ดุลยภาพ: สาระแห่งสุขภาพและความสมบูรณ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ดุลยภาพทางร่างกายทำให้มีสุขภาพดี

ชีวิตของเรานี้ก็เป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจน ชีวิตมนุษย์นี่ทางพระท่านเรียกว่า เป็นรูปนามหรือเป็นขันธ์ ๕ ก็เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ทั้งรูปธรรมและนามธรรมมาประกอบกันขึ้น และส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมันทำงานได้สัดได้ส่วนพอเหมาะพอดีกัน ชีวิตของเราก็ดำเนินไปด้วยดี แต่ถ้ามันไม่พอเหมาะพอดีกันขึ้นมาเมื่อไรก็เกิดปัญหาเมื่อนั้น

ดุลยภาพที่มองเห็นได้ง่ายๆ ในชีวิตคนเราก็คือ ด้านร่างกาย ร่างกายนี่แหละเป็นส่วนที่มองเห็นได้ง่าย คนเรานี้ถ้าส่วนประกอบทางร่างกายขาดดุลยภาพขึ้นเมื่อไร มีส่วนใดบกพร่องทำงานสัมพันธ์กันไม่ดี ไม่ได้สัดส่วนไม่พอเหมาะพอดี ก็เกิดปัญหา นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า โรคภัยไข้เจ็บ

ทีนี้ ถ้าปรับให้เกิดความพอเหมาะพอดี มีสมดุลขึ้น ได้สัดได้ส่วนแล้ว ชีวิตนั้นเรียกว่ามีองคาพยพอันสมบูรณ์ ก็เป็นอยู่ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี อันนี้คือหลักที่สำคัญมาก และนี่แหละคือหลักที่เรียกว่าดุลยภาพ ดังนั้นดุลยภาพจึงมาสัมพันธ์กับสุขภาพ หมายความว่าถ้าไม่มีดุลยภาพ สุขภาพก็ไม่มี

ถ้าหากว่ามีดุลยภาพ รักษาดุลยภาพไว้ได้ สุขภาพก็ดำรงอยู่ ดังนั้นสุขภาพจึงอิงอาศัยดุลยภาพ ดุลยภาพก็คือความสัมพันธ์อย่างพอเหมาะพอดีได้สัดได้ส่วนกันระหว่างองค์ประกอบทั้งหลายนั่นเอง นี่ก็คือเรื่องของดุลยภาพในแง่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต

หลักการที่ว่ามานี้เป็นสิ่งสำคัญที่อาตมภาพเข้าใจว่า ทางโรงพยาบาลบ้านสวนได้นำมาใช้ เมื่อวานนี้อาตมภาพก็ได้รับถวายหนังสือเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของโรงพยาบาลบ้านสวน หรือของมูลนิธิดุลยภาพบำบัด เพื่ออายุและสุขภาพ ชื่อว่า HEAL เป็นฉบับที่ ๑ พูดถึงดุลยภาพบำบัด ที่เป็นเรื่องของร่างกายของเรา

สำหรับดุลยภาพบำบัดด้านร่างกายนี้ อาตมภาพคงจะไม่ต้องพูดมาก คิดว่าทางคุณหมอท่านทราบดีกว่า เพราะฉะนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของคุณหมอที่ท่านจะอธิบายว่าดุลยภาพในด้านร่างกายนี้ มีความสำคัญอย่างไรต่อสุขภาพของเรา หรือว่าสุขภาพของมนุษย์เรานี้ ต้องอาศัยดุลยภาพอย่างไรบ้าง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง