ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

อยู่ในโลก ก็รู้จักมองสิ่งทั้งหลาย
ยามเจ็บไข้ ก็ปฏิบัติให้พร้อมดุล

เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกนี้แล้ว เรามองทุกอย่างให้ดี ในแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่เรื่องนี้ต้องมอง ๒ ชั้นนะ มองตามหลักที่ในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ เดี๋ยวจะมองเป็นดีไปหมดทุกอย่าง ก็ผิดอีก การมองที่ถูกต้องมี ๒ อย่าง คือ

๑. มองตามความจริง ถ้าอะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความจริงต้องมองตามความเป็นจริง คือมองตามที่มันเป็น

๒. แต่ในแง่ที่เกี่ยวกับประโยชน์ต้องมองในแง่ดี ให้มันเป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือให้ชีวิตของเราได้ประโยชน์จากมันให้ได้

เป็นอันว่า การมองที่ถูกต้องมี ๒ อย่าง คือ มองตามเป็นจริง หรือมองตามที่มันเป็นอย่างหนึ่ง กับมองในแง่ดี หรือมองให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง

สำหรับการมองอย่างที่ ๑ ที่ว่ามองตามเป็นจริงนั้น เช่น เราจะวินิจฉัยเรื่องราวอะไรต่างๆ นี้ จะมองแต่ในแง่ดีเสมอไปไม่ได้นะ ผิดเลยนะ เสีย เพราะฉะนั้น ถ้ามองเพื่อวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ต้องมองตามที่มันเป็น มองตามเป็นจริง แต่ถ้าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยความจริง ก็ต้องมองในแง่เอาประโยชน์ คือ มองในแง่ดี พระพุทธศาสนาสอนไว้ หลักนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นอันว่า ทางฝ่ายคนไข้ก็มองอย่างที่ว่าแล้ว คือพยายามรักษาสมดุลหรือดุลยภาพทางจิตใจเข้าไว้ จึงจะมาช่วยให้คุณหมอรักษาทางกายได้ผลดีด้วย ตกลงว่า ทั้งคนไข้และทางคุณหมอ พร้อมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาล ต่างก็ช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ช่วยกันในการรักษาพยาบาล ไม่ใช่หมอเป็นฝ่ายรักษาฝ่ายเดียว คนไข้ก็ต้องรักษาตัวเองด้วย

ว่าที่จริงคนไข้มีบทบาทสำคัญมากในการรักษาตนเอง คุณหมอนั้นช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น คิดว่าอย่างนั้น คนไข้ต้องช่วยตัวเองมาก

ตกลงว่า บทบาททางด้านคุณหมอและบุคลากรของโรงพยาบาลนี้ก็มีดังนี้

๑. ช่วยให้เกิดดุลยภาพทางกายแก่คนไข้ ด้วยการรักษาพยาบาลตามวิธีดุลยภาพบำบัด

๒. มีความเอื้ออารี มีเมตตา ไมตรีธรรมที่จะช่วยเสริมดุลยภาพทางจิตใจของคนไข้ด้วย

ส่วนในฝ่ายคนไข้ ก็ร่วมมือกับทางด้านบุคลากรของโรงพยาบาล ในการรักษาดุลยภาพทางกาย พร้อมทั้งตัวเองก็รักษาสุขภาพทางจิตใจด้วย แล้วเราก็จะได้ดุลยภาพทางกายและใจนี้มาเสริมกันทำให้เกิดความสมบูรณ์

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง