หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สิ่งที่ควรเรียนรู้ในกระบวนการแก้ปัญหา

ก. ชีวิตและโลก

เนื้อหาที่ยกมาให้ดูในที่นี้ แสดงไว้พอให้เห็นเป็นหัวข้อไปก่อนว่า ในเรื่องทุกข์มีอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้ ในเรื่องสมุทัย มีอะไรที่เราจะต้องละหรือต้องแก้ไข ในเรื่องนิโรธมีอะไรที่เราจะต้องประจักษ์แจ้ง และในเรื่องมรรค มีอะไรที่เราจะต้องทำ

ต่อไปนี้จะเข้าสู่เนื้อหาโดยสังเขป เริ่มต้น ในเรื่องทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์นั้น มีอะไรบ้างที่จะต้องรู้จัก ทุกข์นั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ชีวิตของเรานี้เอง ชีวิตของเรายังมีปัญหา มีความทุกข์ เป็นที่รองรับของความทุกข์ รองรับปัญหา จึงต้องรู้จักชีวิตก่อน ดังนั้น เรื่องแรกที่ต้องเรียน คือต้องรู้จักชีวิต ชีวิตนี้ในทางพุทธศาสนาท่านมีศัพท์เรียกว่า ขันธ์ ๕ พุทธศาสนามองชีวิตเป็นหน่วยย่อยๆ ที่มารวมกันเข้า เป็นการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ เรียกว่าขันธ์ ๕ เรามาเรียนเรื่องขันธ์ ๕ คือเรียนเรื่องชีวิต หรือระบบชีวิต เพราะเราจะแก้ปัญหาของระบบชีวิตทั้งกายและใจ คนมีทุกข์ คือระบบของชีวิตมีปัญหา เกิดความบีบคั้นขัดข้อง เราจะต้องแก้ไขให้ระบบนี้เรียบร้อยคล่องตัว เหมือนแพทย์จะเรียนแก้ไขโรค เริ่มแรกก็ต้องรู้จักร่างกาย เพราะโรคอาศัยร่างกายเป็นที่รองรับ จึงต้องเรียนเรื่องร่างกาย หรือกายวิภาค และสรีรวิทยา แบ่งแยกให้เห็นว่าส่วนของร่างกายมีอะไร ทำหน้าที่ทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร แต่เราเรียนเรื่องชีวิตกว้างกว่านั้น ต้องเรียนทั้งกายและใจ ซึ่งมี ๕ ขันธ์ อาจจะเรียกว่าเป็นขันธวิภาค และเรียนขันธวิทยา เป็นอันว่า จะแก้ปัญหาต้องรู้จักตัวเรา ชีวิตของเรา รู้ว่าที่ตั้งของปัญหาเป็นอย่างไร คือเรียนเรื่องขันธ์ ๕ หรือเรื่องระบบชีวิต

ประการที่สอง ชีวิตที่มีปัญหาเกิดขึ้นนั้น มีกิจกรรม มีความสัมพันธ์กับโลก มีการรับรู้ประสบการณ์จากโลกเข้ามา และมีการปฏิบัติต่อโลก การเกี่ยวข้องกับโลกนี้เองเมื่อทำไม่ถูกต้องก็ทำให้มีปัญหา มนุษย์จะดำเนินชีวิตต่อไป ก็ต้องอยู่ในโลกนี้ให้ได้ดี ต้องแก้ปัญหาในการที่ไปเกี่ยวข้องกับโลก ดังนั้น ปัญหาชีวิตก็ต้องเนื่องกันกับโลก โลกนี้ปรากฏแก่มนุษย์ทางไหน โลกปรากฏแก่มนุษย์เป็นประสบการณ์เข้ามาทางอินทรีย์หรืออายตนะ ในระบบชีวิตของเรา สิ่งที่สัมพันธ์กับโลกก็คือ อายตนะ ซึ่งเป็นช่องทางแห่งการรับรู้ จึงต้องเรียนด้านที่สำคัญของชีวิตอีกด้านหนึ่ง เป็นด้านที่สอง คือ อายตนะ ๖ อย่าง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งเกิดปัญหา ทั้งแก้ปัญหา ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับโลก ก็ทางอายตนะ ๖ นี้ เป็นอันว่า ในเรื่องชีวิตด้านที่สองต้องเรียนเรื่องอายตนะ ๖ การเรียนเรื่องอายตนะ ๖ เป็นการเรียนเรื่องชีวิตโดยโยงไปหาโลก ตอนแรกเรียนเรื่องขันธ์ ๕ คือ ชีวิต ต่อมาเรียนอายตนะ คือ เรียนชีวิตและโลก ตามที่เข้ามาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จากชีวิตก้าวไปสู่โลก ถ้าเรียนอายตนะของเราเอง คือ เรียน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า อายตนะภายใน ๖ ถ้าเรียนโลกภายนอกที่ปรากฏแก่เรา ก็เรียกว่าอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกายที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ คือสิ่งที่รู้ที่คิดในใจ ทั้ง ๖ อย่างนี้ เป็นประสบการณ์ที่รับรู้เข้ามา เป็นข้อมูลให้แก่ชีวิต โลกทั้งหมดที่เรารู้จักมีเพียงเท่านี้

ข. ตัวก่อและตัวแก้ปัญหาของชีวิต

หลักที่สาม คือลักษณะของชีวิตและโลก ที่ทางพระรวมเรียกว่าสังขาร ชีวิตและโลกมีลักษณะอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ชีวิตและโลกนี้มีลักษณะประการที่หนึ่ง ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ เรียกว่า อนิจจัง ประการที่สอง มีลักษณะบีบคั้น ขัดแย้ง เรียกว่า ทุกข์ ประการที่สาม คือ ไม่ขึ้นกับความปรารถนาของใคร ไม่เป็นตัวตนของใคร แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรียกว่าเป็น อนัตตา สรุปว่า ลักษณะของโลกและชีวิตเป็นเช่นนี้ จึงมีศักยภาพหรือมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้น ถ้าชีวิตเที่ยงแท้คงที่ก็คงไม่มีปัญหา ไม่มีทุกข์ หรือถ้ามันไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา ชีวิตก็ไม่มีทุกข์แน่นอน แต่ชีวิตและโลกเป็นอย่างนี้ เราจึงมีปัญหาที่ต้องแก้ ถ้าเราต้องการจะแก้ปัญหา เราก็ต้องรู้จักปัญหา รู้ลักษณะความเป็นจริง รู้เท่าทันโลกและชีวิตนั้น คือต้องรู้จักลักษณะ ๓ อย่าง ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ นี้ ดังนั้น ในเรื่องทุกข์นี้หลักใหญ่ๆ ที่ต้องเรียน ก็คือเรื่องขันธ์ ๕ เรื่องอายตนะ ๑๒ และเรื่องไตรลักษณ์

ต่อไป สาเหตุของปัญหาคืออะไร เพราะมนุษย์มีความไม่รู้ ความไม่รู้นี้ทำให้ปฏิบัติต่อทุกสิ่ง ทั้งต่อชีวิตของตนเอง และต่อโลกไม่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความไม่รู้นี้เรียกว่า อวิชชา เมื่อไม่รู้แต่ก็ต้องพยายามอยู่ให้รอด ก็ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนทะยานไปตามความอยาก ความดิ้นรนทะยานอยากนี้เรียกว่า ตัณหา เมื่อดิ้นรนทะยานไปตามความอยาก โดยความไม่รู้ เป็นความมืดบอด ก็แก้ปัญหาผิดพลาด แทนที่จะแก้ปัญหาสำเร็จก็สร้างปัญหามากขึ้น ตัณหาจึงเป็นตัวเหตุสำคัญของปัญหา ตัณหาสืบมาจากอวิชชา ถ้าไม่มีอวิชชาก็ไม่ใช้ตัณหาและก็จึงไม่มีปัญหา กระบวนการที่อวิชชาเป็นฐานก่อตัวให้เกิดตัณหา จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ทั้งหมดนี้เรียกว่าหลักปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้น ในเรื่องสมุทัย จึงต้องเรียนหลัก ปฏิจจสมุปบาท กระบวนการปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อรู้กระบวนการแล้วรู้จุดของปัญหา รู้ตำแหน่งของสาเหตุแล้ว ก็จะแก้ได้ กระบวนการนี้ เมื่อสรุปแล้วจะได้เป็น ๓ ส่วน คือ กิเลส กรรม และวิบาก กรรมเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของชีวิตมาก ท่านจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังนั้น ในหลักของสมุทัยจึงเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออิทัปปัจจยตา รวมทั้งเรื่องกรรมด้วยเป็นส่วนสำคัญ

ต่อไป เมื่อจะแก้ไข เรารู้สาเหตุแล้วก็ไปดับตรงเหตุ ไปทำลายอวิชชา โดยสร้างปัญญาขึ้นมา เพื่อไม่ให้พฤติกรรมของเราถูกกำหนดขึ้นมาด้วยความดิ้นรนทะยานไป ตามอำนาจความอยาก ภายใต้ความมืดบอดของอวิชชา แต่ทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้เหตุรู้ผล เข้าใจกระบวนเหตุปัจจัย นำเอาความรู้ในกระบวนเหตุปัจจัยมาใช้แก้ปัญหา เมื่ออวิชชาดับเพราะเกิดปัญญา หรือเกิดวิชชาขึ้นมา กระบวนการของทุกข์ก็ดับไป กระบวนการที่ดับไปตามลำดับ คือ อวิชชาดับ สังขารดับ . . . ตัณหาดับ อุปาทานดับ ฯลฯ เราเรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทในส่วนย้อนวงจร หรือ ปฏิจจสมุปบาทขาดนั่นเอง คือขาดวงจร เมื่อปฏิจจสมุปบาทขาดวงจร ก็เป็นผลสำเร็จ คือชีวิตนี้ได้แก้ปัญหาสำเร็จ บรรลุอิสรภาพ ข้อนี้เรียกว่า นิโรธ ดังนั้น ในเรื่องนิโรธ จึงเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทในส่วนวงจรขาด และเรียนเรื่องจุดหมายที่ว่าเมื่อทำลายวงจรปฏิจจสมุปบาทได้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น นิโรธนั้นเรียนไปถึงการเกิดวิชชา เกิดวิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ที่เรียกอย่างปัจจุบันว่าอิสรภาพ เกิดวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ เกิดสันติ เกิดความสงบ เกิดความสุขที่แท้จริง เกิดนิพพาน เรื่องเหล่านี้จะเรียนอยู่ในหัวข้อว่าด้วยนิโรธทั้งสิ้น จัดเป็นจุดหมายที่ชีวิตต้องการ

นอกจากจุดหมายสูงสุดแล้ว ก็ยังมีจุดหมายย่อยเป็นขั้นเป็นตอนอีก หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องรอเข้าถึงจุดหมายสูงสุดหนเดียว ในระหว่างนี้ยังมีจุดหมายย่อยๆ เรียกว่า นิโรธ หรือวิมุตติ ซึ่งแยกเป็น ๕ ขั้น เป็นจุดหมายในระดับต่างๆ ที่เราจะเข้าถึงได้

อนึ่ง ในการดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงจุดหมายนี้ ก็มีประโยชน์หรือคุณค่าที่พึงประสงค์ของชีวิต ที่เรียกว่าอัตถะ ซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้ จัดเป็นจุดหมายชีวิตที่เป็นขั้นตอนต่างๆ เช่นเดียวกัน คือ จุดหมายชีวิตในระดับสามัญ สำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลก เราควรมีอะไรบ้าง เช่น มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม เหล่านี้ เป็นต้น จัดเป็นประโยชน์ขั้นต้นเรียกว่า ทิฏฐธรรมิกัตถ สูงขึ้นไปเป็นประโยชน์ในทางจิตใจ ประโยชน์เบื้องหน้า ได้แก่ ความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตนว่า เราได้ประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีลธรรม มีความสุจริต ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น มีปัญญารู้เข้าใจโลกและชีวิต พอที่จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ลุ่มหลงมัวเมา เป็นต้น เรียกว่า สัมปรายิกัตถ และที่สูงสุด คือ ลุอิสรภาพสมบูรณ์ มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ พ้นแล้วจากความทุกข์ มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ซึ่งเรียกว่าปรมัตถ

ประโยชน์สามอย่างนั้น อาจแบ่งในแง่ของตนเองและผู้อื่นก็ได้ คือ ทุกคนควรเข้าถึงประโยชน์หรือจุดหมายทั้งสามระดับนั้น และร่วมมือช่วยเหลือให้คนอื่นๆ เข้าถึงประโยชน์ หรือจุดหมายเหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน ประโยชน์ตนเองเรียกว่า อัตตัตถะ ประโยชน์ผู้อื่นเรียกว่า ปรัตถะ และประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือประโยชน์ร่วมกันเรียกว่า อุภยัตถะ ซึ่งเราควรพยายามทำให้เกิดขึ้นทั้งสามอย่าง

ข้อสุดท้ายคือมรรค ได้แก่วิธีปฏิบัติที่เราต้องลงมือทำ กล่าวคือ ระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นจริยธรรม หรือข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกว่า พรหมจริยะ คือชีวิตประเสริฐ บางทีเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง แล้วเอามาจัดเป็นระบบการศึกษาพัฒนาตน ที่เรียกว่าไตรสิกขา สิกขาก็คือการศึกษา การศึกษาจึงมาอยู่ในหัวข้อสุดท้ายนี้ คือเป็นภาคปฏิบัติอยู่ในข้อที่เรียกว่า มรรค

ค. ประมวลสิ่งที่ต้องเรียนรู้

จะเห็นว่า ธรรมทั้งหมดอยู่ในครอบคลุมของเรื่อง อริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น ธรรมทั้งหมดนั้นมีวิธีการจัดแบ่งประเภท ตามหลักหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ประการ คือ ทุกข์ เรามีหน้าที่กำหนดรู้ เรียกว่า ปริญญา สมุทัย เรามีหน้าที่ละ กำจัด เรียกว่า ปหานะ นิโรธ เรามีหน้าที่ต้องประจักษ์แจ้งบรรลุถึง เรียกว่า สัจฉิกิริยา และมรรค เรามีหน้าที่ต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ เรียกว่า ภาวนา ธรรมทั้งหมด หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงสามารถจัดเข้าในหลักกิจในอริยสัจ ๔ ประการนี้ ดังนั้น เมื่อเรียนธรรมอะไรก็ตาม ให้โยงมาเข้าหลัก ๔ ประการนี้ได้หมด กล่าวคือ

๑. ธรรมบางพวกเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักต้องทำความกำหนดรู้ ธรรมพวกนี้จัดเข้าอยู่ในประเภททุกข์ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ตามสภาพของมัน เรียกว่า ปริญไญยธรรม

๒. ธรรมบางพวก เป็นตัวก่อปัญหา ซึ่งเราจะต้องแก้ไข ต้องกำจัด เรียกว่า ปหาตัพพธรรม

๓. ธรรมที่เราต้องบรรลุถึง เป็นจุดมุ่งหมาย เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่พึงประจักษ์แจ้ง

๔. ธรรมทั้งหลายที่ต้องปฏิบัติ ลงมือทำ จัดเข้าอยู่ในหมวดหนึ่ง เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม คือธรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติ

โดยนัยนี้ จากหลักอริยสัจ ก็ก้าวไปสู่หลักการแยกประเภทธรรม ซึ่งทำให้เห็นว่า เรื่องราวทั้งหมดในโลก ในชีวิต ล้วนอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ ประการ ธรรมทั้งหลายโยงเข้าได้หมดสิ้นในกรอบนี้

เมื่อจับเอาสิ่งทั้งหลายที่จะต้องเรียนรู้เข้ามาสัมพันธ์กัน เราก็เริ่มต้นด้วยการเรียนเรื่องชีวิต คือ ขันธ์ ๕ ในข้อทุกข์ ซึ่งเป็นปริญไญยธรรม เป็นการเรียนเรื่องตัวของเราเอง ในตอนนี้เราก็จะทราบแนวความคิดของพระพุทธศาสนา ว่า พุทธศาสนามองชีวิตเป็นระบบ ที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยมาประชุมกันเป็นองค์รวม ระบบนี้ทำหน้าที่สัมพันธ์กันเกิดเป็นชีวิตขึ้น ความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ของชีวิตและการที่องค์ประกอบเหล่านั้นทำหน้าที่สัมพันธ์กัน ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเรา เพราะว่า เมื่อเรารู้ว่าชีวิตเป็นระบบที่ส่วนประกอบทำงานสัมพันธ์กัน ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างเราควรปฏิบัติอย่างไร เราควรมีท่าทีต่อชีวิตอย่างไรแล้ว เราก็ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องชีวิตแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาก็เป็นไปได้ยาก เมื่อเข้าใจระบบของชีวิตแล้วก็มองเห็นต่อไปว่า ระบบของชีวิตนั้นเป็นไปในลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงได้ ลักษณะนี้เมื่อมองในทางร้ายก็คือ มันมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ แต่ถ้ามองในทางดีก็คือ มันมีศักย-ภาพที่จะพัฒนาได้ด้วย เพราะการที่ขันธ์ ๕ เปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ เราจึงแก้ไขปรับปรุงได้ และในการที่จะแก้ไขนั้นก็ต้องเรียนรู้เหตุปัจจัยของมัน เพราะความไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลงไปนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจเหตุปัจจัยแล้ว ก็สามารถจัดการกับชีวิตได้ตามความรู้ของเราที่เรียกว่าปัญญา

ในความเป็นไปของระบบชีวิตนั้น ด้านที่สำคัญ ก็คือ การที่มันสัมพันธ์กับโลก โดยรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ เป็นข้อมูลเข้ามาทางอายตนะ และมนุษย์ก็เกิดปัญหาเกิดความทุกข์ขึ้นมาจากการสัมพันธ์นี้เอง เพราะทั้งโลกและชีวิต ต่างก็เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามกฎธรรมชาติ เช่นเดียวกัน เมื่อไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง ก็ปฏิบัติในความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง ปัญหาก็เกิดขึ้น แต่เมื่อรู้เข้าใจว่า ทำไมจึงเกิดปัญหาขึ้น จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร ความรู้ความเข้าใจนี้ ก็เป็นปัญญา ซึ่งจะทำให้เราจัดการกับชีวิตและปฏิบัติต่อโลกได้อย่างถูกต้อง ในทางที่จะไม่ให้เกิดปัญหา ฉะนั้น แทนที่จะตกเป็นทาสของโลกและชีวิตด้วยอำนาจอวิชชา และสร้างปัญหาด้วยตัณหา เราก็เปลี่ยนมาเป็นแก้ปัญหาด้วยความรู้ ด้วยปัญญา เมื่อเข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัย เอาความรู้ในเหตุปัจจัยตามกระบวนการของธรรมชาตินั้นมาใช้ประโยชน์ เอามาแก้ปัญหาของมนุษย์ได้สำเร็จ มนุษย์ก็มีอิสรภาพเกิดขึ้น

บุคคลที่เข้าถึงอิสรภาพ มีสันติสุขที่แท้จริงอยู่ภายใน หรือแม้เพียงกำลังดำเนินเข้าในกระแสสู่ภาวะเช่นนั้น ย่อมเป็นผู้มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา คือ ใช้ปัญญาเป็นตัวนำในการดำเนินชีวิต มีท่าทีแห่งการมองสิ่งทั้งหลาย ทั้งโลกและชีวิตตามที่มันเป็น ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เป็นผู้พร้อมที่จะแก้ปัญหาทั้งหลายด้วยวิธีการแห่งปัญญา เป็นผู้ที่ทุกคนสามารถไว้วางใจและมั่นใจได้ว่า จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่นวิทยาการเป็นต้น ที่ได้รับเพิ่มเสริมในช่วงชีวิตนี้ ไปในทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ร่วมกัน ไม่เป็นไปเพื่อเพิ่มปัญหา หรือก่อการเบียดเบียน บุคคลเช่นนั้น นอกจากประสบอิสรภาพและสันติสุขด้วยตนเองภายในแล้ว ก็เป็นผู้มีคุณสมบัติพรั่งพร้อมที่จะสร้างอิสรภาพและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม นับว่าเป็นผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ตามนัยแห่งพุทธะ เข้าถึงความจริงแห่งธรรมะ และเป็นสมาชิกที่ดีผู้ร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมสู่ความเป็นสังฆะ เป็นที่บรรจบประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งปัญญาที่เข้าถึงความจริง ความดีงามแห่งคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งความเป็นอิสระไร้ทุกข์ที่เรียกว่าสุขอันแท้จริง

ถ้าจะพูดกันอย่างง่ายๆ และรวบรัด เรื่องของอริยสัจ หรือเรื่องธรรมในพระพุทธศาสนา ก็จบลงเพียงเท่านี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง