ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดุลยภาพของจิตใจ ภายในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง

ต่อไปนี้ ก็จะวกกลับเข้ามาที่ตัวมนุษย์อีก เมื่อกี้นี้ พูดไปๆ ก็ห่างตัวออกไปทุกที แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับตัวเราทั้งสิ้น ทีนี้อยากพูดให้แคบเข้ามาอีกนิดหนึ่ง คือหันกลับเข้ามาที่ชีวิตนี้

เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงดุลยภาพของร่างกายของเรา แต่ชีวิตของเรานี่ไม่ใช่มีเพียงร่างกายอย่างเดียว อีกส่วนหนึ่งก็คือจิตใจ

ชีวิตของมนุษย์เรานี้มีกายกับใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีดุลยภาพของใจด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทั้งกายและใจต่างก็ต้องมีภาวะที่เรียกว่า “ดุลยภาพ” นี้

ดุลยภาพในทางกายเราพูดไปแล้ว ถ้าหากว่าเสียดุลยภาพทางกายก็จะเกิดโรคทางกาย ทีนี้ในทางจิตใจก็เหมือนกัน ในทางจิตใจนี้ถ้าหากว่าเสียดุลยภาพก็จะมีโรคทางจิตใจ

จะเห็นว่าคนจำนวนมากเกิดปัญหา ที่เรียกว่า เป็นโรคจิต ลองไปดูเถอะ เขาเสียดุลยภาพทางจิตใจ ดุลยภาพไม่มี เขารักษาความทรงตัวไม่ได้แล้ว จิตของเขาทรุดลงไป มันเอียงลงไป ตะแคงลงไป มันดิ่งลงไปข้างใดข้างหนึ่ง อย่างเช่น บางคนดีใจเกินไปควบคุมไม่อยู่ก็เสียดุลยภาพ ถึงกับเสียจริตไปก็มี แต่อันนี้มีน้อย ที่เป็นมากก็คือเสียใจเกินไป ควบคุมตัวเองไว้ไม่อยู่ ก็เลยเสียจริต อย่างที่เรียกว่าเป็นบ้า

แต่การเสียดุลทางจิตใจนั้นไม่ใช่แค่นี้เท่านั้น เสียจิตนั้นเป็นขั้นที่รุนแรงมากแล้ว ทีนี้ คนที่เสียดุลยภาพถึงขั้นนั้นอาจจะมีไม่มากนัก แต่การเสียดุลยภาพทางจิตใจที่เป็นกันมากและหาได้ทั่วไป ก็คือ ภาวะขาดดุลยภาพในยามดีใจหรือเสียใจ แล้วปล่อยตัวให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อชีวิตและสังคม เช่น ในยามที่ดีใจเกินไป เมื่อได้โลกธรรมสมปรารถนาแล้วรักษาตัวไม่อยู่ ไม่มีดุลยภาพก็จะทำให้เกิดมีพฤติกรรมไม่ดีตามมา

คนเรานี้จะต้องประสบโลกธรรม คนที่อยู่ในโลกนี้ไม่มีใครพ้นโลกธรรมไปได้ โลกธรรมคืออะไร ก็คือได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ มีแปดอย่าง แยกเป็นสองด้าน คือ ฝ่ายที่น่าชอบใจเรียกว่า อิฏฐารมณ์ กับฝ่ายที่ไม่น่าชอบใจเรียกว่า อนิฏฐารมณ์

ฝ่ายที่น่าชอบใจเรียกว่า อิฏฐารมณ์ ก็คือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ และมีความสุข ฝ่ายที่ไม่น่าชอบใจเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ก็คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์

การที่เราอยู่ในโลกนี้ ท่านบอกว่า ต้องรู้เท่าทันว่าเป็นธรรมดาที่เราต้องเจอโลกธรรมเหล่านี้ จะเจอมากหรือเจอน้อย ก็ต้องเจอบ้างล่ะ ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นไปได้โดยสิ้นเชิง ทีนี้ข้อสำคัญก็คือว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ถ้าวางตัวต่อมันไม่ถูกแล้ว ก็จะเกิดปัญหาแน่นอน

การวางตัวถูกต้อง ก็คือ การรักษาดุลยภาพทางด้านจิตใจไว้ ถ้าไม่รักษาดุลยภาพของจิตใจไว้ให้ได้ ไม่ว่าทางดีหรือทางเสีย ก็เสียทั้งคู่ ท่านเรียกว่าฟูกับยุบ คือถ้าทางดีก็ฟู ถ้าทางเสียก็ยุบ พอได้ลาภก็ฟู พอเสียหรือเสื่อมลาภก็ยุบ พอได้ยศก็ฟู พอเสื่อมยศก็ยุบ คนทั่วไปมักจะเป็นอย่างนี้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง