้ มีสิ่งที่นอกเหนือออกไปจากจริยธรรม ซึ่งไม่ปรากฏในธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดวางเอาเอง สิ่งนี้ก็คือกฎเกณฑ์ทางสังคม ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าวินัย หรือจะเรียกว่าบัญญัติต่างๆ ทางสังคม สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมานี้ ถ้าเราเอาคำว่าธรรมไปเติมท้ายเหมือนเอาธรรมไปเติมท้ายสัจจ เป็นสัจจธรรม ธรรมไปเติมท้ายจริย เป็นจริยธรรม คำว่าบัญญัติ ถ้าเราเอาธรรมไปเติมท้าย ก็เป็นบัญญัติธรรม จึงมีธรรมประการที่ ๓ ขึ้นมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า บัญญัติธรรม

บัญญัติธรรมนี้ เป็นการแต่งตั้งสมมติของมนุษย์ทั้งเพ มนุษย์อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ กัน อยู่ในกาลสมัยต่างๆ กัน ก็บัญญัติสิ่งที่จะพึงประพฤติปฏิบัติขึ้นสำหรับกลุ่มของตน แล้วบอกว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้ชั่วไม่เหมือนกัน ในสังคมหนึ่งบัญญัติสิ่งนี้ว่าดี อีกสังคมหนึ่งอีกยุคสมัยหนึ่ง ถือว่าไม่ดี สิ่งที่ถือว่าไม่ดีในสังคมหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่อีกสังคมหนึ่งอีกสมัยหนึ่งกลับมาถือว่าดี ข้อบัญญัติของมนุษย์นี้จะต้องระวังไม่ให้ไปปนกับจริยธรรม แม้แต่ปัจจุบันนี้ ในเมืองไทย เวลาขับรถต้องชิดซ้าย แต่ไปอเมริกาต้องชิดขวา ถ้าเราขับรถในเมืองไทย เขาวางกฎระเบียบจราจรไว้ว่าให้ชิดซ้าย ถ้าเราไปขับชิดขวา คนก็ต้องติเตียนด่าว่าเรา บางทีไปเห็นในถนน บางท่านกล่าวผรุสวาทเลยทีเดียวว่าคนนั้นทำไม่ดี แต่ในอเมริกา เขาขับชิดขวา ถ้าเราเกิดไปขับชิดซ้ายขึ้นมา ก็กลายเป็นทำไม่ดีไป

กฎเกณฑ์เหล่านี้มีความดีความชั่วในตัวของมันหรือไม่ การขับชิดซ้ายก็ไม่เป็นความดีในตัวของมันเอง การขับชิดขวาก็ไม่เป็นความดีในตัวของมันเอง แต่เป็นเพียงบัญญัติของสังคม อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องเชื่อมโยงกันได้ บัญญัติธรรมจะต้องเชื่อมโยงกับจริยธรรมได้ เพราะบัญญัติธรรมนี้โดยทั่วไปแล้วมนุษย์หรือสังคมกำหนดวางขึ้นมา ก็เพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม หรือเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีของมนุษย์นั่นเอง คือเพื่อสนองจุดมุ่งหมายในทางที่เป็นคุณค่าหรือเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ตัวจริยธรรมอยู่ตรงไหน ตอนแรกก็อยู่ในเจตนาที่วางกฎเกณฑ์นั้นขึ้นมา คือเจตนาที่วางกฎเกณฑ์เพื่อผลที่ดีงาม ต่อมาเจตนาก็มาอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ เมื่อเรารู้ว่าอันนี้เป็นกฎเกณฑ์ของสังคม อันนี้เป็นบัญญัติว่าไม่ให้ละเมิด เมื่อฝ่าฝืนแล้วจะเกิดผลเสีย ถ้าเราทั้งที่รู้อยู่แต่ก็ละเมิด ในการละเมิดนั้นเรารู้อยู่แก่ใจ เจตนาที่ละเมิดนั้นเป็นปฏิบัติการทางจริยธรรมและมีผลทางจริยธรรม ทั้งๆ ที่ตัวกฎเกณฑ์นั้นเป็นสมมติ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ของจริง แต่มีความจริงเกิดขึ้นในการปฏิบัติต่อมา เพราะฉะนั้น เมื่อมีกฎเกณฑ์อันหนึ่งของสังคมเกิดขึ้นแล้ว มนุษย์ยอมรับ และใจของบุคคลนั้นยอมรับและรู้อยู่ เมื่อเขาละเมิดก็จะมีผลทางจริยธรรมขึ้นมา นี้คือจุดที่บัญญัติธรรมมาบรรจบกับจริยธรรม เมื่อกี้เราพูดถึงการที่สัจจธรรมมาบรรจบกับจริยธรรม คราวนี้ จริยธรรมก็มาบรรจบกับบัญญัติธรรม เป็นอันโยงกันครบวงจร

ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าบัญญัติธรรมก็มีความหมายสำคัญเหมือนกัน ดังเช่นในวินัยของพระสงฆ์ก็มีข้อปฏิบัติต่างๆ ซึ่งในตอนที่ยังไม่บัญญัติ ก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีความดีความชั่ว แต่เมื่อบัญญัติลงไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในสังคมนั้นหรืออยู่ในสงฆ์ รู้อยู่แล้วกระทำการละเมิด การละเมิดนั้นก็เป็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน และมีความหมายในทางจริยธรรมเกิดขึ้น จากจุดนี้จริยธรรมก็เริ่มทำงาน และมีผลต่อจิตใจ และชีวิตของคน ดังที่เรียกว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของจริยธรรม ครอบคลุมเรื่องพฤติกรรม บุคลิกภาพ และวิถีชีวิตของมนุษย์

เป็นอันว่า บัญญัติธรรมนี้เข้ามาสัมพันธ์กับมนุษย์โดยมีความรู้เป็นฐาน มีเจตนาเป็นองค์ประกอบหลักในการที่จะประพฤติปฏิบัติ และมีความซื่อสัตย์เป็นต้นที่จะมาเป็นตัวช่วยหนุนทำให้การปฏิบัติตามบัญญัติของสังคมเป็นไปได้ ถ้ามนุษย์จะไม่ปฏิบัติตามบัญญัติธรรม ก็ต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจที่โยงไปถึงสัจจธรรมและจริยธรรมว่า อันนี้ไม่เกิดผลดีตามที่มนุษย์ต้องการ หรือทำให้เกิดผลเสียหาย แล้วหาทางแก้ไขด้วยสติปัญญาที่มุ่งต่อผลดีตามแนวทางของจริยธรรม และด้วยความรู้ ที่จะทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งสัจจธรรม

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง