ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดุลยภาพ คือสาระขององค์รวม

ทีนี้ อาตมภาพมาพูดในวันนี้ ก็มาพูดในที่ประชุมของท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ และการดูแลรักษาพยาบาล พร้อมทั้งญาติโยม ท่านที่ได้มารับการรักษาพยาบาล อย่างที่กล่าวแล้ว ทุกท่านมีน้ำใจมาสังสรรค์ร่วมกันในวันนี้ ก็เป็นโอกาสอันดีงาม

ทางโรงพยาบาลก็ใช้แนวความคิด (หรือจะเรียกว่าปรัชญาก็แล้วแต่) ตามแบบ holistic คือแนวคิดแบบองค์รวม ซึ่งในการปฏิบัติต่อองค์รวมนี้ก็ถือว่าองค์รวมจะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยดุลยภาพ กล่าวคือ ความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดีต่อกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายขององค์รวมนั้น

หลักพระพุทธศาสนาก็ว่าด้วยองค์รวม เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบ การประชุมกันของสิ่งทั้งหลายนั่นเองเรียกว่า องค์รวม องค์รวมก็คือการประชุมเข้าของปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้ต่างก็สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อสัมพันธ์กันพอดี ก็จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดีนั้นเรียกว่า ดุลยภาพ

เพราะฉะนั้น ดุลยภาพจึงเป็นตัวที่รักษาองค์รวมไว้ ทำให้องค์รวมอยู่ได้ด้วยดี องค์รวมคือตัวเรานี้จะอยู่ได้ด้วยดี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า องค์รวมคือชีวิตนี้ จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ก็ต้องอาศัยการรักษาดุลยภาพให้ดี ทั้งด้านร่างกาย ทั้งด้านจิตใจ และพร้อมทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งระหว่างกายกับใจนั้นด้วย

ทางฝ่ายแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาล ก็ย่อมเอื้ออำนวยช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล การรักษาพยาบาลนั้น ก็เริ่มต้นด้วยการที่จะพยายามให้คนไข้ได้มีดุลยภาพในทางร่างกาย เป็นประการที่ ๑

เพราะฉะนั้น ที่คุณหมอรักษา มีการฝังเข็ม มีการนวด มีการประคบ และบริหารร่างกาย อะไรต่างๆ นี้ก็ด้วยต้องการที่จะให้เกิดดุลยภาพในทางร่างกาย

แต่พร้อมกันนั้น เพราะอาศัยเมตตาจิต ความปรารถนาดีต่อคนไข้ ก็จะมีส่วนของดุลยภาพด้านจิตใจมาช่วยด้วย ถ้าสมมติว่าทางฝ่ายโรงพยาบาลนี่ไม่มีเมตตาจิต ปฏิบัติต่อคนไข้โดยที่ไม่มีน้ำใจ ทำให้กิริยาวาจาไม่งาม ไม่เป็นไปในทางที่เอื้อเฟื้อ บรรยากาศขาดความอบอุ่น คนไข้ก็ใจรันทด ขุ่นมัว เศร้า ไม่สบายใจ น้อยอกน้อยใจ ผลที่สุด การรักษาพยาบาลทางร่างกายก็เลยพลอยไม่ค่อยได้ผลดีไปด้วย จริงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความจริง เพราะฉะนั้น จึงว่าคุณหมอไม่ได้รักษาแต่ร่างกายของคนไข้เท่านั้น คุณหมอพร้อมทั้งบุคลากรที่โรงพยาบาลนี้รักษาใจของคนไข้ด้วย คือพยายามช่วยให้จิตใจของคนไข้อยู่ในสภาพที่มีดุลยภาพด้วย

ดุลยภาพในใจเองที่มีจิตใจสบาย จิตใจดำรงสถานะของมันได้ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่เอียงไม่ทรุดลงไป นั่นก็ด้วยอาศัยความปรารถนาดี มีเมตตาต่อคนไข้ ปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ อย่างนี้แหละจะช่วยให้จิตใจของคนไข้มีดุลยภาพอยู่ได้ พอจิตใจคนไข้มีดุลยภาพดีก็จะมาเอื้อต่อร่างกาย ทำให้การรักษาพยาบาลได้ผลเพิ่มพูนทั้งสองด้านเสริมซึ่งกันและกัน

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง