ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สังคมไม่เสียดุลยภาพ ประชาชนก็ไม่ขาดสันติสุข

ดุลยภาพด้านอื่นก็มีอีกมาก เช่น ดุลยภาพในทางสังคม เราอยู่ในสังคมก็ต้องรักษาดุลยภาพเหมือนกัน ในการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ไม่ให้เกิดผลเสียไม่ให้เกิดความบกพร่อง ถ้าเกิดผลเสียก็คือ ความสัมพันธ์ในทางสังคมของเราเอียง หรือทรุดไป เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ก็เกิดผลเสียแก่การดำเนินชีวิต ทำให้ไม่มีความก้าวหน้า ดุลยภาพในทางสังคมนี้มิใช่เฉพาะการที่เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีเท่านั้น แต่หมายถึงว่าในสังคมวงกว้าง มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยดุลยภาพทั้งนั้น

แม้แต่การที่เราจะจัดการศึกษาออกมานี่ ก็ต้องมีเรื่องของดุลยภาพ เช่นว่า สังคมนี้ในแง่เศรษฐกิจต้องการกำลังคนในอาชีพนี้หรือในวงงานนี้เท่าไรสำหรับปีต่อไป ก็จะต้องมีการวางแผนกัน เสร็จแล้วทางฝ่ายการศึกษาก็มาจัดว่าจะต้องผลิตบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในด้านนั้นออกมาให้พอ หรือถ้าวางแผนว่าจะให้ประเทศเจริญในด้านอุตสาหกรรม ก็ต้องเตรียมการศึกษาในด้านวิศวกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยวางแผนผลิตบัณฑิตในด้านนั้นให้ได้สัดได้ส่วนได้จำนวนที่เพียงพอ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของการสร้างดุลยภาพ ซึ่งต้องมีการจัดการอะไรต่ออะไรให้ปรับให้พอดีทั้งนั้น

แม้แต่เรื่องของสังคมวงกว้างที่เกี่ยวกับรายได้ รายจ่าย หรือความเป็นอยู่ ก็ต้องให้ฐานะของประชาชนไม่เหลื่อมล้ำต่ำสูงกันเกินไป มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหา ดังนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องดุลยภาพทางสังคม ซึ่งสามารถพรรณนาไปได้มากมายไม่รู้จักจบสิ้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง